สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ คลิ๊ก ... http://tutorlawgroup.blogspot.com/
Group Blog
 
All blogs
 
หลักกฎหมายทั่วไป : general principle (2)

3. หลักความเสมอภาคของบุคคลในการได้รับบริการสาธารณะ

หลักความเสมอภาคขยายขอบเขตมาสู่การเข้ารับบริการสาธารณะของประชาชนด้วย โดยหลักความเสมอภาคนี้ บังคับฝ่ายปกครองว่า ต้องให้บริการต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญอย่างเดียวกันในลักษณะเดียวกันภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันเดียวกัน แต่หลักนี้ไม่ห้ามที่ฝ่ายปกครองจะให้บริการต่อบุคคลที่แตกต่างกันในสาระสำคัญในลักษณะที่แตกต่าง เช่น สภาแห่งรัฐฝรั่งเศสเคยตัดสินว่า นักเรียนของโรงเรียนที่อยู่นอกเส้นทางของรถบริการรับส่งนักเรียน มีสถานะที่แตกต่างจากนักเรียนที่โรงเรียนของตนอยู่ในเขตเส้นทางการเดินรถของรถบริการรับส่ง เมื่อพิจารณาในแง่การเข้ารับบริการสาธารณะด้านการคมนาคมขนส่งนักเรียน รัฐจึงอาจปฏิบัติต่อนักเรียนทั้งสองเขตแตกต่างกันได้ (C.E., 19 มิถุนายน 1992, Département du Puy-de-Dôme c/Bouchon)

4. หลักความเสมอภาคของบุคคลต่อการรับภาระสาธารณะ

หลักความเสมอภาคของบุคคลต่อการรับภาระสาธารณะ เป็นบ่อเกิดของหลักกฎหมายอีกจำนวนมาก และใช้สำหรับเป็นเหตุผลในการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของนิติกรรมทางปกครองต่าง ๆ เช่น หลักความเสมอภาคของบุคคลต่อการรับภาระเสียภาษีให้รัฐ สภาแห่งรัฐเคยวินิจฉัยว่า กฎเกณฑ์ของเมือง Hanoï ที่กำหนดการจัดเก็บภาษีรถยนต์ใช้บังคับทั่วเขตเมืองดังกล่าว และไม่ได้ให้เอกสิทธิ์กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งในเขตเมืองนั้นเป็นการเฉพาะจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (C.E., 5 พฤษภาคม 1922) มาตรการต่าง ๆ ที่ฝ่ายปกครองออกมาจะต้องไม่ไปเพิ่มภาระให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ประกอบอาชีพเดียวกัน ทำให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบกัน
นอกจากนี้ หลักความเสมอภาคของบุคคลต่อการรับภาระสาธารณะยังเป็นบ่อเกิดของหลักความรับผิดโดยปราศจากความผิดของรัฐด้วย เช่น ในคดี Couiteas (30 พฤศจิกายน 1923) ซึ่งเป็นคำพิพากษาที่วางหลักความรับผิดโดยปราศจากความผิดของรัฐ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นในคดี เกิดจากการที่ฝ่ายปกครองปฏิเสธไม่ใช้กำลังเข้าจัดการบังคับให้มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโดยสภาแห่งรัฐ ตัดสินว่า รัฐบาลมีหน้าที่ในการกำหนดวิธีการที่จะบังคับตามคำพิพากษา ขณะเดียวกันก็มีสิทธิปฏิเสธที่จะใช้กำลังทางการทหารเข้าดำเนินการบังคับ หากเห็นว่าการใช้กำลังบังคับจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองขึ้น การปฏิเสธของรัฐบาลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองจึงเป็นการกระทำที่ชอบแล้ว แต่ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ชนะคดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลที่จะกำหนดว่า ค่าเสียหายดังกล่าวชุมชนต้องร่วมรับผิดชอบเท่าไร ค่าเสียหายที่ชุมชนต้องรับผิดชอบ คือ จำนวนความเสียหายที่ฝ่ายปกครองต้องชดใช้

2.2 หลักความเป็นกลาง (principe d’impartialité)

หลักความเป็นกลางเกิดขึ้นจากความคิดพื้นฐานที่ว่า หากบุคคลมีอำนาจสั่งการในเรื่องที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ บุคคลนั้นก็จะสูญเสียความเป็นกลางและจะไม่อาจสั่งการโดยปราศจากอคติในเรื่องนั้น ๆ ได้ ดังนั้น หลักนี้จึงนำมาใช้ในองค์กรของรัฐที่มีอำนาจวินิจฉัยตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักความเป็นกลางของผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งนำมาสู่หลักการคัดค้านผู้พิพากษาที่มีประโยชน์ได้เสียในคดีมิให้เป็นผู้วินิจฉัยในคดีนั้น หรือหลักความเป็นกลางขององค์กรฝ่ายปกครอง ที่ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกรรมการในคณะกรรมการใด ๆ ที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองพิจารณาและวินิจฉัยสั่งการหรือร่วมประชุมและลงมติในเรื่องใด ๆ ที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ ตามระบบกฎหมายไทย หลักดังกล่าวถูกนำมาบัญญัติรับรองไว้ในกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาตรา 13 ถึงมาตรา 20
สำหรับในต่างประเทศ ได้ยอมรับหลักความเป็นกลางในฐานะหลักกฎหมายทั่วไปมานานแล้ว และได้รับการรับรองไว้ในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Convention européenne de sauvegarde des droits de l’homme et des libertés fondamentales) มาตรา 6 – 1 วรรคแรก ที่ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิ์ที่จะถูกตัดสินการกระทำของตนโดยศาลที่อิสระและมีความเป็นกลาง ซึ่งได้รับการจัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างเป็นธรรม เปิดเผย ภายในระยะเวลาที่สมเหตุสมผล ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายแพ่งหรือการถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามกฎหมายอาญา” การห้ามมิให้ตุลาการวินิจฉัยตัดสินเรื่องใด ๆ ที่ตนมีส่วนได้เสียหรือห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายปกครองหรือกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาและวินิจฉัยสั่งการหรือลงมตินี้ ต้องตีความการมีส่วนได้เสียในลักษณะอย่างกว้าง คือ นอกจากเป็นกรณีที่ผู้ออกคำสั่งหรือวินิจฉัยมีความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่งกับผู้ยื่นคำร้องหรือคำฟ้องในเรื่องนั้น ๆ เช่น เป็นบุพการี ผู้สืบสันดาน คู่สมรส หรือญาติสนิทกับผู้ยื่นคำร้องหรือคำฟ้องแล้ว ยังรวมถึงกรณีที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยนั้น เคยพิจารณาวินิจฉัยสั่งการเรื่องนั้นมาก่อน ในโอกาสและสถานะอื่น เช่น เคยเป็นผู้พิพากษานั่งพิจารณาในคดีเดียวกันนั้น ในศาลอื่นมาแล้ว หรือเป็นอนุญาโตตุลาการมาแล้ว หรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่หรือกรรมการที่เคยพิจาณณาสั่งการหรือลงมติในเรื่องนั้นมาก่อนในตำแหน่งหรือสถานะอื่นด้วย ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาสภาแห่งรัฐฝรั่งเศส ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2003 ในคดี Dubreuil ในคดีนี้ ศาลวินัยทางงบประมาณและการคลังได้วินิจฉัยลงโทษปรับนาย Dubreuil อดีตผู้อำนวยการสำนักงานอาคารสงเคราะห์ระหว่างท้องถิ่นของมณฑลมณฑลหนึ่งฐานก่อหนี้เกินงบประมาณและอนุมัติการจ่ายเงินรายได้เพิ่มเติมให้แก่พนักงานของสำนักงานฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปรากฏว่า สมาชิกบางคนของศาลวินัยทางงบประมาณฯ ได้เคยพิจารณาการกระทำดังกล่าวของนาย Dubreuil มาแล้วในขณะที่ตนปฏิบัติหน้าที่ในศาลบัญชี สภาแห่งรัฐจึงตัดสินเพิกถอนคำวินิจฉัยของศาลวินัยทางงบประมาณฯ เพราะเหตุขัดกับหลักความเป็นกลาง

2.3 “หลักการมีสิทธิในการปกป้องตนเองของประชาชน” (12) (droit de la défense)

หลักการมีสิทธิในการปกป้องตนเองของประชาชน เป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่ให้สิทธิแก่บุคคลในการปกป้องนิติฐานะของตนจากการใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการของฝ่ายปกครอง หลักนี้บังคับว่า ก่อนการวินิจฉัยสั่งการที่อาจกระทบต่อสิทธิหรือประโยชน์อันชอบธรรมของบุคคลใด ฝ่ายปกครองต้องให้โอกาสบุคคลนั้น มีโอกาสโต้แย้งชี้แจงและแสดงพยานหลักฐานของตน ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลนั้นอยู่ในสถานะที่จะปกป้องสิทธิหรือประโยชน์ของตนได้อย่างแท้จริง ฝ่ายปกครองต้องแจ้งข้อเท็จจริงที่จะใช้เป็นข้อมูลในการออกคำสั่งและเหตุผลที่จะใช้ในการออกคำสั่งให้แก่บุคคลนั้นทราบ รวมทั้งต้องให้เวลาพอสมควรแก่บุคคลนั้นในการเตรียมพยานหลักฐานของตน
หลักการมีสิทธิปกป้องตนเองของประชาชนนี้ ในหลาย ๆ ประเทศไม่ได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรให้มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปสำหรับการกระทำของฝ่ายปกครองทุกประเภท แต่บัญญัติไว้ในกฎหมายเฉพาะบางฉบับเท่านั้น เช่น ในประเทศเบลเยี่ยม หลักนี้ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายเฉพาะฉบับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัย กฎหมายการสาธารณสุข กฎหมายประกันการว่างงาน เป็นต้น เช่นเดียวกับในประเทศฝรั่งเศส ก็ไม่ได้มีการบัญญัติหลักการมีสิทธิปกป้องตนเองของประชาชนไว้เป็นการทั่วไปสำหรับใช้บังคับกับนิติกรรมทางปกครองทุกประเภท แต่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยเท่านั้น แต่ศาลปกครองของประเทศเหล่านี้ได้นำหลักนี้มาใช้ในฐานะที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไปเพื่อจำกัดอำนาจของฝ่ายปกครองในการออกนิติกรรมอื่นที่มีผลกระทบสิทธิของปัจเจกชนด้วย กล่าวคือ แม้ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ ในการออกนิติกรรมทางปกครอง ฝ่ายปกครองก็ต้องเคารพต่อสิทธิการโต้แย้งคัดค้านของผู้ที่จะอยู่ภายใต้บังคับของนิติกรรมทางปกครองนั้น ในระยะแรก มีเพียงตัวอย่างการนำหลักการมีสิทธิปกป้องตนเองของประชาชนนี้มาใช้เมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น เช่น สภาแห่งรัฐเคยเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยนาย Téry โดยอ้างกฎหมายลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยที่รับรองหลักนี้ไว้ (C.E., 20 มิถุนายน 1913) ต่อมาในปี 1944 ในคดี Dame Veuve Trompier – Gravier สภาแห่งรัฐได้ยอมรับหลักการมีสิทธิปกป้องตนเองของประชาชนในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป กล่าวคือ แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หลักกฎหมายนี้ก็มีอยู่ ในคดีนี้ สภาแห่งรัฐได้เพิกถอนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้เพิกถอนการอนุญาตเปิดซุ้มขายหนังสือพิมพ์ โดยวางหลักว่าเมื่อคำสั่งทางปกครองมีลักษณะเป็นโทษและมีผลร้ายแรงต่อนิติสถานะของบุคคล ฝ่ายปกครองต้องเคารพหลักการมีสิทธิปกป้องตนเองของประชาชน คือ ต้องให้คู่กรณีมีสิทธิในการต่อสู้คัดค้านแสดงพยานหลักฐานก่อนที่จะออกคำสั่ง
สำหรับระบบกฎหมายไทย ได้นำหลักการมีสิทธิปกป้องตนเองของประชาชนมาบัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งมีผลใช้บังคับทั่วไป สำหรับการออกคำสั่งทางปกครองทุกประเภท

2.4 หลักเสรีภาพเป็นหลักทั่วไป การจำกัดเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น (La liberté est la regle et la restriction d’exception)

ในระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์นำมาซึ่งสิทธิเสรีภาพของพลเมือง โดยในธรรมนูญการปกครองประเทศของรัฐต่างๆ มักจะรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในด้านต่าง ๆ ของประชาชนไว้ ดังนั้น ประชาชนจึงมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลักทั่วไป แต่ทั้งนี้ การใช้สิทธิเสรีภาพของตนจะต้องไม่ไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นและไม่กระทบต่อส่วนรวม ดังนั้น ฝ่ายปกครองจึงต้องมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลมิให้ปัจเจกชนแต่ละคนใช้สิทธิเสรีภาพของตนเกินขอบเขตจนไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือกระทบต่อส่วนรวม ซึ่งในการดำเนินการตามหน้าที่ดังกล่าว ฝ่ายปกครองต้องมีอำนาจในการกระทำการ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าอำนาจในการกระทำของฝ่ายปกครองย่อมเป็นข้อจำกัดสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนเสมอ จึงเป็นที่มาของหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า สิทธิเสรีภาพเป็นหลักทั่วไป การจำกัดเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น การจำกัดสิทธิเสรีภาพจะทำได้ก็แค่เพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นหรือเพื่อพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
หลักนี้มีผลผูกพันต่อทิ้งฝ่ายปกครองและศาลปกครองให้ต้องเคารพ ภายใต้หลักเสรีภาพของปัจเจกชนกับการใช้อำนาจหรือข้อจำกัดเสรีภาพเป็นข้อยกเว้น โดยฝ่ายปกครองจะใช้อำนาจของตนอันเป็นการจำกัดเสรีภาพของบุคคลได้ ก็ต่อเมื่อปรากฏว่า การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลเป็นการกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจริง ๆ เท่านั้น ในกรณีเป็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลปกครอง ศาลต้องชั่งน้ำหนักว่ามาตรการที่ออกโดยฝ่ายปกครองได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดกับเอกชนหรือไม่ ในกรณีที่สงสัย ต้องตีความให้เป็นประโยชน์กับสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน เช่น คำพิพากษาของสภาแห่งรัฐฝรั่งเศสในคดี Benjamin (19 มิถุนายน 1993) สภาแห่งรัฐฝรั่งเศสได้พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายกเทศมนตรีที่ห้ามมิให้จัดประชุมฟังการแสดงปาฐกถาของนาย Benjamin เพราะความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมืองอันอาจเกิดจากการปรากฏตัวของนาย Benjamin มิได้ร้ายแรงถึงขนาดที่นายกเทศมนตรีจะไม่สามารถกำหนดมาตรการอื่นที่มีผลกระทบที่รุนแรงน้อยกว่าต่อสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

2.5 หลักความไม่มีผลย้อนหลังของนิติกรรมทางปกครอง (Non-rétroactivité des actes administratifs)

หลักนี้ห้ามมิให้ฝ่ายปกครองออกนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวให้มีผลบังคับย้อนหลัง ไม่ว่าจะเป็นนิติกรรมประเภทที่มีผลเป็นการทั่วไป คือ “กฎ” หรือนิติกรรมที่มีผลเฉพาะรายเฉพาะกรณี คือ “คำสั่งทางปกครอง” โดยหลัก กฎจะมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่วันที่มีการประกาศหรือวันถัดจากวันที่ประกาศหรืออาจกำหนดให้มีผลในอนาคตก็ได้ ส่วนคำสั่งทางปกครองจะมีผลใช้บังคับเมื่อมีการแจ้งให้ผู้อยู่ภายใต้บังคับทราบ (13)
ศาลปกครองฝรั่งเศสได้ยอมรับตลอดมาว่า ฝ่ายปกครองสามารถออกนิติกรรมทางปกครองที่มีผลบังคับสำหรับในอนาคตเท่านั้น ทั้งนี้ เว้นแต่มีรัฐบัญญัติกำหนดยกเว้นไว้โดยชัดแจ้ง(14) และได้เพิกถอนนิติกรรมทางปกครองที่มีผลย้อนหลัง (15) เช่น ในคดี Aurore ฝ่ายปกครองได้ออกข้อบัญญัติ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 1947 และประกาศใช้วันที่ 1 มกราคม 1948 ให้ขึ้นราคากระแสไฟฟ้า โดยให้มีผลใช้ย้อนหลังก่อนวันที่ 1 มกราคม 1948 อันเป็นวันประกาศใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว สภาแห่งรัฐฝรั่งเศสได้เพิกถอนข้อบัญญัติดังกล่าว โดยมีเหตุผลข้อหนึ่งว่า ข้อบัญญัติดังกล่าวฝ่าฝืนหลักกฎหมายที่ว่า “กฎที่ออกมาจะต้องมีผลใช้บังคับสำหรับอนาคตเท่านั้น”
แต่หลักความไม่มีผลย้อนหลังของนิติกรรมทางปกครองนี้ ศาลปกครองฝรั่งเศสมิได้ยอมรับในฐานะเป็น “หลักเด็ดขาด” แต่มีลักษณะสัมพัทธ์ กล่าวคือ หากมีกฎหมายยกเว้นให้นิติกรรมทางปกครองมีผลย้อนหลังได้แล้ว นิติกรรมทางปกครองก็สามารถมีผลย้อนหลังได้ โดยสภาแห่งรัฐฝรั่งเศสมักจะใช้ถ้อยคำว่า “เมื่อไม่มีกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติให้อำนาจไว้ ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจออกนิติกรรมทางปกครองให้ขัดกับหลักความไม่มีผลย้อนหลังของนิติกรรมทางปกครอง” (16)
แหล่งที่มาของหลักการไม่มีผลย้อนหลังของนิติกรรมทางปกครองตามระบบกฎหมายฝรั่งเศส มาจากการตีความมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายแพ่ง ที่ว่า “รัฐบัญญัติ (la loi) มีผลใช้บังคับสำหรับอนาคตเท่านั้น ไม่อาจมีผลย้อนหลังได้” แต่มิได้เป็นการนำมาตรา 2 มาใช้บังคับในกฎหมายปกครองโดยตรง และหลักการนี้เป็นการตีความให้สอดคล้องหรือเพื่อให้เกิดความมั่นคงในสถานะทางกฎหมายของบุคคลนั่นเอง
อย่างไรก็ดี หลักกฎหมายที่มาจากเหตุผลเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงทางนิติสถานะของบุคคลนี้ ยังมีหลักกฎหมายอีกหลักหนึ่งที่มีจุดมุ่งหมายในการรักษานิติสถานะของบุคคล เช่นเดียวกัน ก็คือ หลักการห้ามล่วงละเมิดต่อผลทางกฎหมายของนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียว (Principe d’intangibilité des effets des actes administratifs) หลักนี้ ห้ามมิให้ยกเลิกหรือเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองที่มีผลเป็นการเฉพาะรายอันเป็นการให้ประโยชน์ โดยหลักนี้ ห้ามฝ่ายปกครองกระทำการอันเป็นการกระทบต่อประโยชน์ที่บุคคลได้รับจากนิติกรรมทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย หลักกฎหมายนี้ศาลปกครองฝรั่งเศสได้ยอมรับในฐานะหลักกฎหมายทั่วไปที่ใช้บังคับได้แม้ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรกำหนดไว้ โดยศาลปกครองฝรั่งเศสจำกัดขอบเขตของการใช้หลักดังกล่าวต่อนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวที่มีผลเป็นการเฉพาะราย ซึ่งก็คือ คำสั่งทางปกครอง เท่านั้น และต้องเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย
อย่างไรก็ดี หลักนี้มิได้ส่งผลหนักแน่นขนาดว่า คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการให้ประโยชน์ จะไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยสิ้นเชิง แต่มีผลเพียงว่าการยกเลิกหรือเพิกถอนสถานะทางกฎหมายที่เกิดจากคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จะต้องดำเนินการตามขั้นตอน กระบวนการและรูปแบบที่รัฐบัญญัติกำหนดเท่านั้น ดังนั้น หากฝ่ายปกครองเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่มีกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติให้อำนาจและไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการและรูปแบบที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดแล้ว การเพิกถอนนั้นก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจถูกฟ้องเพิกถอนได้
สำหรับระบบกฎหมายไทยนั้น ได้มีการนำหลักดังกล่าวมากำหนดไว้ในกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 53 วรรคสอง ที่ว่า “คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่งทางปกครองอาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนโดยให้มีผลตั้งแต่ขณะที่เพิกถอนหรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กำหนดได้เฉพาะเมื่อมีกรณี
ดังต่อไปนี้
(1) มีกฎหมายกำหนดให้เพิกถอนได้หรือมีข้อสงวนสิทธิให้เพิกถอนได้ในคำสั่งทางปกครองนั่นเอง
(2) คำสั่งทางปกครองนั้นมีข้อกำหนดให้ผู้รับประโยชน์ต้องปฏิบัติ แต่ไม่มีการปฏิบัติภายในเวลาที่กำหนด
(3) ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ เช่นนี้ในขณะทำคำสั่งทางปกครองแล้วเจ้าหน้าที่คงไม่ทำคำสั่งทางปกครองนั้น และหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้
(4) บทกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีบทกฎหมายเช่นนี้ในขณะทำคำสั่งทาง
ปกครองแล้วเจ้าหน้าที่คงจะไม่ทำคำสั่งทางปกครองนั้น แต่การเพิกถอนในกรณีนี้ให้กระทำได้เท่าที่ผู้รับประโยชน์ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือยังไม่ได้รับประโยชน์ตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว และหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้
(5) อาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะหรือต่อประชาชนอัน
จำเป็นต้องป้องกันหรือขจัดเหตุดังกล่าว ...”
จากบทบัญญัติข้างต้น เห็นได้ว่า ระบบกฎหมายไทย ยอมรับว่า โดยหลักแล้วคำสั่งทางปกครองชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการให้ประโยชน์ไม่อาจถูกเพิกถอนได้เว้นแต่เข้าข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

2.6 หลักผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาล (Principe de l’autorité de la chose judée)

หลักผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาลถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่สืบเนื่องมาจากหลักนิติรัฐ หลักนี้ส่งผลในทางปฏิบัติสองประการ
ประการแรก หลักผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาล หมายความว่า คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลมีลักษณะเป็นที่สุดและเด็ดขาด การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลจะทำได้ก็แต่โดยศาลที่อยู่ในลำดับชั้นสูงกว่าเท่านั้น
ประการที่สอง เมื่อศาลวินิจฉัยแล้ว ผลของคำวินิจฉัยจะผูกพันฝ่ายปกครองและ
คู่ความให้ต้องเคารพและปฏิบัติตาม และยังรวมไปถึงว่า การกระทำใดของฝ่ายปกครองที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสภาแห่งรัฐของฝรั่งเศสได้วางหลักไว้ในคดี Botta ว่าการกระทำที่ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะเดียวกับฝ่าฝืนรัฐบัญญัติ (17) คำวินิจฉัยนี้ เป็นการยอมรับคุณค่าของหลักผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาลในฐานะที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไป ดังนั้น นิติกรรมทางปกครองใดของฝ่ายปกครองหากออกมาโดยขัดหรือแย้งกับหลักดังกล่าว ก็จะเป็นนิติกรรมทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหลักนี้ได้รับการยืนยันตลอดมาโดยสภาแห่งรัฐ (18)
นอกจากคำวินิจฉัยของศาลจะผูกพันคู่ความ และฝ่ายปกครองต้องเคารพเมื่อจะออกนิติกรรมทางปกครองฝ่ายเดียวแล้ว การไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลยังก่อให้เกิดความรับผิดของฝ่ายปกครองตามมาด้วย ในกรณีทั่วไป เมื่อศาลวินิจฉัยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยของศาลในระบบใด (ศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม) ฝ่ายปกครองมีหน้าที่จะต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง การปฏิเสธที่จะบังคับคดีให้กับผู้ชนะคดี เป็นละเมิดที่ก่อให้เกิดความรับผิดของฝ่ายปกครอง แต่บางกรณี หากการบังคับคดีอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง การปฏิเสธไม่บังคับคดีของฝ่ายปกครองไม่เป็นความผิด แต่มิได้เป็นเหตุยกเว้นความรับผิดของฝ่ายปกครอง กรณีหลังนี้ฝ่ายปกครองยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ชนะคดีในฐานความรับผิดโดยปราศจากความผิด ด้วยเหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม ฝ่ายปกครองจึงไม่บังคับคดีให้แก่ผู้ชนะคดี ในการนี้ผู้ชนะคดีต้องรับภาระสาธารณะมากกว่าประชาชนคนอื่นในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ฝ่ายปกครองต้องเยียวยาชดใช้ให้ (19)แต่ถึงแม้กฎหมายจะกำหนดไว้ในลักษณะให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีก็จริง แต่โดยลักษณะของคดีปกครอง โดยเฉพาะคดีเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง (คดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1)) หากศาลปกครองได้เคยพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ความไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่ว่าบุคคลใดไม่อาจจะอ้างประโยชน์จากความมีอยู่ของนิติกรรมดังกล่าวได้ นอกจากนี้ คำวินิจฉัยของศาลปกครองย่อมเป็นแนวในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น หากกฎหรือคำสั่งใดของหน่วยงานของรัฐใด ๆ หากศาลปกครองเคยวินิจฉัยเพิกถอนเพราะเหตุไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลคำพิพากษานั้นย่อมผูกพันหน่วยงานทางปกครองอื่นด้วย นอกจากนี้ หากศาลปกครองอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดในการเพิกถอนกฎหรือคำสั่งนั้น ฝ่ายปกครองไม่อาจใช้ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นมาออกกฎหรือคำสั่งได้อีก

2.7 หลักการกระทำเดียวไม่อาจถูกลงโทษสองครั้ง (non bis in idem)

หลักนี้ เป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายอาญาในเรื่องของการห้ามมิให้ลงโทษบุคคลที่เคยถูกลงโทษจากการกระทำเดียวกันนั้นมาแล้ว และหลักนี้ขยายเข้ามาใช้ในขอบเขตของกฎหมายปกครองในเรื่องการลงโทษทางวินัย ด้วยข้อความคิดพื้นฐานว่า บุคคลไม่อาจจะถูกลงโทษซ้ำจากการกระทำเดียวกัน และเป็นหลักที่ศาลต้องนำมาใช้แม้จะไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรกำหนดไว้ ซึ่งหลักนี้ สภาแห่งรัฐของประเทศเบลเยียมได้ตัดสินยอมรับมาโดยตลอด (20)

2.8 หลักเกี่ยวกับบริการสาธารณะ (La loi des Services publics)

การบริการสาธารณะเป็นภารกิจของฝ่ายปกครองที่จะต้องจัดทำเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนโดยรวม ในการทำหน้าที่ดำเนินบริการสาธารณะนั้น ฝ่ายปกครองต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับการบริการสาธารณะ คือ หลักความเสมอภาค หลักความเป็นกลางหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ และหลักบริการสาธารณะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยเสมอ โดยหลักสองหลักแรกนั้น ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อ 2.1 และ 2.2 และหลักแรกทั้งสองหลัก อยู่ภายใต้แนวคิดพื้นฐานที่ต้องการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนจากอำเภอใจของฝ่ายปกครอง แต่หลักสองหลักหลังคือ หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะและหลักบริการสาธารณะต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยเสมอ มีแนวคิดพื้นฐานที่แตกต่างออกไป และมุ่งสู่วัตถุประสงค์คนละอย่างกับสองหลักแรก กล่าวคือ มุ่งเพื่อช่วยให้ฝ่ายปกครองสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ

2.8.1 หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ (Principe de la continuité des services publices)

หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ เป็นพื้นฐานแนวความคิดของกฎหมายหลาย ๆ เรื่อง หลักนี้ทำให้ฝ่ายปกครองมีอำนาจในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อรักษาความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ
(1) ผลของหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะต่อการปฏิบัติราชการ ทำให้เกิดระบบการรักษาราชการแทน กล่าวคือ เมื่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง จะต้องมีเจ้าหน้าที่อื่นมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รักษาราชการแทน เช่น กรณีนายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคนให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน (มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534) เป็นต้น
(2) ผลของหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะต่อบุคลากรภาครัฐ ทำให้ในระบบกฎหมายไทย ห้ามมิให้ข้าราชการ ลูกจ้างของส่วนราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจนัดหยุดงาน
ส่วนในระบบกฎหมายของต่างประเทศบางประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะได้มีผลห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนัดหยุดงานเช่นเดียวกันในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ต่อมาสิทธิการนัดหยุดงานได้รับการรับรองไว้ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ ปี 1946 และสภาแห่งรัฐได้มีคำพิพากษาในคดี Dehaene (C.E. Ass 7 juillet 1950) ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธินัดหยุดงานได้ ซึ่งการยอมรับสิทธิการนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่า การใช้สิทธินัดหยุดงาน อาจทำให้บริการสาธารณะหยุดชะงักซึ่งประชาชนผู้ใช้บริการอาจเดือดร้อนได้ ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงหาทางประนอมหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะกับสิทธินัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการบังคับให้สหภาพของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะนัดหยุดงานต้องแจ้งการนัดหยุดงานล่วงหน้าเพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายปกครองสามารถแก้ไขปัญหาล่วงหน้าได้ และในบริการสาธารณะบางประเภทที่การหยุดดำเนินการโดยเด็ดขาดอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะได้ เช่น โรงพยาบาล ตำรวจ ไฟฟ้า ฯลฯ ในบริการสาธารณะเหล่านี้ หากจะนัดหยุดงานจะต้องจัดให้มีการบริการขั้นต่ำ
นอกจากนี้ ภายใต้หลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะยังมีผลต่อการลาออกจากราชการของข้าราชการ หรือลาออกจากงานของลูกจ้างของส่วนราชการหรือของพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยหลักนี้มีผลให้การลาออกของเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีผลต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาแล้วเท่านั้น ระหว่างที่ยังไม่ได้รับอนุมัติ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นยังคงมีหน้าที่ในการปฏิบัติงานอยู่
(3) ผลของหลักความต่อเนื่องของบริการสาธารณะยังมีผลต่อระบบสัญญาทาง
ปกครองด้วย กล่าวคือ ทำให้เกิดหลักกฎหมายเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากกฎหมายแพ่ง เช่น แม้ฝ่ายปกครองจะเป็นผู้ผิดสัญญา คู่สัญญาฝ่ายเอกชนไม่อาจนำหลักสัญญาต่างตอบแทนมาใช้ได้ คือ หลักที่ว่าหากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งผิดนัดชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิไม่ชำระหนี้ตอบแทนจนกว่าจะได้รับการปฏิบัติการชำระหนี้ของฝ่ายที่ผิดนัดนั้นได้ (l’exceptio non adimpleti contractus) ซึ่งหลักนี้ไม่อาจนำมาใช้ในสัญญาทางปกครองโดยเฉพาะสัญญาทางปกครองที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดทำบริการสาธารณะได้ เพราะจะทำให้บริการสาธารณะที่เอกชนจัดทำอยู่นั้นขาดความต่อเนื่อง และประชาชนผู้ใช้บริการต้องเดือดร้อน
ในกรณีเอกชนผิดสัญญาอย่างร้ายแรงที่มีผลทำให้ขัดขวางการบริการสาธารณะ ฝ่ายปกครองมีหน้าที่ต้องเข้าดำเนินการนั้นแทนคู่สัญญาหรือให้บุคคลภายนอกเข้าดำเนินการแทนคู่สัญญาโดยเอกชนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หรืออาจยึดบริการสาธารณะนั้นกลับมาทำเองได้
นอกจากนี้ หากเกิดเหตุอันไม่อาจคาดหมายได้ขึ้น อันอาจกระทบต่อการดำเนินบริการสาธารณะตามสัญญาทางปกครอง ทำให้การปฏิบัติตามสัญญาเป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง ซึ่งฝ่ายเอกชนต้องรับภาระบางอย่างเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก หากเหตุนั้นเป็นเพียงเหตุชั่วคราว ฝ่ายปกครองต้องเข้าไปช่วยรับภาระที่เพิ่มขึ้นนั้นบางส่วน เพราะสิ่งที่คู่สัญญาเอกชนดำเนินการเป็นประโยชน์ต่อความต่อเนื่องของบริการสาธารณะ

2.8.2 หลักการปรับเปลี่ยนบริการสาธารณะให้ทันสมัยเสมอ (Principe de l’adaptabilité des services publices)

หลักการปรับเปลี่ยนบริการสาธารณะให้ทันสมัยเสมอ มาจากแนวคิดว่า บริการสาธารณะเป็นกิจกรรมที่ตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวม และประโยชน์ส่วนรวมก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ดังนั้น บริการสาธารณะที่ดีนั้นจะต้องสามารถถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตลอดเวลาให้เหมาะสมกับเหตุการณ์และสถานการณ์ใหม่ ๆ เพื่อให้การบริการสาธารณะสอดคล้องกับความต้องการของส่วนรวมมากที่สุด
หลักการปรับเปลี่ยนบริการสาธารณะให้ทันสมัยนี้ ทำให้รัฐสามารถจะจัดตั้งปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกองค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะได้เสมอ เช่น ในขณะที่ลัทธิเสรีนิยมมีอิทธิพลอย่างสูง รัฐที่ถือลัทธินี้ จะจำกัดอำนาจหน้าที่ของรัฐเฉพาะกิจการที่จำเป็นเท่านั้น เช่น การรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การตัดสินคดี และการต่างประเทศ ดังนั้น รูปแบบขององค์กรของรัฐจะเป็นแบบหนึ่ง แต่ต่อมารัฐต่าง ๆ ได้รับอิทธิพลของข้อความคิดว่าด้วยรัฐสวัสดิการ ภารกิจของรัฐย่อมมากขึ้น การจัดองค์กรของรัฐก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามภาระที่เพิ่มขึ้นนั้น หลักนี้ทำให้รัฐมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนกิจกรรมของตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ทำให้รัฐมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลง จัดตั้ง หรือยุบเลิกบริการสาธารณะของรัฐได้ โดยประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิโต้แย้ง
นอกจากนี้ หลักการปรับเปลี่ยนบริการสาธารณะให้ทันสมัยเสมอ ยังมีผลต่อระบบสัญญาทางปกครองด้วย โดยเฉพาะสัญญามอบหมายให้เอกชนดำเนินบริการสาธารณะ เพราะบริการสาธารณะไม่ว่าจะจัดทำโดยรัฐหรือโดยเอกชน ยังคงต้องอยู่ภายใต้หลักการเดียวกัน และฝ่ายปกครองก็ไม่อาจเพิกเฉยต่อการดำเนินบริการสาธารณะได้แม้จะได้มอบหมายให้เอกชนดำเนินการแล้วก็ตาม ยังคงต้องควบคุมดูแลอยู่เสมอ ดังนั้น จึงทำให้เกิดหลักเอกสิทธิ์ของคู่สัญญาฝ่ายปกครองขึ้น กล่าวคือ คู่สัญญาฝ่ายปกครองสามารถสั่งให้เอกชนคู่สัญญาปฏิบัติชำระหนี้ตามสัญญาได้เอง โดยไม่ต้องฟ้องศาล สามารถแก้ไขข้อสัญญาฝ่ายเดียวโดยเอกชนไม่จำต้องยินยอม สามารถสั่งให้เอกชนทำงานเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในสัญญาได้ หากงานนั้นอยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของสัญยาและรวมถึงสามารถยกเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียวเมื่อวัตถุประสงค์ของสัญญามิได้เป็นสิ่งจำเป็นต่อการตอบสนองต่อความต้องการของส่วนรวมอีกต่อไป โดยอำนาจเหล่านี้มีอยู่ในฐานะหลักกฎหมายทั่วไปที่เกิดจากความจำเป็นในการบริการสาธารณะ อำนาจเหล่านี้ฝ่ายปกครองมีอยู่แม้จะมิได้ระบุเอาไว้ในข้อสัญญาก็ตาม

3. บทสรุป

หลักกฎหมายทั่วไปเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อเป็นหลักประกัน หรือพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจของฝ่ายปกครอง ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือของฝ่ายปกครองที่ใช้เพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมหนึ่ง ๆ ทำให้เห็นได้ว่า ลำพังเพียงกฎหมายลายลักษณ์อักษร นั้น ถึงแม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม เพราะสังคมพัฒนาไป ความสัมพันธ์ของบุคคลในสังคม รวมทั้งความสัมพันธ์ของปัจเจกชนกับรัฐก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา การนิติบัญญัติไม่อาจจะคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ทุกสิ่ง ดังนั้น การพัฒนาหลักกฎหมายทั่วไปขึ้นมาใช้เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมายโดยศาล จึงเป็นสิ่งจำเป็นของสังคมทุกสังคม แต่หลักกฎหมายทั่วไปก็มิใช่หลักที่เกิดขึ้นตามอำเภอใจของศาล ศาลมิได้สร้างกฎหมายขึ้นมาใช้เอง แต่การยอมรับหลักกฎหมายทั่วไปของศาลเป็นการนำเอาความเชื่อความเห็นของส่วนรวมอันเป็นหลักการพื้นฐานของระบบการเมืองการปกครองและรากฐานของระบบกฎหมายในสังคมนั้น ๆ มาพัฒนาเป็นหลักกฎหมายทั่วไปใช้บังคับกับคดีที่เกิดขึ้น กล่าวคือ ศาลเป็นผู้นำหลักอันเป็นนามธรรมมาใช้เป็นหลักที่เป็นรูปธรรมนั้นเอง แต่หลักกฎหมายบางอย่างก็ใช้ได้เฉพาะกับสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น



Create Date : 17 กรกฎาคม 2550
Last Update : 17 กรกฎาคม 2550 14:03:09 น. 0 comments
Counter : 859 Pageviews.

hanayo_boyz
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




NEWS UPDATED!! ** hanayolaw@gmail.com **

อ่านความรู้เกี่ยวกับสอบเข้าคณะนิติศาสตร์

คลิ๊ก .. http://tutorlawgroup.blogspot.com ครับ

ขอบคุณสำหรับ
การติดตามและกำลังใจมากมายของทุกๆท่านครับ


หากมีข้อสงสัยหรือปัญหากฎหมาย

** อีเมลติดต่อผมได้โดยตรงครับ **

** hanayolaw@gmail.com **
หรือ
** hanayo_dona@hotmail.com **



** อยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมก็เมลมาถามได้นะครับ

** ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุดครับ...
Friends' blogs
[Add hanayo_boyz's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.