Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
1 มกราคม 2555
 
All Blogs
 

เศรษฐกิจปีมะโรงคลอนแคลนคนไทยหืดจับ...หวังรัฐบาลปูกู้

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 ที่ผ่านมา เป็นอีกปีที่ต้องฟันฝ่าวิกฤติไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะกับเหตุการณ์มหาอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศเป็นมูลค่ามหาศาลถึง 1.3 ล้านล้านบาท ทำให้คนไทยทั่วประเทศกว่า 3 ล้านครัวเรือน ต้องเดือดร้อนกันถ้วนหน้าตั้งแต่ตาสีตาสา ชาวไร่ชาวนา หรือแม้แต่เศรษฐี เรื่อยไปจนถึงเจ้าของกิจการข้ามชาติ

ซ้ำร้ายความเชื่อมั่นของประเทศไทยต้องย่อยยับป่นปี้ตามไปด้วยเช่นกัน ทำให้หลายหน่วยงาน ต้องพาเหรดออกมาคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงเหลือเพียงแค่ 1.5% เท่านั้น จากเดิมที่คาดกันว่ามีโอกาสขยายตัวสูงถึง 3.5-4%

ความรุนแรงของมหันตภัยไม่ได้หยุดหย่อนลงไปตามกระแสน้ำที่เหือดแห้งลงหรือจบลงเท่านั้น แต่ยังมีแรงกระเพื่อมต่อเนื่องมายังภาวะเศรษฐกิจในปีมังกรน้ำที่กำลังย่างก้าวเข้ามาในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า เพราะผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาคการผลิต การส่งออก และการท่องเที่ยว ยังเป็นการบ้านที่รัฐบาลต้องหาทางแก้ไขเพื่อพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นอาจต้องกินเวลาฟื้นตัวต่อไปอีก 1-2 ไตรมาสในปี 55

ปัจจัยบวกสำคัญต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปี 55 นี้ส่วนใหญ่มาจากนโยบายพิเศษจากภาครัฐ ทั้งการปรับโครงสร้างรายได้ การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน การปรับฐานเงินเดือน ปวช. และ ปวส. รวมถึงโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร ว่ารัฐบาลจะสามารถขับเคลื่อนจริงได้มากน้อยเพียงใดตามที่ผู้นำรัฐบาลได้ประกาศไว้ว่าต้องปรับสมดุลของประเทศใหม่โดยให้มีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภายในประเทศ ขณะเดียวกันแรงขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศ ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดว่าการเดินหน้านโยบายของรัฐบาลต่อจากนี้ไปจะรับมือกับสารพัดปัจจัยที่เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด เพราะหลายหน่วยงานเชื่อว่าเศรษฐกิจในปี 55 จะเติบโตได้ที่ 4.5-5% ’ทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์” จึงขอส่องกล้องวิเคราะห์ให้เห็นถึงเศรษฐกิจแต่ละภาคส่วน ทั้งการผลิต การส่งออก การบริโภคในประเทศ การเงิน การท่องเที่ยว ว่าใครจะมาดี มาร้าย และภาคส่วนไหนที่จะเป็นพระเอกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้

การผลิตอุตสาหกรรม

เริ่มจากภาคผลิตอุตสาหกรรม…หลังจากที่ต้องรับผลกระทบที่หนักหน่วงที่สุดในปีก่อน ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่าจะเติบโตได้เพียง 1.8% เท่านั้น มาในปี 55 เชื่อกันว่าในภาพรวมแล้วภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความยากลำบากต่อเนื่องอีก 1 ปี และมีโอกาสฟื้นตัวไม่ดีเท่าที่ควร เพราะได้รับแรงกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป รวมถึงการเติบโตเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอความร้อนแรงลง

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ มีสิ่งน่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลแบบก้าวกระโดดที่ซ้ำเติมเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการกันอย่างถ้วนหน้า และกลายเป็นปัจจัยลบอันดับหนึ่งที่อาจทำให้นักลงทุนย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะภาคสิ่งทอ รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น รวมไปถึงภาคเอสเอ็มอีที่ปัจจุบันก็มีต้นทุนด้านอื่นสูงอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคต ที่อาจซ้ำรอยประวัติศาสตร์จนเกิดความวุ่นวายในประเทศ และทำให้การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศซับซ้อนมากขึ้น

แต่มีบางอุตสาหกรรมที่เติบโตได้ดี อย่างภาคการก่อสร้าง ที่ได้รับอานิสงส์จากการซ่อมแซมบ้านเรือนของภาคประชาชน การฟื้นฟูน้ำครั้งใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งมีการลงทุนระดับหลายแสนล้านบาท รวมถึงกลุ่มยานยนต์ที่อัดอั้นมานาน ไม่สามารถผลิตมาได้ ทั้งที่ความต้องการมีสูง และยังมีนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกที่ทำให้ยอดขายรถยนต์พุ่งกระฉูดแน่

สรุปภาคการผลิตอุตสาหกรรมในปี 55 แนวโน้มยังไม่สดใสนัก เนื่องจากมีปัจจัยไม่แน่นอนอยู่สูง แต่สิ่งที่ช่วยกอบกู้ได้ คือการลงทุนจากภาครัฐ ทั้งในโครงการฟื้นฟูน้ำท่วม และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นทำให้ภาคการผลิตและอุตสาหกรรมพอประคับประคองตัวไปได้ แม้จะไม่โดดเด่นก็ตาม

การท่องเที่ยว

หันมาดูด้านการท่องเที่ยวที่น่าจะเป็นฟันเฟืองที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งข้อมูลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่าเบื้องต้น ยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะอยู่ที่ราว ๆ 18.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 15.93 ล้านคน แต่ก็เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าประมาณการเดิม 19 ล้านคน เนื่องจากช่วงที่เกิดปัญหาน้ำท่วมหนักเดือน ต.ค.-พ.ย. และมีภาพสนามบินดอนเมืองน้ำท่วม ขณะที่นักท่องเที่ยวคนไทยเที่ยวไทย ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยทั้งปีนี้จะเหลือ 98 ล้านคนครั้ง จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายสูงถึง 104 ล้านคนครั้ง

ขณะที่ปีหน้า ททท. หมายมั่นปั้นมือว่าหากไม่มีปัญหาวุ่นวายทางการเมืองเข้ามากระทบ การท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้เต็มที่ นับตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. เป็นต้นไป เนื่องจากเข้าสู่ช่วงปิดภาคเรียนของนักเรียน ประกอบกับมีการจัดกิจกรรมโปรโมตท่องเที่ยวของรัฐและเอกชนตลอดทั้งปี โดยเฉพาะงานใหญ่เทศกาลตรุษจีน สงกรานต์ และลอยกระทง ซึ่งดึงดูดชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาได้มาก พร้อมกับมีการจัดกิจกรรมพิเศษ มิราเคิล ไทยแลนด์ เยียร์ หรือปีมหัศจรรย์ประเทศไทย เพื่อเฉลิมฉลองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา

ส่วนการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เริ่มมีการปูทางเชิญชวนให้กลับมาตั้งแต่ปลายปีนี้แล้ว ภายใต้ “โครงการ บิวตี้ฟูล ไทยแลนด์” ดึงตัวแทนจำหน่ายทัวร์และสื่อต่างชาติมาสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวของไทยหลังน้ำลดแล้ว เมื่อบวกกับการจัดกิจกรรมที่โปรโมตตลอดทั้งปี น่าจะช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวไทยมากแน่นอน และเป็นอีกขาหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยททท. ตั้งเป้าหมายว่า ทั้งปี 55 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 19.55 ล้านคน สร้างรายได้ 766,000 ล้านบาท ส่วนคนไทยเที่ยวไทย คาดไว้ที่ 107.48 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้ 442,200 ล้านบาท

การส่งออก

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาภาคการส่งออกนับเป็นพระเอกคนสำคัญ ที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศมาตลอด แต่ในปี 55 นี้ พระเอกกำลังหมดแรง จากผลพวงของมหันตภัยน้ำท่วมที่ทำให้โรงงานผลิตสินค้าหลายแห่งในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาผลิตได้ปกติ แถมยังมีออร์เดอร์ที่ขาดช่วงไปอีก จึงต้องใช้เวลาอีกระยะ ดังนั้นภาพการส่งออกในไตรมาสแรกยังติดหล่มต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 54

แต่หลังจากไตรมาส 2 เมื่อบรรดาโรงงานต่าง ๆ ผงกหัวขึ้นมาผลิตได้เหมือนเดิม จะทำให้การส่งออกเริ่มฟื้นตัวแต่ยังไม่ได้ดั่งที่ฝัน เพราะมีปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศเป็นอุปสรรคสำคัญ ทั้งวิกฤติหนี้ยุโรป เศรษฐกิจสหรัฐและจีน ชะลอตัวจนทำให้กำลังซื้อสินค้าในตลาดโลกชะลอตัวตามไปด้วย รวมถึงราคาข้าวในโครงการรับจำนำที่สูงส่งผลให้การส่งออกจะลดลงไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตันเพราะแข่งขันด้านราคาไม่ได้

เมื่อประเมินภาพรวมแล้วในปีมะโรง อาการของการส่งออกนับว่าหนักหนาสาหัสเอาการ และคงไม่ใช่เวลาที่แบกรับการเติบโตเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศได้ แต่ยังมีปัจจัยบวกจากการเติบโตของชาติอาเซียน ที่ถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย รวมทั้งการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ทั้งยางพารา ข้าว และมันสำปะหลัง ที่ช่วยประคองการส่งออกไปได้ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าสินค้าไทยโดยรวมยังเป็นที่ต้องการของตลาด และภาคเอกชนน่าจะปรับตัวไปได้ในครึ่งปีแรก และฟื้นตัวกลับมายืนได้ในครึ่งปีหลัง มีโอกาสเติบโตระดับ 10%

ภาคการเงิน

นับเป็นอีกอุตสาหกรรมสำคัญที่ชี้วัดการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ เพราะเป็นท่อน้ำเลี้ยงของภาคธุรกิจในการเสริมสภาพคล่อง ฟื้นฟูธุรกิจที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยปี 55 ภาพรวมของภาคการเงินยังอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะเป็นธุรกิจเดียวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมน้อย โดยบรรดานายแบงก์ ประเมินว่าสินเชื่อปีมะโรงจะเติบโตประมาณ 2 เท่า ของจีดีพี ที่จะเติบโต 4-5% เพราะขณะนี้มีความพร้อมเรื่องสภาพคล่องล้นระบบอยู่ราว ๆ 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบกับมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ แก่โรงงานอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือนของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ทำให้มีความต้องการเงินกู้ไปซ่อมแซมและฟื้นฟูกิจการ

ที่สำคัญต้องระวังความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจโลกในยุโรปที่ยังลูกผีลูกคน รวมถึงสหรัฐ ที่เพิ่งสร่างไข้ไม่นาน อาจทำให้ภาคธุรกิจหลักในประเทศเกิดภาวะชะลอตัวจากการส่งออก จนกระทบให้แผนการใช้สินเชื่อหรือขยายกิจการลดน้อยลง รวมถึงความเสี่ยงปัจจัยภายในจากเหตุการณ์การเมืองในประเทศที่ต้องจับตา อาจเกิดความเสี่ยงขึ้นอีกครั้ง

ส่วนปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แม้ลูกค้าบางส่วน จะถูกน้ำท่วมแต่ไม่น่ากังวลนัก เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนปรนเกณฑ์พักชำระหนี้ให้แล้ว ทำให้หนี้เน่าหนี้เสียไม่ได้พุ่งกระฉูดอย่างที่หลายคนกลัว จนเป็นอุปสรรคให้ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยกู้อีก ขณะที่แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายจะเข้าสู่ขาลงชัดเจน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมและกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน แต่ต้องจับตาการแข่งขันระดมเงินฝากในระบบฝาก ของธนาคารเฉพาะกิจที่ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูง จนอาจเป็นปัจจัยให้ดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ในตลาดไม่ลดลงมากเท่ากับดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ตามในปี 55 ภาคการเงินของไทย น่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีเงินสินเชื่อเหลือเพียงพอสำหรับปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจเอกชน นำไปฟื้นฟู และขยายกิจการ รวมถึงภาคประชาชนที่ต้องการนำไปใช้จ่าย

การบริโภคภายในประเทศ

ด้วยยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ ด้วยการลดการพึ่งพาเศรษฐกิจภายนอก สร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจภายใน จึงทำให้การบริโภคภายในถูกคาดหวังอย่างสูงจากรัฐบาล ว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 55 นี้ โดยเฉพาะนโยบายการเพิ่มรายได้แบบครบวงจร ทั้งขึ้นแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท รวมถึง ปวช. ปวส.ปริญญาตรี และการเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรจากโครงการจำนำข้าว มันสำปะหลัง รวมถึงการลดภาษีรถคันแรก จะเป็นยาแรงกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของภาคประชาชน

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือแม้ประชาชนมีรายได้เงินทองมากขึ้น แต่รัฐบาลกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมาก นำเงินไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน เพราะขณะนี้ยังมีความเสี่ยงต่อความเชื่อมั่นอยู่มาก ทั้งผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมปีที่แล้ว ทำให้ส่วนใหญ่เลือกออมเงิน สำหรับซ่อมแซมที่พักอาศัย รวมถึงภาคแรงงาน อุตสาหกรรม อาจมีกำลังซื้อไม่เต็มที่ เพราะบางส่วนตกงาน ถูกเลิกจ้าง พักงาน เช่นเดียวกับภาคการเกษตร ที่พื้นที่เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์หลายล้านไร่ต้องจมน้ำขาดรายได้

นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพสูง ที่ขณะนี้ราคาสินค้าเกือบทั้งหมดได้ขึ้นราคายืนรออยู่แล้ว ตลอดจนความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัจจัยเหล่านี้ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นประชาชนอย่างรุนแรง เพราะต่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ประชาชนอาจตัดสินใจเลือกไม่ใช้จ่าย จนไม่ให้เงินหมุนเวียนลงสู่ระบบได้ ดังนั้นการผลักดันการบริโภคภายใน ให้เป็นเฟืองหลักคอยขับเคลื่อนได้หรือไม่ ยังไม่ชัดเจนนัก และยังต้องคอยจับตาใกล้ชิดท่ามกลางความเสี่ยงที่มีอยู่มากมายและซับซ้อน

ภาคการค้าปลีก

ผลจากการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว จากปัญหาสินค้าราคาแพง ค่าครองชีพสูง รวมถึงปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ทำให้แนวโน้มภาคการค้าปลีกปี 55 อาจไม่คึกคักนัก เนื่องจากคนยังไม่มั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาการเมืองที่ทำกลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง และที่สำคัญคือปัญหาอุทกภัย ที่มีข่าวลือว่าจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในปี 55 ทำให้พฤติกรรมประชาชนใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง และเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย มองว่าสถานการณ์การค้าปลีกในปี 55 จะเติบโตได้แค่ 8-9% ซึ่งถือว่าไม่หวือหวานัก เพราะคนไทยยังระมัดระวังการใช้จ่ายหลังจากต้องเสียเงินเสียทองไปกับการซ่อมบ้านฟื้นฟูบ้านจำนวนมากจากอุทกภัย ดังนั้นจึงเห็นบรรดาผู้ค้าปลีกต่างโหมโปรโมชั่น ลุยจัดงานอีเวนต์ รวมไปถึงจัดแคมเปญพิเศษ อย่างมากมายเพื่อกระตุ้นการขาย แต่กำลังซื้อที่เติบโตส่วนใหญ่ ยังมาจากภาคต่างจังหวัด ยกเว้นภาคกลาง เพราะมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น รวมถึงรายได้จากการท่องเที่ยว ขณะที่คนเมืองกลุ่ม ผู้มีกำลังซื้อยังเป็นผู้มีรายได้ระดับกลางและสูงเป็นหลัก

แรงขับเคลื่อนจากภาคการค้าปลีก จึงไม่ใช่แรงขับเคลื่อนสามารถฝากความหวังไว้มากนัก และจำเป็นต้องอาศัยแรงกระตุ้นอัดฉีดเม็ดเงินของรัฐบาลอยู่ โดยเฉพาะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รวมถึงเงินเดือนปริญญาตรี ปวช. ปวส. เป็นหลัก โดยมีการจัดโปรโมชั่นจากภาคเอกชนคอยสนับสนุนเป็นแรงเสริม แต่เมื่อบวกลบแล้ว ปัจจัยลบทั้งรายได้ที่ยังไม่ขึ้น ค่าครองชีพที่รัดตัว ราคาสินค้าที่สูง จึงเป็นปีที่เหน็ดเหนื่อยอีกครั้งของภาคค้าปลีก

สรุปภาพรวมแล้วของสภาพเศรษฐกิจไทยปี 55 ในครึ่งแรก จึงดูบอบช้ำสำลักไปเต็ม ๆ ส่วนครึ่งปีหลังยังพอเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้ว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสฟื้นตัวกลับมา แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้เงื่อนไขอันซับซ้อน ทั้งปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุม เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป และปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ

แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ การพิสูจน์ฝีมือการบริหารประเทศของรัฐบาล ทั้งการเดินหน้าปฏิบัติแผนบริหารจัดการน้ำให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่คุยไว้ เพื่อเรียกความน่าเชื่อถือการลงทุน และการส่งออกให้ฟื้นโดยเร็ว รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อยกระดับรายได้ประชาชน แรงงานเกษตรทุกระดับให้เพียงพอกับรายจ่ายที่ขึ้นราคาไปยืนรอแล้ว ตลอดจนการกระจายเม็ดเงินผ่านสถาบันการเงินให้ถึงภาคการค้า เอสเอ็มอีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

และประการสุดท้ายรัฐบาลต้องหลีกเลี่ยงสร้างความแตกแยก จนนำไปสู่การจุดชนวนความวุ่นวายทางการเมือง ….เชื่อว่าหากทำได้ ประเทศไทยยังไม่สิ้นหวังแน่นอน!!!.

ทีมข่าวเศรษฐกิจ




 

Create Date : 01 มกราคม 2555
0 comments
Last Update : 1 มกราคม 2555 20:10:48 น.
Counter : 460 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Panatee
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 26 คน [?]




Friends' blogs
[Add Panatee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.