VUW - Victoria University of Wellington, New Zealand
Group Blog
 
All Blogs
 
ฮิตเลอร์ เทพเจ้าหรือปีศาจ ตอนที่ 3 (สงครามโลกครั้งที่ 2)

บทความเรื่อง ฮิตเลอร์ เทพเจ้าหรือปิศาจ ตอนที่ 3

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ

ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับที่ 23 เดือนกรกฎาคม 2552




การที่ฮิตเลอร์เปิดยุทธการบาร์บารอสซ่า เพื่อรุกเข้าสู่รัสเซีย นักประวัติศาสตร์หลายคนมองว่า ฮิตเลอร์ไม่ได้ศึกษาความล้มเหลวของอดีตจักรพรรดิ นโปเลียน โบนาปาร์ต ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นวีรบุรุษที่เขายกย่อง ในการรุกเข้าสู่กรุงมอสโคว์ และต้องประสบกับความพ่ายแพ้ ท่ามกลางอากาศอันหนาวเหน็บ

แต่ก็ยังมีนักประวัติศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งที่มองว่า ฮิตเลอร์ไม่ใช่นักยุทธศาสตร์ที่ไม่ประสีประสากับการศึกสงคราม ความสำเร็จในการรุกเข้ายึดกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก แม้ส่วนหนึ่งจะมาจากเหล่านายพลฝ่ายเสนาธิการที่มีความสามารถของเขาก็ตาม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ฮิตเลอร์ก็มีส่วนในความสำเร็จเหล่านั้นอยู่ไม่น้อย

ปัญหาข้อผิดพลาดในการบุกรัสเซีย ไม่ได้อยู่ที่การไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ แต่อยู่ที่ฮิตเลอร์อยู่ในภาวะมั่นใจจนเกินไป (over-confident) เขาคาดการณ์ว่า รัสเซียจะไม่สามารถยืนหยัดต้านทานกองทัพนาซีของเขาได้จนถึงฤดูหนาว

มีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นถึงความประมาทของฮิตเลอร์ เช่น กองทัพบกของเยอรมันได้รับคำสั่งให้เตรียมความพร้อมด้านยุทโธปกรณ์อื่นๆ โดยละเลย หรือเมินเฉยต่อการเตรียมการณ์สำหรับการรบในฤดูหนาว เครื่องกันหนาวไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในอัตราการจัดของหน่วยใดๆ เลย แม้แต่น้ำมันเครื่องของยานยนต์ทุกชนิด รวมไปถึงน้ำมันชโลมปืน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับฤดูร้อน หรือในภาวะอากาศหนาวแบบปกติทั่วไปในยุโรป ไม่ใช่สำหรับอากาศหนาวต่ำกว่าศูนย์องศาถึง ลบสามสิบองศาเซลเซียสของรัสเซีย ที่ส่งผลให้น้ำมันจับตัวแข็งเป็นก้อน จนกระทั่งยานยนต์หรือกลไกของอาวุธปืนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ





การประชุมของผู้นำพรรคนาซี ซึ่งจัดขึ้นบ่อยครั้งที่ Berghof อันเป็นที่พำนักของฮิตเลอร์ในObersalzberg บนเทือกเขาแอลป์ (Alps) ใกล้กับเมือง Berchtesgaden วันที่ถ่ายภาพนี้ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ แต่จากการแต่งกายของบุคคลในภาพ ทำให้ทราบได้ว่า เป็นการพบปะกันในการประชุมช่วงสุดสัปดาห์

บุคคลในภาพแถวหน้าจากซ้ายไปขวาคือ ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (Heinrich Himmler) ผู้นำกองกำลัง เอส เอส อันลือชื่อ ถัดมาคือ ดร. วิลเฮล์ม ฟริค (Dr. Wilhelm Frick) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของเยอรมัน ผู้ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการสังหารโหดชาวยิวในค่ายกักกัน ส่วนคนขวาสุดของภาพคือ แฮร์มาน เกอริง (Hermann Goering) ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมัน

สำหรับที่พำนักของฮิตเลอร์แห่งนี้ เขาได้ซื้อต่อจากเจ้าของเดิมในปี 1933 ด้วยเงินทุนที่ได้มาจากการขายหนังสือเรื่อง “การต่อสู้ของข้าพเจ้า” (Mein Kampf) และฮิตเลอร์เป็นผู้ออกแบบตกแต่งภายในทั้งหมดด้วยตัวเขาเอง




สาเหตุของความมั่นใจจนเกินไปของฮิตเลอร์ น่าจะมีสาเหตุมาจาก การประเมินสภาพการณ์ของกองทัพรัสเซีย เมื่อเทียบกับกองทัพของอังกฤษและฝรั่งเศส ที่มีความพร้อมสมบูรณ์กว่ากองทัพใดๆ ในยุโรป แต่อังกฤษและฝรั่งเศสก็ยังไม่สามารถต้านทานกองทัพเยอรมันได้

ในขณะที่กองทัพรัสเซียในขณะนั้น ตกอยู่ในสภาพแตกกระสานซ่านเซ็น โจเซฟ สตาลิน ผู้นำของรัสเซียได้ทำการเข่นฆ่าประหัตประหารนายทหารฝีมือดีของรัสเซียไปเป็นจำนวนมาก เพราะปักใจเชื่อว่าทหารเหล่านั้น ยังคงจงรักภักดีต่อราชวงศ์โรมานอฟที่ถูกโค่นล้มลง

แม้แต่สตาลินเองก็ทราบดีว่า กองทัพของเขาอ่อนแออย่างมาก นายทหารระดับล่างที่มีความรู้ความสามารถถูกส่งไปยังค่ายกักกันในไซบีเรียในระหว่างการกวาดล้างกองทัพครั้งใหญ่ ประชาชนและกำลังพลของกองทัพทั้งเกลียดทั้งเกรงกลัวสตาลิน

ในช่วงกลางของสงคราม สตาลินถึงกับเปลี่ยนรูปแบบการปลุกใจชาวรัสเซีย โดยการดึงเอา “แผ่นดินรัสเซีย หรือแผ่นดินแม่ - Motherland” มาเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนรัสเซีย เพื่อให้ชาวรัสเซียปกป้องแผ่นดิน มากกว่าปกป้องตัวเขาเอง ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้ผลเป็นอย่างมาก

ก่อนการบุกเข้าไปในรัสเซีย ฮิตเลอร์ตระหนักดีว่า อุตสาหกรรมของเยอรมันต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากรัสเซียเป็นจำนวนมหาศาล อันเป็นผลจากการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันบนข้อตกลงทางเศรษฐกิจ รุสโซ-เยอรมัน ปี 1939 ตัวอย่างของการพึ่งพาวัตถุดิบจากรัสเซียก็คือ ในปี 1940 อาณาจักรไรซ์ที่สามของฮิตเลอร์ต้องนำเข้าน้ำมันและถ่านหินเป็นจำนวนมากกว่ากว่า 600,000 ตันจากรัสเซีย

จากความจริงข้อนี้เอง ที่ทำให้ฮิตเลอร์ต้องการยึดครองบ่อน้ำมันและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของรัสเซียในภูมิภาคคอเคซัสให้ได้โดยเร็ว เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานในการทำสงคราม โดยเฉพาะการนำมาเป็นเชื้อเพลิงให้กับกองทัพของเขาในการเดินทางผ่านพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลของรัสเซีย

ซึ่งแนวความคิดในการบุกเข้าสู่รัสเซีย ได้ถูกเปิดเผยต่อเหล่าเสนาธิการของเขาเป็นครั้งแรกในวันที่ 18 ธันวาคม 1940 ท่ามกลางความกังวลใจของผู้รับฟังเป็นอย่างมาก เพราะอังกฤษก็ยังคงดำรงอยู่อย่างท้าทาย มิได้ถูกทำลายลงแต่อย่างใด หากเปิดศึกด้านรัสเซีย ก็เท่ากับเยอรมันต้องเผชิญศึกถึงสองด้านในคราวเดียวกัน

หากมองย้อนกลับไปในอดีตของฮิตเลอร์ โดยเฉพาะในช่วงที่เขากำลังก้าวขึ้นสู่อำนาจในทศรรษที่ 1930 อันเป็นช่วงที่เขาได้แสดงแนวความคิดอันเป็น “แก่นแท้” ของพรรคนาซีให้สาธารณชนได้ประจักษ์ เราจะมองเห็นแนวความคิดของเขาในการแผ่ขยายอาณาเขตของประเทศเยอรมันออกไปให้ยิ่งใหญ่ไพศาล

ฮิตเลอร์เคยกล่าวสุนทรพจน์ที่แสดงถึงเหตุผลของการขยายดินแดน หรือที่เรียกว่า ความสำคัญของการแสวงหา “พื้นที่เพื่อการอยู่อาศัย หรือ lebensraum – ในภาษาอังกฤษ คือ living space” ไว้ในปี 1932 มีใจความตอนหนึ่งว่า

“..... มนุษย์จะต้องแผ่ขยายดินแดนออกไปเพื่อความอยู่รอด ไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้อาณาจักรเยอรมัน ก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ได้ นอกจากการแผ่ขยายดินแดน เมื่อปราศจากการแผ่ขยายอาณาเขต เยอรมันจะหยุดนิ่ง กลายเป็นผู้พ่ายแพ้และสูญสิ้นชาติไปในที่สุด ดังนั้น สิ่งแรกที่จะกลายเป็นแนวความคิดพื้นฐานของประเทศเยอรมันในอนาคตอันใกล้นี้ก็คือ ชาวเยอรมันจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการแผ่ขยายอาณาเขต ทั้งทางด้านการเมืองและการทหาร และในเวลาเดียวกัน เราจะต้องรวบรวมชนชาติเยอรมันที่กระจายอยู่ทั่วไปให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อก้าวไปสู่โลกภายนอกที่อยู่เบื้องหน้า อันเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ที่จะประสบความสำเร็จได้หนทางเดียว คือการใช้พลังอำนาจทางทหาร ...”






ภาพแห่งการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนาซี อันเนื่องมาจากฮิตเลอร์เป็นผู้ที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด ซึ่งแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาวออสเตรีย ที่แตกต่างจากชาวเยอรมัน ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักดื่มตัวยง เอกลักษณ์ประจำตัวนี้เป็นอุปสรรคในความพยายามที่จะทำให้ฮิตเลอร์เป็นคนชาติเยอรมันเป็นอย่างมาก ดังนั้นเพื่อทำให้ฮิตเลอร์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเฉกเช่นเดียวกับคนเยอรมัน ไฮน์ริช ฮอฟท์มาน (Heinrich Hoffman) ช่างภาพประจำตัวและเพื่อนสนิทของเขาจึงถ่ายภาพนี้ขึ้น เพื่อแก้ไขเอกลักษณ์ประจำตัวของฮิตเลอร์ให้เป็นนักดื่มคนหนึ่ง




แนวคิดดังกล่าวนี้เอง ที่แสดงให้เห็นว่า ฮิตเลอร์ต้องการแผ่ขยายอาณาเขตของเยอรมัน เพื่อความอยู่รอดของประเทศ อันเป็นแนวคิดพื้นฐานของนักสัจนิยม หรือ realist ที่เชื่อมั่นว่า หากไม่เป็นผู้ชนะ ก็ต้องเป็นผู้แพ้ หากไม่เป็นผู้ล่า ก็ต้องเป็นผู้ถูกล่านั่นเอง เมื่อมองในมุมนี้ เราจะเห็นถึงความรักชาติที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้นในตัวของเขา

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ได้เปิดเผยให้เห็นมุมมองอีกมุมหนึ่งของฮิตเลอร์ในการรุกเข้าสู่รัสเซียว่า อาจไม่ใช่เพราะต้องการทำเพื่อความอยู่รอดของเยอรมันดังที่ปรากฏในสุนทรพจน์ดังกล่าว โดยอ้างถึงการที่ฮิตเลอร์เขียนถึงการกำจัดคอมมิวนิสต์ออกจากแผนที่โลกเอาไว้ในหนังสือเรื่อง “การต่อสู้ของข้าพเจ้า – Mein Kampf” ตอนหนึ่งว่า

“.... มีความจำเป็นที่จะต้องปลดปล่อยรัสเซียจากพวกยิวในโซเวียต ....”

ซึ่งเป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์อันแท้จริงของฮิตเลอร์ว่า คอมมิวนิสต์รัสเซียคือเป้าหมายที่เขาต้องการกำจัด ควบคู่ไปกับการทำลายล้างชาวยิว และครอบครองดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของรัสเซีย หากมองในมุมนี้เราจะเห็นว่า เขาคือบุคคลผู้มีจิตใจแห่งการทำลายล้างนั่นเอง

อย่างไรก็ตามมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ไม่มีผู้ใดคัดค้านแนวความคิดของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในขณะนั้นเลยหรือ ... เพราะการรุกเข้าสู่รัสเซียนั้น คือการรบที่ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด เป็นการปฏิบัติการทางทหารที่สูญเปล่า เพราะในขณะนั้นเยอรมันสามารถครอบครองดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในยุโรปไว้ได้เกือบทั้งทวีป

ทรัพยากรเหล่านั้นสามารถหล่อเลี้ยงอาณาจักรไรซ์ที่สามของฮิตเลอร์ได้นานนับร้อยปีเลยทีเดียว และคำถามที่ว่า หากการรบในรัสเซียประสบกับความล้มเหลว ... กองทัพนาซีเยอรมันมีศักยภาพเพียงพอในการรบระยะยาวมากน้อยเพียงใด ... คำถามเหล่านี้มีหรือไม่ และทำไมจึงไม่มีการวางแผนอย่างต่อเนื่อง

คำตอบก็คือ คำถามหรือข้อโต้แย้งในการรุกเข้าสู่รัสเซียนั้น มีอยู่จริง แม้ว่าจะถูกดูแคลนจากผู้คนที่กำลังยินดีปรีดากับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของเยอรมัน จนทำให้ข้อโต้แย้งนั้น ต้องเงียบหรือจางหายไป หากไม่เงียบไปเพราะเสียงดูแคลน ก็ต้องเงียบเพราะอำนาจจากผู้คนรอบข้างของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ นักคิด นักเขียน นักประวัติศาสตร์หลายคนเลือกที่จะเงียบมากกว่าจะโต้แย้ง ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของตนเอง

ไม่ว่าเสียงโต้แย้ง หรือเหตุผลต่างๆ ในข้อคัดค้านที่มีต่อการรุกเข้ารัสเซียจะเป็นอย่างไร รุ่งอรุณของวันที่ 22 มิถุนายน 1941 ยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) ก็เปิดฉากขึ้น โดยชื่อบาร์บารอสซ่านั้น ตั้งขึ้นตามชื่อจักรพรรดิ์ของเยอรมันในสมัยยุคกลาง

เดิมทียุทธการบาร์บารอสซ่าถูกวางแผน และกำหนดให้เปิดฉากขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคม 1941 และฮิตเลอร์คาดการณ์เอาไว้ว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือนในการพิชิตรัสเซีย นั่นคือตามแผนของฮิตเลอร์ รัสเซียจะพ่ายแพ้ภายในเดือนกรกฎาคม หรืออย่างช้าที่สุดคือสิงหาคม ซึ่งเป็นเวลาที่ห่างไกลจากฤดูหนาวถึงสามเดือน แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่อุตสาหกรรมทางทหารของเยอรมันจะสูญเสียเวลาในการสลับสายการผลิตยุทธภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในฤดูหนาวของรัสเซีย

แม้ฝ่ายเสนาธิการของกองทัพเยอรมันจะแนะนำฮิตเลอร์ว่า เยอรมันอาจจะไม่สามารถพิชิตรัสเซียได้ก่อนฤดูหนาวจะมาถึง แต่ฮิตเลอร์ก็ไม่สนใจการวิเคราะห์ดังกล่าว และไม่อนุญาตให้โรงงานอุตสาหกรรม ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในฤดูหนาว โดยเขายืนยันว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม เยอรมันต้องเสียเวลากว่า 6 สัปดาห์ในการจัดการประเทศกับยูโกสลาเวียและกรีซ ยุทธการบาร์บารอสซ่าจึงถูกเลื่อนเวลาปฏิบัติการออกไปอีก จนถึงวันที่ 22 มิถุนายน ซึ่งหกสัปดาห์ที่ล่าช้าออกไปนี้เอง ได้รับการวิเคราะห์จากนักยุทธศาสตร์ปัจจุบันว่า เป็นจุดเปลี่ยนอันสำคัญยิ่งอีกจุดหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะส่งผลให้เวลาขยายยืดออกไป จนทำให้กองทัพเยอรมันต้องเผชิญกับฤดูหนาวอันหนาวเย็นของรัสเซีย และทำให้โฉมหน้าของสงครามเปลี่ยนไป

ในขณะที่ทางฝ่ายรัสเซียนั้น ทุกอย่างยังคงดำเนินไปตามปกติ สตาลิน ผู้นำของรัสเซียมีความเชื่อมั่น ในสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน ที่เขาทำกับฮิตเลอร์ไว้ในปี 1939 แม้จะมีข่าวหนาหูว่ากองทัพเยอรมันเตรียมการบุกรัสเซีย แต่โจเซฟ สตาลินก็ปฏิเสธที่จะรับฟังข่าวดังกล่าว และถือว่าเป็นข่าวที่ถูกปล่อยออกมาโดยมือที่สาม เพื่อสร้างความแตกแยกขึ้นระหว่างสองประเทศ

ในเวลา 03.15 ของวันที่ 22 มิถุนายน 1941 กองทัพเยอรมันได้เปิดฉากบุกเข้าไปในรัสเซียทุกทิศทาง ตามแนวชายแดนตะวันตกของรัสเซีย กองทหารเยอรมันเหนือกว่ากองทหารรัสเซียทุกอย่าง ทั้งระเบียบวินัย ขวัญ กำลังใจ การฝึกฝน ประสบการณ์และความฮึกเหิมในความสำเร็จที่ผ่านการรบในยุโรปตะวันตก รวมไปถึงอาวุธยุทโธปกรณ์และความเป็นผู้นำหน่วย





ฮิตเลอร์ขณะเข้าร่วมวางแผนการรุกของกองทัพเยอรมันในห้องยุทธการ ภาพนี้ถ่ายในปี 1941 ซึ่งเป็นช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ที่อยู่ในภาพทางด้านซ้ายติดกับฮิตเลอร์คือ จอมพล วอลเธอร์ ฟอน บราวชิทส์ (Walther von Brauchitsch) ผู้บัญชาการทหารบกเยอรมันในขณะนั้น เขาเป็นผู้ที่ฮิตเลอร์ไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง รวมทั้งเป็นกุญแจสำคัญในชัยชนะเหนือฝรั่งเศส แต่จากความล้มเหลวในการรบที่มอสโคว์ ทำให้ฮิตเลอร์ปลดเขาออกจากทุกตำแหน่ง

สำหรับนายทหารที่อยู่ขวาสุดของภาพคือ นายพลฟรานซ์ ริทเทอร์ เฮาเดอร์ (General Franz Ritter Halder) หัวหน้าฝ่ายเสนาธิการของกองทัพบกเยอรมัน ผู้ซึ่งเตือนฮิตเลอร์อยู่เสมอว่า ท่านผู้นำกำลังประเมินขีดความสามารถของกองทัพรัสเซียต่ำกว่าความเป็นจริง แต่คำเตือนของเขาก็ไม่ได้รับความสนใจจากฮิตเลอร์

เฮาเดอร์เป็นอีกผู้หนึ่งที่ถูกจับเพราะต้องสงสัยว่า มีส่วนร่วมในการการวางแผนสังหารฮิตเลอร์ในยุทธการ “วัลคีรี่” (Valkyrie) แต่ท้ายที่สุดก็พิสูจน์ตัวเองได้ว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด




กำลังพลของเยอรมันที่รุกเข้าสู่รัสเซียในยุทธการบาร์บารอสซ่า ประกอบด้วย กองพลทหารราบ 102 กองพล กองพลยานเกราะแพนเซอร์ 19 กองพล กองพลเคลื่อนที่เร็ว 14 กองพล กองพลพิเศษ 5 กองพล และกองพลทหารม้า (ม้าเนื้อ) 1 กองพล ฝ่ายรัสเซียมีกำลังประกอบด้วย กองพลทหารราบ 154 กองพล กองพลทหารม้า (ม้าเนื้อ) 25 กองพล และกรมยานเกราะ 37 กองพล นอกจากนี้ทางฝ่ายเยอรมันยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอักษะอื่นๆ เช่น ฟินแลนด์ สโลวัค อิตาลี โรมาเนีย และโครเอเชีย รวมทั้งฮังการี

กองทัพเยอรมันแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

1. กลุ่มกองทัพเหนือ (Army Group North) ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพล วิลเฮล์ม ฟอน ลีบ (Wilhelm Von Leeb) มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่เมืองเลนินกราด (Leningrad) เผชิญหน้ากับนายพลคลีเมนท์ โวราชิตอฟ (Kliment Vorashitov) ของรัสเซีย

2. กลุ่มกองทัพกลาง (Army Group Centre) ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพล ฟีดอร์ ฟอน บอค (Fedor Von Bock) มีจุดหมายอยู่การยึดกรุงมอสโคว์เมืองหลวงของรัสเซีย ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นจุดชี้ขาดแพ้ชนะของสงครามในครั้งนี้ เผชิญกับนายพล ซีเมน ทิโมเชนโก้ (Semen Timoshenko) ของรัสเซีย

3. กลุ่มกองทัพใต้ (Group South) ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพลเกิร์ด ฟอน รุทชเท็ดท์ (Gred Von Rundstedt) มีเป้าหมายคือยึดครองคอเคซัส (Caucasus) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่ฮิตเลอร์ต้องการใช้เป็นยุทธปัจจัยให้กับกองทัพนาซี กลุ่มกองทัพใต้ต้องเผชิญหน้ากับนายพลซีเมน บูเดนนี่ (Semen Budenny) ของรัสเซีย

กองทัพเยอรมันในขณะที่เปิดยุทธการบาร์บารอสซ่านั้น จัดเป็นกองทัพที่มีความพร้อมเป็นอย่างดี เป็นกองทัพยานยนต์เคลื่อนที่เร็ว ตามหลักการรุกแบบสายฟ้าแลบ (Blitzkreig) ที่ประสบความสำเร็จ มาจากการบุกยุโรปตะวันตกมาแล้ว อีกทั้งยังมีทหารที่มีประสบการณ์ในการรบมาอย่างโชกโชน

ในทางตรงกันข้าม กองทัพรัสเซียกลับเป็นกองทัพที่ขาดความพร้อม ขาดยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ อาวุธส่วนใหญ่ล้าสมัย แม้จะมีการพัฒนาอาวุธใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น รถถัง เค วี 1 และรถถัง ที 34 แต่ก็มีเพียงจำนวนน้อย อาวุธส่วนใหญ่ยังอยู่บนแผ่นกระดาษพิมพ์เขียว เนื่องจากวิศวกรถูกสังหาร หรือไม่ก็ถูกจับส่งเข้าค่ายกักกัน หรือเนรเทศออกนอกประเทศ

นอกจากนั้นกองทัพก็ยังขาดการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ กำลังพลส่วนใหญ่เป็นกำลังพลทหารราบเดินเท้า การขาดแคลนยานพาหนะเพื่อใช้ในขนส่งนับเป็นปัญหาหลักของกองทัพรัสเซีย จวบจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม เราจึงได้เห็นรถถัง ที 34 ติดราวเหล็กรอบๆ ป้อมปืน เพื่อให้ทหารราบใช้เป็นที่ยึดหนี่ยว ขณะอาศัยรถถังเป็นยานพาหนะในการขนส่ง ระบบการสื่อสารก็ต้องอาศัยการสื่อสารผ่านพลเรือนเป็นหลัก

วันแรกของยุทธการบาร์บารอสซ่า แม้การรบจะเปิดฉากแต่เช้ามืด แต่ข่าวสารของการรบถูกนำเสนอในประเทศเยอรมันโดยกระทรวงโฆษณาการ (หรือที่สัมพันธมิตรตะวันตกเรียกว่า กระทรวงการโฆษณาชวนเชื่อ – Ministry of Propaganda) เป็นการนำเสนอแบบอ้อมๆ ไม่ชี้ชัดว่า การรบได้เปิดฉากขึ้นแล้ว มีแต่เพียงข้อความโจมตีรัสเซียออกอากาศเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่กองทัพนาซีในการรุกเข้าสู่ประเทศรัสเซีย โดยมีใจความว่า

“.... เรามีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า พวกบอลเชวิครัสเซียได้พยายามหลอกลวงเยอรมัน และลอบแทงข้างหลังเรา (stabbed us in the back) มาเป็นเวลานานหลายปี เวลาของพวกบอลเชวิคกำลังจะมาถึง ....”

จนกระทั่ง โจเซฟ เกิบเบิล (Josef Goebbels) รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการของเยอรมันได้ออกแถลงการณ์ถึงการบุกรัสเซียอย่างเป็นทางการ ข่าวดังกล่าวสร้างความตื่นตะลึงให้กับชาวเยอรมันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสุภาพสตรีชาวเยอรมันทั้งหลาย มีการพูดกันถึงความพ่ายแพ้ของนโปเลียน โบนาปาร์ตในอดีต

แต่ผลจากความสำเร็จในแนวหน้า จำนวนเชลยศึกรัสเซียที่จำนวนมหาศาล รวมกับทัศนคติในทางบวกที่พรรคนาซีทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิทยุ ที่ผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ความกังวลเหล่านั้นจางหายไป กลายเป็นการสนับสนุนพรรคนาซีอย่างล้นหลาม อย่างน้อยก็ในระยะแรกๆ ของการรบในรัสเซีย

ในช่วงต้นของยุทธการบาร์บารอสซ่า หน่วยแพนเซอร์ (Panzer หรือ Armour ในภาษาอังกฤษ) ซึ่งเป็นหน่วยยานเกราะของเยอรมัน รุกเข้าสู่ดินแดนรัสเซียอย่างรวดเร็วบนหลักการรบแบบสายฟ้าแลบอันลือชื่อ และสามารถยึดครองดินแดนได้เป็นจำนวนกว้างใหญ่ไพศาล ทหารรัสเซียซึ่งอยู่สภาพที่ตกใจ เสียขวัญ ต่างทำการสู้รบอย่างไร้ประสิทธิภาพ กองทัพเยอรมันทำการเจาะลึก และโอบล้อมกองทหารรัสเซียหน่วยแล้ว หน่วยเล่า

ขณะเดียวกันกองทัพอากาศเยอรมันก็บินถล่มที่มั่นต่างๆของฝ่ายรัสเซีย ประมาณกันว่าในช่วงเปิดยุทธการนั้น มีทหารรัสเซียถูกจับเป็นเชลยกว่า 290,000 คน รถถังทั้งที่ล้าสมัยแบบ BA 10 และที่มีประสิทธิภาพอย่าง KV 1 ถูกยึดเป็นจำนวนถึง 2,585 คัน ปืนใหญ่อีก 1,449 กระบอก กองทัพอากาศ หรือลุฟวาฟ (Luftwaffe) สามารถทำลายอากาศยานของรัสเซียที่ล้าสมัยที่จอดอยู่ตามสนามบินต่างๆ อย่างชนิดที่ไม่มีโอกาสได้บินขึ้นมาขัดขวาง

กล่าวได้ว่ายุทธการบาร์บารอสซ่า เปิดฉากด้วยการประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของอาณาจักรไรซ์ที่สาม ของเขา เพราะหากฮิตเลอร์ตัดสินใจเปิดศึกเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น กำลังพลของเยอรมันก็จะไม่ต้องกระจัดกระจายไปทั่วทั้งยุโรปดังเช่นที่เป็นอยู่ ความผิดพลาดครั้งนี้นับเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งบทเรียนหนึ่งของการรบในยุคปัจจุบัน





ภาพนี้ถ่ายเมื่อเดือนพฤษภาคม 1936 เป็นภาพที่ฮิตเลอร์กำลังได้รับการต้อนรับจากฝูงชนชาวเยอรมัน ระหว่างเดินทางไปถึงสนามกีฬาโอลิมปิกในกรุงเบอร์ลิน เพื่อแสดงสุนทรพจน์ของเขา

โอลิมปิคที่เยอรมันเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ได้ถูกฮิตเลอร์ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งการโฆษณาชวนเชื่อและการประชาสัมพันธ์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศอย่างกว้างขวาง ผ่านเครือข่ายของพรรคนาซี ทั้งวิทยุ โทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้การแข่งขันโอลิมปิคในปี 1936 ได้รับการบันทึกว่า เป็นการแข่งขันที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกของโลกโดยใช้อุปกรณ์ของบริษัท เทเลฟุงเกน (Telefunken) ของเยอรมัน



ฮิตเลอร์ได้กล่าวในปี 1942 ถึงการที่มีผู้สบประมาทเขาว่า เป็นเพียงนายสิบคนหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่แล้ว ทำไมจึงกล้าหาญชาญชัยมาเป็นผู้วางแผนการรบในสมรภูมิที่ยิ่งใหญ่ได้ เขากล่าวตอนหนึ่งว่า

“มีข้อสงสัยอย่างต่อเนื่องว่า ข้าพเจ้ามีความสามารถมากน้อยเพียงใดในการเป็นผู้นำสงคราม (a war leader) ข้าพเจ้ากำลังเดินตามรอยเท้าของพระเจ้าเฟรดเดอริคมหาราชของปรัสเซีย เช่นเดียวกับตัวข้าพเจ้ากับอาณาจักรเยอรมัน มีคนพูดกันว่า ข้าพเจ้าเป็นเพียงนายสิบจากสงครามครั้งที่แล้ว ซึ่งก็ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตาม พลังความเข็มแข็งของข้าพเจ้า อยู่ที่ความจริงที่ว่า ข้าพเจ้ามีผลประโยชน์ของชาติเยอรมันอยู่ในหัวใจ ข้าพเจ้ารู้ว่า สิ่งใดมีคุณค่าสำหรับประชาชนเยอรมัน ซึ่งข้าพเจ้าสามารถรับรู้ได้ หากนายพลฝ่ายเสนาธิการบอกให้ข้าพเจ้าเคลื่อนกำลังทหารไป ณ ที่แห่งใดก็ตาม ข้าพเจ้าสามารถรับรู้ได้ในห้วงความคิดของข้าพเจ้าว่า ที่ใดคือที่ที่ถูกต้อง เหตุการณ์และความสำเร็จต่างๆ ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ถึงความถูกต้องเหล่านั้น ....”

อันที่จริงคงไม่มีใครปฏิเสธว่า ฮิตเลอร์มีความสามารถในด้านยุทธศาสตร์ดีเยี่ยมที่สุดคนหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการเข้าครอบครองดินแดนยุโรปส่วนต่างๆ อย่างรวดเร็ว เขาวางแผนในภาพรวม แล้วเหล่านายพลของเขา วางแผนทางยุทธวิธี เช่น นายพลอีริค ฟอน แมนสไตน์ (Erich von Manstein) เป็นผู้วางแผนในการนำกำลังรุกเข้าสู่ป่าอาร์เดนส์ที่ไม่มีใครคาดว่า จะมีกำลังรบใดๆ สามารถผ่านป่าอันหนาทึบนี้ไปได้ ทำให้การยึดเบลเยี่ยมและฝรั่งเศส ประสบผลสำเร็จอย่างรวดเร็ว

แต่เมื่อสงครามดำเนินไปเรื่อยๆ ฮิตเลอร์ได้เปลี่ยนตัวเองจากนักยุทธศาสตร์ ลงมาเป็นนักยุทธวิธี ซึ่งตัวเขาเองไม่มีความถนัด และนักประวัติศาสตร์ต่างลงความเห็นว่า เป็นการกระทำที่ผิดบทบาท (misconduct) แม้ตัวเขาจะทุ่มเทเวลาอย่างมากในการศึกษายุทธวิธี

ดังจะเห็นได้จากภายหลังการรุกเข้าสู่รัสเซียของทหารเยอรมันกว่า สามล้านคน ฮิตเลอร์ก็มักจะเก็บตัวเงียบ ปลีกตนออกจากการออกงานสังคมอย่างเห็นได้ชัด และเข้าร่วมในฐานะเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มีอำนาจในการตัดสินใจเด็ดขดในการประชุมการวางแผนการรบของฝ่ายเสนาธิการของกองทัพด้วยตนเองแทบทุกครั้งไม่เคยขาด

ความผิดพลาดในการตัดสินใจที่สำคัญของเขาปรากฏเห็นอย่างชัดเจน ในวันที่ 21 สิงหาคม 1941 เมื่อเขาตัดสินใจเข้าควบคุมการสั่งการอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกในที่ประชุมฝ่ายเสนาธิการ และสั่งให้กลุ่มกองทัพกลางของนายพล ฟอน บอค หยุดการรุกเข้าสู่กรุงมอสโคว์ แล้วดึงเอาหน่วยยานเกราะอันทรงประสิทธิภาพของนายพลกูเดเรียนออกจากกลุ่มกองทัพกลาง เพื่อไปสมทบกับกลุ่มกองทัพใต้ ของนายพล ฟอน รุดชเท็ต ในการกวาดล้างทหารรัสเซียในพืนที่เมืองเคียฟ

การสั่งการของฮิตเลอร์ดังกล่าว ทำให้ความเข้มแข็งของกลุ่มกองทัพกลางลดลงอย่างมาก จนไม่สามารถรุกเข้ายึดกรุงมอสโคว์ เมืองหลวงของรัสเซียได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ ... ระยะเวลาที่กำลังหนุนอันยิ่งใหญ่ของรัสเซียจะมาถึง นั่นคือ ฤดูหนาว นั่นเอง




Create Date : 11 กรกฎาคม 2552
Last Update : 29 สิงหาคม 2553 15:47:23 น. 8 comments
Counter : 3776 Pageviews.

 
1.ฮีโร่ของฮิตเลอร์หาใช่นโปเลียนไม่ แต่เป็นพระเจ้าเฟดเดอริกมหาราชแห่งปรัสเซีย ฮิตเลอร์ถึงขนาดมีรูปวาดของพระเจ้าเฟดเดอริกแขวนไว้ในห้องทำงานตลอดเวลา

2.การปฏิวัติในยูโกสลาเวียคือจุดเปลี่ยนก็จริง เพราะทำให้สูญเสียเวลาอันมีค่าไป แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญกว่าคือการที่ฮิตเลอร์ปฏิบัติต่อชาวยูเครนหลังจากที่เข้ายึดได้ ถ้าฮิตเลอร์ตั้งยูเครนเป็นรัฐเอกราชและปฏิบัตอย่างดีกับพวกเค้า กองทัพเยอรมันก็จะได้กำลังเสริมอีกหลายล้านและทรัพยากรอีกจำนวนมหาศาล เพราะชาวยูเครนต้องทนกับการกดขี่ของสตาลินมาเป็นเวลานาน พวกเค้าจึงมองกองทัพนาซีว่าเป็นเสมือนหนึ่งผู้ที่มาปลดปล่อย น่าเสียดายที่ความคลั่งชาติพันธ์ของฮิตเลอร์ดันมากำเริบเอาตอนนี้อีกแล้ว พวกเอสเอสสังหารชาวยูเครนไปเป็นจำนวนมากมายด้วยความโหดร้ายทารุณไม่แพ้สตาลิน ด้วยเหตุนี้พวกเค้าจึงจำเต้องกลายเป็นกองโจรคอยก่อกวนเส้นทางเสบียงหลังแนวรบเยอรมัน


โดย: piras วันที่: 12 กรกฎาคม 2552 เวลา:1:02:45 น.  

 
ขอบคุณครับสำหรับข้อแนะนำ

1. เป็นที่ทราบกันดีว่า idol หรือ hero ของฮิตเลอร์นั้น มีพระเจ้าเฟรดเดอริคมหาราช และจักรพรรดิ์นโปเลียน

ข้อมูลที่สนับสนุนว่านโปเลียนเป็นวีรบุรุษของฮิตเลอร์ คือ ในวันที่ 28 มิถุนายน 1940 ฮิตเลอร์เดินทางไปเยือนปารีส ภายหลังจากปารีสประกาศเป็นเมืองเปิด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อสถาปัตยกรรมในเมือง

ก่อนที่ฮิตเลอร์จะเริ่มการเยือนปารีสอย่างเป็นทางการ อัลเบิร์ต สเปียร์ ได้บันทึกว่า ฮิตเลอร์ได้เดินทางไปเยือนหลุมศพของนโปเลียนที่ Les Invalides และใช้เวลาสงบนิ่งอยู่ที่นั่นเป็นเวลานาน เขาได้เปลี่ยนชุดคลุมเป็นสีขาว แทนที่จะเป็นชุดสีดำที่ถ่ายบริเวณหน้าหอไอเฟล เพื่อแสดงความเคารพเป็นพิเศษต่อนโปเลียน

อีกทั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม 1940 ฮิตเลอร์ได้สั่งการให้นำศพของ Napoleon II (1811-1832), Duke of Reichstadt, ซึ่งเป็นโอรสของนโปเลียนที่ฝังอยู่ที่ Kaisergruft ในกรุงเวียนนา มาฝังเคียงข้างกับศพของนโปเลียนที่ Les Invalides แห่งนี้ครับ

2. จุดเปลี่ยนในการรบด้านรัสเซียมีหลายจุดครับ ไม่ใช่เฉพาะความล่าช้าในยูโกสลาเวียเท่านั้น แต่ยังมีการที่ฮิตเลอร์ดึงเอาหน่วยยานเกราะของ กูเดเรียน ออกจากกลุ่มกองทัพกลาง ทำให้กลุ่มกองทัพกลางไม่สามารถยึดกรุงมอสโคว์ได้

รวมถึงจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ที่สตาลินกราด (ความพ่ายแพ้ของกองทัพที่ 6) ที่นักประวัติศาสตร์ยอมรับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกจุดหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีจุดเปลี่ยนที่ Kursk ที่ทำให้เยอรมันสูญเสียอย่างหนักจนไม่สามารถทำการรุกในด้านตะวันออกได้อีกเลย

ปัญหา Partisan หรือกลุ่มใต้ดินรัสเซียนั้น เป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งเช่นกัน แต่ไม่ใช่มีเฉพาะ Partisan ในยูเครนเท่านั้น ยังมี Partisan ในแลตเวีย ลิธัวเนีย เอสโทเนีย เบโรรุสเซีย รวมไปถึงพวก Young guard (ใต้ดินรัสเซีย) ซึ่งขยายตัวอย่างมากอันเนื่องมาจากนโยบายมองคนรัสเซียว่าเป็น subhuman หรือพวกที่ด้อยกว่ามนุษย์ของฮิตเลอร์ครับ


ขอบคุณครับที่กรุณาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น


โดย: unmoknight วันที่: 13 กรกฎาคม 2552 เวลา:21:02:17 น.  

 
โทษทีครับ ผมลืมข้อมูลตรงที่ฮิตเลอร์เดินทางไปเยือนสุสานโปเลียนไป สำหรับในกรณีของพระเจ้าเฟดเดอริกนั้น ในช่วงท้ายของสงครามฮิตเลอร์หวังที่จะให้มีปาฎิหารย์ที่มาช่วยกองทัพของเค้าให้พ้นจากหายนะเหมือนกับที่เคยมาช่วยกองทัพพระเจ้าเฟดเดอริกจาการบดขยี้ของกองทัพของจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา แห่งจักรวรรดิ์ออสโตร-ฮังการี

สำหรับจุดเปลี่ยนที่แนวรบด้านตะวันออกนั้น อ้างอิงจากสารคดีเรื่อง How Hilter Lost the War เมื่อปี 1989 ที่ผมเพิ่งไปโหลดบิทมาดู คือการถอนกำลังจากกองทัพภาคกลางไปช่วยกองทัพภาคใต้ยึดบ่อน้ำมันในคอเคซัสอย่างที่ผู้พันว่า แต่แล้วฮิตเลอร์ดันเกิดเปลี่ยนใจจะกลับมายึดมอสโคว์กระทันหัน ก็เลยดึงกำลังยานเกราะกลับจากกองทัพภาคใต้มาช่วยกองทัพภาคกลางเพื่อยึดมอสโคว์ ทำให้น้ำมันไม่พอเพราะรถถังต้องวิ่งไปกลับเป็นพันๆไมล์ ผลก็คือรถถังเยอรมันต้องจอดทตายเพราะน้ำมันหมดเพียงแค่ 20 ไมล์จากใจกลางกรุงมอสโคว์ อ้างอิงจากหลักฐานบันทึกของไคเตอร์/โจเดลหรือฮาร์เดอร์ (คนใดคนหนึ่ง ผมจำไม่ได้แน่ว่าใคร) ข้อด้อยของฮิตเลอร์ในการเป็นนักยุทธศาสตร์ที่ดีคือ การขาดความเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจ อันนี้ยังไม่รวมเรื่องการเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไปที่บอกว่า เพียงแค่เตะที่ประตูเบาๆ แล้วขยะรัสเซียนทั้งหลายก็จะไหลทะลักออกมานะครับ และไอ้การลังเลแบบนี้เองที่ทำให้เยอรมันแพ้สงคราม ทั้งบาคูและมอสโคว์ต่างก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน บาคูเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่ขับเคลื่อนกลจักรสงครามของฝ่ายกองทัพแดง ในขณะที่มอสโคว์เป็นศูนย์กลางการสื่อสาร ปัญหาคือว่ากองทัพเยอรมันไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะยึดได้ทั้งสองเป้าหมายตามที่ฮิตเลอร์ต้องการ ความพยายามแบบนั้นทำให้แนวรบเยอรมัน Overstretch ซึ่งเป็นการเชื้อเชิญหายนะนั่นเอง


โดย: piras วันที่: 14 กรกฎาคม 2552 เวลา:9:47:35 น.  

 
ขอบคุณมากครับและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้เเลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันครับ

ผมติดตามอ่านเรื่องนิวเคลียร์ในคิวบาของคุณ piras ด้วย เขียนดีมากครับ น่าติดตาม

แล้วจะคอยติดตามผลงานคุณ piras ต่อไปนะครับ



โดย: unmoknight (unmoknight ) วันที่: 14 กรกฎาคม 2552 เวลา:9:58:24 น.  

 
ไม่ควรทำสงครามกับรัสเซียจะดีที่สุด เนื่องจากปัจจัยต่างๆ
ของเยอรมันเช่นทรัพยากรคน อาวุธ ฯลฯ มีจำกัด ยังไงก็ไม่สามารถเอาชนะรัสเซียได้ แม้จะยึดพื้นที่ได้จำนวนมาก
แต่ไม่มีกำลังพอที่จะป้องกันก็ไม่มีประโยชน์ ถ้ารู้ว่ารบแล้วไม่มีทางชนะ ก็ไม่ควรรบจะดีกว่า ควรมุ่งทำลายอังกฤษและฝรั่งเศสให้ราบคาบ จะมีผลดีกว่ามาก เยอรมันอาจจะเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งในยุโรปก็ได้ ประวัติศาสตร์อาจเปลี่ยนโฉมหน้า


โดย: สกล ศุภมาศ IP: 61.19.228.46 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2552 เวลา:16:14:08 น.  

 
ผมงงครับที่ทำไมเยอรมันต้องยึดแอฟริกาด้วย
เพื่ออะไรหรอหรือมันจำเป็นต้องฝ่าทั้งๆๆที่มีทหารพันธมิตร
ดักอยู่ ช่วยบอกที ถือว่าบอกหมา


โดย: เด็ก 3/9 สตรีอ่างทอง เลขที่2 IP: 125.26.33.200 วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:22:12:49 น.  

 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him


โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:22:19:03 น.  

 
อ้านแล้วได้ความรู้ดีจัง
แอบเชียร์อยู่ลึกๆ รู้สึกเสียดายทหารหลายนายที่มีความสามารถ ทั้งยานเกราะด้วย
มีบุคลากรที่ดี แต่ผู้นำกลับเป็นแต่บุ๋น บู๊ไม่ค่อยจะได้เรื่อง


โดย: -3- IP: 58.9.172.102 วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:1:27:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

unmoknight
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 49 คน [?]




ฉันจะบิน ... บินไป ... ไกลแสนไกลไม่หวั่น
เก็บร้อยความฝันที่มันเรียงราย ...
ให้กลายมาเป็นความจริง ...
New Comments
Friends' blogs
[Add unmoknight's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.