Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2550
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
4 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 

วัฒนธรรมความรุนแรงของไทย


นิธิ เอียวศรีวงศ์




"ไทยนี้รักสงบ" เป็นคำพูดที่คงหาคนเชื่อได้ยากเสียแล้วหลังการสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาทมิฬ

วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่แฝงความรุนแรงไว้มากทีเดียว คนเก่าคนแก่ในภาคใต้คนหนึ่งเคยบอกผมว่า การปกป้องเกียรติยศของครอบครัว, เครือญาติ และชุมชนที่ใช้กันมากคือตีหัวสั่งสอนสักแผลหนึ่ง

ฉะนั้น การยอมรับในหมู่คนกว้างขวางขึ้นว่า ไทยนี้ไม่ได้รับสงบสักเท่าไรนัก จึงเป็นที่น่ายินดี เพราะอย่างน้อยเราก็เริ่มยุติกระทำความรุนแรงต่อความจริง...คือหลอกคนอื่นและตัวเอง...ไปข้อหนึ่ง

ถ้ายุติไปได้หลายๆ ข้อ ก็อาจเป็นเหตุให้ไทยนี้รักสงบได้จริงสักวันหนึ่งข้างหน้า

อันที่จริง การใช้ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือทางสังคมไม่ได้เป็นสมบัติของวัฒนธรรมไทยเท่านั้น ผมเชื่อว่าทุกวัฒนธรรมล้วนอนุญาตหรือแม้แต่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงในบางกรณีทั้งนั้น จนกระทั่งในบางยุคสมัย นักปราชญ์เชื่อว่าความรุนแรงเป็นธรรมชาติของมุนษย์ไปเลย กรณีไหนพึงใช้ความรุนแรง กรณีไหนไม่พึงใช้ แต่ละวัฒนธรรมคิดไม่เหมือนกัน แต่ไหนจึงถือเป็นความรุนแรงก็ต่างกัน ฉะนั้น ถึงแม้แต่เชื่อว่าความรุนแรงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ความรุนแรงที่ประจักษ์เป็นรูปธรรมก็ยังเป็นวัฒนธรรม คือถูกสังคมปรุงแต่งขึ้น เหมือนความหิวเป็นธรรมชาติ แต่การกินเป็นวัฒนธรรม

ในฐานะวัฒนธรรม ความรุนแรงไม่เคยถูกใช้โดดๆ อย่างชนิดที่ลอยออกมาจากวัฒนธรรมส่วนอื่นๆ ที่แวดล้อมมันอยู่ในสังคมนั้นๆ หากแต่ดำเนินไปและแสดงออกโดยมีวัฒนธรรมส่วนอื่นกำกับและร่วมไปกับความรุนแรงเสมอ ฉะนั้น จะเข้าใจความรุนแรงในสังคมหนึ่งๆ ได้ ก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมส่วนอื่นๆ ที่เป็นเงื่อนไขของการใช้ความรุนแรงด้วย

เช่นการกระทำอันป่าเถื่อนต่อศพของนักศึกษาที่เสียชีวิตในการสังหารหมู่กลางสนามหลวงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เอาเชือกผูกคอศพแล้วลากไปเผาก็ตาม, เอาไม้ทิ่มแทงอวัยวะเพศก็ตาม ฯลฯ ล้วนมีความหมายถึงการกระทำต่อ "ซากสัตว์" ที่น่ารังเกียจและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ (เช่นงูพิษ)

น่าสังเกตด้วยนะครับว่า การกระทำป่าเถื่อนทั้งหมดเหล่านี้ ร่างกายของผู้กระทำจะไม่สัมผัสศพเลย (หยุดกระทืบเมื่อรู้ว่าตายแล้วเป็นต้น) แต่ต้องมีวัตดุอื่นเป็นตัวกลางระหว่างผู้กระทำ และศพเสมอ

ในบางวัฒนธรรมและในบางเงื่อนไข เขาอาจบั่นคอศพแล้วหิ้วหัวติดตัวไปด้วย

ความหมายของความรุนแรงที่แสดงออกในแต่ละวัฒนธรรมจึงสลับซับซ้อน และบอกอะไรแก่เรามากกว่าตัวพฤติกรรมความรุนแรงเสมอ

ผมรำพึงเรื่องนี้ขึ้นเมื่อได้ยินเสียงหนาหูว่า พลตรีจำลอง ศรีเมือง เคยพาคนไปตายในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทั้งนี้ หลังจากเขาประกาศตัวว่าจะเข้าร่วมประท้วงรัฐบาลที่สนามหลวงแล้ว

ถ้าผู้ที่พูดเรื่องนี้เป็นคนของรัฐบาลก็คงเข้าใจได้ง่ายนะครับ แต่นี่ไม่ใช่ฝ่ายลิ่วล้อของรัฐบาลเท่านั้น ตรงกันข้าม คนที่พูดกลับเป็นสื่อซึ่งวางตัวเป็นกลางคือค่อนข้างเอนเอียงไปทางผู้ประท้วงด้วยซ้ำ ลิ่วล้อเสียอีกที่พูดทีหลัง แล้วถือโอกาสสร้างกระแสความหวาดวิตกว่าจะเกิดความรุนแรงไปพร้อมกัน ส่วนผู้คนที่ได้ฟังทั้งจากสื่อและจากรัฐบาลก็พากันหวาดวิตกเพิ่มขึ้นจริง

คุณจำลองกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรง

ผมออกจะแปลกใจกับเรื่องนี้จริงๆ ครับ จะว่าผู้คนเกิดไม่ทันพฤษภาทมิฬ จึงไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นในวันนั้น ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะเหตุการณ์เพิ่งผ่านไปแค่ 14 ปีเอง - ครึ่งหนึ่งของชั่วอายุคน - เท่านั้น

"จำลองพาคนไปตาย" เป็นคำขวัญหนึ่งที่ประชาธิปัตย์ใช้ในการเลือกตั้ง เพื่อลดคะแนนของคู่แข่งในกรุงเทพฯ คือ พรรคพลังธรรม และต่อมา คุณสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมีฐานเสียงในกรุงเทพฯ เหมือนกันก็ร่วมใช้ด้วย

(ไม่น่าแปลกใจใช่ไหมครับที่คุณสมัครเคยเป็นสมาชิกคนสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน)

ที่น่าประหลาดก็คือ เขาว่ากันว่า การกล่าวหาครั้งนั้นเป็นผลให้พรรคพลังธรรมไม่สามารถกวาดที่นั่งในกรุงเทพฯ ไปได้หมด นั่นก็คือเป็นที่เชื่อถือของคนไทยที่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

นั่นเป็นช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬสดๆ ร้อนๆ เลย จึงจะอ้างว่าคนไทยลืมเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่ได้เป็นอันขาด

แต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเกิดขึ้นได้อย่างไร? เริ่มต้น คุณฉลาด วรฉัตร ประท้วง พลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยการอดอาหาร (หลังจากให้สัญญาว่าจะไม่รับตำแหน่งนี้ และหลังจากพรรคพวกของเขาได้ลงทุนสนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ และตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นใหม่เพื่อเป็นฐานเสียงในสภา) ต่อมา พลตรีจำลอง ศรีเมือง ก็เข้าร่วมสนับสนุนการประท้วง มีการชุมนุมของฝูงชนจำนวนมากกดดันรัฐสภาให้แก้รัฐธรรมนูญ บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส.ด้วย แต่ไม่เป็นผล

ฝูงชนพากันออกมาชุมนุมมากขึ้น จากเรือนหมื่นกลายเป็นเรือนแสน สื่อของรัฐบิดเบือนข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมือง ในขณะที่ข้าราชการและนักการเมืองในส่วนภูมิภาคจัดม็อบสนับสนุนนายกรัฐมนตรีในจังหวัดต่างๆ

แต่ในขณะเดียวกัน ในหัวเมืองใหญ่ๆ ทั่วประเทศก็เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่เขาเห็นว่าได้อำนาจมาอย่างไม่ชอบธรรมเหมือนกับในกรุงเทพฯ

เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างหน่วยทหารที่รัฐบาลส่งมาควบคุมฝูงชนในกรุงเทพฯ ฝ่ายผู้ประท้วงก็ไม่ยอมถอย เพราะการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนั้นซึ่งเนติบริกรอาวุโสร่างให้แก่เผด็จการ รสช. ด้วย)

กฎหมายเดียวที่ผู้ประท้วงในกรุงเทพฯ ละเมิดคือ กฎหมายจราจร คือกีดขวางการจราจรของถนนราชดำเนิน

และเพียงเท่านี้แหละ ที่รัฐบาลในสมัยนั้นสั่งทหารลั่นกระสุนกราดใส่ฝูงชน ในขณะที่รุกกินพื้นที่ขับไล่ฝูงชนไปเรื่อยๆ พร้อมกับสังหารผู้คนแบบไม่เลือกหน้าอยู่หลายชั่วโมง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณจำลองเป็นหนึ่งในผู้นำการประท้วง และถูกจับกุมไปก่อนหน้าที่จะมีการสังหารหมู่ ในขณะถูกจับกุม คุณจำลองตะโกนบอกพี่น้องที่อยู่ใกล้เคียงให้อยู่ในความสงบ เพราะเกรงว่าจะเสียเลือดเนื้อโดยไม่จำเป็น คุณจำลองก็ลุกขึ้นมาให้เขาจับไปโดยดี

จากบทบาทอย่างนี้แหละครับที่คุณจำลองถูกกล่าวหาว่า "พาคนไปตาย" แต่คนที่สั่งให้ทหารลั่นกระสุนใส่ฝูงชน ฆ่าและทำทารุณกรรมต่อ "เชลยศึก" ที่จับได้ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กลับไม่ต้องรับผิดชอบอะไร (ไม่รับผิดชอบทางกฎหมายนั้นง่ายมาก เพราะเนติบริกรช่วยให้ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมก่อนพ้นตำแหน่ง แต่ไม่ต้องรับผิดชอบทางสังคมนี่สิเข้าใจยากจริงๆ)

จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นที่เคารพนับถือของคนในสังคมอยู่ไม่น้อย แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์เองก็ไม่เคยกล้าปริปากถึงความรับผิดชอบของเขาต่อเพื่อนคนไทยและครอบครัวซึ่งเสียชีวิต, พิการ หรือชีวิตพังพินาศไปอย่างกู้คืนไม่ได้สักคำ

หากคำขวัญเพียงเพื่อแข่งขันในการเลือกตั้งที่ประชาธิปัตย์สร้างขึ้นกลับอยู่ติดปากติดหัวคนไทยสืบมาจนทุกวันนี้





ปัญหาที่ผมสนใจก็คือ มีอะไรในวัฒนธรรมไทยที่ทำให้คนลั่นไกปืนไม่ต้องรับผิดชอบต่อความรุนแรง แต่คนที่ถูกปืนต่างหากที่ต้องรับผิดชอบแทน

คำอธิบายของผม (ซึ่งไม่อ้างว่าดีกว่าของคนอื่น) คือ

วัฒนธรรมความรุนแรงของไทยนั้นเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่-ผู้น้อยอย่างแยกออกจากกันไม่ได้

อย่างที่กล่าวแล้วว่า วัฒนธรรมไทยไม่รังเกียจความรุนแรงในตัวของมันเอง แต่เหมือนกับวัฒนธรรมอีกหลายแห่งที่มองความรุนแรงเป็นเครื่องมือที่จำเป็นหรือแม้กระทั่งมีประสิทธิผลดี เพียงแต่ว่าเป็นเครื่องมือที่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ใช้ได้กับผู้น้อย ไม่ใช่ใช้ได้เท่าๆ กันทุกคน

เพราะมีสมมติฐานที่ไม่ต้องพิสูจน์ว่า ผู้ใหญ่ย่อมใช้ความรุนแรงเพื่อประโยชน์ของผู้น้อยเอง หรือเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

ฉะนั้น นายกรัฐมนตรี หรือ รมต.มหาดไทย หรือผู้ใหญ่ในรัฐบาล สั่งให้ใช้ความรุนแรงป่าเถื่อนกับผู้ประท้วง จึงไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่ความรุนแรงได้เกิดขึ้นจริง ความไม่ดีไม่งามได้เกิดขึ้นจริง ก็ต้องมีใครรับผิดชอบสักคน และคนคนนั้นต้องเป็นผู้น้อย

จึงจะหาใครมาเป็นแพะให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมความรุนแรงของไทยได้ไม่ดีไปกว่าคนที่ "พาคนไปตาย"

วัฒนธรรมความรุนแรงที่ซ้อนอยู่กับวัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำอาจไม่ทำให้การใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในสมัยโบราณ เพราะผู้คนยอมรับวัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำอย่างหน้าชื่นตาบาน แต่ผมคิดว่าในปัจจุบันวัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำถูกผู้คนปฏิเสธมากขึ้น อย่างน้อยเราก็อยู่ภายใต้ระบบปกครองที่อ้างว่าไม่มีความเหลื่อมล้ำ หรือไม่สนับสนุนความเหลื่อมล้ำ

วัฒนธรรมความรุนแรงที่ซ้อนอยู่กับวัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำในโลกปัจจุบัน จึงยิ่งเป็นเหตุให้สังคมไทยต้องเผชิญกับความรุนแรงมากขึ้น เพราะสิ่งที่ไม่เอื้อต่อความรุนแรงอย่างยิ่งคือความยุติธรรม, ความเสมอภาค, ประชาธิไตย และเสรีภาพ ล้วนเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมความเหลื่อมล้ำทั้งสิ้น

ที่มา : มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1333
หน้า 33 เผยแพร่ต่อใน//www.nidambe11.net/




 

Create Date : 04 ตุลาคม 2550
2 comments
Last Update : 4 ตุลาคม 2550 17:51:17 น.
Counter : 1538 Pageviews.

 

ก้อโอเคน่ะ

 

โดย: ..... IP: 117.47.167.156 16 มกราคม 2551 11:45:36 น.  

 

ไกไกกไกไก

 

โดย: หกดกห IP: 58.9.147.28 14 ธันวาคม 2555 11:44:19 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Darksingha
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]





Click for use Graphics comment


Darksingha ที่แสดงถึงอำนาจและความมืดมัว ผมให้แทนคำว่า Age of Doubt หรือยุคแห่งความสงสัยก็แล้วกัน ดังนั้นBlogนี้จึงเป็นแดนสนธยาที่เต็มไปด้วยหมอกควันแห่งคำถาม และการละเล่น เพื่อแสวงหา ?


TV3 Live CH5 Live CH7 Live Modernine TV Live NBT LIVE - CH11 TPBS - Public Channel ASTV1 New11 - Online News 24 hours Nation Channel DMC.TV - Buddhistic Television ASTV5 - Suvarnbhumi ASTV7 - Buddhistic Television  True New 24 Channel  skynew  cnnibn Channel  cnn Channel  bbcnews_island Channel  cctv  Channel  bfmtv  Channel  ntv  Channel  fox8 Channel  foxnews5 Channel  cspan  Channel  france24 Channel  world_explorer Channel  discovery_channel Channel  nasa  Channel kimeng-channel dmc-channel ebr-channel research-channel utv-channel michigan-channel at-florida-channel islam-channel peace-usa-channel bbc-panorama-channel CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live CH7 Live

music is life

ชุมทางเพลงเพื่อชีวิต

Friends' blogs
[Add Darksingha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.