Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
8 มกราคม 2555
 
All Blogs
 
คลังรื้อภาษีบุคคลธรรมดา ชาวบ้านเฮลดเพดานเหลือ35% ซอยขั้นถี่เริ่มปี"55

"คลัง" เดินหน้ายกเครื่องโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา เร่งหาข้อสรุปเสนอ ครม.ภายในเดือน ม.ค.นี้ "บุญทรง" รมช.คลัง เผยหลักการซอยขั้นบันไดภาษีถี่ขึ้น เพื่อความเป็นธรรมมากขึ้น ขณะที่จะทำให้ภาระภาษีของประชาชนลดลงถ้วนหน้า พร้อมปรับลดเพดานภาษีอัตราสูงสุดจาก 37% เหลือ 35% ควบคู่การตีกรอบวงเงินหักลดหย่อนทุกรายการไม่เกิน 5 หมื่นถึง 1 แสนบาท


นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลจาก 30%เป็น 23% มีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 นี้ ขณะนี้ทางกรมสรรพากรก็อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล และเพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขัน เพราะประเทศไทยเมื่อเกิดประชาคมอาเซียนซึ่งจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานได้ง่าย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยก็อยู่ในอันดับต้น ๆ ที่มีการจัดเก็บภาษีที่ค่อนข้างสูง

โดยหลักการที่สรรพากรศึกษาอยู่จะมีการปรับลดเพดานสูงสุดลงจาก 37% และจะปรับขั้นการเสียภาษีให้ถี่ขึ้น จากเดิมที่เก็บ 10-20-30 และ 37% ก็อาจจะปรับเป็น 10-15-20-25% เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ผู้เสียภาษีมีภาระน้อยลง ขึ้นอยู่กับว่าจะได้ประโยชน์มากหรือน้อย และจะไม่ทำให้การเสียภาษีก้าวกระโดด เช่น ปัจจุบันผู้มีเงินได้ 5 แสนบาท เสียอัตรา 10% แต่พอมีเงินได้ 500,001 บาทเสีย 20%

ขณะเดียวกันสรรพากรจะปรับปรุงเรื่องค่าหักลดหย่อนให้เหมาะสมด้วย เพราะสรรพากรมองว่าปัจจุบันผู้มีรายได้สูงจะมีช่องทางการลงทุนเยอะเพื่อที่จะมาหักลดหย่อนภาษีมาก ๆ ดังนั้นอาจจะมีการกำหนดเพดานค่าลดหย่อนรวมเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเท่าเทียม

นายบุญทรงกล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่คาดว่าจะหาข้อสรุปได้ในเดือนมกราคมนี้ เพื่อที่จะให้มีผลบังคับใช้ได้ทันในปีภาษี 2555 ซึ่งตามหลักการดังกล่าวจะทำให้ภาระภาษีของประชาชนลดน้อยลง ซึ่งในส่วนนี้อาจทำให้ในช่วงแรกอาจส่งผลให้รายได้ของกรมสรรพากรลดน้อยลงบ้างแต่ไม่มาก ซึ่งเป็นการปรับพื่อให้เป็นมาตรฐานและเพื่อความสามารถการแข่งขัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า รายละเอียดการปรับโครงสร้างภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาที่ศึกษาอยู่นั้นจะมีการปรับให้ขั้นบันไดให้มีความถี่ขึ้นเป็น 0%, 5%, 10%, 15%, 20%, 25%, 30% และสูงสุด 35% เป็นการปรับลดเพดานจากภาษีสูงสุด 37% ลงมาอยู่ที่ 35% ส่วนระดับรายได้สุทธิในแต่ละขั้นยังอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสม

ทั้งนี้ในปัจจุบันอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้ามีเงินได้สุทธิอยู่ระหว่าง 150,001-500,000 บาทต่อปี เสียภาษีอัตรา 10%, เงินได้สุทธิอยู่ระหว่าง 500,001-1,000,000 บาทต่อปี เสียภาษีอัตรา 20% เงินได้สุทธิอยู่ระหว่าง 1,000,001-4,000,000 บาทต่อปี เสียภาษีอัตรา 30% และหากมีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 4,000,001 บาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุด 37% ถือว่าแต่ละขั้นค่อนข้างกระโดดมาก เพราะแค่ระดับรายได้ต่างกันเพียงเล็กน้อย ก็ต้องเสียภาษีอีกอัตราที่สูงขึ้นมาก

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อมีการปรับขั้นอัตราภาษีให้ถี่มากขึ้นจะทำให้ภาระภาษีของผู้เสียภาษีลดลง ดังนั้นจึงจะมีการปรับค่าลดหย่อนให้มีความเหมาะสมด้วย โดยเบื้องต้นมีข้อเสนอให้กำหนดเพดานค่าลดหย่อนสูงสุด สำหรับการลดหย่อนทุกรายการรวมกัน ต้องไม่เกิน 500,000-1,000,000 บาทต่อปี ซึ่งนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ให้ทางกรมสรรพากรพิจารณาความเป็นไปได้ กรณีหากจะกำหนดเพดานไว้ที่ไม่เกิน 700,000 บาทต่อปี จากปัจจุบันที่มีรายการลดหย่อนภาษีจำนวนมาก เฉพาะรายการ LTF, RMF ก็หักได้ 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาทแล้ว อย่างไรก็ดีจะต้องหา ข้อสรุปที่ชัดเจนอีกครั้งถึงระดับที่ เหมาะสม และต้องอธิบายเหตุผลได้ด้วยว่า เหตุใดจึงต้องเป็นตัวเลขดังกล่าว

"การซอยขั้นอัตราภาษีให้ถี่ขึ้นแบบนี้ จะทำให้ภาระภาษีของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคนลดลงทั้งหมด แต่คนรวย หรือคนที่มีรายได้สูง ๆ จะได้ประโยชน์น้อยกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องปรับเรื่องค่าลดหย่อนให้เหมาะสมขึ้น เพราะปัจจุบันโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังไม่ค่อยเป็นธรรม เพราะคนรายได้สูงยังเสียภาษีไม่เหมาะสม ซึ่งการปรับภาษีครั้งนี้ในภาพรวมจะมีความเป็นธรรมมากขึ้น" แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ภายในเดือนมกราคม 2555 คาดว่าจะได้ข้อสรุปการปรับภาษีบุคคลธรรมดาทั้งหมด และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด

ก่อนหน้านี้ นายสมชัยระบุว่า ต้องมีการปรับปรุงสิทธิในการลดหย่อนภาษีจากปัจจุบันสามารถลดหย่อนภาษีได้มากถึง 22 รายการ โดยจะพิจารณาให้เหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน ทุกฝ่าย บางรายการอาจมีการปรับเพิ่มหรือบางรายการก็อาจจะปรับลดลง ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาเรื่องจำนวนรายการที่สามารถลดหย่อนภาษีด้วย เพราะปัจจุบันจำนวนรายการที่ลดหย่อนภาษีก็มีมาก

ด้านนายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่ศึกษารายละเอียด ทั้งเรื่องอัตราและการปรับปรุงค่าลดหย่อน โดยหลักการต้องพิจารณาถึงผลกระทบ ซึ่งยืนยันว่าผู้มีรายได้อยู่ในระดับบน ๆ ก็จะมีภาระภาษีลดลงด้วย เพียงแต่จะไม่มาก ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาครั้งนี้จะมุ่งเน้นกระจายภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีทุกระดับ

การลดหย่อนภาษีในส่วน LTF และ RMF นั้น คลังยังไม่มีคำสั่งให้ยกเลิกรายการลดหย่อนในส่วนนี้ โดยของเดิมจะใช้ไปจนถึงปี 2559

สำหรับการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะทยอยเสนอออกมาตรการเป็นแพ็กเกจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งจะดูว่าส่วนใดทำได้ก่อนก็จะใช้วิธีออกกฎหมายลูก แต่หากการปรับส่วนใดเป็นการปรับในสาระสำคัญ ก็จะต้องแก้กฎหมายประมวลรัษฎากรซึ่งต้องใช้เวลา เพราะต้องผ่านกระบวนการเห็นชอบจากรัฐสภา

ทั้งนี้ยอมรับว่าการปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีผลทำให้รายได้ของกรมสรรพากรลดลงในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อฐานภาษีขยายขึ้นก็จะทำให้เก็บ รายได้ได้เพิ่มขึ้นในระยะยาว

"ประเด็นสำคัญต้องดูว่าถ้าปรับ 2-3 อย่างพร้อม ๆ กัน จะมีผลทำให้การเก็บรายได้หายไปแค่ไหน ซึ่งยอมรับว่าการปรับปรุงครั้งนี้ถ้ามองแค่ต่อเดียว การจัดเก็บรายได้จะลดลงแน่นอน แต่หากมองในภาพรวมจะสามารถขยายฐานภาษีได้มากขึ้น" นายสาธิตกล่าว

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า ประเมินว่าภาพรวมการจัดเก็บรายได้ ของกรมสรรพากรไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2555 (ต.ค.-ธ.ค. 2554) น่าจะต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม อย่างไรก็ดียังเชื่อว่าการเก็บ รายได้ในภาพรวมทั้งปีงบประมาณ น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.62 ล้านล้านบาท หรือสูงกว่าปีที่แล้ว 7%

ทั้งนี้ในปีงบประมาณนี้ประเมินว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมจะทำให้กรม สูญเสียรายได้ 60,000-70,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันประเมินการสูญเสียรายได้จากการดำเนินการตามมาตรการของรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาท รวมเป็น 130,000 ล้านบาท ทำให้ในช่วงที่เหลือของปีจะต้องเร่งเก็บภาษีในธุรกิจบางประเภท อาทิ ค้าปลีก ขนส่ง เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็จะเอาจริงกับการจัดเก็บภาษีซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต (อีคอมเมิร์ซ) ให้มากขึ้น โดยขณะนี้เก็บรวบรวมข้อมูลไว้หมดแล้ว หากผู้ประกอบการรีบติดต่อมายังกรมสรรพากรเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องจะถูกเอาผิดย้อนหลังเพียง 2 ปี แต่ถ้ากรมสรรพากรต้องไปเรียกให้มาเสียภาษี ผู้ประกอบการต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มย้อนหลัง 5 ปี และจะไม่ได้รับการลดหย่อนให้



Create Date : 08 มกราคม 2555
Last Update : 8 มกราคม 2555 20:10:14 น. 0 comments
Counter : 696 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Panatee
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




Friends' blogs
[Add Panatee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.