สัจจะนั้นมีเพียงหนึ่ง แต่หนทางรู้ซึ้งนั้นมีหลากหลาย...
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
28 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
ฉบับที่ 09 - โอที


ฉบับที่ 9


   แด่ ผู้ใฝ่รู้ในวิชากฎหมายแรงงาน...



การทำงานล่วงเวลา
และการจ่ายค่าล่วงเวลา



    1.  การทำงานล่วงเวลา


     ความหมาย 
     โดยทั่วไปมักเรียก การทำงานล่วงเวลา นี้ว่า OT (Overtime) หรือทำโอทีนั่นเอง ในส่วนของกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น ได้บัญญัติให้ความหมายของคำว่า การทำงานล่วงเวลา เอาไว้ ใน มาตรา 5 ดังนี้...
   “การทำงานล่วงเวลา หมายความว่า การทำงานนอก หรือเกินเวลาทำงานปกติ หรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวัน ที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา 23 ในวันทำงานหรือวันหยุด แล้วแต่กรณี”


   ส่วนหลักเกณฑ์ของการทำงานล่วงเวลา มีบัญญัติไว้ใน มาตรา 24  ความว่า..
   “มาตรา 24  ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานเว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป
   ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป  ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น”


   หลักเกณฑ์สำคัญ  ในการทำงานล่วงเวลาจึงมีดังนี้...


    ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
    ดังนั้น หากไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง  นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาไม่ได้  เว้นแต่ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป  ถ้าหยุดจะก่อให้ความเสียหายแก่งาน  หรือเป็นงานฉุกเฉิน  หรือเป็นงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง  นายจ้างอาจ “บังคับ” ให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่จำเป็น


    ขอบเขตของการทำงานล่วงเวลา
    ขอบเขตของระยะเวลาการทำงานล่วงเวลา กฎหมายได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 26 ดังนี้...
    “มาตรา 26  ชั่วโมงทำงานล่วงเวลาตามมาตรา 24 วรรคหนึ่งและชั่วโมงทำงานในวันหยุดตามมาตรา 25 วรรคสองและวรรคสาม เมื่อรวมแล้วจะต้องไม่เกินอัตราตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”
   คำว่า กฎกระทรวง ในมาตรา 26 นี้  หมายถึง กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2541 ซึ่งมีใจความว่า...
   “ชั่วโมงทำงานล่วงเวลาตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง  และชั่วโมงทำงานล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 25 วรรคสอง และวรรคสาม เมื่อรวมกันแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสามสิบหกชั่วโมง”
   สรุปคือ นายจ้างจะให้ลูกจ้าง ทำงานล่วงเวลา และทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ จะทำเกินกว่านี้ไม่ได้  แม้จะได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก็ตาม
   ( ข้อสังเกต – การทำงานในวันหยุด ตามมาตรา 25 ก็ให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันนี้ )


   ข้อห้ามการทำงานล่วงเวลา
   เนื่องจากมีงานบางประเภทที่ไม่เหมาะที่จะทำมากไปกว่ากำหนดเวลาทำงานปกติ  เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและร่างกายของลูกจ้างเองได้  กฎหมายคุ้มครองแรงงานจึงได้บัญญัติประเภทของงานที่ห้ามทำงานล่วงเวลาเอาไว้ ใน มาตรา 31 ดังนี้...
   “มาตรา 31  ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดในงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง”
  งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง คืองานตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2541 ข้อ2  ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นั่นเอง (ย้อนกลับไปอ่านได้ ในหัวข้อ การทำงานปกติ)
   ผลของการที่นายจ้างฝ่าฝืนบทบัญญัติใน มาตรา 31 นี้ ถือเป็นความผิด และมีโทษทางอาญาคือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม มาตรา 148
  


    2.  ค่าล่วงเวลา


    ความหมาย
    กฎหมายให้นิยามของคำว่า “ค่าล่วงเวลา” เอาไว้ใน มาตรา 5 ดังนี้...
    “ค่าล่วงเวลา หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน”
    พิจารณาจากนิยามความหมายดังกล่าวแล้ว จะเห็นว่า ค่าล่วงเวลานี้ มีลักษณะเป็น “เงินค่าตอบแทนการทำงานเกินกว่ากำหนดเวลาปกติ” ดังนั้นลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ก็ต่อเมื่อได้ทำงานเกินกว่ากำหนดเวลาทำงานปกติ  โดยทั้งนี้ต้องได้รับอนุญาตหรือคำสั่งจากนายจ้าง ซึ่งจะสั่งเป็นหนังสือหรือวาจาก็ได้  แต่หากลูกจ้างทำงานล่วงเวลาไปเองโดยที่นายจ้างไม่ได้สั่งหรือมอบหมายให้ทำ  ก็จะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา
    ข้อสังเกต - 1.  สัญญาจ้างงานที่ตกลงกันว่าให้มีการทำงานล่วงเวลา แต่ไม่มีการจ่ายค่าทำงานล่วงเวลา สัญญาดังกล่าวไม่มีผลบังคับ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2537/2525)
                  2.  การที่ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดกับการมีงานให้ทำจริงๆ ในช่วงเวลานั้นๆ เป็นคนละกรณีกัน  เมื่อลูกจ้างต้องทำงานในช่วงเวลาที่นายจ้างเป็นผู้กำหนด แต่ไม่มีงานให้ลูกจ้างทำ ไม่ทำให้ช่วงเวลาเวลาดังกล่าว ไม่เป็นการทำงานล่วงเวลาหรือการทำงานในวันหยุด  ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุด (คำพิพากษาฎีกาที่ 2686/2527 และที่ 2279/2280/2528 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน)
   
    อัตราค่าล่วงเวลา
   กฎหมายได้กำหนดอัตราการจ่ายค่าล่วงเวลา เอาไว้ใน มาตรา 61 ดังนี้... 
   “มาตรา 61  ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน  ให้นายจ้างจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ลูกจ้าง  ในอัตราไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อหน่วย ในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย”
   พิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า  กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดอัตราค่าล่วงเวลาเอาไว้คือ  ไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่ง(1.5เท่า)ของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ในวันทำงานตามปกติ และไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้  สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตามผลงาน


   ตัวอย่าง
   (1)  กะทิ ได้รับค่าจ้างรายวัน วันละ 320บาท  โดยเริ่มงานตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 18.00 น. (พัก 1ชั่วโมง) รวมระยะเวลาทำงานปกติทั้งสิ้น 8 ชั่วโมง  ต่อมาเมื่อนายจ้างมีคำสั่งให้กะทิ  ทำงานจนเลิกเวลา 21.00 น. (รวมระยะเวลาทำงานล่วงเวลา 3ชั่วโมง) ดังนั้น กะทิ จะได้ค่าล่วงเวลา  คือ...
   อัตราค่าจ้างรายวัน................320 บ.   หารจำนวนชั่วโมงที่ทำงานตามปกติ 8ชั่วโมง  = 320/8 = 40 บ.
   อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง.............40 บ.   คูณหนึ่งเท่าครึ่ง(1.5)  =  40 x 1.5 = 60 บ.
   อัตราค่าล่วงเวลาต่อชั่วโมง......60 บ.   คูณจำนวนเวลาที่ทำงานล่วงเวลา 3ชั่วโมง  = 60 x 3 = 180 บ.
   ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า วันนี้ กะทิ จะได้รับค่าล่วงเวลา เท่ากับ 180 บาท
   และเมื่อรวมกับค่าจ้างตามปกติแล้ว กะทิจะได้ค่าแรงทั้งหมดในวันนี้ คือ 320 +180 = 500 บาท นั่นเอง


     (2)  หมูแดงได้รับค่าจ้างโดยคำนวณจากผลงานที่ทำชิ้นละ 10บาท  โดยเริ่มงานตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 18.00 น.  (พัก 1ชั่วโมง) ต่อมา เมื่อนายจ้างได้มีคำสั่งให้หมูแดง  ทำงานจนเลิกเวลา 20.00 น.  และในช่วงเวลาดังกล่าวนี้หมูแดงทำผลงานได้จำนวน 20ชิ้น  ดังนั้นหมูแดงจะได้ค่าล่วงเวลา คือ...
     อัตราค่าจ้างต่อหน่วยผลงานที่ทำ.......10 บ./ชิ้น   คูณหนึ่งเท่าครึ่ง(1.5)  เท่ากับ 10 x 1.5 = 15 บ.
     อัตราค่าล่วงเวลาจึงเท่ากับ 15 บ.  คูณจำนวนผลงานที่ทำได้ในช่วงเวลาที่ทำงานล่วงเวลานั้น (20 ชิ้น)
     ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าหมูแดง จะได้รับค่าล่วงเวลาของวันนี้คือ 15 x 20 =  300 บ.  นั่นเอง


   สำหรับลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนนั้น  ให้นำเงินเดือนมาหารด้วย 30 เสียก่อน แล้วนำผลที่ได้ มาหารจำนวนระยะเวลาที่ทำงานตามปกติเฉลี่ยต่อวัน  ก็จะได้  “อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง” ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 68 ดังนี้...
  “มาตรา 68  เพื่อประโยชน์แก่การคำนวณค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ในกรณีที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานหมายถึง  ค่าจ้างรายเดือนหารด้วยผลคูณของสามสิบ และจำนวนชั่วโมงทำงานในวันทำงานต่อวันโดยเฉลี่ย”
   (ข้อสังเกต – ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ก็ให้ใช้วิธีการเดียวกันนี้ )


    ตัวอย่าง
    น้ำซุป ได้รับค่าจ้างรายเดือน เดือนละ 12,000 บาท  โดยเริ่มงานตั้งแต่เวลา 08.00 น.- 17.00 น. (พัก 1ชั่วโมง)  รวมระยะเวลาทำงานปกติทั้งสิ้น 8ชั่วโมง  ต่อมาเมื่อนายจ้างมีคำสั่งให้น้ำซุปทำงานต่อ จนเลิกเวลา 20.00 น. (รวมระยะเวลาทำงานล่วงเวลา 3ชั่วโมง) ดังนั้น น้ำซุป จะได้ค่าล่วงเวลา คือ...
    อัตราค่าจ้างต่อเดือน...12,000 บ.  หารด้วยผลคูณของ 30  =  12,000/30  =  400 บ.
    อัตราค่าจ้างต่อวัน.............400 บ.  หารด้วยจำนวนชั่วโมงทำงานตามปกติ 8ชั่วโมง  = 400/8 = 50 บ.
    อัตราคาล่วงเวลาต่อชั่วโมงจึงเท่ากับ  อัตราค่าจ้างรายชั่วโมง   50 บ.  x  1.5 (หรือ 3/2)  =  75 บ.
    อัตราค่าจ้างรายชั่วโมง.........75 บ.   คูณจำนวนเวลาที่ทำงานล่วงเวลา 3ชั่วโมง  = 75 x 3 = 225 บ.
    ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า น้ำซุปจะได้ค่าล่วงเวลาของวันนี้ เท่ากับ 225 บาท  นั่นเอง



    ข้อยกเว้นการจ่ายค่าล่วงเวลา
    มีลูกจ้างบางประเภทที่กฎหมายไม่ประสงค์จะให้ได้รับค่าล่วงเวลา ซ้ำยังไม่ประสงค์ให้ได้รับค่าตอบแทนพิเศษ(ตามมาตรา 65)ด้วย  เนื่องจากมีตำแหน่งหน้าที่อยู่ในระดับสูงกว่าลูกจ้างคนอื่นๆ เช่น ผู้บริหาร หรือผู้จัดการ ในระดับต่างๆ  ซึ่งบุคคลเหล่านี้มักได้รับประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าลูกจ้างทั่วไปอยู่แล้ว
   นอกจากนี้ยังมีงานบางประเภทที่มีลักษณะงานคือไม่สามารถกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้  ทำให้ไม่สามารถกำหนดเวลาในการทำงานเพื่อให้ค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดได้ กฎหมายจึงกำหนดให้ลูกจ้างประเภทนี้ มีสิทธิได้รับค่าตอบเป็นเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในส่วนที่ทำงานล่วงเวลามานั้นแทน
   ทั้งนี้กฎหมายไม่ตัดสิทธิของนายจ้างในการจ่ายค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด  กล่าวคือ หากนายจ้างยินดี ประสงค์จะจ่ายเงินค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้ ก็สามารถทำได้
   รายละเอียดของเรื่องนี้ กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้บัญญัติเอาไว้ใน มาตรา 65 อย่างชัดเจนดีแล้ว ดังนี้...
    “มาตรา 65  ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งนายจ้างให้ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามมาตรา 61 และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามมาตรา 63 แต่ลูกจ้างซึ่งนายจ้างให้ทำงานตาม (2) (3) (4) (5) (6) (7) หรือ (8) มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
          (1) ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้างการให้บำเหน็จ การลดค่าจ้าง หรือการเลิกจ้าง
          (2) งานขบวนการจัดงานรถไฟ ซึ่งได้แก่งานที่ทำบนขบวนรถและงานอำนวยความสะดวกแก่การเดินรถ
          (3) งานเปิดปิดประตูน้ำหรือประตูระบายน้ำ
          (4) งานอ่านระดับน้ำและวัดปริมาณน้ำ
          (5) งานดับเพลิงหรืองานป้องกันอันตรายสาธารณะ
          (6) งานที่มีลักษณะหรือสภาพที่ต้องออกไปทำงานนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาทำงานที่แน่นอนได้
          (7) งานอยู่เวรเฝ้าดูแลสถานที่หรือทรัพย์สินอันมิใช่หน้าที่การทำงานตามปกติของลูกจ้าง
          (8) งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
          ทั้งนี้ เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง”



 



พลบค่ำ ของวันที่ยี่สิบห้า เดือนเจ็ด ปีห้าสาม
“สู้ทนนอนหนาวปวดร้าวแค่ไหน ไม่เคยหวั่นไหว
หัวใจมั่นคง ซื่อตรง ไม่สร่าง บน พื้นดินที่อ้างว้าง...”
เสียงร้องเพลงหยุดลงเมื่อหันมามองกองหนังสือแรงงาน
หมดอารมณ์...!!! -*-


 


 


 


 


 



                       






Free TextEditor


Create Date : 28 กรกฎาคม 2553
Last Update : 29 กรกฎาคม 2553 0:00:33 น. 0 comments
Counter : 2004 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สหายกุนเชียง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]







บ่นเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก
ครั้งที่ 60
ตอน - ความสุขของความรัก
.........คือการได้รัก

ทำไม? คนเราถึงอยากมีคนรัก
นั่นเพราะอยากมีความสุข
ในเมื่อที่การได้รักใครสักคน
มันก็ทำให้มีความสุขอยู่แล้ว
ทำไมจะต้องไปอยากรู้
หรือไปใส่ใจอะไรอีก 
ว่าใครรัก ใครไม่รัก
เขารักใคร ใครรักเขา ฯลฯ

กับหัวใจที่เต็มไปด้วยแผลฉกรรจ์ดวงนี้ 
มันดีแค่ไหนแล้ว ที่ยังใช้รักใครได้อยู่...

13/08/55







เพลงพวกนี้.........
ผมชอบทุกเพลงครับ
แต่ละเพลงฟังมานานแล้ว
และจะฟังต่อไปเรื่อยๆ
เพราะฟังกี่รอบๆ ก็ไม่เบื่อ
ว่างๆมานั่งฟังเป็นเพื่อนกันเถอะ
แล้วจะติดจาย~* ^___^



MusicPlaylist
Music Playlist at MixPod.com






free counters


Website counter

Friends' blogs
[Add สหายกุนเชียง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.