Group Blog
 
<<
กันยายน 2552
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
26 กันยายน 2552
 
All Blogs
 
การใช้ภาษาไทยในบทแปล

นำมาจากเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสถานค่ะ
//www.royin.go.th/th/whatsnew/content.php?ID=69&SystemModuleKey=59

สรุปผลการสัมมนา เรื่อง
การใช้ภาษาไทยในบทแปล
วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗
ณ โรงแรมตรัง ถนนวิสุทธิกษัตริย์ กรุงเทพฯ

ในยุคโลกาภิวัตน์ที่สรรพวิทยาการมีความก้าวหน้า เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา แต่ละประเทศจำเป็นต้องถ่ายทอดความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และวิทยาการต่าง ๆ จากประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้ารวดเร็วกว่า เพื่อให้ทันกับความเจริญก้าวหน้าและความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยผ่านทางการแปลหนังสือ ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้ได้โดยสะดวก รวดเร็ว และทันต่อความก้าวหน้าของวิทยาการ

ในวงการหนังสือของประเทศไทยในปัจจุบัน หนังสือแปลได้รับความนิยมอย่างมาก จะเห็นได้ว่ามีหนังสือแปลหลากหลายสาขาวิชาการ อย่างไรก็ตาม ยังมีหนังสือแปลจำนวนมากที่ใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องเท่าที่ควร เช่น ใช้ภาษาไทยขัดกับหลักภาษา มีคำภาษาต่างประเทศปะปนอยู่มาก หรือใช้สำนวนภาษา ลีลาการนำเสนอผลงานแปลที่อ่านแล้วเข้าใจยาก เป็นผลให้ผู้ใช้ผลงานแปลได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ คณะกรรมการศูนย์ส่งเสริมและเผยแพร่การใช้ภาษาไทย ของราชบัณฑิตยสถาน จึงเห็นสมควรให้จัดการสัมมนา เรื่อง “การใช้ภาษาไทยในบทแปล” ขึ้น เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ ณ โรงแรมตรัง ถนนวิสุทธิกษัตริย์ กรุงเทพฯ ทั้งนี้ เพื่อระดมความคิดจากวิทยากร นักแปล นักภาษาไทย และผู้สนใจในการแปล ตลอดจนผู้ใช้ผลงาน แปล ร่วมกันเสนอปัญหาและหาแนวทางการแก้ไข ส่งเสริมให้นักแปลสร้างสรรค์ผลงานแปลอย่างมีคุณภาพ เมื่อผู้ใช้ผลงานแปลได้รับประโยชน์อย่างสมบูรณ์ ก็จะสามารถนำความรู้ไปในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพ พัฒนาการงาน ซึ่งจะส่งผลไปสู่การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ในที่สุด

วิทยากรประกอบด้วยราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก ของราชบัณฑิตยสถาน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียง ซึ่งได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในแวดวงการแปลในบทบาทที่ต่าง ๆ กัน และได้ให้ข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อผู้สนใจ ที่จะได้นำไปปรับปรุงผลงานแปลให้น่าอ่านขึ้น มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ภาคเช้า เป็น การถ่ายทอดความรู้จากประสบการณ์จริงของวิทยากรที่ทำงานด้านนี้ ส่วนภาคบ่ายเป็นการถ่ายทอดความรู้ที่เป็นหลักวิชาจากคณาจารย์ในวงการแปล

วิทยากรท่านแรก นางสุดจิต ภิญโญยิ่ง นักเขียน นักแปลและล่ามอิสระ ซึ่งมีประสบการณ์ทั้งงานแปลและงานข่าวมานาน ในฐานะผู้สื่อข่าวและคอลัมนิสต์อาวุโสของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โฆษกสถานีวิทยุบีบีซี กรุงลอนดอน หัวหน้าฝ่ายสารนิเทศ องค์การยูนิเซฟ สำนักงานภาคพื้นเอเชียตะวันออกและปากีสถาน ฯลฯ ได้กล่าวถึงหลักสำคัญในการแปลหนังสือว่า ผู้แปลจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๑. ผู้อ่าน เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ผู้แปลต้องคำนึงว่า กลุ่มผู้อ่านเป้าหมายเป็นใคร และทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจในบทแปลนั้นได้ดี

๒. ประเภทของหนังสือ แบ่ง เป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือ ประเภทวรรณกรรม และประเภทวิชาการ ดังนั้น ผู้แปลต้องรู้ว่าหนังสือที่จะแปลเป็นหนังสือประเภทใด หากเป็นวรรณกรรมต้องรู้ว่าเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง และอยู่ในยุคสมัยใด และหากเป็นวิชาการจะอยู่ในกลุ่มวิชาใด เช่น อักษรศาสตร์ นิติศาสตร์ เกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ

๓. ลีลาการเขียน หนังสือประเภทวรรณกรรม จะมีลักษณะของภาษาที่ไม่เป็นทางการ ส่วนหนังสือวิชาการ ควรใช้ภาษาที่เป็นทางการและจริงจัง

๔. วัฒนธรรม ต้องเข้าใจถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องที่ว่ามีวัฒนธรรมความเป็นอยู่อย่างไร เพื่อให้เข้าใจถึงระดับชั้น ความเป็นอยู่ของสังคม และนำมาถ่ายทอดได้ถูกต้อง สอดคล้องกัน

๕. ภาษา ผู้ แปลต้องให้ความสำคัญว่าท้องถิ่นแต่ละแห่งใช้ภาษาอย่างไร และถ่ายทอดเป็นภาษาไทยให้ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับวัฒนธรรมและระดับชั้น เช่น ภาษาถิ่น ภาษาที่ผู้ใหญ่พูดกับเด็ก การใช้สร้อยคำ ฯลฯ

สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นล้วนเป็นหลักใหญ่ ๆ ที่ผู้แปลหนังสือต้องทราบและเรียนรู้ และเนื่องจากภาษาไม่หยุดนิ่ง แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องยึดการใช้ภาษาที่เป็นแบบแผนตายตัว แต่ควรให้ความสำคัญต่อการสื่อความหมาย สิ่งสำคัญที่สุดในการแปลคือ ต้องมีเนื้อหาที่ตรงตามต้นฉบับ ครบถ้วน มีความชัดเจนไม่กำกวม และเป็นภาษาไทยที่ดี

นางสาวพิมพ์อนงค์ ริมสินธุ บรรณาธิการบริหาร บริษัทนานมีบุ๊ค จำกัด ได้กล่าวว่า จากการที่ได้ตรวจบรรณาธิกรหนังสือและบทแปล ทำให้พบสิ่งต่าง ๆ จากหนังสือแปล รวมถึงเจตคติ วิธีคิดของผู้แปลแต่ละคน และเห็นว่าผู้แปลควรมีสิ่งเหล่านี้

๑. ความเข้าใจในการแปล ผู้แปลจะต้องเข้าใจเนื้อเรื่อง คำ และความหมายของภาษา ต้นฉบับ จึงจะเกิดความสุขในการอ่าน และเก็บรสของภาษานั้นได้อย่างชัดเจน แล้วนำมาถ่ายทอดสู่ผู้อ่าน ดังนั้น ผู้แปลที่ดีจึงควรมีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งภาษาต้นฉบับและภาษาไทย

๒. การใช้คำ เลือกให้เหมาะกับช่วงเวลา เนื่องจากวรรณกรรมมีทั้งเรื่องในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผู้แปลจึงควรพิจารณาเหตุการณ์หรือภาวะของเรื่อง แล้วเลือกใช้คำ ทั้งบทบรรยายและบทพูด รวมทั้งสรรพนามแทนตัวบุคคลให้เหมาะสม และตรงกับอารมณ์ในขณะนั้น

การใช้คำที่เป็นภาษาพูด บางครั้งอาจไม่เหมาะสม เช่น แบบว่า ประมาณว่า ฯลฯ ผู้แปลควรพิจารณาเลือกคำที่ดีกว่า เช่น ใช้คำ ทำนองว่า แทน

การพูดไม่ปรกติ บาง ครั้งในหนังสือต้นฉบับอาจมีการพูดที่แปลกออกไป เช่น พูดไม่ชัด พูดไม่เต็มเสียง ลิ้นคับปาก ฯลฯ ผู้แปลจึงต้องเลือกสะกดคำดังกล่าวให้ผู้อ่านทราบด้วย เพื่อไม่ให้เสียอรรถรส

๓. โครงสร้างของประโยคหรือไวยากรณ์ ผู้แปลควรปรับปรุงแบบโครงสร้างของประโยคให้เป็นภาษาไทยที่ถูกต้องได้ใจความครบถ้วน ไม่ควรมีโครงสร้างของประโยคที่เป็นแบบภาษาเดิม

๔. ลูกเล่นในการแปล บางครั้งผู้เขียนเดิมอาจมีการเล่นคำ เล่นสำนวน หรือที่เรียกว่า มุข เพื่อความสนุกสนานของเนื้อเรื่อง หากแปลตรง ๆ จะไม่ได้อรรถรส เพราะเราไม่มีสำนวนนั้น ผู้แปลจึงควรปรับใช้สำนวนไทยให้ตรงตามที่ผู้เขียนภาษาต้นฉบับต้องการ

๕. ภาษาที่แตกต่าง เมื่อ มีการใช้ภาษาที่ต่างไปจากภาษาในเนื้อเรื่อง เช่น ภาษาถิ่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น แทรกเข้ามา ผู้แปลควรมีคำแปล คำอธิบาย ฯลฯ ที่แสดงให้ผู้อ่านทราบความหมายด้วยว่าคืออะไร มิฉะนั้นอารมณ์จะขาดหายไป

๖. ความรู้สึกที่มีต่อบทละคร เนื่องจากตัวละครแต่ละตัวจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ทั้งฐานะ ระดับของสังคม อารมณ์ ฯลฯ การเลือกใช้คำตามแบบฉบับ จะไม่ได้อารมณ์ในการอ่าน เช่น บทสนทนาระหว่างแม่กับลูก ก็ไม่จำเป็นต้องลงท้ายด้วย จ๊ะ ตลอดเวลา ผู้ร้ายก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำหยาบ แต่ผู้เขียนต้องเข้าใจภาพในเนื้อเรื่องว่ากำลังอยู่ในภาวะใด อารมณ์แบบใด แล้วถ่ายทอดในบทแปลให้ถูกต้อง

กล่าวโดยสรุปคือ การถ่ายทอดต้องไม่ใช้อารมณ์หรือแบบฉบับของผู้แปล แต่จะต้องนึกว่าตัวเองคือผู้เขียนเรื่องนั้น แต่เขียนในภาคภาษาไทย ด้วยภาษาไทยที่สละสลวยและได้ความครบถ้วน ชัดเจน และได้ครบทุกรส จึงจะได้งานแปลที่ดี

นางสาวงามพรรณ เวชชาชีวะ เจ้าของผลงานแปล แฮรรี่ พอตเตอร์ อันลือชื่อ บรรยายในฐานะนักแปล นักเขียน และบรรณาธิการ ได้ให้ข้อคิดเห็นในงานแปลไว้หลายประเด็น ดังนี้

๑. การคัดเลือกหนังสือ งานแปลที่ประสบผลสำเร็จ ขั้นแรกต้องประสบความสำเร็จในการคัดเลือกหนังสือที่จะนำมาแปลก่อน ซึ่งหนังสือนั้นจะต้องเป็นเล่มที่ดีที่สุดในสาขานั้น

๒. มาตรฐานของนักแปล ในปัจจุบันตลาดหนังสือมีความต้องการงานแปลภาษาต่างประเทศใหม่ ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาษาเกาหลีและภาษาเยอรมัน นักแปลที่ดีต้องพัฒนาตนเองให้มีความสามารถระดับมาตรฐาน การมีความรู้ภาษาต่างประเทศอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องรู้ภาษาไทยและรู้วัฒนธรรมด้วย สิ่งเหล่านี้ได้จากการอ่านมาก ๆ ทั้งหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ การอ่านงานนิพนธ์ชั้นครู เช่น งานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จะช่วยได้มาก

ผู้แปลที่ดีควรมีความพร้อมทั้งในด้านทฤษฎีและทักษะ มีความรู้ และความช่างสังเกต นอกจากนี้ ประสบการณ์ในการทำงานแปล จะทำให้มีโอกาสได้พัฒนาฝีมือยิ่งขึ้น ต้องหมั่นฝึกฝนเพื่อพัฒนาตนเอง แก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ควรรักษากำหนดเวลาการส่งต้นฉบับด้วย

๓. ภาษาที่ใช้ในการแปล นักแปลที่ดีต้องเข้าใจธรรมชาติของภาษาที่ใช้ในการแปล ซึ่งประกอบด้วยภาษาต้นฉบับและภาษาปลายทาง นักแปลต้องเข้าใจว่าจุดประสงค์ของการแปลคือ สาร ภาษาเป็นเพียงเครื่องมือในการนำเสนอสาร ต้องแปลให้ได้อารมณ์ นักแปลมิใช่แปลเพียงสิ่งที่ตาเห็น แต่ต้องแปลสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของงาน งานแปลที่ดีคืองานที่ให้อรรถรสแก่ผู้อ่านได้เท่าเทียมการอ่านต้นฉบับ ใช้ภาษาไทยได้อย่างชาญฉลาด สามารถถ่ายทอดสารและอารมณ์ของต้นฉบับได้อย่างครบถ้วน

นักแปลที่ดีจะต้องมองเห็นและเก็บเกี่ยวความหมายระหว่างบรรทัดของ งานแปลให้ครบถ้วน ต้องมีความรู้ด้านภาษาดีพอจึงจะเห็น เข้าใจ และถ่ายทอด เก็บสารและเป้าหมายของการสื่อสารสู่ผู้อ่านได้อย่างสมบูรณ์ และนักแปลที่ดีจะต้องเป็นเงาของนักเขียน

นางสาวอริณี เมธเศรษฐ นักแปลหนังสือในเครืออมรินทร์พริ้นติ้ง จำกัด (มหาชน) บรรณาธิการ บริหาร นิตยสารเนชันแนลจีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย ได้เล่าถึงขั้นตอนการแปลของนิตยสารเนชัลแนลจีโอกราฟิก ได้แก่ .การพิจารณาต้นฉบับ การแปลบริสุทธิ์ (แปลขั้นแรก) การตรวจสอบบทแปลโดย text editor การขัดเกลาให้สละสลวยมากขึ้น และมากที่สุด

ข้อสังเกตที่ได้จากประสบการณ์ในฐานะนักแปลและบรรณาธิการบริหารนิตยสารดังกล่าว ได้แก่

๑. งานแปลที่ดีต้องใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและสละสลวย แต่บางครั้งระบบการพิมพ์ก็เป็นข้อจำกัดในการแปล ดังเช่น กรณีนิตยสารเนชันแนลจีโอกราฟิก ฉบับภาษาไทย ที่มีรูปแบบการจัดหน้าตายตัวตามต้นฉบับ จึงจำกัดขอบเขตและความยาวของบทแปล ทำให้ต้องมีการตัดทอนบทแปลออกตามรูปแบบการจัดหน้า อย่างไรก็ดี ผู้แปลก็ยังยึดถือความถูกต้องของบทแปลเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก ซึ่งจะตรวจสอบได้เสมอทั้งจากผู้อ่านและบริษัทเจ้าของต้นฉบับ

๒. ในการใช้ภาษาแปล นักแปลควรคงโครงสร้างประโยคตามแบบไวยากรณ์ไทยไว้

๓. นักแปลไม่ควรตีกรอบความหมายของศัพท์แต่คำไว้ตายตัว เพราะศัพท์แต่ละคำมีความหมายหลากหลาย นักแปลที่ดีต้องหาคำแปลที่สื่อสารได้ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด

๔. นักแปลที่ดีต้องใจกว้าง ยอมรับคำวิจารณ์ ตระหนักถึงความต้องการของผู้อ่านเป็นหลักว่า ผู้อ่านจะได้อะไรจากการอ่านงานแปล นักแปลที่ดีต้องทำการบ้าน ใฝ่รู้ พร้อมจะมอบความรู้ให้แก่ผู้อ่าน ในการแปลศัพท์ต้องไม่เผอเรอ ต้องอาศัยพจนานุกรม อาศัยผู้รู้ในสาขาวิชานั้น ๆ รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนทัศนะกับนักเขียน เพื่อความเข้าใจผลงานซึ่งจะทำให้งานแปลมีความถูกต้องมากขึ้น

๕. ในการแปลชื่อภาษาต่างประเทศ นักแปลต้องรู้รากศัพท์ของชื่อแต่ละชื่อว่ามาจากภาษาใด ออกเสียงอย่างไร เพื่อการถอดถ่ายเสียงที่ตรงกับภาษาต้นฉบับ

ศ. ดร.มงคล เดชนครินทร์ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ และ รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม บรรยายเรื่อง ปัญหาการแปลคำใหม่ และการทับศัพท์ภาษาต่างประเทศ

ศ. ดร.มงคล เดชนครินทร์ กล่าวถึงการแปลงานวิชาการภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยว่า ปัญหาที่ผู้แปลมักประสบคือ การขาดแคลนศัพท์บัญญัติภาษาไทย โดยเฉพาะงานวิชาการสาขาที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เป็นผลให้นักแปลใช้คำทับศัพท์เป็นจำนวนมาก ใช้ประโยคที่ไม่ได้แปล หรือแปลผิดความหมาย

ประเด็นของการแปลผิด เนื่องมาจาก

๑. ศัพท์วิชาการบางคำมีความหมายแตกต่างจากความหมายทั่วไป เช่น

lead ศัพท์ทั่วไปแปลว่า ตะกั่ว แต่สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าแปลว่า สายอ่อน
baby ศัพท์ทั่วไปแปลว่า เด็กอ่อน แต่สาขาเทคโนโลยีทางภาพ หมายถึง ไฟสปอตเล็ก ฯลฯ

๒. ศัพท์ภาษาต่างประเทศมีหลายความหมาย ขึ้นอยู่กับสาขาวิชา

๓. มีศัพท์หลายคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ผู้แปลต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง เช่น

diagram = แผนภาพ, charge = แผนภูมิ ฯลฯ

๔. หน่วยงานทางวิชาการแปลศัพท์ภาษาต่างประเทศคำเดียวกันเป็นภาษาไทยต่างกัน ทำให้ผู้ใช้ศัพท์สับสน

๕. ศัพท์ วิชาการบางคำที่เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจนเป็นที่ยอมรับกัน แล้วก็ให้ใช้ตามนั้น แต่ผู้แปลบางคนไม่ได้ตรวจสอบจึงสะกดการันต์ผิด เช่น

balance มักเขียนผิดเป็น ดุลย์ แต่คำที่ถูกคือ ดุล
vacuum มักเขียนผิดเป็น สูญญากาศ แต่คำที่ถูกคือ สุญญากาศ

ผู้ทำงานแปลควรศึกษาหลักภาษาต่างประเทศและภาษาไทยให้เข้าใจ เลือกใช้คำให้เหมาะกับบริบท และค้นคว้า ตรวจสอบข้อมูลหรือสอบถามการใช้คำและความหมายที่ถูกต้องจากผู้รู้หรือนักแปล เฉพาะทาง ราชบัณฑิตยสถานเป็นสถาบันที่เป็นแหล่งข้อมูลและเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ทาง วิชาการต่าง ๆ ผู้แปลสามารถสอบค้นได้จากเอกสารที่พิมพ์เผยแพร่ เช่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ศัพท์บัญญัติและพจนานุกรมเฉพาะวิชา ซึ่งมีหลายสาขา นอกจากนี้ ยังมีซีดีรอมศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน รุ่น ๑.๑ ซึ่งรวมศัพท์บัญญัติวิชาการถึง ๒๙ สาขาวิชา ซึ่งจะช่วยให้สอบค้นและเลือกใช้คำที่เหมาะสม

รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ กล่าวถึงกรณีที่เป็นศัพท์เกิดขึ้นใหม่ว่า คนไทยมีวิธีดัดแปลงคำภาษาอังกฤษมาใช้อยู่แล้ว ๓ วิธี คือ การยืมปน การยืมแปล และการสร้างคำ

การยืมปน เป็นคำไทยผสมอังกฤษ เช่น หม้อแบตเตอรี่ ถุงเมล์ ฯลฯ

การยืมแปล เป็นการแปลมาโดยตรง หรือดัดแปลงบ้างเล็กน้อย เช่น แรงม้า (จาก horsepower) รถยนต์ ฯลฯ

การสร้างคำ เป็นการตีความจากสิ่งใหม่ ๆ หรือความคิดใหม่ ๆ เช่น แผ่นเสียง ตู้เย็น ฯลฯ

เกณฑ์การบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน ใช้วิธีคิดคำขึ้นใหม่คือ ถ้าศัพท์ใดสามารถผูกคำขึ้นใหม่ได้ก็พยายามใช้คำไทยก่อน ต่อเมื่อหาคำไทยที่เหมาะสมและตรงกับความหมายของศัพท์ไม่ได้แล้ว ให้หาคำจากภาษาบาลีและสันสกฤตที่มีใช้อยู่แล้วในภาษาไทยมาผูกเป็นศัพท์ ขึ้น และถ้ายังหาคำเหมาะสมไม่ได้อีก จึงใช้วิธีทับศัพท์ การบัญญัติศัพท์ไม่เพียงใช้คำสั้นกะทัดรัด ไพเราะ เหมาะสมเท่านั้น ราชบัณฑิตยสถานยังคำนึงถึงว่า ศัพท์บัญญัตินั้นต้องเป็นคำสุภาพด้วย

ในอดีตผู้คนจะรับคำที่บัญญัติขึ้นได้ไม่ยาก หากดัดแปลงเสียงเข้าสู่ระบบเสียงของไทยแล้ว จะยิ่งยอมรับมากขึ้น แต่ปัจจุบันเป็นยุคที่การสื่อสารและเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก ศัพท์เหล่านี้เข้ามาพร้อมกับความหมายที่คนไทยเข้าใจได้ในทันทีโดยไม่ต้องแปล เช่น คอมพิวเตอร์ แฟกซ์ วิดีโอ ฯลฯ หากราชบัณฑิตยสถานเลือกใช้คำไทยหรือบาลีสันสกฤตมักมีข้อตำหนิว่าต้องแปลเป็นภาษาไทยอีก แต่ที่จริงแล้วภาษาบาลีสันสกฤตก็คือภาษาต่างประเทศเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษนั่นเอง

ไม่เพียงแต่จะเลือกใช้ศัพท์เดิมเท่านั้น คนทั่วไปยังเลือกใช้คำที่สั้นและกะทัดรัดกว่าด้วย ตัวอย่างเช่น ศัพท์อังกฤษ lift ศัพท์อเมริกัน elevator คนไทยก็เลือกใช้ว่า ลิฟต์ เหตุผลไม่ใช่เพราะเป็นคำอังกฤษ แต่เป็นเพราะ สั้น สวย (หมายความว่าเสียงรื่นหูคนไทย) และสื่อความได้ดี

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันไม่ว่าชาติใดก็บัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศเป็นภาษาของ ตนไม่ทัน การทับศัพท์จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้แก้ปัญหาการบัญญัติศัพท์ใหม่ ๆ ซึ่งมีความสำคัญเท่ากับการบัญญัติโดยใช้คำไทย และการใช้บาลีสันสกฤต ทั้งนี้ ขึ้นกับการยอมรับของผู้ใช้ซึ่งเป็นเจ้าของภาษา เกณฑ์ต่าง ๆ ที่ราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการชักชวนให้ใช้เท่านั้น มิได้เป็นเกณฑ์บังคับแต่อย่างใด ยกเว้นผู้ที่ทำงานกับส่วนราชการ ขอแนะนำให้ใช้

รศ. ดร.ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม บรรยายเรื่อง หลักการใช้ภาษาแปลให้น่าอ่าน ใจความว่า

การแปล คือ การถ่ายทอดความหมายจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่ง แบ่งได้เป็น ๒ ประเภท คือ

๑. แปลตามรูปแบบของโครงสร้างภาษาเดิม เป็นการแปลตามพยัญชนะ เรียกว่า Literal Translation มักแปลคำต่อคำโดยมุ่งรักษารูปแบบในภาษาเดิม

๒. แปลตามความหมาย มี ๒ แบบ คือ

- Less Literal Translation เป็นการแปลโดยเน้นการใช้ภาษาที่สละสลวย และเป็นธรรมชาติมากที่สุด
- Idiomatic Translation เป็นการแปลแบบเน้นลีลาภาษาแปลให้เป็นสำนวนน่าอ่าน

สิ่งที่ควรระมัดระวังในการแปล มีดังต่อไปนี้

๑. แปลให้ตรงความหมายและกระชับมากที่สุด

- เลือก ใช้คำแปลที่ถูกต้องและเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือย คำนึงถึงคำที่แยกใช้ตามเพศ คำที่แยกใช้ตามสถานภาพของบุคคล คำที่ใช้ให้เหมาะแก่กาลเทศะ คำที่ใช้เพื่อความสุภาพ
- ต้องเลือกความหมายให้เข้ากับบริบท
- พยายามแปลโดยรักษาเค้าคำเดิม

๒. กรณีที่แปลตรงตัวไม่ได้ ต้องพยายามแปลให้ได้ความหมายใกล้เคียงที่สุด

๓. ใช้คำและสำนวนที่เป็นไทยและสอดคล้องกับความคิดความเชื่อรวมทั้งวัฒนธรรมไทย

๔. แปลให้ได้ความที่มีชีวิตชีวา ลึกซึ้ง กินใจ

๕. แปลให้สละสลวย

การแปลที่ดีต้องรักษาความหมายให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับเดิมให้มากที่สุด ให้คนอ่านเข้าใจชัดเจน และใช้ภาษาเป็นธรรมชาติมากที่สุด

รศ. ดร.นววรรณ พันธุเมธา ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม บรรยายเรื่อง การปรับบทแปล มีข้อสังเกตเกี่ยวกับสำนวนภาษาในบทแปล ดังนี้

๑. การใช้คำ

- คำต่างประเทศบางคำ อาจแปลเป็นคำไทยได้หลายคำ แต่คำไทยคำหนึ่งอาจเหมาะที่จะใช้ในบทแปลมากกว่าคำอื่น เช่น คำ วายชนม์ กับ ตาย
- การเติมคำบางคำในบทแปล อาจช่วยให้ประโยคสละสลวยขึ้น หรือมีความหมายชัดเจนขึ้น
- การหาคำหรือสำนวนไทยสั้น ๆ มาแปล จะช่วยให้สำนวนภาษากระชับดีกว่าแปลโดยรักษารูปประโยคในภาษาเดิม แต่ต้องพิจารณาให้เหมาะสม

๒. การเรียงคำ

- ภาษาไทยไม่นิยมนำกรรมรอง ซึ่งมีบุพบทนำขึ้นต้นประโยค ไม่นิยมนำส่วนขยายของกริยาขึ้นต้นประโยค และไม่นิยมเอาข้อความในคำพูดขึ้นต้นประโยค
- กรณีที่ประโยคมีคำกริยาหลายคำ ส่วนขยายของคำกริยาคำใดก็ควรอยู่ใกล้คำกริยาคำนั้น มิใช่อยู่ท้ายประโยค แต่ถ้าเป็นประโยคที่มีกรรม ส่วนขยายของคำกริยาควรอยู่หลังกรรม ไม่ใช่อยู่หลังคำกริยา กรณีที่ประโยคไม่ชัดเจน ต้องย้ายที่ส่วนขยาย เช่น

พวกสลัดไม่ได้ยึดเอาทรัพย์สมบัติในอาณานิคมของสเปนทั้งหมด

แต่ บางกรณี ไม่อาจแก้ไขโดยการย้ายที่ส่วนขยาย แต่อาจทำให้ประโยคชัดเจนขึ้น โดยการเปลี่ยนคำ นอกจากนั้น การเรียงคำก็เกี่ยวข้องกับเรื่องการเน้น ประโยค ก และ ข ต่อไปนี้เน้นต่างกัน

ก. แรดใช้นอของมันไม่ว่าจะยาวเท่าไรไว้แทงศัตรู
ข. แรดใช้นอแทงศัตรู ไม่ว่านอของมันจะยาวเท่าไร

๓. รูปประโยค

- ประโยคกรรมที่มีคำว่า ถูก ซึ่งมักใช้เฉพาะเมื่อคำกริยามีความหมายไปในทางไม่ดี หรือประโยคกรรมที่คำว่า ถูก อยู่หน้าคำกริยาที่มีความหมายไปในทางดี และประโยคที่ขึ้นต้นว่า มันเป็น หรือ เป็น และมีอนุประโยคอยู่ข้างท้าย เป็นประโยคที่ถือกันว่าได้อิทธิพลภาษาต่างประเทศ ภาษาไทยไม่นิยม ประโยคที่มีลักษณะเช่นนี้ควรต้องแก้ไข

การแก้ไขคำว่า ถูก อาจรักษารูปประโยคกรรมไว้ แต่เปลี่ยน คำว่า ถูก เป็น ได้รับ

ในบางกรณี ผู้แปลอาจใช้วิธีหาประธานให้กริยา ประธานมักเป็นคำไม่ชี้เฉพาะ หรือรู้ได้จากปริบท เช่น เขาถูกเตือนให้ระวัง เปลี่ยนเป็น ใคร ๆ ก็เตือนให้เขาระวังตัว

ถ้าไม่เปลี่ยนเป็นประโยคประธาน ผู้แปลก็อาจเปลี่ยนประโยคกรรมเป็นประโยคกริยาโดยเติมคำว่า มี ต้นประโยค เช่น เขาถูกขัดจังหวะด้วยเสียงเคาะประตู เปลี่ยนเป็น มีเสียงเคาะประตูขัดจังหวะขึ้น

ประโยค กรรมกับประโยคกริยาต่างกันที่การเน้น ประโยคกรรมเน้นผู้ถูกกระทำ ส่วนประโยคกริยาเน้นเหตุการณ์ ประโยค ก ต่อไปนี้ เป็นประโยคกรรม ผู้แปลเลี่ยงคำว่า ถูก ใช้คำว่า ได้รับ ส่วนประโยค ข เป็นประโยคกริยา ผู้แปลย่อมจะต้องพิจารณาเลือกประโยคที่ฟังดีและมีการเน้นตามที่ต้องการ

ก. ตั้งแต่นั้นมา เจ้าแม่อธีนีก็ไม่ได้รับการเกี้ยวพานจากเทพองค์ใดอีกเลย
ข. ตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่มีเทพองค์ใดเกี้ยวพานเจ้าแม่อธีนีอีกเลย

- มีประโยคอีกแบบหนึ่งที่ได้พบเสมอ ๆ ในบทแปล คือประโยคที่มีคำบุพบทเกินจำเป็น บางประโยคตัดบุพบททิ้งไปได้ บางประโยคก็ควรหาคำชนิดอื่นมาแทน หรือควรเรียงลำดับคำเสียใหม่ เช่น

เกี่ยวกับปัญหาราคายางตกต่ำนั้น นายอาณัติเชื่อว่าเป็นภาวะตกต่ำชั่วคราว
สำหรับปัญหาทางด้านกฎหมายที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนก็ควรแก้ไข

- นอกจากบุพบท คำอีกชนิดหนึ่งที่ได้พบมากในบทแปลคือ คำอาการนาม ทำกริยาให้เป็นนาม โดยเติมคำว่า การและความ เมื่อเติมคำว่า การ หรือ ความ แล้ว ก็มีผลให้ต้องเพิ่มคำอื่นด้วย อย่างน้อยก็ต้องเพิ่มคำกริยาสำหรับใช้กับคำอาการนามนั้น ๆ ประโยคที่มีคำชนิดนี้จึงมักจะยาวเกินไป บางครั้ง ทั้งยาวและซับซ้อนทำให้ ไม่น่าอ่าน
- ประโยคที่จังหวะไม่ดี ใช้คำซ้ำ ๆ มีคำเกินหรือขาด หรือเรียงคำไม่ดี ก็มันไม่น่าอ่าน เช่น

มีคนบาดเจ็บตายเป็นจำนวนมาก
มีภาษาพูดใหม่ ๆ และแปลกเกิดขึ้นมากมาย

ข้อ สังเกตอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับรูปประโยคก็คือ ประโยคคำถามอาจไม่ได้ใช้ถาม เพราะอยากรู้หรือถามเพราะสงสัย แต่ถามเพียงเพื่อเร้าความสนใจ หรือเพื่อแสดงความตื่นเต้น ความแปลกใจ อัศจรรย์ใจ ถ้าเปลี่ยนคำหรือตำแหน่งของคำบางคำอาจทำให้ประโยคแสดงเจตนาเปลี่ยนไปกลาย เป็นประโยคที่ถามเพื่อเร้าความสนใจหรือประโยคที่แสดงความอัศจรรย์ใจ เช่น

ไม่ใช่เราชาวตะวันออกเท่านั้นหรือที่เข้าถึงมนต์เสน่ห์แห่งหินมีค่านี้

ข้อบกพร่องที่พบในบทแปล แม้จะเป็นข้อบกพร่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็สมควรแก้ไขเพื่อให้บทแปลน่าอ่านยิ่งขึ้น

การ สัมมนาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมซักถามและแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ซึ่งคณะกรรมการศูนย์ส่งเสริมและเผยแพร่การใช้ภาษาไทยจะได้นำไปพิจารณาต่อไป การแปลต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ อาศัยความประณีต และต้องพึ่งพาทั้งภาษาไทยที่เป็นภาษาปัจจุบันและภาษาไทยโบราณ ตลอดจนผู้รู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ขอให้ผู้แปลมีความตั้งใจต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ พัฒนางานแปลให้มีคุณค่าขึ้น และกระจายความรู้ไปสู่สังคมทุกระดับ พัฒนาวิถีชีวิต ภูมิปัญญาของคนไทยให้มีคุณสมบัติเทียบเท่าชาติอื่น ๆ ในสังคมโลก.


Create Date : 26 กันยายน 2552
Last Update : 26 กันยายน 2552 22:52:44 น. 1 comments
Counter : 1697 Pageviews.

 
หวัดดีคะแวะมาทักทาย และแวะมาเอากล่องแชทมาติดไว้เพื่อไว้พูดคุยกับเพื่อนๆคะ ขออนูญาติเอามาติดไว้นะคะ
(ถ้าเคยเอาไปใส่แล้วใส่ซ้ำ ต้องขออภัยด้วยนะคะ)


โดย: benji2 วันที่: 26 กันยายน 2552 เวลา:23:51:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Flowery
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Flowery รักการเขียน รักการเรียนรู้ รักภาษาอังกฤษ รักการแปล และรักที่จะแบ่งปันประสบการณ์ความรู้
Friends' blogs
[Add Flowery's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.