นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
Group Blog
 
All blogs
 
อนุสัยกิเลส

การนอนเนื่องของอนุสัยกิเลสและธรรมที่ทำการประหาณ


การนอนเนื่องของอนุสัยกิเลสนี้มีอยู่ ๒ ประการ

๑. การนอนเนื่องอยู่ในการเกิดขึ้นสืบต่อแห่งรูป,นาม ขันธ์ ๕ ชื่อว่า สันตานานุสัยกิเลส

๒. การนอนเนื่องอยู่ในอารมณ์ที่เป็น ปิยรูป สาตรูป อปิยรูป อสาตรูป ชื่อว่า อารัมมณานุสัยกิเลส

ใน ๒ ประการนี้ มรรคทั้ง ๔ ทำการประหาณสันตานานุสัยกิเลส วิปัสสนาญาณที่มีรูป, นามเป็นอารมณ์ทำการประหาณอารัมมณานุสัยกิเลส ฉะนั้น อนุสัยกิเลสที่อนิจจานุปัสสนาเป็นต้นได้ประหาณไปนั้น เป็นอารัมมณานุสัยกิเลส ส่วน สันตานานุสัยกิเลส นั้น เมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ตราบใด แม้ว่าผู้นั้นจะได้เคยปฏิบัติวิปัสสนามาแล้วหลายครั้งหลายหน หรือกำลังปฏิบัติอยู่ก็ตาม หรือผู้ที่เป็นฌานลาภี อภิญญาลาภี ทั้งมีฤทธิ์เดชต่าง ๆ นานาก็ตาม หรือจะได้ไปบังเกิดเป็นพรหมติดต่อกันหลายภพหลายชาติก็ตาม สันตานานุสัยกิเลสก็ยังคงมีอยู่เต็มที่เป็นปกติ โดยอาการที่ยังไม่ได้ถูกประหาณไปเลยแม้แต่น้อย

สำหรับ อารัมมณานุสัยกิเลส นั้น เมื่อวิปัสสนาญาณของโยคีได้เข้าถึงขึ้นภังคญาณอารัมมณานุสัยกิเลสก็ถูกประหาณลงทันทีตั้งแต่ญาณนี้เรื่อย ๆ ไป

ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในวิภังคบาลีว่า

สตฺตานุสยา : กามราคานุสโย ปฏิฆานุสโย มานานุสโย ทิฏฺฐานุสโย วิจิกิจฺฉานุสโย ภวราคานุสโย อวิชฺชานุสโย. ยํ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺถ สตฺตานํ ราคานุสโยอนุเสติ, ยํ โลเก อปิยรูปํ อสาตรูปํ เอตฺถ สตฺตานํ ปฏิฆานุสโย อนุเสติ, อิติ อิเมสุ ทฺวีสุธมฺเมสุ อวิชฺชา อนุปติตา ตเทกฏฺโฐ มาโน จ ทิฏฺฐิ จ วิจิกิจฺฉา จ ทฏฺฐพฺพา.





อนุสัยกิเลสมี ๗ ประการคือ

๑. ธรรมชาติที่ยินดี,พอใจ,รักใคร่ในกามคุณอารมณ์ นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
๒. ธรรมชาติที่ขัดเคืองในอารมณ์ นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
๓. ธรรมชาติที่ถือตัว นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
๔. ธรรมชาติที่เห็นผิด นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
๕. ธรรมชาติที่สงสัยในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
๖. ธรรมชาติที่ยินดีพอใจในภพชาติ นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
๗. ธรรมชาติที่หลงอยู่ในเรื่องความเห็นผิด นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานนี้เป็น สันตานานุสัยกิเลส

ปิยรูป,สาตรูป สภาพที่น่ารักน่ายินดีอันใดมีอยู่ในโลก คือสังขารธรรมรูป,นามภายในตน กามราคานุสัยและภวราคานุสัยของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมนอนเนื่องอยู่ในปิยรูปสาตรูปสภาพที่น่ารัก,น่ายินดีเหล่านี้

อปิยรูป,อสาตรูป สภาพที่ไม่น่ารักไม่น่ายินดีอันใดมีอยู่ในโลก คือ สังขารธรรมรูป,นามภายในตน ปฏิฆานุสัยของสัตว์ทั้งหลายย่อมนอนเนื่องอยู่ในอปิยรูป,อสาตรูปสภาพที่ไม่น่ารัก,ไม่น่ายินดีเหล่านี้ เมื่อเป็นดังนี้ อวิชชานุสัยก็ย่อมนอนเนื่องอยู่ในราคะและปฏิฆะทั้ง ๒ นี้ด้วย ส่วนมานานุสัย,ทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัยเหล่านี้ ก็ย่อมตั้งอยู่ในจิตดวงเดียวกันกับจิตที่มีอวิชชา นี้เป็น อารัมมณานุสัยกิเลส
นักศึกษาทั้งหลายพึงทราบดังต่อไปนี้





ขยายความในพระบาลีที่ทรงแสดงถึงอนุสัยกิเลส ๒ ชนิด


สันตานานุสัยกิเลส กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานโดยอาการที่ยังไม่ปรากฏเป็นสภาวะปรมัตถ์ คือยังไม่เข้าถึงขณะทั้ง ๓ (เกิดขึ้น, ตั้งอยู่, ดับไป) นั้น ได้ชื่อว่า สันตานานุสัยกิเลส


ผู้ที่ยังมิได้ทำการประหาณอนุสัยกิเลสโดยสมุจเฉทเลยนั้น ได้ชื่อว่าเป็นปุถุชนและปุถุชนทั้งหลายแม้ว่าจะยังเป็นเด็กอยู่ในครรภ์มารดาก็ตาม เป็นเด็กเล็ก เป็นหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ แก่เฒ่าลงไปก็ตาม เป็นคฤหัสถ์,บรรพชิตก็ตาม ได้ฌาน,ได้อภิญญา,เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ตาม แม้ที่สุดจะได้บังเกิดเป็นพรหมอยู่หลายภพชาติก็ตาม ปุถุชนเหล่านั้นก็ยังเป็นอยู่โดยมีอนุสัยกิเลสครบถ้วนด้วยกันทั้งสิ้น

แม้ว่าจะได้สำเร็จเป็น พระโสดาบัน พระสกทาคามี แล้วก็ตาม อนุสัยกิเลสอีก ๕ อย่างก็ยังเหลืออยู่ ยังหาได้ประหาณให้หมดไปไม่ คงประหาณได้แต่ทิฏฐิและวิจิกิจฉานุสัย ๒ อย่างนี้เท่านั้น ครั้นเป็น พระอนาคามี ภวราคะ มานะ อวิชชานุสัยทั้ง ๓ ก็ยังมีอยู่หาได้หมดไปเพียงเท่านี้ไม่ ฉะนั้น บุคคลทั้ง ๔ จำพวกนี้ จึงยังมีอนุสัยกิเลสอยู่อุปมาเหมือนกับคนไข้ที่ยังไม่หายไข้ มีผู้ถามว่า ท่านสบายดีหรือ แม้ว่าในขณะนั้นมิได้จับไข้แต่ก็ตอบว่า ยังเป็นไข้อยู่ โดยมาคำนึงถึงไข้ที่ได้จับมาแล้วและจะจับอีกในขณะต่อไป หรืออุปมาเหมือนกับผู้ที่ยังไม่ได้มีการเว้นขาดจากการรับประทานเนื้อ เมื่อถูกถามว่า ท่านรับประทานเนื้อหรือเปล่า ถึงแม้ว่าขณะนั้นจะไม่ได้รับประทานอยู่ก็จริง แต่ก็ตอบว่า ข้าพเจ้ารับประทานดังนี้ ก็เพราะว่ามาคำนำถึงเนื้อที่ได้เคยรับประทานมาและจะรับประทานอีกในวันข้างหน้า สมดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในอนุสัยยมกพระบาลีว่า ยสฺส กามราคานุสโย อุปปชฺชติ ตสฺส ปฏิฆานุสโย อุปฺปชฺชตีติ กามราคานุสัยยังเกิดแก่บุคคลใด ปฏิฆานุสัยก็ยังเกิดแก่บุคคลนั้น ใช่ไหม? อามนฺตา ใช่ การที่ทรงวิสัชนา ดังนี้ ก็เพราะทรงหมายถึงความที่ยังเป็นอนุสัยอยู่ โดยอาการที่เคยเกิดและจะเกิด ดังที่ได้ยกอุปมาเปรียบเทียบให้เห็นแล้วทั้ง ๒ ข้อนั้น

แต่ถ้าจะถามว่า ยสฺส กามราโค อุปฺปชฺชติ ตสฺส ปฏิโฆ อุปฺปชฺชตีติ กามราคะกำลังเกิดแก่บุคคลใด ปฏิฆะก็กำลังเกิดแก่บุคคลนั้น ใช่ไหม? วิสัชนาว่า นปฺปชฺชติ ไม่ใช่กำลังเกิด

อนึ่ง อนุสัยกิเลสทั้ง ๗ ประการนี้ เมื่อปรากฏขึ้นโดยความเป็นสภาวะปรมัตถ์ คือเข้าถึงปริยุฏฐานแล้วนั้น เกิดพร้อมกันในจิตดวงเดียวกันก็มี เกิดไม่พร้อมกันในจิตดวงเดียวกันก็มี แต่เมื่อยังเป็นอนุสัยอยู่นั้น ได้นอนเนื่องอยู่พร้อมกันทั้ง ๗ อย่างในดวงจิตดวงเดียวกันนั้นเอง เหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงในอนุสัยยมกบาลีว่า ยสฺส กามราคานุสโย อนุเสติ ตสฺส ปฏิฆานุสโย อนุเสตีติ กามราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของบุคคลใดปฏิฆานุสัยก็นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของบุคคลนั้น ใช่ไหม? อามนุตา ใช่ ฉะนั้น การประหาณสันตานานุสัยกิเลสได้เด็ดขาดนั้นก็มีแต่มรรคญาณอย่างเดียว สำหรับวิปัสสนาญาณนั้นประหาณได้แต่เพียงวิกขัมภนะ โดยการข่มไว้เป็นเวลานาน ๆ คือหลายวัน หลายเดือน หลายปี หลายมหากัป





อารัมมณานุสัยกิเลส การเกิดขึ้นของกิเลสโดยไม่สิ้นสุด ในอารมณ์ที่ยังไม่ได้มีการพิจารณารู้เห็นตามความเป็นจริง โดยวิปัสสนาญาณ,มรรคญาณ กิเลสนี้ ชื่อว่า อารัมมณานุสัยกิเลส ดังนี้ พระพุทธองค์จึงประทานพระโอวาทแก่บรรดาภิกษุทั้งหลายว่า สุขายภิกฺขเว เวทนาย ราคานุสโย ปหาตพฺโพ, ทุกฺขาย เวทนาย ปฏิฆษนสโย ปหาตพฺโพ, อทุกฺขมสุขาย เวทนาย อวิชฺชานุสโย ปหาตพฺโพ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายควรละราคานุสัยในการเสวยสุข ควรละปฏิฆานุสัยในการเสวยทุกข์ ควรละอวิชชานุสัยในการเสวยไม่ทุกข์ไม่สุข พระโอวาสนี้ทรงมุ่งหมายถึงอารัมมณานุสัยกิเลส

ท่านอรรถกถาจารย์ยังได้กล่าวไว้ว่า อิมสฺมึ สุตฺเต อารมฺมณานุสโย กถิโต ในพระสูตรที่มีว่า สุขาย ภิกฺขเว เวทนาย เป็นต้นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงอารัมมณานุสัยกิเลส แต่ก็หาได้ทรงชี้แจงถึงข้อปฏิบัติที่จะทำการละอารัมมณานุสัยกิเลสนี้แต่ประการใดไม่เพียงแต่ทรงเตือนให้ทำการปฏิบัติตามแนวธรรมสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น เพราะถ้าภิกษุทั้งหลายมิได้ทำการปฏิบัติตามแนวธรรมสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ก็ไม่มีทางอื่นใดที่จะทำการประหาณอารัมมณานุสัยกิเลสนี้ได้ ถ้าว่าได้ทำการปฏิบัติตามแนวธรรมสติปัฏฐาน ๔ นี้อยู่โดยเคร่งครัดแล้ว ก็จะกล่าวได้ว่ามีการละกิเลสในการเสวยอารมณ์นั้นนั่นเอง ดังที่ท่านฏีกาจารย์ได้แสดงไว้ในอานาปานัสสติกัมมัฏฐานแห่งวิสุทธิมัคคมหาฏีกาว่า

อนิจฺจานุปสฺสนา ตาว ตทงฺคปฺปหานวเสน นิจฺจสญฺญํ ปริจฺจชติ ปริจฺจชนฺตึ จ ตถา อปฺปวตฺติยํ เย นิจฺจนฺติ คหณวเสน กิเลสา ตมฺมูลกา อภิสงฺขารา ตทฺภยมูลกา จ วิปากกฺขนฺธา อนาคเต อุปฺปชฺเชยฺยํ, เต สพฺเพปิ อปฺปวตฺติกรณวเสน ปริจฺจชติ, ตถา ทุกฺขสญฺญาทโย เตนาห วิปสฺสนา หิ ตทงฺควเสน สทฺธึ ขนฺธาภิสงฺขาเรหิ กิเลเส ปริจฺจชตีติ.

อนิจจานุปัสสนาที่แสดงในอันดับแรกนี้ ย่อมสละละทิ้งนิจจสัญญาโดยอำนาจแห่งตทังคปหาน เมื่ออนิจจานุปัสสนาได้สละละทิ้งนิจจสัญญาได้แล้ว ถ้าหากว่ามิได้มีการพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง โดยอาการดังที่กล่าวมานี้ กิเลสต่าง ๆ อาจเกิดได้ในภายหลังโดยอำนาจแห่งความยึดถือว่ารูป,นามนี้เที่ยง และอภิสังขารคืออกุศลโลกียกุศลกรรมที่มีกิเลสเป็นมูลก็ดี วิบากนามขันธ์อันเป็นตัวภพใหม่ มีกรรมและกิเลสทั้ง ๒ นี้เป็นมูลก็ดีอาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง

อนิจจานุปัสสนาที่สละทิ้งนิจจสัญญาได้นั้น ย่อมสละละทิ้งกิเลส,กรรมวิบากแม้เหล่านี้ทั้งหมดไม่ให้เกิดขึ้นได้พร้อมกันอีกด้วย ทุกขานุปัสสนา,อนัตตานุปัสสนาที่สละละทิ้งสุขสัญญา,อัตตสัญญาเป็นต้นได้นั้น ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ เพราะฉะนั้นท่านมหาพุทธโฆษาจารย์จึงได้แสดงไว้ในวิสุทธิมัคคอรรถกถาว่า วิปัสสนาญาณย่อมสละละกิเลสพร้อมด้วยวิบากขันธ์และอภิสังขารโดยอำนาจตทังคปหาน

(ที่มา: วิปัสสนาทีปนีฎีกา หน้า 33 -36)



Create Date : 31 ตุลาคม 2555
Last Update : 31 ตุลาคม 2555 1:05:27 น. 5 comments
Counter : 4117 Pageviews.

 

อนุโมทนาสาธุครับ

ธรรม ชื่อว่า ชัยชนะ



โดย: shadee829 วันที่: 31 ตุลาคม 2555 เวลา:8:55:36 น.  

 
อนุสัย แปลโดยศัพท์
แปลว่า
" น อ น เ นื่ อ ง "

อนุสัย แปลโดยศัพท์
แปลว่า
" กิ เ ล ส ที่ มี ก ำ ลั ง ที่ ยังละไม่ได้
ด้วย อริยมรรค
ได้ปัจจัย จึงเกิดขึ้น "

......

อ นุ สั ย กิ เ ล ส
เป็น
สุทธะปกตูปนิสสยะปัจจัย
แก่
ป ริ ยุ ฏ ฐ า น กิ เ ล ส


สุทธปกตูปนิสสยะปัจจัย
ตัวปัจจัย เป็น ชนกสัตติ อย่างดียว
ไม่เป็น อุปถัมภกะสัตติ

เพราะฉะนั้น
อ นุ สั ย กิ เ ล ส
ต้องดับไปก่อน
ป ริ ยุ ฏ ฐ า น กิ เ ล ส
จึงจะเกิดขึ้น

โลภะ โทสะ โมหะ ทิฏฐิ มานะ วิจิกิจฉา
เป็น
ปริยุทฏฐานกิเลส

เพราะฉะนั้น
อกุสลเจตสิก 6 ดวง เป็น ปัจจยุบัน ของ อนุสัย
ไม่ใช่
ตัว อนุสัย ที่แท้จริง !





โดย: พระนาย IP: 171.97.8.138 วันที่: 18 พฤษภาคม 2557 เวลา:16:08:34 น.  

 
ขออนุญาตถาม เพื่อเป็นความรู้และตัดความสงสัย...

ความหมายตรงนี้

"สันตานานุสัยกิเลส กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานโดยอาการที่ยังไม่ปรากฏเป็นสภาวะปรมัตถ์ คือยังไม่เข้าถึงขณะทั้ง ๓ (เกิดขึ้น, ตั้งอยู่, ดับไป) นั้น ได้ชื่อว่า สันตานานุสัยกิเลส"

กับความเห็นตรงนี้

"เพราะฉะนั้น
อ นุ สั ย กิ เ ล ส
ต้องดับไปก่อน
ป ริ ยุ ฏ ฐ า น กิ เ ล ส
จึงจะเกิดขึ้น"

ขัดแย้งกันหรือไม่ ? หรืออย่างไร ?


โดย: veeza IP: 182.232.160.140 วันที่: 4 กรกฎาคม 2560 เวลา:23:30:26 น.  

 
ขอความเห็นจากท่านผู้รู้เพื่อทำตัดความสงสัย ว่า

"ภวนิกันตโลภชวนวิถี" โลภมูลจิตทำหน้าที่ชวนะในวิถีนี้...โลภะและและกิเลสอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับโลภะในวิถีนี้ .... จะเรียกว่า อะไร ? ระหว่าง อนุสัย, ปริยุฏฐานะ, และวีติกกมะกิเลส....???


โดย: veeza IP: 182.232.160.140 วันที่: 4 กรกฎาคม 2560 เวลา:23:35:32 น.  

 
อีกประการหนึ่ง ...

อกุศลชวนะ มีโลภะเป็นต้น ที่เกิดกับปัญจทวารวิถีมีจักขุทวารวิถีเป็นต้น...ควรจะเรียกอกุศลเหล่านั้นว่าเป็นกิเลสอะไร ระหว่าง อนุสัย,ปริยุฏฐานะ, วีติกกมะกิเลส..? เพราะอะไร ?


โดย: veeza IP: 182.232.160.140 วันที่: 4 กรกฎาคม 2560 เวลา:23:41:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชาวมหาวิหาร
Location :
Germany

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Thepathofpurity.com
Friends' blogs
[Add ชาวมหาวิหาร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.