เสพภาพยนตร์เป็นจานหลัก พักสายตาฟังเจป๊อบเป็นจานรอง ให้อาหารสมองด้วยโดระมะ แปลเนื้อเพลงญี่ปุ่นเป็นงานอดิเรก
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
18 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 

闇の子供たち(Yami no Kodomotachi AKA: The Children of the dark)




ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกถอดโปรแกรมออกจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากเนื้อหาในหนังขัดแย้งกับนโยบายและความต้องการของผู้จัดงาน (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ทั้งนี้ก็ต้องขอแสดงความเสียใจที่ทำให้คนไทยพลาดโอกาสได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

ทั้งนี้การที่กล่าวเช่นนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าหนังมันจะดีเด่จนต้องให้คนที่ไม่เคยสนใจหรือต่อต้านหนังเรื่องนี้จะต้องหันมาให้ความสนใจกับหนังเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะตัวหนังเองทั้งในแง่มุมด้านความบันเทิง การตีแผ่สังคม และการเสนอข้อคิดผ่านตัวหนังนั้น ไม่ได้เป็นส่วนผสมที่กลมกล่อมเสียเท่าไหร่

หนังกล่าวประเด็นการค้ามนุษย์ในประเทศไทย โดยพุ่งประเด็นไปที่เด็กและเยาวชนที่ถูกซื้อขายโดยพ่อแม่ของเด็กเองจากแหล่งเสื่อมโทรมต่าง ๆ โดยเล่าเรื่องผ่านนานบุ (เอกุจิ โยซุเกะ) นักข่าวชาวญี่ปุ่นซึ่งติดตามคดีการค้าอวัยวะภายในสำหรับการผ่าตัดให้กับเด็กชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง แต่แล้วเขาก็พบว่าจริง ๆ แล้วขบวนการค้าอวัยวะภายใน กับการค้าประเวณีเด็กนั้น เป็นขบวนการกลุ่มเดียวกัน


จากนั้นเขาก็ได้ไปแลกเปลี่ยนข้อมูลกับศูนย์ช่วยเหลือเด็กยากจนแห่งหนึ่งในกทม. ในขณะเดียวกันนั้นเองทางศูนย์ดังกล่าวก็กำลังตามหาเด็กในศูนย์ที่หายตัวไป และสืบพบว่าพ่อแม่ได้ขายเด็กคนนั้นกับขบวนการใต้ดินดังกล่าว อีกทั้งนานบุก็ได้พบกับอาสาสมัครชาวญี่ปุ่น โอตาวะ เคโกะ (มิยาซากิ อาโออิ) ที่เข้ามาช่วยเหลืองานของที่นั่น แน่นอนว่าการทำงานของนานบุ และเคโกะ นั้นสวนทางกัน โดยที่นานบุนั้นทำทุกวิถีทางเพื่อจะสืบเสาะหาข้อมูลมาทำข่าว ในขณะที่เคโกะนั้นสวมวิญญาณเอ็นจีโอเต็มที่ในการทำงานช่วยเหลือสังคม

จากการทำงานของนานบุ และ เคโกะ นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของตัวละครอีกสองตัว ได้แก่ โยดะ ฮิโรกิ (ทซึมาบุกิ ซาโตชิ) ช่างภาพอิสระชาวญี่ปุ่น ที่ใช้ชีวิตเสเพลไปวัน ๆ จนมีเรื่องถึงขนาดเข้าไปนอนในห้องข้งของโรงพักหลายครั้ง และ ชิมิซุ เทซึโอะ (โทโยฮาระ โคซุเกะ) หัวหน้างานของนานบุ
ครั้งแรกทั้งคู่เข้ามาช่วยงานของนานบุและเคโกะเป็นเพียงแค่เพื่อหาประโยชน์จากงานดังกล่าวเท่านั้น จนกระทั่งทั้งคู่เห็นความไม่ปกติในสังคมจนเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือสังคม

ปัญหาแรก ๆ ที่เห็นได้ชัดในหนังเรื่องนี้ คือการขาดความสมเหตุสมผลในหลายประเด็น
เช่น การที่เพียงแค่จดหมายจากซองบุหรี่ที่ อรัญญา เด็กที่หายตัวไปจากบ้านของศูนย์ช่วยเหลือเด็กนั้นถูกส่งมายังมูลนิธิ และคนในศูนย์สามารถรู้ได้ทันทีว่านี่เป็นของอรัญญา หรือการที่อยู่ ๆ อาสาสมัครคนหนึ่งอยู่ ๆ จะกลายเป็นกลุ่มเดียวกับฝ่ายคนกระทำผิด และสร้างความวุ่นวายที่ดูไม่สมเหตุสมผล

ปัญหาต่อมาคือ ปัญหาของการที่ผกก.ชาวญี่ปุ่นไม่สามารถควบคุมการแสดงของนักแสดงชาวไทยอย่างเห็นได้ชัด ประเด็นนี้แน่นอนว่าจะมีแค่ผู้ชมชาวไทยเท่านั้นที่จะรู้สึก นักแสดงไทยทั้งไปรมา รัชตะ, สุนทรีย์ ใหม่ละออ นั้นคงจะต้องเรียกว่าเป็นลักษณะของการโอเวอร์ แอกติ้ง ซึ่งหลายครั้งปัญหาของหนังก็ตกไปอยู่ที่บทพูด ซึ่งเข้าใจได้ว่าแปลจากภาษาญี่ปุ่นแบบตรงตัวเกินไป และก็พาลคิดไปได้ว่าอาจจะติดการแสดงจากงานทีวี(ของไทย)มามากกว่า

ปัญหาทั้งสองที่กล่าวมานั้นคงจะมาจากเรื่องของการตีความบทประพันธ์ดั้งเดิมที่เขียนโดย Yan Sogil (คนเขียนเดียวกับ Blood & Bones) ซึ่งเข้าใจได้ว่าน่าจะเป็นการตีโจทย์ไม่ออกและอาจจะไม่ได้เข้าใจสถานที่(ประเทศไทย)มากพอที่จะดัดแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้ดูสมเหตุสมผลดั่งที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ทั้งนั้น ส่วนที่ยังอยากจะชื่นชมในหนังเรื่องนี้ เห็นจะเป็นการไม่ได้ทำให้ภาพประเทศไทยดูแย่เกินไปในลักษณะของการพูดประเด็นในประเทศไทยผ่านสายตาของชาวต่างชาติ











 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2552
0 comments
Last Update : 18 พฤษภาคม 2552 18:29:17 น.
Counter : 1866 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Filmism
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Filmism's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.