Group Blog
มีนาคม 2552

1
2
3
4
5
6
7
10
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
30
31
 
 
All Blog
หลักการทรงงานใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ตลอดเวลากว่า 6 ทศวรรษ แห่งการครองราชย์ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศูนย์รวม จิตใจของปวงชนทั้งชาติ


ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงเสียสละประโยชน์สุขส่วนพระองค์เพื่อพสกนิกรชาวไทย สมดังที่ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่าเราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม


การทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการดำเนินงานในลักษณะทางสายกลางที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของสังคมไทยและสามารถปฏิบัติได้จริง โดยทรงเน้นพัฒนาคนเป็นตัวตั้ง และยึดหลักผลประโยชน์ของปวงชนและการมีส่วนร่วมตัดสินใจของประชาชนและการพึ่งตนเอง โดยรู้จักประมาณตนและดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวังและทำตามลำดับขั้นอย่างบูรณาการ ซึ่งอาศัยความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และการรู้รักสามัคคีของทุกฝ่าย อันนำไปสู่ชุมชนและสังคมที่เข้มแข็งและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข


ฮาวทูงานฉบับนี้ได้น้อมนำหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอันทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) รวบรวมไว้มาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์และสิริมงคลแก่ชีวิตการทำงานของคนเราทุกคนได้เป็นอย่างดีในภาวะที่เศรษฐกิจ การเมือง สังคมไทย ที่อยู่ในภาวะยากลำบากเช่นนี้


1.ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ

การที่จะพระราชทานโครงการใดโครงการหนึ่ง จะทรงศึกษาข้อมูลรายละเอียดอย่างเป็นระบบ ทั้งจากข้อมูลเบื้องต้นจากเอกสาร แผนที่ สอบถามจากเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และราษฎรในพื้นที่ให้ได้รายละเอียดที่ถูกต้อง เพื่อที่จะพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วตรงตามความต้องการของประชาชน


2.ระเบิดจากข้างใน

พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน ทรงตรัสว่า ต้องระเบิดจากข้างใน หมายความว่า ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนามีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน แล้วจึงค่อยออกมาสู่สังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่ทันได้มีโอกาสเตรียมตัวหรือตั้งตัว


3.แก้ปัญหาที่จุดเล็ก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปี่ยมไปด้วยพระอัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหา ทรงมองปัญหาในภาพรวมก่อนเสมอ แต่การแก้ปัญหาของพระองค์จะเริ่มจากจุดเล็กๆ คือ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่คนมักจะมองข้าม


4.ทำตามลำดับขั้น

ในการทรงงาน พระองค์จะทรงเริ่มต้นจากสิ่งที่จำเป็นของประชาชนที่สุดก่อน ได้แก่ สาธารณสุข เมื่อมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ก็จะสามารถทำประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไปได้ จากนั้นจะเป็นเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนโดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการให้ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่เรียบง่าย เน้นการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ราษฎรสามารถนำไปปฏิบัติได้และเกิดประโยชน์สูงสุด


5.องค์รวม

ทรงมีวิธีคิดอย่างองค์รวม หรือมองอย่างครบวงจร ในการที่จะพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการหนึ่งนั้น จะทรงมองเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น และแนวทางแก้ไขอย่างเชื่อมโยง ดังเช่นกรณีของทฤษฎีใหม่ที่พระราชทานให้แก่ปวงชนชาวไทย เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพแนวทางหนึ่งที่พระองค์ทรงมองอย่างองค์รวม


6.ไม่ติดตำรา

การพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีลักษณะของการพัฒนาที่อนุโลมและรอมชอมกับสภาพธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสภาพของสังคมจิตวิทยาแห่งชุมชน คือ ไม่ติดตำรา ไม่ผูกมัดติดกับวิชาการและเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของคนไทย


7.ประหยัด เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด

ในเรื่องของความประหยัดนี้ ประชาชนชาวไทยทราบกันดีว่าเรื่องส่วนพระองค์ก็ทรงประหยัดมากดังที่เราเคยเห็นว่า หลอดยาสีพระทนต์นั้นทรงใช้อย่างคุ้มค่าอย่างไร หรือฉลองพระองค์แต่ละองค์ทรงใช้อยู่เป็นเวลานาน หรือกองงานในพระองค์บอกว่าปีหนึ่งพระองค์ทรงเบิกดินสอ 12 แท่ง คือใช้เดือนละแท่งจนกุด ประหยัดทุกอย่าง ทุกบาททุกสตางค์จะทรงใช้อย่างระมัดระวัง


8.ทำให้ง่าย

ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้การคิดค้น ดัดแปลง ปรับปรุง และแก้ไขงานการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริดำเนินไปได้โดยง่าย และสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศโดยส่วนรวม ตลอดจนสภาพทางสังคมของชุมชนนั้นๆ ทรงโปรดที่จะทำให้สิ่งที่ยากกลายเป็นสิ่งที่ง่าย อันเป็นการแก้ปัญหาด้วยการใช้กฎแห่งธรรมชาติเป็นแนวทางนั่นเอง แต่การทำสิ่งที่ยากให้เป็นเรื่องง่ายนั้นเป็นของยาก ฉะนั้นทำให้ง่ายจึงเป็นหลักคิดสำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศในรูปแบบของโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ


9.การมีส่วนร่วม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักประชาธิปไตย จึงทรงนำประชาพิจารณ์มาใช้ในการบริหาร เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชน หรือเจ้าหน้าที่ทุกระดับได้มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน หรือความต้องการของสาธารณชน และทรงสอนให้หัดทำใจให้กว้างขวางหนักแน่น รู้จักรับฟังความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์อย่างฉลาด เพราะคือการระดมสติปัญญาและประสบการณ์อันหลากหลายเพื่อนำมาบริหารงานให้ประสบความสำเร็จที่สมบูรณ์นั่นเอง


10.ประโยชน์ต่อส่วนรวม

การปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และการพระราชทานพระราชดำริในการพัฒนาและช่วยเหลือพสกนิกร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงระลึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ คนที่ให้เพื่อส่วนรวมนั้นมิได้ให้ส่วนรวมแต่อย่างเดียว เป็นการให้เพื่อตัวเองสามารถที่จะมีส่วนรวมที่จะอาศัยได้


11.บริการรวมที่จุดเดียว

การบริการรวมที่จุดเดียว เป็นรูปแบบการบริการแบบเบ็ดเสร็จ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในระบบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย โดยทรงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นต้นแบบในการบริการรวมที่จุดเดียว เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนที่มาขอใช้บริการ จะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยมีหน่วยงานราชการต่างๆ มาร่วมดำเนินการและให้บริการประชาชน ณ ที่แห่งเดียว


12.ทรงใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ

ทรงเข้าใจถึงธรรมชาติ และต้องการให้ประชาชนใกล้ชิดกับธรรมชาติ ทรงมองอย่างละเอียดถึงปัญหาธรรมชาติ หากเราต้องการแก้ไขธรรมชาติ จะต้องใช้ธรรมชาติเข้าช่วยเหลือ เช่น การแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรมได้ปล่อยให้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ รวมทั้งการปลูกป่าในใจคน เป็นการปลูกป่าลงบนแผ่นดินด้วยความต้องการอยู่รอดของมนุษย์ ทำให้ต้องมีการบริโภคและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง เพื่อประโยชน์ของตนเองและสร้างความเสียหายให้แก่สิ่งแวดล้อม ปัญหาความไม่สมดุลจึงเกิดขึ้น ดังนั้นในการจะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้คืนมาจะต้องปลูกจิตสำนึกในการรักผืนป่าให้แก่คนเสียก่อน


13.การพึ่งตนเอง

การพัฒนาตามแนวพระราชดำรัสเพื่อแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นด้วยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้มีความแข็งแรงพอที่จะดำรงชีวิตได้ต่อไป แล้วขั้นต่อไปก็คือการพัฒนาให้ประชาชนสามารถอยู่ในสังคมได้ตามสภาพแวดล้อมและสามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด ดังพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสามารถสร้างความเจริญในระดับสูงขั้นต่อไป


14.เศรษฐกิจพอเพียง

เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงย้ำแนวทางการแก้ไข เพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยเน้นว่าความพอเพียงถือความพอประมาณ ความมีเหตุผล


15.ความซื่อสัตย์สุจริต จริงใจต่อกัน

พระองค์ทรงพระราชทานดำรัสเรื่องนี้ตลอดมา เพราะเห็นว่าคนไทยทุกคนได้ร่วมมือกันช่วยชาติ พัฒนาชาติด้วยความซื่อสัตย์จริงใจต่อกันได้แล้ว ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าอย่างมาก


16.ทำงานอย่างมีความสุข

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเกษมสำราญ และทรงมีความสุขทุกคราที่จะช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเคยมีพระราชดำรัสครั้งหนึ่งความว่า ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น


17.มีความเพียร

จากพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายและปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคมในปัจจุบัน หากคนไทยน้อมรับมาศึกษาวิเคราะห์และปฏิบัติตามรอยพระมหาชนกกษัตริย์ผู้พากเพียรพยายามแม้จะไม่เห็นฝั่ง ก็ยังว่ายน้ำต่อไป เพราะถ้าไม่เพียรพยายามว่ายก็จะตกเป็นอาหาร ปู ปลา และได้พบกับเทวดาที่มาช่วยเหลือมิให้จมน้ำ


18.รู้รักสามัคคี

พระองค์ทรงเน้นย้ำเรื่องนี้มาตลอดเวลา ซึ่งเป็นคำสามคำที่มีค่าและมีความหมายลึกซึ้ง พร้อมทั้งสามารถปรับใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย รู้-คือการที่เราจะลงมือทำสิ่งใดนั้นจะต้องรู้เสียก่อน รู้ถึงปัจจัยทั้งหมด รู้ถึงปัญหา และรู้ถึงวิธีการแก้ปัญหา รัก-คือความรักเมื่อเรารู้ครบถ้วนกระบวนความแล้วจะต้องมีความรักการพิจารณาที่จะเข้าไปลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหานั้นๆ สามัคคี-คือการที่จะลงมือปฏิบัตินั้นควรคำนึงเสมอว่า เราจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องทำงานร่วมมือร่วมใจเป็นองค์กร เป็นหมู่คณะจึงจะมีพลังเข้าไปแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

หากสามารถน้อมนำแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปปรับใช้ ก็จะช่วยให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่นและมีความสุขได้อย่างแท้จริง

รายงานโดย :เรื่อง อนุสรา ทองอุไร



Create Date : 11 มีนาคม 2552
Last Update : 11 มีนาคม 2552 18:48:35 น.
Counter : 857 Pageviews.

0 comments

Mimi-jaiko
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]