นานาสาระสุขภาพที่น่ารู้.. เล่าสู่กันฟัง
 
เช็คอาการ คุณเข้าข่าย “ภาวะหมดไฟ” ในการทำงาน?




เช็คอาการ คุณเข้าข่าย “ภาวะหมดไฟ” ในการทำงาน?

สถานการณ์ในปัจจุบัน ทำเอาหลายๆคนที่ทำงานต้องวิตกกังวล ว่าจะมีงานทำต่อหรือไม่ หรือต้องพักงานยาวเพราะสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งแน่นอนว่าช่วงนี้หลายคนในวัยทำงานอาจมีความทุกข์หลายอย่างเกิดขึ้นในชีวิต เช่น เครียด หดหู่ ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ร่างกายอ่อนแรง ไม่มีสมาธิ ฯลฯ จนทำให้เกิดความกังวลว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือเปล่า!

แต่แท้จริงแล้วอาการต่างๆ เหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นตัวชี้วัดถึงภาวะซึมเศร้าได้อย่างชัดเจนเสียทีเดียว แต่อาจจะเป็นตัวชี้วัดว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะหมดไฟ (Burnout) ในการทำงานเท่านั้น
 


“ภาวะหมดไฟในการทำงาน” คือ ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงาน โดยมีอาการหลักๆได้แก่ มีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ มองความสามารถในการทำงานของตัวเองในเชิงลบ ขาดความมั่นใจ รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายมองความสัมพันธ์ในที่ทำงานไปในทางลบ รู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือลูกค้า
 


โดยผู้ที่มีอาการหมดไฟในการทำงานจะมีความรู้สึกในลักษณะของการทำงานในรูปแบบที่ว่า

  • ภาระงานหนักและปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อนต้องทำในเวลาเร่งรีบ
  • ขาดอำนาจในการตัดสินใจ และมีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงานไม่เป็น
  • ไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ทุ่มเทไป
  • รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม
  • ไม่ได้รับความยุติธรรม ขาดความเชื่อใจ และการเปิดใจยอมรับกับเพื่อนร่วมงาน
  • ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตัวเอง
     


ซึ่งระยะเวลาก่อนหมดไฟในการทำงานนั้นจะแบ่งเป็นระยะต่างๆ ที่นำมาสู่ภาวะหมดไฟในที่สุดดังนี้

ระยะฮันนีมูน (the honeymoon) เป็นช่วงเริ่มงานหรือที่เรียกว่าช่วงไฟแรง คนทำงานมีความตั้งใจ เสียสละเพื่องานเต็มที่ พยายามปรับตัวกับเพื่อนร่วมงานและองค์กร

ระยะรู้สึกตัว (the awakening) เมื่อเวลาผ่านไป คนทำงานเริ่มรู้สึกว่าความคาดหวังของตัวเองอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เริ่มรู้สึกว่างานไม่ตอบสนองกับความต้องการทั้งในแง่การได้รับค่าตอบแทน และการเป็นที่ยอมรับ อาจรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาด และไม่สามารถจัดการได้ ทำให้เกิดความคับข้องใจและเหนื่อยล้า

ระยะไฟตก (brownout) รู้สึกเหนื่อยล้าเรื้อรัง และหงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเชน อาจมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนีความคับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ดื่มสุรา ส่งผลให้ความสามารถในการทำงานลดลง อาจเริ่มมีการแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน

ระยะหมดไฟเต็มที่ (full scale of burnout) หากช่วงไฟตกไม่ได้รับการแก้ไข จะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง มีความรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว สูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป มีอาการของภาวะหมดไฟเต็มที่

ระยะฟื้นตัว (the phoenix phenomenon) หากได้มีโอกาสผ่อนคลาย ได้พูดคุยกับคนที่ไว้ใจและให้กำลังใจ รวมถึงได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ จะสามารถกลับมาปรับตัวเองและความคาดหวังต่องานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงสามารถปรับแรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำงานด้วย

อย่างไรก็ตาม หากภาวะหมดไฟไม่ได้รับการจัดการ อาจส่งผลด้านต่างๆ เช่น ผลด้านร่างกายอาจพบอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ ผลด้านจิตใจ บางคนอาจสูญเสียแรงจูงใจ หมดหวัง รู้สึกหมดหนทางที่จะช่วยให้ดีขึ้น ส่งผลให้มีอาการของภาวะซึมเศร้า และอาการนอนไม่หลับได้ ส่งผลต่อการทำงาน อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หรืออาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด
 



การบำบัดหรือรักษาควรเริ่มตั้งแต่ระยะไฟตก ซึ่งจะมีอาการหมดไฟที่ไม่รุนแรงสามารถรักษาให้หายได้ด้วยตัวเองดังนี้

  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟมากจนเกินไป และถ้าหากเป็นไปได้ ควรลาพักผ่อนในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อปรับสมดุลของร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ
     
  •  จัดระเบียบการใช้ชีวิต จัดลำดับความสำคัญของงานและเวลาในการทำงาน เช่น โฟกัสกับงานแต่ละชิ้นตามลำดับความสำคัญ กำหนดเวลาที่จะใช้ตอบอีเมลล์ในแต่ละวัน ไม่นำงานกลับมาทำต่อที่บ้านหรือนอกเวลางาน
     
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ นอกเวลาทำงาน เช่น ดูภาพยนตร์ ฟังเพลง ออกกำลังกาย เล่นโยคะ ท่องเที่ยว ฯลฯ นอกจากนี้การทำสมาธิและฝึกฝนเทคนิคการผ่อนคลาย ก็เป็นสิ่งที่ควรทำเป็นประจำ
     
  • ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์สื่อสาร และจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดีย เพราะการที่คุณออนไลน์ตลอดเหมือนเป็นการเปิดช่องทางให้ทุกการสื่อสารรวมทั้งเรื่องงานเข้ามาหาโดยที่ไม่รู้ตัว เช่นการนั่งตอบอีเมลล์ในวันหยุด หรือเสียเวลาพักผ่อนทั้งวันกับการเล่นเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมก็เป็นได้
     
  • ปรับทัศนคติในการทำงานของคุณ จัดการความเครียดซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของภาวะ Burnout อย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ ความเครียดในการทำงานเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป ความเครียดในระดับสะสมบ่งบอกถึงความใส่ใจในการทำงานของคุณ อันจะนำมาซึ่งความรักในตัวเองและการเติบโตในชีวิต
     
  • พัฒนาทักษะการปรับตัว การสื่อสาร การแก้ปัญหา และเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้ที่จะปฏิเสธและสร้างขอบเขตในการทำงาน หากคุณไม่เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ ยึดถือความสมบูรณ์แบบมากจนเกินไป ไม่เชื่อใจให้ผู้อื่นร่วมทำงานด้วย คุณจะกลายเป็นบุคคลที่มีความทุกข์ เคร่งเครียดแบกภาระงานที่มากเกินไป
     
  • ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้าง พยายามหลีกเลี่ยงการสนทนากับบุคคลที่มองโลกในแง่ร้าย ใช้เวลามากขึ้นกับคนที่เข้าใจและมองเห็นคุณค่าในตัวของคุณ

แม้ว่าอาการหมดไฟในการทำงานจะไม่ร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า แต่หากปล่อยไว้นานๆ โรคซึมเศร้าได้ถามหาแน่นอน! คราวนี้จะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของคนวัยทำงาน ทางที่ดีหากขจัดปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะเรื่องเล็กๆ เช่นอาการหมดไฟอาจกลายเป็นอาการอื่นที่รุนแรงกว่าได้ถ้าเราไม่รีบแก้ไขหรือรักษาให้หายให้เป็นปกติ 
 




Create Date : 11 มีนาคม 2565
Last Update : 11 มีนาคม 2565 11:11:52 น. 0 comments
Counter : 851 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

หนึ่งเสียงในกทม.
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




คุยกับหมอราม
[Add หนึ่งเสียงในกทม.'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com