หยาดน้ำตาในวันนั้น หยดน้ำหวานในวันนี้





หยาดน้ำตาในวันนั้น หยดน้ำหวานในวันนี้

อุรุดา โควินท์


น่าดีใจอย่างยิ่ง ที่ศรัทธาต่อการเขียนทำให้เรามีศรัทธาต่อชีวิต

มองเห็นได้ว่าชีวิตคือสิ่งมหัศจรรย์ และเราหาได้ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างไม่มีเหตุผล

ทั้งเราไม่ได้ตายไปพร้อมความว่างเปล่า

มันเป็นอย่างนี้ใช่มั้ย ? ศรัทธาต่อการเขียนชักนำไปสู่ศรัทธาต่อชีวิต

และเพราะมีศรัทธาต่อชีวิตนั่นเอง ทำให้เราเขียน

- กนกพงศ์ สงสมพันธุ์,

คำนำนักเขียนในรวมเรื่องสั้น “โลกหมุนรอบตัวเอง”

ปรากฏอีกครั้งในคำนำนักเขียน

เรื่อง “หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา” ของอุรุดา โควินท์



ร้านหย่อนญาณ ณ ช่างชุย แวะมาซื้อหนังสือ นั่งจิบกาแฟกันได้


ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เก็บมาเล่าครั้งนี้ “เป็นความบังเอิญ” แม้ว่าผมตั้งใจขอตามรุ่นพี่ที่ทำงานไปเที่ยว “ช่างชุ่ย” Community Mall แห่งใหม่ ซึ่งถูกนิยามว่าเป็น อาณาจักรแห่งศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ 

ความตั้งใจแรกเริ่ม คือกะอาศัยรถคนอื่นเขาไปเที่ยวชมช่างชุ่ยเฉย ๆ หลังจากได้ยินคนพูดกันทั่วว่า สวย เท่ เจ๋ง มุมถ่ายรูปดี ครั้นพอไปถึงช่างชุ่ย รุ่นพี่เจ้าของรถก็ชักชวนผมไปฟังเสวนา หยาดน้ำตาในวันนั้น หยดน้ำหวานในวันนี้ เปิดตัวหนังสือเล่มล่าสุดของ คุณชมพู - อุรุดา โควินท์ ผมก็เลยเออออไปกับเขาด้วย เพราะรู้จักชื่อของนักเขียนคนนี้มานานจากผลงานตามแผงหนังสือ และจากเสียงของนักอ่านหลายคน ซึ่งร่ำลือกันว่าผลงานของคุณชมพูมีความละมุนละไม เนื้อเรื่องดี มีเอกลักษณ์ ให้พลัง

ผมเลยนึกอยากอ่านงานของคุณชมพูดูบ้าง (หลังจากเคยเล็งไว้ แล้วไม่ยอมซื้อมาอ่านสักที เพราะกองดองที่บ้านสูงท่วมหัว) ต่อเมื่อได้ฟังการเสวนาเพียงไม่ถึงสิบนาที ผมก็บอกกับตัวเองว่า “เราคงต้องตั้งใจฟังเขาพูดแล้วละ”





บรรยากาศการเสวนากำลังสนุก

ตอนนั้นเหมือนมีอะไรบางอย่างดึงดูดให้ผมขยับจากแถวยืนด้านหลังสุด ไปนั่งเก้าอี้ด้านหน้าเพื่อฟังการเสวนาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว นับจากนาทีนั้น ถ้อยคำของคุณชมพู และมุมมองจากผู้ร่วมเสวนาก็พาผมไปรู้จักกับนักเขียนสาวคนนี้มากขึ้น รู้จักความทุ่มเทในการสร้างงานเขียนของเธอ และเหนือไปกว่านั้น คือได้รู้จัก “คนรัก” ของเธอ ผ่านเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดไว้ในนวนิยายเรื่อง หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา ซึ่งกำลังเปิดตัวอยู่ตรงหน้า ณ ร้านหย่อนญาณ ช่างชุ่ย เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา

หลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า คุณชมพูเป็นภรรยาของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2539 ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่งานเสวนาครั้งนี้ต้องการนำเสนอ คือให้เหล่านักอ่านและแฟนหนังสือของอุรุดา โควินท์ และกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ได้สัมผัสกับเบื้องหลังชีวิต ความรัก ความทรงจำ ของสองนักเขียนที่เคยมีร่วมกัน ผ่านนวนิยายที่แต่งเติมขึ้นจากชีวิตจริงของทั้งคู่ และถือเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมเล่มหนึ่งในอาชีพนักเขียนของอุรุดา โควินท์





วงสนทนาเล็ก ๆ แต่มีคนสนใจฟังอยู่รอบด้าน

ผมขอไม่พูดถึงรายละเอียดในนวนิยายหยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา แต่อยากฝากความน่ารักที่คุณชมพูเขียนเอาไว้ในบทที่หนึ่งมาให้ได้อ่านกันสักเล็กน้อย --- ถ้าหากคุณลืมไปแล้วว่า นวนิยายเรื่องนี้คือส่วนหนึ่งของเรื่องจริง ตัวละครมีตัวตนจริง ๆ คุณก็จะมองเห็นความน่ารักแก่น ๆ แอบขี้งอนนิด ๆ ของนางเอก และนิสัยกวน ๆ น่าหมั่นไส้ของพระเอก เรียกว่า เคมีเข้ากันสุด ๆ แม้นางเอกของเราจะยืนยันว่า พระเอกของเธอไม่ใช่ชายรูปงามหรือถึงกับมากเสน่ห์ แต่เธอก็ปฏิเสธไม่ได้ ว่าเขาดึงดูดเธอ...


พี่จอดรถรอหน้าตึก หยอดเหรียญโทรศัพท์ใต้ตึกนั่น “โควินทะ ไปดูหนังตะลุงมั้ย”

พี่รู้มั้ย ฉันรำคาญสุด ๆ ที่พี่เรียกฉันด้วยนามสกุล แถมยังเติม ‘ทะ’ เข้าไป จะลำบากอะไรนักหนา ถ้าพี่จะอยากฉันว่าพู, ชมพู หรือชื่อจริง เอาเถอะ ถ้าอยากแสดงระยะห่างอย่างตะวันตก ก็กรุณาเรียกฉันว่า ‘โควินท์’ นามสกุลของฉันมาจากแซ่โคว้ เป็นจีนแต้จิ๋ว ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับสิทธารถะ อย่ามั่วนิ่ม

เก็บเรื่องนามสกุลไว้ก่อน ถ้าเรียกอีกที ฉันจะสาธยายให้แจ่มแจ้ง


ระหว่างการเสวนา ผมไม่เพียงแต่สนุกและซาบซึ้งไปกับช่วงเวลาที่นักเขียนทั้งสองเคยมีร่วมกัน แต่สิ่งสำคัญที่ผมได้รับจากคุณชมพู คือ พลังใจและความมุ่งมั่นในการเขียนหนังสือ เพื่อเดินหน้าต่อไปบนถนนสายวรรณกรรมอย่างภาคภูมิ



คุณชมพูพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับหนังสือของเธอ

คุณชมพูเล่าว่า หลังจากเธอลาออกจากงานธนาคาร เธอมีหนังสือของตัวเองที่ตีพิมพ์แล้วเพียง 2 เล่ม เธอรู้สึกไม่อยากเขียนเรื่องรัก ๆ อีกต่อไปแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะเลิกเป็นนักเขียน แต่คุณกนกพงศ์คือผู้จุดประกายให้เธอเขียนหนังสือต่อ เขาบอกกับเธอว่า “คนทุกคนมีเรื่องเล่าของตัวเอง ถ้าคนอื่นเขียนได้ เราก็สามารถเขียนได้”

คำพูดที่คุณกนกพงศ์เคยมอบให้คุณชมพูในวันนั้น เชื่อว่าคงเป็นแรงผลักดันหนึ่ง ที่ส่งให้เธอเป็นที่ต้อนรับ ยอมรับ และเป็นอุรุดา โควินท์ที่นักอ่านหลายคนหลงรัก ตลอดจนเป็นแรงใจให้เธอเขียนหยดน้ำหวานในหยาดน้ำตาได้สำเร็จ


“การที่เรารอถึงสิบปี กว่าจะเขียนเรื่องนี้ คือรอให้ใจของเราเข้มแข็ง รอชีวิตที่ดี มีความสุข และรอฝีมือซึ่งเราค่อย ๆ ฝึกฝนจนดีขึ้น เพราะไม่ใช่เขียนเล่มแรกแล้วจะดีเลย การเขียนนวนิยายต้องใช้ทั้งฝีมือและประสบการณ์ พอครบรอบ 10 ปีที่พี่กนกพงศ์จากไป เราเลยคิดว่าน่าจะมีอะไรระลึกถึงเขาบ้าง เราอยากจะเก็บเสน่ห์และความน่าหมั่นไส้ของเขาเอาไว้ในหนังสือ อยากให้เขาเกิดใหม่อีกครั้งในรูปของหนังสือ มีชีวิตในทุกขณะที่มีคนหยิบนวนิยายเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน เราปรารถนาอย่างนั้น” 


คุณชมพูบอกเล่าถึงความตั้งใจในการเขียนนวนิยายเล่มล่าสุดของเธอ

นอกจากนี้ คุณอ้น – จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์วรรณกรรม และหนึ่งในผู้ร่วมวงเสวนาก็พูดถึงมุมมองของเขา ที่มีต่อนวนิยายเล่มนี้อย่างน่าสนใจเช่นกันว่า


“ความงามของ ‘หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา’ คือความจริง การเอาเรื่องจริงมาเขียนเป็นนวนิยาย มันงามด้วยรายละเอียด มีมิติที่น่าสนใจ ภาษาก็สวยแบบพอดี เพราะฟังดูจริงอย่างที่คนพูดกัน --- ตอนอ่าน สิ่งที่ผมคิดก็คือ คน ๆ หนึ่งเก็บความทรงจำเหล่านี้มาได้อย่างไร ส่วนบทสรุปสำคัญของเรื่องนี้ ผมว่าอยู่ตรงคำถามของ เป้-วาด รวี ที่ถามชมพูว่า ‘คุณอยู่กับกนกพงศ์แล้วคุณมีความสุขหรือเปล่า’ ตรงนี้คงไม่มีคำตอบที่แน่ชัด เพราะสิ่งที่ผ่านมาทั้งหมดบนเส้นทางความรักของคนสองคน ความสุขและความทุกข์มันมาด้วยกันเสมอ”


มุมมองของคุณอ้น คืออีกหนึ่งเหตุผลที่กระตุ้นให้ผมอยากอ่าน หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา มากขึ้นในทุกขณะที่นั่งฟังการเสวนา อยากรู้ว่าความจริงที่ถูกหยิบมานำเสนอในรูปแบบนวนิยาย ผ่านปลายปากกาของอุรุดา โควินท์จะงดงามแค่ไหน แล้วจะให้อะไรแก่เราบ้าง







(ภาพบน) คุณชมพูกับคุณเจน สงสมพันธุ์ (พี่ชายของกนกพงศ์)
(ภาพล่าง) คุณชมพูกับแฟนหนังสือ
Cr. ขอบคุณภาพจากเพจ Matichon Book - สำนักพิมพ์มติชน

นาฬิกาบอกเวลาจวนสองทุ่มแล้ว ช่วงเวลาแห่งการพูดคุยใกล้สิ้นสุด คุณชมพูกล่าวทิ้งท้ายก่อนจบการเสวนาถึง ‘คำพูดของคุณกนกพงศ์’ ที่ให้กำลังใจแก่เธอในการเขียนหนังสือ ซึ่งเธอยังคงจดจำถ้อยคำเหล่านั้นได้ไม่เคยลืม


“มีประโยคหนึ่งที่เขาเคยบอกว่า ‘ให้พูเขียนหนังสือ แล้วงานเขียนจะปกป้องพูจากทุกอย่าง’ เวลาที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ พิสูจน์แล้วว่าคำพูดของเขามันจริง ที่เรายังเป็นนักเขียนอย่างวันนี้ได้ ก็เพราะเรายังเขียน อีกอย่างที่ไม่เคยลืม คือ ตาของเขากับคำว่า ‘ดี’ เวลาที่เขาอ่านเรื่องสั้นของเรา เราจะมองเห็นประกายในดวงตาของเขา และในประกายนั้นเราก็แอบเห็นความริษยานิด ๆ ด้วย (หัวเราะ) ทุกครั้งที่เขียนงาน เราก็จะนึกถึงคำพูด น้ำเสียง และดวงตาของเขาอยู่เสมอ”


นักเขียนสาวแย้มยิ้มกับความทรงจำของเธอ สิ่งที่เธอเล่าให้ฟังนั้น ทำให้ผมถึงกับขนลุกซู่ด้วยความประทับใจ ขณะนั่งฟังอยู่ในมุมแคบ ๆ ของวงเสวนาตลอดสองชั่วโมง แล้วสุดท้ายผมก็ต้อง ‘จิตอ่อน’ ตัดสินใจซื้อ หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา กลับมาอ่านในวันเดียวกันนั้น พร้อมทั้งได้รับ “รอยจูบกับลายเซ็น” ของคุณชมพูมาเป็นที่ระลึกด้วย





ช่วงแจกลายเซ็นพร้อมประทับรอยจูบ จาก อุรุดา โควินท์

เมื่อได้ลองอ่าน ‘คำนำ’ จบแล้ว ความรู้สึกมากมายที่สัมผัสได้จากข้อความในคำนำ ก็ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของรุ่นน้องคนหนึ่ง ซึ่งชื่นชอบงานของอุรุดา โควินท์มากเป็นพิเศษ รุ่นน้องคนนั้นพูดถึงนักเขียนที่เธอปลื้มว่า


“...อ่านงานของอุรุดาแล้วรู้สึกได้พลัง เหมือนความรู้สึกทั้งหมดที่เกิดขึ้นในทุก ๆ เรื่องราวของชีวิต (โดยเฉพาะความรัก) เราสามารถเล่าออกมาเป็นนิยายได้ ไม่ต้องมีวิธีการเล่าที่พิสดาร เพียงเล่าอย่างรู้สึกตรงไปตรงมา...”


ผมว่าคำพูดของรุ่นน้องคนนี้ น่าจะเป็นบทสรุปที่ยอดเยี่ยม ว่าทำไมผมถึงประทับใจกับงานเสวนาที่ ‘ความบังเอิญ’ พามารู้จักกับนักเขียนสาวที่น่าชื่นชมคนหนึ่ง เลยขอฝากตัวเป็นแฟนหนังสือของ อุรุดา โควินท์ อีกหนึ่งคนครับ



บทสัมภาษณ์ อุรุดา โควินท์ ในนิตยสาร a day ฉบับ 203
Cr. ขอบคุณภาพจาก godaypoets.com


ขอบคุณพี่ชมพูมากครับ
ดีใจที่พี่ชมพูได้อ่านบล็อกนี้ของผมเช่นกันนะครับ


Jim-793009

23 : 07 : 2017





Create Date : 23 กรกฎาคม 2560
Last Update : 27 สิงหาคม 2560 23:08:02 น.
Counter : 8452 Pageviews.

3 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณtuk-tuk@korat

  
อ่านจบแล้วอยากโหวตบล็อกนี้มากค่ะ
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 19 สิงหาคม 2560 เวลา:10:19:47 น.
  
คุณ tuk-tuk@korat --- ขอบคุณที่โหวตให้นะครับ ลองหาหนังสือมาอ่านดูนะครับ ผมอ่านแล้วชอบมากเลยครับ

โดย: Jim-793009 วันที่: 21 สิงหาคม 2560 เวลา:18:09:31 น.
  
โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 7 กันยายน 2560 เวลา:13:46:15 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments