เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย

ติดตามข้อมูลเว็บทาง Google+ กด
FaceBook สาว ๆ เซ็กซี่

มหัศจรรย์สายหมอก ขุนเขา บนเส้นทางสายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตผู้คน

ภูลังกา

ภูลังกา


มหัศจรรย์สายหมอก ขุนเขา บนเส้นทางสายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตผู้คน (อ.ส.ท.)

เป้ใบเก่า รองเท้าคู่เดิม...เรื่อง
นพดล กันบัว...ภาพ

มีสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจเรียกคืนกลับมาได้ คือ เวลา แม้ว่าเวลาแต่ละวันมีเท่าเดิม แต่ทุกวินาทีที่เปลี่ยนไปมักมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ มีหลายสิ่งที่อยากจะให้อยู่ในความทรงจำ และมีหลายสิ่งเช่นเดียวกันที่ไม่อยากจะจดจำ แต่เราไม่อาจจะเลือกจดจำในบางสิ่งและลืมในบางเรื่องได้

          กับธรรมชาติ ผมมักมีความทรงจำที่ดีเสมอ มีคนถามผมเสมอว่าทำไม ผมบอกว่าธรรมชาติเป็นอะไรมากกว่าคำว่า "งดงาม" สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของธรรมชาติ คือ การอยู่นอกเหนือการคาดเดา ใครจะไปคิดละครับว่าปี 2554 น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ นานนับเดือน ใครจะไปคิดครับว่าถนนวิภาวดีรังสิตจะกลายเป็นคลองขนาดใหญ่โดยไม่ตั้งใจ และใครจะไปคิดครับว่าย่างเข้ากลางเดือนธันวาคมแล้ว แต่คนกรุงเทพฯ ยังไม่มีโอกาสสัมผัสความหนาวเย็นเลยแม้แต่น้อย...วิถีแห่งธรรมชาติจึงเป็นวิถีที่อยู่นอกเหนือการคาดเดา

ผมเดินทางขึ้นเหนือในห้วงเวลาต้นเดือนธันวาคม เพื่อตามหาความเหน็บหนาว แต่กลับไปเจอสายฝนตลอดการเดินทาง จน นพดล กันบัว บอกว่าสงสัยมาผิดฤดู เราวางแผนการเดินทางไว้ว่าจะลัดเลาะชมความหลากหลายของผืนป่า "ดอยภูคา" ผ่านร่องรอยวัฒนธรรม "บ้านบ่อเกลือ" สู่ทะเลขุนเขา "ดอยวาว" สิ้นสุดที่สายหมอกยามเช้าเหนือยอด "ภูลังกา"


ภูลังกา


ผืนป่าภูคา ลมหายใจชีวิตหล่อเลี้ยงคนเมืองน่าน


น่าน เมืองเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ชายขอบประเทศติดกับลาว ที่ซึ่งกระแสธารของการท่องเที่ยวเริ่มถาโถมเข้าไป เมืองน่านเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในห้วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสแนวคิดที่แตกต่างในการพัฒนา บ้างก็อยากให้โตอย่างช้า ๆ เพื่อรักษาสิ่งที่เคยมีอยู่ บ้างก็อยากจะให้เจริญเร็ว ๆ มีนักท่องเที่ยวไปเยอะ ๆ หลักการแนวคิดแบบนี้ผมเคยเห็นสมัยที่เชียงใหม่กำลังเริ่มโต ถัดมาก็เชียงราย ต่อมาก็แม่ฮ่องสอน แล้วสุดท้ายก็เห็นอย่างที่เป็นอยู่ครับ

          สงกรานต์ เขื่อนธนะ ผู้ก่อตั้งน่านทัวร์ริ่ง บุกเบิกการล่องแก่งน้ำว้า และเจ้าของบ้านเฮือนฮอม ผู้ซึ่งเติบโตควบคู่มากับเมืองน่านบอกกับผมว่า "ปริมาณนักท่องเที่ยวเข้ามาน่านเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ยังไม่มีความหลากหลายเท่าที่ควร" เขาเชื่อเช่นเดียวกับผมว่า น่านมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากด้านธรรมชาติหรือผจญภัย อาจต้องใช้เวลาพอสมควร น่านโชคดีที่ไม่เติบโตแบบก้าวกระโดด ยังพอมีเวลาครับที่ชาวน่านจะหาความสมดุลให้กับตัวเอง โดยมีเมืองท่องเที่ยวรุ่นพี่เป็นแบบอย่างให้ศึกษา

ภูลังกา

เทือกดอยภูคาเปรียบเสมือนลมหายใจหล่อเลี้ยงชีวิตคนน่านมาชั่วนาตาปี จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองน่าน ผ่านตำนานคำเล่าขานมากมาย ดอยภูคา ถือเป็นพี่ใหญ่ของอุทยานแห่งชาติทั้งห้าของเมืองน่าน คือ อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อุทยานแห่งชาติแม่จริม อุทยานแห่งชาติขุนน่าน อุทยานแห่งชาตินันทบุรี และอุทยานแห่งชาติดอยภูคา น่านจึงเป็นเมืองที่มีอุทยานแห่งชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย บอกให้รู้ว่าเมืองน่านถูกโอบล้อมด้วยทะเลแห่งขุนเขาอย่างแท้จริง

          ในจำนวนขุนเขาที่มีอยู่ เทือกภูคาเป็นเทือกเขาใกล้เมืองที่มีขนาดใหญ่และสูงที่สุด คือ สูงจากระดับทะเลปานกลาง 1,980 เมตร หลักฐานทางธรณีวิทยาบ่งบอกว่าบริเวณนี้ในอดีตเคยเป็นทะเลมาก่อน หลังการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกใต้ทะเล ส่งผลให้แผ่นดินโก่งตัวสูงขึ้น ขุดค้นพบสุสานหอยทะเลอายุประมาณ 200 ล้านปี ที่ภูแว

อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่อุทยานฯ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2542 ครอบคลุมพื้นที่กว่าหนึ่งล้านไร่ สมบูรณ์ด้วยความหลากหลายของระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะผืนป่าดิบชื้นและพื้นป่าดึกดำบรรพ์ เต่าร้าง พันธุ์ไม้ตระกูลปาล์ม คือส่วนหนึ่งของสีสันแห่งผืนป่าภูคา นอกเหนือจาก "ชมพูภูคา" ซึ่งจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม วิถีชีวิตของคนน่านจึงไม่อาจปฏิเสธการดำรงอยู่ของทิวเขา ผืนป่า และรากแก่นของวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน

ภูลังกา

บ่อเกลือ ร่องรอยแห่งอดีตที่ยังไม่หยุดนิ่ง

          ราว 80 กิโลเมตร จากน่าน ผ่านอุทยานแห่งชาติดอยภูคาจะถึง "บ่อเกลือ" ชุมชนโบราณที่เปรียบเสมือนรอยอดีตของสายธารวัฒนธรรมเก่าแก่ของเมืองน่าน บ่อเกลือโบราณนี้สันนิษฐานว่าเกิดจากการตกตะกอนของน้ำทะเลในยุคเพอร์เมียน ราว 289 ล้านปีมาแล้ว ทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีชั้นเกลือหินใต้ดิน หรือโดมเกลือหินใต้ดิน แต่เดิมพื้นที่บริเวณนี้เรียกขานกันว่า "เมืองบ่อ" น่าจะหมายถึง บ่อเกลือ ซึ่งสมัยเดิมมีถึง 9 บ่อ แต่ปัจจุบันเหลือสภาพบ่อที่มีความสมบูรณ์สามารถทำเกลือได้เพียง 2 บ่อเท่านั้น

เมืองบ่อถือเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความเจริญตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ในช่วงปี พ.ศ. 1993 เชื่อกันว่าชาวเมืองบ่อสมัยเริ่มแรกอพยพลงมาจากมองโกเลีย ประเทศจีน ผ่านประเทศลาวเข้ามาที่เชียงแสน ก่อนที่จะเดินทางลงมาตั้งรกรากทำเกลือที่เมืองบ่อแห่งนี้

ภูลังกา

          ในอดีตบ่อเกลือจะแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เรียกว่าบ่อเกลือเหนือ คือ บ่อน่าน ซึ่งถือเป็นบ่อเกลือในยุคสมัยเริ่มแรก เกลือในส่วนนี้จะส่งไปขายยังเมืองไชยะบุรี เมืองเงิน เมืองหงสา เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว อีกส่วนหนึ่งคือบ่อเกลือใต้ หรือ บ่อหลวง ในปัจจุบัน เกลือในส่วนนี้จะส่งผ่านดอยภูคาด้วยขบวนวัวต่าง เพื่อไปพักเกลือบริเวณสนามบินน่านในปัจจุบัน จากนั้นก็จะมีการกระจายเกลือไปยังเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ซึ่งในสมัยนั้นจะใช้วิธีแลกเกลือกับสินค้าต่าง ๆ เช่น ปลาแห้ง เครื่องถ้วยชาม หรือเครื่องหมากเครื่องพลู เป็นต้น

การทำเกลือของชาวบ่อเกลือไม่ใช่แค่การนำน้ำขึ้นมาต้มให้เหลือเพียงเกลือเท่านั้น แต่การทำเกลือของที่นี่เปรียบเสมือนจิตวิญญาณ ความเชื่อ ที่สั่งสมมาแต่โบราณกาล ทุกปีจะมีการบวงสรวงเจ้าหลวง ตลอดจนมีพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อของคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้เขาจึงไม่อนุญาตให้คนภายนอกขึ้นไปบนบริเวณบ่อเกลือนอกเหนือจากชาวบ้านที่ทำเกลือเท่านั้น

ภูลังกา

          คุณทวน อุปจักร์ เจ้าของบ่อเกลือวิว บอกกับผมว่า "เคยนำเกลือที่บ่อหนึ่งส่งไปวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลที่ได้คือเกลือมีความบริสุทธิ์ถึง 97.6 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเกลือบริสุทธิ์จากทั่วโลกเราจะอยู่อันดับสี่หรือห้า ในวงการแพทย์ถือว่าเป็นเกลือที่ดีที่สุด" แต่จริง ๆ แล้วบ่อเกลือก็ไม่ได้มีเพียงเกลือเท่านั้น คุณทวนบอกว่า "บ่อเกลือยังมีเรื่องราวผสมผสานระหว่างร่องรอยแห่งอดีตกับวิถีชีวิตของผู้คน มีโครงการภูฟ้าพัฒนาของสมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงตั้งขึ้นมา เพื่อลดการทำลายป่า พลิกผืนป่าบ่อเกลือให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง และที่สำคัญที่บ่อเกลือมีอากาศที่บริสุทธิ์ตลอดทั้งปี"

          ผมเคยเดินทางมาบ่อเกลือหลายครั้งในรอบหลายปี บ่อเกลือเติบโตอย่างช้า ๆ ด้วยวิถีชีวิตที่ยังคงเดิม คนบ่อเกลือส่วนหนึ่งยังคงดำรงชีพด้วยการทำเกลือจากบ่อ 2 บ่อ ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ ชุมชนอาจจะมีการขยายตัวมากขึ้น แต่ก็ยังไม่รู้สึกอึดอัด ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากที่สุด คือ มีบ้านพักและรีสอร์ทเกิดขึ้นหลายแห่ง การเดินทางมาบ่อเกลือสมัยเริ่มแรกราวยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ผมต้องนอนที่โรงเรียนเพื่อเดินทางต่อขึ้นภูแว แต่วันนี้บ่อเกลือมีที่พักให้บริการมีสิ่งอำนวยความสะดวกในระดับหนึ่ง ภายใต้บริบทของความเปลี่ยนแปลงลำน้ำมางยังคงทำหน้าที่ของมันเช่นเดิม แม้จะดูตื้นเขินลงไปกว่าเมื่อก่อน น้ำบ่อเกลือที่เคยมีก็ไม่เคยเหือดแห้ง การเดินทางของทุกชีวิตยังคงเดินหน้าอย่างที่มันเคยเป็น ชุมชนบ่อเกลืออาจจะเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่นั่นไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณของความเป็นชุมชนที่ยังคงดำรงชีพ ด้วยการต้มเกลือใจกลางหุบเขาที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวของเมืองไทยหายไป

ภูลังกา

เกลือวันนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งที่หายากเช่นในอดีต ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของยุทธศาสตร์การปกครอง ที่จะต้องแย่งชิงเพื่อครอบครอง เปล่าประโยชน์ที่จะพูดถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่สามารถตอบคำถามคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ได้เลย เกลือที่บ่อเกลือถุงละ 20 บาท ไม่สามารถสร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจได้มากมายอะไรนัก แต่คุณค่าร่องรอยแห่งอดีตเมื่อร่วมพันปี วิถีชีวิตของผู้คนที่ยังดำรงอยู่ และไออุ่นของธรรมชาติท่ามกลางอากาศที่ยังบริสุทธิ์ต่างหาก คือคุณค่ายั่งยืน ที่ไม่อาจนำเม็ดเงินมาประเมินได้

          ผมเคยถามตัวเองเหมือนกันว่าหากบ่อเกลือไม่มีเกลือจะเป็นเช่นไร แต่ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ หลายร้อยปีมาแล้วที่น้ำเกลือในบ่อไม่เคยเหือดแห้ง หลายร้อยปีมาแล้วที่ความเค็มของมันก็ไม่เคยจืดจาง เคยเป็นอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น แม้นเวลาจะผันผ่านเนิ่นนานเพียงไรก็ตาม

ภูลังกา

ก้าวใหม่ของการเดินทางสู่ผาจิ ผาช้าง ดอยวาว


          ผมเลือกใช้ทางหลวงหมายเลข 1081 จากบ่อเกลือ-อำเภอเฉลิมพระเกียรติ-อำเภอท่าวังผา เพื่อเดินทางไปอุทยานแห่งชาตินันทบุรี แม้ว่าระยะทางการเดินทางจะไกลกว่าเดิม แต่ผมก็เลือกใช้เส้นทางสายนี้ เพราะมันลัดเลาะไปตามชายขอบประเทศ ผ่านขุนเขาน้อยใหญ่และผืนป่าที่ยังอุดสมบูรณ์บริเวณต้นน้ำน่าน ผสมผสานไปกับวิถีชีวิตของผู้คนที่ยังไม่ถูกสังคมเมืองกัดกลืนจนมากนัก เส้นทางสายนี้เคยเงียบเหงาอย่างไร วันนี้ก็ยังเงียบเหงาอย่างนั้น นาน ๆ ถึงจะมีรถสวนสักคัน ถามว่าเปลี่ยวไหม ผมคงบอกว่านิดหน่อย ก็ไม่ถึงขนาดว่าจะเป็นอันตราย อย่างไรก็แนะนำว่าไม่ควรใช้ยามค่ำคืนครับ

          เส้นทางสายนี้ถือเป็นเส้นทางภูเขาที่สวยเส้นทางหนึ่งของน่าน ลาดยางมานานแล้ว ทรุดโทรมไปตามสภาพ รถเก๋งสามารถวิ่งได้สบาย ๆ จะแวะเที่ยวด่านห้วยโก๋น ซึ่งวันนี้กลับมาคึกคักไปด้วยขบวนรถสิบล้อและรถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่ เพื่อขนวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างไปสร้างโรงงานไฟฟ้าที่เมืองหงสา ประเทศลาว แล้วส่งกลับมาขายให้ไทย

ภูลังกา

เส้นทางจากห้วยโก๋นไปเมืองหงสาปัจจุบันลาดยางอย่างดีตลอดสาย ไม่ต้องนอนกลางทางเหมือนสมัยที่ผมเคยขับรถเข้าไปหลวงพระบาง การขับรถเข้าไปหลวงพระบางวันนี้จึงสะดวกกว่าในอดีต เพราะด่านห้วยโก๋นเปิดเป็นด่านสากลแล้ว การนำรถผ่านเข้าออกเพื่อการท่องเที่ยวและปัญหาต่าง ๆ ได้รับการแก้ไข เส้นทางจากห้วยโก๋นเข้าหลวงพระบางกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม เป็นอีกทางเลือกของคนที่ชอบขับรถเที่ยวระหว่างประเทศ

          จากบ่อเกลือไม่ถึง 200 กิโลเมตร ก็ถึงอุทยานแห่งชาตินันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่บนสันดอยติ้ว มองเห็นทิวทัศน์รอบตัว นี่คือ อุทยานฯ ที่มีทำเลที่ตั้งบนสันเขาที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง โดยไม่มีปัญหาเรื่องน้ำมากวนใจ อุทยานแห่งชาตินันทบุรีอยู่ระหว่างการประกาศจัดตั้ง มีเนื้อที่ราว 548,125 ไร่ หรือ 877 ตารางกิโลเมตร มียอดดอยวาวซึ่งสูงจากระดับทะเลปานกลางราว 1,674 เมตร เป็นยอดเขาสูงสุด พื้นที่แถบนี้ในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2511 อยู่ใต้อิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐ เพื่อปลดปล่อยประเทศ สงครามทางความคิดระหว่างคนในชาติที่จับอาวุธขึ้นต่อสู้กันเอง นำมาซึ่งความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล นอกเหนือจากภาวะจิตใจที่ต้องใช้เวลายาวนานในการเยียวยา

ภูลังกา

ดอยวาว ดอยผาจิ ผาช้าง ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์การต่อสู้ที่สำคัญภายใต้ยุทธการดอยผาจิ ที่คนในยุคสมัยเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้วล้วนรู้จักดี หลังจากปี 2525 เหตุการณ์ต่าง ๆ เริ่มสงบลง ดินแดนที่ถูกปิดตายในอดีตได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญของเมืองน่าน ภายใต้พื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยผาช้าง อุทยานแห่งชาตินันทบุรี หน่วยจัดการต้นน้ำน้ำคาง ครอบคลุมพื้นที่ ดอยผาจิ ดอยผาวัว ดอยผาช้าง และดอยวาว

          หากจะบอกว่านี่คือทะลุขนเขาผืนใหญ่ของเมืองน่าน บนเส้นทางรอยต่อกับพะเยาก็คงไม่ผิดนัก ที่นี่นอกเหนือจากร่องรอยทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางความคิดของคนในชาติในอดีตที่กำลังจางหาย ยังเต็มไปด้วยความงดงามของทะเลขุนเขา โอบล้อมด้วยผืนป่าซากุระผืนใหญ่ ที่หน่วยจัดการต้นน้ำน้ำคาง อีกทั้งเป็นถิ่นที่อยู่ของนกนานาชนิด โดยเฉพาะที่ดอยวาว ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งดูนกที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความหลากหลายทางธรรมชาติ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วน จนลืมเรื่องราวประวัติศาสตร์ครั้งก่อนเก่าจนหมดสิ้น

ภูลังกา

มหัศจรรย์สายหมอกฝนหลงฤดูที่ภูลังกา


          จากนันทบุรีผมย้อนกลับไปยังท่าวังผา เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1148 (อำเภอสองแคว-อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา) ผ่านอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน ราวหลักกิโลเมตรที่ 90 จะมีทางแยกขวามือขึ้นภูลังกา ประมาณ 5 กิโลเมตร จะเป็นที่ตั้งศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยมีวัตถุประสงค์ให้ชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เย้า ลดการปลูกฝิ่นและการทำลายป่า ด้วยโครงการพัฒนาส่งเสริมอาชีพทดแทน ปัจจุบันชาวไทยภูเขาเหล่านั้นได้หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชผักผลไม้เมืองหนาว เพื่อเป็นของฝากของนักท่องเที่ยว วิถีชีวิตของชาวไทยภูเขาปรับเปลี่ยนไปตามกระแสธารของการพัฒนา วันนี้การทำลายป่าลดลง ผืนป่ารุ่นใหม่กลับมาเติบโตอีกครั้ง

          จากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่าราว 4 กิโลเมตร เส้นทางลาดยางสายนี้สิ้นสุดที่วนอุทยานภูลังกา บนเขตพื้นที่จังหวัดพะเยา รอยต่อกับจังหวัดน่าน มีเนื้อที่ประมาณ 7,800 ไร่ ชาวไทยภูเขาเผ่าเมี่ยนเรียกภูลังกาว่า "ฟินจาเบาะ" หมายถึง ภูเทวดา ซึ่งน่าจะหมายถึงยอดภูลังกา ซึ่งอยู่สูงจากระดับทะเลปานกลางราว 1,720 เมตร นี่คือยอดเขาที่มีความสูงมากที่สุดของเทือกเขาสันปันน้ำไทย-ลาว ด้านทิศเหนือประกอบด้วยยอดดอยภูนม สูงจากระดับทะเลปานกลางราว 1,600 เมตร ดอยหัวลิง แต่ละยอดเขาสามารถเดินเชื่อมต่อกันได้

ภูลังกา

การเดินทางขึ้นยอดภูลังกาไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากมีเส้นทางออฟโรดจากที่ทำการวนอุทยานฯ ขึ้นไปจนถึงเชิงภู เดินเท้าต่ออีกราว 1 กิโลเมตรเท่านั้นเอง นี่เป็นยอดเขาที่มีระดับความสูงเกิน 1,700 เมตร ที่มีระยะทางการเดินเท้าสั้นที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ภูลังกามีโครงสร้างทางกายภาพคล้ายดอยม่อนจอง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ แต่มีสันดอยที่เดินเชื่อมต่อถึงยอดดอยต่าง ๆ สั้นกว่า บนยอดดอยเป็นสันทุ่งหญ้าผสมผสานไปกับผืนป่าดิบและมวลไม้ดอกตามฤดูกาล สามารถซึมซับกับโลกธรรมชาติเบื้องล่าง กว้างไกลถึงแนวเขตขุนเขารอยต่อประเทศลาว

          ชีวิตที่ภูลังกาเริ่มต้นในยามเช้าก่อนดวงตะวันโผล่พ้นขอบฟ้า มีทิวเขาสลับซับซ้อน สายหมอก ดอกไม้ ท้องทุ่งหญ้า เป็นผู้ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านแสงแรกแห่งตะวัน ท่ามกลางความเหน็บหนาว สายฝนหลงฤดูก่อให้เกิดสายหมอกขึ้นปกคลุมหนาแน่นเหนือความคาดหมาย ธรรมชาติมักเดินทางมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงเสมอ

ภูลังกา

          สายหมอกที่เริ่มก่อตัวขึ้นทีละน้อย และเพิ่มจำนวนมากขึ้นยามต้องแสงแรกของตะวัน แม้จะมีความงดงามเพียงไร แต่ชีวิตของสายหมอกก็ไม่อาจหลุดพ้นจากพันธนาการของสายลมที่พาดผ่าน ซึ่งจะเป็นผู้นำพาชีวิตไปยังหุบเขาลูกโน้นลูกนี้ โดยที่ตัวมันเองไม่อาจควบคุมและต้านทาน

          ในบางห้วงความรู้สึก ชีวิตเราบางครั้งก็ไม่ต่างจากสายหมอก ที่ไม่สามารถกำหนดเส้นทางชีวิตของตัวเอง ในช่วงเวลาหนึ่งผมอยากสวมเสื้อสีอะไรก็ได้ตามใจปรารถนา แต่วันนี้สีเสื้อกลายเป็นเครื่องบ่อบอกถึงความแตกต่าง ที่จำเป็นต้องเลือกแม้ไม่ต้องการ สีเสื้อกลายเป็นสัญลักษณ์ของความแปลกแยก ที่กำหนดชีวิตคนให้แตกต่างกัน ผมอยากกลับไปสวมเสื้อสีอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องมีเส้นบาง ๆ มาขีดกั้นความรู้สึก สายไปไหมถ้าผมจะบอกว่า ขออิสระสีเสื้อของผมคืนกลับมา

ภูลังกา

คู่มือนักเดินทาง

เส้นทางท่องเที่ยวผ่านทะเลขุนเขารอยต่อของจังหวัดน่านและพะเยา ที่มีเรื่องราวค่อนข้างหลากหลาย เริ่มจากเมืองน่าน ใช้ทางหลวงหมายเลข 1080 (น่าน-อำเภอเฉลิมพระเกียรติ) ผ่านอำเภอท่าวังผา ถึงอำเภอปัว เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1256 (อำเภอปัว-อำเภอบ่อเกลือ) จากบ่อเกลือใช้ทางหลวงหมายเลข 1081 (อำเภอบ่อเกลืออำเภอเฉลิมพระเกียรติ-อำเภอทุ่งช้าง-อำเภอปัว-อำเภอท่าวังผา) ก่อนถึงท่าวังผาจะมีทางแยกขาวมือเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1148 (อำเภอท่าวังผา-อำเภอสองแคว) ประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1082 (นาหนุน-บ้านสบขุ่น) ราวหลักกิโลเมตรที่ 27 จะมีทางแยกขวามือ (ทางดิน ถ้าฝนไม่ตกรถเก๋งสามารถเข้าได้) ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาตินัทนบุรี จากอุทยานฯ ประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำคางหรือดอยวาว

          จากอุทยานแห่งชาตินันทบุรี ย้อนกลับทางเดิม เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1148 (อำเภอท่าวังผา-อำเภอสองแคว-อำเภอเชียงคำ) ก่อนถึงบ้านสิบสองพัฒนา มีทางแยกขวามือขึ้นไปวนอุทยานภูลังกา ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร จากวนอุทยานฯ ขึ้นภูลังกาควรใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ (ติดต่อสอบถามเรื่องการเช่ารถได้ที่วนอุทยานฯ)

ภูลังกา

โปรแกรมท่องเที่ยว

วันที่หนึ่ง เที่ยวเมืองน่าน มีวัดสำคัญที่น่าสนใจหลายแห่งในตัวเมือง เช่น วัดภุมินทร์ พระธาตุแช่แห้ง ค้างคืนที่น่าน

วันที่สอง น่าน-บ่อเกลือ แวะเที่ยวท่าวังผา ชมภาพเขียนสีโบราณที่วัดหนองบัว อุทยานแห่งชาติดอยภูคา ค้างคืนที่บ่อเกลือ มีรีสอร์ทและบ้านพัก หรือที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา มีบ้านพักและอาหารให้บริการ และที่อุทยานแห่งชาติขุนน่าน อยู่เลยจากบ่อเกลือไปตามเส้นทางบ่อเกลือ-อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ประมาณ 6 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวามือเข้าอุทยานฯ มีบ้านพักและลานตั้งแคมป์ให้บริการ แต่ไม่มีร้านอาหาร

วันที่สาม บ่อเกลือ-อุทยานแห่งชาตินันทบุรี เที่ยวน้ำตกสะปันในเขตพื้นที่อุทยานฯ ขุนน่าน ขุนน้ำน่าน ต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน ด่านห้วยโก๋น อำเภอทุ่งช้าง อำเภอเชียงกลาง ค้างคืนที่อุทยานฯ นันทบุรี มีบ้านพักและลานตั้งแคมป์ให้บริการ หรือที่หน่วยจัดการต้นน้ำน้ำคาง เลยจากอุทยานฯ ไป 1 กิโลเมตร มีบ้านพักและลานตั้งแคมป์ให้บริการ แต่ไม่มีร้านอาหารยกเว้นช่วงเทศกาลสำคัญ

วันที่สี่ อุทยานแห่งชาตินันทบุรี-วนอุทยานภูลังกา แหล่งท่องเที่ยวทางผ่าน อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า พักค้างคืนที่วนอุทยานภูลังกา มีบ้านพักและพื้นที่ตั้งแคมป์ให้บริการ แต่ไม่มีร้านอาหาร โครงการหลวงปังค่า หรือที่ภูลังการีสอร์ท อยู่ก่อนถึงวนอุทยานภูลังกา

ภูลังกา

ภูลังกา

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ

อุทยานแห่งชาตินันทบุรี โทรศัพท์ 08 999 2420, 08 0131 1395

อุทยานแห่งชาติขุนน่าน โทรศัพท์ 0 5473 1790, 08 4483 7240

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปังค่า โทรศัพท์ 0 5440 1023

วนอุทยานภูลังกา โทรศัพท์ 08 1883 0307

อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน โทรศัพท์ 08 9045 9831

หน่วยจัดการต้นน้ำน้ำคาง (ดอยวาว) โทรศัพท์ 08 1768 4358, 08 4177 4956

ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ที่พักบ่อเกลือ โทรศัพท์ 0 5471 0610 (ใช้ร่วมเป็นเบอร์แฟกซ์ด้วย)

บ่อเกลือวิว ที่พักบ่อเกลือ โทรศัพท์ 0 5477 8140, 08 1809 6392

อุ่นไอมาง ที่พักบ่อเกลือ โทรศัพท์ 08 1374 7004

นาเปรื่องโฮมสเตย์ ที่พักบ่อเกลือ โทรศัพท์ 08 9855 2752

ภูสังการีสอร์ท ที่พักภูลังกา โทรศัพท์ 08 6191 0291








ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

ปีที่ 53 ฉบับที่ 6 มกราคม 2556


Create Date : 12 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2556 21:44:17 น. 1 comments
Counter : 2044 Pageviews.  

 


โดย: Kavanich96 วันที่: 13 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:4:40:36 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

karnoi
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 57 คน [?]




เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย






ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


[Add karnoi's blog to your web]