ขอให้ความสุนทรีย์และความสุขสงบจงมีแด่ท่านทั้งหลาย
Group Blog
 
All Blogs
 

บันทึกชีวิต พจนา จันทรสันติ



บันทึกชีวิต . . . พจนา จันทรสันติ






ตีพิมพ์ใน สานแสงอรุณ
ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๓ พฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๔๘

คนหลายคนเลือกจารจารึกชีวิตของตนไว้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน บางคนเลือกที่จะเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ นักการเมือง บ้างเลือกเป็นครู ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ บ้างเป็นเกษตรกร คนสวน ชาวประมง บ้างเป็นนักดนตรี ศิลปิน ฯลฯ สุดแต่ว่าใครจะให้คุณค่ากับวิถีชีวิตนั้นๆ มากหรือน้อยแตกต่างกันไปอย่างไร และก็มีไม่หลายคนนักที่เลือกจารึกชีวิตของตนไว้ในโลกหนังสือ- - โลกที่อยู่กับการอ่าน คิด เขียน จากวันสู่เดือน จากเดือนสู่ปี และจากปีสู่อีกหลายๆ ปี ที่เขาไล่คว้าจับจินตนาการ นามธรรม มาบรรจุไว้ในหน้ากระดาษที่ว่างเปล่า ด้วยถ้อยคำแล้วถ้อยคำเล่า ประโยคแล้วประโยคเล่า สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่พวกเขาก็ยังคงมุ่งหน้าต่อไป …

พจนา จันทรสันติ ชื่อนี้ย่างก้าวบนโลกหนังสือมายาวนาน ไม่ว่าจะในฐานะนักแสวงหา นักเขียน กวี นักแปล และบรรณาธิการ เขาเลือกที่จะทำงานอยู่อย่างเงียบๆ ไม่ค่อยปรากฏตัวต่อสาธารณชน มีไม่กี่ครั้งที่เขายอมให้สัมภาษณ์ผ่านนิตยสารบางเล่ม แต่นั่นก็น้อยเต็มที ผลงานหนังสือเกือบ ๑๐๐ เล่มของเขา ในรูปของงานเขียน งานแปล หรืองานบรรณาธิการ เป็นที่จดจำของนักอ่านมาแล้วหลายรุ่น อาทิ ขลุ่ยไม้ไผ่, วิถีแห่งเต๋า, ในท่ามกลางอารยธรรมผุกร่อน, ชัยชนะ, ในอ้อมกอดหิมาลัย, แด่หนุ่มสาว, กุญแจเซน, ขุนเขายะเยือก, ดอกไม้ไม่จำนรรจ์, ชัมบาลา, อนาคตอันเก่าแก่, ดินแดนแห่งนกอินทรี, ความเรียงสี่ชิ้นของธอโร เป็นต้น

ในบรรดางานเหล่านั้น เกือบ ๓๐ เล่มที่พจนาเลือกแสดงความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของเขาผ่านรูปแบบงานบันทึก จนกลายเป็นงานเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน และในงาน “ วรรณกรรมบันทึก ” เล่มหลังๆ ของเขา พจนาพูดเอาไว้ในบทสัมภาษณ์นี้ประมาณว่า ไม่ใช่งานความคิดอีกต่อไป แต่เป็นงานภาวะล้วนๆ

ณ วันนี้ ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ได้ให้ความสลักสำคัญกับงานเขียน หรือแม้กระทั่งความเป็นนักเขียนสักเท่าไรนัก “ มันก็แค่งาน...เป็นเพียงเครื่องมือให้เราผ่าน...ก็เหมือนใช้ถ้วยเสร็จก็ล้าง ไม่ใช่ถือถ้วยอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่คุณเป็นนักเขียนเป็นกวีตลอดเวลา ไม่ใช่ ! ใช้ถ้วยเสร็จก็ล้างเก็บ ” เขายังพูดเอาไว้อีกว่า

“ ...ทุกอย่างมันมีความยิ่งใหญ่ในตัวเอง ถ้าค้าขายมันก็เป็นพ่อค้าที่ดีได้ เอื้อเฟื้อต่อลูกค้า มันก็งดงาม ปลูกพืชดีๆ ปลูกต้นไม้ให้คนอยู่ มันก็งดงามนะ ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องมาทำงานศิลปะ มันก็เป็นแค่ค่านิยมอย่างหนึ่ง มันเป็นงานที่ดูสูงส่ง จริงๆ ไม่ใช่ มันทำได้ทุกอย่าง ”

นี่อาจนับเป็นการให้สัมภาษณ์ครั้งที่ยาวมากและล่าสุดของ พจนา จันทรสันติ ในรอบหลายปี เราเลือกตัดทอนบางส่วนของบันทึกชีวิตเขามาให้ได้อ่านกัน เผื่อว่าไฟแสวงหาของใครที่อาจกำลังมอดดับ จักได้คุฉายโชนขึ้นมาอีกครั้ง- -


คุณเริ่มเขียนงานบันทึกเมื่อไหร่ มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจ

เราได้แรงบันดาลใจจากงานบันทึกของ (เฮนรี่ เดวิด) ธอโร งานที่ดีของธอโรคืองานบันทึก ไม่ใช่ วอลเดน ซึ่งเราไม่ค่อยชอบ งานของเขาเพียวมาก และมาจากข้างใน มันเป็นประวัติศาสตร์ทางจิตวิญญาณที่เขาค้นพบ เราเริ่มงานบันทึกประมาณปี ’ ๒๓ แต่ทุกวันนี้เขียนน้อยลงแล้ว เดี๋ยวจะคุยอีกทีว่าเพราะอะไร การทำงานมันก็มีการเรียนรู้น่ะ จริงๆ การทำงานศิลปะ ไม่ว่างานเขียน งานเพ้นท์ งานดนตรีอะไรพวกนี้ มันเหมือนวิธีการที่นำไปสู่การสัมพันธ์กับตนเอง เหมือน meditation อย่างหนึ่ง คือการเข้าไปทำความรู้จักตัวเองใช่ไหม จิตของตนเองหรือภาวะอารมณ์ งานเขียนและงานอื่นก็เหมือนกัน ซึ่งมันนำไปสู่การรู้จักภาวะภายในของตนเอง ก็คือการเรียนรู้จักตัวเอง ภาวะทั้งหมด อารมณ์ ความขึ้นลง ความแปรเปลี่ยน ความสุขความทุกข์ หมายถึงมันเป็นเครื่องมือ แต่ตอนนั้นเราไม่ได้มองว่าเป็นเครื่องมือ ตอนหนุ่มๆ มองว่าเป็นการแสดงออก-มองแบบตะวันตก บางทีต้องการยืนยันตนเอง คนที่ทำงานอาร์ตส่วนใหญ่มีปมในชีวิต พูดง่ายๆ คือมีปัญหา ทีนี้งานอาร์ตถ้าใช้ดีๆ มันเป็นการเยียวยา เยียวยาจิตวิญญาณที่ไม่ค่อยเต็ม ไม่ค่อยสมประกอบ แต่ถ้าใช้ไม่ดี มันก็เป็นการสร้างอัตตา ทำให้ยิ่งหลงไปในมายาภาพ หลงไปในความยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นต้องใช้ให้ถูกทาง

นานไหมกว่าจะคิดรวบรวมพิมพ์เป็นหนังสือ
ไม่นาน หลังจากนั้นสักสองปีก็ได้พิมพ์แล้วเล่มแรกรู้สึกจะเป็น ในท่ามกลางอารยธรรมผุกร่อน จำไม่ได้ว่าพิมพ์ปีอะไร น่าจะเป็น ’ ๒๕ หรือ ’ ๒๖ เล่มสองชื่อ ชัยชนะ

นึกว่า ขลุ่ยไม้ไผ่ กับ วันเวลาในอดีต เป็นเล่มแรกๆ ที่พิมพ์

พูดถึงงานบันทึกไง ขลุ่ยไม้ไผ่ เป็นงานบทกวี ไม่ถือเป็นงานบันทึก งานบันทึกคืองานร้อยแก้วล้วนๆ ขลุ่ยไม้ไผ่ เป็นงานที่ต่างบุคลิกกัน ยังถือว่ามันมีอิทธิพลจากไฮกุญี่ปุ่น ยังไม่ใช่ตัวเองเพียวๆ จนยุคหลังก็เริ่มเป็นตัวเอง จนไม่มีกลิ่นอายแล้ว มันเกิดใหม่เป็นไฮกุที่เป็นตัวเรา ไม่ใช่ไฮกุละ เรียกอะไรก็ได้

โดยปกติงานบันทึกมักจะเขียนเก็บไว้ส่วนตัว จะตีพิมพ์เมื่อคนคนนั้นเสียชีวิตไปแล้ว แต่คุณเลือกที่จะพิมพ์ตอนยังมีชีวิตอยู่ ตรงนี้มีเหตุผลอะไร

เราไม่ได้ตั้งใจให้เป็นงานบันทึกส่วนตัว ที่เราเขียนเราตั้งใจให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงความคิด ความเห็น ไม่ใช่เรื่องสั้น เรื่องยาว บทกวี ซึ่งเป็นรูปแบบที่มีมาในอดีต อยากให้เป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออก ของการแบ่งปัน คือเราเลือกรูปแบบ ฉะนั้นไม่อาจเรียกว่างานส่วนตัวเท่าไหร่ แต่เป็นงานที่แชร์คนอื่นได้ด้วย ใช้ตัวเองเป็นเหมือนพรีเซ็นเตอร์ สื่อและแบ่งปันความคิดความรู้สึกออกไป

เวลาทำต้นฉบับมีการคิดประเด็นไว้ก่อนไหม
ไม่ได้คิดอะไร คือเราเป็นคนทำงานแบบฉับพลัน มันเกิดจากความรู้สึกแล้วเราก็บันทึก เห็นวันนี้แล้วเกิดความคิดเราก็บันทึก ฉะนั้นไม่มีการวางประเด็นไว้ก่อน มันไม่ใช่การเขียนบทความ ที่เราเลือกงานบันทึกเพราะว่าเป็นการโต้ตอบอย่างฉับพลันกับภาวะตอนนั้น สิ่งที่เราเห็น รู้สึกหรือความนึกคิดของเราที่เกิดขึ้นมา มันเป็นรูปแบบที่เก็บได้ทันที จะรู้สึกถึงความสด ไม่มีการวางแปลน วางโครง วางความคิดเหมือนเรื่องสั้น ถึงจุดหนึ่งแล้วงานบันทึกจะเป็นงานที่ไม่มีความคิด ที่บอกว่าไม่มีความคิดก็คืองานที่จับภาวะล้วนๆ งานช่วงหลังของเราจะเป็นงานภาวะล้วนๆ ไม่ใช่งานความคิด ไม่รู้ว่าจะเข้าใจรึเปล่า คือในแง่ของงานศิลปะเนี่ยตราบใดที่ยังคิดงานนั้นยังไปไม่ถึงจุดที่เป็น Peak ของงานศิลปะ แต่ตราบใดที่ไม่มีความคิด คือทำด้วยจิตว่าง มันจะเป็นการจับภาวะล้วนๆ ที่เกิดขึ้นแล้วแสดงออกมา มีอัตตาน้อยหรือไม่มีอัตตา ดังนั้นงานพวกนี้จะเป็นงานที่ดีและเพียวมากๆ จะมีพัฒนาการของมัน เราก็ต้องชำนาญมากขึ้น จัดการกับตัวเองได้มากขึ้น พูดง่ายๆ เป็นการ Deal กับตนเอง งานพวกนี้เป็นงานที่เข้ามาหาตนเอง เข้าไปจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง มันก็เหมือนการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง


แบบที่เขียนรวดเดียวจบ
รวดเดียวจบ งานเราสั้นไง หน้าสองหน้าจบ ช่วงหลังเราไม่ทำงานยาว เพราะว่าจริงๆ ในแง่ของงานหนังสือ เราไม่ใช่คนเขียนงานวรรณกรรม เราเป็นคนแสวงหามากกว่า เพราะงั้นจากจุดที่เราเป็นคนแสวงหา เวลาทำงานพวกนี้ เราจึงเลือกรูปแบบที่เหมาะกับตัวเราเอง เพราะเราคิดว่างานวรรณกรรมมันมีรูปแบบอยู่แล้ว เรื่องสั้น เรื่องยาว บทกวี ร้อยแก้ว ร้อยกรอง ถึงจุดหนึ่งเราคิดว่ามนุษย์น่าจะมีมากกว่านั้น มากกว่ารูปแบบที่มีอยู่ คนที่จะทำงานศิลปะหรืองานวรรณกรรมควรจะหารูปแบบที่เหมาะกับงานและพลังของตนเอง อยากเน้นว่าพลัง เพราะบางคนเป็นคนเร็ว อย่าง วสันต์ (สิทธิเขตต์) เป็นคนไว คิดแล้วต้องทำรวดเดียวจบ บางคนเป็นคนช้าแต่ทำอะไรต่อเนื่อง วันละนิดละหน่อยต่อเนื่อง เนี่ยรูปแบบของงาน ลักษณะของงาน เราควรจะหาสิ่งที่เหมาะกับพลังตนเอง พลังชีวิตของตนเองนี่สำคัญ ซึ่งต้องค้นหานะ เพราะทุกวันนี้ ไม่ใช่เฉพาะคนรุ่นนี้ รุ่นก่อนก็เหมือนกัน ขาดการค้นหา ขาดการแสวงหา อย่าง พี่ประเทือง เอมเจริญ ก็มีการแสวงหามากๆ จนค้นพบรูปแบบที่ลงตัวของแก และไม่ใช่แค่รูปแบบ เนื้อหาก็เป็นตัวแกจนแสดงออกในรูปแบบที่เหมาะสม มันมีการคลี่คลายหลายขั้นตอนมาก คือมีการแสวงหา เพราะฉะนั้น อาร์ต ( ไม่รู้ eng.) จึงไม่ใช่การก๊อป*** อิมเพรสชั่นนิสต์คือการลอกแบบมา ไม่ใช่ มันมีขั้นตอนวิวัฒนาการที่ชัดเจนมาก ซึ่งเป็นปัจเจก เป็นคนๆ นั้นและไม่มีใครเลียนแบบได้ด้วย และงานแต่ละอันก็เป็นคนๆ นั้น ความเป็นตัวเองอยู่ตรงนี้ไง การที่คนแต่ละคนแสวงหาไม่ใช่ว่าอยากแปลกไปกว่าคนอื่น ไม่ใช่ แต่ว่าแปลกออกมาเพราะนี้คือตัวเขาไง ทุกคนเป็น individual หมด ซึ่งในโลกนี้ต่อให้คนกี่พันล้านคน ทุกคนก็เป็น individual หมด คือมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เหมือนกับใบไม้บนต้นเนี่ย เหมือนใบพิกุล มันก็เป็นใบพิกุล เหมือนมนุษย์ทุกคนก็เป็นมนุษย์ แต่ใบพิกุลทุกใบไม่เหมือนกัน เส้นใบและรูปทรงไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดก็เป็นใบพิกุลทั้งต้น ความเป็นปัจเจกคืออันนี้ คือความเหมือนในความแตกต่าง หรือมีความแตกต่างในความเหมือน

งานบันทึกก็เลยเป็นตัวแสดงออก
ใช่ เพราะฉะนั้นต่อไปในอนาคตอาจจะมีคนอื่นที่เจอรูปแบบอื่นในการแสดงออกต่างไปก็ได้ ซึ่งเราคิดว่าดี เพราะมันหลากหลาย อย่าไปจำกัดแค่บทกวี เรื่องสั้น เรื่องยาว ร้อยแก้ว ร้อยกรอง หรือบันทึก



แต่งานแรกๆ ของพจนาก็มีลักษณะยาวเหมือนกัน เช่น ในท่ามกลางอารยธรรมผุกร่อนชัยชนะ

ใช่ ยังยาวอยู่ จริงๆ ในชีวิตเราเริ่มด้วยการเขียนงานเรื่องสั้น เรื่องยาวด้วยซ้ำนะ งานพวกนั้นเรายังเป็นเด็กและยังก๊อป*** อย่างเราชอบสด ***รมะโลหิตมาก เราก็ก๊อป***งานของเขา ซึ่งเป็นเรื่องยาว เป็นนวนิยาย จากแยงซีเกียงถึงเจ้าพระยา เป็นตัวอย่างของงานก๊อป*** ซึ่งไม่ใช่ว่าเลว มันก็มีความดีอยู่เพราะเป็นการฝึก แต่ถึงเวลาหนึ่งเราก็จะรู้ว่ามันไม่ใช่ละ เราก็ต้องค้นหาความเป็นตัวเอง แต่ก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นครูของเรา หรืออย่างไฮกุเราก็นำมาก๊อป***ในส่วนหนึ่ง แต่ช่วงหลังไม่ใช่ละ เราก็พบทางของตนเอง มันจะสดจากของเราเอง

งานบันทึกที่รวบรวมตีพิมพ์ออกมาแต่ละเล่ม จะมีลักษณะเนื้อหาเดียวกัน เป็นพัฒนาการของพจนาเอง แล้วรวมออกมา

ไม่ใช่ จะดูว่าช่วงนั้นมีงานอะไรออกมา ถ้ารวมได้ก็จะรวม คนเราไม่ใช่มีงานเยอะนี่ ในช่วงวัยหนุ่มไม่ได้มีงานให้เลือกเยอะ สมมุติทำได้ ๒๐๐ ชิ้น ถ้าเราจะรวมก็คัดเหลือ ๖๐ ชิ้น เราไม่ได้มีงานมากมายที่จะนำเอามาคัดได้ เป็นการรวมตามช่วงเวลาของชีวิตมากกว่า

ชื่อหนังสือก็ต้องตั้งให้มีเสน่ห์ น่าสนใจด้วย
เราก็ฟุ้งซ่านไปเรื่อยแหละ (หัวเราะ)

ต้องขัดเกลางานไหม
ส่วนมากไม่ได้เกลา เป็นงานดิบๆ จริงๆ ที่เราทำงานนี้เพราะอยากกระตุ้นให้คนหันมาค้นหาตัวเองอย่างที่เป็นดิบๆ เพียวๆ ไม่ใช่สัญชาตญาณดิบนะ ให้ค้นหาสิ่งที่มันเพียวๆ เพราะคนมันปรุงแต่งเยอะ สังคมมันเป็นสังคมปรุงแต่ง แสดงอะไรออกมานี่ก็แสดงออกมาโดยการปรุงแต่ง ให้สังคมยอมรับได้ วรรณกรรมก็เหมือนกัน อาร์ตก็เหมือนกัน มีมาตรฐานในการยอมรับว่าถ้าปรุงแต่งออกมาแนวนี้ คนเขายอมรับได้ทันที เราก็อยากให้คนลองค้นหาสิ่งที่เป็นตัวเองออกมา อาจจะชอบกลก็ได้ แต่ถ้าเป็นตัวเราแล้วใช่ แสดงมันออกมาดิบๆแล้วใช่ เพียวๆ นี่คือความจริง นี่เป็นสมมุติฐานของเรานะ คือแสดงความจริงออกมาโดยที่ไม่ต้องเข้ากับมาตรฐานของคนมากนัก ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของศิลปะหรืออะไรก็ตาม แต่อันนี้ก็มีเส้นแบ่งที่อันตราย

ยกตัวอย่างวสันต์เขาทำงานดิบ ทุกคนก็รู้ว่าเขาทำงานดิบ มีประชดประชันด้วยเรื่องเซ็กส์และอะไรต่อมิอะไร ทำเรื่อง อินสตัลเลชั่น ขึ้นมา แต่วสันต์จริงๆ แล้ว ดิบแต่ไม่ได้หยาบคาย ไม่ได้ลามก จริงแบบต้องการให้ช็อก แต่มีศิลปินบางคนทำงาน อินสตัลเลชั่น ขึ้นมา เจาะเลือดอย่างเนี้ย แทงเข็มให้ตื่นเต้นให้มีเลือดไหลกระฉูด มีถุงยางอนามัย จนมันกลายเป็นเรื่องหยาบคาย แล้วเส้นแบ่งตรงนี้อยู่ที่ไหน มันต้องถามใจเราให้ดี ความดิบไม่ใช่ความหยาบคายและต่ำ ความดิบในตัวมันเองถึงจุดหนึ่งมันก็เป็นสิ่งสูง ความดิบต้องมีสัจจะมีความสูงส่งอยู่ข้างใน ไม่ใช่ดิบเถื่อนอะไรแบบนั้น อันนี้ยกตัวอย่างงานร่วมสมัย งานอาร์ตนะ

เพราะทุกวันนี้ทำกันมาก งาน อินสตัลเลชั่น เป็นงานแบบปรากฏการณ์หรือการจัดวาง นิยมทำกันมาก เพราะมีการท้าทาย เป็นงานไอเดียหมด ไม่มีอะไรใหม่ และพยายามทำให้ใหม่กว่าเก่า แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ เราว่ามันไม่ใช่ ต้องดูให้ดีว่าตรงไหน เพราะเส้นแบ่งตรงนี้บางมาก มันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมเลยนะ เป็นเรื่องสูงกับต่ำ ต้องแยกให้ออก มิฉะนั้นคนจะคิดว่าแสดงอะไรออกมาก็ได้อย่างป่าเถื่อน แต่ความป่าเถื่อนไม่ใช่ ไม่ใช่สิ่งจริง ไม่ใช่ความบริสุทธิ์ ไม่ใช่สิ่งเพียว ความป่าเถื่อนเป็นอะไรที่ยังเป็นสัตว์เซลล์เดียวอยู่ ในแง่ของเราที่เป็นมนุษย์เนี่ย เรายังต้องการสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่มันตายไปแล้ว วัฒนธรรมที่มันเป็น คอนเซอร์เวทีฟ แต่การ สร้างสรรค์ต้องไม่ สร้างสรรค์อย่างป่าเถื่อน ต้อง สร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งดีที่สุด ในการค้นพบใหม่แสวงหาใหม่เป็น วัฒนธรรม ที่สูงกว่าเก่า ที่เป็นของจริง เราว่าตอนนี้ เลอะเลือน กันมาก ประเด็นนี้เข้าใจผิดกันมากในหมู่ศิลปินนะ ต้องการแสดงอะไรที่ปรุงแต่งไปกว่าเดิม ตื่นเต้นกว่าเดิม เลือดพุ่งกระฉูดเลย ต่อไปก็จะมาเมคเลิฟให้คนดู ซึ่งไม่ต่างไปจากปา***่แถวพัฒนพงศ์ อันนี้ต้องระวังให้มาก และมีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้นมากด้วย โดยเฉพาะศิลปินรุ่นใหม่

เส้นทางศิลปะกับศาสนธรรมสามารถไปด้วยกันได้ไหม

มันเป็นอันเดียวกันเลย ศาสนธรรมกับงานศิลปะ

บางภาวะศิลปินก็สามารถเข้าถึงสัจจะได้ดีกว่านักบวชด้วยซ้ำ เพียงแต่เขาเลือกเดินบนสายศิลปะไม่ใช่ศาสนธรรม

ต้องพูดว่าเป็นนักบวชแบบไหน ถ้าเป็นนักบวชแบบพวก คอนเซอร์เวทีฟ เนี่ยก็เป็นนักบวชแบบที่คาบคัมภีร์มาพูด แต่ถ้าเป็นนักบวชจริงๆ ศิลปินสู้เขาไม่ได้หรอก เขาเป็นผู้ที่- -เปรียบเทียบอย่างนี้ กวีเป็นพวกที่ยืนอยู่บนปากประตูแห่งความลี้ลับ คือยังไม่ได้ก้าวเข้าไป หยั่งเห็นชั่วแวบแล้วพูดถึงความลี้ลับที่อยู่เบื้องหลังประตูนั้นได้ พูดในบทกวีของเขา ซึ่งเป็นในแง่ของรูปแบบงานศิลปะ กวีนี่สูงมาก เป็นงานที่เข้าใกล้ความเป็นจริงที่สุดเลย หมายความว่าไม่ใช่งานของความคิด แต่เป็นงานของภาวะ หรือภวังค์ หรือ meditation แต่ว่า mystic คือผู้ปฏิบัติธรรมที่ลุ่มลึก เป็นฤษี คือผู้ที่ก้าวพ้นประตูนั้นเข้าไป แต่ไม่สามารถพูดได้เหมือนกวี จะพูดด้วยการเทศน์ด้วยการให้สัจจะแก่คน ในบรรดาศิลปะทั้งหมดถือว่ากวีหรือคีตกวีเป็นสิ่งใกล้ที่สุดแล้ว สามารถหยั่งเห็นแวบหนึ่ง แต่ไม่ได้เห็นยาว และก็พูดออกมาผ่านบทกวี อันนี้เป็นการเปรียบเทียบที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม

นั่นคือการพูดถึงนักบวชที่เป็น mystic คือผู้ที่ผ่านประตูนั้นเข้าไปแล้ว แต่ถ้าพูดถึงนักบวชในรูปแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คือพวกคาบคัมภีร์ พูดไปก็ไม่มีใครฟัง อันนี้เราอยากให้พูดว่าเป็นแบบอะไร เราไม่ได้พูดอะไรอย่างเป็นแบบเป็นแผน เป็นแบบที่พูดตามๆ กันมา อยากให้พูดด้วยใจ มันจะมีพลังและสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงคนได้ มันไม่ใช่ขั้นตอน เป็นความคิด เป็นแบบ สิ่งที่จะซึมซับคนได้คือ พูดอย่างจริง หรือพูดอย่างไม่ต้องเตรียม พูดอย่างใจที่เราจะพูด นั่นจะเป็นของจริง และสิ่งนั้นจะสัมผัสถึงใจคน ซึ่งงานเขียนก็ไม่ต่างกัน ถ้างานเขียนที่นั่งคิดมาก งานเขียนชิ้นนั้นจะไม่ค่อยดี ไม่ต้องไปเกลามัน มันจะมีพลัง งานมันจะสดมาก ก็เหมือนงาน ดรออิ้ง ที่เป็นงานสดมาก ไปเห็นวิวก็สเก็ตช์ออกมา ไม่ต้องลงสีมีแต่ลายเส้น ซึ่งมีชีวิตมาก และงานเส้นง่ายๆ มีเสน่ห์ วิธีเขียนแบบบันทึกก็เหมือนการดรออิ้ง เป็นการสเก็ตช์คร่าวๆ หยาบๆ

นอกจากพจนาแล้ว มีใครเขียนงานบันทึกแบบต่อเนื่องบ้าง
ไม่ค่อยมี เขาอาจจะเห็นว่ามันไม่เข้ากับคนอ่าน คนที่ทำมันต้องมีความเชื่อต่อรูปแบบ ว่ามันเป็นรูปแบบที่ใช้ได้ และไม่ใช่เฉพาะรูปแบบ มันต้องเป็นเนื้อหาที่ใช้ได้ด้วย บางทีต้องถามว่าพลังของเขาเหมาะที่จะทำงานแบบนี้ไหม ถ้าพลังเขาไม่เหมาะ แต่เหมาะที่จะทำเรื่องยาว ก็ควรไปทำเรื่องยาวจะดีกว่า

คนรุ่นใหม่ก็ทำหนังสือมือทำที่มีรูปแบบงานบันทึกเหมือนกัน
เรายังไม่ได้อ่าน ไม่กล้าวิจารณ์ แต่ถ้าพูดถึงทำอะไรก็อยากให้ทำ เพราะว่าถ้าสิ่งนั้นจริงกับตนเอง สิ่งนั้นจะใช่ ถ้ารูปแบบนั้นยังไม่เหมาะกับตนเอง ไม่เหมาะกับพลังของตนเองก็ควรไปทำสิ่งอื่นที่เหมาะสมกว่า หารูปแบบอื่นที่เหมาะกับตนเอง ซึ่งสิ่งนี้ก็ต้องใช้เวลา ต้องใช้เวลาทีเดียว- -บางทีเราอาจไม่เหมาะกับการขายเฉาก๊วย แต่เหมาะกับการขายเก๊กฮวยก็ได้ อาจจะไม่เหมาะกับการทำสวนก็ได้ แต่เหมาะในการเป็นช่างปั้น ก็ต้องลองค้นหาตนเอง บางคนอาจจะชอบทำสวน บางคนอาจจะชอบค้าขาย ทุกอย่างมันมีความยิ่งใหญ่ในตัวเองได้ ถ้าค้าขายมันก็เป็นพ่อค้าที่ดีได้ เอื้อเฟื้อต่อลูกค้า มันก็งดงาม ปลูกพืชดีๆ ปลูกต้นไม้ให้คนอยู่มันก็งดงามนะ ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องมาทำงานศิลปะ มันก็เป็นแค่ค่านิยมอย่างหนึ่ง มันเป็นงานที่ดูสูงส่ง จริงๆไม่ใช่ มันทำได้ทุกอย่าง

สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ดูเหมือนไม่สนใจจะตีพิมพ์งานบันทึก

มันขายยาก ( หัวเราะ ) สมัยแรกส่วนใหญ่จะพิมพ์กับเคล็ดไทย คบไฟ โกมลคีมทอง มีช่วงหลังอมรินทร์ เอาไปพิมพ์ แต่คราวนี้เมื่อมันขายไม่ได้ เขาก็เลยเลิกไป เพราะเขาก็ดูเรื่องธุรกิจด้วย

อยากพูดถึงหนังสือ ในอ้อมกอดหิมาลัย รู้สึกมันมีความเป็นงานสารคดีค่อนข้างมาก

ที่จริงได้แรงบันดาลใจจากบาโช มันเป็นบันทึกการเดินทางของกวี บาโชเขาเดินทางไปเขาก็เขียนบทกวีไฮกุไปด้วย เขียนบันทึกสั้นๆ อะไรอย่างเนี่ย น่ารักมาก อยากให้อ่าน ในอ้อมกอดหิมาลัย ได้รับแรงบันดาลใจจากจุดนั้นด้วย เพราะฉะนั้นจะเรียกเป็นงานสารคดีก็ไม่เชิงเท่าไร

มีการทำงานเขียนอย่างไร

เขียนตอนเดินทาง บทยาวๆเขียนที่กรุงเทพฯ แต่บทสั้นที่เป็นบทกวีเขียนที่นั่น เราไปบันทึกสั้นๆ ที่นั้นแล้วมาขยายต่อทีหลัง เล่มนี้ช่วงหลังๆ เราไม่ชอบนะ เรามาชอบที่ (โครงการจัดพิมพ์) คบไฟพิมพ์ชื่อ มุ่งสู่ความขาวของหิมะ เรากลับไปเนปาลอีกหน ไปเดินคนเดียว มีความสุขมาก เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้น มุมมองเราเปลี่ยน นิ่งขึ้น ชอบงานนั้น มันเป็นภาวะหมดเลย ไม่มีความคิดเลย เป็นภาวะล้วนๆ

อ่าน ในอ้อมกอดหิมาลัย แล้วเห็นฉากและบรรยากาศมาก เหมือนได้เดินทางไปด้วย
แต่ฉากมันนี่เรายังไม่ชอบ ถ้าเป็นภาวะเราว่าได้กว่า เขาเรียกฟูมฟายกับตัวเองเยอะไปหน่อย เป็นเรื่องสงสารตัวเองเยอะ ถึงจุดหนึ่งถ้าคนเราจะโตขึ้นจะต้องสงสารตัวเองให้น้อยลง คือสงสารตัวเองได้บ้างแต่อย่ามาก งานเล่มนี้มันค่อนข้างเด็กๆ แต่ก็ดีที่ได้ไป เพราะว่ายุคนั้นคนไทยยังไม่รู้จักเนปาล เรารู้จากพี่ชาญ (ชาญ ฮวดสวาท) ซึ่งพี่เขาได้ไปตั้งแต่ปี ’ 70 และชอบเนปาลมาก คนไทยยังไม่ค่อยได้ไปเท่าไร ถือว่าเป็นกลุ่มแรกๆ หลังจากที่พี่ชาญได้ไป รู้สึกว่าหลังจากงานชุดนี้ลงที่ ลลนา มีคนไปอ่านก็เริ่มไปเนปาลมากขึ้น ช่วงหลังนี่ไปกันเยอะ ซึ่งดีนะการเดินทางแบบนั้น เรายังอยากไปเลย ไปเดินบนภูเขาซึ่งมันเป็นภาวะล้วนๆ ภูเขาหิมาลัยมีพลังมาก มีพลังอย่างที่อยากให้ไปกันทุกคนเลย-ถ้ามีตังค์นะ มันเปลี่ยนเลย มันชำระล้างและทำให้เราเห็นสิ่งที่เราเป็นอยู่ ที่นี่เราไม่เห็น มันมีพลังมากๆ มันเหมือนกับอย่างนี้- - เรารู้สึกว่าภูเขาที่นั่นสูงมาก มันไม่เหมือนกับภูเขาบ้านเรานะ พลังมันต่างกันมาก เหมือนกับเสาอากาศโทรทัศน์ และเป็นเสาอากาศกับจักรวาล มันส่งพลังจากห้วงจักรวาลและก็รับพลังจากจักรวาล ตรงนั้นมันเหมือนเสาอากาศของมือถือ จุดนั้นเป็นจุดที่ส่งคลื่นโต้ตอบของจักวาล รู้สึกอย่างนั้น ถ้าเราเปิดใจว่างเราจะรับได้ตลอด บางทีมันมี message เข้ามา

หนังสือมันทำให้เราละเอียดมากขึ้น มองเห็นในสิ่งที่ไม่เคยมอง ละเอียดลงไปมากเลย
รู้สึกยินดี คือเราเกิดในยุคที่กระแสสังคมนิยมเป็นหลักยึดอย่างพวกเราพระไพศาล (พระไพศาล วิสาโล) รส (รสนา โตสิตระ***ล) สันติสุข (สันติสุข โสภณสิริ) ใหญ่ (วิศิษฐ์ วังวิญญู) ประชา (หุตานุวัตร) คือกลุ่มที่เติบโตมาจาก- -พูดง่ายๆ ว่าซ้ายเก่า และเชื่อเรื่องการปฏิวัติ สมัยนั้นพอพูดเรื่องปฏิวัติหัวใจมันพองโตนะ มันเหมือนกับคนหนุ่มที่อยากเข้าไปเปลี่ยนแปลง มีเสน่ห์มากคำว่าการปฏิวัติเนี่ย และพอจุดหนึ่งเข้าไปเรียนในมหา ’ ลัยเห็นความบกพร่องต่างๆ ของขบวนการ เราก็เริ่มตั้งคำถาม เริ่มหาแนวทาง ทางพุทธก็ดี คานธีก็ดี เราก็เริ่มตั้งคำถามกับมันและหาทางเลือกอื่น ก็มาเจอทางพุทธอะไรอย่างเนี้ย จริงๆ พวกเราเริ่มมาจากทางซ้าย แล้วปัญหาของซ้ายคือเป็นคนที่หยาบมาก หยาบ...หยาบ เพราะมองอะไรเป็นกรอบที่แข็งกระด้างตายตัว ความต้องการของเราคืออยากให้เขาเห็นอะไรที่ละเอียดบ้าง ดังนั้นงานมันจึงมีส่วนด้วย เพราะอยากให้คนรุ่นเราเห็นอะไรที่มันละเอียดมากกว่าทฤษฎีแคบๆ อันนี้คือจุดประสงค์อันหนึ่งในการทำงานเขียนในยุคนั้น



อ่านแล้วมันแตกความคิดออกมาเอง
เรื่องนี้เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์เหมือนกัน ก็คือเราแตกลาย ไม่ได้ทำตามต้นแบบที่เราชอบ เรารู้สึกว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะทำได้ อาจจะไม่ใช่งานอาร์ตอะไรต่างๆ แต่ถ้าทำดีๆ เราจะพบความเป็นตัวเอง แล้วจะไม่มีใครก๊อป***ได้ เหมือนกับว่ามีหนึ่งเดียว ไม่มีใครเลียนแบบได้ ถ้าใครจะมาเลียนแบบก็คงจะล้มเหลว มันจะเป็นภาพก๊อป***ที่น่าเกลียด ไม่จริง และพลังก็จะไม่เหมือนเรา เขาไม่มีทางทำได้เหมือนเรา ก๊อป***ได้เฉพาะภายนอกแต่แก่นข้างในเขาก๊อป***ไม่ได้ ในงานศิลปะไม่ต้องกลัวใครก๊อป***หรอก ถึงก๊อป***กันมาก็กลายเป็นความน่าเกลียด เป็นความล้มเหลวที่ฟ้องคนทำ

เราคือธรรมชาติ ที่สำนักพิมพ์สวนเงินมีมาพิมพ์ยังไม่ใช่บันทึกใหม่ล่าสุดใช่ไหม แต่เป็นการรวมพิมพ์งานบันทึกออกมาเป็นหนังสือเล่มล่าสุด

เมืองดาว ใหม่กว่า เมืองดาว เป็นงานที่รวบรวมและคัดสรร ไปอยู่ที่เชียงดาว ไปอยู่และเขียนที่นั่นตลอดเวลาหลายปี

ที่เหมือนกันในงานของพจนา คือมีลักษณะริเริ่มใหม่ เป็นคนแรกเสมอที่นำสิ่งที่คนไม่ค่อยสนใจมาจุดประกายให้คนสนใจขึ้นมา เช่น เต๋า ไฮกุ อินเดียนแดง วัชรยาน ตรงนี้คิดยังไง บางคนวิจารณ์ว่าเป็นพวกชอบคิดต่าง

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คิดต่าง หรือคิดเหมือน ใช่ว่าต่างแล้วเจ๋ง คนเราต้องกล้าที่จะต่างและกล้าที่จะเหมือน หากว่าสิ่งนั้น “ จริง” และ “ ใช่” ประเด็นอยู่ตรงนี้ เราว่าพอเราสนใจอะไร เราก็อยากให้คนอื่นมีโอกาสได้เรียนรู้ด้วยไง คือจริงๆ เป็นความสนใจส่วนตัว เมื่อสนใจส่วนตัวแล้วแบ่งปันกันได้ก็ดี แล้วถ้ามีใครกล้าพิมพ์ด้วยก็ยิ่งดี พูดง่ายๆ ว่าสำนักพิมพ์ต้องกล้ากับเรา ซึ่งบางครั้งมันก็เจ๊งบ้าง อย่างมูลนิธิโกมลคีมทองโดนบ่อย แต่เขาก็กล้าเสี่ยง กล้าเปิดแนวทางใหม่ๆ กับเรา นับเป็นคุณต่อผู้อ่าน แม้ว่าสำนักพิมพ์โกมลก็มีปัญหาเรื่องการอยู่รอด

งานส่วนใหญ่ไปเสนอให้สำนักพิมพ์เอง ไม่รับใบสั่ง
ไม่ๆ เราไม่รับออเดอร์ เราเลือกงานที่น่าสนใจ คิดว่า เออน่าสนใจต่อสังคมไทย น่าสนใจสำหรับคนหนุ่มสาว

หลายคนบอกว่างานบันทึกหลังๆ ของพจนาอ่านยาก อ่านไม่- -
อ่านไม่รู้เรื่อง ( หัวเราะ) ทุกคนพูดเหมือนกันเลย บางครั้งเขาไม่มีพื้นฐานข้างในไง ถ้าเขามีพื้นฐานเขาจะเข้าใจ เพราะมันสื่อด้วยคำพูดไม่ได้หลายอย่าง เราทำเพื่อให้คนบางคนที่เข้าใจได้ไง เราไม่แคร์ตลาดอยู่แล้ว เราไม่ได้ทำให้แกรมมี่ จงทำให้ดีที่สุดเท่าที่พลังคุณไปถึง เพราะคุณไม่รู้คุณจะตายเมื่อไหร่ จงทำให้สุดยอดเท่าที่ชีวิตคุณจะทำได้ แล้วนั้นจะเป็นงานที่ดี ใครไม่เข้าใจช่างหัวมัน วันหนึ่งจะมีคนบางคนที่เข้าใจ แล้วงานพวกนี้บางทีมันจะเป็นงานจีเนียส

ฟังแล้วเหมือนเป็นการลอกคราบทางจิตวิญญาณ

ใช่ ทุกสิบปีหรือช่วงระยะเวลาหนึ่งคนที่แสวงหาจะมีการลอกคราบทีหนึ่ง อันนี้พูดแบบคร่าวๆ เลยนะ จะอยู่ในช่วงของความสับสนหมดเลย มันพุ่งออกไปพบสิ่งใหม่ จะเป็นช่วงใหญ่เลยละ คนแสวงหาจะมีนะ เป็นการลอกคราบของการเติบโต

จากงานบันทึกเกือบ ๓๐ เล่มที่ผ่านมา มีคนอ่านหลายต่อหลายรุ่น คาดหวังอะไรบ้าง
เราไม่ได้มุ่งหวังอะไรเลยนะ แล้วถ้าไม่มุ่งหวังเราก็ไม่ผิดหวัง เราว่าอย่าไปมุงหวังอะไรเลย จริงๆ ที่ทำงานมาตลอด เราหวังเล็กๆ ว่า แค่คนๆ เดียวอ่าน เรามีความสุขแล้ว ไม่เคยหวังมากกว่านั้นตั้งแต่ต้นเลยนะ ตั้งแต่เมื่อ ๒๐ – ๓๐ ปีที่แล้ว หวังแต่ เออ มีคนๆ หนึ่งอ่านเข้าใจก็พอแล้วละ ก็ทู่ซี้ทำไปเพราะเราไม่ใช่พวกนักเขียนโด่งดัง เป็นนักเขียนกระจอก (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นอย่าไปหวังอะไรมากเลย อย่าไปหวังเปลี่ยนแปลงใคร แต่ว่าจงทำด้วยความอะไรละ-เมตตา คือแผ่พลังที่เป็น positive ออกไป เปล่งพลังผ่านงานออกไป แล้วให้พลังมันทำหน้าที่ของมัน ถึงจุดนั้นเราไม่ต้องไปรับผิดชอบแล้ว จะมีความปล่อยวาง ไม่มีการติดยึดอะไร กับตัวเองก็ไม่คาดหวัง วางใจให้นิ่งๆ มีชีวิตอยู่ไป เจอเพื่อนฝูง ก็ทำงานไป มีความสุขไม่ทุกข์ หรือทุกข์น้อย สุขก็ไม่ต้องมาก มีกินบ้างไม่มีกินบ้าง ก็คือทำงานให้กับโลกไป เราไม่ต้องไปคิดให้ยิ่งใหญ่หรือต่ำต้อย ให้งานมันเป็นไป เพราะมันไม่เกี่ยวกับเราแล้ว มันก็อยู่ในวงจร หมุนเวียนไป ลมหายใจมันก็เปลี่ยนเป็นต้นไม้ใบหญ้า เป็นดินเป็นหญ้ากลายเป็นผลไม้ หมุนเวียนไปตามฤดูกาลของมันไม่เกี่ยวกับเรา จะง่ายถ้าชีวิตไม่ต้องไปติดยึดอะไรมาก




 

Create Date : 26 มีนาคม 2551    
Last Update : 26 มีนาคม 2551 23:12:17 น.
Counter : 940 Pageviews.  

คืนดับ ( Night )

คืนดับ
เอลี วีเซลเขียน
สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี แปล


หลังจากอ่านจบรู้สึกเศร้าใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นว่าทำมั้ยคนทั้งโลกถึงปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ " เหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ " มานึกๆดูก็อดคิดไม่ได้จริงๆนะ ว่าสมัยนั้นก็ปล่อยให้คนตายไปมากมายขนาดนั้นได้ยังไง แต่ก็ถือได้ว่าทุกโฉมหน้าของซาตานก็ยังมอบให้ซึ่งประสบการณ์สำคัญ ที่ทำให้เราเห็นว่ามนุษย์อย่างเราๆสามารถเป็นอะไรได้บ้างที่เราอาจจินตนาการไม่ถึง หรือแท้จริงแล้วเราทุกคนก็ต่างมี ฮิตเลอร์ อยู่ในตัวเราด้วย ความรู้สึกอีกอย่างนึงคือ การที่เราเมินเฉยต่อปัญหาโดยไม่พยายามทำสิ่งใดที่ตัวเราพอจะช้วยได้ ก็คือปัญหาอีกอย่างนึง

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้อย่างนึงคือภาษาที่พยายามอธิบายบางสิ่งบางอย่าง เช่น การเดินทางครั้งสุดท้ายในรถลำเลียงสัตว์ที่ถูกปิดตาย , การย่างเท้าสู่ภพวิกลจริตอันเหน็บหนาว , ที่ซึ่งความไร้มนุษยธรรมกลายเป็นมนุษย์ธรรม , ที่ที่คนในเครื่องแบบผู้มีวินัยและการศึกษาเป็นผู้ฆ่า เป็นต้น ในส่วนเกี่ยวกับตัวผู้เขียนก็มีความน่าสนใจมาก จึงขอนำบทความ จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จุดประกายวรรณกรรม มาให้อ่าเพิ่มเติมถ้าไม่เบื่อกันซะก่อนอิอิ

เส้นทางนักเขียน


Elie Wiesel : ผู้ส่งสารแก่มนุษยชาติ

นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ nonglakspace@gmail.com

เมื่อครั้งที่ 'เอลี วีเซล' (Elie Wiesel) นักเขียนนวนิยายชาวโรมาเนีย-ฝรั่งเศส-ยิว ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1986 คณะกรรมการรางวัลโนเบลในตอนนั้น ต่างขนานนามให้เขาเป็น 'ผู้ส่งสารแก่มนุษยชาติ'

วีเซลเป็นนักเขียนที่มีบทบาทในฐานะนักเคลื่อนไหวตัวยง เขาเป็นอีกคนที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีงานเขียนออกตีพิมพ์มากกว่า 40 เล่ม สำหรับเล่มซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดีคือ Night (ถอดความเป็นภาษาไทย โดยสายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี ในชื่อเรื่อง คืนดับ) วีเซลบรรยาย-เล่าเรื่องประสบการณ์ของตัวเอง ในช่วงโฮโลคอสท์และช่วงที่อยู่ในค่ายกักกัน และวีเซลก็กลายเป็นนักส่งสารที่ทรงพลังของสันติภาพและเกียรติภูมิแห่งมนุษยชน เพื่อผ่องถ่ายไปยังเพื่อนมนุษย์

ชีวิตก่อนสู่ห้วงหนึ่งในค่ายกักกัน วีเซลถือกำเนิดที่ซิกเฮท (Sighet) ในโรมาเนีย เขามีพี่สาวสองคนและน้องสาวหนึ่งคน พ่อเป็นชาวยิวฮังการีและเป็นเจ้าของร้านขายของชำ พ่อของเขาเป็นคนที่กระตือรือร้นและเป็นที่ไว้วางใจในชุมชน ในช่วงแรกๆ ที่สงครามอุบัติขึ้น พ่อของวีเซลถูกจับขังคุกเพราะให้การช่วยเหลือชาวโปแลนด์ที่เป็นยิวซึ่งหนีมาที่โรมาเนีย และผู้เป็นพ่อนี้เองที่เป็นคนผ่องถ่ายความรู้สึกอันแก่กล้าเกี่ยวกับผองเพื่อนมนุษยชาติให้แก่ลูกชาย รวมถึงกระตุ้นให้วีเซลเรียนภาษาฮิบรูสมัยใหม่และอ่านวรรณกรรม ส่วนแม่ของเขาส่งเสริมให้เขาศึกษาโตราห์ (พระธรรมห้าเล่มของโมเสสหรือที่รู้จักกันในนามบัญญัติของโมเสส) และคาบบาลาห์ เขาพูดถึงบุพการีว่า "พ่อเป็นตัวแทนของเหตุผล ส่วนแม่เป็นผู้ชี้นำความศรัทธา"

ช่วงสงคราม ครอบครัวของเขาถูกส่งไปที่ออชวิทซ์ และเขาถูกสักที่แขนซ้ายด้วยหมายเลข A-7713 พ่อถูกแยกออกไปอยู่อีกค่าย ส่วนแม่และน้องสาวคนเล็กก็ถูกคุมอยู่ที่ค่ายกักกันแห่งอื่นและคาดว่าถูกฆ่าที่ออชวิทซ์ ไม่กี่เดือนก่อนที่ค่ายกักกันจะถูกปลดแอกโดยกองทหารที่ 3 ของอเมริกันในวันที่ 11 เมษายน พ่อของวีเซลทุกข์ทรมานจากโรคบิด ขาดอาหาร และไม่มีเรี่ยวแรง แล้วหลังจากนั้นพ่อของเขาก็ถูกส่งตัวไปที่เผาศพ ถ้อยคำสุดท้ายที่พ่อของเขาพูดคือ การเอ่ยชื่อลูกชายว่า เอลีเซอร์ อันเป็นนามของเอลี

หลังจากสงครามจบลง วีเซลถูกนำไปอยู่ที่สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในฝรั่งเศส จึงได้ร่ำเรียนภาษาฝรั่งเศสที่นั่นและได้พบกับพี่สาวทั้งสองคนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรอดชีวิตจากสงคราม พอปี 1948 วีเซลเริ่มเรียนปรัชญาที่ซอร์บอนน์ ช่วงนี้วีเซลมีส่วนร่วมกับองค์กรที่สนับสนุนให้ชาวยิวไปอยู่ในปาเลสไตน์ และเขาทำงานแปลให้กับหนังสือพิมพ์ขององค์กรนี้ วีเซลสอนภาษาฮิบรูก่อนจะมาทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ เขาเขียนงานให้กับหนังสือพิมพ์อิสราเอลและฝรั่งเศส อาทิเช่น Tsien in Kamf และ L'arche

หลังจากสงครามยุติได้ 10 ปี วีเซลปฏิเสธที่จะเขียนหรือพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ต่างๆ ในเหตุการณ์โฮโลคอสท์ เขาก็ไม่ต่างจากผู้รอดชีวิตอีกหลายคนที่สุดจะบรรยายหรือเอื้อนเอ่ยถึงเหตุการณ์ดังกล่าว พอวีเซลพบปะกับฟรองซัวส์ มัวริแอค นักเขียนรางวัลโนเบลปี 1952 สาขาวรรณกรรมคนนี้เป็นผู้จุดประกายให้วีเซลถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์นั้นออกมา

ตอนแรกวีเซลเขียน Night ออกมา 900 หน้าด้วยภาษาฮิบรูในชื่อเรื่องว่า Un di velt hot geshvign (And the World Remained Silent) แล้วเขาก็ตัดทอนลงและแก้ไขใหม่ เพื่อให้ได้ต้นฉบับที่สั้นลงในภาษาฝรั่งเศส แล้วก็พิมพ์ออกมาได้ 127 หน้า ในชื่อ La Nuit และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Night แม้เพื่อนสนิทอย่างมัวริแอคจะช่วยหาสำนักพิมพ์ให้ แต่ยอดขายหนังสือในช่วงแรกก็ไม่ดีเอาเสียเลย

ปี 1955 วีเซลย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์กและได้เป็นพลเมืองของอเมริกาในเวลาต่อมา ช่วงอยู่อเมริกาเขาเขียนหนังสือมากกว่า 40 เล่ม ทั้งนวนิยายและงานเขียนทั่วไป รวมถึงได้รับรางวัลชนะเลิศทางวรรณกรรมมากมายและงานเขียนของวีเซลเหมือนมีโลโก้ประจำตัว คือเหตุการณ์โฮโลคอสท์ วีเซลพิมพ์บันทึกความทรงจำอีกสองเล่ม เรื่องแรก All Rivers Run to the Sea (1994) เป็นช่วงชีวิตในปี 1969 และเล่มต่อมา And the Sea is Never Full (1999) ครอบคลุมชีวิตในปี 1969-1999 วีเซลและภรรยาร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิเอลี วีเซล เพื่อมนุษยชาติ (Elie Wiesel Foundation for Humanity) และเขาทำหน้าที่ประธานมูลนิธิ

ปัจจุบันวีเซลเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยบอสตัน พร้อมๆ กับการทำหน้าที่เป็นนักเขียน นักกิจกรรม นักรณรงค์เพื่อมนุษยชน และไม่จำกัดวงการทำเพื่อผองเพื่อนมนุษยชาติเฉพาะเรื่องโฮโลคอสท์เท่านั้น

แต่เขายังเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อการธำรงความเป็นมนุษย์ในอีกหลายประเทศ 0




 

Create Date : 23 มีนาคม 2551    
Last Update : 18 พฤษภาคม 2551 23:20:39 น.
Counter : 979 Pageviews.  

พระฆ่าคน

เส้นทางนักเขียน


Claude Anshin Thomas : บันทึกจากสมรภูมิสู่สันติภาพ

นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ nonglakspace@gmail.com

At Hell's Gate บันทึกความทรงจำซึ่งถ่ายทอดออกมาอย่างดิบเถื่อน และทำให้ผู้ที่ได้อ่านมองเห็นภาพของอดีตนายทหารผ่านศึกประจำเฮลิคอปเตอร์จู่โจมทางอากาศ อันเป็นเวลาและห้วงชีวิตหนึ่งของ คล็อด แอนชิน โทมัส (Claude Anshin Thomas)

โทมัสอดีตทหารผ่านศึกชาวอเมริกัน ถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเร้าอารมณ์ผู้อ่านในช่วงที่เขารับใช้ประเทศบ้านเกิด เพื่อต่อสู้กับทหารเวียดนาม โดยหลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ปี 1955 โทมัสสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพสหรัฐ เมื่อผ่านกระบวนการฝึกฝนแล้ว เขาจึงอาสาเข้าปฏิบัติหน้าที่ในเวียดนามในฐานะหัวหน้าทหารผ่านศึกประจำเฮลิคอปเตอร์ โดยเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่กันยายน 1966 ถึงพฤศจิกายน 1967 ตอนที่เป็นทหารผ่านศึกในเวียดนาม โทมัสมีอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น ช่วงที่เป็นทหารเขาถูกยิงได้รับบาดเจ็บรวมแล้วห้าครั้งด้วยกัน เขาปลดประจำการจากกองทัพสหรัฐในเดือนสิงหาคม 1968

ด้วยวัยเพียง 18 ปี กับชีวิตของการเป็นทหาร โทมัสรู้ตัวว่าสงครามครั้งนั้นทำให้เขาแหลกสลายทางด้านความรู้สึก ซึ่งเขาถ่ายทอดออกมาในงานเขียน At Hell's Gate ว่าเขาทำเช่นไรบ้างในการเยียวยาตัวเอง เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ไปสู่หนทางแห่งสันติสุข-สันติภาพ การที่เขาต้องเข่นฆ่าผู้คนมากมายในการรบเป็นประจักษ์พยานที่ประสบกับความป่าเถื่อนในสงครามและราวกับหมาจนตรอกเมื่อต้องหนีตายอย่างหัวซุกหัวซุนในสงครามครั้งนั้น เป็นภาคส่วนสำคัญในหนังสือเล่มนี้

พอกลับบ้านเกิดหลังจากที่ปลดประจำการแล้ว โทมัสรู้ตัวว่าชีวิตของตัวเองตกอยู่ในสภาพของคนที่ยังคงมีชีวิตอยู่กับสงคราม เขาติดกับดักความรู้สึกต่างๆ ที่แผ่ซึมเข้ามาสู่จิตใต้สำนึก จนยากเกินกว่าจะสลัดทิ้งไปได้ โทมัสถูกความรู้สึกผิด ความกลัว ความโกรธแค้น และความหดหู่เข้าครอบงำจิตใจ อันเป็นผลพวงมาจากสภาวะความตึงเครียดในสงคราม เป็นเวลาหลายปีที่เขาต้องต่อสู้กับความเครียดนี้ เขาติดยาและติดสุรา โดดเดี่ยวอ้างว้าง และไม่มีที่พักพิง

ระหว่างนี้เขาร่ำเรียนจนสำเร็จปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาการศึกษาภาษาอังกฤษ และเข้าอบรมการเขียนเชิงสร้างสรรค์ โดยเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสลิปเปอร์รี่ร็อค รัฐเพนซิลเวเนีย อันเป็นรัฐบ้านเกิดเมืองนอน หลังสำเร็จการศึกษา โทมัสเดินทางไปยังยุโรป เอเชีย และตะวันออกไกล แล้วกลับมาประกอบอาชีพด้านดนตรีเป็นเวลาถึง 11 ปี พร้อมกับออกอัลบั้ม 4 อัลบั้ม เป็นเพลงร็อคแอนด์โรลที่ปลุกจิตสำนึกทางสังคม

ช่วงชีวิตของโทมัสระหว่างนี้ เขาอุทิศตนเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองและสังคมเพื่อยุติสงครามในเวียดนามและให้ความช่วยเหลือเพื่อนทหารผ่านศึกชาวอเมริกัน ซึ่งหลังจากเพื่อนๆ ทหารผ่านศึกเหล่านั้นปลดประจำการ ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกับเขา ที่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยารักษาทางด้านจิตใจ

โทมัสให้ความสนใจและศึกษาศาสตร์ของการต่อสู้กำลังภายในอีกแขนง นั่นคือกังฟูแบบเส้าหลิน จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฮอบคิโดะ จนมีลูกศิษย์ลูกหามากกว่า 500 คน และเขายังศึกษาต่อระดับปริญญาโท จนสำเร็จการศึกษาด้านการจัดการจากวิทยาลัยเลสลีย์ในเคมบริดจ์

การได้รู้จักกับท่านติช นัท ฮันห์ นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของโทมัส การฝึกปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิที่หมู่บ้านพลัมในฝรั่งเศส รับฟังหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ช่วยจรรโลงจิตใจอันบอบช้ำและเยียวยารักษาอดีตอันแสนเลวร้ายของโทมัส จากการที่เขาต้องเผชิญกับความเครียดในสงคราม ท่านติช นัท ฮันห์ ได้ทำให้จิตใจอันแหลกสลายและบอบช้ำของโทมัสฟื้นคืนมาสู่สันติสุข และสันติภาพภายในจิตใจ หลังจากนั้นโทมัสจึงตัดสินใจบวชเป็นพระนิกายเซน และเป็นครูสอนศาสนา เขาเริ่มเดินสายเพื่อเพรียกหาสันติภาพและยุติความรุนแรงในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่สงคราม เช่น บอสเนีย ออสวิทซ์ อัฟกานิสถาน เวียดนาม และตะวันออกกลาง

At Hell's Gate จึงเป็นบันทึกจังหวะการย่างก้าวของโทมัส ซึ่งไม่เป็นเพียงบันทึกความทรงจำของความรุนแรงในสมรภูมิรบ ภาวะภายหลังสงครามของทหารผ่านศึก ผลกระทบต่างๆ ที่ตามมาเท่านั้น

แต่ At Hell's Gate ยังอุดมไปด้วยการเดินทางจากสงครามสู่สันติภาพและสันติสุขภายในจิตใจของอดีตนายทหารผ่านศึกนาม 'คล็อด แอนชิน โทมัส' อีกด้วย 0

(นำมาจาก กรุงเทพธุรกิจ จุดประกายวรรณกรรม)เห็นว่าน่าสนใจดี




 

Create Date : 23 มีนาคม 2551    
Last Update : 23 มีนาคม 2551 23:13:57 น.
Counter : 334 Pageviews.  

สนทนากับพระเจ้า

สำหรับหนังสือเล่มนี้ส่วนตัวอ่านแล้วดีมาก แต่อธิบายยากแถมต้องมีใจเปิดกว้างมากๆ เลยเอาบทความนี้มาให้อ่านกันนำมาจาก กรุงเทพธุรกิจ จุดประกายวรรณกรรมลองอ่านดูเพลินๆนะครับ

พรานอักษร


Conversations with God

พระเจ้าตายแล้ว...ฟื้น?

ลมฝน

ในยุคนี้สำนักพิมพ์น้อยใหญ่ต่างลุกขึ้นมาทำหนังสือแนว 'ธรรมะ-จิตวิญญาณ' กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ด้วยเป็นที่ต้องการของตลาดในยุคที่ผู้คนต่างสับสนและเสาะหาคำตอบของชีวิต หลายเล่มได้รับความนิยมจนทำให้สำนักพิมพ์จำนวนไม่น้อยรับทรัพย์ไปตามๆ กัน

ท่ามกลางปรากฏการณ์ขาขึ้นนี้ เมื่อปลายปี 2549 มีหนังสือชื่อประหลาดเล่มหนึ่งออกวางขายในตลาดบ้านเรามีชื่อว่า สนทนากับพระเจ้า เล่ม 1 แปลจากต้นฉบับเรื่อง 'Conversations with God : An Uncommon Dialogue' ซึ่งเป็นหนังสือแนวจิตวิญญาณที่ขายดีที่สุดในโลกในรอบทศวรรษที่ผ่านมา แปลไปแล้วเกือบ 50 ภาษา และเพิ่งถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเรื่องเดียวกัน ว่ากันว่าหนังสือชุดนี้คือ 'มหากาพย์แห่งจิตวิญญาณ' ของโลกหนังสือเลยทีเดียว และฉบับภาษาไทยก็สร้างความฮือฮาในหมู่ปัญญาชนและผู้ใฝ่ธรรมในสังคมไทยได้ไม่น้อย

หลายคนถึงกับบอกว่า...นี่คือหนึ่งหนังสือด้านจิตวิญญาณที่มีเนื้อหาโดดเด่นที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เป็นหนังสือที่ทำลายกรอบกำแพงความคิดและความเชื่อเดิมๆ ของผู้อ่านจนหมดสิ้น บางคนกล่าวว่าเนื้อหามีความละม้ายคล้ายกับพุทธแนวมหายานและตันตระมากอย่างน่าทึ่ง

ส่วนบางคนบอกว่า...นี่คือการตีความคัมภีร์คริสต์ศาสนาใหม่ทั้งหมด แต่กับอีกหลายคนบอกว่ามันคือหนังสือข้ามพ้นวิธีคิดแบบศาสนาไปแล้ว ทั้งยังประสานคำอธิบายทางจิตวิญญาณเข้าเป็นเนื้อเดียวกับมิติทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์!

ตกลงมันเป็นหนังสือเกี่ยวกับอะไรกันแน่

สนทนากับพระเจ้า เล่ม 2 เป็นอีกคำตอบหนึ่งที่ไขปริศนาเหล่านั้น โดยเล่มนี้ก็ได้นักแปลหนุ่มรุ่นใหม่ อัฐพงศ์ เพลินพฤกษา (บรรณาธิการแปล สนทนากับพระเจ้า เล่ม 1) ซึ่งเขาบอกว่าตัวเองนับถือศาสนาพุทธและไม่เชื่อเรื่องพระเจ้า แถมยังแปลหนังสือเล่มนี้ด้วยความแค้นที่มีต่อโลก! (อีกต่างหาก)

"ผมเกลียดโลกใบนี้ ไม่ชอบเลย โลกบ้าๆ ที่สร้างแต่ความทุกข์ความเจ็บช้ำให้กับผู้คน ผมอยากตอบโต้โลก ที่ผ่านมาผมมักตอบโต้ด้วยการทำร้ายคนอื่นหรือไม่ก็ทำลายตัวเอง ใช้ความเกลียดชังเพื่อตอบโต้ความเกลียดชัง แต่พอได้อ่านหนังสือเล่มนี้เลยเกิดแรงบันดาลใจมากจนรู้สึกว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้ความเกลียดชังเพื่อตอบสนองความเกลียดชังก็ได้ การได้มาทำและได้แปลหนังสือชุดนี้ถือเป็นวิธีที่ผมเลือกตอบโต้โลกด้วยความรัก แทนที่จะเป็นความเกลียดชังเหมือนที่เคยเป็นมา" อัฐพงศ์ เผยที่มาที่ไปของหนังสือชุดนี้ในภาคภาษาไทย

พร้อมกับขยายความต่อว่า "ไม่มีใครรู้หรอกว่าคนเขียนคุยกับพระเจ้าจริงหรือเปล่า ผมว่าประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนั้น ความน่าสนใจของหนังสือชุดนี้อยู่ที่ตัวเนื้อหามากกว่า มันลึกซึ้งและเป็นสากลมาก ลึกซึ้งอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับศาสนาเลย ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องพระเจ้าแบบที่คนทั่วไปเข้าใจด้วย ไม่ได้เป็นหนังสือศาสนา (religion) แต่เป็นหนังสือจิตวิญญาณ (spirituality) ไม่รู้จะนิยามหนังสือเล่มนี้อย่างไรเหมือนกัน"

ประเด็นนี้ Jess Peter Koffman ชาวแคนาดาซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ฟังในวันนั้น และเป็นผู้แปลหนังสือท่านพุทธทาสเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ 'Practical Buddhism : The legacy of Buddhadasa Bhikkhu' ได้ร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับหนังสือชุดนี้ไปในทางเดียวกันว่า "เป็นหนังสือที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสัจธรรมสูงสุดนั้นเป็นหนึ่งเดียว เนื้อหามีความลึกซึ้งเกินกว่าจะผูกติดอยู่กับศาสนาใดได้ เป็นหนังสือที่ดีมากๆ และก็ดังมากๆ ด้วย อยากให้ทุกคนได้อ่าน"

อัฐพงศ์ บอกอีกว่า แม้หนังสือชุดนี้จะดังแบบถล่มทลายในโลกตะวันตก แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เขาตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์หนังสือชุดนี้เพื่อนำมาแปลเป็นภาษาไทยแน่นอน "เราไม่ได้ทำเพราะเห็นว่ามันดัง แต่เพราะเห็นว่ามันดี" ทั้งยังสารภาพว่าแท้จริงแล้วการทำหนังสือชื่อ สนทนากับพระเจ้า ในสังคมไทยนั้น โอกาสขาดทุนค่อนข้างสูง ด้วยเหตุผลหลักๆ คือสำหรับชาวพุทธแค่เห็นคำว่า 'พระเจ้า' ก็ไม่คิดจะหยิบแล้ว

ผู้นับถือ 'พระเจ้า' ตามแบบศาสนาก็จะรับไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าเป็นการบิดเบือนอย่างรุนแรง ถึงอย่างนั้นเขาคิดว่าหนังสือชุดนี้มีคุณค่าเกินกว่าจะปล่อยผ่านไปได้ "แม้ว่าหลายคนจะออกมาประณามหนังสือชุดนี้ แต่ก็ไม่เป็นไร ผมเชื่อว่าหลายชีวิตจะได้ประโยชน์จากการที่หนังสือชุดนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย แม้ว่าอาจไม่ได้เป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม"

นอกจากนี้ 'สนทนากับพระเจ้า' ยังได้รับการจัดอันดับจากสถาบัน International Institute of Management (IIM) ให้เป็นหนึ่งในหนังสือติดอันดับสูงสุดในหมวด World's Most Respected Spiritual Books : A Global Survey เคียงคู่กับกับคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง (เล่าจื๊อ), The Prophet : ปรัชญาชีวิต (คาลิล ยิบราน), Jonathan Livingston Seagull : โจนาธาน ลิฟวิงสตัน, นางนวล (ริชาร์ด บาค), Siddhartha : สิทธารถะ (เฮอมาน เฮสเส), The Art of Happiness : ศิลปะแห่งความสุข (ทะไล ลามะ), Peace Is Every Step : สันติภาพทุกย่างก้าว (ติช นัช ฮันห์), The Alchemist : ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน (เปาโล โคเอลโย) ฯลฯ ที่นักอ่านชาวไทยรู้จักกันดีอีกด้วย

หลายคนสงสัยว่าถ้านิทซ์เช่ยังมีชีวิตอยู่ และได้อ่านหนังสือชุดนี้ เขายังจะยืนยันประกาศว่า 'พระเจ้าตายแล้ว!' อยู่อีกหรือไม่ 0

------------------------------------------


'สนทนากับพระเจ้า' ต่างมุมมอง

1.ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

"ในแต่ละบรรทัดของหนังสือเล่มนี้สามารถนำไปคิดต่อได้อีกเป็นเดือนเป็นปี...หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ให้คำตอบกับจิตวิญญาณ...ทำให้ผมเข้าใจเพิ่มเติมขึ้นเยอะเลยในแง่ของมุมมองที่มีต่อชีวิต"

2.ดร.ประพนธ์ ผาสุกยืด

"ช่างเป็นบทสนทนาที่สื่อตรงเข้าไปในใจได้อย่างชัดเจนจริงๆ เป็นการสื่อสารที่ให้ทั้งความเบิกบานและสร้างการตื่นรู้ เป็นการผสมผสานมิติทางวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณได้อย่างอัศจรรย์ใจ"

3.ดร.สุวินัย ภรณวลัย

"ไม่ว่า God ในหนังสือเล่มนี้จะมีอยู่จริงหรือแค่เป็นจินตนาการของผู้เขียนก็ตาม แต่นั่นหาใช่สิ่งสำคัญแต่อย่างใดเลย เพราะ God ในหนังสือเล่มนี้ คือกัลยาณมิตรที่ทรงภูมิปัญญาที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ผู้อ่านจะพานพบได้ในชีวิตนี้…เท่าที่ผ่านมามีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ชีวิตของพวกเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปภายหลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้"




 

Create Date : 23 มีนาคม 2551    
Last Update : 23 มีนาคม 2551 22:35:30 น.
Counter : 1157 Pageviews.  

โจนาทาน ลิฟวิงสตัน

โจนาทาน ลิฟวิงสตัน
ริชาร์ด บาก
อ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ


สำหรับหนังสือเล่มนี้คงมีคนกล่าวถึงมามากมายแล้วและได้รับการพิมพ์ซ้ำๆหลายครั้ง ผมจึงไร้วาจากล่าวเพียงแค่คิดถึงขึ้นมาเท่านั้นเอง เพราะทุกครั้งแค่เพียงได้เห็นหนังสือเล่มนี้ก็ชวนให้ตื้นตันทุกครั้ง เพราะถือเป็นจุดเริ่มเรื่องราวของนกนางนวลในตัวผม และเป็นจุดเริ่มต้นหลายๆสิ่งหลายๆอย่างในชีวิตที่นำมาถึงปัจจุบัน ความรู้สึกนึงที่ไม่เคยลืมถึงเวลาจะผ่านมาเนินนานผ่านวัยคือ " หนังสือเล่มนี้ราวกับตัวผมเองเป็นคนเขียน " และนี่คือความรู้สึกจากวันนั้นมาถึงวันนี้





 

Create Date : 22 มีนาคม 2551    
Last Update : 18 พฤษภาคม 2551 23:23:18 น.
Counter : 325 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

LampOfGod
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add LampOfGod's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.