Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2550
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
11 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 

12 เดือนในญี่ปุ่น - เดือนมกราคม

เดือนมกราคม - อิจิ กัตทสึ ( Ichi gattsu - 1月 )

การเรียกชื่อเดือนนั้น....เขียนกำกับไว้ทั้งแบบที่นิยมใช้กันในปัจจุบันนี้ และแบบสมัยก่อนด้วย

สมัยก่อนเรียกว่า “ มุตทสึกิ ” ( Mutsuki - 睦月 ) ซึ่งแปลว่า...เดือนแห่งการชุมนุมของครอบครัว เป็นเดือนที่สมาชิกของครอบครัว ญาติมิตรเพื่อนฝูง จะได้มีโอกาสมาพบปะสังสรรค์กัน

*ตัวหนังสือสีแดง... เป็นวันหยุดราชการ
*ตัวหนังสือสีน้ำเงิน...เป็นวันเทศกาลแต่โบราณ

วันที่ 1 มกราคม.....วันขึ้นปีใหม่ กันจิทสึ ( Gan jitsu - 元日 )
วันที่ 4 มกราคม.....วันเริ่มงาน โกะโยฮาจิเมะ ( Goyo hajime - 御用始め )
วันที่ 7 มกราคม..... วันข้าวต้มใส่พืชผักสมุนไพร 7 ชนิด นานาคุสะงะยุ (Nanakusagayu - 七草がゆ )
วันจันทร์ที่สองของเดือน (ปี 2550 ตรงกับวันที่ 8 มกราคม)...วันบรรลุนิติภาวะ เซจินโนะฮิ ( Seijin no hi - 成人の日 )
ประมาณวันที่ 20 -22 (ปี 2550 ตรงกับวันที่ 20 มกราคม) วันแห่งความหนาว ไดกัง ( Daikan - 大寒 )

วันที่ 1 มกราคม .... “วันขึ้นปีใหม่ ” และเป็นวันหยุดราชการด้วย คนญี่ปุ่นเรียกวันขึ้นปีใหม่ว่า “ กันจิทสึ ” (Ganjitsu - 元日 ) หมายถึง...วันแรกแห่งปี ในวันนี้..สำหรับชาวญี่ปุ่นถือว่าเป็นวันสำคัญที่บ่งบอกถึงการเริ่มต้นใหม่ของปีนั้น ๆ

ในช่วงปีใหม่....มักจะมีการประดับประดาสัญลักษณ์ของวันปีใหม่ ตามบริเวณทางเข้าก่อนที่จะขึ้นบ้าน และตรงหน้าประตูบ้าน สมัยก่อนนิยมประดับด้วย “สนประดับ – คาโดะมัีตทสึ ” (Kadomatsu - 門松 ) และ “เชืิ่อกประดับ – ชิเมะคาซาริ” ( Shimekazari - しめかざり ) แต่ปัจจุบันนี้...นิยมใช้แบบง่าย ๆ คือ แบบที่มีลักษณะเป็นรูปวงแหวนแขวนหน้าประตูบ้าน ทั้งสนประดับ และ เชือกประดับ สามารถหาซื้อได้ ตามห้าง ,ร้านค้า ทั่วไป ซึ่งมักจะนำมาวางจำหน่ายก่อนหน้าวันขึ้นปีใหม่

“สนประดับ – คาโดะมัีตทสึ ” ( Kadomatsu - 門松 ) ประกอบด้วย...กิ่งสนใหญ่ ไม้ไผ่ และช่อดอกบ๊วย เชื่อถือกันว่า้ เป็นที่สิ่งสถิตของเทพเจ้าแห่งปี นำมาประดับตกแต่งเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของวันปีใหม่...ใช้เพื่อแสดงการต้อนรับเทพเจ้าแห่งปี และวิญญาณของบรรพบุรุษ และเป็นการขอพรให้มีอายุยืนนาว มีความเจริญรุ่งเรือง และมีความมั่นคงในชีวิต โดยจะจัดวางไว้ที่หน้าประตูบ้าน ซึ่งอาจจะวางไว้ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองด้านก็ได้






"เชืิ่อกประดับ – ชิเมะคาซาริ” ( Shimekazari - しめかざり ) ประกอบด้วย...เชือกศักดิ์สิทธิ์ทำด้วยฟางข้าว มีแถบกระดาษสีขาวห้อยเป็นพู่ ประดับกับส้ม (มีความหมายว่า...สุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงของสมาชิกในครอบครัว) กุ้งมังกร (มีความหมายว่า...อายุยืนยาว) และใบเฟิร์น ชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่า บ้านที่ประดับแขวนชิเมะคาซาริไว้ที่หน้าประตูบ้านนั้น บริุสุทธิ์ สิ่งชั่วร้ายไม่สามารถผ่านเข้าไปได้ และขจัดสิ่งชั่วร้ายออกไปจากบ้าน เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่อีกด้วย

เช้าของวันที่ 1 มกราคม ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “กันตัน” (Gantan - 元旦 ) เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวจะอยู่กันพร้อมหน้า เพื่อดื่มเหล้าฉลองที่เรียกว่า “โอโทะโซะ” ( Otoso - おとそ ) เป็นเหล้าสาเกใส่สมุนไพร เสิรฟ์ในกาและถ้วยชุดเครื่องเขิน ดื่มเพื่อเป็นการฉลองปีใหม่ และช่วยย่อยอาหารที่รับประทานในการฉลองปีใหม่ สมุนไพรสำหรับผสมในเหล้าสาเกนี้ จะมีขายเป็นถุงสำเร็จรูป ใช้ใส่แช่ในเหล้าสาเก ซึ่งเชื่อกันว่าจะช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้าย และช่วยรักษาสุขภาพ



อาหารที่รับประทานเป็นพิเศษเพื่อฉลองในวันปีใหม่ คือ โอโซนิ ( Ozoni - お雑煮 ) ประกอบด้วย โอโมจิ ( Omochi - お餅 ) เป็นก้อนแป้งข้าวเหนียว ต้มกับปลาตัวเล็ก ๆ หรือเนื้อไก่ และผักต่าง ๆ เช่น เห็ด หน่อไม้ ฯลฯ

ในแถบคันโต (Kanto ) คือ...บริเวณแถบโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียง จะทำเป็นน้ำซุปใส และใส่โอโมจิเป็นก้อนสี่เหลี่ยม





ในแถบคันไซ (Kansai) คือ....บริเวณแถบโอซาก้า และจังหวัดใกล้เคียง จะทำเป็นซุปมิโซะ ( Misoshiru - 味噌汁) ซุปใส่เต้าเจี้ยวบด ที่คนญี่ปุ่นนิยมรับประทานกันเป็นประจำทุกวัน และใส่โอโมจิเป็นก้อนกลม

การทำ"โอโซนิ"...นั้นแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น และบ้าน ซึ่งแต่ละท้องถิ่นเค้าก็จะภูมิใจในลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นของเค้า

ถ้าเพื่อน ๆ อยากทราบรายละเอียดของ "โอโซนิ" ของแต่ละท้องถิ่น คลิกอ่านได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ //www.rurubu.com/season/winter/ozoni/ozoni.asp

อาหารอีกอย่างที่เป็นสัญลักษณ์ของวันปีใหม่ คือ... โอเซจิเรียวริ (Osechiryori - おせち料理 ) แต่เิดิมนั้น..."โอเซจิ" หมายถึง.... อาหารถวายพระหรือเจ้าในเทศกาลพิเศษ แต่ในปัจจุบันนี้...วันปีใหม่ ถือเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดเทศกาลหนึ่งของปี จะมีการจัดเตรียมอาหารหลากหลายชนิด และจัดบรรจุใส่ไว้อย่างสวยงามในภาชนะชุดเครื่องเขิน อาหารที่มักจะจัดใส่นั้น...มี ปลาย่าง ไข่ปลา ไข่ม้วน กุ้ง สาหร่ายห่อ ถั่วดำเชื่อม หัวไช้เท้ากับแครอทดอง และอื่น ๆ ในปัจจุบันนี้..จะมีอาหารจีน และอาหารแบบตะวันตกเพิ่มเข้าไปอีกด้วย สำหรับบ้านที่ไม่สะดวกที่จะจัดเตรียมทำโอเซจิเองนั้น ก็สามารถสั่งหรือซื้ออาหารชุดโอเซจิสำเร็จรูป ได้ตามร้านอาหาร หรือตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป

"โอเซจิ"...มักจะเป็นอาหารที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้หลายวัน ซึ่งจะเตรียมปริมาณไว้เพียงพอสำหรับรับประทาน 3 วันแรกของปีใหม่ ทั้งนี้...เพื่อให้แม่บ้านได้มีโอกาสหยุดพักจากการทำครัวในช่วงปีใหม่ด้วย





พวกเด็ก ๆ จะตื่นเต้นยินดีรอวันนี้กัน...เพื่อจะได้รับ โอโทชิดามะ (Otoshidama - お年玉 ) คือ.... เงินที่ผู้ใหญ่ให้แก่เด็ก ๆ ในวันปีใหม่ ซึ่งได้จากพ่อแม่ , ญาติสนิท ฯลฯ (เหมือนการให้อั่งเปา ในวันตรุษจีนของไทยเรา) จำนวนเงินที่ให้นั้น แตกต่างกันไปแล้วแต่อายุของเด็ก และฐานะของแต่ละครอบครัว แต่เดิม “โอโทชิดามะ” เป็นประเพณีการแลกเปลี่ยนของขวัญซึ่งกันและกันในวันปีใหม่ ในช่วงค.ศ. 1336 -1573 ปลายสมัยมูโรมาจิ (Murumachi) ในชนชั้นขุนนาง และนักรบ

เงินที่ให้เป็นของขวัญแก่เด็ก ๆ "โอโทชิดามะ"....มักจะใส่ในซองเล็ก ๆ ซึ่งเขียนคำอวยพร และมีรูปของสัตว์ประจำปีนั้น ๆ หรือตัวการ์ตูนที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ



ผู้คนจำนวนมากจะพากันไปไหว้พระ "ฮัททสึโมเดะ" ( Hatumoude - 初詣 ) ที่ วัดชินโต - จินจะ (Jinja - 神社) หรือ วัดพุทธ - จิอิน (Jiin - 寺院) เป็นครั้งแรกของปี หลังจากที่วัดตีระฆังส่งท้ายปีเก่าทันที หรือในวันรุ่งขึ้น (วันปีใหม่) หรือไม่ก็มักจะไปกันในช่วงสัปดาห์แรกของปีใหม่ จะมีการโยนเงินลงในกล่องรับเงิน และอธิษฐานขอพรให้มีความสุข และสุขภาพแข็งแรงตลอดปี



หลังจากไหว้พระเสร็จแล้วก็จะพากันซื้อ เครื่องลาง โอมาโมริ (Omamori - お守り ) ...ที่เรียกกันว่า “ฮามะยะ ( Hamaya - はまや) ลักษณะเป็น.....ลูกศรศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีขนนกสีขาวประดับอยู่ นำกลับบ้านเพื่อความสิริมงคลเป็นเครื่องลางนำโชคของปี ที่มักจะวางไว้บนที่สูง เช่น คานบ้าน หลังตู้ พอครบปีก็จะนำอันเก่า (ของปีที่แล้ว) ไปที่วัดเพื่อเผารวมกัน



อีกอย่างที่ผู้คนนิยมซื้อกันก็คือ ตุ๊กตาอฐิษฐาน ดะรุมะ (Daruma - だるま ) คนญี่ปุ่นมักจะตั้งเป้าหมายชีวิตของตัวเองวางแผนการไว้ล่วงหน้าในเรื่องต่าง ๆ เช่น...การเรียน การทำงาน ฯลฯ เริ่มแรกจะเลือกซื้อ "ตุ๊กตาดะรุมะ" โดยเริ่มจากตัวเล็ก ๆ ก่อน แล้วก็อธิษฐานขอในเรื่องนั้น ๆ ระหว่างที่อฐิษฐานก็จะระบายสีดำที่ตาของตุ๊กตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน (ข้างเดียว) ถ้าในปีนั้น....เรื่องที่ขอไว้สำเร็จลุล่วงสมตามความปรารถนา ก็จะระบายสีที่ตาตุ๊กตาอีกด้าน พอวันปีใหม่...ก็จะนำตุ๊กตาตัวเก่าไปวัดเพื่อเผารวมกันเช่นกัน พร้อมกับซื้อตัวใหม่ ที่ใหญ่กว่าตัวเดิม



บางคนก็จะทำการเสี่ยงเซียมซี โอมิกุชิ (Omikushi - おみくし ) ดูโชคชะตาว่าโชคดีหรือโชคร้าย ใบเซียมซีจะเขียนไว้ด้วยตัวอักษรคันจิ (เป็นตัวอักษรจีน) หลังจากอ่านใบเซียมซีแล้ว ก็มักจะนำไปผูกเอาไว้กับกิ่งไม้ในวัด เพื่อขอให้โชคชะตาดีขึ้น



สิ่งเหล่านี้...เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีในวันขึ้นปีใหม่ที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ แต่ในปัจจุบันนี้...ก็มีคนญี่ปุ่นที่นิยมจะไปฉลองปีใหม่ตามโรงแรม สถานอาบน้ำแร่ (อองเซน - Onsenchi - 温泉地 ) ลานสกี ตลอดจนไปฉลองในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

ในวันที่ 1 มกราคม...ไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่ เน็งกะโจว ฮะงะกิ (Nengajyo hagaki - 年賀状はがき) จะถูกจัดรวบรวมจัดส่งถึงบ้านทางไปรษณีย์ โดยทางกรมไปรษณีย์จะเก็บรวบรวมเอาไว้ก่อน และในเช้าของวันที่ 1 ทางไปรษณีย์จึงจะนำมาส่งให้ถึงตู้จดหมายที่บ้าน (ไม่ว่าจะส่งในช่วงไหนโดยประมาณก่อนวันที่ 28 เดือนธันวาคม...โดยดูวันประกาศของกรมไปรษณีย์อีกครั้ง) ซึ่งในไปรษณียบัตรอวยพรปีใหม่นั้น ส่วนใหญ่นิยมจะพิมพ์โดยใช้รูปของสัตว์ประจำปีนั้น ๆ หรือรูปของสมาชิกในครอบครัว มีการเขียนคำอวยพรปีใหม่ การได้รับและอ่านบัตรอวยพรปีใหม่ (ส.ค.ส.) นั้น ก็เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่นในช่วงปีใหม่




การส่งบัตรอวยพรปีใหม่...ให้แก่กันและกันนั้น เป็นประเพณีสำคัญของคนญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจะเตรียมทำบัตรอวยพรกันตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน ที่ทำการไปรษณีย์จะจำหน่ายบัตรอวยพรปีใหม่แบบที่มีรางวัลชิงโชค ซึ่งมี 2 ชนิด คือ บัตรอวยพรแบบที่บริจาคเงิน 3 เยน ต่อ 1 แผ่น ซึ่งเงินที่ได้รับบริจาคนั้น จะถูกนำไปช่วยงานกุศลต่าง ๆ และ บัตรอวยพรทั่วไปที่ไม่บริจาคเงิน

บัตรอวยพรทุกใบจะมีหมายเลขของสลากกำกับอยู่ด้านล่าง เพื่อให้ผู้ที่ได้รับบัตรอวยพร ตรวจชิงรางวัลของกรมไปรษณีย์ ประมาณในวันที่ 15 มกราคม (ดูกำหนดวันประกาศของกรมไปรษณีย์อีกครั้ง) จะมีการจับสลากเลขหมาย และประกาศหมายเลขของผู้โชคดีที่จะได้รับรางวัล ทางทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์ ผู้ที่โชคดีจะนำบัตรอวยพรไปของรับรางวัลได้ที่ ที่ทำการไปรษณีย์ใกล้บ้านของตน บัตรอวยพรชิงรางวัลนี้...เริ่มจัดทำมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1949

รูปแบบด้านหน้าของบัตรอวยพร (รูปของปีกุน)



ปีนี้...จับรางวัลในวันที่ 14 มกราคม 2550 เลขหมายของผู้โชคดีมีดังนี้ค่ะ....



นอกจากนี้ ในวันที่ 1 , 2 และ 3 มกราคม ซึ่งเรียกว่า โชงัททสึ ซังงะนิจิ (Shogatsu sanganichi - 正月三が日)นั้น ธนาคาร สถานที่ราชการ บริษัท ห้างร้านค้าส่วนใหญ่จะหยุดทำงาน ช่วงวันหยุดนี้ ผู้คนจะใช้เวลาไปเยี่ยมเยียนอวยพรญาติผู้ใหญ่ เจ้านาย หรือคนรู้จัก

วันที่ 4 มกราคม...วันเริ่มงาน โกะโยฮาจิเมะ (Goyo hajime - 御用始め ) จะเป็นวันเิริ่มทำงานของสถานที่ราชการ หลังจากหยุดฉลองปีใหม่กันไปหลายวัน สำหรับเอกชนนั้น จะเปิดทำการช้ากว่า แต่ในปัจจุบันนี้...บางบริษัทก็เริ่มเปิดทำงานตั้งแต่วันนี้ด้วย ก็มีเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

วันที่ 7 มกราคม....วันข้าวต้มใส่พืชผักสมุนไพร 7 ชนิด นานาคุสะงะยุ (Nanakusagayu - 七草がゆ)... ประเพณีมีสืบทอดมาแต่โบราณ (เริ่มขึ้นในสมัยเฮอัน - Heian) ชาวญี่ปุ่นนิยมที่รับประทานข้าวต้มใส่พืชผักสมุนไพร 7 ชนิดของฤดูใบไม้ผลิ ในวันที่ 7 ของปีใหม่ ซึ่งเชื่อกันว่า... ถ้ารับประทานแล้วจะทำให้มีสุขภาพแข็งแรงตลอดปี และช่วยกันป้องกันโรคหวัด และโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ


พืชผักสมุนไพร 7 ชนิดของฤดูใบไม้ผลิ.....ประกอบด้วย

1.เซริ (せり - Seri)
2.นาซูนะ (なずな- Nazuna)
3.โกะเงียว (ごぎょう- Gogyo)
4.ฮาโกะเบะระ (はこべら- Hakobera)
5.โอโตเคโนะซะ (ほとけのざ- Hotokenoza)
6.ซูซูนะ (すずな – Suzuna) 
7.ซูซูชิโระ(すずしろ-Suzushiro)




ในปัจจุบันนี้....ก่อนถึงวันที่ 7 มกราคม ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตและแหล่งชุมชนทั่วไป มักจะจัดพืชผักสมุนไพรทั้ง 7 ชนิดบรรจุใส่กล่องวางขาย เพื่อความสะดวกของผู้บริโภค



วันจันทร์ที่สองของเดือนมกราคม (ปี 2550 ตรงกับวันที่ 8 มกราคม)...วันบรรลุนิติภาวะ เซจินโนะฮิ (Seijin no hi - 成人の日 ) วันนี้...ถูกกำหนดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อเป็นเกียรติแก่คนหนุ่มสาวที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ในปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการต้อนรับสมาชิกใหม่ของสังคม ผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว มีสิทธิโดยสมบูรณ์ในฐานะประชาชนคนหนึ่งของประเทศ รวมทั้งมีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พร้อมทั้งจะดำเนินชีวิตตามวิถีทางของตนเอง และมีความรับผิดชอบสังคม



มีการจัดพิธีฉลองวันบรรลุนิติภาวะ เซจินชิกิ (Seijinshiki - 成人式 ) ทั่วประเทศ หญิงสาวที่เข้าร่วมพิธีส่วนมากนิยมสวมชุดกิโมโน , ชายหนุ่มที่เข้าร่วมพิธีส่วนมากมักจะแต่งชุดสากล มีการถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกในโอกาสพิเศษนี้



ในช่วงกลางเดือนมกราคม....จะมี การแข่งขันซูโม่ประจำปีที่สนามกีฬาแห่งชาิติ เรียวโงคุ (Ryogoku - 両国 ) ในโตเกียว

ซูโม่ (Sumo - 相撲 )...เป็นกีฬาประจำชาติของญี่ปุ่น มีสืบทอดมาแต่โบราณ นักซูโม่อาชีพเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยเอโดะ ( Edo - 江戸) ...ในการแข่งขันนั้น...นักซูโม่ 2 คนจะยืนประจันหน้ากันกลางเวที ซึ่งด้านในทำเป็นทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางวัดได้ 4.55 เมตร เวทีนี้...ที่เรียกว่า โดะเฮียว (Dohyo - 土俵)



มีการปฏิบัติธรรมเนียมที่สืบทอดมาแต่โบราณต่าง ๆ บนเวที เช่น การหว่านเกลือ เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์บนเวที ในการแข่งขันซูโม่นั้น....มีวิธีตัดสินที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ถึง 70 แบบด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น โอชิดาชิ (Oshidashi)คือ การผลักหรือดันให้ตกเวที , อุวะเทนาเงะ (Uwatenage)คือ การจับทุ่ม , โยริทาโอชิ (Yoritaoshi)คือ การผลักให้ล้ม , โยริคิริ (Yorikiri) คือ การผลักออก ฯลฯ



การแข่งขันในแต่ละครั้งจะมีอย่างเข้มข้นและกินเวลานาน 15 วัน มีการแข่งขันในระดับต่าง ๆ จนกระทั่งได้ผู้ชนะเลิศในครั้งนั้น ๆ นักซูโม่จะได้เลื่อนตำแหน่งตามผลการแข่งขัน ลำดับตำแหน่งสูงสุด 3 ตำแหน่ง ได้แก่

1. โยะโกะซึนะ (Yokozuna)
2. โอะเซกิ (Ozeki)
3. เซะกิวาเกะ (Sekiwake)

ตั้งแต่ปี ค.ศ.1958 เป็นต้นมา จะมีประเพณีการแข่งขันซูโม่ทุกปีเป็นประจำ ปีละ 6 ครั้ง ดังนี้

เดือน มกราคม , พฤษภาคม และ กันยายน จัดการแข่งขันที่ โตเกียว (Tokyo - 東京 )

เดือน มีนาคม จัดการแข่งขันที่ โอซาก้า (Osaka - 大阪 )

เดือน กรกฏาคม จัดการแข่งขันที่ นาโงย่า (Nagoya - 名古屋)

เดือน พฤศจิกายน จัดการแข่งขันที่ ฟุคุโอะกะ (Fukuoka - 福岡)

มีชาวต่างชาติหลายคนที่เป็นนักซูโม่อาชีพและได้ประสบความสำเร็จในอาชีพนี้ จึงทำให้กีฬาซูโม่ แพร่หลายออกไปเป็นที่รู้จักทั่วโลก ทำให้มีแฟน ๆ นักชมซูโม่เพิ่มมากขึ้นไม่เฉพาะแต่ชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีนักชมชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอีกด้วย



ประมาณวันที่ 20 -22 (ปี 2550 ตรงกับวันที่ 20) เป็น...วันแห่งความหนาว ไดกัง (Daikan - 大寒 ) ซึ่งถือว่าเป็นวันที่หนาวที่สุดตามปฏิทินจันทรคติ ความรู้สึกสดชื่นร่าเริงในช่วง สัปดาห์แรกของปีใหม่ - มัตทสึโนะอุจิ ( Matsu no uchi - 松の内 )จะหมดไป ความหนาวจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

จบแล้วค้า..........รูปภาพประกอบการนำเสนอ ได้มาจาก....... //www.google.co.jp/ ขอขอบคุณ...ท่านเจ้ารูปภาพทุกรูปไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

***ขอปิดการให้ Comment ในกระทู้นี้ไว้แค่นี้ก่อน***

หากเพื่อน ๆ ท่านใดมีความประสงค์ อยากเพิ่มเติม , ติ ชม หรือมีคำถามใด ๆ กรุณาแวะไปฝากข้อความไว้ได้ที่นี่ค่ะ

อารัมบท

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมเยียน และขออภัยในความไม่สะดวก ไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ




 

Create Date : 11 ธันวาคม 2550
2 comments
Last Update : 5 มกราคม 2552 6:45:46 น.
Counter : 13908 Pageviews.

 

แฟนคลับตัวจริงค่ะ มาคนแรกเลย อิ อิ

 

โดย: รัตน์ IP: 219.183.79.64 11 ธันวาคม 2550 7:12:46 น.  

 

มาชมจ้า

 

โดย: My life in Japan. 11 ธันวาคม 2550 7:14:07 น.  


เต่าญี่ปุ่น
Location :
埼玉県 Japan

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 234 คน [?]




ขอขอบคุณเพื่อน ๆ ทุกท่านที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมนะคะ จุดประสงค์หลักก็คือ... อยากเก็บประสพการณ์ต่าง ๆ ของชีวิตในต่างแดน (ญี่ปุ่น) ซึ่งได้อยู่มาเข้ารอบปีที่ 15 แล้ว เพื่อบันทึกความทรงจำ กันลืม เพราะแกร่แย้วววว ^o^ มีหลายเรื่องที่อยากเขียน....จนตัดใจเลือกไม่ถูกว่าจะเลือกเรื่องไหนเป็นหลัก......"รักพี่เสียดายน้อง" ไหน ๆ ก็ตัดใจเลือกไม่ได้ ก็เขียนมันเสียทุกเรื่องจะดีกว่าเนอะ.... บล๊อคนี้...ก็เลยกลายเป็น " บล๊อคจับฉ่าย " อย่างที่เพื่อน ๆ เห็นละนี้แระคร้า
Friends' blogs
[Add เต่าญี่ปุ่น's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.