กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เสาชิงช้า


เสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์ฯ
ไฟล์ภาพจากเว็บไซต์ เที่ยวทั่วไทยกับนายรอบรู้



เสาชิงช้า

เราผ่านหน้าวัดสุทัศน์ฯ เมื่อไร เราก็ต้องผ่านเสาชิงช้าไปด้วยทุกครั้ง ท่านเคยนึกหรือเปล่าว่า เขามีไว้ทำไมกัน ข้าพเจ้าเคยทูลถามเสด็จพ่อ และเคยได้รับความสนุกในเวลาดูแห่โล้ชิงช้าแต่เด็กๆ ฉะนั้นจะเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้

ศาสนาพราหมณ์ เปรียบเหมือนพระคัมภีร์เก่าของพระพุทธศาสนา หรือจะพูดให้ชัดขึ้นไปอีกก็คือ พระพุทธศาสนานั้น ถือเอาการบำเพ็ญกุศลกรรมเป็นที่ตั้ง ไม่มีเครื่องตบแต่งเสกสรรปั้นขึ้นแต่ประการใด ครั้งหนึ่งพราหมณ์ผู้หนึ่งเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ถ้าข้าพระองค์จะทำงานมงคล จะควรทำฉันใด”

พระองค์ตรัสตอบว่า “เลี้ยงดูและให้ปันแก่ผู้มีศีลบริสุทธิ์ แล้วให้เขาให้พรก็พอแล้ว นอกจากนั้นเป็นเครื่องสมมติเอาทั้งสิ้น”

นี้เป็นเหตุหนึ่งที่เราทำบุญด้วยสวดมนต์เลี้ยงพระและถวายของแก่พระสงฆ์ เมื่อท่านสวดยะถาสัพพีให้พรแล้วท่านก็กลับ แต่จิตมนุษย์ไม่รู้สึกเพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องการบ้านเมือง จำต้องมีการราชาภิเษกและเฉลิมฉลองอะไรต่างๆ เพื่อความรื่นรมย์ของประชาชนหมู่ใหญ่ ศาสนาพราหมณ์รู้การพิธีเช่นนี้อยู่เป็นธรรมดาแล้ว จึงเหมาะแก่ความต้องการของมนุษย์ที่ยังมีหน้าที่อยู่ในโลกนี้ ทุกบ้านทุกเมืองในโลกแถบที่เราอยู่จึงมีคำว่า สมณพราหมณาจารย์ คือพระและพราหมณ์อยู่ทุกเมือง ดังจะเห็นในหนังสือเก่าๆ และโบราณสถานในเมืองสำคัญๆ เช่นนครปฐม ศรีธรรมราช พัทลุง และเพชรบุรี ฯลฯ

เมื่อพระและพราหมณ์จำต้องมีอยู่เป็นของคู่บ้านคู่เมืองแล้ว ในเวลาสร้างกรุงเทพพระมหานครนี้ จึงพระราชทานที่ให้พวกพราหมณ์มีเคหสถานอยู่ พร้อมกับสร้างเทวสถานถวายพระเป็นเจ้า และเครื่องประกอบพิธีการอันมีเสาชิงช้าเป็นต้น ดังที่เราเห็นๆ กันอยู่ เพื่อจะให้เข้าใจง่ายขึ้น ข้าพเจ้าจะเล่าถึงงานตรียัมปวาย อันเคยมีประจำปีมาแต่ก่อนให้ฟัง

ทางศาสนาพราหมณ์ เชื่อว่าพระอิศวรเป็นเจ้าเสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ปีละครั้ง จึงเป็นโอกาสแก่มนุษย์ที่ได้ทูลบนขอประทานความปรารถนาของตัวไว้ในเวลาเจ็บไข้ก็ดี ตกทุกข์ได้ยากอย่างไรก็ดี เมื่อได้สมปรารถนาคือพ้นภัยพิบัติมาได้แล้ว ก็เตรียมตัวที่จะแก้บนถวายและรับพระพรทุกปีไป พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นสมมติเทพ คือเสด็จแบ่งภาคมาจากพระเป็นเจ้าเพื่อปกครองโลกมนุษย์ จึงถือว่าเป็นผู้แทนพระองค์พระเป็นเจ้า และทรงเป็นประธานในพิธีต่างๆ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชธุระมาขึ้น จึงพระราชทานให้ขุนนางผู้มีความชอบเป็นผู้แทนพระองค์ในพิธี เช่น งานโล้ชิงช้าและแรกนาขวัญ เป็นต้น ฝรั่งเรียกว่า ดี มอค คิง The mock King ถึงกำหนดพิธีนี้ก็มีแห่พระยาผู้แทนพระองค์ เข้ามาในเมืองทางถนนมหาชัยเลี้ยวเข้าถนนเสาชิงช้า

กระบวนแห่นั้นมีสิ่งต่างๆ ที่น่าดูน่าชม ตามฐานะของพระยาผู้ยืนชิงช้านั้นๆ เช่นเมื่อพระยาศรีสหเทพ กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ยืนชิงช้า ก็มีหมู่ชนต่างๆ พวกมาเข้ากระบวนจากหัวเมืองต่างๆ เมื่อเจ้าพระยาพระเสด็จยืนชิงช้า กระบวนแห่ก็เต็มไปด้วยการศึกษาต่างๆ เพราะท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงการศึกษา มีทั้งรถการเล่นและตกแต่งเป็นรูปต่างๆ เช่นมีรถหนึ่งแต่งเป็นห้องเรียนมีพวกตลกเป็นครูและลูกศิษย์สอนกันอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะเราเด็กๆ ชอบรถนี่นัก แม้ผู้ใหญ่ก็สนุกด้วยทั่วกัน ถ้าจะเล่าถึงกระบวนเต็มที่ก็มีในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เมื่อเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ยืนชิงช้าใน พ.ศ. ๒๔๓๗ ดังนี้

“กระบวนแห่คราวนี้ มีกระบวนเกวียนเทียมโค กระบวนเทียมกระบือ กระบวนพลเดินเท้าถือธงต่างๆ ๙ สี มีรถตั้งรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้พระราชทานทุกดวง มีขลุ่ยเชียงใหม่สลับไปทุกกอง มีกระบวนทหารอย่างเก่าใหม่ต่างๆ แทบทุกอย่าง มีแตรวง มีรถภาพหุ่น รถโขน รถรูปมหาดเล็กเชิญเครื่องรถมีรูปม้า รถโรงเรียนราชกุมาร ตำรวจดาบเขนดาบโล่ ดาบดั้ง ดาบ ๒ มือ พร้าแป๊ะกัก ดาบเชลย สาระวัด บโทน ขุนหมื่น กลองชนะ จ่าปี่ มีกันฉิ่ง ๔ สัปทน ๑ บังตะวัน ๑ มีคู่เคียง ๘ กระบวนหลังมีกระบวนปีไสถือง้าวถือตะบอง มีขุนหมื่นทนายถืออาวุธถือเครื่องยศ มีคนถือภาพหนัง ถือทิว ๙ สี ยี่เก สิงโต มังกร เล่าโก๊” เป็นจบกระบวนแห่ จะเห็นได้ว่าเป็นกระบวนยาวมิใช่เล่น

เมื่อพระยาเข้าที่นั่งเรียบร้อยแล้ว ผู้ที่ทูลบนไว้แต่งตัวเหมือนกัน เรียกว่า นาลิวัน ก็ขึ้นโล้ชิงช้า พยายามเอาปากคาบห่อเงินที่ผูกอยู่บนยอดไม้ไผ่ ถวายทอดพระเนตรเป็นการแก้บน รุ่งขึ้นเช้าก็มีการรำเขนง สาดน้ำมนต์แก่ประชาชนทั่วไป พิธีแก้บนนี้ในเกาะปีนังก็ทำกันอยู่ เขาเรียกว่า ไตปุซัม แต่เขาแก้บนด้วยการแทงลิ้น เจาะปาก เกี่ยวหลังด้วยเบ็ด อย่างขนหัวลุก ข้าพเจ้าก็เคยได้เห็นและต้องหลับตาทุกครั้งที่ผ่านไป จะเห็นได้ว่าเราเป็นพุทธจึงไม่ชอบทำการอันใดให้รุนแรง แม้การแก้บนก็ให้เป็นเพียงโล้ชิงช้าถวาย แต่ที่ไม่เลิกเสียก็เพราะเป็นความสุขใจอันหนึ่งของประชาชน เพราะธรรมดาคนที่ตกทุกข์มักจะหันไปบนบานสิ่งที่ตัวนึกว่าจะช่วยได้อยู่เป็นธรรมดา

แม้เราจะเจริญแล้วเช่นทุกวันนี้ เราก็ยังได้เห็นหมูและแม่ธรณี อันบัดนี้เป็นเพียงรูปตกแต่งสถานที่อย่างหนึ่งเท่านั้น มีทองปิดอยู่ไม่น้อยเลย เมื่อประชาชนยังต้องการสิ่งที่เชื่อว่าจะช่วยได้อยู่ และการมีแห่ให้ได้เห็นของแปลกๆ ใหม่ๆ ทำให้สนุกกันเป็นอันมากเช่นนั้นแล้ว พิธีโล้ชิงช้าจึงมีอยู่ต่อมาช้านาน เช่นเกี่ยวกับพิธีแรกนาขวัญ ซึ่งเดิมก็เพราะเมื่อยังไม่มีนาฬิกาหรือปฏิทินให้รู้กำหนดแน่ชัดได้ พระเจ้าแผ่นดินก็ต้องเสด็จลงโล้เองเป็นพิธี เพื่อให้ชาวนารู้ว่าถึงเวลาจะต้องลงมือทำนาแล้ว ส่วนเมล็ดพันธุ์ข้าวก็ได้เข้าพระราชพิธีแล้ว จึงนับเป็นมงคลที่จะนำไปเพาะให้เกิดผลอันสมบูรณ์

การพิธีใดๆ ก็ดี ความเชื่อถืออันใดก็ดี ถ้าเราไม่ใส่ใจจะรู้ว่า ทำไมเขาจึงทำและเชื่อเช่นนั้น แล้วก็จะไม่ได้ความรู้อะไรเกิดขึ้นเลย เพราะผู้คิดทำทำมาใสมัยหนึ่ง เพราะเกิดมาในสมัยหนึ่ง ก็ย่อมจะเข้าใจกันไม่ได้อยู่เองเป็นธรรมดา ฉะนั้นเราจึงจะต้องค้นหาเหตุผลให้ได้เสียก่อนที่จะตัดสินใจอะไรลงไป ถ้าเราไม่ชอบอะไรก็เลิกเสียหมด แล้วเราก็จะไม่มีอะไรเหลือเป็นของตัวเองเลย และเราก็จะต้องกลายเป็นชาติที่ไม่มีสมบัติอะไรติดตัว เลวยิ่งกว่าชาติอื่นๆ ที่เพิ่งเกิดใหม่เสียอีก เราคมไทยจะยอมให้โลกเขาเห็นว่าเราเป็นชาติที่สิ้นคิด ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองได้ละหรือ ขอได้โปรดช่วยกันคิดดูให้ดี.


.........................................................................................................................................................


คัดจาก "สารคดี้น่ารู้" พระนิพนธ์หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล




Create Date : 21 กรกฎาคม 2550
Last Update : 21 กรกฎาคม 2550 16:49:38 น. 0 comments
Counter : 2185 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com