สัจจะนั้นมีเพียงหนึ่ง แต่หนทางรู้ซึ้งนั้นมีหลากหลาย...
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
7 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
ตอนที่ ๗ - ห้างหุ้นส่วนจำกัด

 


        สรุปคำอธิบาย กฎหมายลักษณะห้างหุ้นส่วน
        ฉบับ 18-12-6 (สูตรเร่งโต) ,
        ตอนที่ ๗ - ห้างหุ้นส่วนจำกัด



        ห้างหุ้นส่วนจำกัด 



         มาตรา 1077 -  ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือห้างหุ้นส่วนซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วน สองจำพวก คือ
         (1) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวน เงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ
         (2) ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัดจำนวนอีกจำพวกหนึ่ง


        Limited Partnership หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น จะต้องประกอบด้วยหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด และหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด สองประเภทนี้เสมอๆ โดยจะมีฝ่ายละกี่คนก็ได้
       - หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด คือหุ้นส่วนประเภทที่รับผิดเพียงเท่าที่ได้รับลงหุ้นไว้ จะรับผิดมากกว่า หรือรับผิดน้อยกว่าหาได้ไม่ เช่นรับลงหุ้นไว้ 300,000บาท ก็นอนตีพุงเป็นเสือนอนกินได้ แม้ต่อมาห้างฯจะมีหนี้สินมากเท่าไหร่ ก็รับผิดไม่เกินเพียงเท่านี้
       - หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด คือหุ้นส่วนประเภทที่ต้องรับผิดในหนี้สินทั้งหมดของห้างฯ ถ้ามีหลายคนก็ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยมิพักต้องสืบว่าได้ลงหุ้นไว้เท่าไหร่ให้มากความ


      มาตรา 1078 – ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท่านบังคับว่าต้องจดทะเบียน
      มาตรา 1079 -  ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด  ให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วน โดยไม่มีจำกัดจำนวน จนกว่าจะได้จด ทะเบียน


     “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ถ้ายังไม่จดทะเบียน ให้ถือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ” สืบเอาความตามนี้ มาตรานี้จึงเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 1077(1) เพราะ ห้างหุ้นส่วนสามัญ ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด ต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ของห้างหุ้นส่วน อย่างไม่มีจำกัดจำนวน (ม.1079 ย้ำให้ทำตาม ม.1025 อีกที) เพราะฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่ได้พาห้างฯไปจดทะเบียน1077 (1) ย่อม= (2)


      ความไม่ลับของมาตรานี้
     1. มาตรานี้สิ่งสำคัญที่ต้องสืบสาวมาดู “ช่วงเวลาที่ก่อหนี้” ถ้าก่อหนี้ขึ้นมาก่อนที่จะจดทะเบียนห้างฯ แน่นอนว่าหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันแบบไม่จำกัด แม้ต่อมาภายหลังจะได้มีการไปจดทะเบียนกันแล้วก็ไม่เป็นเหตุให้หุ้นส่วนพวกจำกัดความรับผิดดิ้นหลุดไปจากหนี้ก้อนนั้นได้ ส่วนจะหลุดพ้นเมื่อใด ขึ้นอยู่กับอายุความของมูลหนี้นั้นๆ ตาม ม.193
     2. ถ้าหนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ได้จดทะเบียนแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศข้อความที่จดทะเบียนลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา (ตาม ม.1023) ก็จะยกเอาความที่เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้น ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ต่อบุคคลภายนอกไม่ได้ นั่นคือจะต้องรับผิดอย่างไม่จำกัดจำนวนอีกเช่นกัน

     
มาตรา 1080 -  บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปโดยบทบัญญัติแห่งหมวด ๓ นี้ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย
      ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นมีอยู่หลายคน ด้วยกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นวิธีบังคับในความเกี่ยวพัน ระหว่างคนเหล่านั้นเอง และความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นกับห้างหุ้นส่วน


       สรุปง่ายๆ คือบทบัญญัติในส่วนของห้างหุ้นส่วนสามัญ ตั้งแต่มาตรา 1012-1076 เอามาบังคับใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้หมด ยกเว้นที่กรณีที่มีบัญญัติไว้ในหมวด 3นี้ สำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นการเฉพาะ คือตั้งแต่มาตรา 1081-1095 (มาตรานี้เวลาออกสอบมักจะมาคู่กับ มาตรา 1068 ,1070)


      มาตรา 1081- ห้ามมิให้เอาชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมาเรียกขานระคนเป็นชื่อห้าง
      มาตรา 1082 -  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดย ปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็น หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น
     แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกันเองนั้น ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนเช่นนี้ ท่านให้คงบังคับตามสัญญาหุ้นส่วน


       ในส่วนของ มาตรา 1081 เป็นข้อห้าม ส่วนมาตรา 1082 เป็นผลของการฝ่าฝืน (*สองมาตรานี้ออกสอบบ่อยๆ และมักจะมาคู่กันเสมอๆ)


      สิ่งสำคัญที่ต้องดูมีดังต่อไปนี้…
      1. ชื่อ หมายถึง ชื่อจริง ชื่อเล่น ชื่อนามสกุล หรือชื่ออะไรก็ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่คบค้าสมาคมกับห้างเข้าใจและนำสืบได้ว่าหมายถึงผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดๆ ในห้างฯ
      ฎีกา 1422/2536 - คำว่า ชื่อ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1081 และ มาตรา 1082  หมายถึงชื่อตัว ชื่อรอง และชื่อนามสกุล อันเป็นชื่อเต็มของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด มิใช่ส่วนหนึ่งส่วนใดของชื่อ หรือพยางค์หนึ่งของชื่อ เว้นแต่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าชื่อบางส่วน หรือพยางค์หนึ่งของชื่อนั้นเป็นคำที่เรียกขานเป็นชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนดังกล่าว
      2. เรียกขานระคน หมายถึง การเอามาเรียกแทน หรือเอาไปรวมกับชื่อของคนอื่นๆ เพื่อเรียกขานแทนเป็นชื่อห้างฯ
       3. ยินยอมโดยแสดงออกชักหรือโดยปริยาย จะยินยอมอย่างชัดแจ้งเป็นหนังสือ วาจา การกระทำ อย่างใดๆ  หรือยินยอมโดยปริยาย(รู้แล้วแต่ไม่คัดค้าน)ก็ได้ ทั้งนี้ผู้ยินยอมต้องเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วน เท่านั้น...
       ฎีกา 2626/2548 – จำเลยที่ 4 ไม่ใช่หุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 แม้จะยินยอมให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างของจำเลยที่ 1 ก็หาต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่
       4. ใช้บังคับกับบุคคลภายนอกเท่านั้น ตามความในมาตรา 1082 วรรคสอง หมายถึงกรณีนี้จะใช้บังคับได้เฉพาะกับบุคคลภายนอกเท่านั้น แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเอง ยังถือว่าเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดอยู่ จึงต้องบังคับกันตามสัญญาหุ้นส่วน ดังนั้นเมื่อหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่ต้องรับผิดเสมือนหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดเพราะเหตุตามมาตรานี้ ได้ชดใช้หนี้ให้เจ้าหนี้เพราะเหตุนี้ไปแล้ว ย่อมจะสามารถรับเอาช่วงสิทธิ (มาตรา226,229) ของเจ้าหนี้ มาไล่เบี้ยเอากับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดได้...


      ตัวอย่างคำถาม (*ข้อสอบภาค 1/54)  -  ห้างหุ้นส่วนจำกัด งามวิไล มีวัตถุประสงค์รับตัดเย็บชุดวิวาห์  มีนางสาววิไลเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และหุ้นส่วนผู้จัดการ มีนางสาวงามเนตรเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนเป็นหนี้ค่าผ้าที่ซื้อมาตัดชุดวิวาห์ 200,000บาท ต่อมานางสาวงามเนตรซึ่งมีชื่อเล่นว่า “งาม” ได้ทะเลาะกับนางวิไลเนื่องจากไม่พอใจที่นางวิไลจัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว เกิดการขาดทุนหลายแสนบาท นางสาวงามเนตรจึงขอลาออกจากการลงหุ้น โดยโอนหุ้นทั้งหมดของตนให้นางสาววลัยพร และได้จดทะเบียนออกจากห้างหุ้นส่วนไป เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2553 ต่อมาหนี้ค่าผ้าจำนวน 2000,000 บาท ถึงกำหนดชำระ แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่มีเงินชำระหนี้ ดังนี้เจ้าหนี้จะเรียกให้นางสาวงามเนตรรับผิดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
      แนวคำตอบ – หลักกฎหมาย มาตรา 1068,1080,1081,1082,1091
       นางสาวงามเนตรใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 1081 จึงต้องรับผิดในหนี้สินของห้างเช่นเดียวกับหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ตามมาตรา 1082
      นางสาวงามเนตรสามารถโอนหุ้นของตนได้โดยไม่ต้องขอความยินยอมของหุ้นส่วนตนอื่นๆ ตามมาตรา 1091 อย่างไรก็ตามแม้นางสาวงามเนตรจะได้ออกจากหางหุ้นส่วนจำกัดไปแล้ว ยังคงต้องรับผิดในหนี้สินของห้างตามมาตรรา 1068 โดยนำบทบัญญัติของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้กับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ ตามมาตรา 1080
      (*ดิส อีส อ่ะ ทริค  – ในแนวคำตอบข้อนี้ (ยึดตามธงของคณะฯ) ไม่มีส่วนที่กล่าวถึงนางสาววลัยพร ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามารับโอนหุ้นต่อจากนางสาวงามเนตร นั่นก็เป็นไปตามหลักการตอบข้อสอบที่ว่า “ไม่ตอบ ในสิ่งที่โจทก์ไม่ได้ถาม” นั่นเอง)


        มาตรา 1085 - ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้แสดงด้วยจดหมายหรือใบแจ้งความ หรือด้วยวิธีอย่างอื่น ให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจำนวนซึ่งได้จดทะเบียนเพียงใด ผู้นั้นจะต้องรับผิดเท่าถึงจำนวนเพียงนั้น


         (*หลักกฎหมาย ใช้คำอธิบายเดียวกันกับ “การแสดงตน” ในมาตรา 1054)


          ชัดเจน โม้เท่าไหร่ รับผิดเท่านั้น แต่มาตรานี้ ก็มีข้อยกเว้นคือ
         เว้นแต่ บุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่แล้ว ถึงข้อจำกัดความรับผิดที่มีอยู่เช่นว่านั้น บุคคลภายนอกคนดังกล่าวก็ต้องผูกพันในความที่ได้รู้ถึงข้อจำกัดนั้นด้วย  จึงสรุปได้ดังนี้...


         กูจำกัด ก็รู้ตัว ยังมั่วนิ่ม           มึงก็ยิ้ม เห็นดีชั่ว ยังหัวหมอ
         กูก็รับ ผิดของกู เท่านั้นพอ      เกินนั้นหนอ อพุโธ่ มึงโง่เอง


        มาตรา 1087 -  ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น เป็นผู้จัดการ
        มาตรา 1088 – ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใด สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้น โดยไม่จำกัดจำนวน
       แต่การออกความเห็นและแนะนำก็ดี ออกเสียงเป็นคะแนนนับในการตั้งและถอดถอนผู้จัดการ ตามกรณีที่มีบังคับไว้ในสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ดี ท่านหานับว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของ ห้างหุ้นส่วนนั้นไม่


          (สะ สะ สะ สองมาตรานี้ ออกสอบบ่อยๆ (อีกแล้ว) จึงต้องมาดูเฉาะกันให้ละเอียดอีกสักฉึก สองฉึก)


        1087นั้น ไม่มีอะไรยุ่งยาก เป็นเรื่องข้อจำกัดในการเป็นผู้จัดการ ต้องให้หุ้นส่วนที่รับผิดอย่างไม่จำกัดเท่านั้นถึงเป็นได้ รศ.ทิพย์ชนก รัตโนสถ ให้ข้อสันนิฐานว่า อาจเป็นเพราะ 1077(1) แบกรับความเสี่ยงภัย(risk) ไว้น้อยกว่า 1077(2) ดังนั้นการที่ 1077(1) รับความเสี่ยงภัยน้อยกว่านี้เอง อาจเป็นเหตุให้พวกเขาใช้ความระมัดระวังในการจัดการงานของห้างในระดับที่น้อยเกินไปก็ได้ หากจะให้เขามีส่วนในการจัดการงานของห้างโดยตรงก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆได้ , ส่วน 1088 เป็นเรื่องของการที่ฝ่าฝืนมาตรา 1087 เป็นบทลงโทษแด่ผู้มีจิตอาสา ซึ่งมีเรื่องสำคัญที่จะต้องเฉาะกันดังต่อไปนี้...


      “สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน” การกระทำดังนี้นั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ถึงกับเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือออกอำนาจแทนในอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการที่เกี่ยวพันกับบุคคลภายนอก จนบุคคลภายนอกเข้าใจผิดไปว่าผู้มีจิตอาสา มีอำนาจจัดการได้ดังนั้น เช่น การทำนิติกรรม การฟ้องร้องคดี การต่อสู้คดี เป็นต้น และถึงแม้จะได้รับอนุญาต หรือได้รับมอบหมายจากผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้วก็ตาม ถ้าได้สอดมีจิตอาสาเข้าไปจัดการก็ต้องรับผิดด้วย
        ฎีกา 1650/2500 - ผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดเข้าไปจัดการห้างต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด เช่นเดียวกับผู้เป็นหุ้นส่วนสามัญ
        ฎีกา 1880/2514 - การที่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้เข้าทำสัญญาซื้อขายปอในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยลงชื่อตนเอง และประทับตราของห้าง  ถือเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน หุ้นส่วนผู้นั้นต้องรับผิดชอบตามสัญญาด้วย
        ฎีกา 2448/2518 – ห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการให้หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดเข้าทำสัญญารับสภาพหนี้ของห้างหุ้นส่วน เป็นการเชิดหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดออกเป็นตัวแทนห้างหุ้นส่วน ผู้จัดการก็ต้องรับผิดร่วม หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดที่สอดเข้าไปจัดการก็ต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ ตามมาตรา 1088 เป็นการส่วนตัว
        ฎีกา 590/2520 - เมื่อหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด ต้องรับผิดในหนี้ของห้างโดยไม่จำกัดจำนวนตาม ม.1077 วรรคสอง เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดได้ทันที


        อย่างไรก็ตาม มาตรา 1088 ยังมีข้อยกเว้น ที่ไม่ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปจัดการงานของห้างหุ้นส่วน อยู่ใน วรรคสอง คือ
       - การออกความเห็นและแนะนำ ข้อยกเว้นของข้อยกเว้นคือ จะต้องไม่เป็นการออกความเห็นที่มีอำนาจชี้ขาดการจัดการภายในห้าง โดยหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น
       - ออกเสียง เพื่อเป็นคะแนนนับฯ มีข้อยกเว้นของข้อยกเว้นคือ  จะต้องมีข้อสัญญาให้สิทธิในการออกเสียงลงคะแนนได้ไว้ในสัญญาหุ้นส่วนอย่างเป็นชิ้นเป็นอันด้วย หากไม่มีการตกลงกันไว้ก็ไม่มีสิทธิทำ (ฎีกา 3051/2529)


        ปัญหาน่าคิด
         1. ความรับผิดในกรณีนี้ จะต้องรับผิดรวมไปถึงบรรดาหนี้สินของห้างฯ ที่มีอยู่ทั้งหมดทั้งก่อนหน้านั้นแล้วด้วย หรือจะต้องรับผิดเฉพาะมูลหนี้ ที่หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดได้สอดจัดการไปเพียงเท่านั้น ?
        - อ. ธีระ สิงหพันธุ์  ได้ให้ความเห็นว่า “ถ้าจะให้หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดผู้นั้นต้องรับผิดในบรรดาหนี้สินทั้งหมดก็จะดูไม่เป็นธรรมแก่เขา เมื่อเข้าไปยุ่งเกี่ยวในหนี้รายใด ก็ควรจะรับผิดในหนี้รายนั้นเท่านั้น” *อนึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีคำพิพากษาเอาไว้โดยตรง


         2. เมื่อหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด เป็นผู้ไม่มีสิทธิจัดการ การกระทำของเขาเช่นนั้นจะทำให้ห้างฯผูกพันกับบุคคลภายนอกได้อย่างไร ?
         -  ตำราของ รศ. วรวุฒิ เทพทอง อธิบายเอาไว้ว่า “ในการจัดการนั้นจะต้องเป็นการทำไปเพราะความยินยอมของห้าง หรือห้างฯให้สัตยาบันเท่านั้น มิเช่นนั้นก็จะตกเป็นความผิดส่วนตัวไป”


         3. ถ้าหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดคนที่ต้องรับผิดตามมาตรานี้ ได้โอนหุ้นของตนไปให้ผู้อื่นทั้งหมด (เพื่อหนีหนี้ล่ะ) เจ้าหนี้จะฟ้องผู้รับโอนด้วยได้หรือไม่ ?
          -  แนวฎีกา 1035/2520 ท่านว่า ผู้รับโอนมิได้มีส่วนรู้เห็นด้วย เจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิฟ้องเมื่อห้างยังไม่เลิก
  
          4. หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด จะมีอำนาจไต่ถาม และตรวจสมุดบัญชี เอกสารต่างๆ ได้หรือไม่ ?
         -  อ. ธีระ สิงหพันธุ์  ได้ให้ความเห็นว่า “ไม่สมควรให้มีอำนาจดังกล่าว เพราะอาจมีการนำเอาความลับของห้างไปดำเนินการให้เป็นประโยชน์ต่อตน จนห้างเสียหายได้”


         แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? ดู 1090 ต่อไป....


         มาตรา 1090 -  ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะประกอบการค้าขายอย่างใดๆ เพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกก็ได้ แม้ว่าการงานเช่นนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับการค้าขายของห้างหุ้นส่วน ก็ไม่ห้าม


          เพียงเท่านี้ก็จะเห็นแล้วว่า เพราะหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด เขามีสิทธิที่จะทำการค้าอะไรก็ได้ทุกอย่าง ชนิดที่ว่า freedom busineses ซึ่งไม่ได้มีข้อผูกมัดไม่ให้ทำการค้าใดๆทั้งสิ้น จะแข่งขันกันก็ได้ ฤาเจ้าจะโค่นก็เชิญ รศ.พิมพ์ชนก ท่านบอกว่า “จึงไม่จำต้องมีหน้าที่ต้องจงรักภักดีต่อห้างหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดที่อาจเป็นผู้จัดการห้างได้” ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ 1077ทั้งหลาย ได้รับความเสียหายจากการให้สิทธิของ 1090 นี้ จึงจำเป็นต้องมี 1085,1087,1088 มาช่วยคุมกำเนิดสิทธิต่างๆของเขาไว้ เหมือนดั่งคนถูกยาพิษชั้นดีทำพิษเข้า ก็จำเป็นต้องมียาถอนพิษชั้นดีไว้แก้ทางแก้โรคกัน ฉันใดไซร้ ก็ฉันนั้น
        อนึ่งยาพิษนั้น ถ้ารู้จักที่ใช้ให้ถูกกับโรค ถูกกับคน ก็อาจกลายเป็นยาวิเศษขึ้นมาได้เหมือนกัน หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนี้ ในระยะแรกทีเดียว อุปมาเหมือนคนป่วยซมซานผะงาบๆด้วยโรค 1080+1066 ดังนั้นการที่มี ม. 1090 จึงเหมือนเป็นการให้ยาพิษที่ถูกกับโรคของคนป่วยนั่นแล


         (*ผมจงใจเขียนให้งงนิดๆครับ อยากให้อ่านอีกรอบจะได้ลึกซึ้ง!! ถ้าสังเกตดีๆจะพบว่า ทุกๆมาตรา มันจะมีลักษณะเป็นมาตราก่อเหตุ และมาตราแก้เหตุ โดยจะเชื่อมโยงเพื่อแก้ทางกันไปมาพะรุงพะรังกันไปหมดแบบยาพิษกับยาถอนพิษทำนองนี้แหละ...)

        มาตรา 1091 - ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนปราศจากความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นๆ ก็โอนได้
        มาตรา 1092 - การที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตายก็ดี ล้มละลายหรือตกเป็นคนไร้ความสามารถก็ดี หาเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเลิกกันไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อสัญญากันไว้เป็นอย่างอื่น
        มาตรา 1093 - ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดตาย ท่านว่าทายาทของผู้นั้นย่อมเข้าเป็นหุ้นส่วนแทนที่ผู้ตาย เว้นแต่จะได้มีข้อสัญญากันไว้เป็นอย่างอื่น
        มาตรา 1094 - ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดล้มละลาย ท่านว่าต้องเอาหุ้นของผู้นั้นในห้างหุ้นส่วนออกขายเป็นสินทรัพย์ในกองล้มละลาย


        (*1091-1094 ดูผ่านๆก็พอครับ ไม่เคยออกสอบ แต่เป็นหลักการที่ควรรู้!!)


       มาตรา 1095 - ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้าง ย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้
      แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้ เพียงจำนวนดั่งนี้ คือ
       (1) จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน
       (2) จำนวนลงหุ้นเท่าที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน
       (3) จำนวนเงินปันผลและดอกเบี้ยซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับไปแล้วโดยทุจริตและฝ่าฝืนต่อบทมาตรา 1084


     การฟ้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด แยกเป็น 2 กรณี คือ
     1. กรณีที่ห้างยังไม่เลิก  เจ้าหนี้จะไม่มีสิทธิที่ฟ้องได้ ข้อยกเว้น ดูฎีกา 590/2520 (*มีในมาตรา 1088)
     2. กรณีที่ห้างเลิกแล้ว  ตามวรรคสอง สิทธิในการฟ้องของเจ้าหนี้จะเกิดขึ้น ซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องได้เพียงเท่าที่บัญญัติไว้ใน 3อนุ ในมาตรานี้
     (1) และ (3) ไม่มีอะไรซับซ้อน  ความซับซ้อนอยู่ที่ อนุ 2
     (2) คำว่า “จำนวนลงหุ้นเท่าที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน” คือ การที่หุ้นส่วนได้ขอลดจำนวนหุ้นลงนั่นเอง เช่นตอนตั้งห้างรับว่าจะลงหุ้น 1ล้านบาท แต่พอดำเนินกิจการมาได้ 3ปี จึงขอลดจำนวนลงหุ้นเหลือ 8แสนบาท เช่นนี้ก็จำเป็นจะต้องนำเอาความข้อนี้ไปจดทะเบียนด้วย จึงจะมีผลสมบูรณ์


      - หากไม่มีการจดทะเบียนย่อมไม่สามารถที่จะนำเอาการลดหุ้นดังกล่าวยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับบุคคลภายนอกได้ เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องให้รับผิดได้เต็มจำนวนที่ได้รับลงหุ้นไว้แต่แรก และยังคงค้างอยู่ หรือได้ถอนออกไป
      - แม้ว่าจะได้มีการนำเอาข้อความการลดหุ้นนี้ไปจดทะเบียนแล้วก็ตาม ข้อความดังกล่าวนั้น ก็จะมีผลบังคับแต่เพียงเฉพาะหนี้ที่อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น หากเป็นหนี้ที่ได้ก่อขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการจดทะเบียนเช่นว่านั้น เจ้าหนี้เขาก็ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องให้รับผิดเต็มจำนวนที่ได้รับลงหุ้นไว้ได้เช่นกัน

       ทั้งนี้ อย่าลืมว่าสิทธิในการฟ้องตามมาตรานี้ จะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อห้างได้เลิกกันแล้วเท่านั้น...


 
 









Create Date : 07 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 7 กุมภาพันธ์ 2555 7:27:36 น. 3 comments
Counter : 15519 Pageviews.

 
ขอบคุณค่ะ


โดย: . IP: 110.77.192.6 วันที่: 19 มีนาคม 2560 เวลา:11:15:54 น.  

 
ขอบคุณค่ะ เข้าใจง่ายขึ้นเลยค่ะ


โดย: Wannigar IP: 171.100.166.33 วันที่: 3 ตุลาคม 2560 เวลา:0:23:49 น.  

 
1079 ข้อ2 หลังจากจดทะเบียน แต่ไม่ประกาศราชกิจจา จะอ้างเอาความเป็นหุ้นส่วน พวกไม่จำกัดความรับผิด หรือ พวกจำกัดความความรับผิด ครับ งง


โดย: 1079 IP: 223.24.33.97 วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา:1:21:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สหายกุนเชียง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]







บ่นเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก
ครั้งที่ 60
ตอน - ความสุขของความรัก
.........คือการได้รัก

ทำไม? คนเราถึงอยากมีคนรัก
นั่นเพราะอยากมีความสุข
ในเมื่อที่การได้รักใครสักคน
มันก็ทำให้มีความสุขอยู่แล้ว
ทำไมจะต้องไปอยากรู้
หรือไปใส่ใจอะไรอีก 
ว่าใครรัก ใครไม่รัก
เขารักใคร ใครรักเขา ฯลฯ

กับหัวใจที่เต็มไปด้วยแผลฉกรรจ์ดวงนี้ 
มันดีแค่ไหนแล้ว ที่ยังใช้รักใครได้อยู่...

13/08/55







เพลงพวกนี้.........
ผมชอบทุกเพลงครับ
แต่ละเพลงฟังมานานแล้ว
และจะฟังต่อไปเรื่อยๆ
เพราะฟังกี่รอบๆ ก็ไม่เบื่อ
ว่างๆมานั่งฟังเป็นเพื่อนกันเถอะ
แล้วจะติดจาย~* ^___^



MusicPlaylist
Music Playlist at MixPod.com






free counters


Website counter

Friends' blogs
[Add สหายกุนเชียง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.