เสพภาพยนตร์เป็นจานหลัก พักสายตาฟังเจป๊อบเป็นจานรอง ให้อาหารสมองด้วยโดระมะ แปลเนื้อเพลงญี่ปุ่นเป็นงานอดิเรก
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2555
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
27 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 
GIRL (a.k.a.ガール) ไม่เสียดายที่เกิดเป็นผู้หญิง




ถ้ายังจำกันได้เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีหนังไทยแนวผู้หญิงอายุสามสิบออกมาสร้างกระแสกันจนเรียกได้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมก็ยังทำอะไรพวกเธอไม่ได้ บังเอิญจริง ๆ ที่ GIRL หนังญี่ปุ่นที่เพิ่งมีโอกาสได้เข้าโรงไปดูนั้น มันก็พูดถึงผู้หญิงในช่วงวัยสามสิบเช่นกัน ตอนแรกก็ไม่ได้คาดหวังกับหนังเรื่องนี้สักเท่าไหร่ แต่พอได้ดูแล้วกลับรู้สึกว่าหนังมันมีประเด็นน่าสนใจอยู่เหมือนกัน ที่บอกว่าหนังมีอะไรน่าสนใจนั้นต้องออกตัวก่อนว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังในกระแสดูสบาย ๆ เบา ๆ และสนุกแบบกลาง ๆ ไม่ได้มีอะไรหวือหวาหรือสมควรจะได้รับรางวี่รางวัลเกี่ยวกับภาพยนตร์แต่อย่างใด แต่อาจเป็นเพราะตัวเองก็เข้าใกล้วัยนี้เข้าไปทุกที ๆ (แม้ตัวเองจะเป็นผู้ชายก็เหอะ) ซึ่งความคิดเรื่อง งาน ความรัก ครอบครัว อนาคต ก็น่าจะอยู่ในแบบคล้าย ๆ กัน จึงรู้สึกมีอารมณ์ร่วมอย่างบอกไม่ถูก

ที่เกริ่นถึงกระแสหนังสาววัยสามสิบในบ้านเราเมื่อปีที่แล้วขึ้นมาก่อน ก็เพราะว่ามันอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบถึงสักหน่อย ใครที่กำลังอ่านบทความนี้อย่าเพิ่งหาว่าผมอคตินะครับ แต่จะชี้แจงว่าหนังที่ดูเบา ๆ สบาย ๆ นั้น ประเด็นในหนังไม่จำเป็นต้องเบาโหวงไปซะทุกครั้งไป ถ้าเทียบกับหนังสาวสามสิบของบ้านเราสองเรื่องในปีที่แล้ว ตัวละครที่เป็นตัวแทนสาวสามสิบ ซึ่งหน้าที่การงานนั้นเรียกว่าลงตัวแล้ว ถ้าจะขาดก็แต่เรื่องความรัก หนังเหล่านั้นเลยพยายามสร้างภาพพาฝันให้กับผู้ชมที่อาจจะมีลักษณะร่วมกับสาวสามสิบในหนังให้มีความหวังกับความรักที่อาจจะเกิดขึ้นในไม่ช้า หนำซ้ำบางทีจะได้เด็กผู้ชายน่ารัก ๆ สักคนเข้ามาทำให้จิตใจกระชุ่มกระชวย เนื้อหาหนังก็เลยจะยังวนเวียนอยู่กับความรักกุ๊กกิ๊กที่เติมเต็มชีวิตที่เกือบจะสมบูรณ์แล้ว หรือจะว่ากันจริง ๆ ก็เหมือนกับหนังกำลังพยายามให้ความหวังแบบลม ๆ แล้ง ๆ กับสาววัยทำงานที่ใกล้ขึ้นคานเต็มแก่ แต่ในโลกความเป็นจริงแล้ว ชีวิตของผู้หญิงบางคนในวัยนี้ที่หน้าที่การงานดูมั่นคง หรือแม้กระทั่งบางคนที่ลงจากคานทองได้แล้ว ในรายละเอียดกลับไม่ได้สมบูรณ์แบบในทุกด้านอย่างที่หลายคนคิด และด้วยเหตุที่หนังเรื่อง GIRL มันพูดถึงประเด็นปัญหาที่ผู้หญิงวัยสามสิบต้องพบเจอในชีวิตจริงซึ่งมันหลากหลายกว่านั้นแหละครับ ที่ทำให้ผมอยากจะแนะนำหนังเรื่องนี้ เพราะหนังมันให้เนื้อหาที่น่าสนใจมากไปกว่าเรื่องมายาคติแบบเพ้อฝัน 



ตัวหนังเองเล่าถึงตัวละครหญิงสี่คนที่บังเอิญมาสนิทสนมกันจากการเข้าคอสทำขนมในวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งตัวละครเหล่านี้มีอายุไล่ ๆ กันตั้งแต่ 29 ไปจนถึง 36 ปี การดำเนินเรื่องในหนังเป็นการเล่าถึงชีวิตของแต่ละคนในแบบคู่ขนานและตัดสลับกันไปทั้งเรื่อง โดยที่ตัวละครแต่ละตัวจะเสมือนกับตัวแทนในแต่ละด้านของผู้หญิงยุคปัจจุบัน



1. ยูกิโกะ (คาริน่า) คือตัวแทนของผู้หญิงในด้านความงาม ยูกิโกะทำงานในวงการแฟชั่น อายุ 29 ปี ซึ่งแน่นอนว่าเป็นวัยที่กำลังคาบเกี่ยวจากเลขสองเป็นเลขสาม หรือจากสาวรุ่นเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ทว่ายูกิโกะเองอาจจะด้วยมีความชื่นชอบเรื่องแฟชั่นเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เธอก็ยังคงแต่งตัวแบบที่เรียกว่าแทบจะถอดมาจากนิตยสารแฟชั่นรายสัปดาห์มาเลยทีเดียว

หนังวางเรื่องการแต่งตัวของยูกิโกะเป็นเส้นแบ่งระหว่างความเป็นสาวรุ่นและความเป็นผู้ใหญ่ จริงอยู่ว่าเธอมีตำแหน่งแห่งที่ในบริษัทที่ไม่ได้ด้อย ๆ และยังต้องรับผิดชอบโปรเจกต์ใหญ่ของบริษัทเสียด้วยซ้ำ รุ่นน้องหลายคนก็อิจฉาเธอที่สามารถทำงานในโลกสวย ๆ งาม ๆ แบบที่ตัวเองชอบ และหน้าที่การงานก็ไปได้ดี 



แต่ในช่วงอายุคาบเกี่ยวระหว่างเลขสองกับเลขสามนี่แหละ ก็เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ยูกิโกะต้องคิดถึงว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร มีตัวละครอีกหนึ่งตัวที่ถูกนำเข้ามาเป็นแบบอย่างกับชีวิตของเธอนั่นก็คือ ฮารุมิ (ดัน เร) รุ่นพี่ในบริษัทวัย 38 ปี ซึ่งหากยูกิโกะยังคงใช้ชีวิตแบบสนุกไปวัน ๆ แต่งตัวแบ๊ว ๆ แบบที่เป็นอยู่ไปเรื่อย ๆ สภาพของเธอในอายุที่สูงขึ้นก็ยังคงคล้าย ๆ กับฮารุมิในตอนนี้ แม้ว่าสถานภาพในบริษัทจะสูงขึ้นก็ตาม หนำซ้ำคนในบริษัทยังมองฮารุมิด้วยสายตาแปลก ๆ และที่สำคัญที่สุดคือ ฮารุมิในวัย 38 นี้ยังโสด



แต่ใช่ว่ายูกิโกะจะไม่ได้มีใครคบหาเสียเลย เธอคบกับเพื่อนสมัยเรียนอย่าง อาโอตะ (มุไก โอซามุ) ซึ่งยิ่งด้วยความที่ยูกิโกะเป็นคนให้ความสำคัญกับเสื้อผ้าหน้าผมที่อาจจะเป็นพิเศษกว่าสาว ๆ คนอื่น ก็แน่แหละเธอก็มักจะพยายามแต่งตัวมาอวดแฟน แต่อาโอโตะก็กลับไม่ได้สนใจมันเลยสักนิด ทำให้ยูกิโกะหงุดหงิดจนเหวี่ยงใส่แฟนเสียทุกครั้งไป จริง ๆ ก็น่าหงุดหงิดอยู่เหมือนกันที่แฟนไม่ได้ใส่ใจกับรายละเอียดตรงนี้ แต่ในบางภาวะมันกลับบอกกับเราว่ายูกิโกะก็ยังมีความเอาแต่ใจในแบบสาวรุ่นอยู่ด้วยเช่นกัน

หนังเริ่มพาให้ยูกิโกะถูกภาวะกดดันว่าเธอจะยังแอ๊บไปได้ถึงเมื่อไหร่ รวมไปถึงการถูกพูดจาเสียดแทงจากฮิโรโกะ (คาโต้ โรซ่า) คนทำงานในบริษัทลูกค้าของบริษัทที่ยูกิโกะทำงานอยู่ ในเรื่องการวางตัวที่ไม่เป็นผู้ใหญ่เอาเสียเลย รวมทั้งในวันที่ยูกิโกะต้องไปงานเลี้ยงรุ่นของมหาวิทยาลัยก็พบว่าเพื่อน ๆ ในรุ่นเดียวกันก็หอบลูกหอบเต้ามาอวดกันหมดแล้ว ทำให้เธออยู่ในภาวะที่ต้องการความเป็นผู้ใหญ่ และนั่นเองทำให้เธอหันมาแต่งตัวแบบเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

แต่ในท้ายที่สุด หนังไม่ได้จบลงว่าหากยูกิโกะต้องการเติบโตขึ้นหรือมีชีวิตคู่ที่ดีขึ้นนั้น เธอจะต้องเลิกทำตัวบ้าแฟชั่นและหันมาทำในแบบที่สังคมบอกให้ทำเสียที แต่หนังกลับทิ้งข้อสรุปเอาไว้จากเหตุการณ์ในวันแสดงแฟชั่นโชว์ของบริษัทเธอ ที่บังเอิญนางแบบคนหนึ่งมาไม่ได้ และทีมงานทุกคนก็ลงความเห็นให้ฮิโรโกะช่วยเดินแฟชั่นแทน เพราะเป็นคนเดียวที่รู้คิวงานของนางแบบทั้งหมด คาแรกเตอร์ของฮิโรโกะถูกวางไว้ให้เป็นขั้วตรงข้ามกับยูกิโกะแต่ต้นคือทำตัวเป็นผู้ใหญ่และเอาจริงเอาจังกับงานจนเหมือนกับว่าเธอแทบจะหาความสุขในชีวิตไม่ได้ และแน่นอนว่าเธอปฏิเสธเรื่องแฟชั่น แต่สุดท้ายเมื่อสไตลิสต์จับเธอแต่งหน้าทำผม และให้เธอได้อวดความงามที่มันซ่อนอยู่ในตัวเธอกับผู้คนในงาน เสียงชื่นชมจากผู้คนที่ได้เห็นความงามของฮิโรโกะนี่แหละที่ทำให้เธอมีความสุขในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ข้อสรุปดังกล่าวได้บอกกับเราว่าความงามนั้นเป็นสิ่งที่มันมาพร้อมกับตัวผู้หญิงทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่มันอาจจะต้องรอเวลาและภาวะที่เหมาะสมที่จะได้อวดโฉมออกมาเท่านั้น



2. เซโกะ (อาโซ คุมิโกะ) เป็นตัวแทนในด้านความเด็ดเดี่ยว เซโกะเป็นสาวทำงานวัย 34 ปีที่ทำงานในบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง เซโกะแต่งงานอยู่กินกับสามีแล้ว และยังไม่มีลูก ในหนังเองเซโกะในอายุ 34 ได้ถูกเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้จัดการแผนกซึ่งต้องดูแลลูกน้องอีกหลายชีวิต รวมถึงโปรเจกต์ขิ้นสำคัญของบริษัท

ทว่าเอาเข้าจริงในสังคมญี่ปุ่นเองก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ชายก็ยังคงจะมีอัตตาหรือความถือตัวในความเป็นผู้นำ และไม่อาจจะยอมอยู่ภายใต้การนำของเพศหญิง ในหนังเองก็มีตัวละครอย่าง อิมาอิ (คานาเมะ จุน) เป็นตัวแทนของผู้ชายแบบนั้น การกระทำของอิมาอินั้นดูจะแอนตี้การนำทีมของเซโกะแบบออกนอกหน้า ด้วยคำพูดเสียดแทง ดูถูก และการทำงานแบบข้ามหน้าข้ามตาโดยไม่มีการรายงานให้หัวหน้าแผนกให้รับรู้ เพื่อจะแสดงให้ทุกคนเห็นว่าตัวเองมีศักยภาพที่เหนือกว่า



ในภาคชีวิตส่วนตัว สามีของเซโกะเองกลับเป็นผู้ชายเรียบ ๆ บ้าน ๆ ไม่ได้มีหน้าที่การงานหวือหวาเท่ากับเซโกะ หรือถ้าจะเรียกกันจริง ๆ คือบ้านนี้สามีเป็นพ่อบ้านและรับงานอื่นมาทำที่บ้านเฉย ๆ  ส่วนภรรยาออกไปทำงานนอกบ้านมีตำแหน่งแห่งที่ในบริษัท ซึ่งสามีเธอเองก็ไม่ได้รู้สึกอึดอัดหรือปฏิเสธกับความจริงในข้อนี้สักเท่าไหร่ แต่กับคนภายนอก โดยเฉพาะกับคนที่บริษัทกลับให้ภาพของเซโกะเป็นคนที่พยายามอยู่เหนือผู้ชาย ทั้งที่ในตัวเธอเองกลับไม่เคยมีความคิดเหล่านั้นอยู่



แน่นอนว่าถ้าไม่มีแรงกดดันจากภายนอกในเรื่องของผู้หญิงผู้ชายแล้ว เซโกะสามารถทำงานใหญ่ที่ตนเองรับผิดชอบได้อย่างไม่แพ้ผู้ชายเลย แต่ด้วยความที่เซโกะต้องอยู่ในสังคมที่แวดล้อมด้วยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ การที่เธอจะได้พิสูจน์ฝีมือในการทำงานให้ทุกคนยอมรับนั้นมันไม่ได้สะดวกสบายเอาเสียเลย หนำซ้ำยิ่งเจอตัวละครอย่างอิมาอิ ที่เปิดฉากฉะกับเธอตลอดเวลาด้วยแล้ว ยิ่งซ้ำเติมความมีอคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิงเข้าไปอีก

ในหนังมีอีกตัวละครหนึ่งที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงที่จะต้องพิสูจน์ตัวเองในการทำงาน นั่นคือ ยูโกะ (ฮารุ) ซึ่งเป็นรุ่นน้องในบริษัทของเซโกะ และถูกมอบหมายให้ทำงานรับผิดชอบในโปรเจกต์เดียวกับอิมาอิ แน่นอนว่าอิมาอิทำทุกอย่างข้ามหน้าข้ามตายูโกะ และให้ยูโกะเข้ามาช่วยแค่เป็นลูกมือเฉย ๆ โดยไม่คิดจะฟังความเห็นใด ๆ จากยูโกะทั้งสิ้น ด้วยอายุและประสบการณ์ของยูโกะที่ยังน้อย บวกกับการต้องถูกเหยียดหยามจากอิมาอิ นั่นก็ทำให้ยูโกะต้องเสียความมั่นใจในการทำงานไปไม่น้อย ซึ่งในภาวะนี้ เซโกะเองจึงต้องมีหน้าที่ต่อยูโกะทั้งหัวหน้างาน และพี่สาวที่คอยแนะนำให้เธอต่อสู้อย่างไรในสภาวะการณ์แบบนี้

ส่วนตัวแล้วผมชื่นชมตัวละครตัวนี้มากครับ เพราะในที่สุดเธอสามารถใช้ความเป็นผู้หญิงที่มีการใส่ใจในรายละเอียดมากกว่า เอาชนะอีโก้บ้า ๆ ของผู้ชายได้สำเร็จ เหตุการณ์เกิดในวันที่ทีมของเคโกะต้องนำเสนอแผนโครงการของตึกอเนกประสงค์ที่กำลังจะสร้างขึ้นมาใหม่ อิมาอิเป็นผู้ที่นำเสนอแผนการณ์ดังกล่าว และก็ยังคอยหักหน้าหัวหน้างานของตัวเองเหมือนที่เคย ๆ ทำมา จนกระทั่งเซโกะต้องขอแตกหักด้วยการนำเสนอแผนโครงการที่เธอให้ยูโกะเตรียมขึ้นมาใหม่ ซึ่งในรายละเอียดแล้ว เซโกะได้แสดงความเป็นมืออาชีพในการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคและการคืนกำไรให้กับสังคม ก่อนที่จะนำเสนอในแผนร่างใหม่ ตรงนี้เองที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดของเซโกะที่ทำงานโดยคำนึงถึงจิตใจของคนที่จะเข้ามาใช้สถานที่ มากกว่าการออกแบบเพื่อให้สถานที่ดูยิ่งใหญ่ในเชิงธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว

ในหนังเองก็ยังมีฉากแตกหักระหว่างเซโกะกับอิมาอิอีกหนึ่งฉากหลังจากนั้น คนที่ไปดูมาแล้วคงจะรู้ว่าผมกำลังหมายถึงฉากไหน แต่สำหรับคนที่ยังไม่ได้ดูก็ขอเก็บไว้ให้ไปดูกันเอง สิ่งหนึ่งที่มันสะท้อนจากเรื่องราวของเซโกะคึอ เธอเป็นเพียงแค่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานเก่งเท่านั้น ไม่ได้มีความรู้สึกที่อยากจะกดใครลงต่ำ หรือมีความเป็นเฟมินิสต์ในตัวเหมือนที่หลาย ๆ คนพยายามยัดเยียด ในท้ายที่สุดหลังจากภาวะเครียด ๆ ของเซโกะสิ้นสุดลง เราจะได้เห็นอีกมุมที่เธอแอบไปนั่งร้องไห้ในห้องน้ำ หรือกลับบ้านเพื่อขอเพียงแค่ได้ซบอกสามี นั่นก็ยังคงแสดงให้เห็นถึงข้างในของผู้หญิงแล้วว่าลึก ๆ เธอก็ยังคงมีความละเอียดอ่อน และเปราะบางอยู่เช่นกัน เพียงแต่เธออาจต้องแสดงความเด็ดเดี่ยวในบางเวลา



3.โยโกะ (คิจิเสะ มิจิโกะ) คือตัวแทนในด้านความรัก เนื้อเรื่องในภาคของโยโกะนั้นอาจจะคล้ายกับพวกหนังสาวสามสิบอยากกินเด็กที่เกริ่นมาตอนต้นอยู่บ้าง แต่การนำเสนอในหนังเรื่องนี้ดูไม่แฟนตาซีขนาดนั้น

โยโกะเป็นสาวพนักงานบริษัทขายอุปกรณ์เครื่องใช้ในสำนักงาน อายุ 34 ปี ซึ่งตำแหน่งหน้าที่การงาน แน่นอนว่าอยู่ในระดับหัวหน้างานแล้ว แต่กระนั้นเองโยโกะยังเป็นสาวโสดวัยสามสิบกว่า ที่ยังไม่มีคู่ครอง และก็ไม่มีทีท่าว่าจะมี โยโกะเองก็ยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านพ่อบ้านแม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้หญิงในวัยอย่างเธอน่าจะแต่งงานมีครอบครัว หรืออย่างน้อยที่สุดก็ออกไปใช้ชีวิตด้วยตนเองได้แล้ว

ในสภาพที่ทำงานของโยโกะอาจจะไม่ได้เจอกับภาวะกดดันมากเท่ากับเซโกะ เพราะในบริษัทนั้นแวดล้อมด้วยพนักงานที่เป็นผู้หญิงอยู่มาก จึงไม่ได้มีภาวะที่ต้องชิงดีชิงเด่นระหว่างชายกับหญิง หนำซ้ำในบริษัทเองโยโกะก็มีความอาวุโสกว่าบรรดาพนักงานคนอื่น ๆ จึงทำให้หลาย ๆ คนเกรงใจ แต่กระนั้นเอง ในความที่หน้าที่การงานก็ดูลงตัวอยู่แล้ว สิ่งที่ยังคงไม่ถูกเติมเต็มของชีวิตโยโกะก็คงเป็นเรื่องความรัก



จนวันหนึ่ง วาดะ (ฮายาชิ เคนโต) พนักงานชายอายุน้อยที่เพิ่งจะเข้ามาใหม่ ได้เข้ามาในชีวิตของโยโกะ โยโกะต้องเป็นหัวหน้างานของวาดะ ซึ่งบรรยากาศในบริษัทหลังจากที่วาดะเข้ามาเหมือนกับจะกระชุ่มกระชวยมากขึ้น บรรดาพนักงานสาวน้อยสาวใหญ่ในบริษัทก็รู้สึกกระปี้กระเป่า และพยามเอาใจวาดะเป็นพิเศษ

ด้วยหัวโขนที่โยโกะต้องเป็นหัวหน้างานวาดะ แม้ว่าลึก ๆ ก็แอบปลื้มน้องผู้ชายคนนี้อยู่ไม่น้อย แต่การรักษาภาพพจน์ในที่ทำงานก็ดูเหมือนว่าจะสำคัญกว่า ทำให้โยโกะไม่กล้าแสดงออกในแบบเดียวกับที่พวกพนักงานคนอื่น ๆ พยายามทำ เช่นซื้อขนมมาฝาก ชวนไปกินข้าว หรือเอาใจสารพัด เธอจึงได้แต่นั่งมองอยู่ห่าง ๆ 

จนในที่สุดเมื่อมีพนักงานสาวอีกคนหนึ่ง ซึ่งทั้งสวย ทั้งเอ็กซ์ แถมยังดูจะเกี้ยวพาราสีผู้ชายแบบเป็นงานก็เข้ามารบกวนจิตใจโยโกะ จนสภาวะความเป็นหัวหน้าของโยโกะต้องหย่อนยานไปหลายครั้ง เช่นการพูดจาขัดคอกับพนักงานสาวคนนั้น จนพวกพนักงานคนอื่น ๆ แอบเอาไปนินทา หรือการที่โยโกะกระโดดลงจากรถ และทำท่าเปิ่น ๆ ออกมาหลังจากที่บังเอิญไปเจอวาดะกับผู้หญิงคนนั้นเดินกันเข้าไปในบาร์ของโรงแรมโดยบังเอิญ ซึ่งหารู้ไม่ว่าแท้ที่จริงแล้ว ผู้หญิงคนนั้นเป็นเพียงเพื่อนสมัยเรียนกับวาดะเท่านั้น

ท้ายที่สุดแล้ว ความสัมพันธ์ของวาดะ กับโยโกะก็ไม่ได้มีบทสรุปอันใด ในหนังก็มีทิ้งท้ายไว้แค่วันหนึ่งโยโกะยอมที่จะเดินเข้าไปชวนวาดะออกไปข้างนอก โดยทิ้งหัวโขนและภาพพจน์บางอย่างเพื่อที่จะทำตามใจตัวเองสักครั้ง 

ในบรรดาเรื่องทั้งสี่เรื่องนั้น เรื่องของโยโกะดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่อ่อนที่สุด เพราะมันเป็นพล็อตที่เดาได้ไม่ยาก 



4. ทาคาโกะ (อิตายะ ยูกะ) คือตัวแทนในด้านความเข้มแข็ง ทาคาโกะเป็นซิงเกิ้ลมัม ลูกชายหนึ่งในวัย 36 ปี ตัวละครตัวนี้ต่างจากอีกสามตัวที่เหลือตรงที่ หน้าที่การงานอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เธอโฟกัสมากที่สุด แต่เธอกลับให้ความสำคัญกับลูกชายของเธอเป็นอันดับแรก

ทาคาโกะ มีเหตุต้องเลิกกับสามีโดยที่ในหนังก็ไม่ได้บอกกับเราตรง ๆ แต่สิ่งที่เธอคิดคือ การที่เธอเลือกที่จะดูแลลูกชายด้วยตนเองคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกเธอ ตรงนี้เองทำให้เธอต้องพยายามหนักกว่าผู้หญิงที่มีครอบครัวแบบพ่อแม่ลูกที่เขาควรจะเป็นกัน 



แน่นอนว่าครอบครัวของทาคาโกะนั้น ขาดคนซึ่งทำหน้าที่ของความเป็นพ่อ นั่นแสดงว่าทาคาโกะเองต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ในคน ๆ เดียวกัน แถมการเลี้ยงลูกผู้ชายนั้นอาจจะเป็นเรื่องลำบากสำหรับผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งอย่างทาคาโกะ เพราะเธออาจจะไม่ได้เข้าใจในบางแง่มุมของผู้ชายที่จะเธอจะสามารถมอบให้กับลูกเธอได้เหมือนกับเด็กผู้ชายคนอื่น ๆ โดยเฉพาะประเด็นที่หนังวางเอาไว้คือเรื่องของกีฬา ซึ่งทางโรงเรียนแจ้งกลับมาที่ทาคาโกะว่า ลูกชายเธอทำคะแนนในวิชาพละได้แย่มาก 

นั่นอาจเป็นเพราะลูกชายเธอไม่ได้มีช่วงเวลาของการวิ่งเล่น หรือการฝึกทักษะในด้านร่างกายเหมือนกับเด็กผู้ชายคนอื่น ๆ ที่จะได้รับจากคนเป็นพ่อ หนำซ้ำสังคมรอบ ๆ ตัวทาคาโกะเองก็มีแต่ผู้หญิง นั่นเองที่ทำให้ทาคาโกะ ต้องพยายามทุ่มเทในส่วนนี้ที่ขาดหายไป เราจะเห็นในหลาย ๆ ฉากที่ทาคาโกะ ต้องฝึกเล่นแคชบอล หรือ โหนเสา ซึ่งแน่นอนว่าเธอไม่ได้ถนัดเอาเสียเลย แต่เธอต้องทุ่มเททุกอย่างเพื่อไม่ให้ลูกของเธอรู้สึกขาดในสิ่งที่เด็กคนอื่น ๆ เขาได้รับกัน 

แต่ความพยายามที่มีมากเกินไปของทาคาโกะเอง ในบางครั้งก็มากเกินจะรับไหว และอาจทำให้ลูกชายเธออึดอัดในบางเวลา จนกระทั่งวันหนึ่งมีการติดต่อจากสามีของเธอ และเขาก็ขอพบลูกชายบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรกับการที่เด็กจะได้เจอหน้าพ่อบ้าง ในภาวะที่เหนื่อยเอามาก ๆ เธอก็อาจจะมีความคิดที่อยากจะให้ใครเข้ามาแบ่งเบาภาระนี้ไปบ้าง แต่สุดท้ายแล้วทาคาโกะเองก็คิดถึงสิ่งที่ดีที่สุดที่เธอจะให้กับลูกได้ว่า การที่ลูกต้องพัดพรากจากพ่อเป็นเวลานานและข้อเสนอจากสามีนั้นคงไม่สามารถที่จะทำให้ลูกชายของเธอมีภาวะจิตใจที่เป็นสุขได้แน่ เธอจึงตัดสินใจที่จะเลี้ยงดูลูกด้วยตนเองต่อไป เรื่องราวของทาคาโกะนั้น บ่งบอกถึงความน่านับถือของสตรีเพศแม่ ที่มีความเข้มแข็งและสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกของตัวเองได้สิ่งที่ดีที่สุด แม้ว่าเธอไม่อาจจะให้มันสมบูรณ์แบบได้ไปซะทุกเรื่อง 



จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบของชีวิตผู้หญิงนั้น ความสวยงาม ความเด็ดเดี่ยว ความรัก และความเข้มแข็งที่ตัวละครทั้งสี่ได้แสดงให้เราเห็น เป็นสิ่งที่จำเป็นกับผู้หญิงในสังคมปัจจุบันมาก ๆ บางครั้งมุมมองของชีวิตพวกเธอก็อาจจะสะท้อนอะไรบางอย่างที่อยู่ในตัวเราก็เป็นได้

ขอเพิ่มเติมในส่วนที่มาที่ไปของหนังสักเล็กน้อยครับ หนังเองสร้างจากบทประพันธ์ชื่อเดียวกัน เขียนโดย โอคุดะ ฮิเดโอะ ซึ่งเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ถูกเขียนลงในนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง ในบทประพันธ์ต้นฉบับ เป็นการรวมเรื่องของผู้หญิงห้าคนห้าเรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกันโดยตรง แต่ผู้สร้างได้ปรับเรื่องทั้งหมด โดยการเลือกเพียงสี่เรื่องจากทั้งหมด และนำมาร้อยเรียงให้เป็นเรื่องเดียวกัน โดยใช้การตัดสลับกันไปตลอดทั้งเรื่อง

ในส่วนของผกก. นั้น หนังกำกับโดย ฟุกะงะวะ โยชิฮิโระ ซึ่งอยากให้จับตาผกก.คนนี้ไว้ ผกก.คนนี้ ฝากผลงานที่น่าดูไว้หลาย ๆ ชิ้น อาทิ 60歳のラブレター, 半分の月がのぼる空, 白夜行 (2011), 洋菓子店コアンドル, และ 神様のカルテ ซึ่งในสายเมนสตรีมแล้ว ก็เรียกได้ว่าเป็นผกก.ที่น่าจับตามองไม่น้อย 



Create Date : 27 พฤษภาคม 2555
Last Update : 1 มิถุนายน 2555 23:30:26 น. 3 comments
Counter : 4548 Pageviews.

 
อ่านรีวิวแล้วน่าดูมากเลยค่ะ


โดย: มะนาวเพคะ IP: 101.109.186.45 วันที่: 27 พฤษภาคม 2555 เวลา:15:28:24 น.  

 
ว่าจะไปดูเหมือนกันค่ะ รอวันพุธ Lady day ก่อน


โดย: cheetZz (kinebibrabra ) วันที่: 27 พฤษภาคม 2555 เวลา:19:32:48 น.  

 
แวะมาเยี่ยมคราบๆ


โดย: teayneverdie วันที่: 30 พฤษภาคม 2555 เวลา:0:39:33 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Filmism
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add Filmism's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.