เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย

ติดตามข้อมูลเว็บทาง Google+ กด
FaceBook สาว ๆ เซ็กซี่

“บันทายฉมาร์” มหาปราสาทยักษ์กำลังตื่น

รอยอดีตที่หลงเหลือของบันทายฉมาร์
       ชื่อของ “บันทายฉมาร์”แม้ไม่เป็นที่รู้จักโด่งดังเท่านครวัด-นครธม แต่ปราสาทแห่งนี้นับว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย โดยในบทความ “บันทายฉมาร์ อาณาจักรแห่งนิทรากาล” ที่เขียนโดย “นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว” ได้ระบุถึงความสำคัญของปราสาทแห่งนี้ว่า

       “...บันทายฉมาร์นับเป็นปราสาทหินเขมรที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่ยิ่งกว่านครวัดที่คนทั่วไปได้เคยพิศวงมาแล้ว...”(เป็นข้อมูลที่ระบุจากตัวบุคคล ไม่ได้เป็นหลักฐานอ้างอิงอย่างเป็นทางการ)

       บันทายฉมาร์ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในมหาปราสาทขอม ตั้งอยู่ใน จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ปราสาทแห่งนี้ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่เก็บอัฐิของพระโอรสคือ “เจ้าชายศรินทรกุมาร”(ศรีนทรกุมาร) ที่สิ้นพระชนม์จากการทำสงครามในพื้นที่แถบนี้

บันทายฉมาร์วันนี้อยู่ในระหว่างการบูรณะ รอวันกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
       อย่างไรก็ดีในอาณาเขตอันกว้างใหญ่ของบันทายฉมาร์นั้น ชื่อของบันทายฉมาร์ หรือ “บันเตียฉมาร์” กลับแปลว่า “ป้อมเล็ก” ขณะอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า บันทายฉมาร์ หมายถึง “ป้อมแมว” หรือ “ปราสาทแมว”

       วีระ อดีตนายทหารยศสูงชาวเขมรผู้ผันตัวมาเป็นไกด์ทัวร์ให้กับบริษัท “อินโดไชน่า” ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการทัวร์อินโดจีนมายาวนาน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ฉมาร์ แปลว่า เล็กก็ได้ แปลว่าแมวก็ได้ ขึ้นอยู่กับใครจะตีความ สำหรับบันทายฉมาร์น่าจะหมายถึงปราสาทที่มีหลังเล็กกว่านครวัด

       ขณะที่ชื่อป้อมแมวนั้น นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความข้างต้นว่า “...“ป้อมแมว” และที่ตั้งอันห่างไกลของโบราณสถาน ก็พอจะทำให้นึกไปถึง “แมวมอง” หรือ ผู้สืบเหตุที่คอยลาดตระเวนตรวจตราตามชายแดน

ซากกองหินอันระเกะระกะกับต้นไม้ที่ขึ้นทั่วไป
       ไม่ว่าบันทายฉมาร์จะมีชื่อสื่อความว่าอย่างไร ในอดีตปราสาทแห่งนี้ได้ถูกกาลเวลากลืนกินจนพังทลายหลงเหลือเพียงสิ่งก่อสร้างสำคัญไม่กี่หลัง อีกทั้งยังถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน

       อย่างไรก็ดี หลังสงครามในภูมิภาคนี้สงบ บรรดาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุขอม ทั้งจากเขมรและในฝั่งไทย ได้ถูกต่างชาติออร์เดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งนั่นกลับกลายเป็นโอกาสดีของนักล่า นักค้าของเก่า ที่เดินทางมาลักลอบนำศิลปวัตถุ โบราณวัตถุในภูมิภาคนี้ออกไปตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมมาจนถึงปัจจุบัน

แม้จะหักพังไปเป็นจำนวนมาก แต่บันทายฉมาร์ก็ยังมีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว
       สำหรับบันทายฉมาร์นับเป็นอีกแห่งหนึ่ง ที่หนีไม่พ้นจากการถูกลักลอบขุดขโมยทรัพย์สมบัติ โดยช่วงที่เขมรกำลังฟื้นประเทศหลังสงครามสงบได้มีชาวบ้านส่วนหนึ่งเข้ามาขุดค้นลักลอบหาสมบัติเพื่อนำไปขาย เพราะช่วงนั้นชาวบ้านยากจนกันมาก อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าได้ปราสาทแต่ละหลังมีการฝังทอง และข้าวของมีค่าต่างๆเอาไว้เป็นจำนวนมาก(ข้อมูลอ้างอิงจากคำบอกเล่าของผู้ที่เคยมาขุดหาสมบัติที่บันทายฉมาร์)

       ส่วนที่ปรากฏเป็นข่าวฮือฮาเมื่อหลายปีก่อนก็คือ การลักลอบขโมยรูปสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่อยู่บนกำแพงปราสาทแบบยกเอาไปทั้งกะบิ ตามออร์เดอร์ของพวกลักลอบค้าโบราณวัตถุข้ามชาติ ซึ่งรูปสลักนั้นมาถูกจับได้ที่เมืองไทย ก่อนที่รัฐบาลไทยจะส่งคืนกลับให้กัมพูชา(ปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์กรุงพนมเปญ)

พระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
       จากเรื่องราวการลักลอบขโมยโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ ทำให้ชื่อเสียงของบันทายฉมาร์ในบ้านเราเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีคนแสงความสนใจอยากเดินทางไปเที่ยวชมปราสาทแห่งนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลังเคลียร์พื้นที่(บางส่วน)แล้ว ทางการกัมพูชาได้เปิดปราสาทบันทายฉมาร์ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมได้ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2005 โดยปัจจุบันตัวปราสาทกำลังอยู่ในกระบวนการบูรณะด้วยระบบ“อนัสติโลซิส”

บารายนอกปราสาทอันกว้างใหญ่
       สำหรับสิ่งน่าสนใจของบันทายฉมาร์ เริ่มตั้งแต่ภายนอกตัวปราสาทกับ “บาราย” หรือสระน้ำขุดขนาดใหญ่ทางทิศตะวันออกที่กักเก็บน้ำไว้สำหรับชุมชนล้อมรอบแนวกำแพง แสดงถึงการมีระบบชลประทานมาตั้งแต่อดีตของชาวขอม

       นอกจากนี้ที่ด้านนอกยังมีสะพานนาคราชที่เทวดากับอูสรมายุดนาคกวนเกษียรสมุทรกัน ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงโครงเลาๆให้ชม เพราะเศียรของเทวดา อสูร และนาค หายไปหมดสิ้น

สะพานนาคหัวหาย
       มาดูสิ่งน่าสนใจในภายในกำแพงกันบ้าง เมื่อตีตั๋วเข้าไปจะพบกับ “ธรรมศาลา” หรือที่พักคนเดินทางที่อยู่ในสภาพยังสร้างไม่เสร็จ จากนั้นจะพบกับลานด้านหน้าปราสาท จัดวางรูปสลักหัวราวสะพานนาคที่สลักเป็นรูปครุฑขี่นาคอย่างสวยงามในระดับมาสเตอร์พีช

รูปสลักหัวราวสะพานนาคผลงานระดับมาสเตอร์พีช
       ถัดไปเป็นส่วนของระเบียงคดที่พังทลายเป็นซากกองหินระเกะระกะ มีเจ้าหน้าที่กำลังบูรณะอยู่บางส่วน เมื่อเดินเลยไปหน่อยจะเป็นกำแพงที่ผ่านการบูรณะแล้ว มีภาพสลักหินนูนต่ำทั้งเก่าและใหม่ผสมกันอยู่อย่างกลมกลืนถือเป็นดังการเรียกน้ำย่อยก่อนที่จะเข้าไปชม รอยอดีตอันยิ่งใหญ่ที่หลงเหลือสภาพอยู่บางส่วนให้สัมผัสกันในบริเวณตัวปราสาท ไล่ตั้งแต่ “ซุ้มประตู” หรือ “โคปุระ” ไปจนถึงตัวปราสาทหลัก

รูปสลักนูนต่ำบนแนวกำแพงที่ผ่านการบูรณะแล้ว
       ในจุดนี้มีทั้งซากกองหินระเกะระกะที่พังทลายลงมากลายเป็นเนินขนาดย่อม กับโครงสร้างบางส่วนของปราสาทที่ยังคงรูปอยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่จำนวนมากที่ขึ้นปกคลุม แสดงให้เห็นว่าถูกทิ้งร้างมานาน

       บริเวณนี้มีไฮไลท์อยู่ที่ตัวปราสาทชั้นในที่ตัวเรือนธาตุด้านบนสลักเป็นภาพพระพักตร์ “พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร” ใน 4 มุม 4 ทิศ เชื่อว่านี่เป็นพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นเดียวกับปราสาทบายน ในนครธม ซึ่งเชื่อว่าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรได้คอยสอดส่องช่วยเหลือมวลมนุษย์ เปรียบดังพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มองสอดส่องราษฎรของพระองค์เพื่อจะคอยช่วยเหลือให้ดีขึ้น โดยอาคารตัวปราสาทชั้นในบางหลังตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงการบูรณะปฏิสังขรณ์

พระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร บนเรือนธาตุของปราสาทหลักด้านใน
       นอกจากภาพสลักพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรอันใหญ่โตโดดเด่นเป็นสง่าแล้ว ตามทับหลัง หน้าบัน หรือ ตามหลืบ ตามมุม ต่างๆในบริเวณปราสาทชั้นในยังมีภาพแกะสลักหินอันสวยงามในชมกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนางอัปสราที่ดูแข็งในแบบบายน พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม เทวดา ครุฑ ฤาษี พราหมณ์ เป็นต้น

รูปสลักนางอัปสรา
       จากภายในตัวปราสาทหากเที่ยวชมกันอย่างจุใจแล้วก็อย่าพลาดการชมภาพสลักหินนูนต่ำที่สลักอยู่บนกำแพงด้านทิศตะวันตกไปเป็นแผ่น เป็นแนวยาว ยกเว้นบางช่วงบางตอนที่ชำรุดหายไป หรือไม่ก็ถูกโจรขโมยไป

       ภาพสลักหินนูนต่ำบนกำแพงนับเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของบันทายฉมาร์ ซึ่งเป็นการแกะสลักอย่างปราณีตสวยงาม ในเรื่องราวต่างๆ อาทิ รูปภาพเล่าเรื่องราวการสู้รบของเจ้าชายเจ้าชายศรินทรกุมาร ที่มีการยกทัพ กองกำลัง พาหนะศึกทั้งช้าง ม้า เกวียน เรือ ภาพทหาร รวมไปถึงทัพครัวของขอมสมัยโบราณ ภาพทหารกำลังถวายหัวผู้ทรยศ(บ้างก็ว่าเป็นข้าศึก) ภาพวิถีชีวิต ภาพการเข้าเฝ้าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่ท้องพระโรง ภาพพราหมณ์ทำพิธีบูชาศิวลึงค์ เป็นต้น

อีกหนึ่งภาพสลักน่าสนใจบนแนวกำแพง
       นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มภาพสำคัญที่ปรากฏเพียงหนึ่งเดียว คือ กลุ่มภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรกำลังแสดงพลานุภาพท่ามกลางเหล่าทวยเทพ ซึ่งแต่ละภาพพระโพธิสัตว์ฯมีกร(มือ)ไม่เท่ากัน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า พระโพธิสัตว์ฯบางรูปได้จรกรรมเลาะพระพักตร์ไป และกำแพงบางส่วนก็ถูกขโมยไป ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เหลือเพียงความยิ่งใหญ่แห่งรอยอดีตทิ้งไว้ท่ามกลางความเป็นจริงในปัจจุบันอันแสนทราม

รูปสลักพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรแสดงพลานุภาพ
       และนั่นก็คือมนต์เสน่ห์บางส่วนของบันทายฉมาร์ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเคยมีคนเปรียบเปรยปราสาท บันทายฉมาร์ว่า เป็นดินแดนแห่งนิทรากาล ที่ยังคงหลับใหลอยู่ในสายธารประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์

       แต่มาวันนี้บันทายฉมาร์กำลังจะตื่นขึ้นมาอวดโฉมความอลังการสู่สายตาชาวโลก หลังการเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการบูรณะเพื่อพลิกฟื้นมหาปราสาทแห่งนี้ให้กลับสู่ความยิ่งใหญ่ อีกครั้ง ขณะที่เส้นทางจากแยกศรีโสภณสู่บันทายฉมาร์ วันนี้อยู่ในระหว่างการทำถนนใหม่ ซึ่งอีกไม่นานการเดินทางสู่บันทายฉมาร์จะสะดวกสบายมากขึ้น

       และนี่ก็คืออีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของเพื่อนบ้านเราในการเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)ที่กำลังจะมาถึงในปี พ.ศ. 2558 นี้

รูปสลักบนทับหลังของโคปุระ
       *****************************************

ปราสาทบันทายฉมาร์ ตั้งอยู่ใน อ.ทมอพวก จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา การเดินทางจากเมืองไทยที่สะดวกที่สุด ข้ามแดนที่ จ. สระแก้ว ด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต ไปทางถนนสู่เสียมราฐ(เสียมเรียบ) เมื่อไปถึงแยกศรีโสภณให้เลี้ยวซ้ายไปทาง จ. บันเตียเมียนเจย ประมาณ 63 กม. บันทายฉมาร์คิดค่าเข้าชมคนละ 5 USD สำหรับการผู้สนใจเที่ยวบันทายฉมาร์แบบเป็นหมู่คณะพิเศษ สามารถสอบถามได้ที่ อินโดไชน่า 0-2898-2324,081-870-6343

หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนในเนื้อเรื่องอ้างอิงจากบทความ ...บันทายฉมาร์ อาณาจักรแห่งนิทรากาล... โดย “นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว” และ บทความ ...“ปราสาทบันทายฉมาร์” ปริศนาแลมนตรา กาลเวลาในไพรสณฑ์...โดย “ศุภศรุต”

//www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000040482



Create Date : 03 เมษายน 2556
Last Update : 3 เมษายน 2556 20:22:26 น. 0 comments
Counter : 1963 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

karnoi
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 57 คน [?]




เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย






ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


[Add karnoi's blog to your web]