คืนกำไรให้ชีวิต เพื่อพิชิตไปในโลกกว้าง
space
space
space
<<
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
space
space
22 ตุลาคม 2554
space
space
space

ดอกไม้ในวรรณคดีไทยที่น่ารู้
ดอกไม้ในวรรณคดีไทยที่น่ารู้

วรรณคดีไทย มีเอกลักษณ์พิเศษอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ธรรมเนียมนิยมในการแต่งวรรณคดีไทย เช่น มีบทชมความงามที่เราเรียกว่า เสาวรสจนีย์ คือ การชมความงามของรถทรง ความงามของตัวเอกในวรรรคดี การสรรเสริญคุณความดีของตัวละคร ตลอดจนการพรรณนาความงามของธรรมชาติ ที่เรียกว่า บทชมป่า

ในการชมป่า ก็มักจะมีการพรรณนาถึง พรรณไม้ต่าง ๆ ที่พบเจอในป่า และมักจะนำพรรณไม้นั้น ๆ มาพรรณนาให้เข้ากับความรักของตนที่มีต่อนางอันที่รักที่จากกันมา เราเรียกลักษณะนี้ว่า การแทรกสำนวนนิราศในวรรณคดีไทย ยกตัวอย่างเช่น

สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง ยามสาย
สายบ่หยุดเสน่ห์หาย ห่างเศร้า
กี่คืนกี่วันวาย วางเทวษ ราแม่
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า หยุดได้ฉันใด
(จากเรื่อง ลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์ของกรมสมเด็จพระปรมนุชิตชิโนรส )

โคลงสี่ บทนี้ เป็นเรื่องราวตอนที่พระมหาอุปราชเสด็จยกทัพเพื่อไปรบกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงต้องจากนางอันเป็นที่รักไป เมื่อเสด็จยกทัพผ่านพรรณไม้ต่าง ๆ จึงมีบทชมป่านี้เกิดขึ้น เราเรียกลักษณะ นี้ว่า ธรรมเนียมการแทรกสำนวนนิราศในวรรณคดีไทย

จากธรรมเนียมการแต่งดังกล่าว ทำให้ กวีได้ให้ความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้ต่าง ๆ ในบทชมป่าไว้มากมาย บางพรรณไม้ เราก็ไม่ค่อยพบและรู้จักก็มีมากมาย ดังที่ฉันจะนำมาแบ่งปัน ดังนี้ค่ะ

1. ต้นทรงบาดาล หรือ ขี้เหล็กบ้าน เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้น ไม่ปรากฏในในสวนมากนัก ไม่เป็นที่รู้จักของคนหมู่มาก นอกจากกวีที่ชอบธรรมชาติเท่านั้น เช่น ท่านสุนทรภู่ ซึ่งเป็นผู้ที่ใฝ่หาความรู้โดยเฉพาะตอนที่ท่านตกทุกข์ได้ยากต้องบวชเป็นพระและธุดงค์เดินป่า ได้แต่ง วรรณคดี เรื่องหนึ่ง คือ รำพันพิลาป (พิลาป แปลว่า เศร้าโศก เสียใจ) ได้กล่าวถึงพรรณไม้ชนิดนี้ ไว้ว่า

ชมพู่แก่แต่ละต้นมีผลดก ดูดังผูกพวงระย้านึกน่าขัน
"ทรงบาดาล" บานดอกกลีบออกทัน เก็บทุกวันเช้าเย็นไม่เว้นวาย
(จากเรื่อง รำพันพิลาป ของ สุนทรภู่)

ลักษณะเด่นของ "ทรงบาดาล" เป็นไม้ขนาดย่อม ใบแบบเดียวกับต้นชัยพฤกษ์ ดอกสีเหลืองคล้ายดอกราชพฤกษ์ รากใช้เป็นยาถอนพิษแก้สำแลง ได้

2. ดองดึง ชื่อนี้ น้อยคนนักที่จะเคยได้ยิน คงไม่คุ้นหูโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แม้แต่ฉันเองก็เช่นกัน (ที่หามาให้รู้จักได้ ก็เพราะการศึกษาค้นคว้าจากหนังสือ ค่ะ)
ดองดึง ถือเป็นไม้ จำศีล เพราะว่าเราจะเห็น มัน เฉพาะ ฤดูฝน เท่านั้น พอถึงฤดูแล้ง ต้นที่เห็นจะตายหมด แต่เหลือหัวที่อยู้ใต้ดินที่ยังไม่ตาย จะขยายพันธุ์โดยเพาะเมล็ดหรือแยกเหง้าไปปลูก เป็นดอกไม้ที่กวีหลายท่านคงชื่นชม ได้กล่าวไว้ในวรรณคดีดังนี้ ค่ะ

เล็บนางงามแสล้ม ต้นนางแย้มแกม"ดองดึง"
สุพรรณิการ์กากระทิง ดอกราชพฤกษ์ซึกไตรไตร
(จาก กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ หรือเจ้าฟ้ากุ้ง)

ลักษณะเด่นของ "ดองดึง" ดอกใหญ่สีเหลืองแดง ออกตามง่ามใบใกล้ยอด ก้านดอกยาว กลีบดอกมี 6 กลีบ รูปยาวแคบ ขอบกลีบเป็นคลื่นขยุกขยิก ปลายกลีบโค้งกว้างลงมาตามก้านดอก ชอบขึ้นตามชายป่าดิบ ป่าละเมาะและตามหัวไร่ปลายนา

3. ต้นสลัดได เป็นพืชอวบน้ำ เหมือนพวกตะบองเพชร ลำต้นมีหนามและมีน้ำยางสีขาวข้น มีใบน้อย ลำต้นและกิ่งก้านเป็นแท่ง ลักษณะเป็นเหลี่ยม มีหนามใหญ่ทั่วลำต้น กวีได้กล่าวไว้ในวรรณคดี เรื่อง พระนลคำฉันท์ ไว้ ดังนี้

"สลัดได"ไฉนสลัด สละพลัด ณ พงขวาง
เหตุที่กลีวาง กลได้ ฤ ใครทำ
ใครสลัด "สลัดได" เพราะอะไรจะใครจำ
ฤาสัตว์วิบัติกัม มะสลัด "สลัดได"
(จากเรื่อง พระนลคำฉันท์ ของ น.ม.ส. )

ลักษณะเด่นของ "สลัดได" ดอกสีเหลือง ไม่มีกลิ่น ทนต่อสภาพแห้งแล้ง ชอบแดดจัด นิยมปลูกเป็นรั้วบ้าน ถือเป็นสมุนไพรไทย ยางสกัดเป็นยาถ่าย ยางสด ๆ ใช้แต้มกำจัดหูด ต้นใช้ดอง ต้นดองกับมะกรูดเป็นเป็นยาดองแก้กษัย ถ้าเผาเป็นถ่านแช่น้ำ ใช้ดื่มแก้จุดเสียด หืด ไอ และขับปัสสาวะ

4. เหมือดคน ชื่อพรรณไม้นี้อ่านและฟังแล้วแปลกมากนะ ฉันก็ไม่เคยได้ยิน เพิ่งมาอ่านเจอในหนังสือ เห็นชื่อแปลกดีและคนรู้จักคงน้อยมาก เลยนำมาเล่าสู่กันอ่าน
ชื่อพรรณไม้นี้ บางที่เรียกว่า เหมือด เรียกว่า เหมือดคน หรือเหมือดหอม เป็นไม้ยืนต้น กวีได้แต่งไว้อย่างไพเราะในวรรณคดีเรื่อง โคลงนิราศสุพรรณ ไว้ว่า

มหาสดำคำไก่ต้ม ทนดี
หางตะเค่เนรภูศรี ซ่มกุ้ง
ชาเลือด"เหมือดคน" มี สมอภิเภก เอกเอย
ลมป่วนหวนหอมฟุ้ง เปลือกใช้ใบยา
(จาก โคลงนิราศสุพรรณ ของ สุนทรภู่ )

ลักษณะเด่นของ "เหมือดคน" ดอกของมันจะเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมเย็น ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง แต่ละช่อประกอบด้วยดอกย่อย ๆ เป็นจำนวนมาก ก้านดอกมีขน มีกาบที่หลุดร่วงง่าย กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นรูปช้อนหรือรูปท้องเรือ หมอนรองดอกมีขนเล็กน้อย เมื่อออกดอกพร้อม ๆ กัน จะมีกลิ่นหอมเย็นชื่นใจมาก ออกดอกเกือบทั้งปี เป็นไม้ชอบแดด ไม่ชอบน้ำ

ฉันค้นคว้ามาทั้งหมด 4 ชนิดมาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านพอหอมปากหอมคอ ค่ะ หวังว่า ท่านผู้อ่านคงได้รับความเพลิดเพลินพอประมาณค่ะ แล้วจะค้นคว้าหาความรู้มาแบ่งปันกันในโอกาสต่อไปค่ะ

(ค้นคว้ามาจาก หนังสือ พรรณไม้ในวรรณคดี ของคุณสุวิทย์
พวงสุวรรณ )



Create Date : 22 ตุลาคม 2554
Last Update : 22 ตุลาคม 2554 21:44:56 น. 2 comments
Counter : 5804 Pageviews.

 
ขอบคุณความรู้ที่ให้มาค่ะ


โดย: เล็ก IP: 171.101.88.86 วันที่: 11 มิถุนายน 2556 เวลา:14:45:47 น.  

 
น้ำลายสอเลยค่า


โดย: สมาชิกหมายเลข 3445422 วันที่: 30 มกราคม 2563 เวลา:13:19:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
space

อาจารย์สุวิมล
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 46 คน [?]




เป็นครูสอนภาษาไทยที่เกษียณอายุราชการแล้ว สนใจเรื่องการเขียนหนังสือให้ความรู้ ชอบการท่องเที่ยว หากท่านที่เข้ามาชมและอ่านแล้ว มีความสนใจและต้องการสอบถามเรื่องความรู้ด้านภาษาไทย ถ้ามีความสามารถจะให้ความรู้ได้ ก็ยินดีค่ะ

http://i697.photobucket.com/albums/vv337/dd6728/color_line17.gif
space
space
space
space
[Add อาจารย์สุวิมล's blog to your web]
space
space
space
space
space