สอบเข้าคณะนิติศาสตร์ คลิ๊ก ... http://tutorlawgroup.blogspot.com/
Group Blog
 
All blogs
 
ละเมิด

ละเมิด
เนื้อหาโดยสรุป
- ความรับผิดในทางละเมิด แบ่งออกเป็น
1.ความรับผิดเพื่อละเมิดในการกระทำของตนเอง
2.ความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น
3.ความรับผิดในการละเมิดอันเกิดจากทรัพย์
- ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดและนิรโทษกรรม



1.ความรับผิดเพื่อละเมิดในการกระทำของตนเอง
1.1 ลักษณะทั่วไปของความรับผิดของบุคคลในการกระทำของตนเอง
1.การกระทำหมายถึงความเคลื่อนไหวของบุคคลโดยรู้สึกในความเคลื่อนไหวของตน และหมายถึงการงดเว้นหรือละเว้นไม่กระทำการตามหน้าที่ที่ต้องกระทำ
ข้อสังเกต ความหมายของการกระทำ
ความเคลื่อนไหวของบุคคลในเวลาหลับ ถือว่าเป็นการกระทำหรือไม่
ความเคลื่อนไหวของบุคคลในเวลาหลับ ไม่ถือว่าเป็นการกระทำ เพราะแม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวในอิริยาบถ แต่ก็ถือไม่ได้ว่าบุคคลที่หลับรู้สำนึกในความเคลื่อนไหวในอิริยาบถของตน

ที่เรียกว่า “การกระทำ” นั้น ท่านเข้าใจว่าอย่างไร
การกระทำหมายถึงความเคลื่อนไหวในอิริยาบถโดยรู้สำนึกในความเคลื่อนไหวนั้น

ความเคลื่อนไหวของผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริต จะถือว่าเป็นการกระทำได้เสมอไปหรือไม่
ความเคลื่อนไหวของผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริต จะถือว่าเป็นการกระทำไม่ได้เสมอไป ถ้าผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริตรู้สำนึกในความเคลื่อนไหวในอิริยาบถของตน ก็เป็นการกระทำ ถ้าไม่รู้สำนึกก็ไม่เป็น ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงแต่ละเรื่องๆ ไป

การงดเว้นไม่กระทำ จะเป็นการกระทำเสมอไปหรือไม่
การงดเว้นไม่กระทำ ไม่เป็นการกระทำเสมอไป ที่จะถือว่าเป็นการกระทำต้องเป็นการงดเว้นไม่กระทำการที่มีหน้าที่ต้องกระทำ หน้าที่นี้อาจเกิดจากกฎหมายก็ได้ หรือเกิดจากสัญญาหรือความสัมพันธ์ทางข้อเท็จจริงที่มีอยู่ระหว่างผู้งดเว้นกับผู้เสียหายก็ได้ หรือเป็นผลมาจากฐานะทางข้อเท็จจริงซึ่งผู้งดเว้นได้ก่อขึ้นก็ได้

2.จงใจหรือประมาทเลินเล่อ
จงใจ หมายถึงการกระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหายที่จะเกิดจากการกระทำของตน
ประมาทเลินเล่อ หมายถึงไม่จงใจ แต่ไม่ใช้ความระมัดระวังตามควรที่จะใช้รวมถึงในลักษณะที่บุคคลผู้มีความระมัดระวังจะไม่กระทำด้วย
ข้อสังเกต
ความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง จะถือว่าเป็นจงใจได้หรือไม่ ก. เห็นร่มของ ข. วางไว้บนโต๊ะทำงานของตน คิดว่าเป็นร่มของตนที่หายไปแล้วและได้คืนมาแล้ว เพราะมีลักษณะเหมือนกันทุกอย่าง จึงหยิบเอาไปเป็นของตน ดังนี้ ก. ได้กระทำต่อ ข. โดยจงใจหรือไม่
จงใจหมายถึงความรู้สำนึกว่าจะเกิดผลเสียหายแก่บุคคลอื่นจากการกระทำของตน ฉะนั้นความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงจะถือว่าเป็นจงใจหาได้ไม่
ที่ ก. คิดว่าร่มของ ข. เป็นของตน จึงมีความเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง ก. มิได้กระทำต่อ ข. โดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อก. มิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของ ข. แต่เป็นความเสียหายที่เกิดแต่เหตุสุดวิสัย

3.การกระทำโดยผิดกฎหมาย มีความหมายกว้าง มิใช่หมายแต่เพียงฝ่าฝืนกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง แต่หมายรวมถึงการกระทำโดยไม่มีสิทธิหรือขอแก้ตัวตามกฎหมาย

หลักที่ว่า “ความยินยอมไม่ทำให้เป็นละเมิด”
เป็นหลักเกณฑ์ที่จะถือว่าเป็นการกระทำละเมิดหรือความรับผิดเพื่อละเมิดเท่านั้น ที่ว่า “ความยินยอมไม่ทำให้เป็นละเมิด” นั้นเป็นหลักกฎหมายทั่วไป มีความหมายที่บุคคลซึ่งยอมต่อการกระทำอย่างหนึ่ง หรือบุคคลที่เข้าเสี่ยงภัยยอมรับความเสียหาย จะฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำหรือความเสียนั้นมิได้ และความยินยอมทำให้ผู้กระทำความเสียหายไม่ต้องรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น และถือว่าไม่มีการละเมิดเกิดขึ้นเลยทีเดียว

ก. ยอมให้ ข. ชกต่อยที่บริเวณใบหน้า เพื่อแสดงความแข็งแรงของ ก. ปรากฏว่าฟันของ ก. หักหลุดออกมา 1 ซี่ ก. จะเรียกค่าเสียหายจาก ข. อ้างว่าไม่รู้ว่าการให้ ข. ชก ฟันจะหลุดออกมา จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่
ก. ยอมให้ ข. ชกต่อยแล้ว เป็นความยินยอมของ ก. ก. จะอ้างว่าไม่รู้ว่าการให้ ข. ชกต่อย จะทำให้ฟันหักหลุดออกมาไม่ได้ การที่ ข. ชก ก. ไม่เป็นละเมิด

4.เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หมายถึงความเสียหายที่เกิดแก่สิทธิของบุคคลอื่น
ข้อสังเกต การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น

5.ความเสียหายอันเป็นผลมาจากการกระทำความเสียหายนั้น ตามกฎหมายไทยเห็นว่าควรใช้ทฤษฎีความเท่ากันแห่งเหตุ หรือทฤษฎีเงื่อนไขบังคับ แต่ศาลอาจให้จำเลยรับผิดทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วนหรือยกเว้นความผิดเสียเลยก็ได้
ข้อสังเกต ความเสียหายนั้นเป็นผลมาจากการกระทำของผู้ทำความเสียหาย
ที่เรียกว่าทฤษฎีความเท่ากันแห่งเหตุหรือทฤษฎีเงื่อนไขกับทฤษฎีมูลเหตุเหมาะสมนั้น ท่านเข้ใจว่าอย่างไร ยกตัวอย่างประกอบ

เด็กชาย ก. เล่นเตะลูกฟูตบอลในสนามหญ้าหน้าบ้าน บังเอิญลูกฟูตบอลไปถูกกระจกหน้าต่างบ้านของ ข. แล้วกระดอนไปถูกหน้าต่างบ้านของ ค. ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันเสียหายโดยประมาทเลินเล่อ โดยที่เด็กชาย ก. ก็ไม่คาดเห็นว่าจะเป็นดังนี้ เด็กชาย ก. ต้องรับผิดต่อ ข. และ ค. หรือไม่
เด็กชาย ก. ต้องรับผิดต่อ ข. และ ค. เพราะความเสียหายเป็นผลโดยตรงจากการที่เด็กชาย ก. เตะลูกฟุตบอล แม้ตนจะไม่คาดเห็นว่าจะเป็นเช่นนั้น

ส. ขโมยรถยนต์เก๋งของ บ. ที่จอดอยู่หน้าที่ทำการของ บ. ไป ปรากฏว่าที่ท้ายรถซึ่งที่เก็บของมีเครื่องรับโทรทัศน์สีของ บ. เก็บไว้ด้วย ซึ่งขณะที่เอารถไป ส. ไม่คิดว่าจะมีเครื่องรับโทรทัศน์ และระหว่างที่เอารถไปนั้น ส. ไม่เคยเปิดท้ายรถดู บ. จึงไม่มีเครื่องรับโทรทัศน์ดู ต้องไปเช่าของผู้อื่นใช้ ดังนี้ ส. ต้องรับผิดต่อ บ. ที่ไปเช่าเครื่องรับโทรทัศน์ดูหรือไม่
ส. ต้องรับผิดต่อ บ. แม้จะไม่รู้ว่าเครื่องรับโทรทัศน์ของ บ. อยู่ท้ายรถ

1.2 สามารถแบ่งความรับผิดเพื่อละเมิดในการกระทำของตนเอง ได้ 3 ประเภท ดังนี้

1.ความรับผิดเพื่อละเมิดของบุคคลในการกระทำของตนโดยแท้ ต้องมีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ โดยผิดกฎหมายและมีความเสียหายแก่บุคคลอื่น และความเสียหายนั้นเป็นผลมาจากการกระทำของผู้กระทำความเสียหาย
2.ความรับผิดของผู้ว่าจ้างทำของ
มาตรา 428 ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้ รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตน ให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง
ข้อสังเกต
- ความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้างทำของมิใช่เรื่องความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น ความรับผิดของผู้ว่าจ้างทำของเป็นความรับผิดของผู้ว่าจ้าง ในการกระทำของตนตามกฎเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 420
- ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง
ข้อสังเกต ความรับผิดของผู้ว่าจ้างทำของ
ที่ว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้ติดตามมาตรา 428 นั้น หมายความว่าผู้ว่าจ้างกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 420
มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
ตัวอย่างเช่น
ก. จ้าง ข. ทำโต๊ะเก้าอี้ชุดรับแขก ข. ก็ลักเอาไม้ของ ค. มาเป็นสัมภาระจัดทำโดยที่ ข. ก็รู้ว่าเป็นไม้ของ ค. แต่ ก. ไม่รู้เห็นด้วย ก. และ ข. ต้องรับผิดต่อ ค. หรือไม่
ก. ไม่ต้องรับผิดต่อ ค. เพราะมิได้รู้เห็นในการที่ ข. เอาไม้ของ ค. มาทำชุดรับแขก ก. จึงมิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

3.การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนความจริงและการร่วมกันกระทำละเมิดก็เป็นความรับผิดของบุคคลในการกระทำของตนเอง อาจเรียกว่าเป็นการหมิ่นประมาทในทางแพ่ง
ข้อสังเกต หมิ่นประมาททางแพ่ง
1. หมิ่นประมาททางแพ่งคือการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
2. การวินิจฉัยความรับผิดเพื่อละเมิดในทางแพ่ง ต้องเป็นไปตามกฎหมายส่วนแพ่งไม่จำเป็นต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่
3. การร่วมกันทำละเมิดเป็นเรื่องที่บุคคลหลายคนร่วมกันกระทำผิด จะต้องมีการกระทำร่วมกันโดยมีเจตนาหรือความมุ่งหมายร่วมกันหรือการยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด
ตัวอย่างการหมิ่นประมาททางแพ่ง
ก. กล่าวหาว่า ข. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกินสินบน ค. ก็นำความที่ ก. กล่าวหานั้นเที่ยวพูดแก่บุคคลทั่วไปว่า ข. กินสินบน โดยบอกว่ารู้จาก ก. อีกทีหนึ่ง เท็จจริงอย่างไรอยู่ที่ ก. ทั้งๆที่ ค. ก็รู้ว่าตามที่กล่าวหานั้น ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด ดังนี้ ค. ต้องรับผิดต่อ ข. หรือไม่
การไขข่าว คือการพูดข่าวจากคนอื่น ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความเป็นจริงก็เป็นละเมิดได้ ข้อความที่ ค. ไขข่าวว่า ข. กินสินบน ทั้งๆ ที่รู้ว่าตามที่กล่าวหานั้นไม่เป็นความจริง ย่อมเป็นสิ่งเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของ ค. จึงต้องรับผิดต่อ ข. ด้วย


2.ความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น
หลักเบื้องต้น
1. ความรับผิดในการกระทำของตนเอง บุคคลผู้รับผิดจะต้องกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมาย มีความเสียหายแก่บุคคลอื่น และความเสียหายนั้นเป็นผลมาจากการกระทำของผู้ทำความเสียหาย ส่วนความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่นเป็นความรับผิดของบุคคลหนึ่งในการกระทำละเมิดของบุคคลอีกคนหนึ่ง โดยที่บุคคลก่อนที่ต้องรับผิดนั้นมิได้กระทำละเมิดเอง ซึ่งความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่นเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย
2. บุคคลผู้ต้องรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่นคือ นายจ้าง ตัวการ บิดามารดา ผู้อนุบาล และครูบาอาจารย์ แต่ไม่รวมถึงความรับผิดของผู้ว่าจ้างทำของ
3. บุคคลที่ต้องรับผิด เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว มีสิทธิเรียกร้องชดใช้เอาจากผู้ก่อการละเมิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

สามารถแบ่งความรับผิดเพื่อละเมิดในการกระทำของบุคคลอื่นได้ 3 ประเภท ดังนี้
1. ความรับผิดในผลแห่งการละเมิดของลูกจ้างในทางการที่จ้าง
เป็น “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” หมายถึงความสัมพันธ์ตามสัญญาจ้างแรงงาน
ข้อสังเกต ลักษณะของนายจ้างลูกจ้างและในทางการที่จ้าง
ที่เรียกว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างกันนั้นเกิดจากสัญญาอะไร
เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 575 มิใช่สัญญาจ้างทำของ

2.ความรับผิดในผลแห่งการละเมิดของลูกจ้างในทางการที่จ้าง เป็นความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น
เป็นกรณีที่ลูกจ้างได้ปฏิบัติงานตามที่จ้างมาหรือเกี่ยวข้องกับงานที่จ้าง ไม่ใช่เรื่องที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างกระทำการ

สั่งให้ ข. ลูกจ้างตีศีรษะ จ. ลูกค้าของ ก. ข. ก็ทำตามคำสั่งนี้ การกระทำของ ข. เกิดขึ้นในทางการที่จ้างหรือไม่
ตามตัวอย่างไม่ถือว่าเป็นการกระทำของ ข. เกิดขึ้นในทางการที่จ้าง แต่เป็นกรณีที่นายจ้างกระทำละเมิดโดยนายจ้างเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้ลูกจ้างกระทำ จึงเป็นการกระทำละเมิดร่วมกันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 432
มาตรา 432 ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดย ร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณี ที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหน เป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย
อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย
ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น

3. ความหมายของ “ในทางการที่จ้าง” ไม่ใช่เรื่องมอบอำนาจให้กระทำ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานที่จ้าง
4. เมื่อเป็นเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นในทางการที่จ้างแล้ว วิธีปฏิบัติของลูกจ้างหรือกรณีที่นายจ้างมีคำสั่งห้ามไม่เป็นข้อต่อสู้ของนายจ้าง
5. โดยเหตุที่ตัวแทนมิใช่ลูกจ้าง จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งสิทธิของตัวการที่จะควบคุมตัวแทน โดยปกติตัวแทนย่อมมีความรับผิดแต่ผู้เดียว ตัวการไม่ต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่ตัวแทนก่อขึ้น

2. ความรับผิดของตัวการในผลแห่งการละเมิดของตัวแทน

ก. เป็นตัวแทนขายรถยนต์ของบริษัท ข. ก. ในฐานะตัวแทนตกลงขายรถยนต์คันหนึ่งให้แก่ ส. โดยตกลงกันว่าเครื่องอะไหล่ทุกชิ้นต้องเป็นของแท้ กรรมสิทธิ์ในรถได้โอนมาเป็นของ ส. แล้ว ก่อนที่จะนำรถไปส่งมอบแก่ ส. ก. ได้ถอดเครื่องอะไหล่แท้ของรถออกเป็นประโยชน์แก่ตน แล้วเอาเครื่องอะไหล่เทียมใส่แทน แล้วนำรถมาส่งมอบแก่ ส. โดยที่ ส. ลูกค้าไม่ทราบถึงความจริงดังกล่าว ดังนี้ บริษัท ข. ต้องร่วมรับผิดต่อ ส. หรือไม่
การที่ ก. ถอดเอาเครื่องอะไหล่แท้ออก แล้วเอาของเทียมใส่ไว้แทนนั้นเป็นเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นในขอบเขตของการปฏิบัติตามหน้าที่หรือโดยฐานได้ทำการแทนบริษัท ข. ข. จึงต้องร่วมรับผิดต่อ ส. ด้วย


3.ความรับผิดของบิดาหรือผู้อนุบาลในการกระทำละเมิดของผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริตและความรับผิดชอบของครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นในการกระทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ
1. หลักเกณฑ์ความรับผิดทางละเมิดของผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริตย่อมเป็นไปตามมาตรา 420 แต่มิได้หมายความว่าถ้าผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริตก่อความเสียหายขึ้นแล้วจะต้องรับผิดฐานละเมิดทุกกรณีไป
2. บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาล หรือครูบาอาจารย์ นายจ้างหรือบุคคลอื่นที่รับดูแล ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย
3. บิดามารดาหรือผู้อนุบาลที่มีหน้าที่ดูแล อาจต้องรับผิดละเมิดเป็นส่วนตัวโดยการกระทำผิดตามมาตรา 420
ข้อสังเกต
i. ความรับผิดของผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริตทางละเมิด
ผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริต จะต้องรับผิดในความเสียหายที่ตนก่อขึ้นเสมอไปหรือไม่
ไม่เสมอไป กรณีที่ผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริตทำความเสียหาย ถ้ามิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ก็ย่อมไม่เป็นละเมิด ถ้าเป็นเด็กไร้เดียงสา ไม่รู้สำนึกในการกระทำของตนหรือบุคคลวิกลจริตที่ไม่รู้สภาพของการกระทำของตน ย่อมจะถือว่าทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อไม่ได้ แต่ถ้ารู้ได้ว่าทำอะไรลงไป เพียงแต่ไม่รู้สึกผิดชอบหรือยับยั้งไม่ได้ อาจเป็นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อได้ เพราะผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริตย่อมมีฐานะทางจิตใจอยู่หลายระดับต่างกันไป

ii. ความรับผิดของบิดามารดาหรือผู้อนุบาล
ก. มาเยี่ยม ข. เพื่อนกัน โดยอุ้ม น. บุตร ซึ่งเป็นทารกอายุ 6 เดือน มาด้วย ก. นึกสนุกคิดจะแกล้ง ข. เล่น โดยรู้ว่าบุตรของตนจวนจะได้เวลาปัสสาวะออกมาแล้ว จึงส่งเด็กให้ ข. อุ้ม เด็กปัสสาวะรด ข. จนเปียกโชก ดังนี้ ก. และ น. จะต้องรับผิดต่อ ข. หรือไม่
ก. ต้องรับผิดต่อ ข. เพราะได้กระทำโดยจงใจโดยใช้เด็กชาย น. บุตรของตนเป็นเครื่องมือ ส่วนเด็กชาย น. ไม่ต้องรับผิดต่อ ข. เพราะเป็นเด็กทารกอายุเพียง 6 เดือน ไม่มีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

iii. ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล
น้อยอายุ 5 ขวบ ขณะที่อยู่กับนิดซึ่งเป็นมารดา เกิดทะเลาะกับปูซึ่งเป็นเพื่อนเด็กด้วยกัน ได้ใช้ไม้ไล่ตีปูบาดเจ็บดังนี้ นิดและน้อยต้องรับผิดต่อปูหรือไม่
เด็กชายน้อยต้องรับผิดต่อเด็กชายปู เพราะการใช้ไม้ไล่ตีเป็นการกระทำละเมิดตามมาตรา 420 429 นิดซึ่งเป็นมารดาจึงต้องร่วมรับผิดด้วยตามมาตรา 429 เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น
มาตรา 429 บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้ อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล ซึ่งทำอยู่นั้น

ก. ไม่ถูกกับ ข. เพื่อนบ้าน และรู้ว่า ค. บุตรชายของตนซึ่งมีอายุ 10 ขวบชอบเล่นปืนอาจเอาปืนไปยิงกระจกบ้านของ ข. เล่น ได้อย่างที่ ค. เคยพูดให้ฟัง ก. จึงส่งปืนให้ ค. เล่น ค. ใช้ปืนยิงกระจกบ้านของ ข. แตกเสียหาย ต่อมา ก. ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ ค. ไปแล้ว จึงไล่เบี้ยเรียกคืนจากเด็กชาย ค. ทั้งหมด ดังนี้จะทำได้หรือไม่
การที่ ก. ส่งปืนให้ ค. เล่น ค. จึงเอาปืนไปยิงกระจกบ้านของ ข. แตก เป็นการที่ ก. กระทำละเมิดต่อ ข. โดยจงใจ มิใช่ความรับผิดของบิดาในการกระทำละเมิดของบุตร เมื่อ ก. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ ค. ไปแล้ว จึงไล่เบี้ยเรียกคืนจากเด็กชาย ค. ไม่ได้ทั้งหมด

ก. เป็นบุตรของ ข. ก. ออกจากบ้านไปโรงเรียนโดยรถยนต์โดยสารประจำทาง ระหว่างเดินทางอยู่บนรถ เกิดชกต่อย ค. ผู้โดยสารด้วยกันโดยละเมิด ดังนี้ ข. ต้องร่วมกับ ก. รับผิดต่อ ค. หรือไม่
ข. ไม่ต้องร่วมรับผิดกับเด็กชาย ก. เพราะขณะเกิดเหตุละเมิดนั้นอยู่ในระหว่างเวลาที่เด็กชาย ก. เดินทางอยู่ เด็กชาย ก. มิได้อยู่ในความดูแลของ ข. เป็นเรื่องที่เด็กชาย ก. ผู้เดียวจะต้องรับผิดต่อ ค. ตามมาตรา 420 และ 429 ตอนแรก

iv. ความรับผิดของครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นในการทำละเมิดของผู้ไร้ความสามารถ
ความรับผิดตามมาตรา 429 และ 430 มีหลักเกณฑ์เหมือนกันและแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
มีหลักเกณฑ์เหมือนกัน ในข้อที่ว่าต่างก็เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่นอันเนื่องมาจากความบกพร่องในการดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถ ต่างกันในข้อที่ว่าตามมาตรา 429 กฎหมายบัญญัติให้บิดามารดาหรือผู้อนุบาลผู้ทำหน้าที่ดูแลรับผิดก่อน เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น ส่วนมาตรา 430 ครูบาอาจารย์นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลนั้น จะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อพิสูจน์ได้ว่าบุคคลดังกล่าวมานี้มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร

ที่ว่า “บุคคลผู้ไร้ความสามารถ” ตามมาตรา 430 นั้น หมายความถึงบุคคลเช่นไร
หมายถึงผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริต เพราะบทบัญญัติมาตรา 430 เป็นบทบัญญัติต่อจากมาตรา 429 ในเรื่องบุคคลผู้ไร้ความสามารถกระทำละเมิดด้วยกัน
มาตรา 430 ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแล บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี ชั่วคราวก็ดี จำต้องรับผิด ร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิด ซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่าง ที่อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ ความระมัดระวังตามสมควร


3.ความรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากทรัพย์

1.ความรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากทรัพย์เป็นความรับผิดที่ไม่ต้องมีการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
2.ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ เจ้าของหรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของสัตว์ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย
3.ความรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลหรือทรัพย์อันตรายเป็นเรื่องที่บุคคลที่ต้องรับผิดมีความบกพร่องในการดูแลมิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ

ตัวอย่างที่ 1 ความรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล หรือทรัพย์อันตราย
ก. นำเอาเสาเข็มคอนกรีตขนาดใหญ่ บรรทุกรถซึ่งยืมมาจากบริษัท ข. ไปส่งลูกค้า โดย ก. เป็นผู้ขับไปด้วยความระมัดระวังเพราะรู้ดีว่าบรรทุกของหนัก อาจเกิดความเสียหายแก่บุคคลใดก็ได้ แต่บังเอิญโซ่เหล็กที่ผูกมัดเกิดขาด เสาหลุดลงมาถูกหลังคารถเก็งของ ค. ที่จอดอยู่ข้างทางพอดีรถเสียหาย ก. และ บริษัท ข. เจ้าของรถต้องรับผิดต่อ ค. หรือไม่
ก. ต้องรับผิดต่อ ค. ตาม มาตรา 437 วรรคแรก ไม่ใช่ มาตรา 420 ส่วนบริษัท ข. แม้จะเป็นเจ้าของรถ แต่ไม่ได้ครอบครอง จึงไม่ต้องรับผิด

ตัวอย่างที่ 2
ขณะที่ ก. ขับรถไปตามถนนขรุขระอย่างช้าๆ โดยมี ข. นั่งไปข้างๆ รถสั่นสะเทือนกระจกสำหรับดูด้านหลังรถหลุดตกลงมาถูกศีรษะ ข. บาดเจ็บ ก. ต้องรับผิดต่อ ข. หรือไม่
ก. ต้องรับผิดต่อ ข. ตาม มาตรา 437 วรรคแรก ไม่ใช่ มาตรา 420
น. เช่ารถของ อ. มาใช้เป็นส่วนตัว หลังจากที่ น. ขับรถมาเป็นเวลานาน รู้สึกเมื่อยล้าจึงเปลี่ยนให้ ส. ลูกจ้างขับต่อไป ส่วน น. เข้าไปนอนหลับอยู่ด้านหลังภายในรถ บังเอิญฝนตกหนัก ส. ขับรถช้าๆ อย่างระมัดระวัง แม้กระนั้น รถก็ยังลุยน้ำฝนในท้องถนนกระเซ็นไปถูก บ. ที่ยืนรอรถโดยสารประจำทางอยู่ข้างถนน น. หรือ อ. หรือ ส. ต้องรับผิดต่อ บ. หรือไม่
อ. เป็นเจ้าของรถ ไม่ใช่ผู้ครอบครอง ไม่ต้องรับผิดต่อ บ. น. เป็นผู้ครอบครอง แม้นอนหลับอยู่ในรถขณะเกิดเหตุ ก็ต้องรับผิดต่อ บ. ส. เป็นผู้ควบคุมรถ แม้จะขับอย่างระมัดระวังก็ต้องรับผิดต่อ บ. เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ตามมาตรา 437 วรรคแรก

ตัวอย่างที่ 3
จ. ขับรถตามรถยนต์ของ ส. ไปอย่างช้าๆ โดยมี ร. นั่งไปกับ จ. ด้วย บังเอิญมีเด็กวิ่งตัดหน้ารถ ส. ในระยะกระชั้นชิด ส. จึงหยุดรถโดยกะทันหัน จ. จึงรีบห้ามล้อให้รถหยุดทันทีทำให้ ร. หน้ากระแทกกับหน้ารถบาดเจ็บ จ. ต้องรับผิดต่อ ร. หรือไม่
แม้ จ. จะขับรถตามหลัง ส. ไปอย่างช้าๆ และห้ามล้อให้รถหยุด เพราะรถของ ส. ได้หยุดโดยกะทันหัน ก็เนื่องจากรถ จ. ได้วิ่งอยู่ จ. ต้องรับผิดต่อ ร. ตามมาตรา 437 วรรคแรก

3.กฎหมายกำหนดตัวบุคคลที่ต้องรับผิดไว้ สำหรับยานพาหนะได้แก่ผู้ครอบครองหรือควบคุมสำหรับทรัพย์อันตรายได้แก่ผู้ครอบครอง
4.กฎหมายได้บัญญัติข้อยกเว้นความรับผิดเอาไว้ คือพิสูจน์ว่าความเสียหายเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง


ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดและนิรโทษกรรม

1. ความมุ่งหมายในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันเป็นหลักการพื้นฐานก็คือให้ผู้เสียหาย กลับคืนสู่ฐานะเดิมเมื่อยังไม่มีการกระทำละเมิด ศาลเป็นผู้วินิจฉัยว่าค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อธิบายดังนี้
ค่าสินไหมทดแทน
1. การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ใช่เพียงการคืนทรัพย์สิน การใช้ราคาหรือค่าเสียหายเท่านั้น แต่เป็นเรื่องให้ผู้เสียหายกลับคืนสู่ฐานะเดิม หรือใกล้เคียงกับฐานะเดิมมากที่สุดที่จะทำได้
2. การใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมถึงการที่ต้องขาดผลประโยชน์และกำไรที่ควรจะได้ด้วย
3. การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นค่าเสียหายรวมทั้งค่าเสียหายในความเสียหายที่คำนวณ เป็นตัวเงินได้หรือไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ด้วย
4. การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องเสียดอกเบี้ยในหนี้เงินในระหว่างผิดนัดด้วย
5. ศาลเป็นผู้วินิจฉัยว่าจะพึงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกันสถานใด เพียงใด ตามควรแก่พฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งละเมิด
2. กรณีทรัพย์ทำลายลงหรือการคืนตกเป็นพ้นวิสัย หรือเสื่อมเสียลงโดยอุบัติเหตุบุคคลผู้ต้องคืนทรัพย์ก็ต้องรับผิด และผู้ต้องเสียหายมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในราคาทรัพย์ด้วย

6. การใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ครองทรัพย์และความผิดของผู้ต้องเสียหาย





นิรโทษกรรมคือข้อแก้ตัวซึ่งทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดฐานละเมิด

ข้อสังเกต นิรโทษกรรม
1.นิรโทษกรรมคือข้อแก้ตัวซึ่งบุคคลผู้กระทำไม่ต้องรับผิดฐานละเมิด

2.บุคคลใดที่กระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ตัวอย่าง การป้องกันและการกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย
ก. ข. เกิดโต้เถียงกันในร้านอาหารของ ค. ก. ชักปืนขึ้นจะยิง ข. จวนจะลั่นไกอยู่แล้ว ข. คว้าไม้ที่อยู่ข้างๆ ตัว แล้วตีถูกปืนของ ก. ปืนกระเด็นหลุดจากมือ ก. ไปถูกถ้วยชามของ ค. ซึ่งอยู่ด้านหลังแตกเสียหาย ดังนี้ ค. จะเรียกค่าเสียหายในการที่ถ้วยชามแตกเสียหายจากใครได้บ้าง
เป็นกรณีที่ ข. ทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ค. ย่อมเรียกค่าเสียหายในการที่ถ้วยชามแตกจาก ก. ผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้ จะเรียกเอาจาก ข. ผู้ทำการป้องกันไม่ได้

3.บุคคลใดทำบุบสลายหรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อบำบัดป้องกันภยันตรายซึ่งมีมาเป็นสาธารณะโดยฉุกเฉิน ฯลฯ ไม่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
ตัวอย่างที่ 1 การทำบุบสลายหรือทำลายทรัพย์
ก. ข. กับพวกรวม 7 คนด้วยกัน เช่าเรือใบขนาดเล็กไปเที่ยวเกาะกลางทะเล ขณะทะเลกำลังสงบ พอตกเย็น ขณะเรือกลับเข้าฝั่ง ห่างจากฝั่งประมาณ 500 เมตร เกิดลมพายุจัด เรือโคลงไปมา ก. กับพวกเกรงว่าเรือจะร่ม จึงร่วมกันจับ ข. โยนลงทะเล แต่ ข. ซึ่งเป็นนักว่ายน้ำมาก่อน ก็สามารถว่ายน้ำเข้าฝั่งจนได้ ดังนี้ ก. กับพวกต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ ข. หรือไม่
เป็นกรณีที่ ก. กับพวกร่วมกันทำละเมิดต่อ ข. ตามมาตรา 420 432 ไม่ต้องด้วยมาตรา 450 ซึ่งจำกัดเฉพาะการกระทำต่อทรัพย์เท่านั้นที่ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ตามปัญหาเป็นกรณีทำความเสียหายต่อตัวบุคคล แม้ ข. สามารถว่ายน้ำเข้าฝั่งได้ แต่ก็เกิดความเสียหายขึ้นแก่ ข. แล้ว ก. กับพวกต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ ข.
ตัวอย่างที่ 2
จ. เห็นสุนัขของ ส. ซึ่งเป็นสุนัขบ้า วิ่งไปตามถนนสาธารณะซึ่งมีคนผ่านไปมาอยู่มาก เกรงว่าสุนัขจะกัดคนเหล่านั้นเข้า จึงใช้ปืนยิงสุนัขตาย ดังนี้ จ. ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ ส. เจ้าของสุนัขหรือไม่
เป็นกรณีที่ จ. ทำการเพื่อป้องกันสิทธิของบุคคลภายนอก เพราะสุนัขบ้าที่วิ่งไปตามถนนนั้น อาจจะกัดทำร้ายบุคคลใดก็ได้ เป็นภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุต้องด้วยมาตรา 450 ข. ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อ ส. เจ้าของสุนัข

4.บุคคลใดใช้กำลังเพื่อป้องกันสิทธิของตน ถ้าตามพฤติการณ์จะขอให้ศาลหรือเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือให้ทันท่วงทีไม่ได้ ฯลฯ ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ตัวอย่าง การใช้กำลังป้องกันสิทธิ
ก. เช่าห้องของ ข. อยู่อาศัย ถึงกำหนด ก. ไม่ยอมออกจากห้องเช่า ข. จึงใช้กำลังฉุดกระชากลาก ก. ออกมาจากห้องเช่า ก. ได้รับบาดเจ็บ ดังนี้ ข. ต้องรับผิดต่อ ก. หรือไม่
ข. กระทำละเมิดต่อ ก. ตามมาตรา 420 ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ ก. กรณีนี้ไม่เป็นนิรโทษกรรมตามมาตรา 451
มาตรา 451 บุคคลใช้กำลังเพื่อป้องกันสิทธิของตนถ้าตามพฤติการณ์จะขอให้ศาลหรือเจ้าหนี้ที่ช่วยเหลือให้ทันท่วงทีไม่ได้ และถ้ามิได้ทำในทันใด มีภัยอยู่ด้วยการที่ตนจะได้สมดั่งสิทธินั้น จะต้องประวิงไปมากหรือถึงแก่สาบสูญได้ไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้น หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
การใช้กำลังดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าต้องจำกัดครัดเคร่งแต่เฉพาะที่จำเป็นเพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายเท่านั้น
ถ้าบุคคลผู้ใดกระทำการดั่งกล่าวมาในวรรคต้น เพราะหลงสันนิษฐานพลาดไปว่ามีเหตุอันจำเป็นที่จะทำได้โดยชอบด้วย กฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ แก่บุคคลอื่น แม้ทั้งการที่หลงพลาดไปนั้นจะมิใช่เป็นเพราะความ ประมาทเลินเล่อของตน

5. ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทน
ตัวอย่าง สิทธิของผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ที่จะจับสัตว์ของผู้อื่น
ลิงของ ช. เข้ามาขโมยมะพร้าวในสวนของ ว. โดยได้เอามะพร้าวไปหลายผลแล้ว กลับมาเอาอีก ว. เห็นเข้าจึงเอาแหเหวี่ยงจับลิงไว้ได้ ลิงจะกัด ว. ว. จึงใช้ไม้ตีลิงสลบไป แล้วนำลิงไปส่งมอบคืนแก่ ช. ดังนี้ ช. กับ ว. ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อกันและกันหรือไม่
การที่ ว. ใช้ไม้ตีลิงจนสลบ ก็เพราะลิงจะกัด ว. ว. จึงทำการป้องกันตัวเองได้โดยชอบ การที่ ว. นำลิงส่งมอบคืนแก่ ช. แสดงว่า ว. ไม่ใช้สิทธิยึดลิงไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 452 แต่การที่ลิงเข้ามาทำความเสียหายในสวนของ ว. เป็นกรณีต้องด้วยมาตรา 433 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ ช. ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ว. เจ้าของ แต่ ว. ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ช. ตามมาตรา 449
มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของ สัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้ค่าสินไหม ทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิด แต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวัง อันสมควร แก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์ อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้น จะใช้สิทธิ ไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่ เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้น ๆ ก็ได้
มาตรา 449 บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ดีกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดย ละเมิดนั้นก็ได้
มาตรา 452 ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายในอสังหาริม ทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกัน ค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้ และถ้าเป็นการจำเป็น โดยพฤติการณ์ แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้
แต่ว่าผู้นั้นต้องบอกกล่าวแก่เจ้าของสัตว์โดยไม่ชักช้า ถ้าและหาตัวเจ้าของสัตว์ไม่พบ ผู้ที่จับสัตว์ไว้ต้องจัดการตามสมควรเพื่อสืบหาตัวเจ้าของ



Create Date : 24 สิงหาคม 2550
Last Update : 24 สิงหาคม 2550 11:10:50 น. 0 comments
Counter : 3495 Pageviews.

hanayo_boyz
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




NEWS UPDATED!! ** hanayolaw@gmail.com **

อ่านความรู้เกี่ยวกับสอบเข้าคณะนิติศาสตร์

คลิ๊ก .. http://tutorlawgroup.blogspot.com ครับ

ขอบคุณสำหรับ
การติดตามและกำลังใจมากมายของทุกๆท่านครับ


หากมีข้อสงสัยหรือปัญหากฎหมาย

** อีเมลติดต่อผมได้โดยตรงครับ **

** hanayolaw@gmail.com **
หรือ
** hanayo_dona@hotmail.com **



** อยากรู้เรื่องอะไรเพิ่มเติมก็เมลมาถามได้นะครับ

** ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุดครับ...
Friends' blogs
[Add hanayo_boyz's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.