รูปบล็อคนอก
Photobucket - Video and Image Hosting
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2554
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
23 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
กุญแจภาวนา 1 พระธรรมเทศนา หลวงพ่อชา สุภัทโท

หลวงพ่อชา สุภัทโท



หลวงพ่อชา สุภัทโท(พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๙๒)
กุญแจภาวนา
โดย หลวงพ่อชา สุภัทโท



หัวข้อ



การคึกษาธรรมะในทางพระพุทธศาสนานั้น เราศึกษาไปเพื่อหาทางพ้นทุกข๋เพื่อความสงบสุขเป็นจุดสาคัญ จะศึกษาเรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องจิต เรื่องเจตสิกก็ ตาม ก็เพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์เท่านั้น จึงจะถูกทาง มิใช่เพื่ออย่างอื่น เพราะทุกข์มันมีที่เกิด และมีที่ของมันอยู่แล้ว

ฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ ถ้าเราเข้าใจเสียว่า มันจะเป็นจิตห็ช่างมันเถอะ เมื่อมันนิ่งอยู่อย่างนี้ ก็เป็นปกติของมัน มันจะเกิดยินร้ายก็เป็นสังขาร มันอยากจะไปโน่นไปนี่ก็เป็นสังขาร ถ้าไม่รู้เท่าสังขารก็วิ่งตามมันไปเป็นไปตามมัน เมื่อจิตเคลื่อนเมื่อใดก็เป็นสมมติสังขาร เมื่อนั้นท่านจึงให้พิจารณาสังขารคือ จิตมันเคลื่อนไหวนั่นเอง

เมื่อมันเคลื่อนออกไปก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ท่านให้พิจารณาอันนี้ ท่านจึงให้รับทราบสิ่งเหล่านี้ไว้ ให้พิจารณาสังขารเหล่านี้ ปฏิจจสมุปบาทธรรมก็เหมือนกัน อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ฯลฯ เราเคยเล่าเรียนมาศึกษามาก็เป็นจริง คือท่านแยกเป็นส่วนๆ ไป เพื่อให้นักศึกษารู้ แต่เมื่อมันเกิดมาจริงๆแล้ว ท่านมหานับไม่ทันหรอ

รู้จากปริยัติต่างกับรู้จากปฏิบัติ

อุปมาเหมือนเราตกจากยอดไม้ ก็ตุ๊บถึงดินโน่น ไม่รู้ว่ามันผ่านกิ่งไหนบ้าง จิตเมื่อถูกอารมณ์ปุ๊บขึ้นมา ถ้าชอบใจก็ถึงดีโน่น อันที่ติดต่อกันเราไม่รู้มัน ไปตามที่ปริยัติรู้นั่นเอง แต่มันก็ไปนอกปริยัติด้วย มันไม่บอกว่าตรงนี้เป็นอวิชชา ตรงนี้เป็นสังขาร ตรงนี้เป็นวิญญา ณตรงนี้เป็นนามรูป มันไม่ได้ให้ท่านมหาอ่านอย่างนั้นหรอก เหมือนกับการตกจากต้นไม้ ท่านพูดถึงขณะจิตอย่างเต็มที่ของมันจริงๆ อาตมาจึงมีหลักเทียบว่า เหมือนกับการตกจากต้นไม้ เมื่อมันพลาดจากต้นไม้ไปปุ๊บ มิได้คณนาว่ามันกี่นิ้วกี่ฟุต เห็นแต่มันตูมถึงดินเจ็บแล้ว

ทางนี้ก็เหมือนกัน เมื่อมันเป็นขึ้นมาเห็นแต่ทุกข์โสกะปริเทวะทุกข์โน่นเลย มันเกิดมาจากไหนมันไม่ได้อ่านหรอก มันไม่มีปริยัติที่ท่านเอาสิ่งละเอียดนี่ขึ้นมาพูด แต่ก็ผ่านไปทางเส้นเดียวกัน แต่นักปริยัติเอาไม่ทัน

ฉะนั้น ท่านจึงให้ยืนตัวว่าอะไรที่เกิดขึ้นมาจากผู้รู้อันนี้ เมื่อผู้รู้รู้ตามความเป็นจริงของจิต หรือเจตสิกเหล่านี้ จิตก็ไม่ใช่เรา สิ่งเหล่านี้มีแต่ของทิ้งทั้งหมด ไม่ควรเข้าไปยึดไปหมายมั่นทั้งนั้น

เรียนรู้เรื่องจิตเพื่อปล่อยวาง

สิ่งที่เรียกว่าจิตหรือเจตสิกนี้ พระศาสดามิใช่ให้เรียนเพื่อให้ติด ท่านให้รู้ว่าจิตหรือเจตสิกเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาเท่านั้น มีแต่ท่านให้ปล่อยให้วางมัน เมื่อเกิดมาก็รับรู้ไว้รับทราบไว้ ตัวจิตนี่เองมันถูกอบรมมาแล้ว ถูกให้พลิกออกจากตัวนี้ เกิดเป็นสังขารปรุงไปมันก็เลยมาปรุงแต่งเรื่อยไป ทั้งดีทั้งชั่วทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดเป็นไป สิ่งทั้งหลายเหล่านี้พระศาสดาให้ละ แต่ต้องเรียนรู้อย่างนี้เสียก่อนจึงจะละได้ ตัวนี้เป็นตัวธรรมชาติอยู่อย่างนี้ จิตก็เป็นอย่างนี้ เจตสิกก็เป็นอย่างนี้

อย่างมรรค ปัญญาอันเห็นชอบเห็นชอบแล้ว ก็ดำริชอบ เจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ เหล่านี้เป็นเรื่องของเจตสิกทั้งนั้น ออกจากผู้รู้นั่นเอง เหมือนกับตะเกียงเป็นตัวผู้รู้ ถ้ารู้ชอบดำริชอบอย่างอื่นก็ชอบไปด้วย เหมือนกับแสงสว่างของตะเกียงมัน จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน มันเกิดจากผู้รู้ อันนี้ถ้าจิตนี้ไม่มีผู้รู้ก็ไม่มีเช่นกัน มันคืออาการของพวกนี้

ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้รวมแล้วเป็นนามหมด ท่านว่าจิตนี้ก็ชื่อว่าจิต มิใช่สัตว์มิใช่บุคคลมิใช่ตัวมิใช่ตนมิใช่เรามิใช่เขา ธรรมนี้ก็สักว่าธรรมมิใช่ตัวตนเราเขาไม่เป็นอะไร ท่านให้เอาที่ไหน เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นขันธ์ห้า ท่านให้วาง

สมถะและวิปัสสนาอยู่ด้วยกัน

ฉะนั้นภาวนาก็เหมือนกับไม้ท่อนเดียว วิปัสสนาอยู่ปลายท่อนทางนี้ สมถะอยู่ปลายท่อนทางนั้น ถ้าเรายกไม้ท่อนนี้ขึ้นปลายท่อนไม้จะขึ้นข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ถ้ายกไม้ท่อนนี้ขึ้นปลายทั้งสองก็จะขึ้นด้วย อะไรจะเป็นตัววิปัสสนา อะไรจะเป็นตัวสมถะ ก็ตัวจิตนี่เอง และเมื่อจิตสงบแล้วความสงบเบื้องแรกสงบด้วยสมถะ คือสมาธิธรรมทำให้จิตเป็นสมาธิ มันก็สงบถ้าความสงบหายไปก็เกิดทุกข์ ทำไมอาการนี้จึงให้เกิดทุกข์ เพราะความสงบของสมถะเป็นตัวสมุทัย แน่นอนมันจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อมีความสงบแล้วยังไม่จบ พระศาสดามองเห็นแล้วว่าไม่จบ ภพยังไม่สิ้น ชาติยังมีอยู่ พรหมจรรย์ไม่จบ มันไม่จบเพราะอะไร เพราะมันยังมีทุกข์อยู่ ท่านจึงเอาตัวสมถะตัวสงบนี่พิจารณาต่อไปอีก ค้นหาเหตุผลจนกระทั่งท่านไม่ติดในความสงบ ความสงบก็เป็นสังขารอันหนึ่ง ก็เป็นสมมติ เป็นบัญญัติอีก ติดอยู่นี่ก็ติดสมมติ ติดบัญญัติ เมื่อติดสมมติติดบัญญัติก็ติดภพติดชาติ ภพชาติก็คือความดีใจในความสงบนี่แหละ เมื่อหายความฟุ้งซ่านก็ติดความสงบก็เป็นภพอีก เกิดอยู่อย่างนี้ ภพชาติเกิดขึ้นมาทำไมพระพุทธเจ้าจะไม่รู้

ขันธ์ห้าหรือความสงบล้วนยึดติดไม่ได้

ท่านจึงพิจารณาภพชาติเกิดเพราะอะไร เมื่อยังไม่รู้เท่าสิ่งเหล่านี้ตามความเป็นจริง ท่านให้ยกเอาเรื่องจิตสงบนี้ขึ้นมาพิจารณาเข้าไปอีก สังขารที่เกิดขึ้นมาสงบหรือไม่สงบพิจารณาเรื่อยไป จนได้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เหมือนก้อนเหล็กแดง ขันธ์ห้าเหมือนกับก้อนเหล็กแดง เมื่อมันแดงรอบแล้วไปจบตรงไหนมันจึงจะเย็นได้ มีที่เย็นไหมเอามือแตะข้างบนดูซิข้างล่างดูซิแตะข้างโน่นข้างนี้ดูซิ ตรงไหนที่มันจะเย็น เย็นไม่ได้เพราะก้อนเหล็กมันแดงโร่ไปหมด ขันธ์ห้านี้ก็ฉันนั้น ความสงบไปติดไม่ได้จะว่าความสงบเป็นเรา จะว่าเราเป็นความสงบไม่ได้ ถ้าเข้าใจว่าความสงบเป็นเราเข้าใจว่าเราเป็นความสงบก็เป็นก้อนอัตตาอยู่นี่เอง ก้อนอัตตาก็เป็นตัวสมมุติอยู่ จะนึกว่าเราสงบ เราฟุ้งซ่าน เราดี เราชั่ว เราสุข เราทุกข์ อันนี้ก็เป็นภพเป็นชาติอยู่อีก เป็นทุกข์อีก ถ้าสุขหายไปก็กลายเป็นทุกข์ ถ้าความทุกข์หายไปก็เป็นสุข ก็ต้องเวียนไปนรกไปสวรรค์อยู่ไม่หยุดยั้ง

พระศาสดาเห็นอาการจิตของท่านเป็นอย่างนี้นี่แหละ ท่านว่าภพยังอยู่ ชาติยังอยู่ พรหมจรรย์ยังไม่จบ ท่านจึงยกสังขารขึ้นพิจารณาตามธรรมชาติเพราะมีปัจจัยอยู่นี่ จึงมีเกิดอยู่นี่ตายอยู่นี่มีอาการที่เคลื่อนไหวไปมาอยู่นี่ ท่านจึงยกสิ่งนี้พิจารณาไปให้รู้เท่าตามเป็นจริงของขันธ์ห้า ทั้งรูปทั้งนามสิ่งทั้งหลายที่จิตคิดไปทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นสังขารทั้งหมด เมื่อรู้แล้วท่านให้วาง เมื่อรู้แล้วท่านให้ละ ให้รู้สิ่งเหล่านี้ตามเป็นจริง ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงก็ทุกข์ ก็ไม่วางสิ่งเหล่านี้ได้ เมื่อรู้ตามความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้ก็เป็นของหลอกลวง สมกับที่พระศาสดาตรัสว่าจิตนี้ไม่มีอะไร ไม่เกิดตามใคร ไม่ตายกับใคร จิตเป็นเสรีรุ่งโรจน์โชติการ ไม่มีเรื่องราวต่างๆ เข้าไปอยู่ในที่นั้น ที่จะมีเรื่องราวก็เพราะมันหลงสังขารนี่เองหลงอัตตานี่เอง

พระศาสดาจึงให้มองดูจิตของเรา เบื้องแรกมันมีอะไรไม่มีอะไรจริงๆ สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดด้วย มิได้ตายด้วย ถูกอารมณ์ดีมากระทบก็มิได้ดีด้วย ถูกอารมณ์ร้ายมากระทบก็มิได้ร้ายไปด้วย เพราะรู้ตัวของตัวอย่างชัดเจน แล้วรู้ว่าสภาวะเหล่านั้นไม่เป็นแก่นสาร ท่านเห็นเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา ท่านให้รอบรู้ของท่านอยู่อย่างนั้น

ไม่ดีใจไม่เสียใจคือไม่เกิดไม่ตาย

ตัวผู้รู้นี้รู้ตามความเป็นจริง ผู้รู้มิได้ดีใจไปด้วยมิได้เสียใจไปด้วย อาการที่ดีใจไปด้วยนั่นแหละเกิดอาการที่เสียใจไปด้วยนั่นแหละ ตายถ้ามันตายก็เกิด ถ้ามันเกิดก็ตาย ตัวที่เกิดตัวที่ตายนั่นแหละเป็นวัฏฏะเวียนว่ายตายเกิดอยู่ไม่หยุด

เมื่อจิตผู้ปฏิบัติเป็นอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องสงสัยภพมีไหมชาติมีไหม ไม่ต้องถามใคร พระศาสดาพิจารณาอาการสังขารเหล่านี้แล้ว จึงได้ปล่อยวางสังขาร วางขันธ์ห้าเหล่านี้เป็นเพียงผู้รับทราบไว้เฉยๆ มันจะดีขึ้นมาท่านก็ไม่ดีกับมัน เป็นคนดูอยู่เฉยๆ ถ้ามันร้ายขึ้นมาท่านก็ไม่ร้ายกับมัน ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะมันขาดจากปัจจัยแล้วรู้ตามความเป็นจริง ปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เกิดไม่มีตัวนี้ก็เป็นผู้รู้ยืนตัวตัวนี้แหละ เป็นตัวสงบตัวนี้เป็นตัวไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายตัวนี้ มิใช่เหตุมิใช่ผล ไม่อาศัยเหตุไม่อาศัยผลไม่อาศัยปัจจัยหมดปัจจัยสิ้น ปัจจัยนอกเหนือเกิดตาย นอกสุขเหนือทุกข์ นอกดีเหนือชั่ว หมดเรื่องจะพูดไม่มีปัจจัยส่งเสริมแล้ว เรื่องที่เราจะพูดว่าจะติดในสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจิตหรือเจตสิก

ฉะนั้นเรื่องจิตหรือเรื่องเจตสิกนี้ก็เป็นเรื่องมีจริงอยู่เป็นจริงอย่างนั้น แต่พระศาสดาเห็นว่ารู้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้ารู้แล้วเชื่อสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรหาความสงบไม่ได้ รู้แล้วท่านให้วางให้ละให้เลิกเพราะจิตเจตสิกนี่เองนำความผิดมาให้เรา นำความถูกมาให้เรา ถ้าเราฉลาดก็นำความถูกมาให้ เราถ้าเราโง่ก็นำความผิดมาให้เรา เรื่องจิตหรือเจตสิกนี้มันเป็นโลก พระศาสดาก็เอาเรื่องของโลกมาดูโลกเมื่อรู้โลกได้แล้ว ท่านจึงว่าโลกวิทูผู้รู้แจ้งโลก เมื่อท่านมาดูสิ่งเหล่านี้จึงเป็นอย่างนี้

ปฏิบัติที่จิต

ฉะนั้น เรื่องสมถะหรือเรื่องวิปัสสนานี้ให้ทำให้เกิดในจิตเสีย ให้เกิดในจิตจริงๆ จึงจะรู้จัก ถ้าไปเรียนตามตำราว่าเจตสิกเป็นอย่างนั้นๆ จิตเป็นอย่างนั้นๆ ก็เรียนได้ แต่ว่าใช้ระงับความโลภความโกรธความหลงของเราไม่ได้ เพราะเรียนไปตามอาการของความโลภความโกรธความหลง ความโลภมีอาการอย่างนั้นๆ ความโกรธมีอาการอย่างนั้นๆ ความหลงมีอาการอย่างนั้นๆ ไปเล่าอาการของมันเท่านั้นก็รู้ไปตามอาการ พูดไปตามอาการ รู้อยู่ฉลาดอยู่แต่ว่าเมื่อมันเกิดกับใจเราจะเป็นไปตามอาการหรือไม่ เมื่อถูกอารมณ์ที่ไม่ชอบใจมากระทบมันก็เกิดเป็นอาการขึ้นกับใจเรา เราติดมันไหม เราวางมันได้ไหม อาการที่ไม่ชอบใจนั้นเกิดขึ้นมาเรารู้แล้ว ผู้รู้เอาความไม่ชอบใจไว้ในใจหรือเปล่าหรือว่าเห็นแล้ววาง

ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ชอบใจแล้วยังเอาไว้ในใจของเราให้เรียนใหม่ เพราะยังผิดอยู่ ยังไม่ยิ่งถ้ามันยิ่งแล้วมันวางให้ดูอย่างนี้ ดูจิตของเราจริงๆ มันจึงจะเป็นปัจจัตตัง ถ้าจะพูดไปตามอาการของจิตอาการของเจตสิกว่ามีเท่านั้นดวงเท่านี้ดวง อาตมาว่ายังน้อยเกินไป มันยังมีมากถ้าเราจะไปเรียนสิ่งเหล่านี้ให้รู้แจ้งแทงตลอดหมดนั้น ไม่แจ้งมันจะหมดอย่างไรมันไม่หมดหรอกหมดไม่เป็น

ฉะนั้น เรื่องการปฏิบัตินี้จึงสำคัญมาก การปฏิบัติอาตมามิได้ปฏิบัติอย่างนั้น ไม่รู้ว่าจิตว่าเจตสิกอะไรหรอก ดูผู้รู้นี่แหละ ถ้ามันคิดชังท่านมหาทำไมจึงชัง ถ้ามันรักท่านมหาทำไมจึงรัก อย่างนี้แหละจะเป็นจิตหรือเจตสิกก็ไม่รู้ จี้เข้าตรงนี้จึงแก้เรื่องที่มันรักหรือชังนั่นให้หายออกจากใจได้ จะเป็นอะไรก็ตามถ้าทำจิตอาตมาให้หยุดรักหรือหยุดชังได้ จิตอาตมาก็พ้นจากทุกข์แล้ว จะเป็นอะไรก็ช่างมันสบายแล้ว ไม่มีอะไรมันก็หยุด เอาอย่างนี้จะพูดไปมากๆ ก็ช่างเขา มากก็ตามมากก็จะมาอยู่ตรงนี้ และมันไม่มากไปไหนมันมากออกจากตรงนี้ น้อยก็น้อยออกจากตรงนี้ เกิดก็เกิดออกจากนี่ ดับก็ดับอยู่นี่ มันจะไปไหน ท่านจึงให้นามว่าผู้รู้ อาการที่ผู้รู้รู้ตามความเป็นจริงถ้ารู้ตามความเป็นจริงแล้วมันก็รู้จิตหรือรู้เจตสิกนี่แหละ

จิตหรือเจตสิกนี้มันหลอกลวงไม่หยุดสักที เราก็ไปเรียนอาการที่มันหลอกลวงนั่นเอง ทั้งเรียนเรื่องมันหลอกลวง ทั้งถูกมันหลอกลวงเราอยู่นั่นเอง จะว่าอย่างไรกันทั้งๆ ที่รู้จักมันมันก็ลวง ทั้งๆ ที่รู้ มันเรื่องอย่างนี้คือ เรื่องเราไปรู้จักเพียงชื่อของมัน อาตมาว่าพระพุทธเจ้าไม่ประสงค์อย่างนั้น ทรงประสงค์ว่าทำอย่างไรจึงจะออกจากสิ่งเหล่านี้ได้ ท่านให้ค้นหาเหตุของสิ่งเหล่านี้ขึ้นไป ฉะนั้นอาตมาปฏิบัติโดยไม่รู้จักมาก รู้จักเพียงว่าศีลเป็นมรรค งามเบื้องต้นคือศีล งามท่ามกลางคือสมาธิ งามเบื้องปลายคือปัญญา สามอย่างนี้ดูไปดูมาก็เป็นอย่างเดียวเท่านั้น แต่ถ้าจะแยกออกเป็น๓อย่างก็ได้

ปัญญามาก่อนศีลสมาธิ

การรักษาศีลปัญญาต้องมาก่อน แต่เราพูดว่ารักษาศีลก่อนตั้งศีลก่อนศีลจะสมบูรณ์ อย่างไรนั้นจะต้องมีปัญญา ต้องค้นคิดกายของเรา วาจาของเราพิจารณาหาเหตุผล นี่ตัวปัญญาทั้งนั้น ก่อนที่จะตั้งศีลขึ้นได้ต้องอาศัยปัญญา

เมื่อพูดตามปริยัติก็ว่า ศีลสมาธิปัญญา อาตมาพิจารณาแล้วการปฏิบัตินี้ต้องปัญญามาก่อน มารู้เรื่องกายวาจาว่าโทษของมันเกิดขึ้นมาอย่างไร ปัญญานี้ต้องพิจารณาหาเหตุผลควบคุมกายวาจาจึงจะบริสุทธิ์ได้ ถ้ารู้จักอาการของกายวาจาที่สุจริตทุจริตแล้วก็เห็นที่ปฏิบัติ ถ้าเห็นที่จะปฏิบัติแล้วก็ละสิ่งที่ชั่ว ประพฤติสิ่งที่ดี ละสิ่งที่ผิดประพฤติ สิ่งที่ถูกเป็นศีลถ้ามันละผิดให้ถูกแล้วใจก็แน่วแน่เข้าไป อาการที่ใจแน่วแน่มั่นคงมิได้ลังเลสงสัยในกายวาจาของเรานี้เป็นสมาธิความตั้งใจมั่นแล้ว เมื่อตั้งใจมั่นแล้ว รูปเกิดขึ้นมา เสียงเกิดขึ้นมาพิจารณามันแล้ว นี่เป็นกำลังตอนที่สองเมื่อรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณหรือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์เกิดขึ้นมาบ่อยๆ ได้พิจารณาบ่อยๆ ด้วยอาการที่เราตั้งใจมิได้เผลอ จึงรู้อาการของสิ่งเหล่านี้ มันเกิดตามความเป็นจริงของมัน เมื่อรู้เรื่อยๆ ไปก็เกิดปัญญา เมื่อรู้ตามความเป็นจริงตามสภาวะของมัน สัญญาจะหลุดเลยกลายเป็นตัวปัญญา จึงเป็นศีลสมาธิปัญญาคงรวมเป็นอันเดียวกัน

ถ้าปัญญากล้าขึ้นก็อบรมสมาธิให้มั่นขึ้นไป เมื่อสมาธิมั่นขึ้นไปศีลก็มั่นก็สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เมื่อศีลสมบูรณ์ขึ้นสมาธิก็กล้าขึ้นอีก เมื่อสมาธิกล้าขึ้นปัญญาก็กล้ายิ่งขึ้น สามอย่างนี้เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน สมกับพระศาสดาตรัสว่ามรรคเป็นหนทาง เมื่อสามอย่างนี้กล้าขึ้นมาเป็นมรรค ศีลก็ยิ่งสมาธิก็ยิ่งปัญญาก็ยิ่งมรรคนี้จะฆ่ากิเลส โลภเกิดขึ้น โกรธเกิดขึ้น หลงเกิดขึ้น มีมรรคเท่านั้นที่จะเป็นผู้ฆ่าได้

มรรคกับศีลสมาธิปัญญา

ข้อปฏิบัติอริยสัจจ์คือ ที่ท่านว่าทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคนั้นคือศีลสมาธิปัญญา คือข้อปฏิบัติอยู่ในใจ คำว่าศีลสมาธิปัญญาที่เป็นอยู่นี้ที่นับมือให้ดูนี้มิใช่ว่ามันอยู่ที่มือ มันอยู่ที่จิตอย่างนั้นต่างหาก

ทั้งศีลทั้งสมาธิทั้งปัญญาเป็นอยู่อย่างนั้น มันหมุนอยู่ตลอดกาลตลอดเวลา อาศัยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ อะไรเกิดขึ้นมามรรคนี้จะครอบงำอยู่เสมอ ถ้ามรรคไม่กล้ากิเลสก็ครอบได้ ถ้ามรรคกล้ามรรคก็ฆ่ากิเลส ถ้ากิเลสกล้ามรรคอ่อน กิเลสก็ฆ่ามรรคฆ่าใจเรานี่เอง ถ้ารูปเวทนาสัญญาสังขารเกิดขึ้นมาในใจเรา ไม่รู้เท่ามันมันก็ฆ่าเรา มรรคกับกิเลสเดินเคียงกันไปอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติคือใจจำเป็นจะต้องเถียงกันไปอย่างนี้ตลอดทาง คล้ายมีคนสองคนเถียงกัน แท้จริงเป็นมรรคกับกิเลสเท่านั้นเองที่เถียงกันอยู่ในใจของเรา มรรคมาคุมเราให้พิจารณากล้าขึ้น เมื่อเราพิจารณาได้ กิเลสก็แพ้ เราเมื่อมันแข็งมาอีกถ้าเราอ่อนมรรคก็หายไป กิเลสเกิดขึ้นแทน ย่อมต่อสู้กันอยู่อย่างนี้จนกว่าจะมีฝ่ายชนะจึงจะจบเรื่องได้ ถ้าพยายามตรงมรรคมันก็ฆ่ากิเลสอยู่เรื่อยไป ผลที่สุดทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคก็อยู่ในใจอย่างนี้ นั่นแหละคือเราได้ปฏิบัติอริยสัจจ์

ทุกข์เกิดขึ้นมาด้วยวิธีใด ทุกข์ก็เกิดมาจากเหตุคือสมุทัยเป็นเหตุ"เหตุอะไร" เหตุคือศีลสมาธิปัญญานี้อ่อน มรรคก็อ่อน เมื่อมรรคอ่อนกิเลสก็เข้าครอบได้ เมื่อครอบได้ก็เป็นตัวสมุทัยทุกข์ ก็เกิดขึ้นมา ถ้าทุกข์เกิดขึ้นมาแล้วตัวที่จะดับสิ่งเหล่านี้ก็หายไป หมดอาการที่ทำมรรคให้เกิดขึ้นคือ ศีลสมาธิปัญญา เมื่อศีลยิ่งสมาธิยิ่งปัญญายิ่งนั่นก็คือมรรคเดินอยู่เสมอ มันจะทำลายตัวสมุทัยคือเหตุที่จะทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมาได้ ระหว่างที่ทุกข์เกิดไม่ได้เพราะมรรคฆ่ากิเลสอยู่นี้ ในระหว่างกลางนี้ตรงจิตที่ดับทุกข์ ทำไมจึงดับทุกข์ได้เพราะศีลสมาธิปัญญายิ่ง คือมรรคนี้ไม่หยุด อาตมาว่าปฏิบัติอย่างนี้ เรื่องจิตเรื่องเจตสิกไม่รู้ว่าไปอยู่ไหน มันมารวมอยู่นี่ ถ้าจิตพ้นสิ่งเหล่านี้ก็แน่แล้วมันจะไปทางไหนไม่ต้องไปไล่มันมาก

ต้นกะบกต้นนี้ใบเป็นอย่างไรหยิบมาดู ใบเดียวเท่านั้นก็เข้าใจได้แล้ว มันมีสักหมื่นใบก็ช่างมัน ใบกะบกเป็นอย่างนี้ ดูใบเดียวเท่านี้ใบอื่นก็เหมือนกันหมด ถ้าจะดูลำต้นกะบกต้นอื่นดูต้นเดียวก็จะรู้ได้หมด ดูต้นเดียวเท่านั้นต้นอื่นก็เหมือนกันอีกเช่นกัน ถึงมันจะมีแสนต้นก็ตาม อาตมาดูเข้าใจต้นเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว อาตมาคิดว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้

มรรคเป็นเหตุความสงบเป็นผล

ศีลก็ดีสมาธิก็ดีปัญญาก็ดีสิ่งทั้งสามประการนี้ท่านเรียกว่ามรรค อันมรรคนี้ยังมิใช่ศาสนา อีกซ้ำยังไม่ใช่สิ่งที่พระศาสดาต้องการอย่างแท้จริงเลย แต่ก็เป็นหนทางที่จะดำเนินเข้าไป เหมือนกับที่ท่านมหามาจากกรุงเทพฯ จะมาวัดหนองป่าพง ท่านมหาคงไม่ต้องการหนทาง ต้องการถึงวัดต่างหาก แต่หนทางเป็นสิ่งจำเป็นแก่ท่านมหาที่จะต้องมา ฉะนั้น ถนนที่ท่านมหามานั้นมันไม่ใช่วัด มันเป็นเพียงถนนมาวัดเท่านั้น แต่ก็จำเป็นต้องมาตามถนนจึงจะมาถึงวัดได้

ศีลก็ดีสมาธิก็ดีปัญญาก็ดี ถ้าจะพูดว่านอกศาสนาแต่ก็เป็นถนนเข้าไปถึงศาสนา เมื่อทำศีลให้ยิ่งสมาธิให้ยิ่งปัญญาให้ยิ่งแล้ว ผลคือความสงบเกิดขึ้นมา นั่นเป็นจุดที่ต้องการ เมื่อสงบแล้วถึงได้ยินเสียงก็ไม่มีอะไร เมื่อถึงความสงบอันนี้แล้วก็ไม่มีอะไรจะทำ ฉะนั้นพระศาสดาจึงให้ละ จะเป็นอะไรก็ไม่ต้องกังวลอันนี้เป็นปัจจัตตังแล้วจริงๆ มิได้เชื่อใครอีก หลักของพระพุทธศาสนาจึงมิได้มีอะไร ไม่มีฤทธิ์ไม่มีปาฏิหาริย์อย่างอื่นทั้งหลายทั้งปวง สิ่งเหล่านี้พระศาสดามิได้สรรเสริญแต่มันก็อาจทำได้เป็นได้ สิ่งเหล่านี้เป็นโมหธรรม พระศาสดาไม่สรรเสริญ ท่านสรรเสริญผู้ที่ทำให้พ้นจากทุกข์ได้เท่านั้น ซึ่งต้องอาศัยการปฏิบัติ อุปกรณ์เครื่องปฏิบัตินั้นได้แก่ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญาจะต้องฝึกหัดอย่างนี้

อันนี้คือทางดำเนินเข้าไป ก่อนจะถึงได้ต้องมีปัญญามาก่อน นี้เป็นมรรค มรรคมีองค์แปดประการรวมแล้วได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ากิเลสหุ้มขึ้นมาก็เกิดไม่ได้ ถ้ามรรคกล้าก็ฆ่ากิเลส ถ้ากิเลสกล้าก็ฆ่ามรรค สองอย่างเท่านี้ที่จะต่อสู้กันไปตลอดจนปลายทางทีเดียว รบกันไปเรื่อยไม่มีหยุดไม่มีสิ้นสุด

การปฏิบัติต้องอาศัยความอดทน

อุปกรณ์เครื่องปฏิบัติก็เป็นของลำบากอยู่ ต้องอาศัยความอดทนอดกลั้นต้องทำเองให้มันเกิดมาเองเป็นเอง

ละทิ้งความคิดทั้งหมด

นักปริยัติชอบสงสัยเช่นเวลานั่งสมาธิ ถ้าจิตสงบปั๊บเอมันเป็นปฐมฌานละกระมัง ชอบคิดอย่างนี้ พอนึกอย่างนี้จิตถอนเลยถอนหมดเลย เดี๋ยวก็นึกว่าเป็นทุติยฌานแล้วกระมัง อย่าเอามาคิด พวกนี้มันไม่มีป้ายบอก มันคนละอย่างไม่มีป้ายบอกว่า "นี่ทางเข้าวัดหนองป่าพง" มิได้อ่านอย่างนั้น มันไม่บอก มีแต่พวกเกจิอาจารย์มาเขียนไว้ว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานมาเขียนไว้ ทางนอกถ้าจิตเราเข้าไปสงบถึงนั้นแล้ว ไม่รู้จักหรอก รู้อยู่แต่ว่ามันไม่เหมือนปริยัติที่เราเรียน ถ้าผู้เรียนปริยัติแล้วชอบกำเข้าไปด้วย ชอบนั่งคอยสังเกตว่าเอเป็นอย่างไร มันเป็นปฐมฌานแล้วหรือยัง นี่มันถอนออกหมดแล้วไม่ได้ความ ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น เพราะมันอยาก พอตัณหาเกิดมันจะมีอะไรมันก็ถอนออกพร้อมกันนี่แหละ เราทั้งหลายต้องทิ้งความคิดความสงสัยให้หมด ให้เอาจิตกับกายวาจาล้วนๆ เข้าปฏิบัติดูอาการของจิต อย่าแบกคัมภีร์เข้าไปด้วย ไม่มีคัมภีร์ในนั้น ขืนแบกเข้าไปมันเสียหมดเพราะในคัมภีร์ไม่มีสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

ผู้ที่เรียนมากๆ รู้มากๆ จึงไม่ค่อยสำเร็จเพราะมาติดตรงนี้ ความจริงแล้วเรื่องจิตใจอย่าไปวัดออกมาทางนอก มันจะสงบก็ให้มันสงบไป ความสงบถึงที่สุดมันมีอยู่ ปริยัติของอาตมามันน้อย เคยเล่าให้มหาอมรฟัง เมื่อคราวปฏิบัติในพรรษาที่ ๓ นั้นมีความสงสัยอยู่ว่า สมาธิเป็นอย่างไรหนอ คิดหาไปนั่งสมาธิไป จิตยิ่งฟุ้งยิ่งคิดมาก เวลาไม่นั่งค่อยยังชั่ว แหมมันยากจริงๆ ถึงยากก็ทำไม่หยุด ทำอยู่อย่างนั้น ถ้าอยู่เฉยๆ แล้วสบาย เมื่อตั้งใจว่าจะทำให้จิตเป็นหนึ่งยิ่งเอาใหญ่มันยังไงกันทำไมจึงเป็นอย่างนี้

ต่อมาจึงคิดได้ว่ามันคงเหมือนลมหายใจเรานี้กระมัง ถ้าว่าจะตั้งให้หายใจน้อยหายใจใหญ่หรือให้มันพอดีดูมันยากมาก แต่เวลาเดินอยู่ไม่รู้ว่าหายใจเข้าออกตอนไหน ในเวลานั้นดูมันสบายแท้ จึงรู้เรื่องว่า อ้ออาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เวลาเราเดินไปตามปกติมิได้กำหนดลมหายใจ มีใครเคยเป็นทุกข์ถึงลมหายใจไหม? ไม่เคยมันสบายจริงๆ ถ้าจะไปนั่งตั้งใจเอาให้มันสงบ มันก็เลยเป็นอุปาทานยึดใส่ตั้งใส่ หายใจสั้นๆ ยาวๆ เลยไม่เป็นอันกำหนดจิต เกิดมีทุกข์ยิ่งกว่าเก่าเพราะอะไร? เพราะความตั้งใจของเรากลายเป็นอุปาทานเข้าไปยึดเลยไม่รู้เรื่อง มันลำบากเพราะเราเอาความอยากเข้าไปด้วย

สภาวธรรมเกิดเองเป็นเองพอดี

วันหนึ่งขณะที่เดินจงกรมอยู่เวลาประมาณห้าทุ่มกว่ารู้สึกแปลกๆ มันแปลกมาแต่ตอนกลางวันแล้ว รู้สึกว่าไม่คิดมากมีอาการสบายๆ เขามีงานอยู่ในหมู่บ้านไกลประมาณสิบเส้นจากที่พักซึ่งเป็นวัดป่า เมื่อเดินจงกรมเมื่อยแล้วเลยมานั่งที่กระท่อมมีฝาแถบตองบังอยู่ เวลานั่งรู้สึกว่าคู้ขาเข้าเกือบไม่ทันเอ๊ะจิตมันอยากสงบ มันเป็นเองของมัน พอนั่งจิตก็สงบจริงๆ รู้สึกตัวหนักแน่น เสียงเขาร้องรำอยู่ในบ้านมิใช่ว่าจะไม่ได้ยิน ยังได้ยินอยู่แต่จะทำให้ไม่ได้ยินก็ได้แปลกเหมือนกัน เมื่อไม่เอาใจใส่ก็เงียบไม่ได้ยิน จะให้ได้ยินก็ได้ไม่รู้สึกรำคาญภายในจิต เหมือนวัตถุสองอย่างตั้งอยู่ไม่ติดกัน ดูจิตกับอารมณ์ตั้งอยู่คนละส่วนเหมือนกระโถนกับกาน้ำ นี่ก็เลยเข้าใจว่าเรื่องจิตเป็นสมาธิ นี่ถ้าน้อมไปก็ได้ยินเสียง ถ้าว่างก็เงียบ ถ้ามันมีเสียงขึ้นก็ดูตัวผู้รู้ขาดกันคนละส่วน

จึงพิจารณาว่า "ถ้าไม่ใช่อย่างนี้มันจะใช่ตรงไหนอีก" มันเป็นอย่างนี้ไม่ติดกันเลย ได้พิจารณาอย่างนี้เรื่อยๆ จึงเข้าใจว่าอ้อ! อันนี้ก็สำคัญเหมือนกันเรียกว่าสันตติ คือความสืบต่อขาด มันเลยเป็นสันติ แต่ก่อนมันเป็นสันตติ ทีนี้เลยกลายเป็นสันติ ออกมาจึงนั่งทำความเพียรต่อไป จิตในขณะที่นั่งทำความเพียรคราวนั้นไม่ได้เอาใจใส่ในสิ่งอื่นเลย ถ้าเราจะหยุดความเพียรก็หยุดได้ตามสบาย เมื่อเราหยุดความเพียร เจ้าเกียจคร้านไหม เจ้าเหนื่อยไหม เจ้ารำคาญไหม เปล่า ไม่มี ตอบไม่ได้ ของเหล่านี้ไม่มีในจิตมีแต่ความพอดีหมดทุกอย่างในนั้น

ประสบการณ์การรู้ธรรม๓วาระ

ถ้าเราจะหยุดก็หยุดเอาเฉยๆ นี่แหละ ต่อมาจึงหยุดพักหยุดแต่การนั่งเท่านั้น ใจเหมือนเก่ายังไม่หยุด เลยดึงเอาหมอนลูกหนึ่งมาวางไว้ตั้งใจจะพักผ่อน เมื่อเอนกายลงจิตยังสงบอยู่อย่างเดิม พอศีรษะจะถึงหมอนมีอาการน้อมในใจ ไม่รู้มันน้อมไปไหนแต่มันน้อมเข้าไปน้อมเข้าไป คล้ายกับมีสายไฟอันหนึ่งไปถูกสวิตซ์ไฟเข้าไปดันกับสวิตซ์อันนั้น กายก็ระเบิดเสียงดังมาก ความรู้ที่มีอยู่นั้นละเอียดที่สุด พอมันผ่านตรงจุดนั้นก็หลุดเข้าไปข้างในโน้น ไปอยู่ข้างในจึงไม่มีอะไร แม้อะไรๆ ทั้งปวงก็ส่งเข้าไปไม่ได้ ส่งเข้าไปไม่ถึง ไม่มีอะไรเข้าไป ถึงหยุดอยู่ข้างในสักพักหนึ่งก็ถอยออกมา คำว่าถอยออกมานี้ไม่ใช่ว่าเราจะให้มันถอยออกมาหรอก เราเป็นเพียงผู้ดูเฉยๆ เราเป็นผู้รู้เท่านั้นอาการเหล่านี้เป็นออกมาๆ ก็มาถึงปกติจิตธรรมดา

เมื่อเป็นปกติดังเดิมแล้วคำถามก็มีขึ้นมาว่า "นี่มันอะไร?" คำตอบเกิดขึ้นว่า "สิ่งเหล่านี้ของเป็นเองไม่ต้องสงสัยมัน" พูดเท่านี้จิตก็ยอม เมื่อหยุดอยู่พักหนึ่งก็น้อมเข้าไปอีก เราไม่ได้น้อมมันน้อมเอง พอน้อมเข้าไปๆ ก็ไปถูกสวิตซ์ไฟดังเก่า ครั้งที่สองนี้ร่างกายแตกละเอียดหมด หลุดเข้าไปข้างในอีก เงียบยิ่งเก่งกว่าเก่า ไม่มีอะไรส่งเข้าไปถึง เข้าไปอยู่ตามปรารถนาของมันพอสมควรแล้วก็ถอยออกมา ตามสภาวะของมันในเวลานั้นมันเป็นอัตโนมัติ มิได้แต่งว่าจงเป็นอย่างนั้นจงเป็นอย่างนี้ จงออกอย่างนี้จงเข้าอย่างนั้นไม่มี เราเป็นเพียงผู้ทำความรู้ดูอยู่เฉยๆ มันก็ถอยออกมาถึงปกติ มิได้สงสัยแล้วก็นั่งพิจารณาน้อมเข้าไปอีก ครั้งที่สามนี้โลกแตกละเอียดหมดทั้งพื้นปฐพี แผ่นดินแผ่นหญ้าต้นไม้ภูเขาโลกเป็นอากาศธาตุหมด ไม่มีคนหมดไปเลยตอนสุดท้ายนี้ไม่มีอะไร

เมื่อเข้าไปอยู่ตามปรารถนาของมัน ไม่รู้ว่ามันอยู่อย่างไรดูยากพูดยาก ของสิ่งนี้ไม่มีอะไรจะมาเปรียบปานได้เลย นานที่สุดที่อยู่ในนั้น พอถึงกำหนดเวลาก็ถอนออกมา คำว่าถอนเราก็มิได้ถอนหรอกมันถอนของมันเอง เราเป็นผู้ดูเท่านั้นก็เลยออกมาเป็นปกติ สามขณะนี้ใครจะเรียกว่าอะไรใครรู้เราจะเรียกอะไรเล่า

พลิกโลกพลิกแผ่นดิน

ที่เล่ามานี้เรื่องจิตตามธรรมชาติทั้งนั้น อาตมามิได้กล่าวถึงจิตถึงเจตสิก ไม่ต้องอะไรทั้งนั้นมีศรัทธาทำเข้าไปจริงๆ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อถึงวาระที่เป็นอย่างนี้ออกมาแล้ว โลกนี้แผ่นดินนี้มันพลิกไปหมด ความรู้ความเห็นมันแปลกไปหมด ทุกสิ่งทุกอย่างในระยะนั้นถ้าคนอื่นเห็นอาจจะว่าเราเป็นบ้าจริงๆ ถ้าผู้ควบคุมสติไม่ดีอาจเป็นบ้าได้นะเพราะมันไม่เหมือนเก่าสักอย่างเลย เห็นคนในโลกไม่เหมือนเก่าแต่มันก็เป็นเราผู้เดียวเท่านั้นแปลกไปหมดทุกอย่าง ความนึกคิดทั้งหลายทั้งปวงนั้นเขาคิดไปทางโน้นแต่เราคิดไปทางนี้ เขาพูดมาทางนี้เราพูดไปทางโน้น เขาขึ้นทางโน้นเราลงทางนี้มันต่างกับมนุษย์ไปหมดมันก็เป็นของมันเรื่อยๆไป

ท่านมหาลองไปทำดูเถอะ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ไม่ต้องไปดูไกลอะไรหรอก ดูจิตของเราต่อๆ ไปมันอาจหาญที่สุดอาจหาญมากนี่คือเรื่องกำลังของจิต เรื่องกำลังของจิตมันเป็นได้ถึงขนาดนี้

ทางแยกของวิปัสสนากับอิทธิปาฏิหารย์

นี่เป็นเรื่องกำลังของสมาธิ ขณะนี้ยังเป็นกำลังของสมาธิอยู่ ถ้าเป็นสมาธิขั้นนี้มันสุดของมันแล้ว มันไม่สะกดมันไม่เป็น ขณะมันสุดแล้ว ถ้าจะทำวิปัสสนาที่นี่คล่องแล้วจะใช้ในทางอื่นก็ได้ ตั้งแต่บัดนี้ต่อไปจะใช้ฤทธิ์ใช้เดชใช้ปาฏิหาริย์ใช้อะไรๆ อาจใช้ได้ทั้งนั้น นักพรตทั้งหลายเอาไปใช้ ใช้ทำน้ำมนต์น้ำพร ใช้ทำตะกรุดคาถาได้หมดทั้งนั้น ถึงขั้นนี้แล้วมันไปของมัน ได้มันก็ดีไปอย่างนั้นแหละ ดีเหมือนกับเหล้าดีกินแล้วก็เมาดีไปอย่างนั้นใช้ไม่ได้

ตรงนี้เป็นที่แวะ พระศาสดาท่านแวะตรงนี้ นี่เป็นแท่นที่จะทำวิปัสสนาแล้วเอาไปพิจารณา ทีนี้สมาธิไม่ต้องเท่าไร ดูอาการภายนอกเลย ดูเหตุผลพิจารณาเรื่อยไป ถ้าเป็นอย่างนี้เราเอาความสงบนี้มาพิจารณารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมารมณ์ที่มากระทบอารมณ์ แม้จะดีจะชั่วสุขทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เหมือนกับคนขึ้นต้นมะม่วงแล้วเขย่าลูกหล่นลงมา เราอยู่ใต้ต้นมะม่วงคอยเก็บเอาลูกไหนเน่าเราไม่เอา เอาแต่ลูกที่ดีๆ ไม่เปลืองแรงเพราะไม่ได้ขึ้นต้นมะม่วงคอยเก็บอยู่ข้างล่างเท่านั้น

วิปัสสนาคือพิจารณาให้เกิดปัญญา

ข้อนี้หมายความว่าอย่างไร อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงเกิดมาแล้วเอาความรู้มาให้เราหมด มิได้ไปปรุงแต่งมัน ลาภยศ นินทา สรรเสริญ สุขทุกข์ มันมาเอง เรามีความสงบมีปัญญาสนุกเฟ้นสนุกเลือกเอา ใครจะว่าดีว่าชั่วว่าร้ายว่าโน่นว่านี่ สุขทุกข์ต่างๆ นานาเป็นต้นล้วนแต่เป็นกำไรของเราหมด เพราะมีคนขึ้นเขย่าให้มะม่วงหล่นลงมา เราก็สนุกเก็บเอาไม่กลัว จะกลัวทำไม มีคนขึ้นเขย่าลงมาให้เรา ลาภก็ดียศก็ดีสรรเสริญนินทาสุขทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เปรียบเหมือนมะม่วงหล่นลงมาหาเรา เราเอาความสงบมาพิจารณาเก็บเอา เรารู้จักแล้วลูกไหนดีลูกไหนเน่า เมื่อเริ่มพิจารณาสิ่งเหล่านี้อาการที่พิจารณาออกจากความสงบเหล่านี้แหละเรียกว่าปัญญาเป็นวิปัสสนา ไม่ได้แต่งมันหรอก วิปัสสนานี้ถ้ามีปัญญามันเป็นของมันเอง ไม่ต้องไปตั้งชื่อมัน ถ้ามันรู้แจ้งน้อยก็เรียกว่าวิปัสสนาน้อย ถ้ามันรู้อีกขนาดหนึ่งก็เรียกว่าวิปัสสนากลาง ถ้ามันรู้ตามความเป็นจริงก็เรียกว่าวิปัสสนาถึงที่สุด เรื่องวิปัสสนานี้อาตมาเรียกปัญญาการไปทำวิปัสสนาจะทำเอาเดี๋ยวนั้นๆ ทำได้ยาก มันต้องเดินมาจากความสงบ เรื่องมันเป็นเองทั้งหมดไม่ใช่เรื่องเราจะไปบังคับ

หน้าที่ของเราคือทำความเพียร

พระศาสดาจึงตรัสว่าเรื่องของเป็นเอง เมื่อเราทำไปถึงขั้นนี้แล้วเราก็ปล่อยตามบุญวาสนาบารมีของเรา แต่เราไม่หยุดทำความเพียร จะช้าหรือเร็วเราบังคับไม่ได้ เหมือนปลูกต้นไม้มันรู้จักของมัน มันอยากเร็วก็รู้ว่ามันหลง มันอยากช้าก็รู้ว่ามันหลง เมื่อทำแล้วจึงเกิดผลขึ้นมา เหมือนเราปลูกต้นไม้เช่นปลูกพริกต้นนี้ หน้าที่ของเราคือขุดหลุมปลูกให้น้ำให้ปุ๋ยรักษาแมลง ให้มันเท่านั้นนี่เรื่องของเรา นี่เรื่องศรัทธาของเรา ส่วนต้นพริกจะโตก็เป็นเรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา จะไปดึงให้มันยืดขึ้นมาก็ไม่ได้ผิด เรื่องเราต้องให้น้ำเอาปุ๋ยใส่ให้

ถ้าเราปฏิบัติอย่างนี้ก็จะสบายจะถึงชาตินี้ก็ช่างถึงชาติหน้าก็ตาม เรามีศรัทธาอย่างนี้แล้วมีความรู้สึกแน่นอนแล้ว อย่างนี้จะเร็วหรือช้านั้นเป็นเรื่องของบุญวาสนาบารมีของเรา ทีนี้ก็รู้สึกสบายเหมือนขับรถม้า ก็มิได้เอารถไปก่อนม้า แต่ก่อนมันเอารถไปก่อนม้า ถ้าไถนาก็เดินก่อนควายหมายความว่าใจมันเร็วมากร้อนมาก ทีนี้ไม่เป็นอย่างนั้นไม่เดินก่อนต้องเดินตามหลังควาย

ข้าเอาน้ำให้กินเอาปุ๋ยให้กินกินไปเถอะ มดปลวกมาข้าจะไล่ให้เจ้า เท่านั้นแหละต้นพริกต้นนี้มันก็จะงามขึ้นเอง เมื่อมันงามแล้วเราจะบังคับว่าแกต้องเป็นดอกเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรื่องของเรา อย่าทำเราจะเป็นทุกข์เปล่าๆ มันจะเป็นของมันเอง เมื่อมันเป็นดอกแล้วเราจะให้เป็นเม็ดเดี๋ยวนี้ อย่าไปบังคับมันทุกข์จริงนาทุกข์จริงๆ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เรารู้จักหน้าที่ของเราของเขาหน้าที่ของใครของมัน จิตก็จะรู้หน้าที่การงาน ถ้าจิตไม่รู้หน้าที่การงานก็จะไปบังคับต้นพริกให้มีผลในวันนั้นเอง ให้มันโตเป็นดอกเป็นผลขึ้นในวันนั้น นั่นล้วนแต่เป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นมาทั้งนั้น

ถ้ารู้อย่างนี้คิดอย่างนี้ รู้ว่ามันหลงมันผิดรู้อย่างนี้แล้วก็ปล่อยให้เป็นเรื่องบุญวาสนาบารมีต่อไป เราก็ทำของเราไปไม่ต้องกลัวว่าจะนานร้อยชาติพันชาติก็ช่างมัน จะชาติไหนก็ตามปฏิบัติสบายๆนี่แหละ

รู้ความจริงแล้วทำผิดไม่ได้

จิตถ้าตกกระแสแล้วไม่กลับ ความชั่วนิดหน่อยนั้นพ้นแล้ว โสดา*ท่านว่าจิตน้อมไปแล้ว ท่านจึงว่าพวกเหล่านี้จะมาสู่อบายอีกไม่ได้ มาตกนรกอีกไม่ได้จะตกได้อย่างไร จิตละบาปแล้วเห็นโทษในบาปแล้วจะให้ทำความชั่วทางกายวาจาอีกนั้นทำไม่ได้ เมื่อทำบาปไม่ได้ทำไมจึงจะไปสู่อบาย ทำไมจึงจะไปตกนรกได้ มันน้อมเข้าไปแล้ว เมื่อจิตน้อมเข้าไปมันก็รู้จักหน้าที่ รู้จักการงาน รู้จักปฏิปทา รู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา รู้จักกายของเรา รู้จักจิตของเรา รู้จักรูปเรานามเรา สิ่งที่ควรละวางก็ละไปวางไปเรื่อยๆไม่ต้องสงสัย

เห็นอสุภะในทุกคน

นี่เรื่องที่อาตมาได้ปฏิบัติมาไม่ใช่ว่าจะไปทำให้มันละเอียดหลายสิ่งหลายประการ เอาให้ละเอียดอยู่ในใจนี้ ถ้าเห็นรูปนี้ชอบรูปนี้เพราะอะไรก็เอารูปนี้มาพิจารณา ดูว่าเกสาคือผม โลมาคือขน นขาคือเล็บ ทันตาคือฟัน ตะโจคือหนัง พระพุทธเจ้าให้เอาพวกนี้มาพิจารณาย้ำเข้าไป แยกออกแจกออก เผามันออกลอกมันออก ทำอยู่อย่างนี้เอาอยู่อย่างนี้ จนมันไม่ไปไหน มองพวกเดียวกันเช่นพระเณรเวลาเดินบิณฑบาตเห็นพระเห็น คนต้องกำหนดให้เป็นร่างผีตายซากผีตายเดินไปก่อน เราเดินไปข้างหน้าเดินไปเปะๆ ปะๆ กำหนดมันเข้าทำความเพียรอยู่อย่างนั้น เจริญอยู่อย่างนั้นเห็นผู้หญิงรุ่นๆ นึกชอบขึ้นมาก็กำหนดให้เป็นผีเป็นเปรต เป็นของเน่าเหม็นไปหมด ทุกคนไม่ให้เข้าใกล้ ให้ในใจของเราเป็นอยู่อย่างนี้ ถึงอย่างไรมันก็ไม่อยู่หรอกเพราะมันเป็นของเปื่อยของเน่าให้เราเห็นแน่นอน

พิจารณาให้มันแน่ให้มันเป็นอยู่ในใจอย่างนี้แล้ว ไปทางไหนก็ไม่เสียให้ทำจริงๆ เห็นเมื่อใดก็เท่ากับมองเห็นซากศพเห็นผู้หญิงก็ซากศพเห็นผู้ชายก็ซากศพ ตัวเราเองก็เป็นซากศพด้วยเหมือนกันเลย มีแต่ของอย่างนี้ทั้งนั้นพยายามเจริญให้มาก บำเพ็ญให้อยู่ในใจนี้มากขึ้นอีก อาตมาว่ามันสนุกจริงๆ ถ้าเราทำแต่ถ้าไปมัวอ่านตำราอยู่มันยากต้องทำเอาจริงๆ ทำให้มีกรรมฐานในตัวเรา

อย่ามักง่ายข้ามขั้นตอน

การเรียนอภิธรรมนั่นก็ดีอยู่ แต่จะต้องไม่ติดตำรามุ่งเพื่อรู้ความจริงหาทางพ้นทุกข์จึงจะถูกทาง เช่นในปัจจุบันมีการสอนการเรียนวิปัสสนาแบบต่างๆ หลายๆ อาจารย์ อาตมาว่าวิปัสสนานี่มันทำไม่ได้ง่ายๆ จะไปทำเอาเลยไม่ได้ ถ้าไม่ดำเนินไปจากศีล ลองดูก็ได้เรื่องศีลเรื่องสิกขาบทบัญญัตินี่ ถ้ากายวาจาไม่เรียบร้อยแล้วไปไม่รอดเพราะเป็นการข้ามมรรค บางคนพูดว่าสมถะไม่ต้องไปทำข้ามไปวิปัสสนาเลย คนมักง่ายหรอกที่พูดเช่นนั้น เขาว่าศีลไม่ต้องเกี่ยว ก็การรักษาศีลนี้มันยากมิใช่เล่น ถ้าจะข้ามไปเลยมันก็สบายเท่านั้น อะไรที่ยากแล้วข้ามไปใครๆ ก็อยากข้าม

มีพระรูปหนึ่งบอกว่าเป็นนักปฏิบัติ เมื่อมาขออยู่กับอาตมาถามถึงระเบียบปฏิบัติ จึงอธิบายให้ฟังว่าเมื่อมาอยู่กับผมจะสะสมเงินทองและสิ่งของไม่ได้ ผมถือตามวินัย ท่านพูดว่าท่านปฏิบัติไม่ยึดไม่หมาย อาตมาบอกว่าผมไม่ทราบกับท่าน ท่านเลยถามว่าถ้าผมจะใช้เงินทองแต่ไม่ยึดไม่หมายจะได้ไหม อาตมาตอบว่าได้ถ้าท่านเอาเกลือมากินดูแล้วไม่เค็มก็ใช้ได้ ท่านจะพูดเอาเฉยๆ เพราะท่านขี้เกียจรักษาของจุกๆ จิกๆ นี่มันยาก เมื่อเอาเกลือมากินท่านไม่เค็มแล้วผมจึงเชื่อ ถ้ามันไม่เค็มจะเอามาให้กินสักกระทอ(เข่งเล็ก) ลองดูมันจะไม่เค็มจริงๆ หรือ เรื่องไม่ยึดไม่หมายนี้ไม่ใช่เรื่องพูดเอาคาดคะเนเอาไม่ใช่ ถ้าท่านพูดอย่างนี้อยู่กับผมไม่ได้ท่านจึงลาไป

ศีลและสมถะต้องทำให้มาก

เรื่องศีลเรื่องธุดงควัตรพวกเราต้องพยายามปฏิบัติ พวกญาติโยมก็เหมือนกันถึงปฏิบัติอยู่บ้านก็ตาม พยายามให้มีศีลห้า กายวาจาของเราพยายามให้เรียบร้อย พยายามดีๆ เถอะค่อยทำค่อยไป

การทำสมถะนี่ อย่านึกว่าไปทำครั้งหนึ่งสองครั้งแล้วมันไม่สงบก็เลยหยุดยังไม่ถูกต้อง ทำนานอยู่นะ ทำไมจึงนานคิดดูสิเราปล่อยมานี่กี่ปี เราไม่ได้ทำมันว่าไปทางโน้นก็วิ่งตามมัน มันว่าไปทางนี้ก็วิ่งตามมัน ทีนี้จะมาหยุดให้มันอยู่เท่านี้เดือนสองเดือนจะให้มันนิ่งมันก็ยังไม่พอ คิดดูเถิดเรื่องการทำจิตใจ ให้เราเข้าใจว่าสงบในเรื่องสงบในอารมณ์ ทีแรกพอเกิดอารมณ์ใจไม่สงบใจวุ่นวายทำไมจึงวุ่นวาย เพราะมีตัณหาไม่อยากให้คิดไม่อยากให้มีอารมณ์ ความไม่อยากนี่แหละตัวอยาก คือวิภวตัณหา ยิ่งไม่อยากเท่าไรมันยิ่งชวนกันมา "เราไม่อยากมันทำไมจึงมา ไม่อยากให้มันเป็นทำไมมันเป็น" นั่นแหละเราอยากให้มันเป็นเพราะเราไม่รู้จักใจเจ้าของ แหมเล่นอยู่กับพวกนี้กว่าจะรู้ตัวว่าผิดก็นานโขอยู่ คิดๆ ดูแล้วโอเราไปเรียกมันมามันจึงมา ไม่อยากให้มันเป็นอยากให้มันสงบไม่อยากให้มันฟุ้งซ่านนี่แหละความอยากทั้งแท่งละ

ต่อตอนที่ 2





Create Date : 23 ตุลาคม 2554
Last Update : 23 ตุลาคม 2554 19:17:12 น. 0 comments
Counter : 803 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Jจุ้ย
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ข่าวจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


facebookฝากข้อความได้ครับ
Google

ฟังวิทยุออนไลครับ
ฟังวิทยุออนไลน์ กดที่รูปครับ




หลับฝันดี
๑ หลับคืนนี้ฝันดีนะที่รัก...
หลับตาพักหลับตาฝันถึงวันใหม่...
หลับคืนนี้คนดีฝันถึงใคร...
รู้บ้างไหมฉันตั้งใจฝันถึงเธอ...


Friends' blogs
[Add Jจุ้ย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.