รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2554
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
23 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
กุญแจภาวนา 2 พระธรรมเทศนา หลวงพ่อชา สุภัทโท

กุญแจภาวนา 2





มีสติดูจิตเห็นความคิดเกิดปัญญา

ช่างมันเถอะ เราทำของเราไปเมื่อมีอารมณ์อะไรมาก็ให้พิจารณามันไป เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทิ้งลงใส่สามขุมนี่เลย แล้วคิดไปพิจารณาไป เรื่องอารมณ์นั้นโดยมากเรามีแต่เรื่องคิด คิดตามอารมณ์ เรื่องคิดกับเรื่องปัญญามันคนละอย่าง มันพาไปอย่างนั้นก็คิดตามมันไป ถ้าเป็นเรื่องความคิดมันไม่หยุด แต่เรื่องปัญญาแล้วหยุดอยู่นิ่งไม่ไปไหน เราเป็นผู้รับรู้ไว้ เมื่ออารมณ์อันนี้อันนั้นมาจะเป็นอย่างนี้อย่างนั้นเรารู้ๆ ไว้ เมื่อถึงที่สุดแล้วก็ว่าเออเรื่องเจ้าคิดเจ้านึกเจ้าวิตกเจ้าวิจารมานี้ เรื่องเหล่านี้มันไม่เป็นแก่นสารทั้งหมดเป็นเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น ตัดบทมันเลยทิ้งลงใส่ไตรลักษณ์เลยยุบไป ครั้นนั่งต่อไปอีกมันก็เกิดขึ้นอีกเป็นมาอีก เราก็ดูมันไปสะกดรอยมันไป

เปรียบเหมือนกับเราเลี้ยงควายหนึ่ง ต้นข้าวสอง ควายสาม เจ้าของควายจะต้องกินต้นข้าว ต้นข้าวเป็นของที่ควายจะกิน จิตของเราก็เหมือนควาย อารมณ์คือต้นข้าว ผู้รู้ก็เหมือนเจ้าของ การปฏิบัติเป็นเหมือนอย่างนี้ไม่ผิด เปรียบเทียบดูเวลาเราไปเลี้ยงควาย ทำอย่างไร ปล่อยมันไป แต่เราพยายามดูมันอยู่ ถ้ามันเดินไปใกล้ต้นข้าวเราก็ตวาดมัน ควายมันได้ยินก็จะถอยออก แต่เราอย่าเผลอนะถ้ามันดื้อไม่ฟังเสียงก็เอาไม้ค้อนฟาดมันจริงๆ มันจะไปไหนเสีย มันจะได้กินต้นข้าวหรือ แต่เราอย่าไปนอนหลับกลางวันก็แล้วกัน ถ้าขืนนอนหลับต้นข้าวหมดแน่ๆ

เรื่องปฏิบัติก็เช่นกัน เมื่อเราดูจิตของเราอยู่ ผู้รู้ดูจิตเจ้าของ ผู้ใดตามดูจิตผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงของมาร จิตก็เป็นจิตแล้ว ใครจะมาดูจิตอีกเล่า เดี๋ยวก็งงงันเท่านั้น จิตอันหนึ่งผู้รู้อันหนึ่ง รู้ออกมาจากจิตนั่น รู้จิตเป็นอย่างไรสบอารมณ์เป็นอย่างไรปราศจากอารมณ์เป็นอย่างไร ผู้ที่รู้อันนี้ท่านเรียกว่าผู้รู้ ผู้รู้จะตามดูจิต ผู้รู้นี้จะเกิดปัญญา จิตนั้นคือความนึกคิด ถ้าพบอารมณ์นั้นก็แวะไป ถ้าพบอารมณ์อีกมันก็แวะไปอีก เหมือนกับควายเรานั่นแหละ มันจะไปทางไหนเราก็ดูมันอยู่ มันจะไปไหนได้ มันจะไปใกล้ต้นข้าวก็ตวาดมันอยู่ว่าไม่ฟังก็ถูกไม้ค้อนเท่านั้นทรมานมันอยู่อย่างนี้

จิตก็เหมือนกัน เมื่อถูกอารมณ์มันจะเข้าจับทันที เมื่อมันเข้าจับผู้รู้ต้องสอนต้องพิจารณามันว่าดีไม่ดี อธิบายเหตุผลให้มันฟัง มันไปจับสิ่งอื่นอีกมันนึกว่าเป็นของน่าเอา ผู้รู้นี้ก็สอนมันอีกอธิบายให้มีเหตุผลจนมันทิ้งอย่างนี้จึงสงบได้ จับอะไรมาก็มีแต่ของไม่น่าเอาทั้งนั้น มันก็หยุดเท่านั้น มันขี้เกียจเหมือนกันเพราะมีแต่ถูกด่าถูกว่าเสมอทรมานมันเข้า ทรมานเข้าไปถึงจิตหัดมันอยู่อย่างนั้นแหละ

รู้ตัวเองแล้วสบาย

ตั้งแต่ครั้งอาตมาปฏิบัติอยู่ในป่าก็ปฏิบัติอย่างนี้ สอนศิษย์ทั้งหลายก็สอนอย่างนี้ เพราะต้องการเห็นความจริง ไม่ต้องการเห็นในตำรา ต้องการเห็นในใจเจ้าของว่า ตัวเองหลุดพ้นจากสิ่งที่คิดนั้นหรือยัง เมื่อหลุดแล้วก็รู้จักเมื่อยังไม่หลุดก็พิจารณาเหตุผลจนรู้เรื่องของมัน ถ้ารู้เรื่องของมันก็หลุดเอง ถ้ามีอะไรมาอีกติดอะไรอีกก็พิจารณาสิ่งนั้นอีก ไม่หลุดไม่ไปย้ำมันอยู่ตรงนี้ มันจะไปไหนเสีย อาตมาชอบให้เป็นอย่างนั้นในตัวเอง เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่าปัจจัตตังเวทิตัพโพวิญญูหิ วิญญูชนทั้งหลายรู้เฉพาะตนก็ต้องหาเอาจากเจ้าของให้รู้จากตัวเองนี้แหละ

ถ้าเชื่อตัวเองก็รู้สึกสบาย เขาว่าไม่ดีก็สบาย เขาว่าดีก็สบาย เขาจะว่าอย่างไรก็สบายอยู่ เพราะอะไรจึงสบาย เพราะรู้ตัวเอง ถ้าคนอื่นว่าเราดีแต่เราไม่ดีเราจะเชื่อเขาอย่างนั้นหรือ เราก็ไม่เชื่อเขา เราปฏิบัติของเราอยู่ คนไม่เชื่อตนเองเมื่อเขาว่าดีก็ดีตามเขาก็เป็นบ้าไปอย่างนั้น ถ้าเขาว่าชั่วเราก็ดูเรามันไม่ใช่หรอก เขาว่าเราทำผิดแต่เราไม่ผิดดังเขาว่า เขาพูดไม่ถูกก็ไม่รู้จะไปโกรธเขาทำไม เพราะเขาพูดไม่ถูกตามความเป็นจริง ถ้าเราผิดดังเขาก็ถูกดังเขาว่า แล้วไม่รู้จะไปโกรธเขาทำไมอีก ถ้าคิดได้ดังนี้รู้สึกว่าสบายจริงๆ มันเลยไม่มีอะไรผิด ล้วนแต่เป็นธรรมทั้งหมด อาตมาปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้มันลัดตรงจริงๆ แม้จะเอาธัมมะธัมโมหรืออภิธรรมมาเถียง อาตมาก็ไม่เถียงไม่เถียงหรอก ให้แต่เหตุผลเท่านั้น

ให้เข้าใจเสียว่า เรื่องปฏิบัตินี้พระพุทธเจ้าให้วางทั้งหมด วางอย่างรู้มิใช่ว่าวางอย่างไม่รู้ จะวางอย่างควายอย่างวัวไม่เอาใจใส่อย่างนี้ไม่ถูก วางเพราะการรู้สมมติบัญญัติความไม่ยึด

ยึดไว้ก่อนพอร้อนแล้วก็วาง

ทีแรกท่านสอนว่าทำให้มากเจริญให้มากยึดให้มาก ยึดพระพุทธยึดพระธรรมยึดพระสงฆ์ยึดให้มั่น ท่านสอนอย่างนี้ เราก็ยึดเอาจริงๆ ยึดไปๆ คล้ายกับท่านสอนว่า อย่าไปอิจฉาคนอื่นให้ทำมาหากินด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง มีวัวมีควายมีไร่มีนาให้หาเอาจากของๆ เรานี่แหละไม่บาปหรอก ถ้าไปทำของคนอื่นมันบาป ผู้ฟังจึงเชื่อทำเอาจากของตนเองอย่างเต็มที่ แต่มันก็ยุ่งยากลำบากเหมือนกัน ที่ยากลำบากนั้นเพราะของเราเอง ก็ไปบ่นปรับทุกข์ให้ท่านฟังอีกว่า มีสิ่งของใดๆ ก็ยุ่งยากเป็นทุกข์ เมื่อเห็นความยุ่งยากแล้วแต่ก่อนเข้าใจว่ายุ่งยากเพราะแย่งชิงของคนอื่น ท่านจึงแนะให้ทำของๆ ตนนึกว่าจะสบาย ครั้นทำแล้วก็ยังยุ่งยากอยู่ท่าน จึงเทศน์อย่างใหม่ให้ฟังอีกว่า "มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าไปยึดไปหมายมันก็เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าของใครทั้งนั้น ไฟอยู่บ้านเขาไปจับมันก็ร้อน ไฟอยู่บ้านเราไปจับมันก็ร้อนอยู่อย่างนั้น" ท่านก็พูดตามเราเพราะท่านสอนคนบ้าการรักษา คนบ้าก็ต้องทำอย่างนั้น พอช้อคไฟได้ท่านก็ช้อค เมื่อก่อนยังอยู่ต่ำเกินไปเลยไม่ทันรู้จักเรื่องอุบายของพระพุทธเจ้า ท่านสอนเราต่างหาก หมดเรื่องของท่านมาติดเรื่องของเรา ถึงจะเป็นอย่างไรก็ตามเอาอุบายทั้งหลายเหล่านี้นั่นแหละมาสอนเรา

การปฏิบัติคือการฝืนใจตัวเอง

เรื่องปฏิบัตินี่อาตมาพยายามค้นคิดเหลือเกิน เอาชีวิตเป็นเดิมพันเพราะเชื่อตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มรรคผลนิพพานมีอยู่มันมีอยู่ดังพระองค์ตรัสสอน แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดจากการปฏิบัติดี เกิดจากการทรมานกล้าหาญกล้าฝึกกล้าหัดกล้าคิดกล้าแปลงกล้าทำ

การทำนั้นทำอย่างไร ท่านให้ฝืนใจตัวเอง ใจเราคิดไปทางนี้ท่านให้ไปทางโน้น ใจเราคิดไปทางโน้นท่านให้มาทางนี้ ทำไมท่านจึงฝืนใจ เพราะใจถูกกิเลสเขาพอกมาเต็มที่แล้ว มันยังไม่ได้ฝึกหัดดัดแปลง พระองค์จึงไม่ให้เชื่อ มันยังไม่เป็นศีลยังไม่เป็นธรรมเพราะใจมันยังไม่แจ้งไม่ขาวจะไปเชื่อมันได้อย่างไรได้ ท่านจึงมิให้เชื่อเพราะใจเป็นกิเลส ทีแรกมันเป็นลูกน้องกิเลส อยู่นานๆ ไปเลยกลายเป็นกิเลส ท่านเลยบอกว่าอย่าเชื่อใจ

ดูเถิดข้อปฏิบัติมีแต่เรื่องฝืนใจทั้งนั้น ฝืนใจก็เดือดร้อน พอเดือดร้อนก็บ่นว่าแหมลำบากเหลือเกินทำไม่ได้แต่ พระองค์ไม่นึกอย่างนั้น ทรงนึกว่าถ้าเดือดร้อนนั้นถูกแล้ว แต่เราเข้าใจว่าไม่ถูกเป็นเสียอย่างนี้ มันจึงลำบากเมื่อเริ่มทำ เดือดร้อนเราก็นึกว่าไม่ถูกทาง คนเราอยากมีความสุขมันจะถูกหรือไม่ถูกไม่รู้ เมื่อขัดกับกิเลสตัณหาก็เลยเป็นทุกข์เดือดร้อนก็หยุดทำ เพราะเข้าใจว่าไม่ถูกทาง แต่พระองค์ตรัสว่าถูกแล้วถูกกิเลสแล้ว กิเลสมันเร่าร้อนแต่เรานึกว่าเราเร่าร้อน

พระพุทธเจ้าว่ากิเลสเร่าร้อน เราทั้งหลายเป็นอย่างนี้มันจึงยาก เราไม่พิจารณาโดยมากมักเป็นไปตามกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค มันติดอยู่นี่อยากทำตามใจของเรา อันไหนชอบก็ทำ อยากทำตามใจให้นั่งสบายนอนสบาย จะทำอะไรก็อยากสบายนี่กามสุขัลลิกานุโยคติดสุขมันจะไปได้อย่างไร

ถ้าหากเอากามความสบายไม่ได้แล้วความสุขไม่ได้แล้ว ก็ไม่พอใจโกรธขึ้นมาก็เป็นทุกข์เป็นโทสธรรม นี่เป็นอัตตกิลมถานุโยคซึ่งไม่ใช่หนทางของผู้สงบ ไม่ใช่หนทางของผู้ระงับ

กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ทางสองเส้นนี้พระพุทธเจ้าไม่ให้เดิน ความสุขพระองค์ให้รับทราบไว้ ความโกรธความเกลียดความไม่พอใจก็ไม่ใช่ทางที่พระพุทธเจ้าเดิน ไม่ใช่ทางของสมณะ เป็นทางที่ชาวบ้านเดินอยู่ พระผู้สงบแล้วไม่เดินอย่างนั้น เดินไปตรงกลางสัมมาปฏิปทา นี่กามสุขัลลิกานุโยคอยู่ทางซ้ายอัตตกิลมถานุโยคอยู่ทางขวา

เดินทางสายกลางคือสงบวางสุขวางทุกข์

ดังนั้น ถ้าจะบวชปฏิบัติต้องเดินทางสายกลางนี้ เราจะไม่เอาใจใส่ความสุขความทุกข์ จะวางมันแต่รู้สึกว่ามันเตะเรา เดี๋ยวไอ้นี่เตะทางนี้ ไอ้นั่นเตะทางนั้น เหมือนกับลูกโป่งลาง(กระดิ่งที่ทำด้วยไม้) มันฟัดเราทั้งสองข้างเข้าใส่กัน มีสองอย่างนี้แหละเตะเราอยู่ ดังนั้นพระองค์เทศน์ครั้งแรกจึงทรงยกทางที่สุดทั้งสองขึ้นแสดงเพราะมันติดอยู่นี่ ความอยากได้สุขเตะทางนี้บ้าง ความทุกข์ไม่พอใจเตะทางโน้นบ้าง สองอย่างเท่านั้นเล่นงานเราตลอดกาล

การเดินทางสายกลาง เราจะวางสุข เราจะวางทุกข์สัมมาปฏิปทา ต้องเดินสายกลางเมื่อความอยากได้สุขมากระทบ ถ้าไม่ได้สุขมันก็ทุกข์เท่านั้น จะเดินกลางๆ ตามทางพระพุทธเจ้าเดินนั้นลำบาก มันมีสองอย่างคือดีกับร้ายเท่านั้น ถ้าไปเชื่อพวกนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าโกรธขึ้นมาก็คว้าหาท่อนไม้เลยไม่ต้องอดทน ถ้าดีก็ลูบตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้า นั่นใช่เล้วทางสองข้างมันไม่ไปกลางๆ สักที พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ทำอย่างนั้น ท่านให้ค่อยๆ วางมันไปทางสายนี้คือสัมมาปฏิปทา ทางเดินออกจากภพจากชาติทางไม่มีภพไม่มีชาติไม่มีสุขไม่มีทุกข์ไม่มีดีไม่มีชั่ว มนุษย์ทั้งหลายที่ต้องการภพ ถ้าตกลงมาก็ถึงสุขนี่มันมองไม่เห็นตรงกลางผ่านเลยลงมานี่ ถ้าไม่ได้ตามความพอใจก็เลยมานี่ ข้ามตรงกลางไปเรื่อย ที่พระอยู่เรามองไม่เห็นสักที วิ่งไปวิ่งมาอยู่นี่แหละไม่อยู่ตรงที่ ไม่มีภพไม่มีชาติเราไม่ชอบจึงไม่อยู่ บางทีก็เลยลงมาข้างล่างถูกสุนัขกัดปีนขึ้นไปข้างบนก็ถูกอีแร้งอีกาปากเหล็กมาจิกกระบาล ก็เลยตกนรกอยู่ไม่หยุดไม่ยั้งเท่านั้นนี่แหละภพ

อันที่ว่าไม่มีภพไม่มีชาติ มนุษย์ทั้งหลายไม่เห็นจิตมนุษย์มองไม่เห็นจึงข้ามไปข้ามมาอยู่อย่างนั้น สัมมาปฏิปทาคือทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าเดินพ้นภพพ้นชาติเป็นอัพยากตธรรม จิตนี้วางนี่เป็นทางของสมณะ ถ้าใครไม่เดินเกิดเป็นสมณะไม่ได้ ความสงบเกิดไม่ได้ ทำไมจึงสงบไม่ได้เพราะมันเป็นภพเป็นชาติเกิดตายอยู่นั่นเอง แต่ทางนี้ไม่เกิดไม่ตายไม่ต่ำไม่สูงไม่สุขไม่ทุกข์ไม่ดีไม่ชั่วกับใคร ทางนี้เป็นทางตรงเป็นทางสงบระงับสงบจากความสุขความทุกข์ความดีใจความเสียใจ นี้คือลักษณะปฏิบัติ ถ้าใจเราเป็นอย่างนี้แล้วหยุดได้หยุดถามได้แล้วไม่ต้องไปถามใคร

นี่แหละพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าปัจจัตตังเวทิตัพโพวิญญูหิ ไม่ต้องถามใครรู้

เฉพาะตนแน่นอนอย่างนั้นถูกตามที่พระองค์ทรงสอนไว้ อาตมาเล่าประวัติย่อๆ ที่เคยทำเคยปฏิบัติมาไม่ได้รู้มากไม่ได้เรียนมาก เรียนจากจิตใจตนเองตามธรรมชาตินี้ โดยทดลองทำดู เมื่อมันชอบขึ้นมาก็ไปตามมันดูมัน จะพาไปไหนมีแต่มันลากเราไปหาความทุกข์โน่น เราปฏิบัติดูตัวเองจึงค่อยรู้จักค่อยรู้ขึ้นเห็นขึ้นไปเอง ให้เราพากันตั้งอกตั้งใจทำ

การปฏิบัติต้องตั้งใจและพยายาม


ถ้าอยากปฏิบัติให้ท่านมหาพยายามอย่าคิดให้มาก ถ้าจะนั่งสมาธิแล้วอยากให้มันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้หยุดดีกว่า เวลานั่งสงบจะนึกว่าใช่อันนั้นไหมใช่อันนี้ไหม หยุดเอาความรู้ปริยัติใส่หีบใส่ห่อไว้เสีย อย่าเอามาพูดไม่ใช่ความรู้พวกนั้นจะเข้ามาอยู่นี่หรอก มันพวกใหม่ เวลาเป็นขึ้นมามันไม่เป็นอย่างนั้น เหมือนกับเราเขียนตัวหนังสือว่า "ความโลภ" เวลามันเกิดในใจไม่เหมือนตัวหนังสือ เวลาโกรธก็เหมือนกันเขียนใส่กระดานดำเป็นอย่างหนึ่งมันเป็นตัวอักษร เวลามันเกิดในใจอ่านอะไรไม่ทันหรอก มันเป็นขึ้นมาที่ใจเลยสำคัญนักสำคัญมาก

ปริยัติเขียนไว้ก็ถูกอยู่แต่ต้องโอปนยิโกให้เป็น คนน้อมถ้าไม่น้อมก็ไม่รู้จักจริงๆ มันไม่เห็น อาตมาก็เหมือนกันไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก เคยสอบปริยัติธรรมมีโอกาสได้ไปฟังครูบาอาจารย์เทศน์ให้ฟังจนจะเกิดความประมาทฟังเทศน์ไม่เป็น พวกพระกรรมฐานพระธุดงค์นี่ไม่รู้ พูดอย่างไรพูดเหมือนกับมีตัวมีตนจริงๆ จะไล่เอาจริงๆ ต่อมาค่อยทำไปปฏิบัติไปๆ จึงเห็นจริงตามที่ท่านสอน ท่านเทศน์ให้ฟังก็รู้เป็นเห็นตามมันเป็นอยู่ในใจของเรานี่เอง ต่อไปนานๆ จึงรู้ว่ามันก็ล้วนแต่ท่านเห็นมาแล้ว ท่านเอามาพูดให้ฟังไม่ใช่ว่าท่านพูดตามตำรา ท่านพูดตามความรู้ความเห็นจากใจให้ฟัง เราเดินตามก็ไปพบที่ท่านพูดไว้หมดทุกอย่าง จึงนึกว่ามันถูกแล้วนี่จะอย่างไหนอีกเอาเท่านี้แหละ อาตมาจึงปฏิบัติต่อไป

คนทำจะได้

การปฏิบัตินั้นให้พยายามทำมัน จะสงบหรือไม่สงบก็ช่างปล่อยไว้ก่อน เอาเรื่องเราปฏิบัติเป็นเรื่องแรก เอาเรื่องเราได้สร้างเหตุนี่แหละ ถ้าทำแล้วผลจะเป็นอย่างไรก็ได้ เราทำได้แล้วอย่ากลัวว่าจะไม่ได้ผลมันไม่สงบเราก็ได้ทำ ทีนี้ถ้าเราไม่ทำใครเล่าจะได้ ใครเล่าจะเห็น คนหานั่นแหละจะเห็นคนกินนั่นแหละจะอิ่ม ของแต่ละสิ่งละอย่างมันโกหกเราอยู่ สิบครั้งให้มันรู้ก็ยังดีอยู่ คนเก่ามาโกหกเรื่องเก่าถ้ารู้จักก็ดีอยู่ มันนานเหลือเกินกว่าจะรู้มันพยายามมาหลอกลวงเราอยู่นี่

ดังนั้นถ้าจะปฏิบัติแล้วให้ตั้งศีลสมาธิปัญญาไว้ในใจของเรา ให้นึกถึงพระรัตนตรัยคือพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เลิกสิ่งทั้งหลายทั้งปวงออกเสีย การกระทำของเรานี้เองเป็นเหตุเกิดขึ้นในภพในชาติหนึ่งจริงๆ เป็นคนซื่อสัตย์กระทำไปเถอะ

การปฏิบัตินั้นแม้จะนั่งเก้าอี้อยู่ก็ตาม กำหนดได้เบื้องแรกไม่ต้องกำหนดมาก กำหนดลมหายใจเข้าออกหรือจะว่าพุทโธธัมโมสังโฆก็ได้ แล้วกำหนดลมหายใจเข้าออก เมื่อกำหนดให้มีความตั้งใจไว้ว่า การกำหนดลมนี้จะไม่บังคับถ้าเราจะลำบากกับลมหายใจแล้วยังไม่ถูก ดูเหมือนลมหายใจสั้นไปยาวไปค่อยไปแรงไปเดินลมไม่ถูกไม่สบาย แต่เมื่อใดลมออกก็สบายลมเข้าก็สบายจิตของเรารู้จักลมเข้ารู้จักลมออก นั่นแม่นแล้วถูกแล้ว ถ้าไม่แม่นมันยังหลง ถ้ายังหลงก็หยุดกำหนดใหม่ เวลากำหนดจิตอยากเป็นนั่นเป็นนี่หรือเกิดแสงสว่างเป็นปราสาทราชวังขึ้นมาก็ไม่ต้องกลัว ให้รู้จักมันให้ทำเรื่อยไปบางครั้งทำไปๆ ลมหมดก็มีหมดจริงๆ ก็จะกลัวอีกไม่ต้องกลัวมันหมดแต่ความคิดของเราเท่านั้น เรื่องความละเอียดยังอยู่ไม่หมดถึงกาลสมัยแล้วมันฟื้นกลับขึ้นมาของมันเอง

ทำจิตให้สงบก่อนแล้วจึงพิจารณาอารมณ์

ให้ใจสงบไปอย่างนี้เสียก่อน นั่งอยู่ที่ไหนก็ตามนั่งเก้าอี้นั่งรถนั่งเรือก็ตาม ถ้ากำหนดเมื่อใดให้มันเข้าเลย ขึ้นรถไฟพอนั่งลงให้มันเข้าเลยอยู่ที่ไหนนั่งได้ทั้งนั้น ถ้าขนาดนี้รู้จักแล้วรู้จักทางบ้างแล้วจึงมาพิจารณาอารมณ์ ใช้จิตที่สงบนั่นพิจารณาอารมณ์ รูปบ้างเสียงบ้างกลิ่นบ้างรสบ้างโผฏฐัพพะบ้างธรรมารมณ์บ้างที่เกิดขึ้น ให้มาพิจารณาชอบหรือไม่ชอบต่างๆ นานา ให้เป็นผู้รับทราบไว้อย่าเข้าไปหมายในอารมณ์นั้น ถ้าดีก็ให้รู้ว่าดี ถ้าไม่ดีก็ให้รู้ว่าไม่ดี อันนี้เป็นของสมมติบัญญัติ ถ้าจะดีจะชั่วก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น เป็นของไม่แน่นอนไม่ควรยึดมั่นถือมั่น อ่านคาถานี้ไว้ด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้เรื่อยๆ ไปปัญญาจะเกิดเองอารมณ์นั้นเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ทิ้งใส่สามขุมนี้นี้เป็นแก่นของวิปัสสนา ทิ้งใส่อนิจจังทุกขังอนัตตา ดีชั่วร้ายอะไรก็ทิ้งมันใส่นี่ ไม่นานเราก็จะเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมาในอนิจจังทุกขังอนัตตา เกิดปัญญาอ่อนๆ ขึ้นมา นั่นแหละเรื่องภาวนาให้พยายามทำเรื่อยๆ ศีลห้านี้ถือมาหลายปีแล้วมิใช่หรือ เริ่มภาวนาเสียให้รู้ความจริงเพื่อละเพื่อถอนเพื่อความสงบ

นักปฏิบัติต้องรักษาวินัยและเชื่อฟังอาจารย์

พูดถึงการสนทนาแล้วอาตมาสนทนาไม่ค่อยเป็น มันพูดยากอยู่ถ้าใครอยากรู้จักต้องอยู่ด้วยกันอยู่ไปนานๆ ก็รู้จักหรอก อาตมาเคยไปเที่ยวธุดงค์เหมือนกัน อาตมาไม่เทศน์ไปฟังครูบาอาจารย์รูปนั้นรูปนี้เทศน์ มิใช่ว่าไปเทศน์ให้ท่านฟัง ท่านพูดอะไรก็ฟังฟังเอา พระเล็กพระน้อยเทศน์ก็ฟัง เราจะฟังก็ฟังไม่ค่อยสนทนาไม่รู้จะสนทนาอะไร ที่จะเอาก็เอาตรงที่ละที่วางนั่นเอง ทำเพื่อมาละมาวางไม่ต้องไปเรียนให้มาก แก่ไปทุกวันๆ วันหนึ่งๆ ไปตะปบแต่แสงอยู่นั่นไม่ถูกตัวสักที การปฏิบัติธรรมแม้จะมีหลายแบบอาตมาไม่ติถ้ารู้จักตามความหมาย ไม่ใช่ว่าจะผิดแต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติแล้วไม่ค่อยรักษาวินัยอาตมาว่าจะไปไม่รอด เพราะมันข้ามมรรค ข้ามศีล สมาธิ ปัญญา บางท่านพูดว่าอย่าไปติดสมถะ อย่าไปเอาสมถะ ผ่านไปวิปัสสนาเลย อาตมาเห็นว่าถ้าผ่านไปเอาวิปัสสนาเลยมันจะไปไม่รอด

วิธีปฏิบัติของท่านอาจารย์เสาร์ ท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์ทองรัต ท่านเจ้าคุณอุบาลี นี่หลักนี้อย่าทิ้งแน่นอนจริงๆ ถ้าทำตามท่าน ถ้าปฏิบัติตามท่านเห็นตัวเองจริงๆ ท่านอาจารย์เหล่านี้เรื่องศีลท่านพยายามรักษาให้แน่นอน ท่านไม่ให้ข้ามการเคารพครูบาอาจารย์ การเคารพข้อวัตรปฏิบัตินั้น ถ้าครูบาอาจารย์บอกให้ทำก็ทำ ถ้าท่านว่าผิดให้หยุดก็หยุดชื่อว่าทำเอาจริงๆ จังๆ ให้เห็นให้เป็นขึ้นในใจ ท่านอาจารย์บอกอย่างนี้ ดังนั้นพวกลูกศิษย์ทั้งหลายจึงมีความเคารพยำเกรงในครูบาอาจารย์มาก เพราะเห็นตามรอยของท่าน

ลองทำดูซิทำดังที่อาตมาพูด ถ้าเราทำมันก็เห็นก็เป็น ทำไมจะไม่เป็นเพราะเป็นคนทำคนหา อาตมาว่ากิเลสมันไม่อยู่หรอกถ้าทำถูก เรื่องของมันเป็นผู้ละพูดจาน้อย เป็นคนละทิฏฐิมานะทั้งหลายทั้งปวง คนพูดผิดก็ฟังได้คนพูดถูกก็ฟังได้หมด พิจารณาตัวเองอยู่อย่างนี้ อาตมาว่าเป็นไปได้ทีเดียวถ้าพยายาม แต่ว่าไม่ค่อยมีนักปริยัติที่มาปฏิบัติยังมีน้อยอยู่ คิดเสียดายเพื่อนๆ ทั้งหลายเคยแนะนำให้มาพิจารณาอยู่

ถ้าปฏิบัติแล้วจะรู้ซึ้งรู้แจ้งรู้ชัด

ท่านมหามาที่นี่ก็ดีแล้ว เป็นกำลังอันหนึ่งแถวบ้านเรา บ้านไผ่ใหญ่ หนองลัก หนองขุ่น บ้านโพนขาวล้วนแต่เป็นบ้านสำนักเรียนทั้งนั้น เรียนแต่ของที่มันต่อกันไม่ตัดสักที เรียนแต่สันตติ เรียนสนธิต่อกันไป ถ้าเราหยุดได้เรามีหลักวิจัยอย่างนี้ดีจริงๆ มันไม่ไปทางไหนหรอก มันไปอย่างที่เราเรียนนั่นแหละ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติผู้เรียนไม่ค่อยรู้ ถ้าปฏิบัติแล้วก็รู้ซึ้งสิ่งที่เราเคยเรียนมาแจ้งออกชัดออกเริ่มปฏิบัติเสียให้เข้าใจอย่างนี้

พยายามมาอยู่ตามป่าที่กุฏิเล็กๆ นี้มาฝึกมาทดลองดูบ้างดีกว่า เราไปเรียนปริยัติอย่างเดียวให้พูดอยู่คนเดียว ดูจิตดูใจเราคล้ายๆ กับว่าจิตมันวางเป็นปกติ จิตถ้ามันเคลื่อนออกจากปกติเช่นมันคิดมันนึกต่างๆ นั่นเป็นสังขาร สังขารนี้มันจะปรุงเราต่อไประวังให้ดี ให้รู้มันไว้ ถ้ามันเคลื่อนออกจากปกติแล้วไม่เป็นสัมมาปฏิปทาหรอก มันจะก้าวไปเป็นกามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค ของพวกนี้มันปรุงนั่นแหละเป็นจิตสังขาร ถ้ามันดีก็ดี ถ้ามันชั่วก็ชั่ว มันเกิดกับจิตของเรา อาตมาว่าถ้าได้จ้องดูมันอยู่อย่างนี้รู้สึกว่าสนุก ถ้าจะพูดเรื่องนี้อยู่อย่างเดียวแล้วสนุกอยู่ตลอดวัน

เมื่อรู้จักเรื่องวาระของจิตก็เห็นมีอาการอย่างนี้ เพราะกิเลสมันอบรมจิตอยู่ อาตมาเห็นว่าจิตนี้เหมือนกับจุดจุดเดียวเท่านั้น อันที่เรียกว่าเจตสิกนั่นเป็นแขก แขกมาพักอยู่ตรงจุดนี้ คนนั้นมาเยี่ยมเราบ้าง คนนั้นมาเยี่ยมเราบ้าง คนโน้นมาเยี่ยมเราบ้าง มาพักอยู่ตรงนี้เราจึงเรียกพวกนั้นที่ออกจากจิตของเรามาเป็นเจตสิกหมด

มีสติรู้ตื่นอยู่เฝ้าดูจิต

ทีนี้เรามาทำจิตของเราให้เป็นผู้รู้ตื่นอยู่ คอยรักษาจิตของเราอยู่ ถ้าแขกมาเมื่อไรโบกมือห้าม มันจะมานั่งที่ไหนมีที่นั่งที่เดียวเท่านั้น เราก็พยายามรับแขกอยู่ตรงนี้ตลอดวัน นี่คือพุทโธตัวตั้งมั่นอยู่ นี่ทำความรู้นี้ไว้จะได้รักษาจิตเรา นั่งอยู่ตรงนี้แล้วแขกที่เคยมาเยี่ยมเราตั้งแต่เราเกิดตัวเล็กๆ โน้นมาทีไรก็มาที่นี่หมด เราจึงรู้จักมันหมดเลยพุทโธอยู่คนเดียว พูดถึงอาคันตุกะแขกที่จรมาปรุงมาแต่งต่างๆ นานาให้เราเป็นไปตามเรื่องของมัน อาการของจิตที่เป็นไปตามเรื่องของมันนี่แหละเรียกว่าเจตสิก มันจะเป็นอะไรจะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้จักอาคันตุกะที่มาพัก ที่รับแขกมีเก้าอี้ตัวเดียวเท่านี้เองเราเอาผู้หนึ่งไปนั่งไว้แล้วมันก็ไม่มีที่นั่ง มันมาที่นี่มันก็จะมาพูดกับเรา ครั้งนี้ไม่ได้นั่งครั้งต่อไปก็จะมาอีก มาเมื่อไรก็พบแต่ผู้นี้นั่งอยู่ไม่หนีสักที มันจะทนมากี่ครั้งเพียงพูดกันอยู่ที่นั่น เราก็จะรู้จักหมดทุกคนพวกที่ตั้งแต่เรารู้เดียงสาโน้นมันจะมาเยี่ยมเราหมดนั่นแหละเพียงเท่านี้

อาตมาว่าธรรมนั้นดูตรงนี้ก็เห็นไปหมดได้ พูดได้ดูได้พิจารณาอยู่คนเดียวพูดธรรมะก็อย่างนี้แหละ อาตมาพูดอย่างอื่นไม่เป็น พูดก็พูดไปอย่างนี้ทำนองนี้นี่ก็เป็นแต่เพียงพูดให้ฟังเท่านั้น

ทีนี้ให้ไปทำดู ถ้าไปทำมันจะเป็นอย่างนั้นๆ มีหนทางบอก ถ้ามันเป็นอย่างนั้นให้ทำอย่างนั้นก็ไปทำดูอีก ถ้าไปทำดูอีกมันเป็นอีกอย่างหนึ่งก็ต้องแก้ โน่นแหละจึงจะมีที่บอก ในเมื่อเดินสายเดียวกันมันต้องเป็นในจิต ท่านมหาแน่นอนถ้าไม่เป็นอย่างนั้นมันต้องเกิดขัดข้อง ขัดข้องก็ต้องจี้จุด เมื่อพูดตรงนี้มันไปถูกจิตท่านมหามันก็รู้จักแก้ ถ้ามันติดอีกท่านผู้แนะนำก็จะบอก เพราะตรงนี้ท่านก็เคยติดมาแล้วก็ต้องแก้อย่างนั้นมันรู้เรื่องกันก็พูดกันได้

เช่นเดียวกับอารมณ์ คือเสียงได้ยินเป็นอย่างหนึ่งเสียงเป็นอย่างหนึ่ง เรารับทราบไว้ไม่มีอะไร เราอาศัยธรรมชาติอย่างนี้แหละมาพิจารณาหาความจริงจนใจมันแยกของมันเอง พูดง่ายๆ ก็คือมันไม่เอาใจใส่เอง มันจึงเป็นอย่างนั้นได้ เมื่อหูได้ยินเสียงดูจิตของเรามันพัวพันไปตามไหม มันรำคาญไหม เท่านี้เราก็รู้ ได้ยินอยู่แต่ไม่รำคาญ ฉันอยู่ที่นี่เอากันใกล้ๆ มิได้เอาไกลจะหนีจากเสียงนั้นหนีไม่ได้หรอก ต้องหนีวิธีนี้จึงจะหนีได้ โดยเราฝึกจิตของเราจนมั่นอยู่ในสิ่งนี้ วางสิ่งเหล่านั้น สิ่งที่วางแล้วนั้นก็ยังได้ยินอยู่ได้ยินอยู่แต่ก็วางอยู่ เพราะสิ่งเหล่านั้นถูกวางอยู่แล้วมิใช่จะไปบังคับให้มันแยกมันแยกเองโดยอัตโนมัติ เพราะการละการวางจะอยากให้มันไปตามเสียงนั้นมันก็ไม่ไป

เมื่อเรารู้ถึงรูปเสียงกลิ่นรสทั้งหลายเหล่านี้ตามเป็นจริงแล้ว เห็นชัดอยู่ในดวงจิตของเราว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสามัญลักษณะคือ อนิจจังทุกขังอนัตตาหมดทั้งนั้น เมื่อได้ยินครั้งใดก็เป็นสามัญลักษณะอยู่ในใจ เวลาอารมณ์ทั้งหลายมากระทบได้ยินก็เหมือนไม่ได้ยินนั้น ไม่ใช่จิตของเราจะไม่มีการงานสติกับจิตพัวพันคุ้มครองกันอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา ถ้าท่านมหาทำจิตให้ถึงอันนี้แล้วถึงจะเดินไปทางไหนมันก็ค้นคว้าอยู่ นี่เป็นธรรมวิจัยหลักของโพชฌงค์เท่านั้นเอง มันหมุนเวียนพูดกับตัวเองแก้ปลดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่มีอะไรจะมาใกล้มันได้ มันมีงานทำของมันเอง

จิตที่ตื่นรู้เบิกบานเป็นพุทธะ

นี่เรื่องอัตโนมัติของจิตที่เป็นอยู่ไม่ได้แต่ง มันหัดเบื้องแรกมันเป็นเลย ถ้าเราทำอยู่อย่างนี้ท่านมหาจะมีอาการอย่างหนึ่งแปลกขึ้นมาคือ เวลาไปนอนตั้งใจแล้วนอนเคยนอนกรนหรือนอนละเมอกันฟันหรือนอนดิ้นนอนขวาง ถ้าจิตเป็นอย่างนี้แล้วสิ่งเหล่านั้นฉิบหายหมด ถึงจะหลับสนิทตื่นขึ้นมาแล้วมีอาการคล้ายกับไม่ได้นอน เหมือนไม่ได้หลับแต่ไม่ง่วง เมื่อก่อนเราเคยนอนกรนถ้าเราทำจิตใจให้ตื่นแล้วไม่กรนหรอก จะกรนอย่างไรคนไม่ได้นอนกายมันไประงับเฉยๆ ตัวนี้ตื่นอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืนตื่นอยู่ทุกกาลเวลา คือพุทโธผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานผู้แจ้งผู้สว่าง ตัวนี้ไม่ได้นอน มันเป็นของมันอยู่ไม่รู้สึกง่วง ถ้าเราทำจิตของเราอย่างนี้ไม่นอนตลอด ๒-๓ วัน บางทีมันง่วงร่างกายมันเพลีย พอง่วงเรามานั่งกำหนดเข้าสมาธิทันทีสัก ๕ นาทีหรือ ๑๐ นาทีแล้วลืมตาขึ้น จะรู้สึกเท่ากับได้นอนตลอดคืนและวัน

เรื่องการนอนหลับนี่ ถ้าไม่คิดถึงสังขารแล้วไม่เป็นไร แต่ว่าเอาแต่พอควร เมื่อนึกถึงสภาวะของสังขารความเป็นไปแล้วก็ให้ตามเรื่องของมัน ถ้ามันถึงตรงนั้นแล้วไม่ต้องนำไปบอกหรอก มันบอกเองมันจะมีผู้จี้ผู้จดถึงขี้เกียจก็มีผู้บอกให้เราขยันอยู่เสมอ อยู่ไม่ได้หรอกถ้าถึงจุดมันจะเป็นของมันเอง ดูเอาสิอบรมมานานแล้วอบรมตัวเองดู

กายวิเวกสำคัญมาก

แต่ว่าเบื้องแรกกายวิเวกสำคัญนะ เมื่อเรามาอยู่กายวิเวกแล้วจะนึกถึงคำพระสารีบุตรเทศน์ไว้เกี่ยวกับกายวิเวก จิตวิเวก อุปธิวิเวก* กายวิเวกเป็นเหตุให้เกิดจิตวิเวก จิตวิเวกเป็นเหตุเกิดอุปธิวิเวก แต่บางคนพูดว่าไม่สำคัญหรอกถ้าใจเราสงบแล้วอยู่ที่ไหนก็ได้ จริงอยู่แต่เบื้องแรกให้เห็นว่ากายวิเวกเป็นที่หนึ่งให้คิดอย่างนี้ วันนี้หรือวันไหนก็ตามท่านมหาเข้าไปนั่งอยู่ในป่าช้าไกลๆ บ้าน ลองดูให้อยู่คนเดียวหรือท่านมหาจะไปอยู่ที่ยอดเขายอดหนึ่งซึ่งเป็นที่หวาดสะดุ้งให้อยู่คนเดียวนะ เอาให้สนุกตลอดคืนแล้วจึงจะรู้จักว่ามันเป็นอย่างไร

เรื่องกายวิเวกนี่ แม้เมื่อก่อนอาตมาเองก็นึกว่าไม่สำคัญเท่าไร คิดเอาแต่เวลาไปทำดูแล้วจึงนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า พระองค์สอนให้ไปหากายวิเวกเป็นเบื้องแรก เป็นเหตุให้จิตวิเวก ถ้าจิตวิเวกก็เป็นเหตุเกิดอุปธิวิเวก เช่นเรายังครองเรือนกายวิเวกเป็นอย่างไร พอกลับถึงบ้านเท่านั้นต้องวุ่นวายยุ่งเหยิงเพราะกายไม่วิเวก ถ้าออกจากบ้านมาสู่สถานที่วิเวกก็เป็นไปอีกแบบหนึ่ง

อาจารย์ช่วยชี้แนะผิดถูก

ฉะนั้นต้องเข้าใจว่า เบื้องแรกนี้กายวิเวกเป็นของสำคัญ เมื่อได้กายวิเวกแล้วก็ได้ธรรม เมื่อได้ธรรมแล้วก็ให้มีครูบาอาจารย์เทศน์ให้ฟัง คอยแนะนำตรงที่เราเข้าใจผิด เพราะที่เราเข้าใจผิดนั่นเหมือนกับเราเข้าใจถูกนี่เอง ตรงที่เราเข้าใจผิดแต่นึกว่าถูกถ้าได้ท่านมาพูดให้ฟังจึงเข้าใจว่าผิด ที่ท่านว่าผิดก็ตรงที่เรานึกว่าถูกนั่นแหละอันนี้มันซ้อนความคิดของเราอยู่

เรียนตามแบบรบนอกแบบ

ตามที่ได้ทราบข่าวมีพระนักปริยัติบางรูปท่านค้นคว้าตามตำราเพราะได้เรียนมามาก อาตมาว่าทดลองดูเถอะการกางแบบกางตำราทำนี่ถึงเวลาเรียนๆ ตามแบบแต่เวลารบๆ นอกแบบ ไปรบตามแบบมันสู้ข้าศึกไม่ไหว ถ้าเอากันจริงจังแล้วต้องรบนอกแบบเรื่องมันเป็นอย่างนั้น ตำรานั้นท่านทำไว้พอเป็นตัวอย่างเท่านั้น บางทีอาจทำให้เสียสติก็ได้เพราะพูดไปตามสัญญา สังขาร ท่านไม่เข้าใจว่าสังขารมันปรุงแต่งทั้งนั้น เดี๋ยวนี้ลงไปพื้นบาดาลโน่นไปพบปะพญานาคเวลาขึ้นมาก็พูดกับพญานาคพูดภาษาพญานาค พวกเราไปฟังมันไม่ใช่ภาษาพวกเรา มันก็เป็นบ้าเท่านั้นเอง

ครูบาอาจารย์ท่านไม่ให้ทำอย่างนั้น เรานึกว่าจะดิบจะดีมันไม่ใช่อย่างนั้น ที่ท่านพาทำนี้มีแต่ส่วนละส่วนถอนเรื่องทิฐิมานะเรื่องเนื้อเรื่องตัวทั้งนั้น อาตมาว่าการปฏิบัตินี้ก็ยากอยู่ ถึงอย่างไรก็อย่าทิ้งครูทิ้งอาจารย์ เรื่องจิตเรื่องสมาธินี่หลงมากจริงๆ เพราะสิ่งที่ไม่ควรจะเป็นไปได้แต่มันเป็นขึ้นมาได้ เราจะว่าอย่างไรอาตมาก็ระวังตัวเองเสมอ

ตัดปัญหาอย่าคาดหวังหรือกะเกณฑ์

เมื่อคราวออกปฏิบัติในระยะ ๒-๓ พรรษาแรกยังเชื่อตัวเองไม่ได้ แต่พอได้ผ่านไปมากแล้วเชื่อวาระจิตตัวเองแล้วไม่เป็นอะไรหรอก ถึงจะมีปรากฏการณ์อย่างไรก็ให้มันเป็นมา ถ้ารู้เรื่องอย่างนี้สิ่งเหล่านี้ก็ระงับไป มีแต่เรื่องจะพิจารณาต่อไปก็สบาย ท่านมหายังไม่ได้ทำดู เคยนั่งสมาธิแล้วใช่ไหม การนั่งสมาธินี่สิ่งที่ไม่น่าผิดก็ผิดได้ เช่นเวลานั่งเราตั้งใจว่า "เอาละจะเอาให้มันแน่ๆ ดูที" เปล่า! วันนั้นไม่ได้เรื่องเลยแต่คนเราชอบทำอย่างนั้น อาตมาเคยสังเกตมันเป็นของมันเอง เช่นบางคืนพอเริ่มนั่งก็นึกว่า "เอาละวันนี้อย่างน้อยตีหนึ่งจึงจะลุก" คิดอย่างนี้ก็บาปแล้วเพราะว่าไม่นานหรอกเวทนามันรุมเอาเกือบตาย มันดีเวลานั่งโดยไม่ต้องกะเกณฑ์ ไม่มีที่จุดที่หมายทุ่มหนึ่งสองทุ่มสามทุ่มก็ช่างมันนั่งไปเรื่อยๆ วางเฉยไว้อย่าบังคับมัน อย่าไปหมายมั่น อย่าไปบังคับหัวใจว่าจะเอาให้มันแน่ๆ มันก็ยิ่งไม่แน่

ให้เราวางใจสบายๆ หายใจก็ให้พอดีอย่าเอาสั้นเอายาว อย่าไปแต่งมัน กายก็ให้สบายทำเรื่อยไป มันจะถามเราว่าจะเอากี่ทุ่มจะเอานานเท่าไร มันมาถามเรื่อยหรอก เราต้องตวาดมันว่า "เฮ้ยอย่ามายุ่ง" ต้องปราบมันไว้เสมอเพราะพวกนี้มีแต่กิเลสมากวนทั้งนั้น อย่าเอาใจใส่มัน เราต้องพูดว่า "กูอยากพักเร็วพักช้าไม่ผิดกระบาลใครหรอก กูอยากนั่งอยู่ตลอดคืนมันจะผิดใคร จะมากวนกูทำไม" ต้องตัดมันไว้อย่างนี้แล้วเราก็นั่งเรื่อยไปตามเรื่องของเรา วางใจสบายก็เลยสงบเป็นเหตุให้เข้าใจว่าอำนาจอุปาทานความยึดหมายนี้สำคัญมากจริงๆ เมื่อเรานั่งไปๆ นานแสนนานเลยเที่ยงคืนค่อนคืนไปก็เลยนั่งสบาย มันก็ถูกวิธีจึงรู้ว่าความยึดมั่นถือมั่นเป็นกิเลสจริงๆ เพราะวางจิตไม่ถูก

บางคนนั้นเวลานั่งจุดธูปไว้ข้างหน้าคิดว่า "ธูปดอกนี้ไหม้หมดจึงจะหยุด" แล้วนั่งต่อไปพอนั่งไปได้ ๕ นาทีดูเหมือนนานตั้งชั่วโมงลืมตามองดูธูปแหมยังยาวเหลือเกินหลับตานั่งต่อไปอีกแล้วก็ลืมตาดูธูปไม่ได้เรื่องอะไรเลย อย่าอย่าไปทำมันเหมือนกับลิง จิตเลยไม่ต้องทำอะไรนึกถึงแต่ธูปที่ปักไว้ข้างหน้าว่าจวนจะไหม้หมดหรือยังหนอ นี่มันเป็นอย่างนี้เราอย่าไปหมาย

ถ้าเราทำภาวนาอย่าให้กิเลสตัณหามันรู้เงื่อนรู้ปลายได้ "ท่านจะเอาอย่างไร" มันมาถามเรา "จะเอาขนาดไหนจะเอาประมาณเท่าไรดึกเท่าไร" มันมาทำให้เราตกลงกับมันถ้าเราไปว่าจะเอาสักสองยามมันจะเล่นงานเราทันทีนั่งไปยังไม่ถึงชั่วโมง ต้องร้อนรนออกจากสมาธิแล้ว ก็เกิดนิวรณ์ว่า "แหมมันจะตายหรือยังกันนาว่าจะเอาให้มันแน่มันก็ไม่แน่นอน ตั้งสัจจะไว้ก็ไม่ได้ดั่งตั้ง" คิดทุกข์ใส่ตัวเองด่าตัวเองพยาบาทตัวเอง ไม่มีคนพยาบาทก็เป็นทุกข์อีกนั่นแหละ ถ้าได้อธิษฐานแล้วต้องเอาให้มันรอดตายหรือตายโน่นอย่าไปหยุดมันจึงจะถูก เราค่อยทำค่อยไปเสียก่อนไม่ต้องอธิษฐาน พยายามฝึกหัดไป บางครั้งจิตสงบความเจ็บปวดทางร่างกายก็หยุด เรื่องปวดแข้งปวดขามันหายไปเอง

หมั่นพิจารณาเสมอๆอย่าเผลอใจ

การปฏิบัติอีกแบบหนึ่งนั้นเห็นอะไรก็ให้พิจารณา ทำอะไรก็ให้พิจารณาทุกอย่าง อย่าทิ้งเรื่องภาวนา บางคนพอออกจากทำความเพียรแล้วคิดว่าตัวหยุดแล้วพักแล้วจึงหยุดกำหนดหยุดพิจารณาเสีย เราอย่าเอาอย่างนั้น เห็นอะไรให้พิจารณาเห็นคนดีคนชั่ว คนใหญ่คนโต คนร่ำคนรวย คนยากคนจน เห็นคนเฒ่าคนแก่ เห็นเด็กเห็นเล็ก เห็นคนน้อยคนหนุ่ม ให้พิจารณาไปทุกอย่างนี่เรื่องภาวนาของเรา

การพิจารณาเข้าหาธรรมะนั้น ให้เราพิจารณาดูอาการเหตุผลต่างๆ นานามันน้อยใหญ่ดำขาวดีชั่ว อารมณ์ทุกอย่างนั่นแหละถ้าคิดเรียกว่ามันคิด แล้วพิจารณาว่ามันก็เท่านั้นแหละ สิ่งเหล่านี้ตกอยู่ในอนิจจังทุกขังอนัตตา อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลย นี่แหละป่าช้าของมันทิ้งมันใส่ลงตรงนี้จึงเป็นความจริง

เรื่องการเห็นอนิจจังเป็นต้นนี้คือ เรื่องไม่ให้เราทุกข์เป็นเรื่องพิจารณา เช่นเราได้ของดีมาก็ดีใจ ให้พิจารณาความดีเอาไว้ บางทีใช้ไปนานๆ เกิดไม่ชอบ มันก็มีอยากเอาให้คนหรืออยากให้คนมาซื้อเอาไป ถ้าไม่มีใครมาซื้อก็อยากจะทิ้งไปเพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนี้ มันเป็นอนิจจังมันจึงเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ขายไม่ได้ทิ้งก็เกิดทุกข์ขึ้นมา เรื่องนี้มันเป็นอย่างนี้เอง พอรู้จักเรื่องเดียวเท่านั้นจะมีอีกกี่เรื่องก็ช่างเป็นอย่างนี้หมด เรียกว่าเห็นอันเดียวก็เห็นหมด

บางทีรูปนี้หรือเสียงนี้ไม่ชอบไม่น่าฟัง ไม่พอใจก็ให้พิจารณาจำไว้ ต่อไปเราอาจจะชอบอาจจะพอใจในของที่ไม่ชอบเมื่อก่อนนี้ก็มี มันเป็นได้เมื่อนึกรู้ชัดว่า "อ้อสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา" ทิ้งลงใส่นี่แหละ ก็เลยไม่เกิดความยึดมั่นในสิ่งที่ได้ดีมีเป็นต่างๆ เห็นเป็นอย่างเดียวกัน ให้เป็นธรรมะเกิดขึ้นเท่านั้น เรื่องที่พูดมานี้พูดให้ฟังเฉยๆ เมื่อมาหาก็พูดให้ฟังเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องพูดมากอะไร ลงมือทำเลยเช่นเรียกกันถามกันชวนกันไปว่าไปไหมไปไปก็ไปเลยพอดีพอดี

นิมิตเป็นของหลอกลวง

เมื่อลงนั่งสมาธิ ถ้าเกิดนิมิตต่างๆ เช่นเห็นนางฟ้าเป็นต้น เมื่อเห็นอย่างนั้นให้เราดูเสียก่อนว่าจิตเป็นอย่างไร อย่าทิ้งหลักนี้ จิตต้องสงบจึงเป็นอย่างนั้น นิมิตที่เกิดขึ้นอย่าอยากให้มันเกิด อย่าไม่อยากให้มันเกิด มันมาก็พิจารณาพิจารณาแล้วอย่าหลง ให้นึกว่ามันไม่ใช่ของเรานี่ก็เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเช่นกัน ถึงมันจะเป็นอยู่ก็อย่าเอาใจใส่มัน เมื่อมันยังไม่หายตั้งจิตใหม่กำหนดลมหายใจมากๆ สูดลมเข้ายาวๆ หายใจออกยาวๆ อย่างน้อย ๓ ครั้งก็ตัดได้ตั้งกำหนดใหม่เรื่อยไป

สิ่งเหล่านี้อย่าว่าเป็นของเรา สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงนิมิต คือของหลอกลวงให้เราชอบให้เรารักให้เรากลัว นิมิตเป็นของหลอกลวง ใจเรามันไม่แน่นอน ถ้าเห็นแล้วอย่าไปหมายมันไม่ใช่ของเรา อย่าวิ่งตามนิมิต เห็นนิมิตให้ย้อนดูจิตเลยอย่าทิ้งหลักเดิม ถ้าทิ้งตรงนี้ไปวิ่งตามมันอาจพูดลืมตัวเองเป็นบ้าไปได้ไม่กลับมา พูดกับเราเพราะหนีจากคอกแล้วให้เชื่อตัวเองแน่นอน เห็นอะไรมาก็ตามถ้านิมิตเกิดขึ้นมาดูจิตตัวเองจิตต้องสงบมันจึงเป็น

ถ้าเป็นมาให้เข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้มิใช่ของเรา นิมิตนี้ให้ประโยชน์แก่คนมีปัญญา ให้โทษแก่คนไม่มีปัญญา ทำความเพียรไปจนเราไม่ตื่นเต้นในนิมิต มันอยากเกิดก็เกิด ไม่เกิดก็ไม่เกิด ไม่กลัวมันเชื่อใจได้อย่างนี้ไม่เป็นไร ทีแรกเราตื่นของน่าดูมันก็อยากดู ความดีใจเกิดขึ้นมาอย่างนี้ก็หลงไม่อยากให้มันดีมันก็ดี ไม่รู้จะทำอย่างไรปฏิบัติไม่ถูกก็เป็นทุกข์ มันอยากดีใจก็ช่างมันให้เรารู้ความดีใจนั่นเองว่าความดีใจนี้ก็ผิดไม่แน่นอน เช่นกันแก้มันอย่างนี้อย่าไปแก้ว่า "ไม่อยากให้มันดีใจทำไมจึงดีใจ" นี่ผิดอยู่นะผิดอยู่กับของเหล่านี้ ผิดอยู่ใกล้ๆ ไม่ได้ผิดอยู่ไกลหรอก อย่ากลัวนิมิตไม่ต้องกลัว เรื่องภาวนานี้พอพูดให้ฟังได้เพราะเคยทำมา ไม่รู้ว่าจะถูกหรือไม่นะให้เอาไปพิจารณาเอาเองเอ้าพอสมควรละนะ.



ข้อมูลได้จาก ; //www.dhammajak.net/book-cha/9.html


Create Date : 23 ตุลาคม 2554
Last Update : 23 ตุลาคม 2554 15:26:32 น. 0 comments
Counter : 1020 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.