เสพภาพยนตร์เป็นจานหลัก พักสายตาฟังเจป๊อบเป็นจานรอง ให้อาหารสมองด้วยโดระมะ แปลเนื้อเพลงญี่ปุ่นเป็นงานอดิเรก
Group Blog
 
 
กันยายน 2550
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
23 กันยายน 2550
 
All Blogs
 

"ก่อนฉันจะมายิ้มพูดกับทุกคนได้ ฉันเสียน้ำตาไปแล้วอย่างน้อย ๑ ลิตร" 「1リットルの涙」



เคยนึก ๆ ย้อนกลับไปว่า แต่่ก่อนชอบการชมภาพยนตร์ในโรงมากกว่าการนั่งดูพวกละครโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน และก็ค่อนข้างจะเป็นคนห่างเหินจากพวกซีรี่ย์ต่างประเทศ อาจจะเป็นเพราะว่า ไม่มีเวลามานั่งตามเวลาการออกอากาศ แถมถ้าจะดูเป็นดีวีดีแล้ว ก็ต้องนั่งดูกันทั้งวันทั้งคืนหละมั้ง แต่สุดท้าย มารู้ตัวอีกที กลายเป็นคนที่ติด J Dorama เอาหนักอยู่เหมือนกัน

ถ้าถามว่าด้วยชั่วโมงต่อชั่วโมงที่สามารถนั่งดูได้เป็นเวลานาน ๆ นี่ก็คงเป็นเพราะด้วยความเป็นสื่อโทรทัศน์ที่จำเป็นต้องทำให้การนำเสนอที่เน้นบทสนทนา และการแสดงอารมณ์ที่ตรงไปตรงมามากกว่าหนัง แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้โดรามะของพี่ยุ่นแกโดดเด่นอยู่ไม่น้อย ก็เห็นจะเป็นเรื่องของโปรดักชั่นที่เรียกได้ว่าพี่ท่านเนี๊ยบกว่าละครบ้านเราเป็นไหน ๆ อย่างน้อย ๆ พวกฉากห้องประชุม ก็สรรหาเอ็กตร้าได้เป็นร้อยคนละกัน (ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ช่วยก็ถือว่าเนียนอะนะ) ตัวละครเอกก็จะไม่ใช่ประเภทแสนดี ตัวร้ายก็ไม่ใช่ประเภทวีนบ้านแตก อิจฉาริษยากันเรื่องไร้สาระ และที่ผมว่าเสน่ห์อีกอย่างนึงคือ สกอร์ของละครนั้นทำขึ้นมาใหม่สำหรับละครเลยโดยเฉพาะ



ขอหยิบยกโดรามะเรื่องที่เพิ่งได้ชมจบไปอย่าง ichi rittoru no namida (1リットルの涙) หรือ 1 Litre of Tears มากล่าวถึงเล็กน้อยแล้วกันครับ เรื่องนี้ได้ยินจากผู้ที่เคยชมแล้วบอกว่า "เศร้านะ" "ร้องไห้แน่ ๆ" แต่ไอ้เราก็รู้ตัวอยู่ว่า บ่อน้ำตาลึก แถมภูมิต้านทานด้านละครหรือหนังเศร้าก็มีสูงกว่าคนอื่นอยู่เหมือนกัน แต่การเลือกละครเรื่องนี้มาชมก็ไม่ใช่การท้าทายความสามารถด้านต่อมน้ำตาของผมหรอกนะครับ หากแต่อยากลองดูหลาย ๆ แนวเสียมากกว่า เชื่อหรือไม่ว่าผมไม่ได้เสียน้ำตาให้กับละครตั้งแต่ตอนที่ ๑ ถึงตอนที่ ๑๐ เลยแม้แต่น้อย แต่กลับมาบ่อน้ำตาแตกในรอบหลายปีกับละครกับหนังนี่เอาตอน ๑๐ นาทีสุดท้ายของตอนจบ



เนื้อเรื่องของละคร1リットルの涙 ดัดแปลงมาจากหนังสือในชื่อเรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นบทบันทึกของคิโต อายะ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งตั้งแต่เธอป่วยเป็นโรค Spinocerebellar Degeneration จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายของเธอ โรคนี้ทางการแพทย์ทั้งในสมัยของเธอเมื่อประมาณเกือบสองทศวรรษมาแล้วจนกระทั่งในปัจจุบัน ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด และทางการแพทย์ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัด โดยอาการของโรค ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการทันที แต่ร่างกายของผู้ป่วยจะเริ่มทรุดหนักโดยเริ่มจากการหยิบจับของจะทำได้ลำบากขึ้น การเดินจะเริ่มมีปัญหาจนถึงเดินไม่ได้ การพูดก็ทำได้ลำบากขึ้น จะเริ่มพูดไม่รู้เรื่อง การเขียนจะเริ่มทำได้ลำบาก ลายมือจะเปลี่ยน จนในที่สุดก็จะแทบไม่ต่างจากคนที่เป็นอัมพาต แม้ว่าสมองยังสามารถรับรู้ได้เป็นปกติ จนกระทั่งสามารถเกิดโรคแทรกซ้อนที่ถึงกับเสียชีวิตได้

ช่วงเวลาในละครนั้นมีการปรับเปลี่ยนยุคสมัยจากสมัยของอายะในปี ๑๙๗๘ ถึง ๑๙๘๘ มาเป็นยุคปัจจุบัน และได้ทำการเปลี่ยนนามสกุลของตัวละครเพื่อให้ตัวเรื่องกลายเป็นเรื่องแต่ง และบทของอิเคอุจิ อายะ รับบทโดย ซาวาจิริ เอริกะ ซึ่งเราเห็นหน้าเห็นตาเธอมาหลายเรื่องอย่าง A Song to the Sun เวอร์ชั่นทีวี, Sugar & Spice แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่เธอมารับบทนำ และบทหลัก ๆ อื่น ๆ ก็ได้แก่ อิเคอุจิ ชิโอกะ คุณแม่ผู้ร่วมต่อสู้กับโรคร้ายของลูกสาว รับบทโดย ยากุชิมารุ ฮิโรโกะ ที่เคยเล่นเป็นคุณแม่ผู้ใจดีใน Always: Sunset on third Street คุณหมอมิซุโนะ รับบทโดย ฟุจิกิ นาโอะฮิโตะ



ละครเริ่มเรื่องจากตอนที่อายะมีอายุได้ ๑๕ ปี เธอเพิ่งจะสอบเข้าเรียนม.ปลายในโรงเรียนชื่อดังแถว ๆ บ้านได้ และได้พบกับ อะโซ เพื่อนนักเรียนร่วมชั้น ในระหว่างช่วงแรกที่เธอเข้าเรียน คุณแม่ซึ่งเป็นนักสุขอนามัยประจำท้องที่ ก็เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติของร่างกายและพฤติกรรมของอายะ จนกระทั่งวันที่อายะหกล้มอยู่ที่ถนนหน้าบ้าน และเกิดการบาดเจ็บที่คาง จึงเป็นโอกาสที่ให้แพทย์ในโรงพยาบาลตรวจสอบ และจึงได้รู้ว่า อายะเป็นโรค Spinocerebellar Degeneration เอง

อาการของอายะก็เริ่มแสดงให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ และช่วงแรกที่เธอได้ทราบอาการหลังจากที่แม่ของเธอปิดบังเธอมาระยะหนึ่ง ก็คงจะเป็นธรรมดาที่เธอจะำทำใจไม่ได้ ระหว่างนั้น ความหวังในการมีชีวิตของเธอก็ไม่ได้ลดน้อยลงไป ทั้งตัวเธอ และครอบครัวก็เป็นกำลังใจให้เธอตลอด ระหว่างเรื่อง เราจะไม่ได้รู้สึกเศร้ากับอาการป่วย หรือการที่เธอต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่น เรากลับรู้สึกดีไปกับเธอ เพราะด้วยความมีน้ำใจกับผู้คนรอบข้างของเธอแต่เดิม บวกกับความมีจิตใจดีของเธอตลอดมา แม้ว่า อุปสรรคที่เธอต้องเผชิญนั้น หากเกิดขึ้นกับเรา เราจะสามารถผ่านพ้นไปได้อย่างที่อายะทำได้หรือไม่



ระหว่างเรื่องนั้น จะมีการนำเอา้ข้อความต่าง ๆ ที่เป็นการให้กำลังใจตัวเองจากสมุดบันทึกระหว่างการรักษาตัว อยู่ตลอดเวลา นั่นแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเรียงร้อยถ้อยคำของเธอ ซึ่งปรากฏในละครไม่ว่าจะเป็นบทพูด หรือการขึ้นข้อความในตอนต้นและตอนจบในแต่ละตอน ข้อความเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่สะท้อนถึงความคิดและความรู้สึกของเธอในขณะนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ประโยคหนึ่งที่สะกิดใจผมและใครหลาย ๆ ซึ่งเป็นที่มาของเรื่อง นั่นคือคำพูดที่เธอต้องพูดหน้าชั้นเรียนก่อนที่เธอจะต้องย้ายจากโรงเรียนม.ปลาย ไปยังโรงเรียนเด็กพิการว่า "ก่อนฉันจะมายิ้มพูดกับทุกคนได้ ฉันเสียน้ำตาไปแล้วอย่างน้อย ๑ ลิตร"

จะว่าไปชีวิตของอายะที่เราเห็นในละครนั้น ไม่ไ้ด้ชวนเศร้าไปเสียตั้งแต่เริ่ม แต่มันค่อย ๆ สะสมความรู้สึกดี ๆ ต่าง ๆ จากคำพูด และการให้กำลังใจตัวเองในการเอาชนะโรคร้ายของเธอ ในละครก็จะเห็นว่า การให้กำลังใจตัวเองของเธอ ไม่ได้ทำให้ตัวเธอเองรู้สึกดีขึ้น แต่คนรอบข้างอย่่างหมอมิซุโนะ จนไปถึงอะโซ เพื่อนนักเรียนร่วมห้อง และอีกทั้งสารเหล่านั้นก็ยังไปกระทบกับผู้คนอีกนับล้าน จากการที่มีผู้นำเอาไดอารี่ของเธอไปตีพิมพ์ ซึ่งมันเหนือกว่าความคาดหมายของทุกคนรอบตัวเธอเสียด้วยซ้ำ



นอกจากนั้น อีกตัวละครหนึ่งที่เราจะลืมไปไม่ได้ เห็นจะเป็นชิโอกะ คุณแม่ของอายะ ผู้ที่ร่วมต่อสู้กับโรคร้ายของอายะ ด้วยความนิสัยที่โอบอ้อมอารีของตัวชิโอกะเองแล้ว ก็คงจะเห็นได้ชัดว่า อายะได้ส่วนดี ๆ มาจากแม่เธอมาก และการต่อสู้กับโรคร้ายนั้น ผู้เป็นแม่อย่างชิโอกะก็ไม่เคยทอดทิ้งลูกเสมอมา หลังจากที่อายะเสียชีวิต เธอก็ได้เขียนไดอารี่อีกเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบันทึกถึงการเลี้ยงดูอายะในช่วงที่เธอป่วย และเป็นเหมือนกับการพูดคุยส่วนตัวระหว่างเธอกับลูกสาว

คุณค่าของการมีชีวิตที่อายะถ่ายทอดออกมาจากความรู้สึกทั้งหมดนั้น จะกลั่นออกมาไม่ได้ หากผู้เธอไม่ได้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่คอยเป็นกำลังใจสำคัญให้เธอ รวมไปถึงความเป็นเด็กฉลาด มีน้ำใจ และโอบอ้อมอารีของเธอ พื้นฐานที่สำคัญของสถาบันครอบครัวนั่นเอง ที่บ่มเพาะให้เธอเป็นผู้ที่คิดดีทำดี แม้ว่าโรคร้ายจะค่อย ๆ บั่นทอนจิตใจเธอก็ตาม



จากบรรทัดต่อบรรทัด ข้อความแต่ละข้อความที่ละเมียดบรรจงเขียนออกมาของอายะ คงจะทำให้เราค่อย ๆ ระลึกถึงการมีคุณค่าของการมีชีวิต และคอยย้ำเตือนเราว่า ทุกคนไม่ได้เผชิญกับสิ่งเลวร้ายอยู่คนเดียว คงจะเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้คนได้ดี กว่าสองทศวรรษที่หนังสือนี้ได้กระจายไปทั่วประเทศนั้น คงจะเป็นความสำเร็จของตัวเธอ ที่หวังจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น แม้ว่าเธออาจจะไม่ได้รับรู้ความสำเร็จนั้นแล้วก็ตาม


รูปของคิโต ชิโอกะแม่ของอายะตัวจริง กับซาวาจิริ เอริกะ ผู้รับบทอายะ ในงานนิทรรศการรูปถ่ายของอายะที่จัดขึ้นในร้านหนังสือในกรุงโตเกียว

อ้างอิง
รายการพิเศษโปรโมตละครในดีวีดีชุด 1 リトッルの涙 บทบรรยายไทยโดยคุณ Freeze
//www.d-addict.com
//www.wikipedia.com




 

Create Date : 23 กันยายน 2550
0 comments
Last Update : 24 กันยายน 2550 15:50:55 น.
Counter : 2301 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Filmism
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Filmism's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.