มิถุนายน 2555

 
 
 
 
 
4
5
6
8
10
14
18
19
21
22
23
24
26
28
29
30
 
All Blog
เรียนเก่ง เพราะ ฟังเป็น

เด็กนักเรียน

โดย: รศ.อรุณี วิริยะจิตรา

โรงเรียนไม่ได้สอนการฟังให้ลูก ทั้งที่เด็กๆ ต้องใช้ทักษะการฟังในห้องเรียนถึง 50-75 % ของเวลาเรียนทั้งหมด

แปลกใจใช่ไหมคะว่า เราต้องสอนการฟังกันด้วยหรือ ตามธรรมชาติคนเราเกิดมาก็ฟัง(ได้ยิน)กันได้อยู่แล้ว ที่จริงได้ยินก่อนออกจากท้องแม่เสียอีก แล้วมีความจำเป็นอย่างไรถึงจะต้องสอนการฟังให้ลูกอีก

จำเป็นสิคะ.. เพราะคนเราไม่ใช่จะฟังเป็นทุกคน ได้ยินน่ะ..ทุกคนค่ะ(ยกเว้นคนมีปัญหาทางหู) แต่ว่าฟังไม่เป็นกันทุกคนหรอกค่ะ

การฟังที่ดี หมายถึงฟังแล้วได้ข้อมูลที่ผู้สื่อสารต้องการสื่อค่ะ ดังนั้นผู้ที่ฟัง “เป็น” จะเป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้มากกว่าผู้อื่น และการฟังเป็นทักษะสำคัญที่ทำให้เรามีความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่นได้ดีค่ะ

รู้อย่างนี้แล้ว คงเข้าใจนะคะว่าทำไมเราควรสอนเรื่อง “ฟัง” ให้ลูก

ทีนี้คนที่จะสอนลูกเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือพ่อแม่ค่ะ เหตุผลคือการฟังไม่ได้เป็นวิชาเรียนในหลักสูตรเหมือนกับทักษะทางภาษาอื่นๆ เช่น การอ่าน การเขียน การพูด ทั้งๆ ที่ทักษะการฟังเป็นทักษะที่ใช้มากที่สุดในการเรียนรู้ในชั้นเรียน และในการมีปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น 50-75% ของเวลาในชั้นเรียนของนักเรียนใช้ไปในการฟังค่ะ ฟังครู ฟังเพื่อน ฟังสื่อการสอนต่างๆและเนื่องจากลูกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพ่อแม่มากกว่าผู้อื่น ดังนั้นจึงเป็นการง่ายที่พ่อแม่จะสอนทักษะฟังให้ลูก เพราะทักษะนี้เป็นทักษะที่สอนได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน

การมีทักษะในการสื่อสารของเด็กส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เด็กได้เห็นตัวอย่างจากสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินค่ะ ดังนั้นพ่อแม่ ครู ผู้ใหญ่ สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการเป็นผู้ฟังที่ดี แล้วยังสามารถแนะวิธีการฟัง การจับประเด็น การถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ได้ฟังให้เด็กๆ ได้

ถ้าพ่อแม่ต้องการเป็นแม่แบบที่ดี ลองทำตามคำแนะนำของผู้รู้ดังต่อไปนี้นะคะ ข้อแนะนำเหล่านี้เป็นทั้งวิธีการฝึกทักษะการฟังและทักษะในการสื่อสารค่ะ

ข้อแรก ตั้งใจฟัง พ่อแม่ต้องแสดงความสนใจและตั้งใจฟังในสิ่งที่ลูกต้องการจะสื่อกับเรา ข้อนี้เริ่มได้ตั้งแต่ลูกยังพูดไม่ได้เลยค่ะ ในวัยที่ลูกรู้ภาษาแล้วเขาจะรู้ว่าเราสนใจฟังเขาหรือไม่จากการตอบหรือไม่ตอบของเราค่ะ เพราะฉะนั้น ฟังแล้วพ่อแม่ต้องมีปฏิกิริยาตอบกลับนะคะ ต้องแสดงการรับรู้ความรู้สึกและความต้องการของเขา อย่าฟังแบบเอาหูทวนลมเป็นอันขาด

ข้อสอง ฟังอย่างอดทน โดยเฉพาะกับลูกเล็กๆ เพราะเขายังมีคำศัพท์ไม่มาก และยังไม่มีประสบการณ์ในการพูดมากนัก ดังนั้น เด็กจะหาคำมาใช้ในการพูดได้ช้ากว่าผู้ใหญ่ค่ะ กว่าจะพูดรู้เรื่องแต่ละทีใช้เวลานาน พยายามอดทนฟังนะคะ ให้เหมือนกับว่าเรามีเวลาทั้งชีวิตที่จะฟังเขา

ข้อสาม ฟังให้จบ เรื่องนี้ยากหน่อยนะคะ เพราะเราผู้ใหญ่เป็นผู้มากด้วยประสบการณ์ พอเด็กอ้าปากพูด เราก็เห็นลิ้นไก่เขาแล้ว เรารู้ว่าเขาจะพูดอะไรก่อนที่เขาจะพูดจบ จริงไหมคะ บ่อยๆ ที่เราจะตอบรับหรือขัดคำพูดของลูกกลางคันก่อนลูกจะพูดจบ มันเป็นการยากนะคะที่ผู้ใหญ่จะพยายามฟังสิ่งที่เด็กพูดเรื่อยเปื่อยด้วยท่าทีสนใจ และไม่พยายามขัด หรือแก้สิ่งที่เขาพูดผิด แต่อย่างไรเราก็ต้องพยายามเคารพสิทธิของเด็กในการแสดงความเห็นหรือเหตุผลนะคะ ไม่ว่าจะผิดหรือถูก ฟังเขาให้จบเสียก่อน แล้วถึงพยายามแก้ไขหรือแสดงความเห็นขัดแย้ง หรือเห็นด้วยภายหลังค่ะ

ข้อสี่ จับความรู้สึก พยายามฟังและสังเกตดูภาษากายของลูกเวลาพูดคุยกับลูกด้วยว่าเขาเป็นอย่างไร ฟังน้ำเสียงของเขาว่ามีความกระตือรือร้นหรือเฉื่อยๆ ดูหน้าดูตาว่าเขามีอารมณ์จะฟังหรือพูดหรือไม่ ดูอากัปกริยาท่าทาง ถ้าลูกดูเศร้าสร้อยก็หาที่เงียบๆ ไถ่ถามพูดคุยกับลูกสองต่อสองนะคะ

ข้อห้า สอนให้ฟังตั้งแต่เล็ก สอนวิธีการฟังให้ลูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ลูกยังเล็ก เรียกชื่อเขาหรือจับตัวเขาก่อนพูดกับเขา เพื่อลูกจะได้รับรู้ว่าเรากำลังพูดกับเขา และเขาจำเป็นต้องฟัง

ข้อหก มองตาลูกขณะพูดกับลูก เพื่อเราจะได้รู้ว่าเขาเข้าใจสิ่งที่เราพูดหรือเปล่า ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจค่ะโดยเฉพาะเด็กเล็ก ดวงตาของเขาจะบอกเราทุกอย่าง ว่าเขาสนใจ เชื่อหรือไม่ เห็นด้วยหรือไม่ค่ะ

ข้อเจ็ด ฟังและพูดกันในครอบครัวให้มากขึ้น นี่ไม่ใช่โฆษณาโทรศัพท์มือถือนะคะ แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก การสื่อสารที่ดีในครอบครัวเป็นภูมิต้านทานที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก ชวนลูกคุย ฟังลูกคุยถึงเรื่องเพื่อน โรงเรียน หนังสือ หรือเรื่องที่เขาสนใจอื่นๆ เด็กบางคนไม่ค่อยชอบพูด เราต้องเชิญชวนให้เขาพูดแสดงความคิดเห็นและความรู้สึก เช่นถามว่า “วันนี้ทำอะไรสนุกกับเพื่อนๆ กับคุณครูบ้างคะ” เด็กจะแสดงความเห็นและเปิดเผยความรู้สึกกับคนที่เห็นว่าเขาสำคัญค่ะ

ข้อแปด ฝึกลูกอย่างเป็นธรรมชาติ อย่าฝึกด้วยการสอนแบบคุณครูนะคะ ฝึกโดยการให้ลูกทำค่ะ เช่น เมื่อเขาได้ไปดูภาพยนตร์หรือทีวีเรื่องอะไรมา เราอาจให้เขาสรุปเรื่องให้เราฟัง แต่ไม่ต้องใช้คำว่า”สรุป”กับลูกนะคะ เพราะดูเป็นทางการไป บอกเขาให้เล่าสั้นๆ เอาเฉพาะสิ่งที่สำคัญ ถามเขาว่าเขาชอบอะไรไม่ชอบอะไร ถามคำถามในประเด็นที่สำคัญ การฝึกเช่นนี้บ่อยๆ จะทำให้ลูกสามารถฟังแล้วจับประเด็นหาใจความสำคัญและสามารถสรุปเรื่องได้ค่ะ

ข้อเก้า ชมเชยหลังการฟัง จะช่วยให้ลูกเรามีพัฒนาการเป็นผู้ฟังที่ดี เขาจะโตขึ้นมาเป็นคนให้เกียรติรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น สามารถเข้าใจข้อความที่ผู้อื่นต้องการจะสื่อ มีทักษะที่ดีในการพูดสื่อสารกับผู้อื่น ทำให้ผู้ที่พูดคุยกับเขาประทับใจในตัวเขา เพราะเขาเป็นผู้ฟังที่ดีและเข้าใจความคิดและความรู้สึกของผู้อื่นเป็นอย่างดี

สิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อแม่ต้องนึกถึงอยู่เสมอในการสอน “ฟัง” ให้ลูก คือ เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย อาจเป็นผลพลอยได้ให้เรา ทำให้เรามีทักษะในการสื่อสารดีขึ้นด้วยค่ะ

เห็นไหมคะว่า หลายๆ เรื่อง เราก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูกนั่นเอง

ขอขอบคุณบทความดีดีจาก นิตยสาร : Life & Family

ที่มา://women.mthai.com/children/109574.html








Create Date : 15 มิถุนายน 2555
Last Update : 15 มิถุนายน 2555 12:40:29 น.
Counter : 1270 Pageviews.

1 comments
  
ทักทายตอนค่ำๆๆ
โดย: prayakong วันที่: 15 มิถุนายน 2555 เวลา:20:28:02 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มังกี้ ดี ลูฟี่ 01
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]