นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
 

“กระดูกพรุน” หรือไม่ รู้ได้จากการ “ตรวจมวลกระดูก” 


 

“กระดูกพรุน” หรือไม่ รู้ได้จากการ “ตรวจมวลกระดูก” 

กระดูกพรุน คือภาวะที่ความหนาแน่นของเนื้อกระดูกลดลง ส่งผลให้กระดูกขาดความแข็งแรง กระดูกแตกหักได้ง่ายแม้เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย อีกทั้งไม่มีอาการเตือนล่วงหน้าใดๆ จะรู้ตัวว่ากระดูกพรุนก็เมื่อกระดูกหักไปแล้ว และที่สำคัญกระดูกพรุนไม่ได้เป็นแค่โรคของผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะอายุน้อยๆ ก็เป็นได้ ถ้าดูแลไม่ดี

ดังนั้นใครที่ไม่แน่ใจว่าตอนนี้กระดูกกำลังสุ่มเสี่ยงที่จะพรุนหรือยังแข็งแรงดี การตรวจคัดกรองภาวะกระดูกพรุนจะช่วยให้รู้ทันความเสี่ยง สามารถป้องกันหรือรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และลดอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้
 


การตรวจวัดความหนาแน่นมวลกระดูก (Bone Densitometry) เป็นวิธีการตรวจที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะช่วยให้ทราบว่าสุขภาพของกระดูกมีความแข็งแรงระดับใด และมีภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ โดยการใช้รังสี X-ray พลังงานต่ำสะท้อนภาพเนื้อเยื่อกระดูก ทราบผลการตรวจอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัย

ใครบ้าง?.. ควรตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูก

  •  ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  •  ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน, ประจำเดือนหมดก่อนอายุ 45 ปี หรือถูกตัดรังไข่ทั้งสองข้าง
  •  ผู้ชายอายุยังไม่ถึง 50 ปี ที่มีภาวะขาดฮอร์โมนเพศชาย 
  •  มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่ต้องทานยาต่อเนื่องนาน เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต โรครูมาตอยด์ ฯลฯ
  •  มีประวัติครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน
  •  ขาดการออกกำลังกาย
  •  ไม่ค่อยโดนแดด ทำให้ขาดวิตามินดี
  •  น้ำหนักตัวน้อยจากการขาดอาหาร โดยเฉพาะแคลเซียมและวิตามินดี 
  •  สูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นประจำ
     


** หากตรวจแล้วพบว่ามีความเสี่ยง แพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแลตัวเองและทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ นอกจากนี้การเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่อายุยังน้อยก็สำคัญไม่แพ้กัน ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงยาที่ทำลายกระดูก ออกกำลังกายและรับแสงแดดเป็นประจำ

ไลฟ์สไตล์ของคนปัจจุบันอาจทำให้ได้รับวิตามินดีจากแสงแดดได้ไม่เพียงพอ (วิตามินดีช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม) จึงควรต้องตรวจเช็คและรับวิตามินดีเสริมโดยแพทย์เพิ่มเติมด้วย…
 



“วิตามินดี” ดีอย่างไร?คลิกอ่าน >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/289

 




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2565   
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2565 11:16:20 น.   
Counter : 612 Pageviews.  


ตำแหน่งปวดท้อง... บอกโรคได้

 

ตำแหน่งปวดท้อง... บอกโรคได้

หนึ่งในอาการป่วยที่หลายคนเป็นกันบ่อย และเป็นๆ หายๆ แถมดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาหรืออาจถือได้ว่าปกติมากๆ นั่นก็คือ “อาการปวดท้อง” แต่ใครจะรู้ว่าอาการเหล่านี้อาจกำลังเตือนเราว่ามีโรคร้ายแรงซ่อนอยู่ก็ได้ ปกติในทางการแพทย์จะมีการแบ่งช่องท้องออกเป็น 4 ส่วน โดยมีเส้นจุดตัดบริเวณสะดือ ซึ่งสามารถแบ่งจุดที่ปวดท้องได้ 5 จุด ดังนี้

  •  ปวดท้องขวาบน อวัยวะที่อยู่บริเวณท้องด้านขวาบน คือ ตับ ถุงน้ำดี และท่อน้ำดี ถ้า “ถุงน้ำดีอักเสบ” จะมีอาการปวดท้องต่อเนื่องและมีไข้ร่วมด้วย ส่วน “นิ่วในถุงน้ำดี” ปกติแล้วหากมีนิ่วในถุงน้ำดีจะไม่มีอาการใดๆ แต่อาการปวดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อนิ่วหลุดมาที่ท่อน้ำดี ทำให้ทางเดินน้ำดีถูกอุดกั้น ร่างกายจึงพยายามบีบไล่นิ่วให้หลุดจากท่อบริเวณดังกล่าว ทำให้เกิดอาการปวด อาการปวดนิ่วในท่อน้ำดีจะปวดแบบเฉียบพลัน 15-30 นาที โดยจะปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยบางคนปวดจนตัวงอ เหงื่อแตก ใจสั่น อาจมีอาการปวดร้าวไปที่ข้างหลัง หรือปวดไปที่สะบักข้างขวาก็ได้ หากมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาโดยเร็ว
     
  •  ปวดท้องซ้ายบน อวัยวะที่อยู่บริเวณท้องด้านซ้ายบนคือ “ม้าม” หากปวดรุนแรง ปวดมาก มักเกี่ยวกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงม้าม เช่น ม้ามขาดเลือด แต่เป็นภาวะที่เจอน้อยมาก มักจะมีโรคอื่นๆ ร่วมด้วย คนทั่วไปอาจไม่เจอปัญหาเรื่องนี้ แนะนำควรพบแพทย์ดีกว่า หากปวดบริเวณนี้
     
  •  ปวดท้องขวาล่าง หลายท่านอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นตำแหน่งของ “ไส้ติ่ง” อาการไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดจุกที่รอบๆ สะดือ ก่อนย้ายไปที่ด้านขวาล่าง จนปวดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจมีไข้ร่วมด้วย อาการนี้ถือว่าเข้าข่ายภาวะไส้ติ่งอักเสบ ถือว่าร้ายแรงพอสมควร หากมีอาการปวดแบบรุนแรงต้องรีบพบแพทย์
     
  •  ปวดท้องซ้ายล่าง ด้านซ้ายล่างเป็นตำแหน่งของ “ลำไส้ใหญ่” ส่วนปลาย หากปวดเป็นๆ หายๆ ร่วมกับการถ่ายอุจจาระผิดปกติ ให้ระวังเรื่องลำไส้แปรปรวน หรือหากเป็นผู้สูงอายุอาจต้องระวังเรื่อง “มะเร็งลำไส้ใหญ่” เพราะอาจจะมีการอุดกั้นทางเดินอาหารได้ อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีอาการคล้ายท้องผูก มีพฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนไปจากเดิม มีภาวะซีด ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด หากไม่แน่ใจและอายุค่อนข้างมาก ควรไปพบแพทย์ตรวจเพิ่มเติมดีที่สุด
     
  •  ปวดท้องตรงกลาง อาการปวดท้องตรงกลางจะเกี่ยวข้องกับ “กระเพาะอาหาร” โดยปกติแล้วอาการปวดจะอยู่บริเวณกลางท้องค่อนไปทางเหนือสะดือเป็นหลัก หากลึกกว่านั้นจะเกี่ยวกับตับอ่อน ซึ่งอยู่บริเวณค่อนข้างกลางๆ หรือบริเวณลิ้นปี่แต่อยู่ลึก อาการ “ตับอ่อนอักเสบ” จะมีอาการปวดบริเวณเหนือลิ้นปี่ และปวดตลอดอย่างต่อเนื่อง หากมีไข้ร่วมด้วยควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเร็วที่สุด

เพราะฉะนั้นการสังเกตอาการตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ... ใครที่มีอาการปวดท้องเป็นประจำจนเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ แนะนำให้ไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดดีที่สุดครับ! จะได้รู้ว่าอาการปวดท้องที่เป็นอยู่นั้นเกิดจากอะไรกันแน่! และรักษาได้อย่างถูกต้องนั่นเอง




 

Create Date : 16 พฤศจิกายน 2565   
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2565 15:19:56 น.   
Counter : 877 Pageviews.  


ทำไม..ถึงเป็นตากุ้งยิง หายเองได้ไหม? 


 

ทำไม..ถึงเป็นตากุ้งยิง หายเองได้ไหม? 

ลบความเชื่อผิดๆ แบบนี้ไปได้เลย...ว่าการแอบดูคนอื่นจะทำให้เป็น “ตากุ้งยิง” เพราะตากุ้งยิงเกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา โดยปกติแล้วตาของเราจะมีต่อมไขมันอยู่บริเวณใต้ผิวหนังที่เปลือกตา ที่สามารถระบายไขมันออกมาได้ผ่านทางรูระบายเล็กๆ ใกล้ขนตา แต่หากมีอะไรมาอุดตัน เช่น ฝุ่นละออง ก็จะทำให้ไขมันที่ผลิตออกมาไม่สามารถระบายได้ ทำให้เกิดการอุดตันเป็นก้อนขึ้นที่บริเวณเปลือกตา รวมถึงการไม่รักษาความสะอาด เช่น บางคนชอบเอามือขยี้ตา ล้างเครื่องสำอางรอบดวงตาไม่สะอาด คอนแทคเลนส์ไม่สะอาด จนเกิดการอักเสบติดเชื้อเป็นหนอง มีอาการเจ็บบวมแดงรอบๆ ดวงตา 
 


เริ่มแรกจะมีอาการเจ็บๆ คันๆ บริเวณเปลือกตา ต่อมาจะเริ่มมีการบวมแดง และจะเริ่มรู้สึกปวดบริเวณเปลือกตากดจะรู้สึกเจ็บ จะเริ่มเห็นเป็นหัวฝีหรือหัวหนองใน 4-5 วัน จากนั้นหนองจะแตกและยุบไป หากหนองออกไม่หมดจะเกิดเป็นก้อนแข็งเป็นไตที่เปลือกตา ซึ่งจะค้างอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน และอาจจะกลับมาอักเสบขึ้นอีกได้ ตากุ้งยิงแบ่งเป็น

  •  ตากุ้งยิงภายนอก มีตุ่มบวมเกิดขึ้นที่ขอบเปลือกตาด้านนอก อาจมีการอักเสบและมีหัวหนอง เวลากดหรือสัมผัสจะรู้สึกเจ็บ
     
  •  ตากุ้งยิงภายใน มีตุ่มบวมเกิดขึ้นด้านในของเปลือกตา ตากุ้งยิงชนิดนี้จะเจ็บน้อยกว่าชนิดกุ้งยิงภายนอก

ปกติแล้วตากุ้งยิงอาการจะทุเลาและสามารถหายเองได้ในไม่กี่วัน แม้จะไม่ได้รับการรักษา แต่ถ้าเป็นตากุ้งยิงมา 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น เปลือกตาบวมมาก และรู้สึกเจ็บปวดจนทนไม่ไหว อาการบวมแดงไม่ได้อยู่แค่ที่ตา แต่ลามไปที่ส่วนอื่นๆ บนใบหน้า มีหนองไหล การมองเห็นไม่ปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที อย่าปล่อยไว้เพราะอาจเป็นอันตรายต่อดวงตาของเราได้...
 


ที่สำคัญพยายามอย่าใช้มือขยี้หรือสัมผัสดวงตาบ่อยๆ อย่าใช้เครื่องสำอางหมดอายุหรือใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น และควรล้างเครื่องสำอางโดยเฉพาะบริเวณรอบๆ ดวงตาให้สะอาด หรือใส่แว่นตาป้องกันฝุ่นควัน เท่านี้ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เราเป็นโรคตากุ้งยิงได้แล้ว...
 




 

Create Date : 14 พฤศจิกายน 2565   
Last Update : 14 พฤศจิกายน 2565 11:18:29 น.   
Counter : 2538 Pageviews.  


“นิ้วล็อค” ไม่รีบรักษา ระวัง!... ล็อคถาวร

 

“นิ้วล็อค” ไม่รีบรักษา ระวัง!... ล็อคถาวร

หลายคนคิดว่านิ้วล็อค เป็นแค่โรคที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน มีอาการแค่ปวดนิ้ว กางนิ้วออกไม่ได้ คิดว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวก็หาย ไม่เห็นต้องรีบรักษา แต่รู้ไหม? ว่า “นิ้วล็อค” ยิ่งปล่อยไว้นาน หรือรักษาไม่ถูกวิธี อาจทำให้ข้อที่ติดค้างงอไม่ลง ข้อนิ้วยึดติด หรือทำให้เส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นเสียหายถาวร แม้จะรักษาด้วยการผ่าตัดก็อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

นิ้วล็อค ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่ใช้มือทำต่อเนื่องเป็นเวลานาน มักพบในผู้ที่ใช้งานนิ้วมือมากและนานในท่ากำมือ เช่น แม่บ้านที่ซักผ้าติดต่อกันนาน ช่างเย็บผ้า ช่างไม้ ช่างยนต์ คนที่ถือของหนักเป็นเวลานานคนที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ ใช้คีย์บอร์ดพิมพ์งาน และยิ่งในคนรุ่นใหม่ที่ใช้มือถือ เล่นแท็บเล็ตกันเป็นเวลานานในแต่ละวัน และผู้ที่มีโรคประจำ เช่น โรคเบาหวาน และรูมาตอยด์ ก็มีโอกาสที่จะเกิดอาการนิ้วล็อคได้สูง

อาการนิ้วล็อค จะมีหลายระยะเริ่มตั้งแต่

  •  มีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณโคนนิ้วมือ
  •  มีอาการสะดุดเวลากำหรือเหยียดนิ้วมือ แต่ยังสามารถเหยียดนิ้วได้เอง
  •  กำมือแล้วไม่สามารถเหยียดนิ้วได้เอง ต้องใช้อีกมือมาช่วยง้างออก
  •  ไม่สามารถกำมือได้สุด และอาจมีข้อนิ้วมืองอผิดรูปร่วมด้วย

แม้อาการนิ้วล็อคจะไม่ได้ส่งผลถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็ทำให้เจ็บปวดและสร้างความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตไม่น้อย ช่วงแรกอาจยังพอใช้มืออีกข้างช่วยคลายล็อคเองได้ แต่ถ้าปล่อยไว้นานไม่รีบรักษา นิ้วอาจล็อคอยู่อย่างนั้น จนไม่สามารถคลายนิ้วได้ ดังนั้นหากเริ่มมีอาการผิดปกติข้างต้นไม่ว่ามากน้อยแค่ไหน แนะนำให้พบแพทย์ ตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสม

การรักษานิ้วล็อค ถ้ามีอาการไม่มากอาจแค่พักการใช้งานมือข้างที่มีอาการนิ้วล็อค ทำกายภาพบำบัด แช่น้ำอุ่น ประคบร้อน หรือทานยา แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่เป็นการรักษาแบบชั่วคราวและมีข้อจำกัดคือไม่ควรฉีดยาเกิน 2-3 ครั้ง ต่อ 1 นิ้วที่เป็น หากนิ้วล็อคติดรุนแรงหรือพังผืดหนามากฉีดยาไม่ได้ผล อาจต้องผ่าตัดรักษาด้วยวิธีการ "สะกิดนิ้วล็อค" โดยฉีดยาชาที่มือแล้วแพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษสอดเข็มเข้าไปบริเวณโคนนิ้วที่มีอาการ และใช้ปลายเข็มสะกิดปลอกหุ้มเอ็นนิ้ว ตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่รัดเส้นเอ็นให้ขาดออกจากกันใช้เวลาไม่นาน มีแค่รอยแผลเล็กๆ เท่านั้น ทำเสร็จกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2565   
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2565 11:11:06 น.   
Counter : 599 Pageviews.  


ฝึกทำ CPR ขั้นพื้นฐานไว้ อาจช่วยได้อีกหลายชีวิต 


 


ฝึกทำ CPR ขั้นพื้นฐานไว้ อาจช่วยได้อีกหลายชีวิต 

การทำ CPR ไม่ได้ช่วยชีวิตแค่ผู้ป่วยโรคหัวใจอย่างเดียวเท่านั้น!แต่ยังสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุอื่นๆ เช่น จมน้ำ หรือเกิดภาวะขาดออกซิเจน ได้อีกด้วย

เพราะการทำ CPR คือการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่หยุดกะทันหันให้กลับมาทำงานได้ชั่วคราว ซึ่งเป็นวิธียื้อชีวิตผู้ป่วยในขณะที่กำลังรอการรักษาจากแพทย์หรือหน่วยกู้ภัยแต่การช่วยชีวิตด้วยวิธีนี้มีโอกาสเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเกิดผลข้างเคียง อย่างกระดูกซี่โครงหักได้

จึงอยากแนะนำให้ทุกคนได้เรียนรู้การช่วยชีวิตอย่างถูกวิธีตาม สถานพยาบาล หรือแหล่งให้ความรู้ทางสาธารณสุขต่างๆ โดยเฉพาะคนที่มีคนใกล้ตัวเป็นโรคหัวใจ ซึ่งจะทำให้เราสามารถช่วยชีวิตคนที่เรารักได้ทันท่วงทีหากเกิดเหตุไม่คาดฟัน จะได้ไม่ต้องมาเสียใจทีหลัง
 


ทำ CPR ขั้นพื้นฐานใน 4 นาที เพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้เพื่อนมนุษย์

การทำ CPR ควรทำภายใน 4 นาที เพื่อป้องกันอันตรายจากการที่ร่างกายขาดออกซิเจน หากทำร่วมกับการใช้เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ(AED)จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยวิธีการช่วยชีวิตผู้ป่วยเบื้องต้น มีดังนี้

  1. เมื่อพบคนหมดสติให้ตรวจดูความปลอดภัยก่อนเข้าไปช่วยเหลือ เช่น ระวังอุบัติเหตุ ไฟช็อต เพื่อความปลอดภัยกับตัวเรา
     
  2. ขอความช่วยเหลือคนที่อยู่ใกล้เคียง ตรวจดูว่าผู้ป่วยยังหายใจอยู่หรือไม่? พร้อมทั้งรีบโทรหา 1669 ให้เร็วที่สุด
     
  3. หากประเมินแล้ว ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวไม่หายใจ ให้ทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ (CPR) ทันที
     
  4. จัดให้ผู้ป่วยนอนหงายบนพื้นแข็ง ประสานมือวางมือลงตรงกลางหน้าอกระหว่างราวนมสองข้าง
     
  5. กดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5 ซม.ในอัตราความเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที ทำการกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการช่วยหายใจเป่าลมเข้าปอด 2 ครั้ง
     
  6. ทำต่อเนื่องจนกว่าทีมกู้ชีพจะมาถึง หากมีเครื่อง AED ให้รีบนำมาใช้ทันทีตามขั้นตอนที่เครื่องแนะ นำอย่างเคร่งครัด **ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวแล้ว ควรจัดให้อยู่ในท่าพักฟื้นสามารถทำได้หลายแบบแต่มีหลักโดยรวมว่าควรเป็นท่าตะแคงตั้งฉากกับพื้นให้มากที่สุด จัดให้ศีรษะอยู่ต่ำ เพื่อป้องกันการสำลักอาเจียนเข้าปอด
     
  7. ส่งต่อผู้ป่วยให้กับทีมกู้ชีพเพื่อนำส่งโรงพยาบาล     
     


 


การฝึกช่วยชีวิตเบื้องต้นเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องกับผู้เชี่ยวชาญไว้ เพราะอาจเกิดประโยชน์อย่างมากในยามฉุกเฉิน เมื่อต้องช่วยเหลือชีวิตใครสักคนหรือคนใกล้ตัวที่คุณรักได้
 


การช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจวายเฉียบพลัน ด้วยการทำ CPR อย่างถูกวิธี
รศ.นพ.บัญชา ศันสนีย์วิทยกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

 

 




 

Create Date : 07 พฤศจิกายน 2565   
Last Update : 7 พฤศจิกายน 2565 15:16:20 น.   
Counter : 700 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  95  96  97  98  99  100  101  102  103  104  105  106  107  108  109  110  111  112  113  114  115  116  117  118  119  120  121  122  

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com