"ยินดีต้อนรับสู่ บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ" มีหลายหัวข้อเรื่องให้คุณอ่าน .. ขอบคุณที่มาเยี่ยมบล็อกค่ะ .. ขอจงมีแต่ความสุขกายสบายใจตลอดไปนะคะ
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
3 กรกฏาคม 2555
 
All Blogs
 

แลหลังกบฏปฏิวัติรัฐประหารในการเมืองสยามไทย (ตอนจบ)



[ตอนแรก บล็อกถัดลงไปค่ะ]







สาเหตุของการกบฏปฏิวัติรัฐประหารในสยามไทย

มูลเหตุและปัญหาที่นำไปสู่การกบฏปฏิวัติรัฐประหารในเมืองไทย นับจากปี พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมา โดยดูจากการแถลงประกาศของคณะและกลุ่มที่ทำกบฏปฏิวัติรัฐประหาร สามารถแบ่งออกได้เป็นดังนี้

ประการแรก มาจากการที่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในการปกครองขณะนั้นไม่ทำหน้าที่ ในการปกครองอย่างถูกต้องเรียบร้อยและยุติธรรม ส่วนรายละเอียดและความคิดที่ใช้อ้างกันนั้น ก็แตกต่างกันไปตามยุคสมัยเช่น คณะราษฎรกล่าวในคำประกาศวันยึดอำนาจว่า

“เมื่อกษัตริย์องค์นี้ได้ครองราชสมบัติสืบจากพระเชษฐานั้น ในชั้นต้นราษฎรบางคนได้หวังกันว่า กษัตริย์องค์ใหม่นี้คงจะปกครองราษฎรให้ร่มเย็น แต่การก็หาได้เป็นไปตามที่คิดหวังไม่ กษัตริย์คงทรงอำนาจเหนือกฎหมายอยู่ตามเดิม

ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้าง ซื้อของใช้ในราชการ

หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินของประเทศ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษมากกว่าราษฎร กดขี่ข่มเหงราษฎร ปกครองโดยขาดหลักวิชชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม

ดั่งที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจ และความฝืดเคืองในการทำมาหากิน ซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่ทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้...”

นับจากนั้นมา เหตุผลข้อนี้คือหัวหน้ารัฐบาลหรือรัฐบาลไม่สามารถปกครองได้ ก็ถูกนำมาใช้เป็นเหตุผลใหญ่ในการทำกบฏปฏิวัติรัฐประหารต่อมาอีกเกือบทุกครั้ง นับว่าเป็นสาเหตุหลักที่แทบทุกคณะและกลุ่มยึดอำนาจคิดได้ออกก่อนข้ออื่นๆ นับจำนวนรวมได้ ๙ ครั้งที่อ้างสาเหตุข้อนี้ อันได้แก่

๑. กปค. ๗๕
๒. กบฏบวรเดช ๗๖
๓. รัฐประหาร ๒๔๙๐
๔. กบฏวังหลวง ๙๒
๕. กบฏแมนฮัตตัน ๙๔
๖. เมษาฮาวาย ๒๔
๗. กบฏกันยา ๒๘
๘. รสช. ๓๔ และ
๙. คปค. ๔๙

ดูอีกตัวอย่าง คณะรัฐประหาร ๒๔๙๐ อ้างดังนี้

“...ภาวการณ์ของชาติไทยเท่าที่ปรากฏในปัจจุบันนี้ คณะรัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี จึงเป็นเหตุให้พี่น้องทั้งหลายได้รับความทุกข์ทรมาณอย่างแสนสาหัส...ไม่สามารถแก้ไขในเรื่องภาระการครองชีพของประชาชน

โดยเฉพาะเรื่องข้าวมิหนำซ้ำยังปล่อยให้เกิดทุจริต...พวกนักการเมืองบางคน...ทำการฉ้อราษฎร์บังหลวง...ความเหลวแหลกในการปฏิบัติของวงการรัฐบาลเป็นผลให้เกิดความทุกข์ร้อนขึ้นทุกหย่อมหญ้า...”

คณะ รสช. ๒๕๓๔ อ้างดังนี้

“...พฤติการณ์ฉ้อราษฎร์บังหลวง คณะผู้บริหารประเทศได้ฉวยโอกาสอาศัยอำนาจตามตำแหน่งทางหน้าที่ทางการเมือง แสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพรรคพวกอย่างรุนแรงที่ไม่เคยเป็นมาก่อน...รัฐบาลเป็นเผด็จการทางรัฐสภา”

ล่าสุดคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค.) อ้างในประกาศฉบับที่ ๑ ถึงสาเหตุในการยึดอำนาจว่า

“การบริหารราชการแผ่นดินโดยรักษาการณ์รัฐบาลปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่ายสลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง

หน่วยงาน องค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง

แม้หลายภาคส่วนสังคม จะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้”

ส่วนสาเหตุอื่นๆ รองลงไปที่คณะรัฐประหารและกบฏ นำมาอ้างกันนั้น ที่มีการอ้างมากรองลงไปได้แก่ประเทศชาติย่ำแย่ สถานการณ์ในและนอกประเทศไม่มั่นคงไม่ปลอดภัย รวมได้ ๖ ครั้ง คือ รัฐประหาร ๒๔๙๐, ๒๕๐๑, ๒๕๑๔, ๒๕๒๐, ๒๕๒๔ และ ๒๕๒๘

ประกาศที่คลาสสิคที่สุดในข้อนี้ ได้แก่ประกาศคณะปฏิวัติ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑ ดังความต่อไปนี้

“เนื่องจากประกาศฉบับที่ ๑ ของคณะปฏิวัติที่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบว่า การยึดอำนาจครั้งนี้ได้กระทำด้วยความจำเป็นที่สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกรัดรึงตึงเครียด เป็นภัยอันใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีอื่นๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงไปใช้วิธีใด นอกจากยึดอำนาจ...

ทางสถานการณ์ภายใน ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยอันยิ่งใหญ่...เหตุการณ์ภายนอกก็เพิ่มความลำบากหนักใจยิ่งขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถวถิ่นใกล้เคียงกับประเทศไทย...”

การยึดอำนาจและรัฐประหารโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นการรัฐประหารที่ฉีกออกไปจากรูปแบบ และขนบธรรมเนียมของการรัฐประหารโดยสิ้นเชิง มีการสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์อย่างมากมายหลายเรื่อง ในการก่อการรัฐประหาร

ต้องให้เกรดเอ ถ้าหากมีการสอบไล่วิชาว่าด้วย การทำกบฏปฏิวัติรัฐประหารในเมืองไทย ประการแรก จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ก่อการหนเดียวเหมือนคนอื่นๆ หากแต่ทำการปฏิวัติซ้ำในเวลาใกล้ๆ กันต่อมาคือการปฏิวัติ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๑

นวัตกรรมอันแรกคือ ไม่เพียงแค่ยึดอำนาจแล้วตั้งรัฐบาลใหม่ของตน หากแต่สร้างเงื่อนไขและเหตุผลมากมายอันนำไปสู่การ “ล้มระบอบการปกครอง” เดิมลง แล้วสร้างระบอบปกครองอันใหม่ขึ้นมา อันแสดงออกในลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้

๑. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปิดรัฐสภา ล้มพรรคการเมือง
๒. ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแทนชั่วคราว
๓. ไม่สัญญาเรื่องการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
๔. ใช้กฎอัยการศึก และประกาศคณะปฏิวัติ ให้เป็นกฎหมายในการปกครอง

ในยุคสฤษดิ์นี้เอง ที่ประเทศไทยไม่มีระบอบการปกครองแบบรัฐสภาอย่างยาวนานคือ ๑๑ ปี (๒๕๐๑-๑๒) แต่ปกครองภายใต้สภานิติบัญญัติ ที่แต่งตั้งโดยสฤษดิ์ผู้เดียว

ที่ทันสมัยไม่เบาก็คือ ในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒ ที่อธิบายถึงสาเหตุในการทำรัฐประหารแล้ว จอมพลสฤษดิ์ยังให้สัญญาหรือหลัก ๔ ประการที่จะทำต่อไป คือ

๑. จะเคารพรักษาสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสากล ที่ได้ทำขึ้นในสมัชชาแห่งสหประชาชาติ จะไม่ทำอะไรให้ผิดพลาดและละเมิดปฏิญญานั้น นอกจากจะมีเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องทำ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศชาติอย่างแท้จริง

๒. จะเชิดชูรักษาไว้ซึ่งอิสรภาพของศาล ให้ศาลมีอิสระสมบูรณ์ในการพิจารณาพิพากษา...โดยมิต้องอยู่ใต้อาณัติอิทธิพลหรือการแทรกแซงอย่างหนึ่งอย่างใดจากคณะปฏิวัติหรือจากรัฐบาลที่คณะปฏิวัติจะตั้งขึ้นเลยเป็นอันขาด

๓. จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์...เคารพปฏิบัติตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและที่เป็นขนบประเพณี...

๔. ในประการสำคัญที่สุด คณะปฏิวัติยึดมั่นอยู่เสมอว่าพระมหากษัตริย์กับชาติไทยจะแยกกันมิได้...คณะปฏิวัติจะรักษาฐานแห่งสถาบันนี้ไว้โดยเต็มความสามารถ และจะกระทำทุกวิถีทางที่จะให้องค์พระมหากษัตริย์ ทรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ

จะมิให้มีการละเมิดอย่างหนึ่งอย่างใดต่อพระองค์ ต่อพระบรมวงศานุวงศ์และต่อราชประเพณีที่ชาติไทย ได้เชิดชูยกย่องมาตลอดกาล

สาเหตุประการต่อมาที่มีการอ้างในการกบฏปฏิวัติรัฐประหารได้แก่ความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนรวม ๕ ครั้ง คือ กปค. ๒๔๗๕, ๒๔๙๐, ๒๕๐๐, ๒๕๒๔, และ ๒๕๒๘

อีก ๒ สาเหตุที่มีการอ้างในการทำรัฐประหารได้แก่ มีการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวม ๓ ครั้ง ได้แก่ กบฏบวรเดช ๒๔๗๖, ๒๕๑๙ และ ๒๕๓๔ กับสาเหตุจากภัยคอมมิวนิสต์รวม ๓ ครั้ง ได้แก่ รัฐประหารเงียบ ๒๔๙๔, ๒๕๐๑, และ ๒๕๑๔

หากพิจารณาจากสาเหตุต่างๆ ที่บรรดาคณะรัฐประหารได้อ้างกันมาแล้วนั้น ล้วนเป็นมูลเหตุแห่งความขัดแย้งที่มีลักษณะทั่วไป คือเป็นเรื่องและปัญหาที่มีเกิดได้ในระบบการปกครองและบริหารทุกแห่ง

นั่นคือเป็นเรื่องที่กล่าวอ้างและยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ การกระทำของคนที่บริหารได้ แต่จะอ้างว่าดังนั้นจึงต้องยึดอำนาจล้มรัฐบาลและกระทั่งกฎหมายสูงสุดของประเทศ ยังฟังไม่ขึ้นและขาดตรรกและเหตุผลอันควรให้เห็นพ้องยอมรับได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้วิเคราะห์ให้ลึกลงไปว่า แล้วสาเหตุจริงๆ ของการยึดอำนาจกบฏรัฐประหารกันมามากมายและยาวนานนั้น มันมาจากอะไรกันแน่

คำตอบที่มีคนเคยให้ไว้ก็คือ เป็นการล้มอำนาจและแย่งยึดอำนาจจากผู้นำที่ตนเองไม่ต้องการและไม่พอใจ โดยเฉพาะต่อนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ๔ ครั้ง นายกรัฐมนตรีเป็นพลเรือน (พระยามโนฯ ๒๔๗๖, หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ๒๔๙๐, ม.ร.ว. เสนีย์ ๒๕๑๙, ชาติชาย ๒๕๓๔, ทักษิณ ๒๕๔๙)

๓ ครั้งนายกฯ เป็นทหาร (จอมพล ป. ๒๔๙๔, ๒๕๐๐ และถนอม ๒๕๐๑) อีกประการที่มีส่วนในการทำให้การอ้างถึงสาเหตุของการรัฐประหาร เป็นที่ยอมรับได้อย่างน้อยก็ในช่วงเวลานั้น คือการเกิดกระแสความรู้สึกนึกคิดทางสังคม ที่ร่วมกันอย่างหนึ่งขึ้นมา

ความรู้สึกนั้นอาจมาจากปัญหาและเรื่องจริงๆ เป็นส่วนใหญ่ก็ได้ หรืออาจมาจากความรู้สึกทางอัตวิสัย และความเชื่อตามกระแสสังคมก็ได้ การศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร อย่างเป็นระบบและมีทฤษฎี จึงมีส่วนในการทำให้การกระทำนั้นสามารถพิเคราะห์ได้อย่างมีเหตุผล และเป็นหลักการในการปฏิบัติต่อไปได้

กลับมาที่ความคิดของอริสโตเติลอีกครั้ง เขาได้ศึกษาเรื่องการปฏิวัติอย่างเป็นระบบ และที่เป็นแบบทั่วไปคือเกิดได้ทั่วไปนั้น เขาพบว่าการใช้ความรุนแรง ระหว่างผู้นำกับประชาชนนั้นเกิดมาจากการที่รัฐต่างๆ ก่อตั้งขึ้นมา บนความคิดความเข้าใจในเรื่องความยุติธรรมที่ผิดๆ และความคิดที่ผิดๆ

นี้เองที่นำไปสู่ความไม่พอใจ ของผู้ถูกปกครองกระทั่งลุกลามไปสู่การลุกฮือและการประท้วง และปฏิวัติทำลายล้างซึ่งกันและกัน การลุกฮือนี้อาจไม่นำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองเสมอไป แต่ก็นำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบของรัฐบาลแห่งรัฐ ซึ่งมีผลทำให้จุดหมายและการปฏิบัติของรัฐบาลนั้นๆ แตกต่างกันไปโดยสิ้นเชิง

พอถึงจุดนี้อริสโตเติลก็ฟันธงสรุปลงไปได้เลยว่า มูลเหตุหลักของการเกิดการปฏิวัตินั้น มาจากปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างคนในรัฐนั่นเอง ไม่ใช่มาจากความโง่เขลาเพราะไร้การศึกษา หรือเป็นคนชั้นต่ำ รากหญ้า ไม่ใช่มาจากความยากจนเพียงโดดๆ และย่อมไม่ใช่มาจากการถูกซื้อ โดยผู้มีอำนาจหรือทรัพย์สินอย่างเซื่องๆ เหมือนโคกระบือด้วยเช่นกัน

อริสโตเติลได้ค้นพบสาเหตุมูลฐาน ของการปฏิวัติว่ามาจากปัจจัยทางสังคมที่เรียกว่า “ความไม่เสมอหน้า” หรือความไม่เท่าเทียมกันของคนในรัฐ สมุฏฐานของการปฏิวัติดังกล่าวนี้ ในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นสัจธรรมทางการเมืองไปแล้ว

ดังตัวอย่างในสยามก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ มีการก่อรูปของความรู้สึกนึกคิดก่อนในหมู่ราษฎร และชนชั้นนำบางส่วน ในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๖ หนังสือพิมพ์มักตีพิมพ์ข่าว และรายงานเรื่องราวอันสะท้อนถึงความไม่พอใจของราษฎร และข้าราชการโดยเฉพาะหมู่ทหาร

แสดงว่าประเด็นความรู้สึกในความไม่พอใจ ต่อการใช้อำนาจปกครองของพระมหากษัตริย์ ย่อมมีมากขึ้นเป็นลำดับ เช่นหนังสือพิมพ์ฝรั่งชื่อลอยด์วีคลี่นิวส์ ได้เขียนบทความจากเหตุการณ์สมัยนั้นเรื่องหนึ่ง ความว่า ในการเตรียมงานพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกสมโภชของรัชกาลที่ ๖ กำหนดให้มีการเล่นฟ้อนรำด้วย

หลวงรักษานารถข้าราชสำนักผู้หนึ่ง ไม่ยินยอมให้ภรรยาของตนร่วมฟ้อนด้วย ความทราบถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงพิโรธเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีพระบรมราชโองการให้สั่งถอดยศบรรดาศักดิ์ พร้อมทั้งเฆี่ยนหลังหลวงรักษานารถ ๓๐ ที และให้นำตัวไปขังคุกเป็นเวลา ๑ ปี

ผู้เขียนบทความแสดงทัศนะในตอนท้ายว่า “เป็นเรื่องที่หวาดเสียวไม่เฉพาะแต่ชาวยุโรปในกรุงสยามเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงคนไทยชั้นสูงด้วย”

ในทรรศนะของอริสโตเติล การป้องกันการปฏิวัติที่ดีที่สุดคือการทำให้รัฐเป็นที่พอใจของประชาชน คือการสร้างความเสมอหน้าความเป็นธรรมและความยุติธรรมให้กับคนส่วนใหญ่ ในบรรดารัฐต่างๆ ที่สามารถมีนโยบายเชิงบวกในการป้องกันการปฏิวัติ คือรัฐกษัตริย์ (Monarchy) รัฐอภิชนาธิปไตย (Aristocracy) และรัฐประชาธิปไตย (Democracy)

วิธีการส่วนใหญ่มุ่งไปที่การศึกษาและการใช้กฎหมาย ข้อแรกที่เขาเสนอให้รัฐยึดเป็นหลักในการป้องกันการปฏิวัติ คือการที่คนชั้นนำต้องเคารพกฎหมาย ต้องปฏิบัติบนหลักการของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ในทางรูปธรรมได้แก่การจำกัดอำนาจของชนชั้นนำกันเอง เช่น ในระยะเวลาของการมีอำนาจเป็นต้น

ข้อต่อมาคือหลีกเลี่ยงการเพิ่มอำนาจให้แก่ตนเอง และพรรคพวกอย่างไม่เหมาะสมข้อต่อไปคือ อย่าให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของตนทำการคดโกง

ข้อสุดท้ายคือผู้นำต้องแสดงให้ราษฎรเห็นว่าพวกเขามีการควบคุมการใช้อำนาจของตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แสดงออก (ผ่านสื่อและพฤติกรรมต่างๆ) ถึงการมีอำนาจและบารมีเหนือกว่าประชาชนอยู่ตลอดเวลา

ในความเป็นจริง รัฐแบบต่างๆ ก็มีวิธีการและหนทางของตนเองในการรักษาและเอาตัวรอดต่างๆ กัน รัฐกษัตริย์อาจเอาตัวรอดได้ด้วยการทำให้คนรัก แต่หนทางดังกล่าวก็มีอายุอันจำกัดมากๆ ในระยะยาวไปไม่รอด

รัฐทรราชย์ด้วยการทำตัวเองให้แข็งแกร่งดุดันมากขึ้น เพื่อคนจะได้กลัว เช่น ประกาศใช้มาตรา ๑๗ สมัยจอมพลสฤษดิ์และมาตรา ๑๑๒ ในยุคปัจจุบัน ผู้นำทรราชย์อาจใช้กำลังอย่างสุดขั้วเลย หรือไม่ก็ใช้กำลังอย่างกลางๆ นิ่มนวล เหมือนคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ

แต่ไม่ว่าจะใช้แบบไหน อายุของระบบทรราชย์ก็สั้นและสั้นที่สุดในรูปแบบรัฐทั้งหมด

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ กล่าวได้ว่าเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่ออันสำคัญยิ่ง ในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย เพราะความคิดและความรู้สึกไปถึงความต้องการทางสังคมของราษฎรในอดีตนั้น ถูกสังเคราะห์และนำไปสู่การปฏิบัติทางการเมืองอย่างจริงจัง และประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แต่ที่เป็นปัญหามากกว่า คือการรักษาและสร้างให้ระบบการเมืองใหม่ดำเนินไปในทิศทางของการเป็นประชาธิปไตย และเป็นระบบการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ ๒ เรื่อง ๒ ปัญหานี้ควรพิจารณาในทางทฤษฎีที่แยกกัน คือไม่ใช่เรื่องเดียวกันและไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุและเป็นผลซึ่งกันและกัน

นั่นคือการปฏิวัติอเมริกา ปี ค.ศ. ๑๗๗๖ ก็ไม่ต้องรับผิดชอบการเกิดสงครามกลางเมืองในปี ๑๘๖๑-๖๕ การปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศศ ๑๗๘๙ ก็ไม่ได้สร้างระบอบรัฐบาลที่ปกครองอย่างเรียบร้อย

กว่าที่ระบบประชาธิปไตยฝรั่งเศส จะลงรากปักฐานก่อรูปเติบใหญ่ขึ้นมาก็มาจากการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาการของพลังการเมืองและสังคมอื่นๆ ที่ตามมา ไม่มีใครคิดว่าทุกปัญหาในปัจจุบัน ต้องกลับไปวิพากษ์หรือเริ่มต้นถามกันใหม่ว่าการปฏิวัติในปี ค.ศ. ๑๗๘๙ ว่าทำไมถึงไม่ทำให้เรียบร้อยเสียแต่แรกเล่า

กล่าวอย่างสั้นๆ จุดอ่อนของการสร้างระบบประชาธิปไตยในการเมืองไทย คือการที่พื้นที่และเวทีการเมืองใหม่นี้ ไม่อาจนำไปสู่การสร้างดุลยภาพในระดับที่ทำงานได้ ระหว่างชนชั้นนำเก่ากับชนชั้นนำใหม่

ที่สำคัญคืออำนาจกองทัพ ซึ่งเป็นทั้งสถาบันสมัยใหม่ แต่ก็สร้างอุดมการณ์ที่เป็นของเก่า เลยกลายเป็นสถาบันเก่าไป และยากต่อการพัฒนาให้เป็นพลังประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมาได้ บวกกับปัญหาพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในโลกที่สาม

ที่ไม่อาจสร้างชนชั้นกระฎุมพี ช่างฝีมือและเสรีชนวิชาชีพอิสระต่างๆ มากพอ ที่จะทำให้พื้นที่สาธารณะใหม่นี้ ต้องเป็นตัวแทนและสะท้อนความรู้สึกความต้องการในอนาคตใหม่ ของราษฎรส่วนใหญ่ขึ้นมาได้

การกบฏปฏิวัติรัฐประหารจึงค่อยๆ ก่อตัว และสถาปนาระบบและความรู้สึกนึกคิด (mentality) ของตนขึ้นมา จนทำให้ข้ออ้างต่างๆ ในการทำรัฐประหาร เป็นคำอ้างที่ฟังได้ในหมู่คนชั้นกลาง และผู้มีการศึกษาของสังคมนี้มาได้อย่างยาวนาน

อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ พร้อมเชิงอรรถและรูปภาพได้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมิถุนายน 2555


ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
คุณธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

สิริสวัสดิ์ภุมวารค่ะ




 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2555
0 comments
Last Update : 3 กรกฎาคม 2555 11:05:24 น.
Counter : 2171 Pageviews.


sirivinit
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 224 คน [?]





/



2558

2556

2555

น้ำใจจากคุณ krittut 2554

2553


สิริสวัสดิ์วรวาร
เปรมปรีดิ์มานรื่นรมณีย์นะคะ ยินดีต้อนรับ
สู่บล็อกของคนใฝ่รู้ สำหรับผู้ใส่ใจใฝ่รู้ค่ะ

เชิญอ่านตามสบายนะคะ
มีดีๆให้คุณได้ทราบหลากหลายค่ะ

๑ - ๑/๑ ฉันรักในหลวง
๒.๓.๑๐.๑๕.๓๐.๒๔.๕๙.๖๓.๙๐.ธรรมะ
๔ - ๔/๑ รวมพลคนดัง
๕. ศาสนาพุทธสุดประเสริฐ
๖. ความรู้ทั่วไปในศาสนาพุทธ
๗. ๑๖. ประวัติศาสตร์
๘ - ๙/๑ ไม้ดอก ไม้ใบ
๑๑ - ๑๑/๑ เกม
๑๒.๓๗.๔๐-๔๓.๕๓.๗๕.๘๖.ศิลปะเทศ
๑๔ - ๑๔/๑. ๒๐๘. ข่าวคนดังเทศ
๑๘. ๑๙. ๒๒. ราชวงศ์ไทย
๒๐.๑๑๖-๑๑๖/๒ ๑๙๐-๑๙๐/๘ ละคร ทีวี
๒๑. ๓๑. ๒๐๘. ราชวงศ์เทศ
๒๔. นักเขียนไทย
๒๔/๑. กลอนชั้นบรมครู
๒๙/๑-๒๙/๔โปสการ์ดจากเพื่อนบล็อก
๓๓. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
๓๙.๑๘๑-๑๘๑/๗ สุธาโภชน์รสเลิศล้ำ
๔๑.๔๒.๕๐.๕๘.๖๐.๖๑.๘๖.มหาวิหาร
๕๗. ปราสาท พระราชวัง คฤหาสน์เทศ
๖๒. วัด
๖๕ - ๖๕/๑ การ์ตูน
๖๕/๒. นิทานเซน
๖๗. ความตายมาพรากให้จากไป
๖๙ - ๖๙/๒ สารพัดสัตว์
๗๔. สุนัข
๗๖. อุทยานสวรรค์
๗๗. ซูเปอร์แมน - แบทแมน
๗๘ - ๘๓. แสตมป์สะสม
๘๕-๘๕/๑ หนังสือสะสม
๘๗ - ๘๗/๒ ๒๑๕ ข่าวกีฬา
๘๙. ๘๙/๑ จีนแผ่นดินใหญ่
๙๐/๑ .ทิเบต
๙๑. จันทร์สูริย์ดารา
๙๒. สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้า
๙๓ - ๙๓/๒ ภาพยนตร์
๙๔ - ๙๔/๓ ยานยนต์
๙๕ - ๙๕/๑ ดูดวง
๙๖ - ๙๖/๑ . ๒๑๑ วิทยาศาสตร์
๙๗ - ๙๗/๑.๒๐๙ แวดวงวรรณกรรม
๙๘. ภาพพุทธประวัติ
๙๙. ๑๒๗ - ๑๒๗/๑ ดนตรี
๑๐๑. ป้าย R สะสม
๑๐๒. บัตรภาพตราไปรฯสะสม
๑๐๓. DIY
๑๐๗/๑ เล่าเรื่องเมืองญี่ปุ่น
๑๐๘ - ๑๐๘/๑ หนังสือ
๑๑๓ - ๑๑๓/๑ บ้านสวย
๑๑๕. พระเครื่อง
๑๒๐. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๒๓. เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ
๑๒๕. เหรียญที่ระลึก
๑๒๕/๑ เหรียญสะสมต่างประเทศ
๑๒๕/๒ เหรียญที่ระลึกจังหวัด
๑๒๕/๓ ธนบัตรที่ระลึก
๑๒๕/๔ บัตรโทรศัพท์
๑๒๕/๕ กล่องไม้ขีด และอื่นๆ
๑๓๑.เรื่องสั้นชั้นครู"เจียวต้าย"
๑๖๔.บล็อกพิเศษ วันเดียวอั๊พ 100
เอนทรี่ ให้คุณป้า"ร่มไม้เย็น"ชม
๑๙๐/๓ เรื่องย่อละคร
๑๙๓. คดีเขาพระวิหาร
๒๑๒. ศิลปะ
๒๑๗. วิถีแห่งอำนาจ บูเช็กเทียน
๒๑๗/๑.วิถีแห่งอำนาจ เจงกิสข่าน
๒๑๗/๒.วิถีแห่งอำนาจ จูหยวนจาง
๒๑๗/๓.วิถีแห่งอำนาจ ซูสีไทเฮา
๒๑๗/๔.วิถีแห่งอำนาจ หงซิ่วฉวน
๒๑๗/๕.วิถีแห่งอำนาจ แฮรี่ พอตเตอร์

ข่าวทั่วไปล่าสุด บล็อกล่างสุดค่ะ

เปิดบล็อก 1 มกราคม 2552



free counters
08.27 - 250811

207 flags collected 300316



Friends' blogs
[Add sirivinit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.