นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
Group Blog
 
All blogs
 

อนุสัยกิเลส

การนอนเนื่องของอนุสัยกิเลสและธรรมที่ทำการประหาณ


การนอนเนื่องของอนุสัยกิเลสนี้มีอยู่ ๒ ประการ

๑. การนอนเนื่องอยู่ในการเกิดขึ้นสืบต่อแห่งรูป,นาม ขันธ์ ๕ ชื่อว่า สันตานานุสัยกิเลส

๒. การนอนเนื่องอยู่ในอารมณ์ที่เป็น ปิยรูป สาตรูป อปิยรูป อสาตรูป ชื่อว่า อารัมมณานุสัยกิเลส

ใน ๒ ประการนี้ มรรคทั้ง ๔ ทำการประหาณสันตานานุสัยกิเลส วิปัสสนาญาณที่มีรูป, นามเป็นอารมณ์ทำการประหาณอารัมมณานุสัยกิเลส ฉะนั้น อนุสัยกิเลสที่อนิจจานุปัสสนาเป็นต้นได้ประหาณไปนั้น เป็นอารัมมณานุสัยกิเลส ส่วน สันตานานุสัยกิเลส นั้น เมื่อยังเป็นปุถุชนอยู่ตราบใด แม้ว่าผู้นั้นจะได้เคยปฏิบัติวิปัสสนามาแล้วหลายครั้งหลายหน หรือกำลังปฏิบัติอยู่ก็ตาม หรือผู้ที่เป็นฌานลาภี อภิญญาลาภี ทั้งมีฤทธิ์เดชต่าง ๆ นานาก็ตาม หรือจะได้ไปบังเกิดเป็นพรหมติดต่อกันหลายภพหลายชาติก็ตาม สันตานานุสัยกิเลสก็ยังคงมีอยู่เต็มที่เป็นปกติ โดยอาการที่ยังไม่ได้ถูกประหาณไปเลยแม้แต่น้อย

สำหรับ อารัมมณานุสัยกิเลส นั้น เมื่อวิปัสสนาญาณของโยคีได้เข้าถึงขึ้นภังคญาณอารัมมณานุสัยกิเลสก็ถูกประหาณลงทันทีตั้งแต่ญาณนี้เรื่อย ๆ ไป

ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในวิภังคบาลีว่า

สตฺตานุสยา : กามราคานุสโย ปฏิฆานุสโย มานานุสโย ทิฏฺฐานุสโย วิจิกิจฺฉานุสโย ภวราคานุสโย อวิชฺชานุสโย. ยํ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ เอตฺถ สตฺตานํ ราคานุสโยอนุเสติ, ยํ โลเก อปิยรูปํ อสาตรูปํ เอตฺถ สตฺตานํ ปฏิฆานุสโย อนุเสติ, อิติ อิเมสุ ทฺวีสุธมฺเมสุ อวิชฺชา อนุปติตา ตเทกฏฺโฐ มาโน จ ทิฏฺฐิ จ วิจิกิจฺฉา จ ทฏฺฐพฺพา.





อนุสัยกิเลสมี ๗ ประการคือ

๑. ธรรมชาติที่ยินดี,พอใจ,รักใคร่ในกามคุณอารมณ์ นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
๒. ธรรมชาติที่ขัดเคืองในอารมณ์ นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
๓. ธรรมชาติที่ถือตัว นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
๔. ธรรมชาติที่เห็นผิด นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
๕. ธรรมชาติที่สงสัยในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดา มารดา ครูบาอาจารย์ นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
๖. ธรรมชาติที่ยินดีพอใจในภพชาติ นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
๗. ธรรมชาติที่หลงอยู่ในเรื่องความเห็นผิด นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานนี้เป็น สันตานานุสัยกิเลส

ปิยรูป,สาตรูป สภาพที่น่ารักน่ายินดีอันใดมีอยู่ในโลก คือสังขารธรรมรูป,นามภายในตน กามราคานุสัยและภวราคานุสัยของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมนอนเนื่องอยู่ในปิยรูปสาตรูปสภาพที่น่ารัก,น่ายินดีเหล่านี้

อปิยรูป,อสาตรูป สภาพที่ไม่น่ารักไม่น่ายินดีอันใดมีอยู่ในโลก คือ สังขารธรรมรูป,นามภายในตน ปฏิฆานุสัยของสัตว์ทั้งหลายย่อมนอนเนื่องอยู่ในอปิยรูป,อสาตรูปสภาพที่ไม่น่ารัก,ไม่น่ายินดีเหล่านี้ เมื่อเป็นดังนี้ อวิชชานุสัยก็ย่อมนอนเนื่องอยู่ในราคะและปฏิฆะทั้ง ๒ นี้ด้วย ส่วนมานานุสัย,ทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัยเหล่านี้ ก็ย่อมตั้งอยู่ในจิตดวงเดียวกันกับจิตที่มีอวิชชา นี้เป็น อารัมมณานุสัยกิเลส
นักศึกษาทั้งหลายพึงทราบดังต่อไปนี้





ขยายความในพระบาลีที่ทรงแสดงถึงอนุสัยกิเลส ๒ ชนิด


สันตานานุสัยกิเลส กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานโดยอาการที่ยังไม่ปรากฏเป็นสภาวะปรมัตถ์ คือยังไม่เข้าถึงขณะทั้ง ๓ (เกิดขึ้น, ตั้งอยู่, ดับไป) นั้น ได้ชื่อว่า สันตานานุสัยกิเลส


ผู้ที่ยังมิได้ทำการประหาณอนุสัยกิเลสโดยสมุจเฉทเลยนั้น ได้ชื่อว่าเป็นปุถุชนและปุถุชนทั้งหลายแม้ว่าจะยังเป็นเด็กอยู่ในครรภ์มารดาก็ตาม เป็นเด็กเล็ก เป็นหนุ่มสาว ผู้ใหญ่ แก่เฒ่าลงไปก็ตาม เป็นคฤหัสถ์,บรรพชิตก็ตาม ได้ฌาน,ได้อภิญญา,เหาะเหินเดินอากาศได้ก็ตาม แม้ที่สุดจะได้บังเกิดเป็นพรหมอยู่หลายภพชาติก็ตาม ปุถุชนเหล่านั้นก็ยังเป็นอยู่โดยมีอนุสัยกิเลสครบถ้วนด้วยกันทั้งสิ้น

แม้ว่าจะได้สำเร็จเป็น พระโสดาบัน พระสกทาคามี แล้วก็ตาม อนุสัยกิเลสอีก ๕ อย่างก็ยังเหลืออยู่ ยังหาได้ประหาณให้หมดไปไม่ คงประหาณได้แต่ทิฏฐิและวิจิกิจฉานุสัย ๒ อย่างนี้เท่านั้น ครั้นเป็น พระอนาคามี ภวราคะ มานะ อวิชชานุสัยทั้ง ๓ ก็ยังมีอยู่หาได้หมดไปเพียงเท่านี้ไม่ ฉะนั้น บุคคลทั้ง ๔ จำพวกนี้ จึงยังมีอนุสัยกิเลสอยู่อุปมาเหมือนกับคนไข้ที่ยังไม่หายไข้ มีผู้ถามว่า ท่านสบายดีหรือ แม้ว่าในขณะนั้นมิได้จับไข้แต่ก็ตอบว่า ยังเป็นไข้อยู่ โดยมาคำนึงถึงไข้ที่ได้จับมาแล้วและจะจับอีกในขณะต่อไป หรืออุปมาเหมือนกับผู้ที่ยังไม่ได้มีการเว้นขาดจากการรับประทานเนื้อ เมื่อถูกถามว่า ท่านรับประทานเนื้อหรือเปล่า ถึงแม้ว่าขณะนั้นจะไม่ได้รับประทานอยู่ก็จริง แต่ก็ตอบว่า ข้าพเจ้ารับประทานดังนี้ ก็เพราะว่ามาคำนำถึงเนื้อที่ได้เคยรับประทานมาและจะรับประทานอีกในวันข้างหน้า สมดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงในอนุสัยยมกพระบาลีว่า ยสฺส กามราคานุสโย อุปปชฺชติ ตสฺส ปฏิฆานุสโย อุปฺปชฺชตีติ กามราคานุสัยยังเกิดแก่บุคคลใด ปฏิฆานุสัยก็ยังเกิดแก่บุคคลนั้น ใช่ไหม? อามนฺตา ใช่ การที่ทรงวิสัชนา ดังนี้ ก็เพราะทรงหมายถึงความที่ยังเป็นอนุสัยอยู่ โดยอาการที่เคยเกิดและจะเกิด ดังที่ได้ยกอุปมาเปรียบเทียบให้เห็นแล้วทั้ง ๒ ข้อนั้น

แต่ถ้าจะถามว่า ยสฺส กามราโค อุปฺปชฺชติ ตสฺส ปฏิโฆ อุปฺปชฺชตีติ กามราคะกำลังเกิดแก่บุคคลใด ปฏิฆะก็กำลังเกิดแก่บุคคลนั้น ใช่ไหม? วิสัชนาว่า นปฺปชฺชติ ไม่ใช่กำลังเกิด

อนึ่ง อนุสัยกิเลสทั้ง ๗ ประการนี้ เมื่อปรากฏขึ้นโดยความเป็นสภาวะปรมัตถ์ คือเข้าถึงปริยุฏฐานแล้วนั้น เกิดพร้อมกันในจิตดวงเดียวกันก็มี เกิดไม่พร้อมกันในจิตดวงเดียวกันก็มี แต่เมื่อยังเป็นอนุสัยอยู่นั้น ได้นอนเนื่องอยู่พร้อมกันทั้ง ๗ อย่างในดวงจิตดวงเดียวกันนั้นเอง เหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงในอนุสัยยมกบาลีว่า ยสฺส กามราคานุสโย อนุเสติ ตสฺส ปฏิฆานุสโย อนุเสตีติ กามราคานุสัยนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของบุคคลใดปฏิฆานุสัยก็นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของบุคคลนั้น ใช่ไหม? อามนุตา ใช่ ฉะนั้น การประหาณสันตานานุสัยกิเลสได้เด็ดขาดนั้นก็มีแต่มรรคญาณอย่างเดียว สำหรับวิปัสสนาญาณนั้นประหาณได้แต่เพียงวิกขัมภนะ โดยการข่มไว้เป็นเวลานาน ๆ คือหลายวัน หลายเดือน หลายปี หลายมหากัป





อารัมมณานุสัยกิเลส การเกิดขึ้นของกิเลสโดยไม่สิ้นสุด ในอารมณ์ที่ยังไม่ได้มีการพิจารณารู้เห็นตามความเป็นจริง โดยวิปัสสนาญาณ,มรรคญาณ กิเลสนี้ ชื่อว่า อารัมมณานุสัยกิเลส ดังนี้ พระพุทธองค์จึงประทานพระโอวาทแก่บรรดาภิกษุทั้งหลายว่า สุขายภิกฺขเว เวทนาย ราคานุสโย ปหาตพฺโพ, ทุกฺขาย เวทนาย ปฏิฆษนสโย ปหาตพฺโพ, อทุกฺขมสุขาย เวทนาย อวิชฺชานุสโย ปหาตพฺโพ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายควรละราคานุสัยในการเสวยสุข ควรละปฏิฆานุสัยในการเสวยทุกข์ ควรละอวิชชานุสัยในการเสวยไม่ทุกข์ไม่สุข พระโอวาสนี้ทรงมุ่งหมายถึงอารัมมณานุสัยกิเลส

ท่านอรรถกถาจารย์ยังได้กล่าวไว้ว่า อิมสฺมึ สุตฺเต อารมฺมณานุสโย กถิโต ในพระสูตรที่มีว่า สุขาย ภิกฺขเว เวทนาย เป็นต้นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงอารัมมณานุสัยกิเลส แต่ก็หาได้ทรงชี้แจงถึงข้อปฏิบัติที่จะทำการละอารัมมณานุสัยกิเลสนี้แต่ประการใดไม่เพียงแต่ทรงเตือนให้ทำการปฏิบัติตามแนวธรรมสติปัฏฐาน ๔ เท่านั้น เพราะถ้าภิกษุทั้งหลายมิได้ทำการปฏิบัติตามแนวธรรมสติปัฏฐาน ๔ แล้ว ก็ไม่มีทางอื่นใดที่จะทำการประหาณอารัมมณานุสัยกิเลสนี้ได้ ถ้าว่าได้ทำการปฏิบัติตามแนวธรรมสติปัฏฐาน ๔ นี้อยู่โดยเคร่งครัดแล้ว ก็จะกล่าวได้ว่ามีการละกิเลสในการเสวยอารมณ์นั้นนั่นเอง ดังที่ท่านฏีกาจารย์ได้แสดงไว้ในอานาปานัสสติกัมมัฏฐานแห่งวิสุทธิมัคคมหาฏีกาว่า

อนิจฺจานุปสฺสนา ตาว ตทงฺคปฺปหานวเสน นิจฺจสญฺญํ ปริจฺจชติ ปริจฺจชนฺตึ จ ตถา อปฺปวตฺติยํ เย นิจฺจนฺติ คหณวเสน กิเลสา ตมฺมูลกา อภิสงฺขารา ตทฺภยมูลกา จ วิปากกฺขนฺธา อนาคเต อุปฺปชฺเชยฺยํ, เต สพฺเพปิ อปฺปวตฺติกรณวเสน ปริจฺจชติ, ตถา ทุกฺขสญฺญาทโย เตนาห วิปสฺสนา หิ ตทงฺควเสน สทฺธึ ขนฺธาภิสงฺขาเรหิ กิเลเส ปริจฺจชตีติ.

อนิจจานุปัสสนาที่แสดงในอันดับแรกนี้ ย่อมสละละทิ้งนิจจสัญญาโดยอำนาจแห่งตทังคปหาน เมื่ออนิจจานุปัสสนาได้สละละทิ้งนิจจสัญญาได้แล้ว ถ้าหากว่ามิได้มีการพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง โดยอาการดังที่กล่าวมานี้ กิเลสต่าง ๆ อาจเกิดได้ในภายหลังโดยอำนาจแห่งความยึดถือว่ารูป,นามนี้เที่ยง และอภิสังขารคืออกุศลโลกียกุศลกรรมที่มีกิเลสเป็นมูลก็ดี วิบากนามขันธ์อันเป็นตัวภพใหม่ มีกรรมและกิเลสทั้ง ๒ นี้เป็นมูลก็ดีอาจเกิดขึ้นได้ในภายหลัง

อนิจจานุปัสสนาที่สละทิ้งนิจจสัญญาได้นั้น ย่อมสละละทิ้งกิเลส,กรรมวิบากแม้เหล่านี้ทั้งหมดไม่ให้เกิดขึ้นได้พร้อมกันอีกด้วย ทุกขานุปัสสนา,อนัตตานุปัสสนาที่สละละทิ้งสุขสัญญา,อัตตสัญญาเป็นต้นได้นั้น ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ เพราะฉะนั้นท่านมหาพุทธโฆษาจารย์จึงได้แสดงไว้ในวิสุทธิมัคคอรรถกถาว่า วิปัสสนาญาณย่อมสละละกิเลสพร้อมด้วยวิบากขันธ์และอภิสังขารโดยอำนาจตทังคปหาน

(ที่มา: วิปัสสนาทีปนีฎีกา หน้า 33 -36)




 

Create Date : 31 ตุลาคม 2555    
Last Update : 31 ตุลาคม 2555 1:05:27 น.
Counter : 4110 Pageviews.  

โทษของการดื่มสุรา

การดื่มสุราเมรัย
อนุโลมเข้าในกาเมสุมิจฉาจารและอกุศลกรรมบถ ๑๐ ได้


การเสพสุราที่เรียกว่าสุราปานะนั้น ได้แก่ เจตนาที่เป็นเหตุแห่งการดื่มสุรานั้น สุราปานะนี้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้เป็นศีลข้อหนึ่งในจำนวนศีล ๕ และได้ทรงแสดงโทษอย่างหนักของการดื่มสุราไว้ในพระบาลีอังคุตตรนิกายว่า

“สุราเมรยปานํ ภิกฺขเว อเสวิตํ ภาวิตํ พหุลีกตํ
นิรยสํวตฺตนิกํ ติรจุฉานโยนิสํวตฺตนิกํ เปตฺติวิสํวตฺตนิกํ,
โย จ สพฺพลหุโก สุราเมรยปานสฺส วิปาโก โส มนุสฺสภูตสฺส
อุมฺมตฺตกสํวตฺตนิโก โหติ”


“ดูกรภิกษุทั้งหลาย การดื่มสุราและน้ำเมาต่างนี้ เมื่อ
ดื่มเสมอๆ ดื่มมากๆเข้า ดื่มหลายๆครั้งเข้า ย่อมสามารถนำไป
สู่นิรยภูมิ ดิรัจฉาน เปตติภูมิ โทษของการดื่มสุราเมรัยอย่างเบา
ที่สุดนั้น เมื่อมีโอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์ด้วยกุศลกรรมอื่นๆผู้นั้น
ก็ย่อมเป็นคนบ้า”

แต่ทำไมการดื่มสุราเมรัยนี้จึงไม่จัดเข้าอยู่ในอกุศลกรรมบถ ๑๐

อธิบายว่า การดื่มสุราเมรัยนี้ถ้าผู้ดื่มไม่ได้กระทำทุจริตทางกาย วาจา ใจ แต่ประการใด เป็นแต่ดื่มเพื่อความพอใจและสนุกสนานเท่านั้น ก็เท่ากับมีความพอใจในกามคุณ คือรสารมณ์ เช่นเดียวกับผู้ประพฤติผิดกาเม เพราะผู้ประพฤติผิดกาเมนั้นย่อมมีควาวมยินดีในกามคุณ คือโผฏฐัพพารมณ์ที่เกี่ยวกับการเสพสุรา และการประพฤติผิดกาเมนี้ ก็เป็นตัวกามคุณอารมณ์อยู่แล้ว ฉะนั้น ผู้ดื่มสุราที่ยังไม่ได้ กระทำทุจริตก็สงเคราะห์เข้าในข้อกาเมสุมิจฉาจารได้ ซึ่งมีความหมายว่า ประพฤติผิดในกามคุณอารมณ์ (กาเมสุ + มิจฺฉาจาโร) และการดื่มสุรานี้เป็นเหตุก่อให้กระทำทุจริตทุกๆอย่างได้ แม้ว่าผู้นั้นจะเป็นคนที่รู้จักและอาย รู้จักกลัวต่อการกระทำไม่ดีต่างๆก็ตาม แต่ถ้าได้ดื่มสุราเข้าไปจนเกิดความมึนเมาแล้ว ที่เคยละอายก็ไม่ละอายที่เคยกลัวก็ไม่กลัว ที่เคยเกราก็ไม่เกรง ย่อมสามารถกระทำทุจริตต่างๆ นานาได้ด้วยอำนาจของสุรานั้น ฉะนั้นผู้ดื่มสุราเมื่อกระทำทุจริตในข้อใดก็ย่อมสงเคราะห์เข้าในอกุศลกรรมบถข้อนั้น สำเร็จในตัวอยู่แล้ว เช่น ดื่มสุราแล้วฆ่าสัตว์ก็สงเคราะห์เข้าในปาณาติบาต ถ้าพูดปกติก็สงเคราะห์เข้าในมุสาวาท ถ้าคิดจะเอาของผู้อื่นเข้ามาเป็นของตัวโดยไม่ชอบธรรมก็สงเคราะห์เข้าในอภิชฌา ดังนี้เป็นต้น ด้วยเหตุนี้พุทธองค์จึงไม่ได้ทรงแสดงโดยเฉพาะ ในอกุศลกรรมบถ ดังนั้นท่านพระอนันทเถระจึงแสดงไว้ในมูลฏีกาว่า

“ตสฺส สภาคตฺเตน มิจฺฉาจาเร, อุปการกตฺเตน ทสสุปิ
กมฺมปเถสุ อนุปฺปเวโส โหติ”


“การดื่มสุรานี้อนุโลมเข้าในกาเมสุมิจฉาจาร เพราะมีสภาพ
เหมือนกับกาเมสุมิจฉาจาร และอนุโลมเข้าในอกุศลกรรมบถ ๑๐
ด้วย เพราะเป็นการช่วยอุปการะให้กุศลกรรมบถ ๑๐ สำเร็จลง”

ในวิภาวนีฏีกา และปฏิสัมภิทามรรคฏีกา ก็ได้กล่าวไว้ว่า

“สุราปานํปิ เอตฺเถว สงฺคยฺหตีติ วทนฺติ รสสงฺขาเตสุ
กาเมสุมิจฺฉาจารภาวโต”


“อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า การดื่มสุราก็สงเคราะห์เข้า
ในกาเมสุมิจฉาจาร เพราะมีการประพฤติผิดในกามคุณ คือ
รสารมณ์”

“สุราปานํ หิ มทสฺส ปจฺจโย, มโท อปฺญฺญปถสฺส โหติ”

“การดื่มสุราเป็นเหตุแห่งความเมา ความเมานี้เป็นเหตุแห่งการ
กระทำอกุศลกรรมบถ ๑๐”



อนึ่งการดื่มสุรานี้กระทำให้สำเร็จกิจได้ ๒ อย่าง

๑. ปฏิสนธิชนนกิจ กิจที่ทำให้เกิดในนิรยภูมิ
๒. กัมมชนกิจ กิจที่ทำให้หารกระทำทุจริตสำเร็จลง

ในกิจทั้ง ๒ อย่างนี้ กัมมชนนกิจมีกำลังแรงกว่าปฏิสนธิชนนกิจ และมีการกระตุ้นชักชวนให้กระทำในทุจริตทุราชีพต่างๆ ดังนั้น ในพระบาลีที่แสดงในกุมภชาดกได้กล่าวถึงเหตุให้ไปสู่นิรยภูมิโดยการกระทำทุจริตอันเป็นกัมมชนนกิจว่า

ยํ เว ปิวิตฺวา ทุจฺจริตํ จรนฺติ
กาเยน วาจาย จ เจตสา จ
นิรยํ วชนฺติ ทุจฺจริตํ จริตฺวา
ตสฺสา ปุณฺณํ กุมฺภมิมํ กิณาถ ฯ


“ท่านทั้งหลาย ชนทั้งหลายที่ได้ดื่มสุราแล้ว ย่อมกระทำ
ทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ อย่างแน่นอน เมื่อได้กระทำทุจริตแล้ว
ชนเหล่านี้ย่อมไปเกิดในนิรยภูมิอย่างไม่ต้องสงสัย ขอท่าน
ทั้งหลายจงซื้อหม้อที่บริบูรณ์ด้วยน้ำสุราอันมีโทษต่างๆดังกล่าวแล้ว”

(คาถานี้เป็นคำกล่าวของพระอินทร์ที่แปลงตัวเป็นพ่อค้าขายสุราลงมามนุษย์โลก แล้วกล่าวพรรณนาสรรพคุณของสุรา)

สำหรับปฏิสนธิชนนกิจของการดื่มสุรานั้น มุ่งหมายเอาปุพพเจตนา คือเจตนาที่เกิดก่อนการกระทำทุจริตทุราชีพ ได้แก่ การกระตุ้นชักชวนให้กระทำทุจริตอันเนื่องมาจากการดื่มสุรานั้นเอง แต่ก็เป็นข้อที่ไม่แน่นอน คือถ้าผู้ที่มีการกระตุ้นชักชวนให้กระทำทุจริตเกิดขึ้นแล้ว แต่ผู้นั้นมิได้กระทำทุจริตลงไป ก็เป็นอันว่าปุพพเจตนานั้นไม่สามารถนำไปสู่นิรยภูมิได้ ถ้าผู้ดื่มสุราแล้วกระทำทุจริตไปตามอำนาจของการกระตุ้นชักชวนที่เป็นปุพพเจตนาแล้ว ปุพพเจตนานั้นก็สามารถนำไปสู่นิรยภูมิได้ตั้งแต่ภพที่ ๓ เป็นต้นไป หมายความว่าการดื่มสุรานี้ ถ้าปฏิสนธิชนนกิจสำเร็จลงก็จัดว่าล่วงอกุศลกรรมบถ ถ้าปฏิสนธิชนนกิจไม่สำเร็จก็ไม่จัดว่าล่วงอกุศลกรรมบถเป็นการไม่แน่นอน ด้วยเหตุนี้พระพุทธองค์จึงไม่ทรงจัดเอาการดื่มสุราเข้าอยู่ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ดังที่ในปฏิสัมภิทามรรคอรรถกถาและฏีกาแสดงไว้ว่า

“กุสลากุสลาปิ จ ปฏิสนฺธิชนกาเยว กมฺมปถาติ วุตฺตา,
วุตฺตาวเสสา ปฏิสนฺธิชนเน อเนกนฺติกตฺตา กมฺมปถาติ น
วุตฺตา”
(อรรถกถา)

“วุตฺตาวเสสาติ สุราปานาทโย ตพฺพิรมฺมณาทโย จ”
(ฏีกา)

“กุศล คือกายสุจริตเป็นต้น และอกุศล มีกายทุจริตเป็น
ต้น ที่ให้ปฏิสนธิเกิดขึ้นเท่านั้น พึงกล่าวได้ว่าเป็นกุศลและ
อกุศลกรรมบถ กุศล คือการเว้นจากการดื่มสุราเป็นต้น และ
อกุศลคือการดื่มสุราเป็นต้น ที่เหลือเหล่านั้นไม่ได้กล่าวว่าเป็นกุศล
และอกุศลกรรมบถ เพราะกรรมเหล่านี้เป็นกรรมที่ไม่แน่นอนใน
การส่งผลปฏิสนธิ”

คำว่า วุตฺตาวเสสา นั้น ได้แก่ การดื่มสุรา สูบฝิ่น เล่น
การพนัน ดูมหรสพ เล่นมหรสพ เป็นต้น และการเว้นจากการ
ดื่มสุรา เว้นสูบฝิ่น เว้นจากการเล่นการพนัน เว้นจากการดูการ
เล่นมหรสพต่างๆ เป็นต้น”

อนึ่ง ในพระบาลีปาจิตติย์ และอรรถกถาแสดงว่า

“สุราเมรยปาเน ปาจิตฺติยํ”

การดื่มสุราและเมรัยเป็นอาบัติปาจิตตีย์


“อจิตฺตกํ โลกวชฺชํ อกุสลจิตฺตํ, มชฺชปานํ สามเณรานํ
ปาราชิกวตฺถุ”


การดื่มสุราของภิกษุนั้น จะรู้ก็ตามไม่รู้ก็ตามย่อมเป็น
อาบัติปาจิตตีย์ และมีโทษในทางโลกเกี่ยวด้วยอกุศลจิต การดื่ม
สุราของสามเณร ถ้ารู้ว่าเป็นสุราก็มีโทษถึงปาราชิก คือขาดจาก
ความเป็นสามเณร”


การดื่มสุราของบุคคลทั้งหลายนั้น มี ๔ ประเภท คือ

๑. ดื่มสุรา ที่ผสมอยู่ในยาหรือในอาหาร
๒. ดื่มสุรา ล้วนๆนึกว่าเป็นยา
๓. ดื่มสุรา เพราะชอบ
๔. ดื่มสุรา เพื่อให้ใจกล้าในการกระทำทุจริต

การดื่มสุราประเภท ๑ และ ๒ นั้น มีโทษเบา เพราะมีเจตนาจะรักษาโรคแต่ ประเภทที่ ๒ นั้น ถ้าเป็นพระภิกษุก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ถ้าเป็นฆราวาสก็ศีล ๕ ซึ่งเป็นศีลประจำตัวของฆราวาสขาด ถ้าถือศีล ๘ ก็ศีล ๘ ขาด ถ้าเป็นสามเณรก็ศีล ๑๐ ขาด ดังนั้นผู้ที่ตั้งใจจะประพฤติตนอยู่ในศีลแล้วจึงไม่ควรดื่มสุรา การดื่มสุราประเภทที่ ๓นั้น มีโทษหนัก เพราะเป็นผู้ประพฤติผิด (มิจฉาจาร) ในรสารมณ์ที่เป็นกามคุณโทษหนักแค่ไหนนั้น ผู้อื่นย่อมรู้ไม่ได้นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว และผู้ที่ชอบดื่มสุรานี้เมื่อดื่ม ๑ ครั้งหรือ ๒ ครั้งแล้ว จะหยุดไม่ดื่มอีกเป็นไปไม่ได้ ต้องอยากดื่มเรื่อยๆไปไม่มีที่สิ้นสุด สมดังพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ในพระบาลีอังคุตตรนิกายว่า

“ติณฺณํ ภิกขฺเว ปฏิเสวนาย นตฺถิ ติตฺติ กตเมสํ ติณฺณํ?
โสปฺปสฺส ภิกฺขเว ปฏิเสวนาย นตฺถิ ติตฺติ, สุราเมรยปานสฺส
ภิกฺขเว ปฏิเสวนาย นตฺถิ ติตฺติ, เมถุนธมฺมสมาปตฺติยา ภิกฺขเว
ปฏิเสวนาย นตฺถิ ติตฺติ, อิเมสํ ภิกฺขเว ติณฺณํ ปฏิเสวนาย
นตฺถิ ติตฺตีติ”


“ดูกรภิกษุทั้งหลาย การเสพที่ไม่มีการอิ่มนั้น ๓ อย่าง
๓ อย่างนั้นคืออะไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่อิ่มในการนอน
อย่างหนึ่ง ความไม่อิ่มในการดื่มสุราเมรัยอย่างหนึ่ง ความไม่อิ่ม
ในการเสพเมถุนธรรมอย่างหนึ่ง ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไม่อิ่ม
ในการเสพ ๓ อย่างนั้นมีดังกล่าวนี้”

การดื่มสุราย่อมทำให้เกิดความเสื่อมเสียมาก อย่าว่าแต่คนสามัญเลย แม้แต่ผู้ที่มีคุณธรรมพิเศษ เมื่อได้ดื่มสุราเข้าไปแล้วก็ทำให้เกิดความเสื่อมเสียมรรยาทเป็นที่น่าละอายพร้อมทั้งคุณธรรมที่มีอยู่ก็เสื่อมสิ้นไปด้วย ดังเช่นในสมัยพุทธกาลพระสาคตเถระเป็นปุถุชน ที่ได้อภิญญาเก่งกล้ามาก วันหนึ่งชนชาวโกสัมพีได้ข่าวว่า พระสาคตเถระได้ชัยชนะต่อพญานาคในการประลองฤทธิ์แก่กัน ดังนั้น ชนทั้งหลายเหล่านั้น จึงเกิดความเลื่อมใสยินดีกันเป็นอันมาก เมื่อพระสาคตเถระมาบิณฑบาตจึงพากันนำเอาอาหารมาถวาย และบางคนได้นำเอาสุรามาถวายด้วย พระสาคตเถระก็ดื่มสุรานั้นแล้วเกิดความมึนเมา เมื่อกลับจากบิณฑบาตเดินมาถึงปรูเมืองก็เดินต่อไปไม่ได้ ล้มฟุบอยู่ตรงหน้าประตูเมืองนั่นเอง ฌานอภิญญาที่ได้ไว้ก็เสื่อมหมด ขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับจากบิณฑบาต พร้อมด้วยพระภิกษุที่ตามเสด็จ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระสาคตเถระนอนอยู่ก็ได้รับสั่งให้พระภิกษุเหล่านั้นช่วยกันพยุงพระสาคตเถระไปจนถึงวัด แล้วให้นำตัวมาที่เบื้องหน้าชองพระองค์ พระภิกษุเหล่านั้นก็ช่วยกันจับตัวพระสาคตเถระให้นอนหันศีรษะไปทางที่พระพุทธองค์ประทับ แต่พระสาคตเถระกำลังมึนเมาไม่มีสติก็กลับหมุนตัวหันเท้าไปทางพระองค์ซึ่งเป็นการแสดงอคารวะต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงได้ทรงบัญญัติสิกขาบทขึ้นอีกข้อหนึ่ง ห้ามมิให้พระภิกษุดื่มสุราเมรัย ถ้าดื่มต้องเป็นอาบัติปาจิตตีย์

การดื่มสุราประเภทที่ ๔ จัดเป็นปุพเจตนา ที่มีสภาพกระตุ้นชักชวนให้การกระทำทุจริตที่เป็นมุญจเจตนาให้เกิดขึ้น ฉะนั้นการดื่มสุราประเภทที่ ๔ นี้จึงสามารถนำให้ผู้นั้นไปสู่อบายภูมิได้

ความหมายและประเภทของสุราเมรัย

สุรํ ชเนตีติ สุรา
สิ่งใดย่อมทำให้ผู้นั้นกล้า ฉะนั้น สิ่งนั้น ชื่อว่าสุรา


สุรา ๕ ประเภท
๑. ปิฏฐสุรา สุราที่ทำด้วยแป้งข้าวเจ้า
๒. ปูปสุรา สุราที่ทำด้วยขนม เช่น ข้าวหมาก
๓. โอทนสุรา สุราที่ทำด้วยข้าวสุก
๔. กิณฺณปกฺขิตฺตสุรา สุราที่ทำด้วยแป้งเชื้อรา
๕. สมฺภารสํยุตฺตสุรา สุราที่ทำด้วยผลไม้ เช่น องุ่น



เมทํ ชเนตีติ เมรยํ
“สิ่งใดย่อมทำให้มึนเมา ฉะนั้น สิ่งนั้น ชื่อว่า เมรัย”

เมรัย ๕ ประเภท

๑. ปุปฺผาสว เมรัยที่เอาดอกไม้ต่างๆมาหมักไว้
๒. ผลาสว เมรัยที่เอาผลไม้ต่างๆมาหมักไว้
๓. มธวาสว เมรัยที่เอาผลองุ่นมาหมักไว้
๔. คุฬาสว เมรัยที่เอาน้ำอ้อย น้ำตาลมาหมักไว้
๕. สมฺภารสํยุตฺตาสว เมรัยที่เอามะขามป้อม สมอมาหมักไว้

สุราเมรัยทั้ง ๒ นี้ ชื่อว่ามัชชะก็ได้ เพราะเป็นเหตุทำให้ผู้ดื่มมึนเมา หรืออีกนัยหนึ่ง ฝิ่น กัญชา เป็นต้น ที่นอกจากสุราและเมรัย ได้ชื่อว่ามัชชะ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้เสพมึนซึม ดังที่แสดงไว้ในขุททกปาฐอรรถกถาและมหาวรรคสังยุตตอรรถกถา

“มชฺชนฺติ ตเทว อุภยํ, ยํ วาปนญฺญมฺปิ สุราสววินิมุตฺตํ มทฺทนิยํ”

ชื่อว่ามัชชะ ก็ได้แก่สุรา และเมรัยนั้นเอง หรืออีกนัยหนึ่งว่า
สิ่งใดที่นอกจากสุราและเมรัย ซึ่งสามารถทำให้ผู้เสพมึนซึมได้ สิ่งนั้นชื่อว่า มัชชะ”


องค์แห่งการดื่มสุราเมรัย ๔ อย่าง

๑. สุราเมรยภาโว สิ่งที่เป็นสุราและเมรัย
๒. ปิวิตุกามตา มีความประสงค์จะดื่ม
๓. ปิวนํ ทำการดื่ม
๔. มชฺชนํ มีอาการมึนเมา



อนึ่ง ในสุตตนิบาตอรรถกถา แสดงถึงโทษแห่งการดื่มสุราว่า

“ยสฺมา ปน มชฺชปายี อตฺถํ น ชานาติ, ธมฺมํ น ชานาติ,
มาตุปิ อนฺตรายํ กโรติ, ปิตุปิ พุ?ธปจฺเจกพุทฺตถาคต-
สาวกานมฺปิ อนฺตรายํ กโรติ, ทิฏฐธมฺเม จ ครหํ สมฺปราเย จ
ทุคคตึ อปราปปริยาเย อุมฺมาทํ ปาปุณาติ”


“ผู้ที่ดื่มสุราอยู่เป็นนิจ ย่อมไม่รู้จักผล ไม่รู้จักเหตุ ย่อมทำ
อันตรายแก่ทรัพย์หรือชีวิตร่างกายของมารดา บิดา พระสัมมา
สัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ใน
ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ย่อมได้รับคำครหาจากบัณฑิตและ
สัปบุรุษทั้งหลาย เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่ทุคติภูมิ
สำหรับในภพที่ ๓ เป็นต้นไปนั้นย่อมเป็นผู้ที่มีสติฟั่นเฟือน
วิกลจริต”


ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ พระมหาพุทธโฆษาจารย์จึงได้วินิจฉัยโทษของการดื่มสุราไว้ว่า

“อปิเจตฺถ สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานเมว มหาสาวชฺชํ
น ตถา ปาณาติปาตาทโย กสุมา มนุสฺสภูตสฺสปิ อุมฺมตฺตก-
ภาวสํวตฺตเนน อริยธมฺมนฺตราย กรณโต”


“เมื่อกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว ในศีลทั้ง ๕ นั้น การดื่ม
สุราเมรัยที่เป็นเหตุแห่งความประมาท ย่อมมีโทษมาก ส่วนศีล
๔ ข้อมีปาณาติบาตเป็นต้นเหล่านี้ไม่มีโทษมากเหมือนการดื่มสุรา
เมรัย เพราะการดื่มสุราเมรัยนี้ย่อมกระทำให้ผู้นั้นเป็นบ้าอันเป็น
อันตรายต่อมรรค ผล”

การดื่มสุรานี้เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เพราะบุคคลที่กระทำทุจริตต่างๆที่ผิดกฎหมายก็ตาม ที่ปรากฏอยู่ในโลกทุกวันนี้ ก็เนื่องมาจากสุราเป็นเหตุเป็นส่วนมาก แต่บุคคลโดยมากนิยมการดื่มสุรา ฉะนั้น จึงมองไม่เห็นโทษ หรือแม้ว่าจะเห็นโทษ แต่ก็ไม่อาจกล่าวแสดงโทษของการดื่มสุราให้ปรากฏได้ เพราะตนเองก็ชอบดื่มอยู่แล้ว หรือถ้าตนเองไม่ดื่ม ญาติพี่น้องของตนชอบดื่มจึงทำให้เกิดความเกรงใจไม่อาจว่ากล่าวได้ ด้วยเหตุนี้สัปบุรุษทั้งหลายจึงเปรียบเทียบสุรานี้เหมือนกับหัวหน้าโจร ที่ใช้ลูกน้องให้ไปทำการทุจริตต่างๆ ตนเองเป็นผู้บงการและถ้าลูกน้องถูกจับได้ ผลจะปรากฏว่าลูกน้องผู้กระทำนั้นตกเป็นจำเลยที่ ๑ หัวหน้าโจรตกเป็นจำเลยที่ ๒ ข้อนี้ฉันใดผู้ดื่มสุราแล้วกระทำทุจริตผลที่ได้รับก็คือผู้นั้นย่อมไปเกิดในอบายภูมิในการที่ได้ไปเกิดในอบายภูมินี้ เจตนาที่เกี่ยวกับการกระทำทุจริตของผู้นั้นย่อมตั้งอยู่ในฐานะเป็นจำเลยที่ ๑ เจตนาที่เกี่ยวกับการดื่มสุราย่อมตั้งอยู่ในฐานะเป็นจำเลยที่ ๒ ฉันนั้น

การอธิบายการเมสุมิจฉาจาร จบ

(ที่มา ปรมัตถโชติก มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา ปริเฉทที่ ๕ วิถีมุตตสังคหะ เล่ม ๒)




 

Create Date : 18 กันยายน 2555    
Last Update : 10 กันยายน 2556 5:27:34 น.
Counter : 2767 Pageviews.  

สัมผัปปลาปะ

๔. สัมผัปปลาปะ

(ความจาก ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา
ปริเฉทที่ ๕: วีถิมุตตสังคหะ เล่ม ๒ )
__________________________________


คำว่า สัมผัปปลาปะนี้ แยกได้ ๒ บท คือ สมฺผ + ปลาป สมฺผ แปลว่าการทำลายประโยชน์และความสุข ปลาป แปลว่าการกล่าว เมื่อรวมกันแล้วเป็น สมฺผปฺปลาป แปลว่าการกล่าววาจาที่ทำลายประโยชน์และความสุข แสดงวจนัตถะว่า “สํหิตสุขํ ผลติ วินาเสตีติ สมฺผํ” วาจาอันใดย่อมทำลายประโยชน์และความสุขต่างๆเสีย ฉะนั้น วาจานั้น ชื่อว่า สัมผะ

สมฺผํ มาจากรากสัพย์เดิมคือ “สํ อุปลัคค ผล ธาตุ กฺวิ ปัจจัย ลบ ล และ กฺวี เสียจึงเป็น สมฺผํ”

“สมฺผํ ปลปติ เอเตนาติ = สมฺผปฺปลาโป” การกล่าวาจาที่ทำลายประโยชน์และความสุขต่างๆ เสียด้วยเจตนานั้น ฉะนั้นเจตนาที่เป็นเหตุในการกล่าววาจาที่ทำลายประโยชน์และความสุขต่างๆ นั้นจึงชื่อว่าสัมผัปปลาปะ

การกล่าววาจาที่เป็นสัมผัปปลาปะนั้น หมายถึงการกล่าวเรื่องราวเหลวไหลไม่เป็นสาระ ดังเช่นเล่าเรื่องหนัง เรื่องโขน ละคร หรือพูดจาตลกขบขันต่างๆ หรือผู้แสดงหนัง โขน ละคร นักประพันธิ์ที่เขียนเรื่องอ่านเล่นต่างๆ เหล่านี้ จัดเป็นสัมผัปปลาปะทั้งสิ้น เพราะทำให้ผู้ฟัง ผู้อ่าน ไม่ได้รับประโยชน์ต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้เพลิดเพลินไปชั่วคราวเท่านั้น กับทั้งทำให้เสียประโยชน์ ที่ควรจะได้ก็ไม่ได้ ที่ได้แล้วก็เสียไป องค์ธรรมของสัมผัปปลาปะนี้ ได้แก่ อกุศลเจตนาที่เป็นเหตุแห่งการกล่าวสัมผัปปลาปะ สำหรับถ้อยคำที่กล่าวขึ้นนั้นเป็นผล แต่ที่ยกเอาคำว่าสัมผัปปลาปะที่เป็นชื่อของเจตนามาใช้เรียกเป็นชื่อนั้นเป็นการเรียกชื่อโดยการณูปจารนัย คือเรียกชื่อที่ใกล้เคียงกับเหตุ

__________________________________

องค์แห่งสัมผัปปลาปะมี ๒

๑. นิรตฺถกถาปุรกฺขาโร ตั้งกล่าววาจาที่ไม่มีประโยชน์
๒. กถนํ กล่าววาจาที่ไม่มีประโยชน์

ดังมีคาถาแสดงว่า
สมฺผสฺส นิรตฺถกถา- ปุรตา กถนํ ทุเว
ปเรน คหิเตเยว โหติ กมฺมปโถ น โน ฯ

“องค์ทั้ง ๒ ของสัมผัปปลาปะนั้น คือตั้งใจกล่าววาจาที่ไม่มีประโยชน์อย่างหนึ่ง กล่าววาจานั้นขึ้นอย่างหนึ่ง เมื่อผู้ฟังหรือผู้อ่านเชื่อคำกล่าวนั้นแล้วก็ย่อมสำเร็จเป็นกรรมบถ ถ้าผู้ฟังหรือผู้กล่าวนั้นไม่เชื่อตามคำกล่าวนั้นก็ไม่สำเร็จเป็นกรรมบถ เพียงแต่เป็นสัมผัปปลาปะเท่านั้น”

อธิบายว่า ในคาถาที่กล่าวว่า นิรตฺถกถาปุรกฺขาโร นั้นหมายความว่าเรื่องราวที่ไม่มีความจริง แต่ผู้กล่าวหรือผู้ประพันธ์นั้นได้ตั้งใจแต่งเรื่องราวนั้นขึ้น เพื่อให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านนั้นหลงเชื่อติดใจในคำพูดของตน เป็นการทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเสียประโยชน์แก่ผู้ฟังหรือผู้อ่าน เช่นนี้แล้วคำกล่าวของผู้นั้นก็จัดเป็นสัมผัปปลาปะ แต่แม้ว่าเรื่องนั้นจะไม่จริงก็ตาม ผู้กล่าวหรือผู้ประพันธ์มุ่งหมายยกขึ้นเป็นข้ออุปมาประกอบการสอนการแสดง หรือการประพันธ์เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย เช่นนี้แล้วถ้อยคำของผู้นั้นก็ไม่จัดเป็น สัมผัปปลาปะ ถ้าเรื่องที่กล่าวนั้นเป็นความจริง แต่ผู้ฟังหรือผู้อ่านไม่ได้รับประโยชน์แต่ย่างใด เช่นนี้ก็เท่ากับว่าผู้กล่าวนั้นเล่าข่าวหรือเขียนข่าวให้ฟัง และคำกล่าวของผู้นั้นก็ไม่จัดเป็นสัมผัปปลาปะ

ผู้ที่พูดสนุกสนานเฮฮากล่าวเรื่องเหลวไหลไม่เป็นความจริง ที่ป็นสัมผัปปลาปะนี้ จะจัดว่าเป็นมุสาวาทด้วยหรือไม่ ? ข้อนี้แก้ว่าไม่จัดเป็นมุสาวาท เพราะผู้พูดไม่ได้มีความตั้งใจที่จะมุสา เป็นพูดเพ้อเจ้อไปเท่านั้น แต่ถ้ามีความตั้งใจจะมุสาประกอบอย่แล้ว และผู้ฟังก็หลงเชื่อด้วยจึงจัดว่าเป็นมุสาวาท

คำพูดที่จัดเข้าใน นิรตฺถกถา คือคำพูดที่ไม่มีประโยชน์หาสาระมิได้นี้มีอยู่ ๓๒ ที่เรียกว่าดิรัจฉานกถา ๓๒ นั้นเอง ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ในสามัญญผลสูตรแห่งศีลขันธวรรคพระบาลี

๑. ราชกถา พูดเรื่องต่างที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ตลอดจนถึง
พระญาติพระวงค์
๒. โจรกถา พูดเรื่องโจรต่างๆ
๓. มหามตฺตกถา พูดเรื่องอำมาตย์ราชมาตรีที่เป็นคณะรัฐบาล
๔. เสนากถา พูดเรื่องทหาร ตำรวจ
๕. ภยกถา พูดเรื่องภัยต่างๆ
๖. ยุทฺธกถา พูดเรื่องยุทธศาสตร์
๗. อนฺนกถา พูดเรื่องอาหารต่างๆ มีข้าวและกับ เป็นต้น
๘. ปานกถา พูดเรื่องเครื่องดื่มต่างๆ
๙. วตฺถกถา พูดเรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต่างๆ
๑๐. สยนกถา พูดเรื่องที่นอน
๑๑. มาลากถา พูดเรื่องดอกไม้ต่างๆ
๑๒. คนฺธภถา พูดเรื่องกลิ่นหอมต่าง
๑๓. ญาติกถา พูดเรื่องวงค์ญาติ
๑๔. ยานกถา พูดเรื่องยานพาหนะต่างๆ
๑๕. คามกถา พูดเรื่องหมู่บ้านต่างๆ
๑๖. นิคมกถา พูดเรื่องนิคมต่างๆ
๑๗. นครกถา พูดเรื่องจังหวัดต่างๆ
๑๘. ชนปทกถา พูดเรื่องขนบทต่างๆ
๑๙. อิตฺถิกถา พูดเรื่องหญิง
๒๐. ปุริสกถา พูดเรื่องชาย
๒๑. กุมารกถา พูดเรื่องชายหนุ่ม
๒๒. กุมารีกถา พูดเรื่องหญิงสาว
๒๓. สุรกถา พูดเรื่องความกล้า
๒๔. วิสิขากถา พูดเรื่องถนนหนทางต่างๆ
๒๕. กุมฺภฏฺฐานกถา พูดเรื่องท่าน้ำต่างๆ
๒๖. ปุพฺพเปตกถา พูดเรื่องญาติที่ล่วงลับไปแล้ว
๒๗. นานตฺตกถา พูดเรื่องราวร้อยแปด
๒๘. โลกกฺขายิกา พูดเรื่องโลกและผู้สร้าง
๒๙. สมุทฺทกฺขายิกา พูดเรื่องมหาสมุทรและผู้สร้างมหาสมุทร
๓๐. อิติวภาภวกถา พูดเรื่องความจริงและความเสื่อมต่างๆ
๓๑. อรญฺญกถา พูดเรื่องป่าต่างๆ
๓๒. ปพฺพตกถา พูดเรื่องภูเขาต่างๆ

คำพูดที่ไม่มีประโยชน์หาสาระมิได้ เรียกว่าสัมผัปปลาปะเหล่านี้ โดยมากปรากฏแก่พวกที่เล่นมหรสพต่างๆ มีหนัง ละคร เป็นต้น และผู้ที่เป็นนักประพันธ์เรื่องอ่านเล่นต่างๆ ที่ไม่มีคติธรรมแต่อย่างใดเลย และถ้ากล่าวตามพุทธภาษิตในสฬายตนสังยุตตพระบาลีแล้ว บุคคลจำพวกนี้เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไปบังเกิดในปหาสนิระที่เป็นส่วนหนึ่งของอวีจิมหานรก ดังนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงอบรมแก่สาวกทั้งหลายอยู่เสมอว่า

“ทฺวินฺนํ โว ภิกฺขเว สนฺนิปติตานํ ทฺวยํ กรณียํ ธมฺมี วา
กถา ตุณฺหีภาโว วา”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเมื่อได้มีการพบ
ระหว่าง ๒ องค์แล้วการงานที่ควรประพฤตินั้นมี ๒ อย่าง คือ
กล่าวถ้อยคำที่เกี่ยวกับธรรมมะ หรือมิฉะนั้นก็นิ่งเฉยเสีย”

ในองค์ที่ ๒ ที่กล่าวว่า “กถนํ” นั้นแสดงถึงปโยคะ ซึ่งหมายถึงวจีปโยคะอย่างเดียว แต่ถ้าใช้เขียนถ้อยคำเหล่านั้นก็เป็นกายปโยคะก็ได้ แต่การกล่าวสัมผัปปลาปะนี้ย่อมเกิดทางวจีทวารเป็นส่วนมาก ฉะนั้น ท่านอรรถกถาจารย์จึงแสดงองค์ที่ ๒ ว่า “กถนํ” คือ กล่าววาจาขึ้น และถ้าจะสรุปปโยคะ ในสัมผัปปลาปะนี้แล้วก็ได้ปโยคะ ๒ คือวจีปโยคะ และกายปโยคะ

__________________________________

สัมผัปปลาปะที่เป็นอัปปสาวัชชะและมหาสาวัชชะ

ผู้ที่กล่าวสัมผัปปลาปะอยู่เสมอๆ ย่อมจัดเป็นมหาสาวัชชะ ส่วนผู้ที่กล่าวสัมผัปปลาปะเป็นครั้งเป็นคราวนั้นจัดเป็นอัปปสาวัชชะ




 

Create Date : 07 มีนาคม 2555    
Last Update : 7 มีนาคม 2555 6:44:11 น.
Counter : 2969 Pageviews.  

มรณุปปัตติจตุกกะ - ความตาย ๔ ประการ

(ที่มา ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา วิถีมุตตสังคหะ)

----------------------------------------------------------

มรณุปปัตติจตุกกะ
ความตาย ๔ ประการ
บาลีอภิธัมมัตถสังคหะ และคำแปลเพื่อท่องจำ


๑. อายุกฺขเย กมฺมกฺขเยน อุภยกฺขเยน อุปจฺเฉทกกมฺมุนา เจติ จตุธา มรณุปฺปตฺติ นาม ฯ

ชื่อว่ามรณุปปัตติ คือเหตุที่ให้ความตายปรากฏขึ้น มี ๔ อย่างคือ

๑. อายุกขยมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุ
๒. กัมมักขยมรณะ ตายเพราะสิ้นกรรม
๓. อุภยักขกมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุและสิ้นกรรม
๔. อุปปัจเฉทกมรณะ ตายเพราะกรรมเข้าไปตัดรอน

----------------------------------------------------------

(หน้า 268 - 275)

อธิบายขยายความมรณุปปัตติจตุกกะ
ตามบาลีอภิธัมมัตถสังคหะตามลำดับ

อธิบายตามบาลีข้อที่ ๑ แสดงความตาย ๔ ประการ คำว่า มรณุปฺปตฺติจตุกฺก เมื่อแยกบทแล้วได้ ๓ บท คือ มรณ + อุปฺปตฺติ + จตุกฺก มรณ = ความตาย, อุปฺปตฺติ = การเกิดขึ้น, จตุกฺก = เมื่อรวมแล้วเป็น มรณุปฺปตฺติจตุกฺก แปลว่าการเกิดขึ้นแห่งความตายมี ๔ อย่าง หมายถึงเหตุที่ให้ความตายเกิดขึ้น ๔ อย่างนั้นเอง ดังแสดงวจนัตถะว่า
“มรณสฺส อุปฺปตฺติ = มรณุปฺปตฺติ” ความเป็นไปแห่งความตาย ชื่อว่ามรณุปปัตติ “จตุนุนํ สมาหาโร = จตุกฺกํ” การรวมของ ๔ อย่างชื่อว่าจตุกกะ เหตุที่ให้ความตายปรากฏขึ้น ๔ อย่างนั้นคือ

๑. อายุกฺขย เพราะสิ้นอายุ
๒. กมฺมกฺขย เพราะสิ้นกรรม
๓. อุภยกฺขย เพราะสิ้นอายุและสิ้นกรรมทั้งสอง
๔. อุปจเฉทก เพราะประสบอุปัทวเหตุ อายุและกรรมยังไม่สิ้น

ถ้าจะอุปมาเปรียบเทียบการตายของสัตว์ทั้งหลายแล้ว ก็เหมือนหนึ่งดวงประทีปที่จุดตามไว้ ดวงประทีปนี้ย่อมจะดับลงด้วยเหตุ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือดับลงด้วยไส้หมดอย่างหนึ่ง ดับลงด้วยน้ำมันหมดอย่างหนึ่ง ดับลงด้วยไส้และน้ำมันทั้งสองหมดอย่างหนึ่ง ดับลงด้วยถูกลมพัดหรือถูกเป่าให้ดับอย่างหนึ่ง ดวงประทีปนั้นเปรียบเหมือนชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ความดับของดวงประทีปนั้นเปรียบเหมือนความดับของชีวิตที่สิ้นสุดลง เฉพาะภพหนึ่งๆ ฉะนั้นผู้ที่สิ้นชีวิตลงเพราะหมดอายุขัย ก็เหมือนกับดวงประทีปที่ดับลงโดยเนื่องจากไส้หมดแต่น้ำมันยังอยู่ ผู้ที่สิ้นชีวิตลงโดยหมดกรรมนั้นก็เหมือนกับดวงประทีป ที่ดับลงโดยเนื่องจากน้ำมันหมดแต่ไส้ยังอยู่ ผู้ที่สิ้นชีวิตลงโดยทั้งหมดอายุ และกรรมนั้นก็เหมือนดวงประทีปที่ดับลงโดยเนื่องจากไส้และน้ำมันหมดทั้งสองอย่าง ผู้ที่สิ้นชีวิตลงโดยประสบกับอุปัทวเหตุต่างๆนั้นก็เหมือนกับดวงประทีปที่ดับลงโดยเนื่องจากถูกลมพัด หรือถูกเป่าให้ดับโดยที่ไส้และนำมันยังอยู่


๑. อายุกฺขยมรณ แสดงวจนัตถะว่า “อายุโน ขยํ อายุกฺขยํ” ความสิ้นแห่งอายุขัย ชื่อว่าอายุกขยะ “อายุกฺขเยน มรณํ อายุกฺขยมรณํ” ความตายเพราะสิ้นอายุขัย ชื่อว่าอายุกขยมรณะ

คำว่า “อายุ” เมื่อว่าโดยมุขยนัย คือนัยโดยตรงแล้ว ได้แก่ชีวิตรูป แต่ในที่นี้ “อายุ” มุ่งหมายเอาอายุขัยซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตแห่งการตั้งอยู่ของชีวิตรูปนี้เป็นการแสดงโดยฐานยูปจารนัย คือนัยโดยอ้อม เช่น พวกพรหมก็ดี เทวดาก็ดี ต่างก็มีกำหนดขอบเขตอายุขัยของตนๆไปตามภูมิที่ตนเกิดอยู่ สำหรับมนุษย์ในชมพูทวีปนั้นกำหนดอายุขัยย่อมมีขึ้นๆลงๆ ไม่แน่นอน เมื่อเวลาขัยขึ้นก็ขึ้นสูงไปจนถึงอสงไขยปี เมื่อเวลาขัยลงก็ลงต่ำไปจนถึง ๑๐ ปี เป็นอายุขัย ดังมีแสดงไว้โดยพิสดารในปฏิสนธิจตุกกะ สำหรับในปัจจุบันนี้ ๗๕ ปี เป็นอายุขัย ดังนั้นสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้แม้ว่าอำนาจกรรมยังมีอยู่แต่เมื่อครบอายุขัยแล้วก็ตายไปเป็นส่วนมาก ผู้ที่มีอายุยืนเกิดนกว่าอายุขัยที่กำหนดไว้นั้นก็มีบ้าง แต่หาได้ยาก ท่านเหล่านั้นต้องมีอดีตกรรมที่เกี่ยวกับการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ช่วยอุปถัมภ์ชีวิตและร่างกายให้ดำรงอยู่ได้นานเป็นพิเศษหรือมิฉะนั้นอำนาจแห่งชนกกรรมก็ยังมีกำลังอยู่ และมีปัจจุบันกรรมฝ่ายดี คือการรักษาศีล ๕ ไว้ได้บริสุทธิ์หรือมีการรักษาสุขภาพอนามัยไว้ได้อย่างดี เหตุต่างๆเหล่านี้แหละที่ช่วยให้ผู้นั้นมีอายุอยู่ได้นานจนเกิดอายุขัย ดังในปัจจุบันนี้ผู้ที่มีอายุยืนถึง ๙๐ ปี กว่าก็ยังมีปรากฏอยู่ และในสมัยพุทธกาล นั้นกำหนดอายุขัยตั้งไว้ ๑๐๐ ปี แต่ผู้ที่มีอายุยืนกว่า ๑๐๐ ปี ก็มีอยู่หลายท่าน เช่นพระอานนท์ พระมหากัสสป นางวิสาขา เหล่านี้มีอายุยืนได้ ๑๒๐ ปี พระพากูลเถระมีอายุได้ ๑๖๐ ปี แต่อย่างไรก็ตาม ย่อมไม่ถึง ๒ เท่าของอายุขัยที่กำหนดไว้ในสมัยนั้นๆ



๒. กมฺมกฺขยมรณ แสดงวจนัตถะว่า “กมฺมสฺส ขโย = กมฺมกฺขโย” ความสิ้นสุกแห่งกรรม ชื่อว่ากัมมักขยะ “กมฺมกฺขเยน มรณํ = กมฺมกฺขยมรณํ” การตายเพราะสิ้นสุดแห่งกรรม ชื่อว่ากัมมักขยมรณะ
คำว่า กรรม ในที่นี้หมายถึงชนกกรรม ที่มีหน้าที่ส่งผลให้เกิดปฏิสนธิในภพนั้นๆและอุปถัมภกกรรม ที่มีหน้าที่ช่วยอุดหนุนให้รูปนามที่เกิดจากชนกกรรมให้ตั้งอยู่ได้ในภพนั้นๆ การสิ้นสุดแห่งกรรมทั้งสองดังกล่าวนี้แหละ ชื่อว่ากัมมักขยะ ฉะนั้นผู้ที่เกิดมาโดยมีอำนาจของกรรมทั้งสองนี้ ตั้งอยู่ได้เพียง ๑ เดือนบ้าง ๑ ปีหรือ ๕ ปี ๑๐ ปี เป็นต้นบ้าง


แต่คงตั้งอยู่ได้ ไม่ถึงกำหนดอายุขัยของผู้นั้น เป็นเหตุให้ผู้นั้นตายลงในขณะที่มีอายุได้เพียง ๑ เดือนบ้าง ๑ ปี ๕ ปี ๑๐ ปี เป็นต้นบ้าง เหล่านี้ย่อมกล่าวได้ว่าเป็นการตายโดยความสิ้นสุดแห่งกรรม เรียกว่ากัมมักขยมรณะ ซึ่งเหมือนกับดวงไฟที่หมดน้ำมันแม้ว่าไส้ยังมีอยู่ก็ตาม แต่แสงไฟนั้นต้องดับลง อนึ่งการแสดงถึงความตายของพวกเทวดาและพรหมที่ใช้ว่าปุญญักขยมรณะนั้น ก็มุ่งหมายถึงกัมมักขยมรณะนั้นเอง



๓. อุภยกฺขยมรณ แสดงวจนัตถะว่า “อุภเยสํ ขโย = อุภยกฺขโย” ความสิ้นสุดแห่งอายุและกรรมทั้ง ๒ ชื่อว่าอุภยักขยะ “อุภยกฺขเยน มรณํ = อุภยกฺขยมรณํ” การตายเพราะสิ้นสุดแห่งอายุและกรรมทั้ง ๒ ชื่อว่าอุภยักขยมรณะ
ความตายชนิดนี้ก็หมายถึง ผู้ตายนั้นมีอายุยืนได้จนกระทั่งครบอายุขัยและอำนาจของกุสลชนกกรรม หรืออกุศลชนกกรรม ก็พอดีหมดลงพร้อมกับความสิ้นสุดแห่งอายุซึ่งเปรียบเหมือนกับดวงไฟที่ดับลงอันเนื่องมาจากไส้และน้ำมันหมดลงพร้อมกัน ตัวอย่างเช่นผู้ที่เกิดมาในสมัยที่กำหนดอายุ ๓๕ ปี เป็นอายุขัย และอำนาจแห่งกุศลชนกกรรมของผู้นั้นก็มีอำนาจอยู่ได้ ๗๕ ปี เช่นเดียวกัน เอผู้นั้นมีอายุอยู่จนถึง ๗๕ ปี แล้วตายลง ก็กล่าวได้ว่าความตายของผู้นั้นเป็นอุภยักขยมรณะ แม้พวกสัตว์ในอบายภูมิที่เกิดมาจากอำนาจอกุศลชนกกรรมก็เช่นเดียวกัน เช่น อายุขัยของสุนัขมีกำหนดได้ประมาณ ๑๐ ถึง ๑๒ ปี และสุนัขที่เกิดมานั้นมีอำนาจอกุศลชนกกรรมอยู่ได้ ๑๐ ถึง ๑๒ ปี ดังนั้นถ้าสุนัขตัวนี้ตายลงเมื่อมีอายุ ๑๐ ถึง ๑๒ ปีแล้ว ก็กล่าวได้ว่าการตายของสุนัขตัวนี้เป็นอุภยักขยมรณะ



๔. อุปจฺเฉทกมรณ แสดงวจนัตถะว่า “อุปจฺฉินฺทตีติ อุปจฺเฉทกํ” กรรมอันใดย่อมเข้าไปตัดวิบากและกัมมชรูป ที่เกิดจากชนกกรรม ฉะนั้นกรรมนั้นชื่อว่าอุปัจเฉทกะ ได้แก่อกุศลกรรม ๑๒ มหากุศลกรรม ๘ อรหัตตมรรคกรรม ๑ “อุปจฺเฉทกกมฺมุนา มรรํ อุปจฺเฉทกมรณํ” การตายเพราะกรรมเข้าไปตัดวิบากและกัมมชรูป ชื่อว่าอุปัจเฉทกมรณะ
ผู้ที่มีอายุยังไม่เข้าถึงขีดอายุขัย และอำนาจของชนกกรมก็ยังไม่หมด แต่ด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมที่ได้ทำมาแล้วในภพก่อน หรือภพนี้เข้ามาตัดรอนให้ผู้นั้นตายลงเสียก่อน ซึ่งเปรียบเหมือนดวงไฟที่ไส้ก็ยังอยู่ น้ำมันก็ยังไม่หมด แต่ไฟนั้นดับลงด้วยเหตุอย่างอื่น มีถูกลงพัด ถูกน้ำ หรือถูกสิ่งหนึ่งสิ่งใดล้มทับเป็นต้น ชื่อว่า อุปัจเฉทกมรณะ


ความตายทั้ง ๔ อย่างดังกล่าวมานี้ ผู้ที่ตายโดยอายุกขยมรณะ กัมมักขยมรณะ อุภยักขยมรณะ ทั้ง ๓ นี้ ชื่อว่ากาลมรณะ เพราะเป็นการตายชนิดที่ถึงเวลาแล้ว ส่วนผู้ที่ตายโดยอุปัจเฉทกมรณะ ชื่อว่ากาลมรณะ เพราะเป็นการตายที่ยังไม่ถึงเวลา ความตายชนิดที่เป็นอกาลมรณะนี้มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน คือ

๑. ชิฆจฺฉาย ปิปาสาย อหิทฏฺฐา วิเสน จ
อคฺคิอุทฺธกสตฺตีหิ อกาเล ตตฺถ มียติ ฯ

๒. วาตปิตฺเตหิ เสมฺเหน สนฺนิปาตอุตูหิ จ
วิสโมปกฺกมกมฺเมหิ อกาเล ตตฺถ มียติ ฯ


๑. “ย่อมตายลงในสมัยที่ยังไม่ถึงเวลา เพราะหิวข้าว กระหายน้ำ ถูกงูกัด ถูกวางยา ถูกไฟไหม้ จมน้ำ ถูกอาวุธก็มี

๒. ย่อมตายลงในสมัยที่ยังไม่ถึงเวลา เพราะโรคลม ดีพิการ โรคเกี่ยวกับเสมหะ โรคสันนิบาต ที่เกี่ยวกับลม ดี เสมหะ ๒ อย่าง หรือ ๓ อย่างพิการพร้อมกัน โรคเกี่ยวกับอากาศ หรืออุปัจเฉทกกรรม โดยการปฏิบัติตนไม่สม่ำเสมอ ผิดอนามัยโดยความพยายาม ของตนเองและของคนอื่น”


แม้จะอาศัยเหตุต่างๆ ที่ทำให้ตายลงในขณะที่ยังไม่ถึงเวลาดังที่กล่าวมาแล้วนี้ก็ตามแต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว ความตายเหล่านี้ย่อมจะเว้นเสียจากอดีตกรรมไม่ได้เลย หมายความว่าจะต้องมีอดีตกรรมเป็นผู้อุดหนุน และมีเหตุในปัจจุบันเป็นผู้จัดการ ดังที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในสังยุตตพระบาลีว่า

“อิธ มหาราช โย ปุพฺเพ ปเร ชิฆจฺฉาย มาเรติ, โส พหูนิ วสฺสสตสหสฺสานิ ชิฆจฺฉาย ปีฬิโต ฉาโต ฯลฯ ชิฆจฺฉาเยว มรติ ทหโรปิ มชฺฌิโมปิ มหลฺลดกปิ”

ดูกรมหาราช ในโลกนี้ผู้ใดเคยทำให้ผู้อื่นตายลงด้วยการอดข้าว ผู้นั้นแม้ยังอยู่ในวัยเด็กก็ตาม วัยหนุ่มสาวก็ตาม วัยแก่ก็ตาม ย่อมได้รับการเบียดเบียนด้วยการอดข้าว และตายลงด้วยการหิวข้าวนั้นเอง เป็นดังนี้ตลอดแสนชาติ” และผู้ที่เคยทำให้ผู้อื่นตายลงด้วยการวางยาพิษ เอาไฟเผา ถ่วงน้ำ ห่าโดยใช้อาวุธ เหล่านี้เป็นต้น ผู้นั้นก็ย่อมตายด้วยการอดน้ำ ถูกงูกัด ถูกวางยา ถูกไฟคลอก จมน้ำ ถูกอาวุธ เช่นเดียวกัน และย่อมแสดงให้เห็นว่าอกาลมรณะเหล่านั้น จะเว้นเสียจากอดีกรรมไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ท่านพระอาจารย์ทั้งหลายที่ทรงคุณวุฒิจึงลงความเห็นพร้อมกันว่า ความตายที่เป็นอกาลมรณะเหล่านี้ ตายเพราะอุปัจเฉทกกรรม


โรคสันนิบาต คือโรคที่เกี่ยวกับลม ดี เสมหะ ทั้ง ๓ อย่าง หรือ ๒ อย่างนี้มีอาการวิปริตไป นี้แหละชื่อว่าเป็นโรคสันนิบาต โรคเกี่ยวกับอากาศที่ชื่อว่าอุตุชโรคก็ดี โรคที่เกี่ยวกับอาหารที่ชื่อว่าอาหารชโรคก็ดี โรคที่เกี่ยวกับจิตที่ชื่อว่าจิตตชโรคก็ดี โรคที่เกี่ยวกับจิตที่ชื่อว่าจิตตชโรคก็ดี โรคที่เกี่ยวกับกรรมที่ชื่อว่ากัมมชโรคก้ดีเหล่านี้ ก็ต้องมีอาการเสียของจำพวกลง ดี เสมหะ เข้าแทรกอยู่ด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ชื่อว่าโรคสันนิบาต สำหรับโรคที่ไม่เกี่ยวกับอากาศหรืออาหาร หรือจิต หรือกรรม เป็นแต่อาการเสียของพวกลม ดี เสมหะ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ๒ อย่าง ๓ อย่างเหล่านี้ก็มีชื่อเรียกว่าโรคนั้นๆ ว่า โรคลม โรคดี โรคเสมหะ โรคสันนิบาต


คำว่า “วิสโมปกฺกม” ในคาถาบทที่ ๒ นี้ เป็น ๒ บทรวมกัน คือวิสมอุปกฺกมบทหนึ่ง วิสม= การปฏิบัติตนไม่สม่ำเสมอ ไม่ถูกอนามัย อุปกฺกม = ความพยามของตนเอง หรือของคนอื่น การปฏิบัติตนไม่สม่ำเสมอ ไม่ถูกอนามัย ชื่อว่า “วิสม” นั้นคือโบราณท่านกล่าวว่า “ปัญญาเป็นผู้รักษาชีวิต” แต่ผู้นั้นไม่มีปัญญาที่จะรักษาร่างกายให้สม่ำเสมอให้มีชีวิตยืนยาวอยู่ได้จนตลอดอายุขัยนั้นเอง การที่สัตว์ทั้งหลายมีสุขภาพดี อายุยืนนั้นจะอาศัยแต่อดีตกรรม คือกรรมเก่าอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นจะต้องมีการบำรุงรักษาร่างกายด้วยอาหารและยา พร้อมกับการบริหารอิริยาบถใหญ่ให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมออีกด้วย จึงจะช่วยทำให้มีสุขภาพดี มีอายุยืนยาวอยู่จนตลอดอายุขัยไปได้ เพราะว่าสัตว์ที่มีมูลกรรม คือกรรมก่อให้เกิดมีกำลังมั่นคงจนมิอาจที่จะทำสิ่งใดๆจะมาทำลายล้างชีวิตให้ตายลงโดยยังไม่ถึงซึ่งอายุขัยนั้นเป็นการหาได้ยากยิ่ง แม้ว่ามีบ้างก็แต่เพียงเล็กน้อย กล่าวคือหนึ่งในจำนวนแสน จำนวนล้านเท่านั้น ฉะนั้น ความตายของคนทั้งหลายทั่วไปที่ยังไม่ถึงซึ่งอายุขัยนั้น ก็เพราะเนื่องมาจากไม่มีการบำรุงรักษาร่างกาย ไม่ผลัดเปลี่ยนอริยบถใหญ่ให้เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมด้วยอำนาจกิเลส คือความพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง ไม่รู้ไม่เข้าใจโดยคิดไม่ถึงบ้าง ซึ่งเป็นความตายที่มีอยู่มากทีเดียว
ความพยายามของตนเองหรือของคนอื่นชื่อว่า “อุปกฺกม” นั้น สำหรับความพยายามของตนเอง เช่น ทำการผูกคอ ยิง กระโดดน้ำ อดข้าว กินยาพิษ สำหรับความพยายาม
ของคนอื่นนั้น เช่น ถูกศัตรูฆ่าตาย ถูกสัตว์ทำอันตรายจนถึงแก่ความตาย บางทีก็ถูกเทวดาลงโทษจนถุงตายบ้าง จับกินบ้าง กล่าวคือร่างกายของคนทั้งหลายและสถานที่อาศัยต้นไม้ ภูเขา ตลอดจนถึงหมู่บ้าน จังหวัด ประเทศ เหล่านี้ ล้วนแต่มีเทวดาดูแลปกปักรักษาคอยอำนวยความสุขอยู่ทุกเมื่อ ดังนั้นเมื่อคนทั้งหลายไม่ได้ทำการแผ่ส่วนบุญ แผ่เมตาให้แก่เทวดา ทั้งตนเองก(ยังประพฤติไปแต่ในทางทุจริตทุราชีพอยู่เป็นนิจอีก จนกระทั่งทำให้เทวดาทั้งหลายเหล่านั้นเกิดความไม่พอใจขึ้น เทวดาเหล่านั้นก็เลิกการดูแลปกปักรักษาปล่อยให้ภูตผีปีศาจที่ดุร้ายได้โอกาสเข้ามาทำการเบียดเบียนประทุษร้ายร่างกาย ชีวิตทรัพย์สมบัติของคนเหล่านั้นให้ถึงซึ่งความพินาศโดยนานาประการ หรือมิฉะนั้นเทวดาที่รักษาบุคคลและสถานที่เป็นต้นนั้นแหละทำการลงโทษเสียเอง ถ้าคนทั้งหลายมีการแผ่ส่วนบุญ แผ่เมตาให้พวกเทวดาทั้งหลายเหล่านั้นทั้งตนเองก็มีความประพฤติดี มีศีลธรรมประจำอยู่เป็นนิจทำให้เทวดาเกิดความรักใคร่พอใจในตน เทวดาทั้งหลายต่างพากันเฝ้าคอยดูแลรักษาชนทั้งหลายเหล่านั้นให้ได้รับความสุขสบาย มิให้มีภัยอันตรายใดๆ เข้ามาเบียดเบียนได้

ใน ๒ ประเภทนี้ ภัยต่างๆเกิดขึ้นเบียดเบียน โดยเนื่องมาจากเทวดามิได้ทำการดูแลรักษานั้น ความเป็นไปดังนี้ บุคคล หมู่บ้าน จังหวัด เป็นต้นใดๆ เทวดาปล่อยปละละเลยจากการดุแลรักษาแล้ว เทวดาที่โหดร้ายต่างๆทั้งหลายก็ได้โอกาสเข้าไปเที่ยวจับกินได้ตามความพอใจของตน โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อสิ่งใดๆทั้งสิ้น และเทวดาที่มีใจผูกพยาบาทอยู่แต่เมื่อครั้งภพก่อนๆ ก็ได้โอกาสเข้าไปประทุษร้ายเบียดเบียนได้อีก ส่วนเทวดายักษ์ที่เป็นรากษสอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร เมื่อเห็นเรือแพใหญ่น้อยสัญจรไปมาล่มลง ต่างก็พากันจำแลงตัวเป็นปลาใหญ่บ้าง จระเข้ พระยานาคบ้าง มาจับบุคคลเหล่านั้นกิน ทุกรากษสที่อาศัยอยู่ที่สระโบกขรณีในป่าลึกและฉายารากษสที่อาศัยอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่อันท้าวมหาราชทั้ง ๔ อนุญาตให้จับสัตว์ที่ลงไปในสระโบกขรณี หรือล่วงล้ำเข้าไปภายใต้บริเวณร่มเงาของต้นไม้ใหญ่กินได้นั้น ยักษ์เหล่านั้นก็ได้โอกาสทำการล่อลวงผู้ที่ไม่มีเทวดาคุ้มครองดูแลรักษาให้ผ่านเข้าไปภายในบริเวณของตนแล้วก็จับกินได้โดยง่ายเทวดาที่โหดร้ายอีก ๒ จำพวก คือกุมภัณฑเทวดาที่อาศัยอยู่ที่ชานบันไดเวียนชั้นที่ ๓ ของภูเขาสิเนรุก็ดี นาคเทวดาที่อาศัยอยู่ใต้พื้นแผ่นดินและใต้พื้นน้ำมหาสมุทรก็ดี นอกจากนี้แล้วยังมีภูตผีปีศาจอีกเป็นอันมากซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่คอยหาโอกาส หาทางที่จะเข้าทำการแสวงหาจับบุคคลที่ไม่มีเทวดาดูแลรักษานั้นมากิน คันทัพพเทวดาที่อาศัยอยู่ในเนื้อไม้ก็ได้โอกาสทำการหลอกหลอนเบียดเบียนต่างๆนานา ให้เกิดการหวาดเสียวสะดุ้งกลัวจนกลายเป็นคนเสียสติไป ผู้ใดผู้หนึ่งตายลงด้วยการถูกเทวดา ยักษ์ กุมภัณฑ์ นาค ที่เป็นเทวดาโหดร้ายและภูตผีปีศาจต่างๆเบียดเบียนประทุษร้ายจับกิน ดังกล่าวนี้เป็นการตายที่เนื่องมาจากความพยายามของผู้อื่น


สำหรับผู้ที่ตั้งอยู่ในความสุจริตคิดอยู่แต่ในเรื่องบุญกุศล แผ่ส่วนบุญ แผ่เมตาให้แก่เทวดาทั้งหลายอยู่เป็นนิจนั้น เทวดาเหล่านั้นก็จะมีใจรักใคร่คอยดูแลรักษามิให้เทวดาโหดร้ายภูตผีปีศาจต่างๆเข้ามารบกวนกระทำอันตรายได้ เมื่อมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น หรือมีมนุษย์อันธพาลมาทำร้ายก็ช่วยเหลือป้องกันเอาไว้ให้พ้นจากอันตรายได้อย่างน่าประหลาด ถ้าผู้ปกครองประเทศ หรือผู้มีอำนาจทำการเบียดเบียนทำร้ายต่อบุคคลที่มีเทวดารักใคร่คุ้มครองดูแลรักษาแล้ว เป็นที่แน่ทีเดียวว่าย่อมต้องถูเทวดาที่รักใคร่ในตัวบุคคลเหล่านั้นลงโทษได้รับความพินาศเฉพาะตัว หรือมิฉะนั้นก็ทั้งบ้าน ทั้งคณะ ทั้งเมือง ทั้งประเทศ ผู้ที่ไม่มีเทวดารักใคร่คอยดูแลรักษาถูกเทวดาโหดร้าย และภูตผีปีศาจกระทำอันตรายก็ดีผู้ที่มีเทวดารักใคร่คอยดูแลรักษาช่วยให้พ้นจากภัยธรรมชาติและพ้นจากมนุษย์อันธพาลทำร้าย และเมื่อถูกผู้ปกครองประเทศหรือผู้มีอำนาจทำการเบียดเบียนลงโทษแล้ว ก็มีเทวดามาลงโทษแก่ผู้นั้น คณะนั้น ให้ได้รับความพินาศก็ดี ทั้งหมดนี้ความปรากฏแจ้งมี อยู่ในพุทธวจนะและอรรถกถา มีชาดกเป็นต้น


ฉะนั้น เมื่อได้พิจารณาถึงการตายของชนปัจจุบันก็จะพึงเห็นได้ว่าเป็นการตายด้วยความพยายามของตนเองและความพยายามของผู้อื่นมีเทวดา เป็นต้นนี้มีอยู่อย่างมากหลาย แต่กระนั้นผู้ตายและผู้ที่อยู่ภายหลังก็หาได้รู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความตายทั้ง ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริงแต่ประการไม่ได้ ดังนั้นเมื่อจะทำการห่าตัวตาย หรือเห็นคนอื่นฆ่าตัวตายก็มักจะคิดเห็นหรือเข้าใจไปว่า สามีไม่ดี ภรรยาไม่ดี ค้าขายขาดทุน โรคภัยเบียดเบียนทรมาน เหตุการณ์บ้านเมืองบีบคั้น แต่ที่แท้จริงนั้นผู้ทีฆ่าตัวตายเหล่านี้ล้วนแต่เนื่องมาจากปัจจุบันกรรม คือการกระทำของตนในภพนี้อันเนื่องมาจากกิเลสที่เกิดขึ้นครอบงำฝ่ายเดียวไม่มีอินทรีย์ และพละที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ฉะนั้น ถ้าหากจิตใจนั้นได้มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๔ ซึ่งเป็นตัวอินทรีย์และพละที่เข้าถึงความแก่กล้าเป็นอย่างดี เข้ามาทำการแทนที่กิเลสได้แล้ว การห่าตัวเองก็จะมีขึ้นไม่ได้ แต่จะกลับเปลี่ยนไปเป็นนักปริยัติหรือปฏิบัติ นักบวช เป็นต้น อันเป็นความสวัสดีและประเสริฐ ที่ได้บังเกิดขึ้นแก่ตน ทั้งจะเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลอื่นอีกด้วย บุคคลโดยมากเมื่อมีภัยต่างๆ เกิดขึ้นแก่ตนหรือเห็นคนอื่นได้รับภัยต่างๆ ก็ไม่มีการคิดนึกถึงปัจจุบันกรรม คือการกระทำของตน และการกระทำของผู้ตายที่เป็นไปแต่ในทางทุจริตทุราชีพอยู่เป็นนิจแต่อย่างใดไม่ คงกลับคิดเห็นเป็นไปในทางด้านภายนอกว่าถูกโจรภัย อุทกภัย อัคคีภัย ราชภัย วาตภัย คือภัยที่เกิดจากสัตว์ร้าย มีงู เสือ เป็นต้น การที่เป็นไปดังนี้ก็เพราะมิได้รับการศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยนับปริยัติหรือปฏิบัตินั้นเอง



วินิจฉัยเพิ่มเติมในเรื่องอุปัจเฉทกมรณะ
ที่ท่านผู้รจนาวิภาวนีฏีกาแสดงไว้

อิทํ ปน เนรยิกานํ อุตฺตรกุรุวาสีนํ เกสญฺจิ เทวานญฺจ น โหติ (มาในวิภาวนีฏีกา)

“ความตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะนี้ ย่มไม่มีแก่สัตว์ที่เกิดอยู่ในนิรยภูมิอุตตรกุรุทวีป และเทวดาบางพวกที่นอกจากภุมมัฏฺฐเทวดา”

ที่ท่านวิภาวนีฏีกาจารย์กล่าวดังนี้นั้นคงเป็นไปได้เฉพาะแต่ในอุตตรกุรุทวีปเท่านั้นสำหรับนิรยภูมิและเทวดาบางพวกที่นอกจากภุมมัฏฐเทวดานั้น อุปัจเฉทกมรณะมีได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้ อุปัจเฉทกมรณะในนิรยภูมิ เมื่อสัตว์นรกทั้งหลายได้ถูกพยายมราชสอบถามเพื่อแก่การช่วยเหลืออยู่นั้น สัตว์นรกนั้นก็ได้สติระลึกนึกถึงกุศลที่ตนได้เคยกระทำไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่ได้ก็ตายลงในทันที แล้วไปบังเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาต่อไปนี้เป็นการตายโดยกุศลอุปัจเฉทกมรณะ คือกุศลกรรมตัดรูปนาม ที่เกิดจากอกุศลกรรมให้ตายลง

อุปัจเฉทกมรณะในเทวภูมิ ภุมมัฏฐเทวดาเด็กน้อยอาศัยอยู่ที่ต้นไม้ ภิกษุตัดต้นไม้นั้นได้ฟันถูกเด็กน้อยตาย ดังมีเรื่องแจ้งอยู่ในภูตคามสิกขาบทแห่งพระวินัย ดังนั้นเมื่อท่านวิภาวินีฏีกาจารย์มุ่งหมายถึงเรื่องนี้แล้วจึงกล่าวว่า “เกสญฺจิ” ไม่กล่าวถึงเทวดาทั่วไป คือมีการยกเว้น การยกเว้นของท่านวิภาวนีฏีกาจารย์นี้ ถ้ามุ่งหมายเอาเฉพาะแต่ภุมมัฏฐเทวดาดังที่กล่าวแล้วนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังมีเทวดาอื่นๆ อีกที่ตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะ เช่น เทวดาบางองค์ที่มัวไปเพลิดเพลินอยู่ด้วยความสนุกสนานจนกระทั่งลืมการบริโภค ต่อรู้สึกว่าหิวจังได้รีบบริโภค แต่ก็ไม่ทันเพราะปาจกเตโชได้ทำการเผาผลาญกระเพาะ ตลอดจนถึงไส้ใหญ่ไส้น้อย เป็นต้น จนเสียไปหมดสิ้นแล้ว เทวดาที่ตายด้วยการสนุกสนานเช่นนี้ ชื่อว่า “ขิฑฑาปโทสิกะ” เทวดาบางองค์ก็ตายเพราะหัวใจถูกเผาด้วยความโกรธ ความเสียใจอันเนื่องมาจากพวกเทวดาด้วยกันก่อขึ้นว่า “มโนปโทสิกะ” และในสุพฺรหฺมสํยุตฺตอฏฺฐกถา ได้แสดงว่านางฟ้า ๕ ที่เป็นบริวารของสุพรหมเทวบุตร กำลังเก็บดอกไม้ อยู่บนต้นไม้ได้ตายลงด้วยอำนาจของอกุศลอุปัจเฉทกกรรม ความตายชนิดที่เกิดจากความ เพลิดเพลิน ความโกรธ ความเสียใจ ทั้ง ๒ ประการนี้เป็นไปได้ในเทวภูมิทั้ง ๖ เช่น ที่เกิดอยู่ในเทวภูมิและพรหมภูมิไม่มีความประสงค์จะอยู่ให้จนครบอายุขัย เพราะทำการสร้างบารมีไม่ได้นั้น ก็มีการอธิฐานให้ตนตายคล้ายๆกับการห่าตัวเอง ด้วยคำอธิฐานว่า “ขอให้ชีวิตของเราดับลงในบัดนี้” ความตายของพระโพธิสัตว์ดังนี้ชื่อว่า “อธิมุตติกาลังกิริยะ” ชีวิตดับลง (กาลังกิริยะ) ด้วยการอธิฐานใจ (อธิมุตติ)


อธิบายความหมายของคำว่า “เกสญฺจิ เทวานํ”

คำว่า “เกสญฺจิ เทวานํ” นี้มีความหมายที่ให้ทราบได้ว่า เทวดาบางท่านไม่ตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะ แต่บางท่านตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรจะแสดง ถึงสัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์เข้าด้วยว่า “เกสญฺจิ ติรจฺฉานญฺจ เกสญฺจิ มนุสฺสานญฺจ เกสญฺจิ เทวานญฺจ น โหติ” เพราะสัตว์ดิรัจฉานบางตัวและมนุษย์บางคนไม่ตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะก็มี ตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะก็มี ฉะนั้น คำว่า “เกสญฺจิ” ที่เป็นวิเสสนบทของ “เทวานํ” นี้ก็มิได้ทำให้เกิดประโยชน์อันใด กลับทำให้การตีความหมายยุ่งยากไปอีก

อนึ่ง เมื่อจะหาประโยชน์จากคำว่า “เกสญฺจิ เทวานํ” ด้วยความเคารพและเลื่อมใสในปัญญาของท่านวิภาวนีฏีกาจารย์แล้วก็หาได้เหมือนกัน เพราะทำให้รู้ถึงความเป็นอยู่ของเทวดากับสัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์นั้นมีการแตกต่างกัน กล่าวคือการเกิด การอยู่ และการตายของสัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์ คนทั้งหลายรู้เห็นกันได้อยู่เฉพาะหน้าทั่วไปแล้วมิจำเป็นที่จะต้องนำมาแสดงไว้อีก ส่วนการเกิด การอยู่ การตาย ของเทวดานั้นนอกจาก ฌานลาภี อภิญญาลาภี และผู้มีวิชาพิเศษทางโลกแล้วก็ไม่มีผู้ใดจะรู้เห็นได้จะทำให้สงสัยในการตายของเทวดาได้ ด้วยอาศัยเหตุนี้แหละท่านวิภาวนีฏีกาจารย์จึงได้แสดงแต่เพียงว่า “เกสญฺจิ เทวาญฺจ น โหติ” เทวดาบางท่านไม่ตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะ




 

Create Date : 03 ธันวาคม 2554    
Last Update : 3 ธันวาคม 2554 18:05:01 น.
Counter : 4252 Pageviews.  

ปัตติทาน - ปัตตานุโมทนะ (การอุทิศส่วนบุญ - การอนุโมทนา)


ปัตติทาน

แสดงวจนัตถะว่า “ปตฺตพฺพาติ ปตฺติ” “ปตฺติยา ทานํ ปตฺติทานํ” ธรรมชาติใดที่ผู้กระทำได้ถึงแล้ว ฉะนั้น ธรรมชาตินั้น ชื่อว่าปัตติ ได้แก่ ทาน ศีล ภาวนา ที่เกิดขึ้นแล้วในสันดานของตน การให้ส่วนบุญที่ตนได้มาชื่อว่าปัตติทาน ได้แก่การอุทิศส่วนบุญให้ บิดา มารดา ครู อาจารย์ ญาติพี่น้อง ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งปวงที่ล่วงลับไปแล้ว

ตามวจนัตถะข้อนี้เป็นการแสดงโดยบุคคลาธิษฐาน แต่เมื่อจะแสดงโดยธรรมาธิษฐานแล้วก็มีดังนี้ “ปตฺตึ ททนฺติ เอเตนาติ ปตฺติทาน” ผู้ใจบุญทั้งหลายย่อมให้ส่วนบุญที่ตนได้มาแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วยธรรมชาตินั้น ฉะนั้นธรรมชาติที่เป็นเหตุแห่งการให้นั้นชื่อว่าปัตติทาน ได้แก่ เจตนาที่อยู่ในมหากุศลจิตตุปบาทที่เกิดขึ้นในขณะที่ตั้งใจอุทิศส่วนบุญ

เมื่ออุทิศส่วนบุญให้แก่บุคคลอื่นเช่นนี้แล้ว บุญนั้นจะลดน้อยถอยลงไปหรือไม่ ? ข้อนี้แก้ว่าไม่ลดน้อยถอยลงเลยแต่อย่างใด มีแต่จะกลับเพิ่มพูนยิ่งขึ้นไปอีก ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าการให้ซึ่งบุญนั้นต่างกันกับการให้วัตถุสิ่งของที่มีอยู่ ที่กล่าวว่ามีแต่จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้นไปนั้น ข้อนี้เสมือนหนึ่งการจุดเทียนขึ้นไว้หนึ่งเล่ม แม้ว่าจะนำเทียนเล่มอื่นๆ มาจุดต่อมีจำนวน

(หน้าที่ 212)

ตั้งหลายร้อยหลายพันเล่มก็ตาม แสงสว่างที่มีอยู่กับเทียนเล่มแรกก็มิได้หมดสิ้นไปแต่ประการใด มีแต่จะได้รับแสงสว่างเพิ่มขึ้นใหม่จากแสงเทียนเหล่านั้นเป็นทวีคูณฉันใด การอุทิศส่วนบุญให้แก่บุคคลอื่นก็ย่อมช่วยทำให้กุสลที่ตนได้มามีอำนาจมากยิ่งๆขึ้นไป ทุกครั้งที่ทำการอุทิศให้ฉันนั้น




-------------------------------------------------







ปัตตานุโมทนะ (การอนุโมทนาบุญ)

แสดงวจนัตถะว่า “ปตฺติยา อนุโมทน ปตฺตานุโมทนํ” การเห็นดีคล้อยตามด้วยความอิ่มใจซึ่งส่วนที่เขาอุทิศมาให้ชื่อว่าปัตตานุโมทนะ ได้แก่การอนุโมทนารับส่วนบุญที่เขาอุทิศมาให้

คำว่า “ปัตติ” ในปัตติทานนั้นเป็นทาน ศีล ภาวนา ที่ตนพยายามก่อสร้างให้เกิดขึ้นแล้วอุทิศให้แก่บุคคลอื่น ส่วนคำว่า “ปัตติ” ที่ในปัตตานุโมทนะนั้นได้แก่กุศลที่เขาอุทิศมาให้นั้นได้มาถึงตนแล้วโดยทางวาจาและหนังสือ ดังนั้นจึงแสดงวจนัตถะอีกนัยหนึ่งว่า “ปาปิยตีติ ปตฺติ” กุสลที่คนอื่นพึงอุทิศให้ ฉะนั้น ชื่อว่าปัตติ “ปตฺติ อนฺโมทนฺติ สาธุการํ ททนฺติ เอเตนาติ ปตฺตานุโมทนํ” ชนทั้งหลายย่อมอนุโมทนาซึ่งบุญกุศลที่เขาอุทิศมาให้โดยการเปล่งวาจาว่า สาธุ โดยเจตนานั้น ฉะนั้น เจตนานั้นชื่อว่า ปัตตนุโมทนะ ได้แก่ มหากุศลเจตนาที่เกี่ยวกับการอนุโมทนา

เมื่อพิจารณาดูตามหลักวจนัตถะที่แสดงแล้วนี้ ก็จะพึงเห็นได้ว่าเจตนาที่อยู่ใน มหากุศลโสมนัสดวงใดดวงหนี่งนั้นแหละ เป็นปัตตานุโมทนากุศลอย่างสมบุรณ์เต็มที่ ส่วนเจตนาที่อยู่ในมหากุศลอุเบกขาดวงใดดวงหนึ่งนั้นเป็นปัตตานุโมทนกุศลไม่สมบูรณ์ เพราะว่าจิตใจในขณะนั้นขาดปิติโสมนัสต่อบุญกุศลที่เขาอุทิศมาให้ เพียงแต่ทำให้เปล่งวาจาว่า สาธุ หรือดีแล้วๆ ตามภาษาของตนๆเท่านั้น ฉะนั้นการอนุโมทนาที่จะเป็นปัตตานุโมทนกุศลอย่างสมบูรณ์ได้จะต้องมีจิตใจประกอบด้วยปิติโสมนัส ถ้ายิ่งเป็นญาณสัมปยุตตโสมนัสด้วยแล้วก็จะเป็นปัตตานุโมทนกุศลอย่างดียิ่ง

การอนุโมทนาส่วนบุญ

ที่ไม่ได้ชื่อว่าปัตตานุโมทนกุศลโดยตรง

การอนุโมทนาส่วนบุญที่ไม่ได้ชื่อว่าปัตตานุโมทนกุศลโดยตรงนั้นคือ เมื่อได้เห็นเขากำลังทำบุญ คือการบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา หรือได้เห็นคำจารึกชื่อเจ้าของติด

(หน้าที่ 213)

อยู่ในวัตถุที่สร้างถวายก็เกิดปิติโสมนัสด้วย โดยที่เขาไม่ได้บอกกล่าวหรืออุทิศส่วนบุญนั้นให้แต่อย่างใด ความปิติโสมนัสต่อการงานที่ดีของบุคคลอื่นอย่างนี้นั้นจะเปล่งวาจาว่า สาธุหรือดีๆก็ตาม หรือไม่ได้เปล่งวาจาก็ตาม ไม้ได้ชื่อว่าเป็นปัตตานุโมทนกุศลโดยตรง เพียงแต่เป็นโดยอนุโลมเท่านั้น สำหรับการอนุโมทนาส่วนบุญที่ได้ชื่อว่าเป็นปัตตานุโมทนากุสลแท้ๆนั้น ได้แก่บุญกุศลที่ผู้กระทำได้พยายามก่อสร้างขึ้น แล้วนำมาบอกกล่าวอุทิศให้ การอนุโมทนาส่วนบุญที่เจ้าของบอกกล่าวอุทิศให้เช่นนี้ จึงจะได้ชื่อว่าปัตตานุโมทนากุศลโดยตรง

ปตฺติ (ส่วนบุญที่เขาแผ่ให้) ๒ ประการ
๑. อุทฺทิสฺสิกปตฺติ ส่วนบุญที่เขาแผ่ให้โดยเจาะจง
๒. อนุทฺทิสฺสิกปตฺติ ส่วนบุญที่เขาแผ่โดยไม่เจาะจง

เมื่อแยกบทตามบาลีไวยากรณ์แล้วมีดังนี้ อุทฺทิสฺส + อิก + ปตฺติ = อุทฺทิสฺสิก ปตฺติ, อุทฺทิสฺส = การเจาะจง, อิก = มี, ปตฺติ = กุศลที่เขาแผ่ให้ เมื่อรวมบททั้ง ๓ นี้เข้าด้วยกันแล้วก็แปลว่า กุศลที่เขาแผ่ให้โดยมีการเจาะจง น + อุทฺทิสฺส + อิก + ปตฺติ = อนุทฺทิสฺสสิกปตฺติ, น = ไม่, อุทฺทิสฺส = การเจาะจง, อิก = มี, ปตฺติ = กุศลที่เขาแผ่ให้เมื่อรวมบททั้ง ๔ นี้เข้ากันแล้วก็แปลว่า กุศลที่เขาแผ่ให้โดยไม่เจาะจง

การแผ่ส่วนบุญทั้งสองประการนี้ ผู้ที่ได้รับส่วนบุญชนิดที่เป็นอุททิสสิกปัตติ เมื่อได้เปล่งวาจาว่าสาธุๆ แล้วก็ได้รับผลทันที เช่น พวกเปรตที่เป็นญาติกับพระเจ้าพิมพิสารแต่ในชาติปางก่อน เมื่อพระเจ้าพิมพิสารได้ทรงสร้างวัดเวฬุวนารามถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท้าวเธอมิได้ทรงแผ่ส่วนบุญโดยเจาะจงให้แก่พวกเปรตเหล่านี้เลย เพียงแต่ทรงแผ่ไปโดยไม่เจาะจงเท่านั้น ดังนั้นพวกเปรตเหล่านี้จึงได้พากันส่งเสียงร้องขอต่อท้าวเธอ พอวันรุ่งขึ้นท้าวเธอก็รีบเสด็จไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบทูลถามถึงเรื่องที่ได้ประสบมานั้นแต่พระพุทธองค์
พระพุทธองค์จึงรับสั่งว่า เป็นเสียงของเปรตที่เป็นญาติมาร้องขอส่วนบุญ เพราะพระองค์มิได้ทรงอุทิศส่วนบุญทั้งปวงที่ทรงบำเพ็ญให้เขาโดยเจาะจงเลย เขาเหล่า

(หน้าที่ 214)

นั้นได้ตั้งใจคอยเพื่อจะได้รับส่วนบุญจากพระองค์มาช้านานแล้ว ดังนั้นพระเจ้าพิมพิสารจึงได้ทรงจัดการทำบุญขึ้นใหม่อีกเป็นครั้งที่สอง แล้วได้ทรงแผ่ส่วนบุญนั้นให้แก่เปรตเหล่านั้นโดยเจาะจง ส่วนพวกเปรตทั้งหลายเมื่อได้รับส่วนบุญจากพระเจ้าพิมพิสารทรงแผ่ให้โดยเจาะจงแล้ว ก็พากันเปล่งวาจาว่าสาธุๆ ผลบุญก็ปรากฏขึ้นทันทีโดยได้รับอาหารมาบริโภคบรรเทาความหิวโหย อดอยาก มาเป็นเวลาช้านานลงได้ในขณะนั้นเอง นี้เป็นผลที่ได้รับโดยปรากฏชัดจากการแผ่ส่วนบุญโดยเจาะจง

สำหรับผู้ที่ได้รับส่วนบุญชนิดที่เป็นอนุททิสสิกปัตตินั้น หาได้รับผลปรากฏชัดในทันทีทันใด เหมือนผู้ที่ได้รับส่วนบุญชนิดอนุททิสสิกปัตตินั้นไม่ แต่จะอย่างไรก็ตามทีอานิสงส์แห่งการอนุโมทนาส่วนบุญชนิดที่เป็นอุททิสสิกปัตติของพวกเปรตเหล่านั้นก็ไม่สุญหายไปข้างไหน ต่อเมื่อได้รับส่วนบุญชนิดที่เป็นอนิทิสสิกปัตติเวลาใด เวลานั้นการอนุโมทนาส่วนบุญชนิดที่เป็นอนุทิสสิกปัตติก็เข้าอุดหนุนส่งเสริมการอนุโมทนาส่วนบุญชนิดที่เป็นอุททิสสิกปัตติให้มีกำลังกล้าแข็งยิ่งขึ้นทันทีทันใดในขณะนั้น

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ มุ่งหมายถึงผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ไปถือกำเนิดเป็นปรทัตติปชีวิกเปรตพวกหนึ่ง กับวินิปาติกอสุราและเวมานิกเปรตที่เป็นพวกเทวดาชั้นต่ำในจาติมหาราชิกาภูมิอีกพวกหนึ่งเท่านั้น สำหรับในหมู่มนุษย์ด้วยกันนี้ก็มีการอนุโมทนาส่วนบุญชนิดที่เป็นอุททิสสิกปัตติ หรืออุททิสสิกปัตติเหมือนกัน แต่ผลที่ได้รับนั้นหาใช่เป็นข้างของเงินทอง อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย เหมือนกันกับเปรตได้รับนั้นไม่ เพียงแต่ได้รับผล คือมีจิตใจสุขสบายไม่เดือดร้อน หน้าตาชุ่มชื่นแจ่มใสไม่ขุ่นมัวเท่านั้น

วิธีแผ่ส่วนบุญชนิดอุททิสสิกปัตติ

วิธีแผ่ส่วนบุญชนิดอุททิสสิกปัตตินั้นมีการแผ่ดังนี้

อิทํ เม ปุญฺญํ มาตาปิติอาจริยญาตามิตฺตสมูหานํ เทมิ ฯ ขออุทิศการทำบุญที่เกี่ยวกับทาน ศีล ภาวนา ของข้าพเจ้านี้ให้แก่ บิดา มารดา ครู อาจารย์ ญาติ มิตร ที่ล่วงลับไปแล้ว หรือที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นด้วยเทอญ,

(หน้าที่ 215)

วิธีแผ่ส่วนบุญชนิดอนุททิสสิกปัตติ

สำหรับวิธีแผ่ส่วนบุญชนิดอนุททิสสิกปัตตินั้นมีวิธีแผ่ดังนี้

อิทํ เม ปุญฺญํ สพฺพสตฺตานํ เทมิฯ ขออุทิศการทำบุญที่เกี่ยวกับทาน ศีล ภาวนา ของข้าพเจ้านี้ให้แก่บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยกันทั้หมดเทอญ,



--------------------------------------------------------
(ที่มา ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา
ปริเฉทที่ ๕: วีถิมุตตสังคหะ เล่ม ๒ )




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 20 มีนาคม 2555 16:56:21 น.
Counter : 1704 Pageviews.  

1  2  

ชาวมหาวิหาร
Location :
Germany

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Thepathofpurity.com
Friends' blogs
[Add ชาวมหาวิหาร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.