นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
Group Blog
 
All blogs
 
มรณุปปัตติจตุกกะ - ความตาย ๔ ประการ

(ที่มา ปรมัตถโชติกะ มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา วิถีมุตตสังคหะ)

----------------------------------------------------------

มรณุปปัตติจตุกกะ
ความตาย ๔ ประการ
บาลีอภิธัมมัตถสังคหะ และคำแปลเพื่อท่องจำ


๑. อายุกฺขเย กมฺมกฺขเยน อุภยกฺขเยน อุปจฺเฉทกกมฺมุนา เจติ จตุธา มรณุปฺปตฺติ นาม ฯ

ชื่อว่ามรณุปปัตติ คือเหตุที่ให้ความตายปรากฏขึ้น มี ๔ อย่างคือ

๑. อายุกขยมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุ
๒. กัมมักขยมรณะ ตายเพราะสิ้นกรรม
๓. อุภยักขกมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุและสิ้นกรรม
๔. อุปปัจเฉทกมรณะ ตายเพราะกรรมเข้าไปตัดรอน

----------------------------------------------------------

(หน้า 268 - 275)

อธิบายขยายความมรณุปปัตติจตุกกะ
ตามบาลีอภิธัมมัตถสังคหะตามลำดับ

อธิบายตามบาลีข้อที่ ๑ แสดงความตาย ๔ ประการ คำว่า มรณุปฺปตฺติจตุกฺก เมื่อแยกบทแล้วได้ ๓ บท คือ มรณ + อุปฺปตฺติ + จตุกฺก มรณ = ความตาย, อุปฺปตฺติ = การเกิดขึ้น, จตุกฺก = เมื่อรวมแล้วเป็น มรณุปฺปตฺติจตุกฺก แปลว่าการเกิดขึ้นแห่งความตายมี ๔ อย่าง หมายถึงเหตุที่ให้ความตายเกิดขึ้น ๔ อย่างนั้นเอง ดังแสดงวจนัตถะว่า
“มรณสฺส อุปฺปตฺติ = มรณุปฺปตฺติ” ความเป็นไปแห่งความตาย ชื่อว่ามรณุปปัตติ “จตุนุนํ สมาหาโร = จตุกฺกํ” การรวมของ ๔ อย่างชื่อว่าจตุกกะ เหตุที่ให้ความตายปรากฏขึ้น ๔ อย่างนั้นคือ

๑. อายุกฺขย เพราะสิ้นอายุ
๒. กมฺมกฺขย เพราะสิ้นกรรม
๓. อุภยกฺขย เพราะสิ้นอายุและสิ้นกรรมทั้งสอง
๔. อุปจเฉทก เพราะประสบอุปัทวเหตุ อายุและกรรมยังไม่สิ้น

ถ้าจะอุปมาเปรียบเทียบการตายของสัตว์ทั้งหลายแล้ว ก็เหมือนหนึ่งดวงประทีปที่จุดตามไว้ ดวงประทีปนี้ย่อมจะดับลงด้วยเหตุ ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือดับลงด้วยไส้หมดอย่างหนึ่ง ดับลงด้วยน้ำมันหมดอย่างหนึ่ง ดับลงด้วยไส้และน้ำมันทั้งสองหมดอย่างหนึ่ง ดับลงด้วยถูกลมพัดหรือถูกเป่าให้ดับอย่างหนึ่ง ดวงประทีปนั้นเปรียบเหมือนชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ความดับของดวงประทีปนั้นเปรียบเหมือนความดับของชีวิตที่สิ้นสุดลง เฉพาะภพหนึ่งๆ ฉะนั้นผู้ที่สิ้นชีวิตลงเพราะหมดอายุขัย ก็เหมือนกับดวงประทีปที่ดับลงโดยเนื่องจากไส้หมดแต่น้ำมันยังอยู่ ผู้ที่สิ้นชีวิตลงโดยหมดกรรมนั้นก็เหมือนกับดวงประทีป ที่ดับลงโดยเนื่องจากน้ำมันหมดแต่ไส้ยังอยู่ ผู้ที่สิ้นชีวิตลงโดยทั้งหมดอายุ และกรรมนั้นก็เหมือนดวงประทีปที่ดับลงโดยเนื่องจากไส้และน้ำมันหมดทั้งสองอย่าง ผู้ที่สิ้นชีวิตลงโดยประสบกับอุปัทวเหตุต่างๆนั้นก็เหมือนกับดวงประทีปที่ดับลงโดยเนื่องจากถูกลมพัด หรือถูกเป่าให้ดับโดยที่ไส้และนำมันยังอยู่


๑. อายุกฺขยมรณ แสดงวจนัตถะว่า “อายุโน ขยํ อายุกฺขยํ” ความสิ้นแห่งอายุขัย ชื่อว่าอายุกขยะ “อายุกฺขเยน มรณํ อายุกฺขยมรณํ” ความตายเพราะสิ้นอายุขัย ชื่อว่าอายุกขยมรณะ

คำว่า “อายุ” เมื่อว่าโดยมุขยนัย คือนัยโดยตรงแล้ว ได้แก่ชีวิตรูป แต่ในที่นี้ “อายุ” มุ่งหมายเอาอายุขัยซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตแห่งการตั้งอยู่ของชีวิตรูปนี้เป็นการแสดงโดยฐานยูปจารนัย คือนัยโดยอ้อม เช่น พวกพรหมก็ดี เทวดาก็ดี ต่างก็มีกำหนดขอบเขตอายุขัยของตนๆไปตามภูมิที่ตนเกิดอยู่ สำหรับมนุษย์ในชมพูทวีปนั้นกำหนดอายุขัยย่อมมีขึ้นๆลงๆ ไม่แน่นอน เมื่อเวลาขัยขึ้นก็ขึ้นสูงไปจนถึงอสงไขยปี เมื่อเวลาขัยลงก็ลงต่ำไปจนถึง ๑๐ ปี เป็นอายุขัย ดังมีแสดงไว้โดยพิสดารในปฏิสนธิจตุกกะ สำหรับในปัจจุบันนี้ ๗๕ ปี เป็นอายุขัย ดังนั้นสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้แม้ว่าอำนาจกรรมยังมีอยู่แต่เมื่อครบอายุขัยแล้วก็ตายไปเป็นส่วนมาก ผู้ที่มีอายุยืนเกิดนกว่าอายุขัยที่กำหนดไว้นั้นก็มีบ้าง แต่หาได้ยาก ท่านเหล่านั้นต้องมีอดีตกรรมที่เกี่ยวกับการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ช่วยอุปถัมภ์ชีวิตและร่างกายให้ดำรงอยู่ได้นานเป็นพิเศษหรือมิฉะนั้นอำนาจแห่งชนกกรรมก็ยังมีกำลังอยู่ และมีปัจจุบันกรรมฝ่ายดี คือการรักษาศีล ๕ ไว้ได้บริสุทธิ์หรือมีการรักษาสุขภาพอนามัยไว้ได้อย่างดี เหตุต่างๆเหล่านี้แหละที่ช่วยให้ผู้นั้นมีอายุอยู่ได้นานจนเกิดอายุขัย ดังในปัจจุบันนี้ผู้ที่มีอายุยืนถึง ๙๐ ปี กว่าก็ยังมีปรากฏอยู่ และในสมัยพุทธกาล นั้นกำหนดอายุขัยตั้งไว้ ๑๐๐ ปี แต่ผู้ที่มีอายุยืนกว่า ๑๐๐ ปี ก็มีอยู่หลายท่าน เช่นพระอานนท์ พระมหากัสสป นางวิสาขา เหล่านี้มีอายุยืนได้ ๑๒๐ ปี พระพากูลเถระมีอายุได้ ๑๖๐ ปี แต่อย่างไรก็ตาม ย่อมไม่ถึง ๒ เท่าของอายุขัยที่กำหนดไว้ในสมัยนั้นๆ



๒. กมฺมกฺขยมรณ แสดงวจนัตถะว่า “กมฺมสฺส ขโย = กมฺมกฺขโย” ความสิ้นสุกแห่งกรรม ชื่อว่ากัมมักขยะ “กมฺมกฺขเยน มรณํ = กมฺมกฺขยมรณํ” การตายเพราะสิ้นสุดแห่งกรรม ชื่อว่ากัมมักขยมรณะ
คำว่า กรรม ในที่นี้หมายถึงชนกกรรม ที่มีหน้าที่ส่งผลให้เกิดปฏิสนธิในภพนั้นๆและอุปถัมภกกรรม ที่มีหน้าที่ช่วยอุดหนุนให้รูปนามที่เกิดจากชนกกรรมให้ตั้งอยู่ได้ในภพนั้นๆ การสิ้นสุดแห่งกรรมทั้งสองดังกล่าวนี้แหละ ชื่อว่ากัมมักขยะ ฉะนั้นผู้ที่เกิดมาโดยมีอำนาจของกรรมทั้งสองนี้ ตั้งอยู่ได้เพียง ๑ เดือนบ้าง ๑ ปีหรือ ๕ ปี ๑๐ ปี เป็นต้นบ้าง


แต่คงตั้งอยู่ได้ ไม่ถึงกำหนดอายุขัยของผู้นั้น เป็นเหตุให้ผู้นั้นตายลงในขณะที่มีอายุได้เพียง ๑ เดือนบ้าง ๑ ปี ๕ ปี ๑๐ ปี เป็นต้นบ้าง เหล่านี้ย่อมกล่าวได้ว่าเป็นการตายโดยความสิ้นสุดแห่งกรรม เรียกว่ากัมมักขยมรณะ ซึ่งเหมือนกับดวงไฟที่หมดน้ำมันแม้ว่าไส้ยังมีอยู่ก็ตาม แต่แสงไฟนั้นต้องดับลง อนึ่งการแสดงถึงความตายของพวกเทวดาและพรหมที่ใช้ว่าปุญญักขยมรณะนั้น ก็มุ่งหมายถึงกัมมักขยมรณะนั้นเอง



๓. อุภยกฺขยมรณ แสดงวจนัตถะว่า “อุภเยสํ ขโย = อุภยกฺขโย” ความสิ้นสุดแห่งอายุและกรรมทั้ง ๒ ชื่อว่าอุภยักขยะ “อุภยกฺขเยน มรณํ = อุภยกฺขยมรณํ” การตายเพราะสิ้นสุดแห่งอายุและกรรมทั้ง ๒ ชื่อว่าอุภยักขยมรณะ
ความตายชนิดนี้ก็หมายถึง ผู้ตายนั้นมีอายุยืนได้จนกระทั่งครบอายุขัยและอำนาจของกุสลชนกกรรม หรืออกุศลชนกกรรม ก็พอดีหมดลงพร้อมกับความสิ้นสุดแห่งอายุซึ่งเปรียบเหมือนกับดวงไฟที่ดับลงอันเนื่องมาจากไส้และน้ำมันหมดลงพร้อมกัน ตัวอย่างเช่นผู้ที่เกิดมาในสมัยที่กำหนดอายุ ๓๕ ปี เป็นอายุขัย และอำนาจแห่งกุศลชนกกรรมของผู้นั้นก็มีอำนาจอยู่ได้ ๗๕ ปี เช่นเดียวกัน เอผู้นั้นมีอายุอยู่จนถึง ๗๕ ปี แล้วตายลง ก็กล่าวได้ว่าความตายของผู้นั้นเป็นอุภยักขยมรณะ แม้พวกสัตว์ในอบายภูมิที่เกิดมาจากอำนาจอกุศลชนกกรรมก็เช่นเดียวกัน เช่น อายุขัยของสุนัขมีกำหนดได้ประมาณ ๑๐ ถึง ๑๒ ปี และสุนัขที่เกิดมานั้นมีอำนาจอกุศลชนกกรรมอยู่ได้ ๑๐ ถึง ๑๒ ปี ดังนั้นถ้าสุนัขตัวนี้ตายลงเมื่อมีอายุ ๑๐ ถึง ๑๒ ปีแล้ว ก็กล่าวได้ว่าการตายของสุนัขตัวนี้เป็นอุภยักขยมรณะ



๔. อุปจฺเฉทกมรณ แสดงวจนัตถะว่า “อุปจฺฉินฺทตีติ อุปจฺเฉทกํ” กรรมอันใดย่อมเข้าไปตัดวิบากและกัมมชรูป ที่เกิดจากชนกกรรม ฉะนั้นกรรมนั้นชื่อว่าอุปัจเฉทกะ ได้แก่อกุศลกรรม ๑๒ มหากุศลกรรม ๘ อรหัตตมรรคกรรม ๑ “อุปจฺเฉทกกมฺมุนา มรรํ อุปจฺเฉทกมรณํ” การตายเพราะกรรมเข้าไปตัดวิบากและกัมมชรูป ชื่อว่าอุปัจเฉทกมรณะ
ผู้ที่มีอายุยังไม่เข้าถึงขีดอายุขัย และอำนาจของชนกกรมก็ยังไม่หมด แต่ด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมที่ได้ทำมาแล้วในภพก่อน หรือภพนี้เข้ามาตัดรอนให้ผู้นั้นตายลงเสียก่อน ซึ่งเปรียบเหมือนดวงไฟที่ไส้ก็ยังอยู่ น้ำมันก็ยังไม่หมด แต่ไฟนั้นดับลงด้วยเหตุอย่างอื่น มีถูกลงพัด ถูกน้ำ หรือถูกสิ่งหนึ่งสิ่งใดล้มทับเป็นต้น ชื่อว่า อุปัจเฉทกมรณะ


ความตายทั้ง ๔ อย่างดังกล่าวมานี้ ผู้ที่ตายโดยอายุกขยมรณะ กัมมักขยมรณะ อุภยักขยมรณะ ทั้ง ๓ นี้ ชื่อว่ากาลมรณะ เพราะเป็นการตายชนิดที่ถึงเวลาแล้ว ส่วนผู้ที่ตายโดยอุปัจเฉทกมรณะ ชื่อว่ากาลมรณะ เพราะเป็นการตายที่ยังไม่ถึงเวลา ความตายชนิดที่เป็นอกาลมรณะนี้มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน คือ

๑. ชิฆจฺฉาย ปิปาสาย อหิทฏฺฐา วิเสน จ
อคฺคิอุทฺธกสตฺตีหิ อกาเล ตตฺถ มียติ ฯ

๒. วาตปิตฺเตหิ เสมฺเหน สนฺนิปาตอุตูหิ จ
วิสโมปกฺกมกมฺเมหิ อกาเล ตตฺถ มียติ ฯ


๑. “ย่อมตายลงในสมัยที่ยังไม่ถึงเวลา เพราะหิวข้าว กระหายน้ำ ถูกงูกัด ถูกวางยา ถูกไฟไหม้ จมน้ำ ถูกอาวุธก็มี

๒. ย่อมตายลงในสมัยที่ยังไม่ถึงเวลา เพราะโรคลม ดีพิการ โรคเกี่ยวกับเสมหะ โรคสันนิบาต ที่เกี่ยวกับลม ดี เสมหะ ๒ อย่าง หรือ ๓ อย่างพิการพร้อมกัน โรคเกี่ยวกับอากาศ หรืออุปัจเฉทกกรรม โดยการปฏิบัติตนไม่สม่ำเสมอ ผิดอนามัยโดยความพยายาม ของตนเองและของคนอื่น”


แม้จะอาศัยเหตุต่างๆ ที่ทำให้ตายลงในขณะที่ยังไม่ถึงเวลาดังที่กล่าวมาแล้วนี้ก็ตามแต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว ความตายเหล่านี้ย่อมจะเว้นเสียจากอดีตกรรมไม่ได้เลย หมายความว่าจะต้องมีอดีตกรรมเป็นผู้อุดหนุน และมีเหตุในปัจจุบันเป็นผู้จัดการ ดังที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในสังยุตตพระบาลีว่า

“อิธ มหาราช โย ปุพฺเพ ปเร ชิฆจฺฉาย มาเรติ, โส พหูนิ วสฺสสตสหสฺสานิ ชิฆจฺฉาย ปีฬิโต ฉาโต ฯลฯ ชิฆจฺฉาเยว มรติ ทหโรปิ มชฺฌิโมปิ มหลฺลดกปิ”

ดูกรมหาราช ในโลกนี้ผู้ใดเคยทำให้ผู้อื่นตายลงด้วยการอดข้าว ผู้นั้นแม้ยังอยู่ในวัยเด็กก็ตาม วัยหนุ่มสาวก็ตาม วัยแก่ก็ตาม ย่อมได้รับการเบียดเบียนด้วยการอดข้าว และตายลงด้วยการหิวข้าวนั้นเอง เป็นดังนี้ตลอดแสนชาติ” และผู้ที่เคยทำให้ผู้อื่นตายลงด้วยการวางยาพิษ เอาไฟเผา ถ่วงน้ำ ห่าโดยใช้อาวุธ เหล่านี้เป็นต้น ผู้นั้นก็ย่อมตายด้วยการอดน้ำ ถูกงูกัด ถูกวางยา ถูกไฟคลอก จมน้ำ ถูกอาวุธ เช่นเดียวกัน และย่อมแสดงให้เห็นว่าอกาลมรณะเหล่านั้น จะเว้นเสียจากอดีกรรมไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ท่านพระอาจารย์ทั้งหลายที่ทรงคุณวุฒิจึงลงความเห็นพร้อมกันว่า ความตายที่เป็นอกาลมรณะเหล่านี้ ตายเพราะอุปัจเฉทกกรรม


โรคสันนิบาต คือโรคที่เกี่ยวกับลม ดี เสมหะ ทั้ง ๓ อย่าง หรือ ๒ อย่างนี้มีอาการวิปริตไป นี้แหละชื่อว่าเป็นโรคสันนิบาต โรคเกี่ยวกับอากาศที่ชื่อว่าอุตุชโรคก็ดี โรคที่เกี่ยวกับอาหารที่ชื่อว่าอาหารชโรคก็ดี โรคที่เกี่ยวกับจิตที่ชื่อว่าจิตตชโรคก็ดี โรคที่เกี่ยวกับจิตที่ชื่อว่าจิตตชโรคก็ดี โรคที่เกี่ยวกับกรรมที่ชื่อว่ากัมมชโรคก้ดีเหล่านี้ ก็ต้องมีอาการเสียของจำพวกลง ดี เสมหะ เข้าแทรกอยู่ด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ชื่อว่าโรคสันนิบาต สำหรับโรคที่ไม่เกี่ยวกับอากาศหรืออาหาร หรือจิต หรือกรรม เป็นแต่อาการเสียของพวกลม ดี เสมหะ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ ๒ อย่าง ๓ อย่างเหล่านี้ก็มีชื่อเรียกว่าโรคนั้นๆ ว่า โรคลม โรคดี โรคเสมหะ โรคสันนิบาต


คำว่า “วิสโมปกฺกม” ในคาถาบทที่ ๒ นี้ เป็น ๒ บทรวมกัน คือวิสมอุปกฺกมบทหนึ่ง วิสม= การปฏิบัติตนไม่สม่ำเสมอ ไม่ถูกอนามัย อุปกฺกม = ความพยามของตนเอง หรือของคนอื่น การปฏิบัติตนไม่สม่ำเสมอ ไม่ถูกอนามัย ชื่อว่า “วิสม” นั้นคือโบราณท่านกล่าวว่า “ปัญญาเป็นผู้รักษาชีวิต” แต่ผู้นั้นไม่มีปัญญาที่จะรักษาร่างกายให้สม่ำเสมอให้มีชีวิตยืนยาวอยู่ได้จนตลอดอายุขัยนั้นเอง การที่สัตว์ทั้งหลายมีสุขภาพดี อายุยืนนั้นจะอาศัยแต่อดีตกรรม คือกรรมเก่าอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นจะต้องมีการบำรุงรักษาร่างกายด้วยอาหารและยา พร้อมกับการบริหารอิริยาบถใหญ่ให้เป็นไปอย่างสม่ำเสมออีกด้วย จึงจะช่วยทำให้มีสุขภาพดี มีอายุยืนยาวอยู่จนตลอดอายุขัยไปได้ เพราะว่าสัตว์ที่มีมูลกรรม คือกรรมก่อให้เกิดมีกำลังมั่นคงจนมิอาจที่จะทำสิ่งใดๆจะมาทำลายล้างชีวิตให้ตายลงโดยยังไม่ถึงซึ่งอายุขัยนั้นเป็นการหาได้ยากยิ่ง แม้ว่ามีบ้างก็แต่เพียงเล็กน้อย กล่าวคือหนึ่งในจำนวนแสน จำนวนล้านเท่านั้น ฉะนั้น ความตายของคนทั้งหลายทั่วไปที่ยังไม่ถึงซึ่งอายุขัยนั้น ก็เพราะเนื่องมาจากไม่มีการบำรุงรักษาร่างกาย ไม่ผลัดเปลี่ยนอริยบถใหญ่ให้เป็นไปโดยสม่ำเสมอ ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมด้วยอำนาจกิเลส คือความพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง ไม่รู้ไม่เข้าใจโดยคิดไม่ถึงบ้าง ซึ่งเป็นความตายที่มีอยู่มากทีเดียว
ความพยายามของตนเองหรือของคนอื่นชื่อว่า “อุปกฺกม” นั้น สำหรับความพยายามของตนเอง เช่น ทำการผูกคอ ยิง กระโดดน้ำ อดข้าว กินยาพิษ สำหรับความพยายาม
ของคนอื่นนั้น เช่น ถูกศัตรูฆ่าตาย ถูกสัตว์ทำอันตรายจนถึงแก่ความตาย บางทีก็ถูกเทวดาลงโทษจนถุงตายบ้าง จับกินบ้าง กล่าวคือร่างกายของคนทั้งหลายและสถานที่อาศัยต้นไม้ ภูเขา ตลอดจนถึงหมู่บ้าน จังหวัด ประเทศ เหล่านี้ ล้วนแต่มีเทวดาดูแลปกปักรักษาคอยอำนวยความสุขอยู่ทุกเมื่อ ดังนั้นเมื่อคนทั้งหลายไม่ได้ทำการแผ่ส่วนบุญ แผ่เมตาให้แก่เทวดา ทั้งตนเองก(ยังประพฤติไปแต่ในทางทุจริตทุราชีพอยู่เป็นนิจอีก จนกระทั่งทำให้เทวดาทั้งหลายเหล่านั้นเกิดความไม่พอใจขึ้น เทวดาเหล่านั้นก็เลิกการดูแลปกปักรักษาปล่อยให้ภูตผีปีศาจที่ดุร้ายได้โอกาสเข้ามาทำการเบียดเบียนประทุษร้ายร่างกาย ชีวิตทรัพย์สมบัติของคนเหล่านั้นให้ถึงซึ่งความพินาศโดยนานาประการ หรือมิฉะนั้นเทวดาที่รักษาบุคคลและสถานที่เป็นต้นนั้นแหละทำการลงโทษเสียเอง ถ้าคนทั้งหลายมีการแผ่ส่วนบุญ แผ่เมตาให้พวกเทวดาทั้งหลายเหล่านั้นทั้งตนเองก็มีความประพฤติดี มีศีลธรรมประจำอยู่เป็นนิจทำให้เทวดาเกิดความรักใคร่พอใจในตน เทวดาทั้งหลายต่างพากันเฝ้าคอยดูแลรักษาชนทั้งหลายเหล่านั้นให้ได้รับความสุขสบาย มิให้มีภัยอันตรายใดๆ เข้ามาเบียดเบียนได้

ใน ๒ ประเภทนี้ ภัยต่างๆเกิดขึ้นเบียดเบียน โดยเนื่องมาจากเทวดามิได้ทำการดูแลรักษานั้น ความเป็นไปดังนี้ บุคคล หมู่บ้าน จังหวัด เป็นต้นใดๆ เทวดาปล่อยปละละเลยจากการดุแลรักษาแล้ว เทวดาที่โหดร้ายต่างๆทั้งหลายก็ได้โอกาสเข้าไปเที่ยวจับกินได้ตามความพอใจของตน โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่อสิ่งใดๆทั้งสิ้น และเทวดาที่มีใจผูกพยาบาทอยู่แต่เมื่อครั้งภพก่อนๆ ก็ได้โอกาสเข้าไปประทุษร้ายเบียดเบียนได้อีก ส่วนเทวดายักษ์ที่เป็นรากษสอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ทะเล มหาสมุทร เมื่อเห็นเรือแพใหญ่น้อยสัญจรไปมาล่มลง ต่างก็พากันจำแลงตัวเป็นปลาใหญ่บ้าง จระเข้ พระยานาคบ้าง มาจับบุคคลเหล่านั้นกิน ทุกรากษสที่อาศัยอยู่ที่สระโบกขรณีในป่าลึกและฉายารากษสที่อาศัยอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่อันท้าวมหาราชทั้ง ๔ อนุญาตให้จับสัตว์ที่ลงไปในสระโบกขรณี หรือล่วงล้ำเข้าไปภายใต้บริเวณร่มเงาของต้นไม้ใหญ่กินได้นั้น ยักษ์เหล่านั้นก็ได้โอกาสทำการล่อลวงผู้ที่ไม่มีเทวดาคุ้มครองดูแลรักษาให้ผ่านเข้าไปภายในบริเวณของตนแล้วก็จับกินได้โดยง่ายเทวดาที่โหดร้ายอีก ๒ จำพวก คือกุมภัณฑเทวดาที่อาศัยอยู่ที่ชานบันไดเวียนชั้นที่ ๓ ของภูเขาสิเนรุก็ดี นาคเทวดาที่อาศัยอยู่ใต้พื้นแผ่นดินและใต้พื้นน้ำมหาสมุทรก็ดี นอกจากนี้แล้วยังมีภูตผีปีศาจอีกเป็นอันมากซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่คอยหาโอกาส หาทางที่จะเข้าทำการแสวงหาจับบุคคลที่ไม่มีเทวดาดูแลรักษานั้นมากิน คันทัพพเทวดาที่อาศัยอยู่ในเนื้อไม้ก็ได้โอกาสทำการหลอกหลอนเบียดเบียนต่างๆนานา ให้เกิดการหวาดเสียวสะดุ้งกลัวจนกลายเป็นคนเสียสติไป ผู้ใดผู้หนึ่งตายลงด้วยการถูกเทวดา ยักษ์ กุมภัณฑ์ นาค ที่เป็นเทวดาโหดร้ายและภูตผีปีศาจต่างๆเบียดเบียนประทุษร้ายจับกิน ดังกล่าวนี้เป็นการตายที่เนื่องมาจากความพยายามของผู้อื่น


สำหรับผู้ที่ตั้งอยู่ในความสุจริตคิดอยู่แต่ในเรื่องบุญกุศล แผ่ส่วนบุญ แผ่เมตาให้แก่เทวดาทั้งหลายอยู่เป็นนิจนั้น เทวดาเหล่านั้นก็จะมีใจรักใคร่คอยดูแลรักษามิให้เทวดาโหดร้ายภูตผีปีศาจต่างๆเข้ามารบกวนกระทำอันตรายได้ เมื่อมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น หรือมีมนุษย์อันธพาลมาทำร้ายก็ช่วยเหลือป้องกันเอาไว้ให้พ้นจากอันตรายได้อย่างน่าประหลาด ถ้าผู้ปกครองประเทศ หรือผู้มีอำนาจทำการเบียดเบียนทำร้ายต่อบุคคลที่มีเทวดารักใคร่คุ้มครองดูแลรักษาแล้ว เป็นที่แน่ทีเดียวว่าย่อมต้องถูเทวดาที่รักใคร่ในตัวบุคคลเหล่านั้นลงโทษได้รับความพินาศเฉพาะตัว หรือมิฉะนั้นก็ทั้งบ้าน ทั้งคณะ ทั้งเมือง ทั้งประเทศ ผู้ที่ไม่มีเทวดารักใคร่คอยดูแลรักษาถูกเทวดาโหดร้าย และภูตผีปีศาจกระทำอันตรายก็ดีผู้ที่มีเทวดารักใคร่คอยดูแลรักษาช่วยให้พ้นจากภัยธรรมชาติและพ้นจากมนุษย์อันธพาลทำร้าย และเมื่อถูกผู้ปกครองประเทศหรือผู้มีอำนาจทำการเบียดเบียนลงโทษแล้ว ก็มีเทวดามาลงโทษแก่ผู้นั้น คณะนั้น ให้ได้รับความพินาศก็ดี ทั้งหมดนี้ความปรากฏแจ้งมี อยู่ในพุทธวจนะและอรรถกถา มีชาดกเป็นต้น


ฉะนั้น เมื่อได้พิจารณาถึงการตายของชนปัจจุบันก็จะพึงเห็นได้ว่าเป็นการตายด้วยความพยายามของตนเองและความพยายามของผู้อื่นมีเทวดา เป็นต้นนี้มีอยู่อย่างมากหลาย แต่กระนั้นผู้ตายและผู้ที่อยู่ภายหลังก็หาได้รู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดความตายทั้ง ๒ ประการนี้ตามความเป็นจริงแต่ประการไม่ได้ ดังนั้นเมื่อจะทำการห่าตัวตาย หรือเห็นคนอื่นฆ่าตัวตายก็มักจะคิดเห็นหรือเข้าใจไปว่า สามีไม่ดี ภรรยาไม่ดี ค้าขายขาดทุน โรคภัยเบียดเบียนทรมาน เหตุการณ์บ้านเมืองบีบคั้น แต่ที่แท้จริงนั้นผู้ทีฆ่าตัวตายเหล่านี้ล้วนแต่เนื่องมาจากปัจจุบันกรรม คือการกระทำของตนในภพนี้อันเนื่องมาจากกิเลสที่เกิดขึ้นครอบงำฝ่ายเดียวไม่มีอินทรีย์ และพละที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ฉะนั้น ถ้าหากจิตใจนั้นได้มีศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๔ ซึ่งเป็นตัวอินทรีย์และพละที่เข้าถึงความแก่กล้าเป็นอย่างดี เข้ามาทำการแทนที่กิเลสได้แล้ว การห่าตัวเองก็จะมีขึ้นไม่ได้ แต่จะกลับเปลี่ยนไปเป็นนักปริยัติหรือปฏิบัติ นักบวช เป็นต้น อันเป็นความสวัสดีและประเสริฐ ที่ได้บังเกิดขึ้นแก่ตน ทั้งจะเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลอื่นอีกด้วย บุคคลโดยมากเมื่อมีภัยต่างๆ เกิดขึ้นแก่ตนหรือเห็นคนอื่นได้รับภัยต่างๆ ก็ไม่มีการคิดนึกถึงปัจจุบันกรรม คือการกระทำของตน และการกระทำของผู้ตายที่เป็นไปแต่ในทางทุจริตทุราชีพอยู่เป็นนิจแต่อย่างใดไม่ คงกลับคิดเห็นเป็นไปในทางด้านภายนอกว่าถูกโจรภัย อุทกภัย อัคคีภัย ราชภัย วาตภัย คือภัยที่เกิดจากสัตว์ร้าย มีงู เสือ เป็นต้น การที่เป็นไปดังนี้ก็เพราะมิได้รับการศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยนับปริยัติหรือปฏิบัตินั้นเอง



วินิจฉัยเพิ่มเติมในเรื่องอุปัจเฉทกมรณะ
ที่ท่านผู้รจนาวิภาวนีฏีกาแสดงไว้

อิทํ ปน เนรยิกานํ อุตฺตรกุรุวาสีนํ เกสญฺจิ เทวานญฺจ น โหติ (มาในวิภาวนีฏีกา)

“ความตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะนี้ ย่มไม่มีแก่สัตว์ที่เกิดอยู่ในนิรยภูมิอุตตรกุรุทวีป และเทวดาบางพวกที่นอกจากภุมมัฏฺฐเทวดา”

ที่ท่านวิภาวนีฏีกาจารย์กล่าวดังนี้นั้นคงเป็นไปได้เฉพาะแต่ในอุตตรกุรุทวีปเท่านั้นสำหรับนิรยภูมิและเทวดาบางพวกที่นอกจากภุมมัฏฐเทวดานั้น อุปัจเฉทกมรณะมีได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้ อุปัจเฉทกมรณะในนิรยภูมิ เมื่อสัตว์นรกทั้งหลายได้ถูกพยายมราชสอบถามเพื่อแก่การช่วยเหลืออยู่นั้น สัตว์นรกนั้นก็ได้สติระลึกนึกถึงกุศลที่ตนได้เคยกระทำไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่ได้ก็ตายลงในทันที แล้วไปบังเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาต่อไปนี้เป็นการตายโดยกุศลอุปัจเฉทกมรณะ คือกุศลกรรมตัดรูปนาม ที่เกิดจากอกุศลกรรมให้ตายลง

อุปัจเฉทกมรณะในเทวภูมิ ภุมมัฏฐเทวดาเด็กน้อยอาศัยอยู่ที่ต้นไม้ ภิกษุตัดต้นไม้นั้นได้ฟันถูกเด็กน้อยตาย ดังมีเรื่องแจ้งอยู่ในภูตคามสิกขาบทแห่งพระวินัย ดังนั้นเมื่อท่านวิภาวินีฏีกาจารย์มุ่งหมายถึงเรื่องนี้แล้วจึงกล่าวว่า “เกสญฺจิ” ไม่กล่าวถึงเทวดาทั่วไป คือมีการยกเว้น การยกเว้นของท่านวิภาวนีฏีกาจารย์นี้ ถ้ามุ่งหมายเอาเฉพาะแต่ภุมมัฏฐเทวดาดังที่กล่าวแล้วนี้ก็ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังมีเทวดาอื่นๆ อีกที่ตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะ เช่น เทวดาบางองค์ที่มัวไปเพลิดเพลินอยู่ด้วยความสนุกสนานจนกระทั่งลืมการบริโภค ต่อรู้สึกว่าหิวจังได้รีบบริโภค แต่ก็ไม่ทันเพราะปาจกเตโชได้ทำการเผาผลาญกระเพาะ ตลอดจนถึงไส้ใหญ่ไส้น้อย เป็นต้น จนเสียไปหมดสิ้นแล้ว เทวดาที่ตายด้วยการสนุกสนานเช่นนี้ ชื่อว่า “ขิฑฑาปโทสิกะ” เทวดาบางองค์ก็ตายเพราะหัวใจถูกเผาด้วยความโกรธ ความเสียใจอันเนื่องมาจากพวกเทวดาด้วยกันก่อขึ้นว่า “มโนปโทสิกะ” และในสุพฺรหฺมสํยุตฺตอฏฺฐกถา ได้แสดงว่านางฟ้า ๕ ที่เป็นบริวารของสุพรหมเทวบุตร กำลังเก็บดอกไม้ อยู่บนต้นไม้ได้ตายลงด้วยอำนาจของอกุศลอุปัจเฉทกกรรม ความตายชนิดที่เกิดจากความ เพลิดเพลิน ความโกรธ ความเสียใจ ทั้ง ๒ ประการนี้เป็นไปได้ในเทวภูมิทั้ง ๖ เช่น ที่เกิดอยู่ในเทวภูมิและพรหมภูมิไม่มีความประสงค์จะอยู่ให้จนครบอายุขัย เพราะทำการสร้างบารมีไม่ได้นั้น ก็มีการอธิฐานให้ตนตายคล้ายๆกับการห่าตัวเอง ด้วยคำอธิฐานว่า “ขอให้ชีวิตของเราดับลงในบัดนี้” ความตายของพระโพธิสัตว์ดังนี้ชื่อว่า “อธิมุตติกาลังกิริยะ” ชีวิตดับลง (กาลังกิริยะ) ด้วยการอธิฐานใจ (อธิมุตติ)


อธิบายความหมายของคำว่า “เกสญฺจิ เทวานํ”

คำว่า “เกสญฺจิ เทวานํ” นี้มีความหมายที่ให้ทราบได้ว่า เทวดาบางท่านไม่ตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะ แต่บางท่านตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ควรจะแสดง ถึงสัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์เข้าด้วยว่า “เกสญฺจิ ติรจฺฉานญฺจ เกสญฺจิ มนุสฺสานญฺจ เกสญฺจิ เทวานญฺจ น โหติ” เพราะสัตว์ดิรัจฉานบางตัวและมนุษย์บางคนไม่ตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะก็มี ตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะก็มี ฉะนั้น คำว่า “เกสญฺจิ” ที่เป็นวิเสสนบทของ “เทวานํ” นี้ก็มิได้ทำให้เกิดประโยชน์อันใด กลับทำให้การตีความหมายยุ่งยากไปอีก

อนึ่ง เมื่อจะหาประโยชน์จากคำว่า “เกสญฺจิ เทวานํ” ด้วยความเคารพและเลื่อมใสในปัญญาของท่านวิภาวนีฏีกาจารย์แล้วก็หาได้เหมือนกัน เพราะทำให้รู้ถึงความเป็นอยู่ของเทวดากับสัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์นั้นมีการแตกต่างกัน กล่าวคือการเกิด การอยู่ และการตายของสัตว์ดิรัจฉานและมนุษย์ คนทั้งหลายรู้เห็นกันได้อยู่เฉพาะหน้าทั่วไปแล้วมิจำเป็นที่จะต้องนำมาแสดงไว้อีก ส่วนการเกิด การอยู่ การตาย ของเทวดานั้นนอกจาก ฌานลาภี อภิญญาลาภี และผู้มีวิชาพิเศษทางโลกแล้วก็ไม่มีผู้ใดจะรู้เห็นได้จะทำให้สงสัยในการตายของเทวดาได้ ด้วยอาศัยเหตุนี้แหละท่านวิภาวนีฏีกาจารย์จึงได้แสดงแต่เพียงว่า “เกสญฺจิ เทวาญฺจ น โหติ” เทวดาบางท่านไม่ตายด้วยอุปัจเฉทกมรณะ



Create Date : 03 ธันวาคม 2554
Last Update : 3 ธันวาคม 2554 18:05:01 น. 4 comments
Counter : 4268 Pageviews.

 
อนุโมทนาสาธุครับ แต่ไม่เข้าใจว่า อรหัตตมรรค จะไปตัดกัมมชรูปได้อย่างไรครับ ขอท่านสาธยายครับ


โดย: shadee829 วันที่: 3 ธันวาคม 2554 เวลา:18:33:25 น.  

 
(ความเห็นส่วนตัว)เข้าใจว่า หมายถึง บุคคลที่อยู่ในเพศคฤหัส หากบรรลุอรหัตแล้วไม่ได้บวชเป็นบรรพชิต ก็จะต้องปรินิพพาน ภายในวันนั้น ซึ่งเป็นการตัดกัมมชรูป ด้วยนัยนี้ครับ

-----------------------------------------

(จาก อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เรื่องพระนางเขมา แสดงไว้ว่า)

ในกาลจบเทศนา พระนางเขมาทรงดำรงอยู่ในพระอรหัต.
เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่มหาชนแล้ว.
พระศาสดาตรัสกะพระราชาว่า "มหาบพิตร พระนางเขมาจะบวชหรือปรินิพพาน จึงควร?"
พระราชา. โปรดให้พระนางบวชเถิด พระเจ้าข้า อย่าเลยด้วยการปรินิพพาน.
พระนางบรรพชาแล้ว ก็ได้เป็นสาวิกาผู้เลิศ ดังนี้แล.
//www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=34&p=5

-----------------------------------------

(จากคัมภีร์มิลินทปัญหา แสดงไว้ว่า)


นว่าภูมิเพศฆราวาสนี้ต่ำช้า มิควรที่
จะครองพระบวรวิมุตติเศวตฉัตรได้ แม้สำเร็จพระอรหัตตัดกิเลสวันใดแล้ว ก็ควรบวชเข้าในบวช
พุทธศาสนาในกาลวันนั้น เหตุว่าเพศบรรพชิตนี้สมควรที่จะทรงซึ่งพระบวรวิมุตติเศวตฉัตรได้
พระบวรวิมุตติเศวตฉัตรคือพระอรหัตมรรคพระอรหัตผล เพศฆราวาสนั้นทุพพลมิอาจทรงได้
ขอถวายพระพร
//84000.org/tipitaka/milin/milin.php?i=147


โดย: ชาวมหาวิหาร IP: 84.63.39.209 วันที่: 4 ธันวาคม 2554 เวลา:0:54:01 น.  

 
ขอบพระคุณครับ ท่านสาธยายได้กระจ่างแจ้งครับ อนุโมทนาสาธุครับ


โดย: shadee829 วันที่: 4 ธันวาคม 2554 เวลา:12:47:20 น.  

 
ได้ความรู้ ขอบคุณครับ


โดย: Mr.Feynman วันที่: 16 มีนาคม 2555 เวลา:22:10:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ชาวมหาวิหาร
Location :
Germany

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Thepathofpurity.com
Friends' blogs
[Add ชาวมหาวิหาร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.