แขก... มิตรที่ต้องเอาไม้ตีหัวก่อนงู


ก่อนที่จะมาอเมริกา มีหลายคนได้หัวเราะเยาะกับความคิดของเรา "จะไปเรียนอเมริกา? มีเงินเหรอ" "จะไปได้เหรอ อย่าคิดเกินตัวเลย เดี๋ยวจะผิดหวัง" คำพูดหวังดีปนสบประมาทไม่ได้มีผลอะไรสำหรับเรามากนัก เพราะเรามัวแต่ครุ่นคิดหาวิธีที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศให้ได้ มีหลายอย่างที่ต้องคิด ต้องวางแผน เงินเป็นล้านจะไปหามาจากไหน? สอบโทเฟลตอนนี้เป็นรูปแบบใหม่ วัดทุกทักษะ ฟัง พูด อ่าน เขียน เราไม่เก่งซักอย่าง แล้วจะทำยังไง? 

เราใช้เวลา 3 ปี ในการรวบรวมทรัพยากรทุกอย่าง เงิน เวลา สมอง ทุกวินาทีคิดแต่ว่าจะต้องไปเรียนต่อที่อเมริกาให้ได้ เงินเก็บทุกบาททุกสตางค์ ไม่กิน ไม่เที่ยว ลงเรียนภาษาเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือ ฟังวิทยุภาษาอังกฤษ ว่างๆ ก็หัดเขียนบทความ พูดกับตัวเอง
เป็นช่วงชีวิตที่เรามีความมุ่งมั่นมากๆ เราชอบตัวเองในเวลานั้นจริงๆ

เราลืมตาขึ้นแบบงงๆ นี่เราอยู่ที่ไหน? ตอนนี้เช้าหรือเย็น? สับสนไปหมด... นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักกับอาการเจ็ทแล็ก (jet lag) เราค่อยๆ มองไปรอบๆ ตัว ปะติดปะต่อเหตุการณ์ อ่อ... ตอนนี้เราอยู่ในหอพักนักศึกษาที่อเมริกา หันไปดูนาฬิกา "5 pm" ห้าโมงเย็นแล้ว  ระหว่างที่กำลังงงๆ อยู่ ประตูห้องก็เปิด เด็กผู้หญิงหน้าตาแขกเดินเข้ามา "Hello" เธอทักทาย เธอนั่งลงที่เตียงนอนอีกเตียงที่ตั้งอยู่ข้างๆ เตียงเรา "My name is Anita." ฉันชื่ออนิตา เธอแนะนำตัวเอง

อนิตา เด็กสาวชาวอินเดีย เพื่อนคนแรกของเราในแผ่นดินอเมริกา

คนไทยชอบเรียกคนอินเดียว่า "แขก" เรามักจะพูดติดตลกว่า "ถ้าเจองูกับเจอแขก ให้เอาไม้ตีหัวแขกก่อน" แม้ว่าเราจะไม่เคยรู้จักกับคนอินเดียเป็นการส่วนตัว แต่คำกล่าวที่ว่าก็ทำให้เรามีอคติกับคนอินเดียอยู่ไม่น้อย เราจึงรู้สึกผิดหวังที่ได้พบว่านักเรียนต่างชาติที่นี่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนจากประเทศอินเดีย "นี่ฉัน...นอกจากจะต้องมาอยู่กลางทุ่งกลางนาแล้ว ยังจะต้องมาอยู่ในกลุ่มคนอินเดียอีกเหรอ..." ชีวิตในอเมริกาของเราเริ่มต้น ได้ไม่สวยหรูอย่างที่จินตนาการไว้

อนิตา อายุอ่อนกว่าเราหลายปีตอนนั้นเธอกำลังเรียนในระดับชั้นปริญญาตรี เธอคงเป็นคนที่พูดจาอย่างตรงไปตรงมาไม่รู้จักรักษาน้ำใจ วันหนึ่งเราเตรียมตัวไปสอบภาษาอังกฤษเพิ่มเติม เพราะคะแนนโทเฟลที่ใช้ยื่นสมัครของเราไม่สูงมากแค่แตะๆ ระดับคะแนนขั้นต่ำของมหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้ นักเรียนที่สอบไม่ผ่านจะต้องลงเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมคำนวณแล้วจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก $9,000 ซึ่งเราก็กังวลใจอยู่ไม่น้อยเพราะไม่อยากให้มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นโดยที่ไม่จำเป็น

"ยูยังพูดไม่ค่อยรู้เรื่องเลย เราว่ายูน่าจะสอบไม่ผ่านและจะต้องไปเรียนภาษาอังกฤษอีกครั้ง เตรียมตัวจ่ายเงิน 9000 เหรียญได้เลย" อนิตา อวยพรเราก่อนไปสอบด้วยสีหน้าและแววตามีความสุข เรามองหน้ากลมกลมและดวงตาใสแป๋วของเธอ แล้วคิดในใจว่าอยากจะตบกะโหลกเธอเบาๆ โชคดีที่คำอวยพรของอนิตาไม่สัมฤทธิ์ผล เราสอบภาษาอังกฤษเพิ่มเติมผ่านและสามารถเข้าเรียนในคลาสของนักศึกษาปริญญาโทต่อได้เลย

ในคณะที่เราเรียนมีนักเรียนต่างชาติไม่มากนัก เพื่อนต่างชาติที่ลงเรียนวิชาเหมือนๆ กันอยู่ประจำมีผู้หญิงชาวอินเดียสองคน ทำให้เราต้องสนิทกับพวกเขาไปโดยปริยาย

อุปปิ เป็นผู้หญิงที่มีความมั่นใจสูง คิดเร็ว พูดเร็ว ทำให้หลายๆ ครั้งอุปปิกลายเป็น คนชี้นำความคิดของคนในกลุ่ม หลายครั้งเราต้องพยายามพูดหรือทำอะไรให้เร็วขึ้น ไม่เช่นนั้น เราก็จะไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นอะไรในงานกลุ่ม กลายเป็นลูกน้องของเขา

โมนา
เป็น คนขี้อาย ไม่ค่อยมีความมั่นใจ ทำอะไรไม่ค่อยเป็น โมนาคงเห็นว่าเราเป็นคนใจเย็นและชอบช่วยเหลือคนอื่น ทุกครั้งที่โมนาโทรศัพท์มาหาเรา บทสนทนาก็จะออกมาในรูปนี้ โมนา: "Hi, Gam. How are you?" สวัสดีจ๊ะแก้ม สบายดีมั้ย เรา: "I'm good. How are you?" สบายดี แล้วเธอล่ะโมนา: "I'm fine. Could you please do me a favor?" ฉันสบายดี ฉันมีอะไรจะขอให้เธอช่วยล่ะ
ทุกครั้งที่โทรมาโมนาก็จะจบคำทักทายด้วย "Could you please do me a favor?" จากนั้นก็จะเป็นการขอความช่วยเหลือต่างๆนานา จนกระทั่งวันหนึ่งเราทนไม่ไหวเพราะตัวเองก็เอาตัวแทบจะไม่รอดอยู่แล้ว เราจึงบอกเค้ากลับไปว่า "ทุกครั้งที่เธอโทรมาทำไมจะต้องมีเรื่องมาขอความช่วยเหลือเราเสมอเราทำให้เธอตลอดไม่ได้หรอกนะ" แล้วโมนาก็ไม่โทรมาหาเราอีก

อย่างที่บอกไปในตอนที่แล้วว่าเราเองก็พกเงินติดตัวมาไม่มากนัก เราจึงจำเป็นจะต้องหางานพิเศษในมหาวิทยาลัย จากคำแนะนำของเพื่อนคนไทยที่อยู่มาก่อนหน้า เราเดินเวียนไปตามออฟฟิตต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เพื่อสอบถามว่ามีที่ไหนกำลังต้องการนักเรียนมาช่วยงานบ้าง แต่ดูเหมือนว่าทุกที่ๆ เราไปสอบถาม เรามักจะช้ากว่าคนอื่นไปหนึ่งก้าวเสมอ โดยเฉพาะเด็กนักศึกษาชาวอินเดีย ทุกออฟฟิศที่เราไปสอบถามล้วนจ้างนักศึกษาชาวอินเดียทำงานไปเรียบร้อยแล้ว เราเคยถามกับเพื่อนชาวอินเดียว่าที่ไหนกำลังเปิดรับสมัครนักเรียนบ้าง พวกเขาก็มักจะตอบว่าไม่รู้ 

คนอินเดียมักจะช่วยเหลือกันและไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดมือไปให้กับคนชาติอื่น

มีคนบอกเราไว้อย่างนั้น

ในเทอมที่สอง เราได้ทำงานที่โรงอาหารของมหาวิทยาลัย เนื่องจากเพื่อนชาวจีนได้แนะนำว่า ให้ลองไปสมัครงานตอนช่วงปิดเทอมซึ่งเป็นช่วงที่นักเรียนส่วนใหญ่ลากลับบ้านกัน ช่วงนั้นน่าจะมีตำแหน่งว่างบ้าง ตำแหน่งแรกที่เราได้ทำคือตำแหน่งแคชเชียร์มีหน้าที่คอยเก็บเงินจากนักศึกษาที่เข้ามาทานอาหาร ก่อนเลิกงานก็มีต้องทำความสะอาดโต๊ะอาหาร จัดเติมกระดาษเช็ดปากและซอสต่างๆ บนโต๊ะให้เรียบร้อยเตรียมพร้อมสำหรับวันต่อไป

อนิตาได้ทำตำแหน่งเดียวกัน วันหนึ่งขณะที่เรากำลังเช็ดโต๊ะในโซนเรา เราเห็นอนิตากำลังเช็ดโต๊ะเช่นกัน เธอคงจะเหนื่อย เพราะเธอเช็ดอย่างเชื่องช้าไร้เรี่ยวแรง พอเสร็จจากภารกิจในส่วนของเราแล้ว เราก็เดินไปหาอนิตา "มา...เดี๋ยวเราช่วย" เราเสนอตัวเค้าช่วยเพราะเห็นว่าเค้าเด็กกว่าเราหลายปี มีอะไรช่วยได้ก็ช่วยไป มือก็เริ่มเอาผ้าเช็ดโต๊ะอย่างรวดเร็ว "เธอไม่ต้องมาช่วย" อนิตาตอบ "อ้าวทำไมล่ะ จะได้เสร็จเร็วๆ รีบกลับไปพักผ่อนไง" เราตอบ อนิตา เดินเข้ามาใกล้ๆ แล้วกระซิบตอบเรา "ฉันพยายามทำงานช้าๆ จะได้จำนวนชั่วโมงทำงานเยอะๆ แล้วก็จะได้เงินเยอะขึ้นไง" เราแอบอึ้งกับคำตอบเล็กน้อย "เอ่อเว้ย คนอินเดียนี่มันเขี้ยวที่เขาว่าจริงๆ" เราคิดในใจ ปกติเราชอบทำอะไรให้เสร็จเร็วๆ แต่หลังจากวันนั้นเราก็ชะลอความเร็วในการทำงานลงเล็กน้อยตามคำแนะนำของอนิตา

เนื่องจากเราได้จำนวนชั่วโมงทำงานจากโรงอาหารไม่มากนัก จึงต้องพยายามมองหางานอื่นทำเพิ่ม วันหนึ่งเราเดินเข้าไปในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ตั้งใจว่าจะลองเดินถามหางานอีกครั้งหลังจากที่เคยล้มเหลวมาก่อน การหางานที่ห้องสมุดเป็นอะไรที่ท้าทายมาก เพราะมีนักเรียนจำนวนมากพยายามที่จะสมัครงานที่นี่ ขณะที่เรากำลังเดินเข้าไปในห้องสมุดเราเดินสวนกับโมนา เราเห็นเค้ายิ้มแย้มดีใจ ถือเอกสารสมัครงานอยู่ในมือ "เธอได้งานแล้วหรอเราดีใจด้วยนะ" เราสอบถามเขาพร้อมกับแสดงความยินดี โมนามองหน้าเราอยู่พักใหญ่ๆ ทำหน้าตาครุ่นคิดลังเล แล้วเธอก็พูดว่า "ไปหา Dr. Rob ที่ห้องคอมพิวเตอร์นะ ไปตอนนี้เลยนะ" เราเข้าใจทันทีว่าเธอหมายถึงอะไร เรารีบเดินไปตามที่โมนาบอก และเราก็ได้ทำงานที่ห้องคอมพิวเตอร์ในวันถัดไป

หลังจากนั้น เราก็เริ่มเปิดใจให้กับเพื่อนชาวอินเดีย มองพวกเขาด้วยอคติน้อยลง จนเราเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพวกเขา เขาชวนเราไปเที่ยวบ้านเช่าของพวกเขาซึ่งแบ่งซอยห้องถี่ยิบจะได้หารค่าเช่าได้ถูกลง ทำอาหารอินเดียให้เรากินซึ่งทำให้เสื้อผ้าของเรามีกลิ่นเครื่องแกงแขกติดไปอยู่หลายอาทิตย์  ชวนเราไปร่วมงานเลี้ยงซึ่งตบท้ายด้วยการเต้นรำสนุกสนานลืมโลกทุกครั้ง รวมถึงงานแต่งงานแบบพื้นเมืองซึ่งเราได้เห็นชุดแต่งงานและการเพ้นเฮนน่าที่สวยประทับใจ

คนอินเดียมักจะช่วยเหลือกันและไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดมือไปให้กับคนชาติอื่น

มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่ถ้าเราสามารถเข้าไปอยู่ในกลุ่มของพวกเขาได้ เรากลับได้พบว่า มิตรภาพของพวกเขามันช่างจริงใจและยิ่งใหญ่นัก วันนี้ เราไม่มีอคติกับคนอินเดียเหมือนกับวันแรกที่เราเหยียบแผ่นดินนี้ สิ่งที่พวกเขาประทับใจเราคือ เราเองก็เป็นคนจริงใจ ช่วยเหลือคนอื่นหากช่วยได้ และที่สำคัญ เราทำงานหนักและตั้งใจทำงานมาก คนอินเดียที่ว่าถึกและทนแล้ว เขาบอกว่า เราถึกและทนกว่าพวกเขาเสียอีก

สิ่งที่ยังประทับใจเราจนทุกวันนี้ คือ ในวันที่เราสำเร็จการศึกษาและขึ้นไปรับปริญญาบนเวที เวลาพิธีกรประกาศชื่อนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาให้เดินขึ้นเวทีไปรับปริญญาจากอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อนๆ และสมาชิกครอบครัวที่นั่งอยู่บนอัฒจรรย์ก็จะปรบมือ กรีดร้องยินดี จะดังมากดังน้อยก็ขึ้นอยู่กับความ popular ของแต่ละคน 

เสียงประกาศชื่อเพื่อนๆ ในคณะของเราดังขึ้น เราก็เดินต่อแถวเตรียมขึ้นไปบนเวที เราคิดอยู่ในใจว่า ในวันนี้เรามี พ่อ แม่ น้องชาย และเพื่อนๆ พี่ๆ คนไทยอีก 3 - 4 คนที่มาร่วมงานของเรา เสียงปรบมือคงมีให้ได้ยินบ้างล่ะ 

"Miss xxxx xxxx" ชื่อของเราดังขึ้น เราเดินขึ้นไปยืนบนจุดที่กำหนดไว้ ไม่ทันที่เราจะได้เอื้อมมือไปรับใบปริญญาจากมือของอาจารย์ เสียงกรีดร้อง ปรบมือก็ดังขึ้น "Gam Gam Gam!!!!" เราหันขวับด้วยความประหลาดใจ เสียงอุปปิเป็นนำขึ้นมา จากนั้นอีกหลายๆ คนก็ตะโกนตาม เรารู้ได้ทันทีว่า นั่นคือเสียงของเพื่อนๆ ชาวอินเดียของเรา เสียงของพวกเขาดังมาก ดังมากกว่าเสียเชียร์นักศึกษาคนอื่นๆ ก่อนหน้าเราเสียอีก 

นอกจากใบปริญญาที่เราเหน็ดเหนื่อยทุ่มเทสู้ให้ได้มาแล้ว เรายังได้รับมิตรภาพดีๆ มิตรภาพที่ยิ่งใหญ่จากเพื่อนๆ ต่างชาติที่เดินทางมาไกลจากประเทศอินเดียกลุ่มนี้ 



Create Date : 23 ธันวาคม 2559
Last Update : 23 ธันวาคม 2559 23:33:51 น.
Counter : 345 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ชาเขียวไกลบ้าน
Location :
Washington D.C.  United States

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



กำลังจะครบรอบ 10 ปีที่เดินออกจากบ้านมายังดินแดนแสนไกลที่เรียกว่าอเมริกา มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในชีวิตที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง