สัจจะนั้นมีเพียงหนึ่ง แต่หนทางรู้ซึ้งนั้นมีหลากหลาย...
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
5 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
ตอนที่ ๕ - ห้างหุ้นส่วนสามัญ


        สรุปคำอธิบาย กฎหมายลักษณะห้างหุ้นส่วน
        ฉบับ 18-12-6 (สูตรเร่งโต) ,
        ตอนที่ ๕ - ห้างหุ้นส่วนสามัญ



     ห้างหุ้นส่วนสามัญ


         มาตรา 1025 – ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ ห้างหุ้นส่วนที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งปวงของห้าง โดยไม่มีจำกัด


          สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ หนี้สิน ไม่ว่าจะเป็นหนี้อันเกิดจากนิติกรรม หรือเกิดจากมูลละเมิดนั้น ได้เกิดจาก”การกระทำไปโดยทางธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน”หรือไม่? - ถ้าใช่ ,ก็จะต้องรับผิดร่วมกัน โดยรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม - ถ้าไม่ใช่ ,แต่หากเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนตัว หรือนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน ก็ไม่ต้องรับผิดร่วมกัน


         “การกระทำทางธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน”  หมายถึง
         1. การกระทำภายในวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน กล่าวคือเป็นการกระทำที่อยู่ในความมุ่งหมายโดยตรงของห้างหุ้นส่วน เป็นงานของห้างที่ตามธรรมดาจะต้องทำอยู่แล้ว เช่นการซื้อวัตถุดิบ การขายสินค้า การผลิตสินค้า การขนส่งสินค้า การให้บริการ ฯลฯ
        2. การกระทำอันเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน กล่าวคือกิจการที่จำเป็นจะต้องทำในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน เช่น การจ้างคนมาดูแล การซื้อหรือเช่าอุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ในห้างหุ้นส่วน การกู้ยืมเงินเพื่อเป็นเป็นทุน การบำรุงรักษาอาคารสถานที่หรืออุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น


        *** คำอธิบายนี้ ใช้กับ มาตรา 1050 ด้วย


       มาตรา 1026 – ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาลงหุ้น
       สิ่งที่จะนำมาลงหุ้นได้นั้น จะเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงาน ก็ได้

        มาตรา 1028 – เป็นหลักในการคำนวณหาค่าแรง ในกรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ลงหุ้นด้วยแรงงานแต่เพียงอย่างเดียว ตามในมาตรา 1026 วรรคสอง โดยวิธีการคำนวณนั้นจะต้องนำจำนวนเงินลงหุ้นทั้งหมดของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน (และในกรณีที่มีการลงหุ้นเป็นทรัพย์สินอยู่ด้วยก็ให้ตีราคาของทรัพย์สินนั้นเป็นเงินเสียก่อน แล้วจึงนำเอามารวมเข้าด้วย) แล้วจึงหาค่าเฉลี่ย ตามสูตรดังนี้….

                                                        จำนวนผู้เป็นหุ้นส่วน        
                           ค่าเฉลี่ย    =      ---------------------------------      
                                                     จำนวนเงินลงหุ้นทั้งหมด


             จำนวนผู้เป็นหุ้นส่วนที่ว่าในสูตรนี้ หมายเฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนที่ลงหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น  ส่วนค่าเฉลี่ยที่หาออกมาได้ก็คือมูลค่าของค่าแรงงานนั่นเอง...
      “ค่าแรงงาน” ตามนัยยะของมาตรานี้ถือเป็นทุนสมมุติที่จะนำมาเป็นตัวตั้งในการคำนวณหาค่ากำไรหรือขาดทุนกันเท่านั้น มิใช่ค่าเงินกันจริงๆ ดังนั้นหากมีการเลิกห้าง ผู้ลงหุ้นด้วยแรงงานจะมาขอทุนสมมุตินี้คืนไม่ได้


      มาตรา 1031 – ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดไม่ยอมส่งมอบส่วนลงหุ้นของตน ต้องส่งคำบอกกล่าวเป็นจดหมายจดทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้น บอกกล่าวให้ส่งมอบส่วนลงหุ้นมาภายในเวลาอันสมควร มิเช่นนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆจะลงความเห็นพร้อมกันหรือจะโหวตโดยเสียงข้างมาก เอาผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นออกเสียก็ได้


      มาตรานี้เป็นวิธีถอดเอาผู้เป็นหุ้นส่วนที่ไม่ยอมเอาส่วนลงหุ้นของตนมาลงหุ้นออก วิธีการก็เป็นไปตามตัวบทเลย ส่งโนติส (notice) หรือที่ภาษาทางการเขาเรียกว่า “หนังสือบอกกล่าวทวงถาม” ไปทวงผู้เป็นหุ้นส่วนก่อน หากยังไม่ยอมนำส่วนลงหุ้นมาส่ง ภายในเวลาอันสมควร ก็เชิญออก หรือโหวตออกกันได้เลย


      มาตรา 1033 – ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในการจัดการงานของห้าง ให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิในการจัดการได้หมดทุกคน แต่จะเข้าทำสัญญาใดๆ ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้
      ให้ถือเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการกันทุกคน


      ในมาตรานี้สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องดูก็คือ “การทักท้วง”  - ในการทักท้วงนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดวิธีการเอาไว้ ดังนั้นจะทักท้วงด้วยวาจา หรือทำเป็นหนังสือก็ย่อมได้ อีกอย่างการทักท้วงตามมาตรานี้จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างต่อบุคคลภายนอกเพื่อปัดความรับผิดในหนี้สินได้ นั่นหมายความว่าบุคคลภายนอก ในฐานะเจ้าหนี้ เขาย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องผู้เป็นหุ้นส่วนทุกๆคนได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะคนที่ได้ทักท้วงเอาไว้นั้น สามารถรับเอาช่วงสิทธิจากเจ้าหนี้เดิมที่เป็นบุคคลภายนอก มาไล่เบี้ยเอากับผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆได้  เพราะฉะนั้นจึงสรุปได้ว่า...
      “สัญญาใดใครเป็นห่วงทักท้วงได้    แต่จะใช้ยันคนนอกไม่เป็นผล
      เขามีสิทธิที่จะฟ้องได้ทุกคน          แต่ว่าตนรับช่วงไว้ไล่เบี้ยเอา”
      ในกรณีที่หุ้นส่วนแต่ละคนมีความเห็นไม่ตรงกันจนหาข้อยุติไม่ได้ ให้ใช้หลักเสียงข้างมาก โดยหุ้นส่วน 1คน มี 1เสียง โดยไม่ต้องดูว่าใครจะถือหุ้นมากน้อยเพียงใดก็ตาม (มาตรา 1034)


      มาตรา1035 - ถ้าได้ตกลงกันไว้ว่าจะให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหลายคนจัดการห้างหุ้นส่วน หุ้นส่วนผู้จัดการแต่ละคนจะจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นก็ได้ แต่หุ้นส่วนผู้จัดการคนหนึ่งคนใดจะทำการอันใดซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการอีกคน หนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้


       กล่าวคือ ถึงแม้จะได้ตกลงกันเอาไว้แล้วในห้างหุ้นส่วนก็ตาม ว่าจะให้ใครเป็นผู้จัดการ มีหน้าที่อะไร ทว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนก็ยังมีสิทธิที่จะจัดการได้อยู่ทุกคน และยังสามารถเข้าไปก่ายในหน้าที่งานของหุ้นส่วนผู้จัดการได้ด้วย แต่จะทำการอันที่ซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการที่มีหน้าที่ของเขานั้นๆ ทักท้วงนั้นไม่ได้
       - สิทธิทักท้วงนี้ ถือเป็นสิทธิเฉพาะของหุ้นส่วนผู้จัดการเท่านั้น
       - หุ้นส่วนธรรมดาไม่มีสิทธิทักท้วง แม้จะได้ทักท้วง ก็จะอ้างเอาการทักท้วงขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้
  
       มาตรา 1038 – ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วน ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ
       ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้  ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ ชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะ เหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน


      มาตรานี้เป็นเรื่องข้อต้องห้ามของผู้ที่เป็นหุ้นส่วน ซึ่งสำคัญมากๆ เพราะออกสอบบ่อยๆ ดังนั้นกระผมจะขอซักฟอกมาตรานี้เอาแบบให้ได้กระจ่างกันลย (จัดแบบยาวๆสักหน่อย)
      
      ห้ามใคร – ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน
      ทำไมถึงห้าม ? – เพราะความลับในทางการค้าถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ นั่นคือหากปล่อยให้ความลับทางนโยบายหรือความลับทางผลิตภัณฑ์สินค้ารั่วไหลไปเสียแล้ว อาจถูกคู่แข่งทางธุรกิจนำเอาความลับดังกล่าวไปทำการอันเป็นปรปักษ์จนอาจทำให้ห้างได้รับความเสียหายได้ สมดังคำกล่าวที่ว่า “สงครามธุรกิจแม้ไม่เห็นเลือด แต่เหี้ยมโหดกว่า” ดังนั้น ความลับในทางการค้าจึงถือเป็นเรื่องความเป็นความตายของห้างฯกันเลยทีเดียว  เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนมีสิทธิที่จะล่วงรู้ความลับของห้างได้ทุกคน และก็ไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนๆจะไม่นำเอาความลับของห้างฯไปทำการแสวงหาประโยชน์ใส่ตัวอย่างไม่สุจริต จนอาจทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกับห้างหุ้นส่วน ถ้าจะสรุปมาตรานี้แบบลวกๆคือเพื่อป้องกันการหักหลังกันเองในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน
      ห้ามทำอะไร ? - ประกอบกิจการ ซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน
    (1) สภาพดุจเดียวกัน คือ สภาพที่คล้ายๆกัน หรือเหมือนกัน หรือมีลักษณะไปในทางเดียวกัน  หลวงศรีปรีชาธรรมปาฐก อธิบายว่า  ขนมจีนน้ำยากับขนมจีนน้ำพริกมีสภาพดุจเดียวกัน แต่ต่างชนิดกัน ดังนั้นหากห้างหุ้นส่วนประกอบกิจการขายน้ำยา ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะไปเปิดร้านขายขนมจีนน้ำพริกแข่งคงไม่ได้ เพราะกิจการมีสภาพดุจเดียวกัน
     (2) เป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน กล่าวคือต้องพิจารณาถึง กาลเทศะ สถานที่ และกลุ่มลูกค้า อย่างใดอย่างหนึ่งว่ากิจการที่ทำกันอยู่นั้น ทำให้ผลประโยชน์เกิดการขัดกันกับห้างหุ้นส่วนเดิมหรือไม่ หากกระทบกระเทือนถึงผลประโยชน์ของห้างหุ้นส่วนเดิมแล้วย่อมถือว่าเป็นการแข่งขันกัน.. ดังนั้นแม้จะประกอบกิจการที่มีสภาพดุจเดียวกัน แต่หากมีการแบ่งเขตกัน แบ่งท้องที่กัน และไม่แย่งลูกค้ากัน ก็ถือว่าไม่ได้แข่งขันกัน


    *** อย่างไรก็ตาม “ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน” แม้จะถูกจำกัดสิทธิกระทำการตามมาตรานี้ แต่ก็ยังมีสิทธิที่จะไปร่วมลงหุ้นกับคนอื่นๆได้ แม้ว่ากิจการที่ร่วมลงหุ้นด้วยกันนั้น จะเป็นกิจการอันมีสภาพดุจเดียวกันและเป็นการแข่งขันกันกับห้างหุ้นส่วนเดิมก็ตาม เพราะสาระสำคัญของข้อห้ามตามมาตรานี้คือ “จะต้องเป็นผู้ดำเนินกิจการนั้นๆด้วยตนเอง” ดังนั้น “หากมิได้ดำเนินกิจการด้วยตนเอง” ก็ไม่ได้ห้าม....


      ผลของการฝ่าฝืน – ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืน มาตรานี้
     - ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ ชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด
     - หรือ เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะ เหตุนั้น
     อายุความในการฟ้องเรียก - 1ปี นับแต่วันทำการฝ่าฝืน


     ตัวอย่างคำถาม  (ข้อสอบภาค S/51 และอีกหลายๆภาคก็จะมาแนวๆนี้)
     แดง ดำ และขาว ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน มีดำเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนนี้มีวัตถุประสงค์รับจ้างตกแต่งภายในอาคารดำเนินกิจการมาได้สามปีเศษ แล้วมีกำไรดีทุกปี ต่อมาเขียวซึ่งเป็นเพื่อนของแดงได้มาชักชวนแดงให้ร่วมลงหุ้นเปิดร้านรับจ้างตกแต่งภายในเช่นเดียวกัน โดยให้แดงลงหุ้นเป็นเงินหนึ่งล้านบาท ส่วนเขียว จะเป็นผู้ลงแรงดำเนินกิจการทั้งหมดและถ้ามีกำไรก็จะแบ่งกำไรเท่าๆกัน เมื่อหนี้สินก็จะร่วมกันรับผิดชอบ แดงก็ตกลงร่วมหุ้นกับเขียว ดำเนินกิจการมาได้หนึ่งปี ดำและขาวทราบเรื่องว่า แดงร่วมหุ้นกับเขียวเปิดกิจการแข่งกันกับห้างฯ จึงต้องการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากแดง ทั้งสองคนจึงมาปรึกษาท่านว่า ในกรณีดังกล่าว ดำและขาว จะเรียกค่าเสียหายจากแดงได้หรือไม่ ให้ท่านแนะนำบุคคลทั้งสอง
        แนวคำตอบ
        ในกรณีเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนนั้น มาตรา 1038 ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใด คนหนึ่ง ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการค้าขายแข่งกับห้างหากกรณีผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งฝ่าฝืนไปประกอบกิจการที่มีลักษณะค้าขายแข่งกับห้าง ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นสามารถเรียกเอาผลกำไร ทั้งหมดหรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นได้ และถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งไปร่วมลงทุนกับผู้อื่นโดยมิใช่เป็นผู้ดำเนินกิจการในห้างหุ้นส่วนใหญ่ แม้ห้างหุ้นส่วนอันใหม่จะมีลักษณะเป็นการค้าขายแข่งกับห้างก็ตาม ไม่ถือว่าเป็นการค้าขายแข่งกับห้าง


          จากข้อเท็จจริงตามปัญหาพิจารณาได้ว่า การที่นายแดง ดำ และขาว ตกลงเข้าหุ้นกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน มีวัตถุประสงค์รับจ้างตกแต่งภายในอาคารต่อมาปรากฏว่า นายแดงได้ร่วมไปลงทุนกับนายเขียวเปิดร้านตกแต่งภายในเช่นเดียวกัน โดยแดงลงหุ้น 1 ล้านบาทส่วนเขียวจะเป็นผู้ลงแรงดำเนินกิจการทั้งหมด และถ้ามีกำไรจะแบ่งเท่าๆกัน กรณีตามปัญหานั้น ไม่ถือว่านายแดงประกอบกิจการซึ่งมีลักษณะค้าขายแข่งกับห้างเพราะเนื่องจากนายแดงมิได้เข้าไปดำเนินกิจการในห้างอันใหม่ที่แดงร่วมลงหุ้นกับนายเขียวแต่อย่างใด
         ดังนั้น ดำและขาวไม่สามารถเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 1038 ได้


       มาตรา 1049 - ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใดๆแก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขาย ซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่


     “การถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอก”  ศาสตราจารย์ทวี เจริญพิทักษ์ ได้ให้หมายความว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจที่จะใช้สิทธิในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง และทำในนามของห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนนั้น บังคับให้เป็นไปตามสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกมีภาระผูกพันในอันที่จะใช้หนี้ให้แก่ห้างหุ้นส่วน แต่หาได้เลยไปถึงว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดจะบังคับให้บุคคลภายนอกชำระหนี้มาให้แก่ตัวผู้เป็นหุ้นส่วนเองนั้นหามิได้…


      (งงมั๊ยครับ!! ถ้ายังงง อ่านอีกสักสองรอบ)  สรุปคือ…
    - ถือเอาประโยชน์ฯเป็นการที่ผู้เป็นหุ้นส่วน ใช้สิทธิของห้างที่มีต่อบุคคลภายนอก บังคับบุคคลภายนอกให้ทำตามสัญญา
    - การถือเอาประโยชน์ ต้องทำในนามของห้าง เพื่อประโยชน์ของห้าง
    - แต่จะถือเอาประโยชน์นั้นไว้เป็นประโยชน์ของตัวเองไม่ได้


      (*หมายเหตุ - คำว่าถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกมีในมาตรา 1065 ด้วย เป็นกรณีที่ตรงข้ามกับมาตรานี้)


      ฎีกา 7721/2543  - จำเลยร่วมกับ ส. และ ม. เป็นหุ้นส่วนกันในสัญญาห้างหุ้นส่วนสามัญอันมิได้จดทะเบียน ดำเนินธุรกิจในกิจการรับถมดิน แต่จำเลยเพียงผู้เดียวที่ทำสัญญาเป็นผู้รับจ้างถมดิน ส. และ ม. มิได้เป็นคู่สัญญาร่วมกับจำเลย จึงไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน แม้บุคคลทั้งสองจะเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยก็ตาม แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1049 ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนนั้นหาได้ไม่ ส. และ ม. จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้ว่าจ้างชำระค่าว่าจ้างถมดินตามสัญญาว่าจ้างถมดิน สิทธิเรียกร้องค่าจ้างถมดินตามสัญญานี้ จึงเป็นของจำเลยร่วมแต่เพียงผู้เดียว  (*ข้อสอบ ภาค 1/54)


      มาตรา 1050 - การใดๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่ง ได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน   ผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้น เพราะจัดการไปเช่นนั้น


     “การใดใด” คำสามพยางค์นี้มีความหมายอย่างลึกลับ แบ่งได้เป็น 2 การ คือ การทำสัญญา(นิติกรรม) และ การทำละเมิด(นิติเหตุ)  กล่าวคือ การกระทำอันเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ทั้งหลาย ซึ่งได้ทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน
     “ในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของ ห้างหุ้นส่วน” คำนี้ดูคำอธิบายในมาตรา 1025 (*หมายเหตุ เวลาออกสอบ มักจะมาคู่กัน)


      ตัวอย่างคำถาม
     นายใบตอง นายใบเตย  และนายกระทกรก เข้าหุ้นกันตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญสามสหายนรกแตก ดำเนินกิจการโรงฆ่าสัตว์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บเงินจากผู้นำหมูเข้าไปเชือด ในโรงฆ่าสัตว์ โดยห้างหุ้นส่วนดังกล่าวได้ตั้งให้นายกระทกรก เป็นผู้จัดการ ต่อมานายกระทกรกได้ไปซื้อเชื่อลูกหมูของนายพริกหยวกมา 1 ตัว แล้วนำมาฆ่าเสียเอง ทั้งยังไม่ชำระหนี้ค่าลูกหมูให้นายพริกหยวก นายพริกหยวกได้ทวงถามให้นายกระทกรกชำระหนี้ นายกระทกรกก็เพิกเฉย ดังนี้นายพริกหยวก จะฟ้องให้นายใบตอง นายใบเตย  และนายกระทกรก รับผิดในหนี้ดังกล่าวร่วมกันได้หรือไม่ ?


       แนวคำตอบ
       จากกรณีตามปัญหา นายใบตอง นายใบเตย  และนายกระทกรก ได้เข้าหุ้นส่วนกันตั้งโรงฆ่าสัตว์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บเงินจากผู้นำหมูเข้าไปฆ่านั้น การที่นายกระทกรก หุ้นส่วนผู้จัดการไปซื้อเชื่อลูกหมูของนายพริกหยวกมาฆ่าเสียเองนั้น ถือเป็นการกระทำการค้าขายนอกวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน
       ดังนั้น นายใบตอง และนายใบเตย จึงไม่ต้องรับผิดต่อนายพริกหยวก ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก นายพริกหยวกจึงจะฟ้องให้นายใบตอง นายใบเตย รับผิดในหนี้ดังกล่าวร่วมด้วยหาได้ไม่ ส่วนนายกระทกรกต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ในการชำระหนี้ให้นายพริกหยวก


       มาตรา 1051 -  ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้ว ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป

       สิ่งสำคัญที่ต้องในมาตรานี้ดูคือ
      -  “หนี้” ดูวันก่อหนี้เป็นหลัก โดยไม่ต้องดูว่าหนี้ถึงกำหนดชำระเมื่อใด
       “หากหนี้เกิดเมื่อกูอยู่กูรับผิด       หนี้ยังติดตัวกูไปให้ผวา
        หากหนี้เกิดหลังกูออกก็บอกลา   เจ้าหนี้จ๋า.. กูลาล่วงอย่าทวงกู”
      - “อายุความ” ในการฟ้องร้องของเจ้าหนี้ ใช้อายุความตามมาตรา 193 โดยพิจารณาตามบ่อเกิดแห่งหนี้เป็นกรณีๆไป
        (*เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องอายุความอยู่ในวิชานิติกรรม)
       ฎีกา 482/2485 – ทำสัญญาเช่าในฐานะเป็นหุ้นส่วน แม้สัญญานั้นจะถึงกำหนดชำระเมื่อออกจากหุ้นส่วนแล้วก็ยังต้องรับผิด ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดเป็นส่วนตัว ศาลบังคับให้จำเลยรับผิดในฐานะเป็นหุ้นส่วนได้


     มาตรา 1052 – บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน ย่อมต้องรับผิดในหนี้ใดๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย


      ชัดเจนตามตัวบท - มาตรานี้ใช้บังคับทั้ง หหสม. ที่จดทะเบียน และไม่จดทะเบียน


       มาตรา 1053 - ห้างหุ้นส่วนซึ่งมิได้จดทะเบียนนั้น ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนคนหนึ่งในการที่จะผูกพันผู้เป็นหุ้นส่วน คนอื่นๆ ท่านว่าข้อจำกัดเช่นนั้นก็หามีผลถึงบุคคลภายนอกไม่


      มาตรานี้ใช้เฉพาะกับห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเท่านั้น เป็นเรื่องของการจำกัดอำนาจระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเอง กล่าวคือข้อจำกัดภายในดังกล่าวนั้น จะไม่มีผลผูกพันกับบุคคลภายนอก เนื่องจากบุคลลภายนอกเขาอาจจะไม่ได้รับรู้ถึงข้อจำกัดเช่นนั้น เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียนกันให้ปรากฏไว้
       เว้นเสียแต่ว่า  บุคคลภายนอกจะได้รับรู้ถึงข้อจำกัดเช่นว่านั้นอยู่ก่อนแล้ว ในขณะที่ทำนิติกรรมกันกับห้างหุ้นส่วน เช่นนี้ย่อมต้องผูกพันกับข้อจำกัดดังกล่าวนั้น ต่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนที่ทำนิติกรรมด้วยนั้น เป็นการส่วนตัว (*ใช้หลักการกระทำที่สุจริต ตาม มาตรา 5)


        มาตรา 1054 – บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วน ด้วยวาจา  ,ด้วยลายลักษณ์อักษร  ,ด้วยกิริยา  ,ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน  หรือรู้แล้วไม่คัดค้าน ปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วน บุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วน เสมือนเป็นหุ้นส่วน
          ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตายไปแล้ว และห้างหุ้นส่วนนั้นยังคงค้าต่อไปในชื่อเดิมของห้าง ท่านว่าเหตุเพียงที่คงใช้ชื่อเดิมนั้น  หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบอยู่ด้วย หาทำให้ความรับผิดมีแก่กองทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อหนี้ใดๆ อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังมรณะนั้นไม่


         สิ่งสำคัญในมาตรานี้ที่ต้องวินิจฉัย คือ
        1. “บุคคล” เป็นหุ้นส่วน หรือบุคคลภายนอกก็ได้
        2. “การแสดงตน” ไม่ว่าจะเป็นการแสดงตนด้วยวาจา บอกกล่าว คุยโวโอ้อวด  หรือด้วยลายลักษณ์อักษร เขียนจดหมาย ติดป้ายประกาศ ฯลฯ ,หรือด้วยกิริยา เช่นเขาถาม แล้วผงกหัวรับ ฯลฯ , หรือด้วยความยินยอมให้เขาใช้ชื่อตน เป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน หรือจะไม่ยินยอม แต่รู้แล้วก็ไม่คัดค้าน ปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วน ดังกล่าวมานี้ ย่อมรับผลตามมาตรานี้ทั้งสิ้น...
        3. “ชื่อ” การใช้ชื่อคนเป็นชื่อห้างอันจะทำให้เจ้าของชื่อต้องรับผิดตามมาตรานี้นั้น ศาสตราจารย์โสภณ รัตนากร ได้ให้ความเห็นว่า จะต้องเป็นชื่อที่บ่งเฉพาะ หรือเป็นที่รู้กันได้ว่าหมายถึงใครโดยเฉพาะเจาะจง เช่นมีทั้งชื่อและนามสกุล หรือมีพฤติการณ์อื่นใดประกอบ ทำให้เข้าใจได้ว่าชื่อนั้นหมายถึงผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ
       ฎีกา 803/2509  - จำเลยที่2 ได้นำผ้ามาเย็บเป็นเสื้อกางเกงที่บนชั้นสอง ของร้านจำเลยที่1 แล้วจำเลยที่2 นำไปขายที่ต่างจังหวัด ได้ความเพียงเท่านี้ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่1 ได้แสดงตนเป็นหุ้นกับจำเลยที่2 ด้วยกิริยา
      4. “ความรับผิด” กฎหมายเขียนว่าต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนเป็นหุ้นส่วน ดังนั้นเมื่อได้ชดใช้หนี้ให้บุคคลภายนอกซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไปโดยสิ้นเชิงแล้ว เจ้าของชื่อก็ย่อมมีสิทธิที่จะรับเอาช่วงสิทธิของเจ้าหนี้เดิมมาไล่เบี้ยเอากับผู้เป็นหุ้นส่วนที่แท้จริงได้


      ส่วนในวรรคสอง สรุปง่ายๆ หนี้ตามวรรคหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังตายกองมรดกไม่ต้องรับผิด แต่ถ้าเกิดก่อนตายกองมรดกก็ยังต้องรับผิดอยู่



 







Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2555 15:30:52 น. 1 comments
Counter : 17856 Pageviews.

 
แจ๋วมากเลย


โดย: ฟาง IP: 1.46.238.177 วันที่: 24 กรกฎาคม 2560 เวลา:13:17:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สหายกุนเชียง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]







บ่นเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก
ครั้งที่ 60
ตอน - ความสุขของความรัก
.........คือการได้รัก

ทำไม? คนเราถึงอยากมีคนรัก
นั่นเพราะอยากมีความสุข
ในเมื่อที่การได้รักใครสักคน
มันก็ทำให้มีความสุขอยู่แล้ว
ทำไมจะต้องไปอยากรู้
หรือไปใส่ใจอะไรอีก 
ว่าใครรัก ใครไม่รัก
เขารักใคร ใครรักเขา ฯลฯ

กับหัวใจที่เต็มไปด้วยแผลฉกรรจ์ดวงนี้ 
มันดีแค่ไหนแล้ว ที่ยังใช้รักใครได้อยู่...

13/08/55







เพลงพวกนี้.........
ผมชอบทุกเพลงครับ
แต่ละเพลงฟังมานานแล้ว
และจะฟังต่อไปเรื่อยๆ
เพราะฟังกี่รอบๆ ก็ไม่เบื่อ
ว่างๆมานั่งฟังเป็นเพื่อนกันเถอะ
แล้วจะติดจาย~* ^___^



MusicPlaylist
Music Playlist at MixPod.com






free counters


Website counter

Friends' blogs
[Add สหายกุนเชียง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.