ยูโทเพียไทย
เศรษฐศาสตร์
เพื่อความเป็นธรรม

 
กู้วิกฤตวัฏจักร: รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังช่วยใคร ?

กู้วิกฤตวัฏจักร: รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังช่วยใคร ?
(เผยแพร่ต่อได้เมื่อระบุว่านำมาจากเรื่อง Landowners Indulged with Trillion-Dollar Subsidy โดย Fred E. Foldvary บรรณาธิการอาวุโสเว็บไซต์ The Progress Report ที่ //www.progress.org/2008/fold578.htm)

ถ้ายังมีข้อสงสัยอยู่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยเจ้าของที่ดินเพื่อเจ้าของที่ดินและเป็นของเจ้าของที่ดินหรือไม่ เงินอุดหนุนขนาดล้านล้าน (trillion) ดอลลาร์ที่กำลังจัดให้เจ้าของที่ดินก็จะเป็นสิ่งยืนยันได้ มันควรจะแสดงสิ่งนี้ แต่ไม่ใช่ ผู้คนไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ ถ้าเขาเรียนรู้ เขาก็รู้บทเรียนผิด ๆ

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ใช้เงินหลายแสนล้านดอลลาร์แล้วเพื่อช่วยเหลือบริษัทเช่น AIG และเพื่อลดความสูญเสียของบรรดาเจ้าของที่ดิน และกำลังจะใช้เงินอีกเจ็ดแสนล้านเพื่อซื้อสัญญาจำนองที่ค้างชำระ เพื่อช่วยผู้ให้กู้ และช่วยผู้กู้บางราย บทเรียนที่นักการเมือง คนสำคัญของทางการ และแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์กำลังเรียนรู้อย่างผิด ๆ ก็คือการมีกฎระเบียบไม่เพียงพอ เราได้ยินผู้แทนราษฎรและบุคคลชั้นนำในสภากล่าวว่าตลาดเสรีล้มเหลว และว่าการขาดกฎระเบียบทำให้ตลาดแกว่งแรง

ความคิดนี้ผิดเพราะคำศัพท์ทำให้เข้าใจผิด ประเด็นสำคัญมิใช่กฎระเบียบ แต่เป็นการแทรกแซง ความสับสนทางภาษานี้เป็นสิ่งที่จงใจให้มีขึ้น เราจะไม่ได้ยินนักการเมืองพูดว่ามีการแทรกแซงจากรัฐบาลน้อยเกินไป

การแทรกแซงหมายรวมถึง การเก็บภาษี การให้เงินอุดหนุน และการควบคุมจำกัดการกระทำอันสันติและสุจริตของมนุษย์ นักการเมืองที่ร้องว่าไม่มีกฎระเบียบคงจะลืมนึกถึงองค์การต่าง ๆ จำพวก คณะกรรมาธิการตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารกลางสหรัฐฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงการเคหสงเคราะห์ และส่วนราชการของรัฐต่าง ๆ ที่กำกับดูแลบริษัทประกันภัย

การแทรกแซงที่สำคัญคือการเก็บภาษีที่ดูเหมือนเป็นการลงโทษและการอุดหนุนแบบให้เปล่า ภาษีที่เก็บจากแรงงาน วิสาหกิจ และสินค้า ทำให้เกิดการสูญเปล่าทางสังคมที่เรียกว่า ภาระส่วนเกิน (excess burden) หรือ การสูญเปล่าจากภาระตายตัว (deadweight loss) การให้เงินอุดหนุนก็ทำให้เกิดการสูญเปล่าจากภาระตายตัวด้วย เพราะต้นทุนของภาษีจะมากเกินกว่าผลดีที่ได้รับด้านการกินดีอยู่ดีเสมอ โดยที่เงินอุดหนุนไปช่วยลดต้นทุนของสินค้า ทำให้ราคาสินค้าต่ำกว่าปกติ จึงทำให้ผู้คนซื้อสินค้านั้น ซึ่งในราคาปกติเขาจะไม่ซื้อ จึงเป็นการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ดี ทำให้มีการใช้ไปในทางที่ได้ประโยชน์น้อยลง

ในระดับทั่วโลก การแทรกแซงของรัฐบาลที่ใหญ่โตที่สุดคือที่มูลค่าที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่ทีเดียวเป็นการอุดหนุนโดยปริยายในรูปสินค้าและบริการสาธารณะซึ่งทำให้ที่ดินมีมูลค่าสูงขึ้น ภาษีปัจจุบันส่วนใหญ่ในขั้นสุดท้ายจะไปลงที่ค่าแรง ผู้ใช้แรงงานต้องจ่ายภาษีการขาย (sales tax) คนงานที่เช่าบ้านที่ดินของผู้อื่นต้องจ่ายสองต่อ คือ ภาษี และ ค่าเช่าที่สูงขึ้น ส่วนเจ้าของที่ดินได้รับการอุดหนุน

วัฏจักรธุรกิจนั้นเกิดจากวัฏจักรอสังหาริมทรัพย์ ระยะที่ที่ดินเฟื่องฟูจากการเก็งกำไร ราคาที่ดินสูงขึ้น ทำให้การลงทุนก่อสร้างและผลิตสินค้าคงทนชะงัก เกิดการว่างงานและเศรษฐกิจถดถอย หนทางเดียวที่จะขจัดวัฏจักรอสังหาริมทรัพย์และวัฏจักรธุรกิจคือต้องขจัดการอุดหนุนมูลค่าที่ดิน ซึ่งทำได้โดยเก็บภาษีจากมูลค่าหรือค่าเช่าที่ดินรายปีเกือบทั้งหมดมาเป็นรายได้แผ่นดินแทนภาษีที่เป็นเสมือนการลงโทษในปัจจุบัน

แต่เราจะไม่ค่อยได้เห็นบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารขนาดใหญ่หรือแม้แต่บทความใด ๆ ในวารสารวิชาการ (นอกจาก American Journal of Economics and Sociology) อธิบายลักษณะอาการที่การอุดหนุนที่ดินก่อให้เกิดความตื่นตระหนกทางการเงินและเศรษฐกิจถดถอย สิ่งพิมพ์ที่สนับสนุนตลาดเสรี (นอกจากฝ่ายนิยมจอร์จ) ก็ไม่ลงพิมพ์บทความเช่นนี้เพราะไม่ต้องการก่อความขัดเคืองให้แก่ผู้อุปถัมภ์ที่เป็นเจ้าของที่ดิน ในสื่อมวลชนและแม้แต่ในกลุ่มนักวิชาการมีความไม่ซื่อสัตย์ทางพุทธิปัญญาและการละเลยโดยเจตนาต่อบทบาทของที่ดินในระบบเศรษฐกิจ

ศาสตราจารย์ Mason Gaffney ได้ตีแผ่สาเหตุของการไม่ยอมรับความสำคัญของปัญหาที่ดินในเรื่อง “Neo-classical Economics as a Stratagem against Henry George” ในหนังสือ The Corruption of Economics (//homepage.ntlworld.com/janusg/coe/!index.htm) การฉ้อฉลความคิดทางเศรษฐศาสตร์นี้รุนแรงถึงกับไม่มีตำราเศรษฐศาสตร์เล่มใดกล่าวถึงการที่ทรัพย์สินที่สร้างเพื่อส่วนรวมไปเพิ่มราคาให้แก่ที่ดินของเอกชน ไม่มีการใส่ใจในการจะเก็บภาษีจากค่าเช่าหรือมูลค่าที่ดิน และถ้ามีใครกล่าวถึงก็จะถูกวิจารณ์เสมอว่าไม่สามารถปฏิบัติได้และจะได้ภาษีน้อยเกินไป บทบาทของที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในวัฏจักรธุรกิจไม่มีใครพูดถึง

ดังนั้น มิใช่เพียงคนทั่วไปและนักการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงนักวิชาการด้วย ที่จะไม่ได้เรียนรู้บทเรียนว่า การอุดหนุนมูลค่าที่ดิน ร่วมกับการฉ้อฉลทางการเงินของผู้มีอำนาจหน้าที่ ก่อให้เกิดวัฏจักรเฟื่องฟูและแฟบฟุบ การกู้วิกฤตสัญญาจำนอง 7 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มเติมจากเงินอีกหลายแสนล้านที่ใช้ช่วยเหลือวงการการเงินและอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วนั้น เนื้อแท้ก็คือการให้เงินอุดหนุนอีกทางหนึ่งแก่เจ้าของที่ดินนั่นเอง พวกเขากู้ยืมเงินอย่างหนักเพื่อซื้อที่ดิน โดยหวังว่าราคาที่ดินจะสูงขึ้นยังความร่ำรวยแก่พวกเขา แต่บัดนี้ราคาที่ดินกลับลดลง ผู้จ่ายภาษีก็จะต้องรับความสูญเสียแทน

เศรษฐกิจจะฟื้นตัวและราคาที่ดินจะสูงขึ้นอีก เช่นเดียวกับที่ได้เป็นมาเสมอหลังเศรษฐกิจฟุบทุกครั้ง วัฏจักรระยะ 18 ปีจะดำเนินต่อไป และน้ำตกทางการเงินครั้งหน้าจะเกิดในปี 2026 ข้อแตกต่างคือก่อนปี 2020 หนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ จะสูงมากจนแม้กระทั่ง T-bills (Treasure bills ตั๋วเงินระยะไม่เกิน 1 ปีของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ถือกันว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสุด) ก็มิใช่ว่าจะปลอดภัยเต็มที่ และในปี 2026 จะมีความตื่นตระหนกทางการเงิน รัฐบาลจะหยุดจ่ายดอกเบี้ยสำหรับหนี้ของตน

การอุดหนุนปริมาณมหาศาลแก่อสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นเพราะถือว่ารัฐบาลมีกำลังกู้ยืมไม่จำกัด เมื่อกำลังในการกู้ยืมหายไป ในที่สุดเจ้าของที่ดินก็จะประสบความหายนะ แต่เจ้าของที่ดินรุ่นก่อนจะได้จัดงานเลี้ยงใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

บทความที่เกี่ยวข้อง
The house price crash starts in 2008
//www.progress.org/2008/predict.htm
Farmers got it rough; farm owners got it easy, thanks to taxpayers
//www.progress.org/2007/agsb0710.htm
Digging Into Land Ownership
//www.progress.org/archive/ttoland2.htm

(จากเว็บเศรษฐศาสตร์เพื่อความเป็นธรรม //geocities.com/utopiathai)


Create Date : 27 กันยายน 2551
Last Update : 12 ตุลาคม 2551 10:16:23 น. 0 comments
Counter : 723 Pageviews.
 
 

สุธน หิญ
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




แก้ความอยุติธรรมขั้นฐานราก
ตามแนวเฮนรี จอร์จ
http://utopiathai.webs.com
เลิกภาษีการลงแรงลงทุนผลิตและค้า
เลิกภาษีเงินได้ เพิ่มภาษีที่ดิน
ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ใช้เวลาสัก 30 ปี


เปิดเว็บต่างแดนดูไม่ได้ ให้ google ช่วยหา free anonymous proxy server ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากเพื่อเปิดให้แทนครับ (ในไทยอาจมีการปิดกั้นเว็บของต่างแดน เว็บย่อยที่คนไทยอาศัยใช้กันก็พลอยถูกปิด)

เว็บหลักของผม ยูโทเพียไทย_1
* หน้ารวมลิงก์ยูโทเพียไทย_1 *

หนังสือดีเด่นแปล Progress and Poverty หนังสือ ความยากจนที่ไม่เป็นธรรม และ บทความ ของผม ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ยินดีให้เผยแพร่ต่อด้วยความขอบคุณ ยกเว้นบทความแปลกรุณาอ่านเงื่อนไขจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่อ้างไว้ครับ


- ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ดร.บุญเสริม
- ภาษีทรัพย์สินสหรัฐฯ
- ภาวะตลาดอสังหาฯ
- ภาวะตลาดที่อยู่อาศัย 2537-51
- ราคาที่ดินทั่วไทยรายแปลง
- สรุปราคาประเมินใน กทม.ปี 2551-54
- การเปลี่ยนแปลงราคาที่ดินใน กทม.และปริมณฑลปี 2528-50


[Add สุธน หิญ's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com