10 ในอเมริกา (4) วันแรกของการเป็นเด็กล้างจาน


เราสอบโทเฟล 2 ครั้ง เพราะคะแนนสอบจากครั้งแรกต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่มหาวิทยาลัยที่เราอยากจะสมัครกำหนดไว้ 3 คะแนน

"เราควรลองสอบอีกรอบดีมั้ยแก" เราพิมพ์ปรึกษาเพื่อนผ่านโปรแกรม MSN ซึ่งเป็นโปรแกรมแชทยอดนิยมในสมัยนั้น สอบโทเฟลมีค่าสอบ 5,000 กว่าบาท เป็นเงินจำนวนที่มากโขสำหรับเรา เราอยากถามความเห็นจากคนอื่นว่าจะคุ้มหรือไม่ถ้าเราจะสอบโทเฟลอีกครั้งในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ เนื่องจากใกล้หมดเขตส่งใบสมัครเรียนแล้ว 

 เพื่อนคนเดียวกับคนที่เคยจุดประกายความคิดในการไปเรียนต่อต่างประเทศตอบเรากลับมาว่า "แกอย่าฝืนทำอะไรเกินตัวเลย ทำไม่ได้ก็คือไม่ได้ อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงบ้าง" เพื่อนดุเรา เขามองว่า เรามีเวลาเตรียมตัวอีกเพียงไม่กี่วัน คงจะไม่ทำให้เราได้คะแนนดีขึ้นนัก เขากลัวเราจะเสียเงินและจะผิดหวังเปล่า เราบอกลาเพื่อนเพราะดึกมากแล้ว เพื่อนบอกให้ไปนอน อย่าคิดมาก พรุ่งนี้เริ่มต้นชีวิตใหม่ 

เราร้องไห้... "อย่าทำอะไรที่เกินตัว" "เราทำไม่ได้" "เราต้องอยู่บนโลกแห่งความจริง"  เราคิดทบทวนซ้ำๆ 

Click here to confirm your exam schedule.

 เรากด Enter เพื่อยืนยันเลือกวันสอบ ก่อนปิดคอมพิวเตอร์และเข้านอน 

โลกแห่งความเป็นจริงเป็นอย่างไร? เราก็คงจะไม่มีวันรู้ หากเราไม่กล้าเผชิญหน้ากับมัน 

 "Gam, you have a very beautiful smile" Dr. Cox อาจารย์คนหนึ่งพูดกับเรา จริงๆ แล้วเราไม่ได้มียิ้มที่สวยอะไรหรอก แต่เขาแซวเราต่างหากที่เราแทบจะไม่เคยแสดงความคิดเห็นอะไรในห้องเรียน สำหรับคนที่ไม่เคยได้ใช้ภาษาอังกฤษอย่างจริงจังในชีวิต แค่ฟังคนอื่นพูดให้รู้เรื่องก็ยากมากแล้ว อย่าว่าแต่ให้พูดอะไรกลับเลย ฟังอาจารย์พูดยังไม่ยากเท่าไหร่ เพราะอาจารย์ส่วนใหญ่จะตั้งใจพูดเพื่อให้นักศึกษาต่างชาติสามารถเข้าใจได้ แต่เพื่อนฝรั่งร่วมห้องน่ะซิ เราแทบจะเอาหัวโขกโต๊ะ เวลาเขาพูดในชีวิตจริงมันต่างจากในภาพยนตร์หรือในรายการข่าวมาก บางคนก็อมเสียงอยู่ในลำคอ บางคนก็พูดเร็วราวกับมีคนไปกดปุ่มเร่ง speed ความเร็ว 1.5 เท่า หลายครั้ง เรานั่งมองคนอื่นๆ ในห้องแล้วก็ถามตัวเองในใจ "นี่เขาพูดอะไรกันว่ะเนี่ย...จะรอดมั้ยเนี่ยเรา" 

พอหมดชั่วโมงเรียน เราก็รีบไปทำงานต่อที่ห้องอาหารของมหาวิทยาลัย ช่วงนี้ เราได้ชั่วโมงทำงานที่ห้องอาหารเยอะขึ้น เพราะมีนักเรียนที่เคยทำตำแหน่งล้างจานลาออกไป 

 "เป็นคนล้างจาน (dish washer)" เท่ห์อ่ะ เป็นนักเรียนนอกทำงานล้างจาน ล้มลุกคลุกคลานเหมือนที่เคยได้ยินมาเลย น่าสนุก เราก็หาเรื่องคิดบวกไปตามประสา 

ในห้องล้างจานของห้องอาหารที่นี่มีเครื่องล้างจานขนาดใหญ่ หน้าที่ของคนล้างจานคือ เอาสายยางฉีดน้ำไล่เศษอาหารจากภาชนะต่างๆ ลงตะแกรงปั่น แล้วเรียงพาชนะใส่กระบะ ลำเลียงเข้าเครื่องล้างจาน จานชามก็จะไหลตามสายพานเข้าไปในเครื่อง ภาชนะไหลที่ออกมาจากเครื่องสะอาด แห้ง จากนั้นเราก็มีหน้าที่เอาไปเรียงเก็บตามจุดตั้งภาชนะต่างๆ 

ขณะที่เรากำลังฉีดน้ำไล่เศษอาหารอย่างเมามัน "Almost done, Gam" (เกือบจะเสร็จแล้วล่ะ) Abraham เพื่อนนักเรียนผิวดำแอฟริกันที่ล้างจานอยู่คู่กันในวันนั้นพูดกับเรา เรามองไปที่นาฬิกาติดพนัง ถึงเวลาปิดประตูโรงอาหารแล้ว ทำความสะอาดภาชนะต่างๆ ให้เสร็จ ก็กลับบ้านได้ 

ซักพัก พ่อครัวแม่ครัวก็ทยอยขนอุปกรณ์เครื่องครัวออกมาใส่เครื่องล้างจาน ขณะที่เรากำลังง่วนอยู่กับกับจัดเรียงเครื่องครัวเข้าเครื่องล้างจาน ถาดใส่อาหารเริ่มถูกลำเลียงเข้ามาตามสายพาน พิซซ่าร้อนๆ ที่เพิ่งออกมาจากเตา คุ้กกี้อุ่นๆ อาหารอื่นๆ ที่ดูแล้วเหมือนเพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ ถูกขนมากองไว้ตรงหน้าเรา 

"Dump everything in the trash can" (โยนทุกอย่างลงถังขยะเลย) Abraham คงเห็นว่าเรานิ่งไปจึงเริ่มสั่งการ 

"นี่มันอาหารดีๆ ทั้งนั้นเลยนะเนี่ย" เราตกใจ Abraham บอกว่า ที่นี่มีกฎว่า ทุกวันจะต้องเทอาหารทุกอย่างทิ้ง ห้ามเก็บข้ามวัน ห้ามไม่ให้นักเรียนหรือพนักงานเอากลับไปทานต่อที่บ้าน เพราะหากมีคนเอาอาหารกลับไปทานที่บ้าน อาจจะมีการจัดเก็บอาหารที่ไม่ถูกต้อง เมื่อทานไปแล้วเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ก็อาจจะกลับมาฟ้องร้องมหาวิทยาลัยได้ 

เราหยิบพิซซ่าร้อนๆ ถาดแรกโยนลงถังขยะ น้ำตาเราเกือบจะไหล แม้ว่าในชีวิตนี้เราจะยังไม่เคยรู้จักกับความอดอยาก แต่เราก็ไม่เคยทิ้งขว้างอาหารมากมายขนาดนี้ ขณะที่เทอาหารลงถังขยะ ในหัวของเราก็มีภาพของทหารชายแดนที่เมืองไทยขูดเศษข้าวไหม้ๆ จากหม้อกินประทังชีวิต ภาพเด็กเอธิโอเปียที่ผอมแห้งหัวโตท้องบวมยืนมือขออาหารจากนักท่องเที่ยว... 

 เราก็พอเข้าใจนะว่าเป็นการป้องกันตัวทางกฎหมายของมหาวิทยาลัย แต่ในแต่ละวันจะต้องมีอาหารถูกเททิ้งไปมากแค่ไหน เด็กนักเรียนบางคนก็ตักอาหารทิ้งๆ ขว้างๆ บางทีตักอาหารไปแล้วชิมไป 1 คำ ไม่ถูกใจก็โยนทิ้ง แค่ห้องอาหารเดียวที่เราเห็น ก็ 2 - 3 ถังขยะขนาดใหญ่แล้ว แล้วทั่วประเทศอเมริกาล่ะ จะเยอะแค่ไหน ในหัวก็จินตนาการเห็นภาพอาหารกองเท่าภูเขา 

เราเสียใจมากที่เราได้เห็นว่า จริงๆ แล้วโลกของเรามีทรัพยากรเหลือเฟือ แต่ปัญหาคือ เราไม่สามารถกระจายทรัพยากรเหล่านี้ให้ทั่วถึงได้ด้วยข้อจำกัดด้านระยะทางและอายุที่จำกัดของอาหาร ในขณะที่สำหรับบางคน เศษขนมปังก้อนเล็กๆ ก็อาจจะช่วยประทังชีวิตไปได้หลายวัน ก็มีคนจำนวนมากที่กินเหลือ กินทิ้งกินขว้าง โดยที่ไม่เคยมองเห็นคุณค่าของมัน 

หลังจากที่เราทำงานไปได้ซักพัก เราก็ขออนุญาติ manager ของห้องอาหาร เก็บเศษขนมปังไปโยนให้เป็ดที่บึงน้ำในป่านอกมหาวิทยาลัยกิน manager บอกว่า เอาไปให้ไปได้ แต่ห้ามเอาไปกินเองนะ 5555 ที่บึงนั้นมีเป็ดอาศัยอยู่จำนวนมาก ทุกวันอาทิตย์ เราก็จะปั่นจักรยานออกไปที่บึงน้ำ ฝูงเป็ดก็มารอเราที่จุดนัดหมาย กินขนมปังที่เรารวบรวมมากันจนอวบอ้วน 

เอาว่ะ...ช่วยลดขยะอาหารไปได้หน่อย น้องเป็ดก็อิ่มท้องด้วย 
เราก็คงทำได้แค่นี้... เห้อ...



Create Date : 30 ธันวาคม 2559
Last Update : 30 ธันวาคม 2559 4:45:42 น.
Counter : 1165 Pageviews.

0 comment
Me Myself & I เมื่อเราได้เจอกับความเหงาแบบตัวต่อตัว
ความคิดที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศอเมริกาได้ก่อตัวชัดเจนขึ้นในหัวของเรา เราไม่ได้คิดถึงประเทศอื่นเลย คงเป็นเพราะอเมริกาเป็นประเทศที่มีคนไทยไปเรียนต่อและพูดถึงเยอะที่สุด

เราเริ่มไปคุยกับเอเยนซี่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเรียนต่อต่างประเทศเพราะมีคนแนะนำว่าการสมัครเรียนและขอวีซ่าทำได้ยาก เอเยนซี่พวกนี้จะดำเนินการให้ ทุกอย่างจะง่ายขึ้น แต่หลังจากที่คุยกับหลายๆ เอเยนซี่แล้ว เรากลับรู้สึกว่าข้อมูลที่ได้ฟังดูคลุมเครือและทางเลือกมหาวิทยาลัยมีค่อนข้างจำกัด อาจจะเป็นเพราะเอเยนซี่พวกนี้คงมีข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยที่ทำสัญญากันไว้ เราจึงเริ่มหาข้อมูลด้วยตัวเองจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราก็พบว่า ทุกอย่างไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ได้บอกวิธีการสมัครไว้หมดแล้วเป็นขั้นเป็นตอน เอกสารที่ต้องการมีอะไร...กรอกเอกสารอย่างไร...ส่งไปที่ไหน...ค่าใช้จ่ายจริงเท่าไหร่...ขอวีซ่าทำอย่างไรหากขยันอ่านขยันหาข้อมูล อาจจะใช้เวลานานกว่า เหนื่อยกว่า แต่ข้อมูลที่ได้ครบถ้วนตามจริง เป็นประโยชน์สำหรับการตัดสินใจของเรามากกว่า อีกทั้ง เรายังได้เรียนรู้หลายๆ อย่างจากกระบวนการนั้นด้วย

-----------

เราตัดสินใจย้ายออกจากหอพักนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เพราะรู้มาว่าห้องเช่าข้างนอกมหาวิทยาลัยจะถูกกว่ามาก เราได้เช่าห้องพักในบ้านหลังหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยมากนัก ค่าเช่าเดือนละ $200 รวมค่าน้ำค่าไฟ ถือว่าถูกมาก ชั้นใต้ดินของบ้านหลังนี้มีผู้เช่าคือ Jeffry หนุ่มลูกครึ่ง American-Spenish อายุรุ่นเดียวกับเรา ชั้น 1 เป็นของคู่รักนักเรียนชาวจีน ชั้นสองมี 3 ห้องนอน แชร์ห้องน้ำและห้องครัว มีเรา คริสตัล เด็กนักศึกษาชาวจีน อายุอ่อนกว่าเรา และเป็ก นักศึกษาชาวไต้หวัน อายุเยอะกว่าเรามาก 113 Broad St. เป็นเลขที่ของบ้านหลังนี้

ห้องของเรากว้างกว่าคนอื่นๆ พรมเก่าๆ มีสีน้ำตาลเหลืองและมีวอร์เปเปอร์ทำจากใบไม้แห้งสีน้ำตาลเหลืองแปะเต็มผนังห้อง ใครๆ มาเห็นก็ขำบอกว่ามันน่าเกลียด แต่เรากลับชอบ รู้สึกมองดูแล้วอบอุ่นดี เหมือนมีฤดูใบไม้ร่วงเป็นของตัวเอง มีตู้แอร์แบบโบราณติดไว้ที่หน้าต่างด้านหนึ่ง เปิดทีก็เสียงดังโครกคราก ไม่ไกลจากบ้านเป็นสถานีรถไฟ ในหนึ่งวันจะได้ยินเสียงหวูดรถไฟหลายครั้ง ดึกๆ ฟังแล้ววังเวงยังไงชอบกล แต่ไปๆ มาๆ บรรยากาศเหล่านี้ก็ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจ เหมือนเป็นบ้านหลังหนึ่งของเรา

เราไม่มีเครื่องเฟอร์นิเจอร์อะไรมากมาย มีโต๊ะและเก้าอี้ไม้ขนาดพอตั้งคอมพิวเตอร์ได้ ราคา 5 เหรียญ 10 เหรียญ ได้มาจากร้าน thrift shop (ร้านขายของมือสองของฝรั่ง) เตียงเป่าลมที่ถ้านั่งตรงขอบเตียงอย่างไม่ระมัดระวังก็อาจจะพลิกคว่ำได้ และชั้นหนังสือที่ประยุกต์มาจากกล่องลังกระดาษที่เราไปเก็บๆ มา

เราไม่ค่อยออกไปเฮฮากับใครเท่าไหร่ เพราะเราทำงานพิเศษค่อนข้างเยอะ เวลาว่างไม่ค่อยตรงกับคนอื่น อีกเหตุผลหนึ่งคือ เราไม่ค่อยอยากจะใช้เงินโดยที่ไม่จำเป็น "ทำไมพี่แก้มต้องทำงานเยอะแยะแบบนี้?" เพื่อนรุ่นน้องคนไทยถาม เราก็ตอบไปตามตรงว่า เราต้องหาเงินจ่ายค่าเทอม แต่ก็ดูเหมือนเขาจะไม่ค่อยเข้าใจ เพื่อนคนไทยที่มาเรียนต่อที่นี่เขามีเงินมาพร้อม ไม่จำเป็นต้องมาทำงาน หรืออาจจะมาทำงานพิเศษหาค่าขนมนิดหน่อย เขาอาจจะไม่เข้าใจว่า ถ้าไม่มีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่าย แล้วจะมาทำไม เราเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากล้ามาได้ยังไง แต่หัวใจมันบอกว่าให้มา

"บางครั้งเราก็ต้องปล่อยให้หัวใจเป็นผู้นำทางชีวิตบ้าง จะเป็นอะไรไป"

หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ เมืองไทย เราก็ได้ทำงานในวงการโฆษณา มีชีวิตที่ค่อนข้างหวือหวาน่าตื่นเต้น (เคยคิดว่าเป็นแบบนั้น) ได้พบเจอดารา คนมีชื่อเสียง ได้รับเชิญไปงานเลี้ยง งานเปิดตัวสินค้าต่างๆ มีคนมาเรียกเราว่า คุณค๊ะ คุณขา แต่หลังจากที่ทำได้อยู่ 3 ปี เราก็รู้สึกว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรกับชีวิตของเรามากนัก ทุกอย่างทำไปเพื่อยอด Billing และยอดขายของบริษัทผู้ผลิตสินค้า เมื่อชีวิตแบบนั้นไม่น่าดึงดูดสำหรับเราอีกต่อไป เราก็ตั้งใจไว้ว่า เราจะใช้ช่วงเวลา 2 ปีในอเมริกา ไปกับการอยู่กับตัวเอง ค้นหาตัวเอง เพื่อตอบคำถามที่ว่า "ฉันคือใคร? และอยากจะทำอะไร?"

เรากำลังเดินกลับบ้านหลังจากไปทำงานที่ห้องสมุด ตอนนั้น น่าจะเป็นเวลาทุ่มกว่าๆ เราเดินอยู่คนเดียวในมหาวิทยาลัย นักเรียนคนอื่นๆ คงกลับบ้านไปหมดแล้ว แต่ด้วยความที่ยังเป็นช่วงเวลาฤดูใบไม้ร่วงของที่นี่ ทำให้พระอาทิตย์ตกช้ากว่าปกติ ยังมีแสงดวงอาทิตย์ส้มๆ ให้เห็นรำไร นกกากำลังบินกลับรัง นกฝูงหนึ่งโผ่ลงเกาะบนต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งที่เรากำลังเดินผ่าน พวกมันทำเสียงเจี๊ยวจ๊าวมีความสุข ทำให้แอบเปรียบเทียบตัวเองกับนก ที่ห้องพักของเรา...ก็มีแต่ห้องเปล่าๆ ไม่มีใครกำลังรอเราอยู่ แต่นกฝูงนี้บินกลับมาเจอกันที่ต้นไม้ที่พัก เจอกัน ทักทายกัน มันคงกำลังจะเล่าสู่กันฟังว่า วันนี้ไปเจออะไรมาบ้าง "พ่อๆ วันนี้แม่ได้หนอนมาตัวหนึ่ง ใหญ่ม๊าก" "แม่ๆ ที่หน้าโรงอาหารมีเด็กมาโปรยขนมปังด้วยนะ พรุ่งนี้เราไปที่นั่นกัน" "เห้ยไอ้ขาว เอ็งหายไปไหนมาวันนี้ บินหาทั้งวันเลย"...

รู้ตัวอีกที...น้ำตาไหล...
เหงาจับใจ...บางทีก็อยากเป็นนก...



Create Date : 26 ธันวาคม 2559
Last Update : 26 ธันวาคม 2559 11:24:42 น.
Counter : 408 Pageviews.

0 comment
แขก... มิตรที่ต้องเอาไม้ตีหัวก่อนงู


ก่อนที่จะมาอเมริกา มีหลายคนได้หัวเราะเยาะกับความคิดของเรา "จะไปเรียนอเมริกา? มีเงินเหรอ" "จะไปได้เหรอ อย่าคิดเกินตัวเลย เดี๋ยวจะผิดหวัง" คำพูดหวังดีปนสบประมาทไม่ได้มีผลอะไรสำหรับเรามากนัก เพราะเรามัวแต่ครุ่นคิดหาวิธีที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศให้ได้ มีหลายอย่างที่ต้องคิด ต้องวางแผน เงินเป็นล้านจะไปหามาจากไหน? สอบโทเฟลตอนนี้เป็นรูปแบบใหม่ วัดทุกทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน เราไม่เก่งซักอย่าง แล้วจะทำยังไง? 

เราใช้เวลา 3 ปี ในการรวบรวมทรัพยากรทุกอย่าง เงิน เวลา สมอง ทุกวินาทีคิดแต่ว่าจะต้องไปเรียนต่อที่อเมริกาให้ได้ เงินเก็บทุกบาททุกสตางค์ ไม่กิน ไม่เที่ยว ลงเรียนภาษาเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือ ฟังวิทยุภาษาอังกฤษ ว่างๆ ก็หัดเขียนบทความ พูดกับตัวเอง
เป็นช่วงชีวิตที่เรามีความมุ่งมั่นมากๆ เราชอบตัวเองในเวลานั้นจริงๆ

เราลืมตาขึ้นแบบงงๆ นี่เราอยู่ที่ไหน? ตอนนี้เช้าหรือเย็น? สับสนไปหมด... นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักกับอาการเจ็ทแล็ก (jet lag) เราค่อยๆ มองไปรอบๆ ตัว ปะติดปะต่อเหตุการณ์ อ่อ... ตอนนี้เราอยู่ในหอพักนักศึกษาที่อเมริกา หันไปดูนาฬิกา "5 pm" ห้าโมงเย็นแล้ว  ระหว่างที่กำลังงงๆ อยู่ ประตูห้องก็เปิด เด็กผู้หญิงหน้าตาแขกเดินเข้ามา "Hello" เธอทักทาย เธอนั่งลงที่เตียงนอนอีกเตียงที่ตั้งอยู่ข้างๆ เตียงเรา "My name is Anita." ฉันชื่ออนิตา เธอแนะนำตัวเอง

อนิตา เด็กสาวชาวอินเดีย เพื่อนคนแรกของเราในแผ่นดินอเมริกา

คนไทยชอบเรียกคนอินเดียว่า "แขก" เรามักจะพูดติดตลกว่า "ถ้าเจองูกับเจอแขก ให้เอาไม้ตีหัวแขกก่อน" แม้ว่าเราจะไม่เคยรู้จักกับคนอินเดียเป็นการส่วนตัว แต่คำกล่าวที่ว่าก็ทำให้เรามีอคติกับคนอินเดียอยู่ไม่น้อย เราจึงรู้สึกผิดหวังที่ได้พบว่านักเรียนต่างชาติที่นี่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนจากประเทศอินเดีย "นี่ฉัน...นอกจากจะต้องมาอยู่กลางทุ่งกลางนาแล้ว ยังจะต้องมาอยู่ในกลุ่มคนอินเดียอีกเหรอ..." ชีวิตในอเมริกาของเราเริ่มต้น ได้ไม่สวยหรูอย่างที่จินตนาการไว้

อนิตา อายุอ่อนกว่าเราหลายปีตอนนั้นเธอกำลังเรียนในระดับชั้นปริญญาตรี เธอคงเป็นคนที่พูดจาอย่างตรงไปตรงมาไม่รู้จักรักษาน้ำใจ วันหนึ่งเราเตรียมตัวไปสอบภาษาอังกฤษเพิ่มเติม เพราะคะแนนโทเฟลที่ใช้ยื่นสมัครของเราไม่สูงมากแค่แตะๆ ระดับคะแนนขั้นต่ำของมหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้ นักเรียนที่สอบไม่ผ่านจะต้องลงเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมคำนวณแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก $9,000 ซึ่งเราก็กังวลใจอยู่ไม่น้อยเพราะไม่อยากให้มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นโดยที่ไม่จำเป็น

"ยูยังพูดไม่ค่อยรู้เรื่องเลย เราว่ายูน่าจะสอบไม่ผ่านและจะต้องไปเรียนภาษาอังกฤษอีกครั้ง เตรียมตัวจ่ายเงิน 9000 เหรียญได้เลย" อนิตา อวยพรเราก่อนไปสอบด้วยสีหน้าและแววตามีความสุข เรามองหน้ากลมกลมและดวงตาใสแป๋วของเธอ แล้วคิดในใจว่าอยากจะตบกะโหลกเธอเบาๆ โชคดีที่คำอวยพรของอนิตาไม่สัมฤทธิ์ผล เราสอบภาษาอังกฤษเพิ่มเติมผ่านและสามารถเข้าเรียนในคลาสของนักศึกษาปริญญาโทต่อได้เลย

ในคณะที่เราเรียนมีนักเรียนต่างชาติไม่มากนัก เพื่อนต่างชาติที่ลงเรียนวิชาเหมือนๆ กันอยู่ประจำมีผู้หญิงชาวอินเดียสองคน ทำให้เราต้องสนิทกับพวกเขาไปโดยปริยาย

อุปปิ เป็นผู้หญิงที่มีความมั่นใจสูง คิดเร็ว พูดเร็ว ทำให้หลายๆ ครั้งอุปปิกลายเป็น คนชี้นำความคิดของคนในกลุ่ม หลายครั้งเราต้องพยายามพูดหรือทำอะไรให้เร็วขึ้น ไม่เช่นนั้น เราก็จะไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นอะไรในงานกลุ่ม กลายเป็นลูกน้องของเขา

โมนา
เป็น คนขี้อาย ไม่ค่อยมีความมั่นใจ ทำอะไรไม่ค่อยเป็น โมนาคงเห็นว่าเราเป็นคนใจเย็นและชอบช่วยเหลือคนอื่น ทุกครั้งที่โมนาโทรศัพท์มาหาเรา บทสนทนาก็จะออกมาในรูปนี้ โมนา: "Hi, Gam. How are you?" สวัสดีจ๊ะแก้ม สบายดีมั้ย เรา: "I'm good. How are you?" สบายดี แล้วเธอล่ะโมนา: "I'm fine. Could you please do me a favor?" ฉันสบายดี ฉันมีอะไรจะขอให้เธอช่วยล่ะ
ทุกครั้งที่โทรมาโมนาก็จะจบคำทักทายด้วย "Could you please do me a favor?" จากนั้นก็จะเป็นการขอความช่วยเหลือต่างๆนานา จนกระทั่งวันหนึ่งเราทนไม่ไหวเพราะตัวเองก็เอาตัวแทบจะไม่รอดอยู่แล้ว เราจึงบอกเค้ากลับไปว่า "ทุกครั้งที่เธอโทรมาทำไมจะต้องมีเรื่องมาขอความช่วยเหลือเราเสมอเราทำให้เธอตลอดไม่ได้หรอกนะ" แล้วโมนาก็ไม่โทรมาหาเราอีก

อย่างที่บอกไปในตอนที่แล้วว่าเราเองก็พกเงินติดตัวมาไม่มากนัก เราจึงจำเป็นจะต้องหางานพิเศษในมหาวิทยาลัย จากคำแนะนำของเพื่อนคนไทยที่อยู่มาก่อนหน้า เราเดินเวียนไปตามออฟฟิตต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เพื่อสอบถามว่ามีที่ไหนกำลังต้องการนักเรียนมาช่วยงานบ้าง แต่ดูเหมือนว่าทุกที่ๆ เราไปสอบถาม เรามักจะช้ากว่าคนอื่นไปหนึ่งก้าวเสมอ โดยเฉพาะเด็กนักศึกษาชาวอินเดีย ทุกออฟฟิศที่เราไปสอบถามล้วนจ้างนักศึกษาชาวอินเดียทำงานไปเรียบร้อยแล้ว เราเคยถามกับเพื่อนชาวอินเดียว่าที่ไหนกำลังเปิดรับสมัครนักเรียนบ้าง พวกเขาก็มักจะตอบว่าไม่รู้ 

คนอินเดียมักจะช่วยเหลือกันและไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดมือไปให้กับคนชาติอื่น

มีคนบอกเราไว้อย่างนั้น

ในเทอมที่สอง เราได้ทำงานที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัย เนื่องจากเพื่อนชาวจีนได้แนะนำว่า ให้ลองไปสมัครงานตอนช่วงปิดเทอมซึ่งเป็นช่วงที่นักเรียนส่วนใหญ่ลากลับบ้านกัน ช่วงนั้นน่าจะมีตำแหน่งว่างบ้าง ตำแหน่งแรกที่เราได้ทำคือตำแหน่งแคชเชียร์มีหน้าที่คอยเก็บเงินจากนักศึกษาที่เข้ามาทานอาหาร ก่อนเลิกงานก็มีต้องทำความสะอาดโต๊ะอาหาร จัดเติมกระดาษเช็ดปากและซอสต่างๆ บนโต๊ะให้เรียบร้อยเตรียมพร้อมสำหรับวันต่อไป

อนิตาได้ทำตำแหน่งเดียวกัน วันหนึ่งขณะที่เรากำลังเช็ดโต๊ะในโซนเรา เราเห็นอนิตากำลังเช็ดโต๊ะเช่นกัน เธอคงจะเหนื่อย เพราะเธอเช็ดอย่างเชื่องช้าไร้เรี่ยวแรง พอเสร็จจากภารกิจในส่วนของเราแล้ว เราก็เดินไปหาอนิตา "มา...เดี๋ยวเราช่วย" เราเสนอตัวเค้าช่วยเพราะเห็นว่าเค้าเด็กกว่าเราหลายปี มีอะไรช่วยได้ก็ช่วยไป มือก็เริ่มเอาผ้าเช็ดโต๊ะอย่างรวดเร็ว "เธอไม่ต้องมาช่วย" อนิตาตอบ "อ้าวทำไมล่ะ จะได้เสร็จเร็วๆ รีบกลับไปพักผ่อนไง" เราตอบ อนิตา เดินเข้ามาใกล้ๆ แล้วกระซิบตอบเรา "ฉันพยายามทำงานช้าๆ จะได้จำนวนชั่วโมงทำงานเยอะๆ แล้วก็จะได้เงินเยอะขึ้นไง" เราแอบอึ้งกับคำตอบเล็กน้อย "เอ่อเว้ย คนอินเดียนี่มันเขี้ยวที่เขาว่าจริงๆ" เราคิดในใจ ปกติเราชอบทำอะไรให้เสร็จเร็วๆ แต่หลังจากวันนั้นเราก็ชะลอความเร็วในการทำงานลงเล็กน้อยตามคำแนะนำของอนิตา

เนื่องจากเราได้จำนวนชั่วโมงทำงานจากโรงอาหารไม่มากนัก จึงต้องพยายามมองหางานอื่นทำเพิ่ม วันหนึ่งเราเดินเข้าไปในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ตั้งใจว่าจะลองเดินถามหางานอีกครั้งหลังจากที่เคยล้มเหลวมาก่อน การหางานที่ห้องสมุดเป็นอะไรที่ท้าทายมาก เพราะมีนักเรียนจำนวนมากพยายามที่จะสมัครงานที่นี่ ขณะที่เรากำลังเดินเข้าไปในห้องสมุดเราเดินสวนกับโมนา เราเห็นเค้ายิ้มแย้มดีใจ ถือเอกสารสมัครงานอยู่ในมือ "เธอได้งานแล้วหรอเราดีใจด้วยนะ" เราสอบถามเขาพร้อมกับแสดงความยินดี โมนามองหน้าเราอยู่พักใหญ่ๆ ทำหน้าตาครุ่นคิดลังเล แล้วเธอก็พูดว่า "ไปหา Dr. Rob ที่ห้องคอมพิวเตอร์นะ ไปตอนนี้เลยนะ" เราเข้าใจทันทีว่าเธอหมายถึงอะไร เรารีบเดินไปตามที่โมนาบอก และเราก็ได้ทำงานที่ห้องคอมพิวเตอร์ในวันถัดไป

หลังจากนั้น เราก็เริ่มเปิดใจให้กับเพื่อนชาวอินเดีย มองพวกเขาด้วยอคติน้อยลง จนเราเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพวกเขา เขาชวนเราไปเที่ยวบ้านเช่าของพวกเขาซึ่งแบ่งซอยห้องถี่ยิบจะได้หารค่าเช่าได้ถูกลง ทำอาหารอินเดียให้เรากินซึ่งทำให้เสื้อผ้าของเรามีกลิ่นเครื่องแกงแขกติดไปอยู่หลายอาทิตย์  ชวนเราไปร่วมงานเลี้ยงซึ่งตบท้ายด้วยการเต้นรำสนุกสนานลืมโลกทุกครั้ง รวมถึงงานแต่งงานแบบพื้นเมืองซึ่งเราได้เห็นชุดแต่งงานและการเพ้นเฮนน่าที่สวยประทับใจ

คนอินเดียมักจะช่วยเหลือกันและไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดมือไปให้กับคนชาติอื่น

มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่ถ้าเราสามารถเข้าไปอยู่ในกลุ่มของพวกเขาได้ เรากลับได้พบว่า มิตรภาพของพวกเขามันช่างจริงใจและยิ่งใหญ่นัก วันนี้ เราไม่มีอคติกับคนอินเดียเหมือนกับวันแรกที่เราเหยียบแผ่นดินนี้ สิ่งที่พวกเขาประทับใจเราคือ เราเองก็เป็นคนจริงใจ ช่วยเหลือคนอื่นหากช่วยได้ และที่สำคัญ เราทำงานหนักและตั้งใจทำงานมาก คนอินเดียที่ว่าถึกและทนแล้ว เขาบอกว่า เราถึกและทนกว่าพวกเขาเสียอีก

สิ่งที่ยังประทับใจเราจนทุกวันนี้ คือ ในวันที่เราสำเร็จการศึกษาและขึ้นไปรับปริญญาบนเวที เวลาพิธีกรประกาศชื่อนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาให้เดินขึ้นเวทีไปรับปริญญาจากอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อนๆ และสมาชิกครอบครัวที่นั่งอยู่บนอัฒจรรย์ก็จะปรบมือ กรีดร้องยินดี จะดังมากดังน้อยก็ขึ้นอยู่กับความ popular ของแต่ละคน 

เสียงประกาศชื่อเพื่อนๆ ในคณะของเราดังขึ้น เราก็เดินต่อแถวเตรียมขึ้นไปบนเวที เราคิดอยู่ในใจว่า ในวันนี้เรามี พ่อ แม่ น้องชาย และเพื่อนๆ พี่ๆ คนไทยอีก 3 - 4 คนที่มาร่วมงานของเรา เสียงปรบมือคงมีให้ได้ยินบ้างล่ะ 

"Miss xxxx xxxx" ชื่อของเราดังขึ้น เราเดินขึ้นไปยืนบนจุดที่กำหนดไว้ ไม่ทันที่เราจะได้เอื้อมมือไปรับใบปริญญาจากมือของอาจารย์ เสียงกรีดร้อง ปรบมือก็ดังขึ้น "Gam Gam Gam!!!!" เราหันขวับด้วยความประหลาดใจ เสียงอุปปิเป็นนำขึ้นมา จากนั้นอีกหลายๆ คนก็ตะโกนตาม เรารู้ได้ทันทีว่า นั่นคือเสียงของเพื่อนๆ ชาวอินเดียของเรา เสียงของพวกเขาดังมาก ดังมากกว่าเสียเชียร์นักศึกษาคนอื่นๆ ก่อนหน้าเราเสียอีก 

นอกจากใบปริญญาที่เราเหน็ดเหนื่อยทุ่มเทสู้ให้ได้มาแล้ว เรายังได้รับมิตรภาพดีๆ มิตรภาพที่ยิ่งใหญ่จากเพื่อนๆ ต่างชาติที่เดินทางมาไกลจากประเทศอินเดียกลุ่มนี้ 



Create Date : 23 ธันวาคม 2559
Last Update : 23 ธันวาคม 2559 23:33:51 น.
Counter : 345 Pageviews.

0 comment
สิ่งที่คิด...กับสิ่งที่เป็น...ก้าวแรกบนแผ่นดินที่เรียกว่าอเมริกา


กำลังจะเข้าปีที่ 10 สำหรับชีวิตในประเทศอเมริกาของเรา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองจะมายืนอยู่ตรงนี้ บางครั้งชีวิตก็เหมือนกับได้ถูกออกแบบเอาไว้แล้วโดยใครซักคน บางครั้งทุกอย่างก็เหมือนกับถูกทิ้งไว้อยู่ในสองมือของเรา ให้คิด ให้เลือกทำของเราเอง

สำหรับครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่เคยได้มีโอกาสไปเที่ยวเมืองนอกเมืองนากับเขา บวกกับที่เราก็ไม่ได้เรียนเก่งโดดเด่นอะไร การไปเรียนต่อที่ต่างประเทศเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก ไม่เคยคิด แต่มีสิ่งหนึ่งที่ได้ก่อตัวขึ้นอยู่ภายในใจ เหมือนเสียงเรียกหาเราจากที่ไหนซักแห่ง ทุกครั้งที่มองขึ้นฟ้า เรามีความรู้สึกอยู่ลึกๆ ในใจว่า "ฉันต้องไป...ที่ไหนซักแห่ง ที่ๆ แสนไกล"

"แกคิดจะเรียนต่อโทภาคอินเตอร์เหรอ เราว่าไปเรียนเมืองนอกไปเลยดีกว่า ราคาพอๆ กัน"

เดี๋ยวๆๆๆ ไปเอาข้อมูลมาจากไหนค่ะแม่คู๊ณ ประโยคที่ว่านี้ผิดมหันต์ ก็มารู้ทีหลังว่าค่าใช้จ่ายมันต่างกันลิบ แต่ตอนที่ประโยคนี้ออกมาจากปากเพื่อนสนิทวิ่งเข้าโสตประสาทของเรา มันกลับเข้ามากระตุ้นอะไรบางอย่างในใจเรา..."ไปเรียนต่อเมืองนอก?"


ตัดภาพมาอีกที ล้อเครื่องบินกำลังจะแตะพื้นรันเวย์ ขอต้อนรับสู่รัฐ Missouri สนามบินปลายทางนี้มีชื่อว่า Kansas City International Airport (MIC) เป็นสนามบินเล็กเงียบๆ วันนั้นเป็นวันที่ 11 สิงหาคม 2550 ก่อนวันแม่ 1 วัน ไม่ได้เจตนาจะออกบินวันนี้แต่เป็นเพราะเราได้รับการตอบรับเข้าเรียนกระทันหันจึงไม่มีเวลาวางแผนอะไรมาก 

เราเดินออกมาจากเครื่องเพื่อไปนั่งรอรถตู้จากมหาวิทยาลัยมารับ ในใจตื่นเต้นเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เราจะได้ใช้ชีวิตในแผ่นดินที่ไม่ใช่แผ่นดินแม่ ไม่มีใครพูดถาษาที่เราพูดมาตั้งแต่เกิด ไกลจากพ่อจากแม่

"Are you going to Missouri?" (จะไปรัฐ Missouri เหรอ?) พนักงานสายการบินที่รัฐ San Francisco ถามเราขณะที่เรากำลังจะต่อเครื่องเพื่อมาลงที่ Missouri

"Yes" ใช่ค่ะ เราตอบไปตามเป็นจริง

พวกเขาหัวเราะ "why you go there? Missouri is a misery." (ไปรัฐนั้นทำไม? Missouri คือความ misery" ออกเสียงใกล้ๆ กัน แต่คำว่า misery แปลว่าความยากแค้นลำเค็ญ

คำถามของพวกเขายังติดอยู่ในหัว แต่ก็ไม่ได้รบกวนจิตใจอะไรมากเพราะเรากำลังตื่นเต้นกับชีวิตใหม่ของเรา

นั่งรออยู่ 5 ชั่วโมงก็ถึงเวลานัดที่รถตู้ของมหาวิทยาลัยจะมารับ เราก็เดินไปที่จุดนัดพบ มีนักเรียนที่ไปด้วยกันกับรถคันนี้อีก 2-3 คน

อเมริกาจะเป็นอย่างไรนะ?

จะมีตึกรามสวยงามอย่างที่เห็นในทีวีหรือเปล่า? จะมีร้านอาหารไทยเยอะมั้ยนะ? แสงสีเสียงคงจะตระการตาน่าดู?

เราไม่มีข้อมูลอะไรมากนั้นเกี่ยวกับเมืองนี้ เราเลือกสมัครเรียนที่นี่เพราะมีสาขาที่เราอยากเรียน คนไทยน้อย และค่าครองชีพไม่สูงมากนัก

รถตู้ค่อยๆ วิ่งออกจากเขตสนามบิน ภาพแรกที่เห็นคือ ทุ่งหญ้าแห้งผากเป็นสีเหลืองน้ำตาลไกลสุดลูกหูลูกตา มีม้วนฝากกลมๆ ขนาดใหญ่ตั้งอยู่เป็นระยะๆ วัว... ม้า... ท้องฟ้า...

ที่นี่คืออเมริกา...

ประสบการณ์แรกของเราในประเทศที่เราคิดว่าเป็นประเทศที่ศิวิไลซ์ ต้องน่าหวือหวาตื่นเต้นกว่าบางกอกเมืองหลวงของประเทศกำลังพัฒนาอย่างแน่แท้

1 ชั่วโมงผ่านไป รถวิ่งเขาเมืองที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ เราก็แอบลุ้นในใจว่ามันคงต้องมีอะไรให้เห็นบ้าง แต่บ้านเมืองที่เห็นก็ไม่ได้ให้หัวใจรื่นเริงได้มากขึ้นนัก ถนนหนทางไร้ผู้คน ร้านอาหารฟาสฟู้ด ตั้งอยู่ประปราย นานๆทีจะมีรถวิ่งสวนซักคัน

แอร์บนรถก็เย็นดี แต่ทำไมเหงื่อตก

หมดกัน ภาพที่สร้างไว้ก่อนที่จะมาอเมริกา ชีวิตที่หวือหวาน่าตื่นเต้น และที่หวั่นใจที่สุดคือ เรามีเงินมาไม่พอค่าใช้จ่ายทั้งหมดหรอก เพราะกะว่าจะมาทำงานเสริฟอาหารไทยหารายได้พิเศษตามภาพนักเรียนนอกชิคๆ ที่เราเคยเห็นในหนังในละคร แต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือแผ่นดินที่เงียบเหงาว่างเปล่า...

Missouri is a misery.


เข้าใจแล้ว... ว่าพนักงานสายการบินกำลังพยายามที่จะบอกอะไรกับเรา...



Create Date : 22 ธันวาคม 2559
Last Update : 23 ธันวาคม 2559 22:21:13 น.
Counter : 390 Pageviews.

0 comment

ชาเขียวไกลบ้าน
Location :
Washington D.C.  United States

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



กำลังจะครบรอบ 10 ปีที่เดินออกจากบ้านมายังดินแดนแสนไกลที่เรียกว่าอเมริกา มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในชีวิตที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง