VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
หน่วยยานเกราะ หรือ แพนเซอร์ของเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนที่ 1

ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่ 2



หน่วยยานเกราะ หรือแพนเซอร์ ของนาซีเยอรมัน
ในสงครามโลกครั้งที่สอง ตอนที่ 1

จาก //www.geocities.com/saniroj

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ





รถถังแบบ Panzer IV ติดตั้งปืนใหญ่ 75 ม.ม. ในภาพนี้เป็นรถถังของกองพลยานเกราะที่ 2 (2nd Panzer Division) ของกองทัพบกเยอรมัน (Heer) โดยจะเห็นสัญญลักษณ์ของหน่วยอยู่ตรงช่องพลขับทางด้านขวามือของภาพ ซึ่งต่างจากกองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 (2nd SS. Panzer Division) ซึ่งเป็นของหน่วยเอส เอส (Waffen SS)

รถถังรุ่นนี้เป็นแกนหลักของหน่วย Panzer ตั้งแต่ในระยะแรกๆ ของการรบของกองทัพเยอรมัน จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เนื่องจากการพัฒนารถถังรุ่นใหม่ๆ ของรัสเซียและพันธมิตร ทำให้เยอรมันต้องพัฒนารถถังแบบใหม่ๆ ขึ้นมาเสริม อย่างไรก็ตาม Panzer IV ก็ยังคงมีบทบาทในกองทัพยานเกราะนาซีเยอรมันจนถึงปลายสงคราม



-------------------------------------



ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันถูกจำกัดอาวุธจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์ (Treaty of Versailles) ทำให้เยอรมันต้องพัฒนารถถังขึ้นมาภายใต้ชื่อโครงการรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร แม้ว่าการใช้รถถังจะถูกคิดขึ้นมาจากนักคิดชาวอังกฤษ แต่นายพล ไฮน์ กูเดเรียน (Heinz Guderian) ของเยอรมันเป็นผู้คิดที่จะนำเอารถถังมาใช้ในการรบแบบ สายฟ้าแลบ (Blitzkrieg) ซึ่งมีหลักคือใช้การสนธิกำลังของการโจมตีจากอากาศยาน และอาวุธปืนใหญ่โจมตีข้าศึก ณ จุดใดจุดหนึ่งจนข้าศึกเริ่มอ่อนแรง

จากนั้นจะใช้หน่วยรถถัง หรือ Panzer รุกเข้าหาด้วยความเร็ว (Speed) พร้อมกับทหารราบ ตรงจุดนี้ ความเร็วในการรุกของยานเกราะจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการโอบล้อมข้าศึกที่กำลังขวัญตกต่ำจากการถูกโจมตีทางอากาศและจากปืนใหญ่ โดยมีทหารราบเป็นกองหนุนที่เข้าบดขยี้กำลังข้าศึกที่อ่อนล้าในวงล้อมดังกล่าว

จากนั้นหน่วยยานเกราะจะทำการโอบล้อมหน่วยของข้าศึกต่อไป รวมทั้งตัดเส้นทางการส่งกำลังของข้าศึก และทำลายหน่วยของข้าศึกที่ถูกล้อมทีละหน่วย การรบแบบสายฟ้าแลบ หรือ Blitzkrieg นี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงแรกของสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการบุกโปแลนด์ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ และรัสเซีย หน่วยยานเกราะหรือ แพนเซอร์ (Panzer -Armour ในภาษาอังกฤษ) ได้แสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพ และกลายเป็นต้นแบบของการใช้รถถังในการรบมาจนถึงปัจจุบัน

ในระยะแรกนั้น หน่วย Panzer ได้ใช้รถถังแบบ Panzer II และ Panzer III เป็นรถถังหลัก โดยเฉพาะรถถังแบบ Panzer III ซึ่งในระยะแรกติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 37 ม.ม. แต่เมื่อเผชิญกับ รถถังมาทิลด้า (Matilda) ของอังกฤษในการรบในฝรั่งเศสในช่ววงต้นของสงคราม ที่แม้จะมีสมรรถนะด้อยกว่า แต่มีเกราะที่หนากว่า ทำให้เยอรมันต้องทำการปรับปรุงรถถังรุ่นนี้ใหม่

การปรับปรุงรถถังแบบ Panzer III ทำขึ้นด้วยการเปลี่ยนขนาดปืนใหญ่จาก 37 ม.ม. เป็น 50 ม.ม. ซึ่งในระยะแรกนั้น เหนือกว่ารถถังของฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างมาก และได้กลายเป็นกำลังหลักของหน่วย Panzer ประกอบกับรถถังรุ่นนี้มีความเชื่อถือได้ในเรื่องเครื่องยนต์

ในช่วงที่เยอรมันรุกสู่สมรภูมิแอฟริกา ภายใต้การนำของนายพล เออร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) แห่งกองกำลังแอฟริกาของเยอรมัน หรือ ดอยช์ แอฟริกา คอร์ (Deutsch Afrikakorps - DAK ในภาษาเยอรมัน หรือ German Africa Corps ในภาษาอังกฤษ) ทำให้เยอรมันมีความได้เปรียบกว่ากำลังของอังกฤษในแอฟริกา

รอมเมลได้ใช้หน่วยยานเกราะที่ขึ้นชื่อในการรบที่มีนามว่า กองพลยานเกราะที่ 21 (the 21st Panzer Division) ซึ่งในขณะนั้นใช้ชื่อหน่วยว่า กองพลเบาที่ 5 (the 5th Light Division) ร่วมกับหน่วย Panzer คือกองพลยานเกราะที่ 15 และกองพลเบาที่ 50 โจมตี เอลอากลีล่า (El Agheila)

แม้ว่าทหารเยอรมัน จะติดอยู่ในสนามทุ่นระเบิดของฝ่ายอังกฤษ แต่ด้วยความตกใจ ฝ่ายอังกฤษไม่ได้ทำการโต้ตอบ และกลับเป็นฝ่ายถูกทหารหน่วย Afrika Korps โจมตี และยึดที่หมายได้

ต่อมารอมเมลก็เข้าตีเบงกาซี (Benghazi) และโทบรุก (Tobruk) หน่วย Panzer (กองพลยานเกราะที่ 21 และ กองพลยานเกราะที่ 15) ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับฝ่ายอังกฤษ ถึงความสามารถของหน่วยยานเกราะเยอรมันในแอฟริกา แม้ว่าในภายหลัง Afrika Korps จะประสบกับความพ่ายแพ้ เนื่องจากขาดการส่งกำลังบำรุงที่เพียงพอทั้งน้ำมัน และยุทโธปกรณ์มราจำเป็น เนื่องจากขบวนเรือขนส่งของอิตาลี ถูกโจมตีจากอังกฤษ แต่ชื่อเสียงของ Panzer ก็เป็นที่จดจำไปอีกนาน

ชัยชนะที่น่าชื่นชมของหน่วย Panzer ที่มีในฝรั่งเศส และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1940 ทำให้หน่วย Panzer มีการประเมินการความสำเร็จของพวกเขาผิดพลาด ชัยชนะในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากความเร็ว ความแข็งแกร่ง และการวางแผนที่ดีก็จริง แต่กำลังของฝ่ายต่อต้านในฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียนั้น ด้อยกว่าเยอรมันอย่างมาก

อีกประการหนึ่งก็คือ เยอรมันมิได้ประเมินตนเองว่า ตนมีศักยภาพในการรบระยะยาวไม่ได้มากนัก นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ นาซีเยอรมัน พยายามเอาชนะข้าศึกให้ได้อย่างรวดเร็ว

การบุกเข้าโจมตีรัสเซียในยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) ได้แสดงให้เห็นผลของการประเมินที่ผิดพลาดของฝ่ายเสนาธิการเยอรมัน รัสเซียนั้นมีกำลังที่ล้าสมัยก็จริง แต่ด้วยกำลังพลที่มีมากมายมหาศาลไม่รู้จักหมดสิ้น ตลอดจน ศักยภาพด้านอุตสาหกรรม แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีมากมาย บวกกับดินแดนที่กว้างใหญ่ไพศาล และฤดูหนาวที่หนาวเย็น เป็นสิ่งที่เยอรมัน และอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มองข้าม ดังจะเห็นได้จาก ฮิตเลอร์ประเมินไว้ว่า การยึดรัสเซียจะใช้เวลาไม่เกิน 4 เดือน นับเป็นการประมาท และประเมินรัสเซียต่ำเกินไปอย่างมาก

แม้ว่าหน่วยยานเกราะ Panzer จะได้มีการขยายอัตรากำลังเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เพื่อเตรียมการบุกรัสเซีย รถถังแบบ Panzer III และ Panzer IV มีการเพิ่มอัตราการผลิตเพื่อให้เป็นรถถังหลัก กองพล Panzer 17 กองพล รวมรถถังทั้งสิ้น 3,332 คัน รุกเข้าสู่รัสเซีย แต่ในจำนวนนี้มีรถถัง Panzer I และ Panzer II ที่ล้าสมัยอยู่ด้วยกว่า 1,156 คัน รถถัง Panzer III และ Panzer IV ที่มีประสิทธิภาพ มีเพียง 1,404 คัน ที่เหลือเป็น Panzer 38 (t) ที่ยึดมาจากเชคโกสโลวะเกีย ในขณะที่รัสเซียมียานเกราะที่ล้าสมัย กว่า 24,000 คัน และมีรถถัง T 34 และ KV 1 ที่ทรงอานุภาพ ติดตั้งปืนใหญ่ 76 ม.ม. และเหนือกว่า Panzer III และ IV ในทุกๆด้าน กว่า 1,400 คัน




รถถัง Panzer IV รุ่น J ติดตั้งปืนใหญ่ 75 ม.ม. นายพลกูเดเรียน บิดาแห่งยานเกราะเยอรมัน ได้ยกย่องรถถังรุ่นนี้ ว่าเป็น หัวหอกของหน่วย Panzer อย่างแท้จริง




ในวันที่ 21 มิ.ย. 1941 เยอรมันเปิดฉากโจมตีรัสเซียอย่างรวดเร็วตลอดทุกแนวรบ จนถึงวันที่ 3 ก.ค. 1941 เฉพาะกลุ่มกองทัพกลาง (Army Group Centre) ของเยอรมันสามารถทำลายหรือยึดรถถังรัสเซียทั้งที่ Bryansk และ Minsk ได้ไม่น้อยกว่า 2,585 คัน

ในวันที่ 10 ก.ค. กลุ่มกองทัพยานเกราะของนายพลกูเดเรียน สามารถยึดยานเกราะรัสเซียได้ถึง 2,000 คันในย่าน Smolensk

หน่วย Panzer ของเยอรมันประสบชัยชนะอย่างงดงาม ในช่วงแรกของ ยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) จนถึงยุทธการไต้ฝุ่น (Typhoon) ซึ่งเป็น ยุทธการยึดเมืองมอสโคว์ (Moscow) เมืองหลวงของรัสเซีย

ความผิดพลาดก็เกิดขึ้น เมื่อ ฮิตเลอร์สั่งการให้กองพล Panzer สองหน่วยจากกองทัพกลุ่มกลางไปช่วยกองทัพกลุ่มเหนือ และใต้ เพื่อยึดเลนินกราด และยูเครนซึ่งอยู่ทางตอนเหนือและใต้ตามลำดับ ทำให้กองทัพกลุ่มกลางขาดความเข้มแข็ง จะเห็นได้ว่า หน่วย Panzer เป็นหน่วยที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในแต่ละกองทัพ เมื่อขาด หรือลดกำลังหน่วย Panzer ลงไปจากหน่วยหลัก จะทำให้ ความหนักแน่น เด็ดขาดของหน่วยนั้นๆ ลดลงด้วยทันที




รถถัง T 34 ของรัสเซีย คู่ปรับตัวฉกาจของหน่วยยานเกราะของเยอรมัน รถถังรุ่นนี้ติดตั้งปืนใหญ่ขนาดความกว้างปากลำกล้อง 76 มม. ที่สามารถทำลายรถถังเยอรมันได้ทุกชนิด แม้กระทั่งรถถัง Panzer V - Panther จะมีก็แต่รถถัง Tiger และ Tiger II เท่านั้น ที่พอจะต้านทานมันได้ T 34 ถูกผลิตออกมาอย่างมากมาย เพราะถูกออกแบบให้ผลิตได้ง่าย ผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก (mass produciton) ด้วยจำนวนที่มหาศาลนี่เอง ที่ทำให้รถถังที่ทรงประสิทธิภาพของเยอรมันแต่มีจำนวนจำกัด ไม่สามารถต้านทานการรุกของรัสเซียได้



การสั่งการเพื่อให้หน่วยยานเกราะ Panzer ไปจากกองทัพกลุ่มกลาง ทำให้กองทัพเยอรมันเคลื่อนที่ได้ล่าช้า และทำให้ฤดูหนาวมาถึง ก่อนการยึดกรุงมอสโคว์ และทำให้โอกาสที่จะยึดเมืองหลวงต้องหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย

ทหารหน่วย Panzer ต้องประสบกับความยากลำบากเมื่อฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์ถึง ลบ สามสิบองศา เครื่องยนต์ของรถถังไม่สามารถติดเครื่องได้ น้ำมันจับตัวเป็นน้ำแข็ง มีบ่อยครั้งที่รถถังต้องติดเครื่องอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เครื่องอุ่นอยู่ ทำให้เปลืองเชื้อเพลิง เมื่อไม่สามารถติดเครื่องรถถังได้ พลประจำรถต้องใช้กองไฟจุดไว้ใต้รถถัง เพื่อให้เกิดความร้อน ฤดูหนาวแรกในรัสเซียในปี 1941 สร้างความเสียหายให้กับเยอรมัน และสร้างโอกาสให้กับรัสเซียอย่างมาก ในการมีเวลาฟื้นตัว

วันที่ 6 ธันวาคม 1941รัสเซียเปิดฉากการตีโต้ และทำให้เยอรมันต้องปรับแนวรบที่เป็นฝ่ายรุก มาเป็นการตั้งรับ การเข้าตีของรัสเซียครั้งนี้ สร้างความตกตะลึงให้กับทหารเยอรมัน ยานเกราะจำนวนมากถูกทำลาย รัสเซียโจมตีอย่างหนักรอบๆ มอสโคว์ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 5 มกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1942 โดยหวังที่จะทำลายกองทัพกลุ่มกลางของเยอรมันให้สิ้นซาก แต่ความแข็งแกร่งของทหารรัสเซียยังมีไม่เพียงพอ ประกอบกับทหารเยอรมันสู้อย่างยิบตา ทำให้วัตถุประสงค์ของรัสเซียในการรุกครั้งนี้ ไม่ประสบความสำเร็จ

ในปี 1942 ช่วงเดือนเมษายน มีการประมาณกันว่า เยอรมันสูญเสียยานเกราะไปถึง 79 เปอร์เซนต์นับจากเปิดยุทธการบาร์บารอสซ่าเข้าไปในรัสเซีย การสูญเสียยานเกราะจำนวนมากนี้ ทำให้เยอรมันสูญเสียศักยภาพในการเคลื่อนที่ ในขณะเดียวกำลังเสริมใหม่ก็ยังมาไม่ถึง ทำให้หน่วย Panzer ต้องใช้อาวุธและยานเกราะทุกชนิดที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า รวมถึงการนำอาวุธและยานเกราะของรัสเซียที่ยึดมาได้มาใช้ด้วย

สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้หน่วย Panzer ต้องประสบกับความสูญเสียในรัสเซีย ก็เนื่องมาจาก การประเมินหน่วยรถถังของรัสเซียผิดพลาด นั่นก็คือ รถถังแบบ T 34 ซึ่งติดตั้งปืนใหญ่ 76 ม.ม. เหนือกว่าปืนใหญ่ของ Panzer III มีเกราะหนากว่าทั้ง Panzer III และ IV มีสายพานที่กว้างทำให้เคลื่อนที่ในพื้นที่ที่เป็นเลน โคลนหรือหิมะได้ดีกว่ารถถัง Panzer ของเยอรมัน

เยอรมันได้พบกับรถถัง T 34 ของรัสเซียครั้งแรกในเดือน ต.ค. 1941 กองพล Panzer ที่ 4 ของเยอรมันได้รับความเสียหายอย่างมาก หน่วย Panzer ไม่สามารถหยุดยั้งรถถัง T 34 ของรัสเซียได้ด้วยปืนใหญ่ต่อสู้รถถังขนาด 37 ม.ม. ของ Panzer III รถถัง T 34 ของรัสเซียบางคันถูกยิงอย่างจังหลายนัด แต่ก็ยังคงรุกเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง

วิธีเดียวที่หน่วยยานเกราะของเยอรมันจะหยุดยั้ง T 34 ได้ก็คือ จะต้องนำรถถังของตนเข้าไปให้ใกล้ที่สุด และจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากเป็นการเข้าโจมตีทางด้านหลัง เพราะเกราะด้านหลังของรถถังทุกชนิดจะบางมาก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของเครื่องยนต์

อย่างไรก็ตามการกระทำเช่นนี้ เสี่ยงต่อการถูกยิงจากรถถังของรัสเซีย และเสี่ยงต่อการถูกทหารราบที่ติดตามรถถัง T 34 ทำลายด้วยกับระเบิดรถถัง รถถัง Panzer III บางคันต้องเข้าไปทำลาย T 34 ในระยะ 5 เมตร ทางด้านหลัง โชคยังเข้าข้างเยอรมัน ที่พลประจำรถของรัสเซีย ด้อยประสบการณ์กว่า และรถถัง T 34 ก็ไม่มีวิทยุประจำรถเสียเป็นส่วนมาก การติดต่อสื่อสารระหว่างรถถังแต่ละคัน จึงกระทำได้ลำบาก




รถถัง Panzer V - Panther ของนาซีเยอรมัน ซึ่งนำเอาข้อดีของรถถัง T 34 ของรัสเซีย มาเป็นต้นแบบ ในการออกแบบ ปรับปรุง และผลิตมาเพื่อต่อสู้กับรถถัง T 34 ของรัสเซีย ในแนวรบด้านตะวันออก เปรียบเทียบกับ T 34 ในภาพข้างล่าง จะเห็นว่าสายพาน และช่วงล่างของ Panther มีความคล้ายคลึงกับ T 34 มาก รถถังรุ่นนี้ออกจากโรงงานผลิต และเข้าสู่สมรภูมิครั้งแรก ที่สมรภูมิ Kursk ในรัสเซีย ในปี 1943 ซึ่งประสบปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้องเป็นจำนวนมาก จนต้องมีการปรับปรุงใหม่ จนกลายเป็นรถถังที่มีประสิทธภาพสูงในที่สุด





รถถัง T 34 ของรัสเซีย ติดตั้งปืนใหญ่ 76 ม.ม. มีความลาดเอียง (slope) ดีมาก ทำให้มีโอกาส กระทบกับกระสุนตรงๆได้น้อย มีสายพานที่กว้าง ปีนป่ายได้ดีเยี่ยม เหมาะกับภูมิประเทศในรัสเซีย รถถังรุ่นนี้ มีการปรับปรุงให้ติดตั้งปืนใหญ่ ขนาดความกว้าง ปากลำกล้อง 85 มม. ในชื่อ T34/85 และใช้ในกองทัพรัสเซีย จนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง และใช้ต่อมาในกองทัพประเทศโลกที่ 3 อีกอย่างน้อยเกือบ 40 ปี เช่น ในกองทัพเวียดนามเหนือ




ในปี 1942 ยุทธการ Blue ของฝ่ายนาซีเยอรมัน ถูกกำหนดขึ้นเพื่อยึดเมืองสตาลินกราด (Stalingrad) กำลังยานเกราะของเยอรมัน ลดลงไปอย่างมาก มีรถถัง Panzer IV ที่ทรงอานุภาพที่สุดในขณะนั้นเพียง 133 คัน รถถังชนิดนี้ติดตั้งปืนใหญ่ 75 ม.ม. และสามารถเอาชนะรถถัง T 34 ของรัสเซียได้ ที่เหลือเป็น Panzer III ที่มีปืนใหญ่ขนาดเพียง 37 ม.ม. และ 50 ม.ม. แต่การรุกก็ยังคงเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

28 มิ.ย. 1942 ยุทธการ Blue เปิดฉากขึ้น และเป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่เยอรมันประสบความสำเร็จอย่างมากในการรุก เพียงวันเดียวเยอรมัน สามารถรุกเข้าไปในแนวของรัสเซียได้ถึง 64 ก.ม. ถึงแม่น้ำดอน (Don)

ในวันที่ 2 พ.ย. กองทัพ Panzer ที่ 1 ก็รุกไปถึง Ordzhonikidze ซึ่งถือเป็นจุดที่ไกลที่สุด ที่เยอรมันรุกเข้าในรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมเป็นระยะทางที่บุกเข้าไปในรัสเซียถึง 965 ก.ม. แม้ว่าจะรุกเข้าได้มากถึงขนาดนี้ แต่ความสำเร็จเมื่อเทียบกันแล้วถือว่าน้อยมมาก เมืองต่างๆ ที่ถูกยึดได้ ถูกทหารรัสเซียเผาเหลือแต่ซาก ไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร ไม่มีที่พัก แหล่งน้ำถูกโรยด้วยยาพิษ ทุกย่างก้าวของทหารเยอรมัน เต็มไปด้วยกับดัก กับระเบิด และยิ่งรุกไกลเท่าใด การส่งกำลังบำรุงของเยอรมันก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้นเท่านั้น ประกอบกับการก่อตั้งขบวนการใต้ดินของรัสเซีย เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แนวหลังของเยอรมันไม่เคยปลอดภัย การซุ่มโจมตีมีอยู่ทุกหนแห่ง ความขาดแคลนอาวุธ กระสุน น้ำมันก็กำลังจะมาเยือนกองทัพเยอรมันในไม่ช้า เนื่องจากสายการส่งกำลังบำรุง ที่ยืดยาวจนสุดสายป่าน

กองทัพที่ 6 ของเยอรมันร่วมด้วย กองทัพยานเกราะ Panzer ที่ 4 รุกเข้าสู่ สตาลินกราด (Stalingrad) จริงๆแล้ว เยอรมันควรจะยึดสตาลินกราดได้ตั้งแต่เดือน ก.ค. เพราะขณะนั้นสตาลินกราดมีกำลังต้านทานเพียงน้อยนิด แต่ฮิตเลอร์ได้สั่งให้ กองทัพ Panzer ที่ 4 แยกออกไป เพื่อช่วยกองทัพกลุ่มใต้ ทำให้กองทัพที่ 6 รุกได้อย่างเชื่องช้า และทำให้รัสเซียมีเวลาเตรียมการในการตั้งรับ โอกาสที่จะยึดสตาลินกราด จึงสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย

กองทัพที่ 6 ของเยอรมัน รุกเข้าสู่เมืองสตาลินกราด เครื่องบินทิ้งระเบิดและปืนใหญ่ของเยอรมัน ระดมยิงเมือง เพื่อหวังทำลายให้สิ้นซาก ตึกรามบ้านช่อง กลายเป็นซากปรักหักพัง ที่ทหารรัสเซียสามารถ ใช้เป็นที่ซ่อนตัวได้เป็นอย่างดี ทหารเยอรมันรุกเข้าสู่ย่านอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตรถแทรกเตอร์ ทหารรัสเซียต่อสู้อย่างทรหด

ในวันที่ 19 พ.ย. 1942 รัสเซียเปิดฉากการตีโต้ครั้งใหญ่ ทั้งทางด้านเหนือและใต้ของสตาลินกราด กองทหารรูเมเนีย และอิตาลี พันธมิตรของเยอรมันที่รักษาที่มั่นรอบเขตเมืองสตาลินกราด ถูกตีแตกกระเจิง ส่งผลให้รัสเซีย สามารถโอบล้อมกองทัพที่ 6 ของเยอรมันได้ทั้งกองทัพไว้ในสตาลินกราด สนามบินของกองทัพอากาศเยอรมันที่อยู่ในสตาลินกราด แหล่งสุดท้ายที่สามารถติดต่อกับโลกภายนอก ถูกรัสเซียยึดได้ การส่งกำลังบำรุงทำไม่ได้อีกต่อไป

ฮิตเลอร์สั่งการให้หน่วย Panzer XLVIII แหวกวงล้อมเข้าไปช่วยกองทัพที่ 6 ภายใต้แผน "Winter Storm" แต่ก็ไม่สำเร็จทั้งที่อยู่ห่างจากกองทัพที่ 6 ที่ติดอยู่ในสตาลินกราดเพียง 56 ก.ม.

ในที่สุดกองทัพที่ 6 ก็ยอมแพ้ เป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของเยอรมัน กองพล Panzer ไม่น้อยกว่า 6 กองพล สูญเสียไปในการพ่ายแพ้ที่สตาลินกราด จนถึงวันแห่งความพ่ายแพ้ที่สตาลินกราดนี้ Panzer สูญเสียรถถังไปมากกว่า 7,800 คัน ในแนวรบด้านตะวันออกนี้ มีเพียงรถถัง 495 คันที่สามารถปฏิบัติการได้ทั่วทั้งแนวรบด้านตะวันออก ด้านรัสเซียนี้




ความสูญเสียของหน่วยยานเกราะเยอรมัน ในแนวรบด้านตะวันออก หรือด้านรัสเซียมีสูงมาก ในขณะเดียวกันการผลิตเพื่อทดแทนกลับตรงข้าม จึงทำให้เกิดการขาดแคลนรถถังเป็นอย่างมาก นาซีเยอรมันจึงหันมาใช้รถถังของรัสเซียที่ยึดมาได้ นำมาใช้ ในภาพเป็นรถถังแบบ T 34 ของรัสเซียที่มีสมรรถนะสูง ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 76 มม. ถูกเยอรมันนำมาใช้ในการรบ โดยติดเครื่องหมายเยอรมันขนาดใหญ่ไว้เพื่อป้องกันความสับสน

เยอรมันเป็นประเทศที่นำเอายุทโธปกรณ์ของฝ่ายตรงข้ามมาใช้อย่างมากมาย เช่น รถถัง Panzer 38 ของเชคโกสโลวะเกีย อาวุธปืนต่างๆ ทั้งปืนขนาดเล็กไปจนถึงปืนใหญ่ ก็ถูกนำมาใช้ โดยเฉพาะในช่วงปลายของสงคราม เมื่อโรงงานอุตสาหกรรมของเยอรมันถูกเครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายอย่างหนัก การนำเอาอาวุธที่ยึดได้มาใช้ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง




นอกจากเหตุผลด้านความขาดแคลนรถถังหลักของ Panzer ในแนวรบด้านรัสเซียแล้ว ความเป็นยอดของรถถัง T 34 ในหลายๆด้าน ทั้งอำนาจการยิง ความหนาของเกราะ สายพานที่กว้าง ทำให้เหมาะกับภูมิประเทศในรัสเซีย อีกทั้งมี การบำรุงรักษาที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ทำให้เยอรมันนำ T 34 ที่ยึดมาได้มาใช้ด้วยความตั้งใจ ภาพบนจะเห็นเครื่องหมายสวัสดิกะขนาดใหญ่ที่ฝาด้านบนของป้อม เพื่อป้องกันเครื่องบินฝ่ายเดียวกันเกิดความสับสน และเข้าใจผิด




รถถัง StuG III ของเยอรมันถูกยิงอย่างจังบริเวณตรงกลางลำตัว กระสุนเจาะทะลุแผ่นเกราะด้านข้างที่ติดเสริมขึ้นมา เพื่อป้องกันสายพาน แล้วทะลุเข้าไปในตัวรถ ดูเหมือนว่า โอกาสรอดของพลประจำรถจะมีน้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระสุนระเบิิดภายในตัวรถ สำหรับหมายเลขข้างรถ 121 ของหน่วย Panzer มีความหมายคือ หมายเลข 1 ตัวแรกคือ กองร้อยรถถังที่ 1 ของกองพัน ส่วน เลข 2 คือ หมวดที่ 2 ของกองร้อย ปกติ 1 กองร้อยจะมี 3 หมวด และเลข 1 ตัวสุดท้ายคือหมายเลขลำดับของรถถังในหมวดนั้นๆ ซึ่งหมายเลข 1 จะหมายถึงรถถังคันแรกของหมวด ซึ่งจะเป็นรถของผู้บังคับหมวด ดังนั้น 121 จึงหมายถึง รถถังของผู้บังคับหมวด ของหมวดรถถังที่ 2 ของกองร้อยที่ 1 ส่วนจะเป็นกองพันใดนั้น ไม่สามารถระบุได้





ทหารอเมริกันกำลังสำรวจรถถัง Jadgtiger ซึ่งเป็น Tiger อีกรุ่นหนึ่งที่มีการปรับปรุงให้ติดป้อมแบบตายตัว เพื่อใช้เป็นรถถังทำลายรถถัง (Tank hunter) รถถังรุ่นนี้ติดปืนใหญ่ขนาด 128 มม. Pak 44 ที่ทรงอานุภาพ ใช้ฐานล่างของรถถัง Tiger มีความทนทานเพราะมีเกราะหนา 250 มม. หรือ 9 นิ้วครึ่ง แต่ก็สิ้นเปลืองน้ำมันอย่างมาก เพราะน้ำหนักรถมีมากถึง 76 ตัน รถถังรุ่นนี้ออกปฏิบัติการครั้งแรกในสมรภูมิบาสตองค์ (Bastonge) ในเบลเยี่ยม ในปี 1944 หรือที่เรียกกันว่า battle of the bulge ที่เยอรมันทำการรุกแบบสายฟ้าแลบ ต่อแนวป้องกันของทหารอเมริกัน อาวุธใหม่ๆ ที่ทรงประสิทธิภาพของเยอรมันในช่วงท้ายของสงครามมีมากมาย แต่ก็ออกมาช้าและมีน้อยเกินไปที่จะเปลี่ยนแปลงผลของสงคราม ส่วนใหญ่รถถังของเยอรมัน มักจะถูกทำลายโดยเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมากกว่าที่จะถูกทำลายโดยรถถังด้วยกันเอง



(โปรดติดตามตอนที่ 2)



ประวัติศาสตร์ สงครามโลกครั้งที่สอง




Create Date : 12 กรกฎาคม 2552
Last Update : 29 สิงหาคม 2553 15:43:14 น. 3 comments
Counter : 8393 Pageviews.

 
I like NaZi


โดย: ... IP: 125.24.202.92 วันที่: 17 กันยายน 2552 เวลา:18:58:58 น.  

 
เท่จังเลยรถถังอยากมีในเมื่องไทยจัง


โดย: ballack IP: 118.172.111.200 วันที่: 9 พฤศจิกายน 2552 เวลา:12:19:02 น.  

 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him


โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:22:18:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.