สัจจะนั้นมีเพียงหนึ่ง แต่หนทางรู้ซึ้งนั้นมีหลากหลาย...
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
29 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
ฉบับที่ 10 - วันหยุด

ฉบับที่ 10


   แด่ ผู้ใฝ่รู้ในวิชากฎหมายรงงาน...



วันหยุด,การทำงานในวันหยุด
และการจ่ายค่าทำงานในวันหยุด



     วันหยุด


    ความหมาย
    กฎหมายได้บัญญัติให้นิยามความหมายของคำว่า วันหยุด เอาไว้ใน มาตรา 5 ดังนี้...
    "วันหยุด หมายความว่า วันที่กำหนดให้ลูกจ้างหยุดประจำสัปดาห์ หยุดตามประเพณี หรือหยุดพักผ่อนประจำปี”


    คำว่า “วันหยุด” ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงมีได้  3 กรณี ดังนี้...


    1. วันหยุดประจำสัปดาห์
     “มาตรา 28  ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งวัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวัน  นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้ากำหนดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์วันใดก็ได้
     ในกรณีที่ลูกจ้างทำงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดารหรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมวันหยุดประจำสัปดาห์และเลื่อนไปหยุดเมื่อใดก็ได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาสี่สัปดาห์ติดต่อกัน”
    พิจารณาจากบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดพักผ่อนอย่างน้อย 1วัน ต่อสัปดาห์  โดยจะกำหนดให้เป็นวันใดก็ได้  แต่ต้องไม่ห่างกันจนเกิน 6วัน
    ในวรรคสองเป็นกรณีที่ลูกจ้างทำงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง นายจ้างอาจตกลงกับลูกจ้างให้มีการสะสมวันหยุดประจำสัปดาห์  โดยเลื่อนไปหยุดเอาคราวเดียวติดต่อกันเมื่อใดก็ได้  แต่ต้องอยู่ในระยะเวลาไม่เกิน 4สัปดาห์ติดต่อกัน...


   2. วันหยุดตามประเพณี
   วันหยุดตามประเพณี หมายถึง วันหยุดในวันสำคัญของชาติ  หรือวันสำคัญในทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีประจำท้องถิ่น  มักเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “วันหยุดราชการประจำปี” ซึ่งทางราชการจะประกาศให้ทราบล่วงหน้าทั่วกันในแต่ละปี  เช่น วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันขึ้นปีใหม่ วันสิ้นปี วันลอยกระทง วันสงกรานต์ เป็นต้น
   รายละเอียดเกี่ยวกับวันหยุดตามประเพณี กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้บัญญัติเอาไว้ใน มาตรา 29 ดังนี้...
    “มาตรา 29  ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
    ให้นายจ้างพิจารณากำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น
     ในกรณีที่วันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป
     ในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามประเพณีได้ เนื่องจากลูกจ้างทำงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่า จะหยุดในวันอื่นชดเชยวันหยุดตามประเพณีหรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้”
   พิจารณาตามบทบัญญัติในมาตรานี้แล้ว จะเห็นได้ว่ากฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ลูกจ้าง ได้มีโอกาสหยุดงานเพื่อไปปฏิบัติกิจกรรมตามประเพณีต่างๆ  โดยนายจ้างจะเป็นผู้กำหนดวันหยุดตามประเพณี  ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13วัน โดยเลือกเอาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น และต้องรวมวันคุ้มครองแรงงาน(1 พฤษภาคม) เอาไว้ในนั้นด้วย
   หากเป็นกรณีที่นายจ้างได้กำหนดวันหยุดตามประเพณีเอาไว้ตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง  กฎหมายก็อนุญาตให้ลูกจ้างสามารถ “หยุดชดเชย” วันหยุดตามประเพณีได้ในวันถัดไป...
    และในกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดตามวันหยุดประเพณีได้  เนื่องจากงานที่ลูกจ้างทำมีลักษณะหรือสภาพของงานตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (ปัจจุบัน หมายถึง กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2541) กล่าวคือ
    (1)  งานในกิจการโรงแรม  สถานมหรสพ  ร้านขายอาหาร  ร้านขายเครื่องดื่ม  สโมสร  สมาคม  สถานพยาบาล  และสถานบริการท่องเที่ยว
    (2)  งานในป่า  งานในที่ทุรกันดาร  งานขนส่ง  และงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน
     งานประเภทดังกล่าวนี้ นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงยกยอดไปหยุดชดเชยกันในวันอื่น  หรือนายจ้างจะจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แทนก็ได้


    3. วันหยุดพักผ่อนประจำปี
   วันหยุดพักผ่อนประจำปีนี้ โดยทั่วไปมักเรียกกันว่า “ลาพักร้อน” หรือ “ลาพักผ่อนประจำปี” นั่นเอง...
   กฎหมายได้บัญญัติรายละเอียดในเรื่อง ลาหยุดพักผ่อนประจำปี เอาไว้ใน มาตรา 30 ดังนี้...
   “มาตรา 30  ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีหนึ่งไม่น้อยกว่าหกวันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้า หรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน
   ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่าหกวันทำงานก็ได้
   นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสม และเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้น รวมเข้ากับปีต่อ ๆ ไปได้
   สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้”

   พิจารณาจากบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว จึงพอจะสรุปหลักเกณฑ์ได้ดังนี้


    3.1  ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี
    ลูกจ้างทุกประเภท ไม่เว้นแม้กระทั่งลูกจ้างที่มีเวลาทำงานเพียงสัปดาห์ละ 2-3วัน  หากทำงานให้นายจ้างติดต่อกันเป็นเวลา  1ปี  ก็ย่อมจะมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ด้วยกันทั้งสิ้น  เช่น นายลูกชิ้นเริ่มทำงานในวันที่ 1สิงหาคม 2553  ในระยะเวลาปีแรกนี้ นายลูกชิ้นจึงยังไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี จนกว่าจะได้ทำงานครบ 1ปี คือหลังจากวันที่  1 สิงหาคม 2554 นายลูกชิ้นจึงจะมีสิทธิในการลาพักผ่อนประจำปีได้
   ข้อสังเกต – ในวรรคท้ายของมาตรา 30 กฎหมายอนุญาตให้นายจ้างจะกำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานยังไม่ครบ 1ปี หยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนก็ได้  ตัวอย่างเช่น นายปูอัด เริ่มทำงานในเดือนกรกฎาคม 2553 เมื่อทำงานไปจนถึงเดือนธันวาคม 2553  นายจ้างอาจจัดให้นายปูอัดลูกจ้าง หยุดพักผ่อนประจำปี 3วัน ก็ได้


    3.2  ลูกจ้างมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ ไม่น้อยกว่าปีละ 6วันทำงาน
    สิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปีของลูกจ้างนี้  กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ว่า ให้นายจ้างจัดให้ไม่ให้น้อยกว่า “6 วันทำงาน”  ดังนั้น นายจ้างจะรวมเอาวันหยุดอื่นๆเหมารวมเข้าเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ได้  เพราะจะทำให้ลูกจ้างได้สิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปีไม่ถึง 6วันทำงาน เช่น นายจ้างอนุญาตให้นายกระเทียม หยุดพักผ่อนประจำปีได้ตั้งแต่วันพุธ ที่ 4 สิงหาคม ไปจนถึง วันจันทร์ ที่ 9 สิงหาคม โดยนับรวมเอา วันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ของนายกระเทียมรวมเข้าไว้ในนั้นด้วย ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมใช้บังคับไม่ได้
    สรุปคือ ข้อบังคับใดที่ทำให้ลูกจ้างได้สิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่ถึงตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด คือ 6วันทำงาน ข้อบังคับนั้นย่อมใช้ไม่ได้


    คำพิพากษาฎีกาที่ 3460/2526  นายจ้างมีระเบียบให้ลูกจ้างที่ลาไม่เกิน 36วัน  มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้  ปีละ 10วัน  ลูกจ้างที่ลาเกิน 36วัน  ขอลาหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างไม่อนุญาต  ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  ลูกจ้างดังกล่าวไม่มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี 10วัน ตามระเบียบข้อบังคับของนายจ้าง  แต่ยังมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี 6วันได้ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 10


    3.3  ลูกจ้างจะใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีหรือไม่ก็ได้
   สิทธิในการหยุดพักผ่อนประจำปีนี้เป็นสิทธิของลูกจ้างตามกฎหมายซึ่งลูกจ้างจะใช้หรือไม่ใช้ก็ย่อมได้  เพราะในสถานประกอบการบางแห่ง  อาจมีการกำหนดจ่ายเงินตอบแทนเป็นกรณีพิเศษสำหรับลูกจ้างที่ไม่ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี  ดังนั้นลูกจ้างอาจไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีเพื่อรับเงินค่าตอบแทนพิเศษจากนายจ้างก็ได้
    หากแต่เป็นกรณีที่นายจ้างได้กำหนดวันลาหยุดพักผ่อนประจำปีล่วงหน้าให้แล้ว ลูกจ้างไม่ยอมหยุดเอง เช่นนี้ก็จะถือว่าลูกจ้างได้สละสิทธิ  นายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุด (คำพิพากษาฎีกาที่ 2816-2822/2525)


   3.4  วันหยุดพักผ่อนประจำปีอาจสะสมได้
   ในมาตรา 30 วรรคสาม กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างอาจตกลงกัน “ล่วงหน้า” ให้มีการสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีก็ได้  โดนเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่ยังไม่ได้หยุดไปรวมเข้ากับปีต่อๆไปได้  เช่น  ข้อบังคับที่ว่า “ให้ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1ปี มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 6วัน และลูกจ้างมีสิทธิสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมกับปีถัดไปได้ ไม่เกิน 2ปี  รวมระยะเวลาวันหยุดสะสมแล้ว ไม่เกิน 12วัน” ข้อบังคับเช่นนี้ “อาจ” มีผลบังคับได้  แต่หากเป็นกรณีที่นายจ้างมีข้อบังคับระบุไว้ทำนองว่า  ถ้าลูกจ้างไม่ลาหยุดพักผ่อนประจำปีให้ถือว่าลูกจ้างสละสิทธิ ข้อบังคับดังกล่าวย่อมขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน


   (*คำชี้แจง – ในเรื่องการจำกัดเวลาในข้อตกลงเรื่องการสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีนี้  ท่านผู้อ่าน อ่านแล้วอาจจะยังงงๆ เพราะผู้เขียนเองก็งงและไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะจากตำราที่ใช้ในการศึกษานั้น นักนิติศาสตร์มีความเห็นเอาไว้ขัดแย้งกันหลายแนวทาง อาทิเช่น ตำราของท่านพงษ์รัตน์ เครือกลิ่น (คำอธิบายกฎหมายแรงงานเพื่อการบริหารทรัพยากรมนุษย์,พิมพ์ครั้งที่ 2,หน้า 159) ยกตัวอย่างไว้เป็นทำนองว่า สามารถจำกัดระยะเวลาในการในการสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้  แต่ตำราของท่านเกษมสันต์ วิลาวรรณ (คำอธิบายกฎหมายแรงงาน,พิมพ์ครั้งที่ 6,หน้า 59) เขียนเอาไว้ทำนองว่าข้อบังคับที่จำกัดระยะเวลาในการสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปี ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ส่วนตำราของท่านปภาศรี บัวสวรรค์ (เอกสารประกอบการบรรยายวิชากฎหมายแรงงาน,หน้า 39) กล่าวว่า “โดยทั่วไปหากลูกจ้างไม่ได้ใช้วันหยุดพักผ่อนประจำปีนี้ ก็อาจนำไปทบในปีถัดไปได้ แต่จะไม่ทบสำหรับปีที่ 3” เมื่อเป็นเช่นนี้จึงขอให้ท่านผู้อ่าน ใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลในส่วนนี้ให้จงหนัก อนึ่งจากที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษามาก็ยังไม่พบว่าศาลฎีกามีคำพิพากษาในเรื่องเอาไว้ว่าอย่างไร  ทั้งนี้ในทางหลักการผู้เขียนมีความเห็นเช่นเดียวกับท่านเกษมสันต์ วิลาวรรณ เพราะเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติในมาตรา 30 วรรคสาม ตอนท้าย ที่กฎหมายเขียนว่า “รวมเข้ากับปีต่อๆไปได้” ผู้เขียนจึงตีความไปในทางที่จะให้คุ้มครองลูกจ้าง และเป็นปทัสถานที่ดีแก่สังคมแรงงาน อันเป็นหลักการเบื้องต้นในการตีความกฎหมายคุ้มครองแรงงงาน ได้ว่า กฎหมายยินยอมจะให้มีการสะสมวันหยุดพักผ่อนประจำปี รวมเอาไว้กี่ปีก็ได้)


     3.5  นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี หากเลิกจ้าง โดยลูกจ้างไม่มีความผิด
     ทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติใน มาตรา 67 ที่ว่า...
     “มาตรา 67  ในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีตามมาตรา ๑๑๙ ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้างตามส่วนของวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา ๓๐
     ในกรณีที่ลูกจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาหรือนายจ้างเลิกสัญญา  ไม่ว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นกรณีตามมาตรา ๑๑๙  หรือไม่ก็ตาม  ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา ๓๐”
      ดังนั้น  ลูกจ้างที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี  แต่ถูกนายจ้างเลิกจ้างเสียก่อน โดยไม่มีความผิดตามมาตรา ๑๑๙ (เรื่อง ข้อยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปในภายภาคหน้า) ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี “ตามส่วน” ของปีนั้น  โดยจำนวนของระยะเวลาวันหยุดพักผ่อนประจำปีนี้ ให้ถือเอาตามที่นายจ้างเป็นผู้กำหนดไว้ในข้อบังคับการจ้างงาน  และอัตราการจ่ายค่าจ้างนี้ให้ถือเอาตามอัตราค่าจ้างในปีที่เลิกจ้าง


      คำพิพากษาฎีกาที่ 8324/2544  ในปี 2543 ที่ลูกจ้างลาออก  นายจ้างกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้าง 13วัน  และก่อนที่ลูกจ้างลาออกในเดือนมีนาคม 2543  นายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปี 8วัน การหยุดพักผ่อนประจำปีดังกล่าวเป็นการหยุดตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันโดยสุจริต  เมื่อลูกจ้างหยุดพักผ่อนประจำปีตามสิทธิและวันที่ตกลงกับนายจ้างไปก่อนแล้วลาออก นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเต็ม 8วัน ให้แก่ลูกจ้าง


      คำพิพากษาฎีกาที่ 1426/2533  สิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเกิดขึ้นเมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้าง  ฉะนั้น การคำนวณค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงต้องคิดจากค่าจ้างขณะเลิกจ้าง  ดังนี้ การนำค่าครองชีพรวมกับเงินเดือนของลูกจ้างมาคำนวนค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงชอบแล้ว


      และในกรณีที่ลูกจ้างหรือนายจ้าง  เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน  ไม่ว่าการบอกเลิกจ้างนั้น  จะเป็นกรณีตามมาตรา 119 หรือไม่ก็ตาม นายจ้างก็จะต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับ “วันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม” ด้วย  เช่น ในปีที่วุ้นเส้นลาออกจากงาน วุ้นเส้นทำงานมา 2ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ปีละ 10วัน แต่วุ้นเส้นยังไม่ได้ใช้สิทธิดังกล่าว จึงสะสมมาเป็น 20วัน  โดยอัตราเงินเดือนในปีที่เลิกจ้างอยู่ที่ 12,000บาท/เดือน ดังนั้นนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้วุ้นเส้น เท่ากับ 12,000/30 = 400 บาท, สิทธิลาพักผ่อนประจำปีสะสม 20 วัน จึงเท่ากับ 400 x 20 = 8,000 บาท
       แต่หากลูกจ้างมิได้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสม  นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างตามวรรคสอง ของมาตรา 67 นี้


     
    การทำงานในวันหยุด
    ในส่วนของการทำงานในวันหยุดนั้น กฎหมายได้บัญญัติรายละเอียดเอาไว้ใน มาตรา 25 ดังนี้...
    “มาตรา 25  ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด เว้นแต่ในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น
    นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้ สำหรับกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาล หรือกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
    เพื่อประโยชน์แก่การผลิต การจำหน่าย และการบริการ นายจ้างอาจให้ลูกจ้างทำงาน นอกจากที่กำหนดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองในวันหยุดเท่าที่จำเป็นโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป”


     การที่กฎหมายได้บัญญัติเรื่องการทำงานในวันหยุดเอาไว้  ก็เพื่อคุ้มครองลูกจ้าง  มิให้นายจ้างใช้อำนาจบังคับให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุด  ซึ่งเป็นวันที่ลูกจ้างควรจะได้พักผ่อนจากการทำงาน  หรือไปทำธุระหรือกิจกรรมต่างๆตามอัธยาศัยในวันหยุดนั้น  แต่หากนายจ้างต้องการจะให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดนั้น  ก็จะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างเป็นคราวๆไป  เว้นแต่ว่าในกรณีที่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างทำ ต้องทำติดต่อกัน  ถ้าหยุดจะก่อให้เกิดความเสียหาย  หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรือเป็นงานตาม มาตรา 25 วรรคสอง  นายจ้างก็อาจบังคับให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนก็ได้ และในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างมาทำงานในวันหยุด  นายจ้างก็จะต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ลูกจ้างด้วยตาม มาตรา 56  ซึ่งในส่วนของรายละเอียดจะได้กล่าวกันในหัวข้อต่อไป...
    หากนายจ้างที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 25นี้ ถือเป็นความผิด และมีโทษทางอาญา คือจำคุกไม่เกิน 6เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 144
    แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในงานบางประเภทที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดได้ แม้จะได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก็ตาม คืองานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้าง ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 3 พ.ศ. 2541 (โปรดดูในเรื่อง การทำงานล่วงเวลา) ดังที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานบัญญัติไว้ในมาตรา 31 ดังนี้...
    “มาตรา 31  ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาหรือทำงานในวันหยุดในงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง”



    การจ่ายค่าทำงานในวันหยุด
    ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา 25นั้น ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปีก็ตาม  นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราตามที่กฎหมายกำหนดด้วย  ซึ่งโดยทั่วไปมักเรียกการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดนี้ว่า “สองแรง”
    คำว่า “ค่าทำงานในวันหยุด” นี้ กฎหมายได้บัญญัติให้ความหมายเอาไว้ในมาตรา 5 ดังนี้...
   “ค่าทำงานในวันหยุด หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในวันหยุด”


   ส่วนรายละเอียดของการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดนี้  กฎหมายได้บัญญัติเอาไว้ใน มาตรา 62 ดังนี้
   “มาตรา 62  ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุดตามมาตรา 28 มาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตรา ดังต่อไปนี้
    (1)  สำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
    (2)  สำหรับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด ให้จ่ายไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่าสองเท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย”


    พิจารณาจากบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว จะเห็นได้ว่าค่าทำงานในวันหยุดที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้าง แบ่งออกได้เป็น 2กรณี  คือ


    1.  ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุด
    โดยทั่วไปหมายถึงลูกจ้างรายเดือน  ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างแบบเหมาจ่าย  หรือลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ทำได้ก็ตาม  หากทำงานในวันหยุด  นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มอีก ไม่น้อยกว่า 1เท่า  โดยนับระยะเวลาการทำงานเป็นชั่วโมง


    ตัวอย่าง


    (1)  ซีอิ้วได้รับเงินเดือน  12,000บาท/เดือน โดยทำงานตามปกติวันละ 8ชั่วโมง  ต่อมาได้รับคำสั่งจากนายจ้างให้มาทำงานในวันหยุดตามประเพณีวันหนึ่ง  ตั้งแต่เวลา  09.00 น. – 12.00 น.  รวมเวลาทำงานในวันหยุดทั้งสิ้น 3ชั่วโมง  ซีอิ้วจะได้ค่าจ้างในวันหยุดดังนี้...
    12,000/30  =  400 บ. ,  400/8 = 50 บ.  ( คือ อัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง)
    เมื่อทำงานในวันหยุด 3 ชั่วโมง จึงเท่ากับ  50 x 3 = 150 บ.
    ดังนั้น  ซีอิ้วจะได้รับค่าจ้างสำหรับเดือนนี้ เท่ากับ  12,000 + 150 = 12,150 บาท


    (2)  ปลาหมึกยักษ์  เป็นลูกจ้างรายเดือน  ได้รับค่าจ้างโดยคำนวณตามหน่วยของผลงาน ปกติ ชิ้นละ 50 บาท  ต่อมาเมื่อปลาหมึกยักษ์ได้รับคำสั่งจากนายจ้างให้มาทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์  ดังนั้น นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างต่อหน่วยของผลงานเพิ่มขึ้นอีก 1เท่า  ให้กับการมาทำงานในวันหยุดของปลาหมึกยักษ์ คือ ชิ้นละ 100 บาท


    2. ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุด
    โดยทั่วไปหมายถึงลูกจ้างประเภทรายวันและรายชั่วโมง ซึ่งตามปกติลูกจ้างเหล่านี้จะได้รับค่าจ้างเฉพาะวันที่มาทำงานเท่านั้น  หากนายจ้างให้ลูกจ้างประเภทนี้มาทำงานในวันหยุด  กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2เท่า  โดยนับระยะเวลาการทำงานเป็นชั่วโมง 


    ตัวอย่าง
   
    ผักบุ้งเป็นลูกจ้างรายวัน  ได้รับค่าจ้างวันละ  400 บาท  เมื่อผักบุ้งได้รับคำสั่งจากนายจ้างให้มาทำงานในวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันหยุดตามประเพณี เท่ากับเวลาทำงานตามปกติของผักบุ้ง คือ  9.00 น. – 18.00 น. (พัก 1ชั่วโมง)  ผักบุ้งจะได้รับค่าทำงานในวันหยุดคือ...
    400 บ./8   =  50 บ.  ,50  x 2  =  100 บ.  ,100 บ.  x  8  =  800 บ.


    คิดง่ายๆคือ หากลูกจ้างได้ทำงานในวันหยุดเท่ากับเท่ากับระยะเวลาทำงานตามปกติ  ซึ่งในทางปฏิบัติสถานประกอบการส่วนใหญ่มักจะทำกันแบบนี้  ก็ให้เอาค่าแรงของวันปกติคูณด้วย 2 เท่านั้นเอง และด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของคำว่า “สองแรง” นั่นเอง...
  
     ข้อสังเกต
     (1) การที่ลูกจ้างจะได้สิทธิในการรับค่าทำงานในวันหยุดนั้น  จะต้องเป็นกรณีที่ลูกจ้างได้รับคำสั่งจากนายจ้างให้มาทำงานในวันหยุด  หากมิได้มีคำสั่งเช่นนั้นจากนายจ้างแล้วไซร้ แต่ลูกจ้างมาทำงาน  ก็จะถือได้ว่าลูกจ้างสมัครใจมาทำงานเอง  นายจ้างจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุด (คำพิพากษาฎีกาที่ 1936/2526)
     (2) อัตราการจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ตามมาตรา 62 นี้ เป็นเพียงอัตราขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น หากนายจ้างประสงค์จะจ่ายให้สูงกว่านี้ ก็สามารถที่จะทำได้ ดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน มาตรา 74 ดังนี้..
     “มาตรา 74  ในกรณีที่นายจ้างตกลงจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด  ในอัตราสูงกว่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 61 มาตรา 62 และ มาตรา 63 ก็ให้เป็นไปตามข้อตกลงดังกล่าว”


    ผลของการที่นายจ้างฝ่าฝืนมาตรา 62 และมาตรา 74 ถือเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา ตามมาตรา 144 และมาตรา 146



     ข้อยกเว้นการจ่ายค่าทำงานในวันหยุด
     ในส่วนของเรื่องนี้ให้เป็นไปตามบทบัญญัติใน มาตรา 66  ดังนี้...
     “มาตรา 66  ลูกจ้างตาม มาตรา 65 (1)ไม่มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดตามมาตรา 62 เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้าง”
      ลูกจ้างตามมาตรา 65 (1) นี้ หมายถึง ลูกจ้างซึ่งมีอำนาจหน้าที่ทำการแทนนายจ้างสำหรับกรณีการจ้างการให้บำเหน็จ การลดค่าจ้าง หรือการเลิกจ้าง นั่นเอง


 


 


 


ตะวันชิงพลบ ของวันที่ยี่สิบเจ็ด เดือนเจ็ด ปีห้าสาม (วันเข้าพรรษา)
ตงเฟิง(ธนูไฟ) 21-D คือชื่อขีปนาวุธทำลายเรือรบ
หลักการทำงานคือ ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
แล้วเพิ่มแรงส่งให้ตกลงมาด้วยความเร็ว
ระดับ Hyper sonic(เร็วกว่าเสียง 5เท่า)
ถามว่าอานุภาพมันจะแรงแค่ไหน ?
ก็ลองจินตนาการถึงลูกอุกาบาตที่ระเบิดได้เอาเถอะ
จนสหรัฐอเมริกาต้องออกมาร้องเพลง จรวดที่ตกทางโน้นหนาวถึงคนทางนี้
ชักสงสัยซะแล้วสิว่า โลกต้องการสันติภาพแบบไหนกันแน่นะ ?


 


 


 


 


 






Free TextEditor


Create Date : 29 กรกฎาคม 2553
Last Update : 29 กรกฎาคม 2553 0:21:55 น. 3 comments
Counter : 2300 Pageviews.

 
คลิกๆๆ รูปสวยๆน่ารักๆไว้ส่งต่อเพียบ...


โดย: นนนี่มาแล้ว วันที่: 29 กรกฎาคม 2553 เวลา:16:09:43 น.  

 
ปลาหมึกยักลูกจ้ารายชิ้น


โดย: 1 IP: 192.168.2.28, 115.31.138.43 วันที่: 22 ตุลาคม 2553 เวลา:11:02:24 น.  

 
- -"


โดย: สหายกุนเชียง วันที่: 22 ตุลาคม 2553 เวลา:12:52:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สหายกุนเชียง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]







บ่นเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก
ครั้งที่ 60
ตอน - ความสุขของความรัก
.........คือการได้รัก

ทำไม? คนเราถึงอยากมีคนรัก
นั่นเพราะอยากมีความสุข
ในเมื่อที่การได้รักใครสักคน
มันก็ทำให้มีความสุขอยู่แล้ว
ทำไมจะต้องไปอยากรู้
หรือไปใส่ใจอะไรอีก 
ว่าใครรัก ใครไม่รัก
เขารักใคร ใครรักเขา ฯลฯ

กับหัวใจที่เต็มไปด้วยแผลฉกรรจ์ดวงนี้ 
มันดีแค่ไหนแล้ว ที่ยังใช้รักใครได้อยู่...

13/08/55







เพลงพวกนี้.........
ผมชอบทุกเพลงครับ
แต่ละเพลงฟังมานานแล้ว
และจะฟังต่อไปเรื่อยๆ
เพราะฟังกี่รอบๆ ก็ไม่เบื่อ
ว่างๆมานั่งฟังเป็นเพื่อนกันเถอะ
แล้วจะติดจาย~* ^___^



MusicPlaylist
Music Playlist at MixPod.com






free counters


Website counter

Friends' blogs
[Add สหายกุนเชียง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.