นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
Group Blog
 
All blogs
 
อภิชฌา - พยาบาท - มิจฉาทิฏฐิ

(ที่มา ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา
ปริเฉทที่ ๕: วีถิมุตตสังคหะ เล่ม ๒ )

(ข้อความในบล๊อกนี้ ยังไม่ได้ตรวจอักษร อาจจะมีที่พิมพ์ผิดเล็กๆน้อยได้)



อธิบายมโนกรรม ๓

๑. อภิชฺฌา

คำว่า อภิชฺฌา นี้เป็น อภิ ปพฺพ เฌ ธาตุ อภิ แปลว่า เฉพาะหน้า เณ แปลว่า คิดถึง เมื่อรวมกันแล้วเป็นอภิชฌา แปลว่า คิดถึงเฉพาะหน้า หมายถึงคิดเพ่งเล็งในทรัพย์สมบัติของผู้อื่นเฉพาะหน้า ดังแสดงวจนัตถะว่า

“ปรสมฺปตฺติ อภิมุขํ ฌายตีติ อภิชฺฌา” ธรรมชาติใดย่อมคิดถึงทรัพย์สมบัติของผู้อื่นอยู่เฉพาะหน้า ฉะนั้นธรรมชาตินั้น ชื่อว่าอภิชฌา องคธรรมได้แก่ โลภะ
โลภะ ๒
๑. ธรรมิยโลภะ ความพอใจอยากได้โดยชอบธรรม
๒. อธรรมิยโลภะ ความพอใจอยากได้โดยไม่ชอบธรรมสำหรับโลภะที่เป็นอภิชฌานั้นอยู่ในพวกอธรรมมิยโลภะ

(หน้าที่ 150)

ตามธรรมบุคคลโดยทั่วไปนั้น เมื่อได้ประสพพบเห็นในอารมณ์ที่ดีต่างๆมีรูป เสียง กลิ่น รส เป็นต้นแล้ว ก็ย่อมมีความพอใจอยากได้ในอารมณ์เหล่านั้นด้วยกันทั้งสิ้น แต่ความพอใจอยากได้ของบุคคลเหล่านั้นได้แยกออกเป็น ๒ ประเภทด้วยกัน บุคคลประเภทหนึ่ง เมื่อมีความพอใจอยากได้ในสิ่งนั้นๆแล้ว ก็พยามเสาะแสวงหาให้ได้มาด้วยความสุจริต คือด้วยการซื้อ ด้วยการแลกเปลี่ยน กับสิ่งของอย่างอื่น หรือด้วยการขอ ความพอใจอยากได้ของบุคคลประเภทนี้จัดเป็นธรรมิยโลภะ ไม่ใช่เป็นอภิชฌาบุคคล อีกประเภทหนึ่งนั้น เมื่อมีความพอใจอยากได้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว มีความเพ่งเลงอยากได้สิ่งนั้นๆมาเป็นของๆตนโดยความไม่ชอบธรรม คือไม่อยากซื้อ ไม่อยากขาย หรือไม่อยากแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด คิดหาหนทางจะขโมยหรือโกง เพื่อให้ได้สิ่งนั้นๆมาเป็นของของตน ความพอใจอยากได้ของบุคคลประเภทนี้จัดเป็นอธรรมิยโลภะ คือตัวอภิชฌา

เมื่อพิจารณาดูแล้วตัวอภิชฌาเมื่อเข้าครอบงำผู้ใดแล้ว ย่อมทำให้จิตใจของผู้นั้นเกิดความละโมบในสมบัติของผู้อื่นที่เขาหามาได้ด้วยกรรม ญาณ วิริยะ ของเขา ส่วนตนเองนั้นต้องการที่จำได้มาเปล่าๆ โดยไม่ได้นึกถึงว่าผู้นั้นจะได้รับความเสียหายเดือดร้อนแต่อย่าใด ผู้ที่มีความคิดเช่นนี้แม้ว่าจะยังไม่ได้ลงมือหยิบฉวย ฉ้อโกง หรือบังคับขู่เข็ญเจ้าของทรัพย์สมบัตินั้นก็ตาม ก็จัดว่าการนึกคิดเช่นนี้เป็นสิ่งที่น่าเกลียด น่าละอายมากแต่ผู้ถูกอภิชฌาเข้าครอบงำแล้วนี้ถ้าสามารถที่จะคิดเช่นนี้ได้โดยไม่รู้สึกหวาดกลัวหรือละอายแต่อย่างใด ดังนั้นท่านปรมัตถทีปนีฏีกาจารย์จึงแสดงวจนัตถะของอภิชฌานี้ไว้ว่า

“อภิชฺฌายนฺติ อสฺสาทมตฺเต อฐตฺวา ปรภณฺฑสฺส อตฺตโน
ปริณามนวเสน เอตายาติ อภิชฺฌา”

“บุคคลทั้งหลายไม่หยุดอยู่เพียงแต่ความพอใจ ย่อมเพ่งเล็ง
ด้วยอาการที่จะทำให้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นตกมาเป็นของตน
ด้วยธรรมนั้น ฉะนั้น ธรรมที่เป็นเหตุแห่งการคิดเช่นนั้น ชื่อว่า
อภิชฌา”

องค์แห่งอภิชฌา ๒

๑. ปรภณฺฑ ทรัพย์สมบัติของผู้อื่น
๒. อตฺตโนปริณามนํ มีจิตคิดให้เป็นของของตน

(หน้าที่ 151)

ในองค์ที่หนึ่งกล่าวว่า ปรภณฺฑํ ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นนั้น ในที่นี้มุ่งหมายเอาอวิญญาณกทรัพย์ทั้งหมด และสวิญญาณกทรัพย์ที่เป็นพวกสัตว์เลี้ยงต่างๆ และมนุษย์ที่เป็นทาสีทาสา หญิงที่มีสามีคู่หมั้นเท่านั้น สิ่งอื่นนอกจากนี้ไม่จัดว่าเป็นปรภัณฑะ ฉะนั้น หญิง ๘ จำพวกมีมาตุรักขิตาเป็นต้น จนถึงธัมมรักขิตาเหล่านี้ ถ้าชายคนใดเกิดความพอใจคิดอยากได้มาเป็นภรรยาของตนแล้ว ความนึกคิดเช่นนี้ไม่จัดว่าเป็นอภิชฌาทุจริต อนึ่ง โสเรยยมานพที่คิดเป็นอกุศลต่อพระมหากัจจายนะ โดยที่คิดว่าถ้าพระองค์นี้ได้มาเป็นภรรยาของเรา หรือภรรยาของเรามีรูปร่างเหมือนกับพระองค์นี้แล้วก็จะดีมาก เมื่อโสเรยยมานพคิดเป็นอกุศลเช่นนี้แล้ว เพศชายของโสเรยยมานพก็หายไป กลายเป็นเพศหญิงมาแทน การคิดเป็นอกุศลของโสเรยยมานพนี้จัดเป็นอภิชฌาได้ แต่ไม่ถึงกับล่วงกรรมบถ เพราะบุลลที่โสเรยยมานพเพ่งเล็งนี้ไม่จัดอยู่ในพวกปรภัณฑะ แต่ที่ตนได้รับโทษโดยร่างกายเปลี่ยนเพศไปนั้น ก็เป็นเพราะอำนาจแห่งการคิดล่วงเกินไม่คารวะต่อบุคคลที่เป็นพระขีณาสพนั้นเอง

การอธิบายอภิชฌา จบ






๒. พยาบาท

คำว่า พฺยาปาท นี้เป็น วิ อา ปุพฺพ ปท ธาตุ แสดงวจนัตถะว่า “พฺยาปชฺชติ หิตสุขํ เอเตนาติ พฺยาปาโท” ประโยชน์และความสุขย่อมเสียหายไปด้วยโทสะนี้ ฉะนั้นโทสะนี้จึงชื่อว่า พยาบาท

อธิบายว่า ความโกรธ ความไม่พอใจ ที่เป็นไปตามธรรมดานั้นยังไม่จัดเข้าเป็นมโนทุจริต เป็นเพียงพยาปาทกายคันถะเท่านั้น ส่วนทสะที่เป็นพยาปาทมโนทุจริตนั้นเป็นโทสะชนิดหยาบมาก มีอาการมุ่งร้ายต่อผู้อื่น มีความปรารถนาที่จะทำลายประโยชน์และความสุขของผู้อื่นให้เสียหายไป เช่น เมื่อมีความโกรธผู้ใดแล้ว ก็คิดในใจว่าจะทำอย่างใดดีที่จะทำให้ผู้นั้นเกิดความพินาศเสียหาย หรือนึกแช่งให้ผู้นั้นได้รับความเสียหายต่างๆ โทสะชนิดนี้จัดเป็นพยาปาทมโนทุจริต

องค์แห่งพยาบาท ๒

๑. ปรสตฺโต ผู้อื่น
๒. วินาสจินฺตา คิดให้ความเสียหายเกิดขึ้น

(หน้าที่ 152)

ถ้าครบองค์ ๒ แล้ว โทสะที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นอันล่วงกรรมบถ เป็นมโนทุจริต ถ้าเป็นการคิดทำลายตัวเอง ก็ไม่เป็นการล่วงกรรมบถ เพราะไม่ครบองค์ คือขาดองค์ที่ ๑ ที่ว่า ปรสตฺโต ดังมีคาถาที่แสดงถึงองค์แห่งอภิชฌาและพยาบาทว่า

ทฺเวภิชฺฌาย ปรภณฺฑํ อตฺตโน ปริณามนํ
พฺยาปาทสฺส ปรสตฺโต ตสฮส วินาสจินฺตนํ ฯ
“องค์แห่งอภิชฌามี ๒ คือสมบัติของผู้อื่นอย่างหนึ่ง มีจิต
คิดอยากได้ให้เป็นของตนโดยไม่ชอบธรรมอย่างหนึ่ง”

องค์แห่งพยาบาทมี ๒ คือผู้อื่นอย่างหนึ่ง คิดให้ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างหนึ่ง ความต่างกันระหว่างวธกเจตนาที่เกี่ยวกับพยาบาท วธกเจตนาที่เป็นปณาติบาตรนั้นเป็นเจตนาที่เกี่ยวกับทางกาย จัดเข้าในวิติกกมกิเลส ส่วนวธกเจตนา ที่เป็นพยาบาทนั้นเป็นเจตนาที่เกี่ยวกับทางใจ จัดเข้าในปริยุฏฐานกิเลส

โทษของพยาบาทที่เป็นมหาสาวัชชะและอัปปสาวัชชะ
ถ้ามีความพยาบาทปองร้ายต่อผู้ที่มีศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ ก็มีโทษมาก เป็นมหาสาวัชชะ ถ้าพยาบาทต่อผู้ที่มีศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ หรือมีบ้างเป็นส่วนน้อย ก็มีโทษน้อย เป็นอัปปสาวัชชะ
การอธิบายพยาบาท จบ





๓. มิจฉาทิฏฐิ

คำว่า มิจฺฉาทิฏฐิ เมื่อแยกบทแล้วได้ ๒ บท คือ มิจฺฉา + ทิฏฐิ มิจฺฉา แปลว่า วิปริต ทิฏฐิ แปลว่าความเห็น เมื่อรวมกันแล้วเป็นมิจฉาทิฏฐิ แปลว่าความเห็นที่วิปริต หมายถึงความเห็นที่ผิดแผกไปจากความเป็นจริง แสดงวจนัตถะว่า “มิจฺฉา ปสฺสตีติ มิจฺฉาทิฏฺฐิ” ธรรมชาติใดย่อมมีความเห็นวิปริตอันผิดไปจากความเป็นจริง ฉะนั้นธรรมชาตินั้นชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ ได้แก่ทิฏฐิเจตสิก

ตามธรรมดาทิฏฐิเจตสิกนี้ ย่อมมีสภาพที่มีความเห็นผิดไปจากความเป็นจริงตามสภาวะ และผู้ที่มีทิฏฐินี้ก็ย่อมไม่มีความเชื่อ ความเลื่อมใสในคำสั่งสอนของสัปบุรุษและ

(หน้าที่ 153)

บัณฑิตทั้งหลาย คือมีความประพฤติเป็นไปตรงกันข้ามกับคำสั่งสอนเหล่านั้น เมื่อกล่าวถึงมิจฉาทิฏฐิโดยกว้างขวางแล้ว ย่อมมีอยู่หลายประเภท เช่น สักกายทิฏฐิ ๒ ที่มีความยึดมั่นในขันธ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นตัวเป็นตนก็มี มิจฉาทิฏฐิ ๖๒ ที่แสดงไว้ในพรหมชาลสูตรแห่งศีลขันธวรรคก็มี นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ที่แสดงไว้ในสามัญญผลสูตรแห่งศีลขันธวรรคก็มี แต่สำหรับมิจฉาทิฏฐิที่กล่าวในมโนทุจริตนี้มุ่งหมายเอานิยตมิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ ที่สำเร็จเป็นกรรมบถ ส่วนมิจฉาทิฏฐิอื่นๆนั้น เป็นแต่เพียงทิฏฐิสามัญเท่านั้น

องค์แห่งมิจฉาทิฏฐิ ๒

๑. อตฺถวิปรีตตา เนื้อความที่ได้ยึดไว้นั้นผิดจากความเป็นจริง
๒. ตถาภาวุปฏฐานํ มีความเห็นว่าเป็นความจริง
ถ้าครบองค์ ๒ แล้ว ความเห็นผิดนั้นก็เป็นอันล่วงกรรมบถเป็นมโนทุจริต

ดังมีคาถาแสดงว่า

ทิฏฺฐิยา ทุเว สมฺภารา วตฺถุโต วิปรีตตา
ตถาภาเวนุปฏฐานํ กมฺมปโถ ติเหว จ ฯ

แปลความว่า องค์แห่งมิจฉาทิฏฐิมี ๒ คือเนื้อความที่ได้
ยึดไว้นั้นผิดจากความเป็นจริงอย่างหนึ่ง มีความเห็นว่าเป็นความ
จริงอย่างหนึ่ง ความเห็นผิดที่ล่วงกรรมบถได้นั้นเป็นความเห็น
ผิดชนิดนิยตมิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ เท่านั้น


นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓

๑. นัตถิกทิฏฐิ มีความเห็นว่า ทำอะไรก็ตามผลที่ได้รับนั้นย่อมไม่มี
๒. อเหตุกทิฏฐิ มีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่กำลังเป็นไปอยู่นั้น
ไม่ได้อาศัยเนื่องมาจากเหตุแต่อย่างใด
๓. อกิริยทิฏฐิ มีความเห็นว่า การกระทำต่างๆของสัตว์ทั้งหลายนั้น
ไม่สำเร็จเป็นบุญ เป็นบาปแต่อย่างใด



๑. นัตถิกทิฏฐิ ในนิยตมิจฉาทิฏฐิทั้ง ๓ นี้ ผู้ที่มีความเห็นชนิดนัตถิกทิฏฐินั้นย่อมมีอุจเฉททิฏฐิ คือเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็สูญไม่มีการเกิดอีก มีพระบาลีสามัญญผลสูตรแห่งศีลขีนธวรรค แสดงถึงความเห็นชนิดนัตถิกทิฏฐิว่า

(หน้าที่ 154)

นตฺถิ ทินฺนํ เห็นว่าการทำบุญไม่ได้รับผลแต่อย่างใด
นตฺถิ ยิฏฺฐํ เห็นว่าการบูชาต่างๆไม่ได้รับผลแต่อย่างใด
นตฺถิ หุตํ เห็นว่าการเชื้อเชิญต้อนรับต่างๆ ไม่ได้รับผลแต่
อย่างใด
นตฺถิ สุกตทุกฺกฏานํ กมฺมานํ ผลํ วิปาโก เห็นว่าการทำดีและทำชั่วไม่ได้รับ
ผลแต่อย่างใดทั้งทางตรงและทางอ้อม
นตฺถิ อยํ โลโก เห็นว่าภพนี้ไม่มี คือผู้ที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ที่
เรียกกันว่าภพนี้นั้นย่อมไม่มี เพราะไม่มีการเกิดต่อไป
นตฺถิ ปโร โลโก เห็นว่าภพหน้าไม่มี คือภพที่จะเป็นที่เกิดแห่งภพที่
ปรากฏในปัจจุบันนี้ย่อมไม่มี เพราะเมื่อตายแล้วย่อม
ไม่มีการเกิดอีก
นตฺถิ มาตา เห็นว่าการทำดีทำชั่วต่อมารดา ย่อมได้รับผลแต่
อย่างใด
นตฺถิ ปิตา เห็นว่าการทำดีทำชั่วต่อบิดา ย่อมไม่ได้รับผลแต่
อย่างใด
นตฺถิ สตฺตา โอปปาติกา เห็นว่าสัตว์ที่เกิดเติบโตขึ้นทีเดียว คือสัตว์นรก เปรต
เทวดา พรหม ไม่มี
นตฺถิ โลเก สมณพฺรหฺมณา สมฺมคฺคตา สมฺมาปฏิปนฺนา,
เย อิมญฺจ โลกํ ปรญฺจ โลกํ สยํ อภิญญา สจฺฉิกตฺวา ปเวเทนฺติ
เห็นว่าสมณพรหมเหล่าใด มีการรู้แจ้งโลกนี้โลกหน้า
ด้วยตนเอง แล้วสามารถรู้แจงแนะนำให้เข้าใจได้
สมณพรหมณ์ที่ถึงพร้อมด้วยความสามัคคี และปฏิบัติ
ดีปฏิบัติชอบเหล่านั้น ย่อมไม่มี (หมายความว่าผู้ที่ทำ
สมถะ วิปัสสนา ได้ฌาน มรรค ผล นั้นไม่มี และผู้
ที่ถือเพศบรรพชิตปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไม่มี ล้วนแต่
เป็นการกล่าวที่เหลวไหลทั้งนั้น ซึ่งความจริงเป็นการ
กระทำที่เป็นไปเพื่ออาชีพเท่านั้น)

(หน้าที่ 155)

ผู้ที่มีนัตถิทิฏฐิ คือมีความเห็นที่ปฏิเสธผลนี้เท่ากับปฏิเสธอำนาจแห่งกุศล อกุศลเจตนาที่เป็นเหตุแห่งผลต่างๆเหล่านั้นด้วย ฉะนั้นพระมหาพุทธโฆษาจารย์จึงแสดงไว้ในสามัญญผลสูตรอรรถกถาว่า

“วิปากํ ปฏิพาหนฺเตนาปิ กมฺมํ ปฏิพาหิตํ โหติ”
“เมื่อมีการปฏิเสธผลแล้ว ก็ได้ชื่อว่าปฏิเสธกรรมอันเป็น
เหตุให้เกิดผลนั้นด้วย”


พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เมื่อพิจารณาเห็นความผิดดังที่ได้กล่าวมาแล้วก็คงจะเกิดความสังเวชสลดใจ และรู้สึกนึกน่ากลัว น่าสงสารต่อบุคคลที่มีความเป็นเช่นนั้น แต่ผู้ที่มีความเห็นชนิดนี้ก็มีเป็นจำนวนมาก ไม่เฉพาะแต่ลัทธิอื่นๆ เท่านั้น แม้ในลัทธิพุทธศาสนาก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย ฉะนั้น ผลที่ได้รับย่อมไม่เลือกบุคคล ไม่ว่าจะเป็นบุคคลลัทธิไหนก็ตามถ้ามีความเห็นผิดชนิดนี้แล้ว เมื่อตายลงก็ได้ไปรับโทษในนิรยภูมิด้วย อาศัยความเห็นผิดชนิดนี้นั้นย่อมเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก ไม่สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นพุทธศาสนิกชน ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่าบุคคลจำพวกนี้เป็นพุทธศาสนิกชนเพียงแต่ชื่อเท่านั้น ส่วนในด้านจิตใจนั้น ไม่มีความเลื่อมใสเชื่อถือต่อคำสั่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังเช่นไม่เชื่อว่ามีนรก สวรรค์ เป็นต้น ดังนั้น จึงกล่าวได้แน่ว่าบุคคลนั้นไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม เมื่อตายแล้วก็ต้องไปเกิดในนิรยภูมิ เมื่อเป็นเช่นนี้หนทางที่จะแก้ให้หายจากความเห็นที่ เป็นมิจฉาทิฎฐิก็มีอยู่ว่าบุคคลนั้นจะต้องอบรมให้เกิดปัญญาในด้านพระพุทธศาสนาโดยการปฏิบัติวิปัสสนา จนกระทั่งได้สำเร็จเป็นพระอริยะ หรือศึกษาพระอภิธรรมให้เข้าใจ ในสภาวะที่เป็นไปตามความเป็นจริงต่างๆ ทั้งในด้านวัตถุและจิตใจ หรือตนเองต้องเป็นผู้มีศรัทธาจิต เชื่อต่อคำสั่งสอนของบิดา มารดา ครู อาจารย์ที่มีความรู้ในด้านพุทธศาสนา จึงจะพ้นจากมิจฉาทิฎฐินี้ได้เสีย ถ้ามิฉะนั้นแล้วแม้ว่าผู้นั้นจะมีวิชาความรู้ทางโลกจนถึงเป็นศาสตราจารย์ก็ตาม ก็ย่อมจะพ้นไปจากมิจฉาทิฎฐิไม่ได้ เพราะความรู้ทางวิชาทางโลกนั้นเป็นไปเพื่อการอาชีพ และการสังคมเท่านั้น


๒. อเหตุกทิฏฐิ ผู้ที่มีความเห็นชนิดอเหตุกทิฏฐินี้ มีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายที่กำลังได้รับความลำบากหรือสบายก็ตาม ไม่ได้อาศัยอะไรเป็นเหตุให้เกิดขึ้นเลย เป็นไปเองทั้งนั้น มีพระบาลี่แสดงไว้ ในสามัญญผลสูตรแห่งศีลขันธวรรคว่า

(หน้าที่ 156)

“นตฺถิ มหาราช เหตุ นตฺถิ ปจฺจโย สตฺตานํ สํกิเลสาย,
อเหตุ อปจฺจยา สตฺตา สํกิลิสฺสนฺติ นตฺถิ ปจฺจโย
สตฺตานํ วิสุทฺธิยา, อเหตุ อปจฺจยา สตฺตา วิสุชฺฌนฺติ”
“ชนกเหตุ คือเหตุที่ให้เกิด และอุปัตถัมภกเหตุ คือเหตุที่
ช่วยอุปถัมภ์ให้สัตว์ทั้งหลายมีความเศร้าหมอง ลำบากกาย
ลำบากใจ นั้นไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่กำลังเศร้าหมอง และลำบาก
อยู่นั้น ก็ไม่มีชนกเหตุและอุปัตถัมภกเหตุแต่อย่างใด ชนกเหตุ
คือเหตุที่ให้เกิด และอุปัตถัมภกเหตุ คือเหตุที่ช่วยให้สัตว์
ทั้งหลายมีความบริสุทธิ์พ้นจากความลำบากกายลำบากใจนั้น
ก็ไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่กำลังมีความบริสุทธิ์พ้นจากความลำบาก
กายลำบากใจนั้น ก็ไม่เกี่ยวกับชนกเหตุและอุปัตถัมภกเหตุ
แต่อย่าใด”


ความเห็นที่เป็นอเหตุกทิฏฐินี้ เป็นความเห็นที่ปฏิเสธเหตุ คือการกระทำดี ชั่วของสัตว์ทั้งหลายที่กระทำกันอยู่ทุกวันนี้ไม่เชื่อว่าเป็นเหตุก่อให้เกิดผลได้ ดังนั้นการปฏิเสธเหตุนี้ก็เท่ากับว่าปฏิเสธผลไปด้วย คือสัตว์ทั้งหลายที่กำลังได้รับความสุข ความทุกข์กันอยู่ทุกวันก็ไม่นับว่าเป็นผลที่เนื่องมาจากการกระทำดีหรือชั่วของตนเป็นเหตุ ดังนั้นมหาพุทธโฆษาจารย์จึงแสดงไว้ในสามัญญผลสูตรอรรถกถา ว่า

“นตฺถิ เหตูติ วทนฺโต อุภยํ ปฏิพาหติ” ผู้ที่กล่าวว่าหรือ
เห็นว่าความสุขทุกข์ของสัตว์ทั้งหลายนั้นไม่เกี่ยวเนื่องมาจากเหตุ
นี้ก็เท่ากับว่าเป็นการปฏิเสธทั้งเหตุทั้งผลไปด้วย”


๓. อกิริยทิฏฐิ ผู้ที่มีคววามเห็นชนิดอกิริยทิฏฐินี้ มีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายที่ทำดีก็ตามทำชั่วก็ตามไม่เป็นบาปเป็นบุญ ทำก็สักแต่ว่าทำเท่านั้น มีพระบาลีแสดงไว้ในสามัญญผลสูตรแห่งศีลขันธวรรคว่า
“กโกโต โข มหาราช การยโต, ฉินฺทโต เฉทาปยโต,
ปจโต ปาจาปยโต, โสจยโต โสจาปยโต, กิลมโต กิลมาปยโต,

(หน้าที่ 157)

ผนฺทโต ผนฺทาปยโต, ปาณมติปาตาปยโต, อทินฺนํ อาทิยโต,
สนธ฿ ฉินฺทโต, นิลฺโลปํ หรโต, เอกาคาริกํ กโรโต, ปริปนฺเถ
ติฏฐโต, ปรทารํ คจฺฉโต, มุสา ภณโต, กโรโต น กรียติ ปาปํ”
“ผู้ที่มีความเห็นผิดชนิดอกิริยาทิฏฐิ เห็นว่าการกระทำดีทำ
ชั่วของสัตว์ทั้งหลาย จะทำเองก็ตาม ใช้ให้คนอื่นทำก็ตาม ไม่
ได้ชื่อว่าเป็นบาปเป็นบุญ การทำร้าโดยตัดอวัยวะผู้อื่น
จะตัดเอง ใช้ให้คนอื่นตัดก็ตาม ก็ไม่ชื่อว่าทำบาป การลงโทษผู้
อื่นโดยการปรับเอาเงิน หรือโดยการเฆี่ยนตีทำให้เขาได้รับความ
เดือดร้อน จะทำเองก็ตาม ใช้ให้คนอื่นทำก็ตาม ก็ไม่ชื่อว่าทำบาป
การเอาวัตถุสิ่งของทรัพย์สมบัติของผู้อื่น ทำให้เขาได้รับความ
เศร้าโศกเสียใจ จะทำเองก็ตาม ใช้ให้คนอื่นทำก็ตาม ก็ไม่ชื่อว่า
ทำบาป การลงโทษตนเองให้ลำบากมีอาการอดข้าวหรือยอมติด
เรือนจำ หรือแนะนำให้ผู้อื่นที่เชื่อถือตนให้ลงโทษตนเองให้
ลำบากเหมือนตนนั้น ก็ไม่ชื่อว่าทำบาป ตนเองมีความกระวน
กระวายเดือดร้อนใจก็ดี หรือทำให้ผู้อื่นกระวนกระวายเดือดร้อน
ใจก็ดี ก็ไม่ชื่อว่าเป็นบาป การฆ่าสัตว์ด้วยตนเองก็ดี ใช้ให้คนอื่น
ฆ่าก็ดี ไม่๙อว่าฆ่าสัตว์ คือไม่เป็นบาป การตัดช่องย่องเบาด้วย
ตนเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นตัดช่องย่องเบาก็ดี ก็ไม่เป็นบาป การแย่ง
ชิงทรัพย์ด้วยตนเองก็ดี ใช้ให้คนอื่นแย่งชิงก็ดี ก็ไม่เป็นบาป บุกรุก
เข้าไปในบ้านเขาแล้วแย่งชิงสมบัติด้วยตนเองก็ดี ใช้ให้คนอื่น
บุกรุกก็ดี ก็ไม่เป็นบาป คอยดักชิงทรัพย์เขาตามทางด้วยตนเอง
ก็ดี ใช้ให้คนอื่นคอยดักชิงทรัพย์เขาก็ดี ก็ไม่เป็นบาป การประพฤติ
ผิดกาเมในภรรยาของผู้อื่น ก็ไม่เป็นบาป การพูดมุสา ก็ไม่เป็น
บาป การกระทำไม่ดีต่างๆ ดังกล่าวมานี้ จะทำด้วยตนเองก็ดี
ใช้ให้คนอื่นทำก็ดี เหล่านี้ก็ไม่ชื่อว่าเป็นบาป”

(หน้าที่ 158)

ความเห็นผิดชนิดอกิริยทิฏฐินี้ เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกรรมอันเป็นตัวเหตุ ฉะนั้นจึงเท่ากับว่าปฏิเสธผลของกรรมสำเร็จไปในตัวด้วย ดังนั้นพระมหาพุทธโฆษาจารย์จึงแสดงไว้ในสามัญญผลสูตรอรรถกถา ว่า

“กมฺมํ ปฏิพาหนฺเตนาปิ วิปาโก ปฏิพาหิโต โหติ”
“แม้เมื่อปฏิเสธการกระทำบาปบุญที่เป็นตัวเหตุแล้ว ก็เท่า
กับปฏิเสธผลของการกระทำบาปบุญนั้นด้วย”

ความเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิของทิฏฐิทั้ง ๓

ในทิฏฐิทั้ง ๓ นั้น คณาจารย์เดียรถีย์ ๓ ท่าน คืออาจารย์อชิตะ มีความเห็นชนิดที่เป็นนัตถิกทิฏฐิ อาจารย์มักขลิโคสาละ มีความเห็นชนิดที่เป็นอเหตุกทิฏฐิ อาจารย์ปุราณกัสสปะ มีความเห็นชนิดที่เป็นอกิริยทิฏฐิ ความเห็นผิดของคณาจารย์ทั้ง ๓ นี้เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ คือเป็นความเห็นผิดที่มีสภาพส่งผลในนิรยภูมิแน่นอนในลำดับแห่งจุติโดยไม่มีระหว่างคั่น เพราะความเห็นผิดของท่านทั้ง ๓ นี้ ยึดมั่นแน่นหนามาก แม้พระพุทธองค์ได้ทรงทรมานด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้เลิกถอนความเห็นผิดนั้นเสีย ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ สำหรับพวกลูกศิษย์ของคณาจารย์ทั้ง ๓ นี้ ในตอนแรกความเห็นผิดที่เกิดขึ้นนั้นยังมีกำลังอ่อนอยู่ ฉะนั้นจึงยังไม่สำเร็จเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ ในเวลาต่อมาเมื่อได้มีเวลาท่องบ่นพิจารณาเนื้อความในคำสั่งสอนของอาจารย์อยู่เสมอ เหมือนกับผู้ที่เจริญกรรมฐานและมีความพอใจในคำสอนนั้นๆ ในขณะที่พิจารณาและมีความพอใจอยู่นั้นทิฏฐิคตสัมปยุตตชวนะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน จนกระทั่งจิตนั้นเป็นมิจฉาสมาธิเกิดขึ้น ในสุดท้ายทิฏฐิสัมปยุตตชวนวิถีที่มีการตัดสินแน่นอนในเนื้อความนั้นๆ ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็เกิดขึ้น เหมือนกับวิถีจิตของพระโยคีที่เจริญวิปัสสนากำลังเข้าสู่มรรควิถี ฉะนั้นชวนะดวงที่ ๗ ที่ในวิถีสุดท้ายนี้แหละได้ชื่อว่านิยตมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดชนิดที่สามารถส่งผลให้เกิดในนิรยภูมิอย่างแน่นอนหลังจากที่ตายลงเพราะความเห็นผิดนี้ แม้พระพุทธองค์จะได้ทรงโปรดอย่างใดก็ตาม ก็ไม่อาจสำเร็จได้

(หน้าที่ 159)

นิยตมิจฉาทิฏฐิ ๓ ที่ได้ชื่อว่ามิจฉาฉัตตนิยตะ
ความเป็นไปของทิฏฐิและปัญญาทั้ง ๒ นี้ มีสภาพเป็นไปตรงกันข้าม เข้าร่วมกันไม่ได้ เหมือนกับความมืดกับความสว่างหรือเหมือนกับคน ๒ คนหันหลังชนกันแล้วออกวิ่งไปคนละทาง ต่างคนก็ห่างไกลกันไปทุกที ในด้านปัญญานั้นเมื่อมีความเจริญขึ้นจนถึงได้รู้แจ้งอริยสัจ ๔ โดยได้รับการอุปการะจากศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิแล้ว ก็ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะมาทำลายปัญญาของผู้นั้นได้เลย ผู้นั้นย่อมมีความเลื่อมใสเป็นพิเศษในพระรัตนตรัยเชื่อในกรรมและผลของกรรม เชื่อว่าตายแล้วจะต้องเกิดอีก ถ้าผู้นั้นมีตัณหาอยู่ หมายความว่าปัญญาของผู้นั้นได้เข่าถึงความเป็นสัมมัตตนิยตะ คือปัญญาที่มีสภาพเป็นความดีและให้ผลแน่นอน ฉะนั้นผู้นั้นจึงได้ชื่อว่าเป็นพระโสดาบันพ้นจากการไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป

ในทำนองเดียวกัน ทางด้านทิฏฐินั้นเมื่อมีความเจริญขึ้นโดยได้รับการอุปการะจากมิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสมาธิ จนถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดไม่ได้เพราะยึดในความเห็นผิดของตนไว้อย่างแน่นหนา เวลานั้นทิฏฐิของผู้นั้นก็เข้าถึงความเป็นมิจฉัตตนิยตะ คือมีทิฏฐิที่มีสภาพเป็นความชั่วและให้ผลแน่นอน ฉะนั้น ผู้ที่มีความเห็นผิดชนิดมิจฉัตตนิยตะ ย่อมไม่มีหวังที่จะได้บรรลุมรรคผล สำเร็จเป็นพระอริยะได้กลับจะต้องไปเสวยทุกข์ในอวีจิมหานรก ในเมือตายจากโลกนี้ไปแล้วเป็นเวลานานถึงหมื่นอันตรกัปอย่างแน่นอน เพราะความเห็นผิดชนิดที่เข้าถึงความเป็นมิจฉัตตนิยตะนี้มีโทษร้ายแรงยิ่งกว่าโทษของสังหเภทกกรรม ดังนั้น พระมหาพุทธโฆษาจารย์จึงแสดงไว้ในอังคุตตรอรรถกถา ว่า

“กปฺปวินาเส มหาชเน พฺรหมฺโลเก นิพฺพตฺเตปิ
นิยตมิจฺฉาทิฏฺฐิโก ตตฺถ อนิพฺพตฺติตฺวาปิฏฐิ จกฺกวาเฬ
นิพฺพตฺตติ, กึปน ปิฏฺฐิจกฺกวาฬํ น ฌายตีติ? ฌายติ, ตสฺมึ
ฌายมาเนปิ เอส อากาเส เอกสฺมี โอกาเสปจฺจติเยวาติ
วทนฺติ”

(หน้าที่ 160)

“ท่านอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกและอรรถกถา
กล่าวไว้ว่าเมื่อโลกถูกทำลาย แม้มหาชนทั้งหลาย จะได้ไปเกิดใน
พรหมโลกก็ตาม ส่วนผู้ที่มีนิยตมิจฉาทิฏฐินั้นไม่มีโอกาสได้ไปเกิด
ในพรหมโลก ย่อมไปเกิดในอเวจีมหานรกที่อยู่ในจักรวาลสุดท้าย
คือจักรวาลอันดับที่แสนโกฏินั้นเอง มีปัญหาว่าจักรวาลอันดับ
สุดท้ายนั้นไม่ได้ถูกไฟทำลายด้วยหรือ? แก้ว่าถูกไฟทำลายด้วย
เหมือนกัน แต่เมื่อจักรวาลอันดับสุดท้ายนี้ถูกไฟทำลายแล้ว ผู้ที่
มีนิยติมิจฉาทิฏฐินั้นจะต้องไปเสวยทุกข์ในที่ส่วนใดส่วนหนึ่งบน
ท้องอากาศ”

พระอรรถกถานี้แสดงให้รู้ว่า ในบรรดาโทษของอกุศลต่างๆนั้น โทษที่เกี่ยวกับนิยตมิจฉาทิฏฐิเป็นโทษที่ร้ายแรงที่สุด สมดังที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ในพระบาลีอังคุตตรว่า

“ปรมานิ ภิกฺขเว วชฺชานิ” แปลความว่า “ดูกรภิกษุ
ทั้งหลาย ความเห็นผิดชนิดที่เป็นนิยตมิจฉาทิฏฐินี้มีโทษอันยิ่ง
ใหญ่ที่สุด”

ผู้ที่ถือนิยตมิจฉาทิฏฐิจะมีโอกาสสำเร็จเป็นพระอริยะได้หรือไม่ ? ผู้ถือนิยตมิจฉาทิฏฐินี้ ถ้าไม่ถอนความเห็นผิดของตนออกเสียแล้ว อย่าว่าแต่จะได้สำเร็จเป็นพระอริยเลย แม้แต่เมื่อตายจากโลกนี้แล้วก็ยังไม่มีหวังที่จะเกิดมาเป็นมนุษย์ได้ แต่ถ้าหากว่าผู้นั้นถอนความเห็นผิดออกเสียได้ แล้วหันมาเจริญวิปัสสนาก็ย่อมมีหวังที่จะสำเร็จเป็นพระอริยะได้และเมื่อตายจากโลกนี้แล้วก็มีหวังที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาแล้วแต่การกระทำของตน สมดังพระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้ในพระบาลีมหาปัฏฐานว่า

“อริยา มิจฺฉตฺตนิยเต ปหีเน กิเลเส ปจฺจเวกฺขนฺติ,
ปุพฺเพ สมุทาจิณฺเณ กิเลเส ชานนฺติ, มิจฺฉตฺนิยเต ขนฺเธ
อนิจฺจโต วิปสฺสนฺติ”

“พระอริยเจ้าทั้งหลายที่เคยมีนิยตมิจฉาทิฏฐินี้ ย่อมพิจารณา
กิเลสคือนิยตมิจฉาทิฏฐิที่ตนได้ประหาณไปแล้ว ย่อมเห็นกิเลสคือ

(หน้าที่ 161)

นิยตมิจฉาทิฏฐิที่เคยเกิดมาแล้วในสันดานของตน ย่อมพิจารณา
นิยตมิจฉาทิฏฐิขันธ์ โดยความเป็นอนิจจะ”

มิจฉาทิฏฐิเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ทุจริตทั้ง ๑๐ เกิดขึ้นได้
ธรรมดาผู้ที่มีมิจฉาทิฏฐินั้น ย่อมเป็นผู้ที่ไม่ละอายและหวาดกลัวต่อการทำทุจริตต่างๆ แต่ทุจริตบางอย่างที่จะไม่กล้าทำลงไปนั้นก็เพราะเกรงอำนาจกฎหมายบ้านเมืองเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ดีก็ยังไม่เป็นที่แน่นอนเสมอไป ถ้ามีหนทางหลบหลีกได้ก็กล้าทำเช่นเดียวกัน สำหรับที่ไม่ผิดต่อกฎหมายนั้นก็เป็นอันว่ากระทำได้อย่างเต็มที่ไม่มีการเกรงกลัวแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ความประพฤติของผู้นี้จึงเป็นไปในทางทุจริต มีกายทุจริตบ้าง วจิทุจริตบ้าง มโนทุจริตบ้าง เป็นส่วนมาก บุคคลที่มีมิจฉาทิฏฐินี้ถ้าจะมีการประกอบกุศลกรรมบ้างก็มักจะเกี่ยวเนื่องด้วยการหาชื่อเสียง การสังคม และเกี่ยวกับประโยชน์ส่วนตน เช่น ช่วยสร้างถนน สร้างโรงเรียน ช่วยในการบรรเทาทุกข์ที่ทางการจัดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกุศลของบุคลพวกนี้หาใช่เป็นกุศลอย่างประเสริฐไม่ เป็นเพียงกุศลสามัญเท่านั้น เพราะไม่ได้เป็นไปด้วยอำนาจแห่งกัมมัสสกตญาณ เป็นไปโดยอำนาจแห่งตัณหา มานะทิฏฐิ ฉะนั้น การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ของบุคคลพวกนี้จึงนับว่าเสียที

การเกิดขึ้นของทุจริตต่างๆ โดยอาศัยมโนทุจริตเป็นเหตุ
อภิชฌา เป็นต้นเหตุให้อทินนาทานกาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณวาจา สัมผัปปลาปะ มิจฉาทิฏฐิ เกิดขึ้นได้
พยาบาท เป็นต้นเหตุให้ปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาท ปิสุณวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ เกิดขึ้นได้

มิจฉาทิฏฐิ เป็นต้นเหตุให้ทุจริตทั้ง ๑๐ เกิดขึ้นได้
อธิบายในบาลีข้อที่ ๘ ที่ว่า “อญฺญตฺราปิ วิญฺญตฺติยา มนสฺมี เยว พาหุลุลวุตติโต มโนกมฺมํ นาม”
อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ทั้ง ๓ นี้ ชื่อว่ามโนกรรม เพราะเมื่อยกเว้นจากกายวิญญัติแล้ว ก็เกิดในมโนทวารเท่านั้นเป็นส่วนมาก อธิบายว่าการงานที่เกิดขึ้น

(หน้าที่ 162)

ทางใจได้ชื่อว่ามโนกรรม ดังแสดงวจนัตถะว่า “มนสฺมี ปวตฺตํ กมฺมํ มโนกมฺมํ” กรรมที่เกิดทางใจ ชื่อว่ามโนกรรม ทางใจที่เรียกว่ามโนทวารนั้นมีหลายอย่างคือ

๑. ในวิถีจิตต่างๆนั้น ภวังคจิต ชื่อมโนทวาร เพราะเป็นเหตุให้วิถีจิตเกิด
๒. จิตทั้งหมดชื่อว่ามโนทวาร เพราะจิตที่เกิดก่อนๆ เป็นเหตุให้จิตหลังๆ เกิดขึ้น
๓. อกุศลชวนะและกุศลชวนะ ชื่อว่ามโนทวาร เพราะชวนจิตนี้เป็นเหตุให้มโนกรรมสำเร็จลง ดังที่ท่านฎีกาจารย์แสดงวจนัตถะว่า “มโน เอว ทฺวารนฺติ มโนทฺวารํ” ชวนจิตนั้นแหละเป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของมโนกรรม ฉะนั้น จึงชื่อว่ามโนทวาร สำหรับมโนทุจริตนี้โลภมูล โทสะมูลชวนะที่เกิดพร้อมด้วยอภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่ามโนทวาร ส่วนโมหมูลชวนะในที่นี้ไม่ชื่อว่ามโนทวาร เพราะไม่สามารถเป็นเหตุให้มโนทุจริตทั้ง ๓ เกิดขึ้นได้
ที่ว่าโลภชวนะ และโทสชวนะ ชื่อว่ามโนทวาร คือเป็นเหตุให้มโนทุจริตเกิดนั้นก็เพราะ ในขณะที่อภิชฌาหรือมิจฉาทอิฎฐิเกิดขึ้นนั้น โลภชวนะนี้เป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่โลภะที่เป็นตัวอภิชฌา และทิฏฐิที่เป็นตัวมิจฉาทิฏฐิ ด้วยอำนาจแห่งสหชาตปัจจัย อัญญมิญญปัจจัย นิสสยปัจจัย อัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัย และในขณะที่พยาบาทเกิดขึ้น โทสชวนะเป็นปัจจัยช่วยอุปการะแก่โทสะที่เป็นตัวพยาบาทด้วยอำนาจแห่งสหชาตะ, อัญญมัญญ นิสสยะ, อัตถิ, อวิคตปัจจัย

การช่วยอุปการะของอกุศลชวนะที่ชื่อว่ามโนทวารนี้ แม้ในกายกรรมและวจีกรรมที่เกิดขึ้น ก็ย่อมช่วยอุปการะอยู่ด้วย เช่น ในการทำปาณาติบาต ขณะนั้นก็ได้รับอุปการะจากโทสะชวนะอันเป็นตัวมโนทวารด้วยเหมือนกัน แต่ในการสำเร็จเป็นปาณาติบาตนั้น จะต้องประกอบด้วยกายวิญญัติอันเป็นตัวกายทวาร เพียงแต่โทสชวนะที่เป็นมโนทวารช่วยอุปการะอย่างเดียวนั้น ย่อมไม่สำเร็จเป็นปาณาติบาตได้ ในมุสาวาทก็เป็นไปเช่นเดียวกัน คือต้องมีวจีวิญญัติที่เป็นตัววจีทวารเข้าประกอบด้วยจึงจะสำเร็จเป็นมุสาวาทได้ ลำพังแต่โลภชวนะหรือโทสชวนะอันเป็นมโนทวารช่วยอุปการะอย่างเดียวนั้น ย่อมไม่สำเร็จเป็น ปาณาติบาตได้ ในมุสาวาทก็เป็นไปเช่นเดียวกัน คือต้องมีวจีวิญญัติที่เป็นตัววจีทวารเข้าประกอบด้วยจึงจะสำเร็จเป็นมุสาวาทได้ ลำพังแต่โลภชวนะหรือโทสชวนะอันเป็นมโนทวาร ช่วยอุปการะอย่างเดียวนั้นย่อมไม่สำเร็จเป็นมุสาวาทได้ หมายความว่าอกุศลชวนะที่

(หน้าที่ 163)

เป็นมโนทวารนี้ ย่อมสาธารณะแก่อกุศลกรรมทั่วไป ทั้งที่เป็นกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม แต่สำหรับกายวิญญัติที่เป็นกายทวาร และวจีวิญญัติที่เป็นวจีทวารนั้น ไม่ได้สาธารณะแก่กรรมทั่วไป คงเกี่ยวเนื่องเฉพาะกรรมบางอย่างคือ กายกรรมและวจีกรรมเท่านั้น
ธรรมดาการที่จะตั้งชื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้ปรากฏขึ้นนั้น ก็ต้องอาศัยข้อพิเศษของสิ่งนั้นๆแต่ละอย่าง แล้วจึงตั้งชื่อขึ้นเพื่อมิให้เป็นการปะปนกัน ฉะนั้นกรรมทั้ง ๓ มีปาณาติบาต เป็นต้น ที่ได้ตั้งชื่อว่ากายกรรมก็โดยอาศัยกายทวารเป็นที่เกิดเป็นพิเศษและกรรมทั้ง ๔ มุมุสาวาทเป็นต้น ที่ได้ตั้งชื่อว่าวจีกรรม ก็โดยอาศัยวจีทวารเป็นที่เกิดเป็นพิเศษดังที่ได้ตั้งชื่อมาแล้ว
สำหรับกรรมทั้ง ๓ มีอภิชฌาเป็นต้นเหล่านี้ เกิดขึ้นโดยไม่เกี่ยวข้องกับวิญญัติทั้ง ๒ คือกายทวารและวจีทวารแต่อย่างใด คงเกิดขึ้นเฉพาะในมโนทวารเท่านั้น ฉะนั้น ท่านพระอนุรุทธาจารย์จึงได้แสดงว่า “อญฺญตฺราปิ วิญฺญตฺติยา มนสฺมึ เยว พาหุลฺลวุตฺติโต” เมื่อเว้นจากกายวิญญัติ และวจีวิญญัติแล้ว ย่อมเกิดในมโนทวารเป็นส่วนมาก”

ในข้อนี้เมื่อพิจารณาแล้ว คำว่า “มนสฺมึ เยว พาหุลฺลวุตฺติโต” เท่านี้ก็น่าจะเป็นคำอธิบายโดยสมบูรณ์แล้ว คืออภิชฌาเป็นต้นเหล่านี้ เกิดในมโนทวารเป็นส่วนมาก แต่ถ้าหากใช้เขียนเป็นหนังสือหรือกล่าวด้วยวาจาว่า “สมบัติของผู้นี้ถ้าเราได้มาเป็นของของเราแล้วจะดีมาก” เช่นนี้ก็จัดว่าอภิชฌานี้เกิดในทางกายทวารและวจีทวาร แต่ก็เป็นส่วนน้อย ฉะนั้นอภิชฌาเป็นต้นที่ได้ชื่อว่ามโนกรรมจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นไปเพราะการที่ตั้งชื่อว่ามโนกรรมนี้ก็ตั้งขึ้นโดยตัพพาหุลลนัย คือเกิดในทางมโนทวารเป็นส่วนมาก แต่อย่างไรก็ตามจะใช้กล่าวเพียงว่า “มนสฺมึ เยวพาหุลฺลวุตฺติโต” เท่านี้ก็ยังไม่สละสลวย คือคำกล่าวตอนต้นและตอนปลายยังไม่ตรงกัน เพราะในกายกรรม ๓ กล่าวไว้ว่า “กายวิญฺญตฺติสงฺขาเต กายทฺวาเร พาหุลฺลวุตฺติโต” “ เพราะเกิดในกายทวาร คือ กายวิญญัติเป็นส่วนมาก” ในวจีกรรม ๔ ก็กล่าวไว้ว่า “วจีวิญฺญตฺติสงฺขาเต วจีทฺวาเร พาหุลฺลวุตฺติโต” “เพราะเกิดในวจีทวาร คือวจีวิญญัติเป็นส่วนมาก” แสดงให้เห็นว่ากายกรรมและวจีกรรมเหล่านี้มีค่าวิญญัติประกอบอยู่ ส่วนในมโนกรรม ๓ นั้นควรแสดงให้รู้ว่าไม่เกี่ยวกับวิญญัติรูปแต่อย่างใด ดังนั้นพระอนุรุทธาจารย์จึงใช้คำว่า อญฺญตฺร วิญฺญตฺติยา” “ยกเว้นวิญญัติเสีย”

(หน้าที่ 164)

แต่ในมโนกรรมทั้ง ๓ นี้ จะยกเว้นจากวิญญัติเสมอไปก็หามิได้ เพราะบางที่ก็ประกอบ ด้วยวิญญัติอยู่ด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นเพื่อแสดงให้รู้ถึงความเป็นไปเช่นนี้ พระอนุรุทธษจารย์ จึงใช้คำว่า “อปิ” ประกอบในบท “อญฺญตฺร” ว่า “อญฺญตฺราปิ” หมายถึงยกเว้นวิญญัติเสียแล้วก็เกิดในมโนทวารก็มี หรือไม่ยกเว้นวิญญัติ คือประกอบด้วยวิญญัติก็เกิดในมโนทวารก็มี

มโนกรรม ๓ ที่บางขณะก็เป็นบริวารของเจตนต่างๆ
มีวธกเจตนา และ เถยฺยเจตนา เป็นต้น
ในขณะที่กำลังฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์อยู่นั้น อภิชฌา พยาบาท มิจฉาทิฏฐิ ก็ย่อมประกอบด้วย สำหรับมิจฉาทิฎฐินั้นไม่แน่ เช่น ในขณะที่กำลังลักทรัพย์ของผู้อื่นอยู่นั้น โลภะอันเป็นตัวอภิชฌาก็ประกอบอยู่ด้วย ถ้าผู้นั้นมีความเห็นว่าการลักทรัพย์นี้ไม่มีโทษเช่นนี้แล้ว ทิฏฐิอันเป็นตัวมิจฉาทิฏฐิก็ประกอบอยู่ด้วย ในขณะนั้นอทินนาทานย่อมก้าวล่วงกรรมบถ ส่วนอภิชฌากับมิจฉาทิฏฐิไม่จัดว่าก้าวล่วงกรรมบถ คงเป็นแต่เพียงบริวารของเถยยเจตนาเท่านั้น

ในขณะที่กำลังฆ่าสัตว์ โทสะอันเป็นตัวพยาบาทก็ประกอบอยู่ด้วย ถ้าผู้นั้นมีความเห็นว่า การฆ่าสัตว์นี้ไม่มีโทษเช่นนี้แล้ว ทิฏฐิอันเป็นตัวมิจฉาทิฏฐิก็ประกอบอยู่ด้วยในขณะนั้น ปาณาติบาตย่อมก้าวล่วงกรรมบถ ส่วนพยาบาตรกับมิจฉาทิฏฐิไม่จัดว่าก้าวล่วงกรรมบถ คงเป็นแต่เพียงบริวารของวธกเจตนาเท่านั้น ในขณะที่ผิดกาเม มุสา เป็นต้นนั้น มโนกรรม ๓ ก็ย่อมประกอบไปด้วยตามสมควร แต่ก็คงเป็นเพียงบริวารของเตนากรรมนั้นๆเท่านั้น ไม่ใช่ก้าวล่วงกรรมบถโดยเฉพาะ






Create Date : 26 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2554 4:29:46 น. 1 comments
Counter : 6613 Pageviews.

 
อนุโมทนาครับ


โดย: โชติช่วงชัชวาล วันที่: 26 พฤศจิกายน 2554 เวลา:10:54:47 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ชาวมหาวิหาร
Location :
Germany

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Thepathofpurity.com
Friends' blogs
[Add ชาวมหาวิหาร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.