ขอให้ความสุนทรีย์และความสุขสงบจงมีแด่ท่านทั้งหลาย
Group Blog
 
All Blogs
 
พุทธธรรม ยุคโลกาภิวัฒน์ โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 3

พูดอย่างรวบรัดก็ึคือว่า การถ่วงดุลด้านมืดของยุคโลกาภิวัตน์ จะทำได้ก็โดยการกอบกู้สติสัมปชัญญะของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเท่านั้น ซึ่งสามารถดำเนินการได้ ทั้งในระดับบุคคล และเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือเป็นทั้งสองอย่างประสานกัน ตรงนี้แหละที่ทำให้ผมคิดว่า เรามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพึ่งพิงพุทธธรรม เพราะพุทธธรรมเป็นคำสอนที่พุ่งเป้าไปสู่การปลดปล่อยบุคคลออกจากการครอบงำตัวเองเป็นสำคัญ อันนี้ไม่ได้หมายความว่าผมเพียงใช้ตรรกะหยาบๆ มาอธิบายความเห็น หากเป็นข้อเสนอจากเงื่อนไขความเป็นจริง ซึ่งประกอบด้วยทั้งความจำเป็นและความเป็นไปได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ในแง่ของความจำเป็น ผมได้พูดมามากแล้ว แ่ต่ในแง่ของความเป็นไปได้ หมายความว่าอย่างไร...หมายความว่า ในสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่นี้ เราสามารถเชิญพุทธธรรมไปเกาะเกี่ยวกับพลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่ได้โดยไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน โอกาสมีอยู่จริง และเป็นรูปธรรม


เงื่อนไขข้อแรก ดังที่กล่าวมาแล้ว ปัญหาที่มนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์เผชิญอยู่ เป็นปัญหาในระดับจิตวิญญาณ ดังนั้น จึงตรงกับประเด็นหลักๆ ที่พระพุทธองค์เคยค้นคว้าและหาคำตอบ หากพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ผู้คนป่วยเป็นโรคที่เรามียารักษาได้โดยตรง เงื่อนไขที่สอง โลกาภิวัตน์ไม่ได้มีแต่ด้านลบอย่างเดียว หากยังมีด้านบวกที่เอื้อต่อการเผยแผ่พุทธธรรมและการปฏิบัติธรรมด้วย เราต้องอาศัยด้านบวกของโลกาภิวัตน์ อันประกอบด้วย เทคโนโลยีการสื่อสาร ความเพียบพร้อมด้วยเงื่อนไขทางวัตถุสำหรับเกื้อหนุนการทำงานและการใช้ชีวิต จิตสำนึกที่ข้ามพรมแดนไปเชื่อมโยงกันในหมู่มนุุษย์และเสรีภาพในการสร้างสรรค์ปัจเจกภาพของปัจเจกบุคคล มาช่วยลดทอนด้านมืด ซึ่งในการเคลื่อนไหวทิศทางนี้ เราสามารถส่งทอดข่าวสารให้เพื่อนมนุษย์ได้สะดวกกว่าเดิมมาก


สุดท้าย ถ้ากล่าวเฉพาะเงื่อนไขพิเศษของสังคมไทย ก็ต้องถือว่าเรามีคลังปัญญาของพุทธธรรมเก็บไว้อย่างล้นเหลือ แม้ว่าที่ผ่านมา คนจำนวนมากยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ข้อได้เปรียบตรงนี้ก็ตาม อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า ตั้งแตพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพานไปแล้ว นับได้กว่า 2,500 ปี คำสอนของพระองค์ ไม่เพียงได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันเท่านั้น หากยังได้การตีความย้ำเน้น แตกต่างกันอยู่บ้าง ทั้งในยุคสมัยที่ต่างกัน และในดินแดนที่ต่างกัน ในจุดนี้ ผมคงต้องเอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่างพุทธธรรมกับยุคโลกาภิวัตน์เสียเลย เพราะว่าในกระแสโลกาภิวัตน์ การเผยแผ่พุทธธรรมและการศึกษาพุทธธรรม ตลอดจนการสมาทานพุทธธรรม ย่อมจะได้รับผลกระทบจากยุุคสมัยเช่นเดียวกัน


เท่าที่ผมสังเกตเห็นด้วยสายตาจำกัด การศึกษาพุทธธรรมในยุคโลกาภิวัตน์มีลักษณะแตกต่างจากสมัยจารีตประเพณีอยู่ 5 ประการ คือ หนึ่ง เป็นการศึกษาและปฏิบัตินอกวัดมากขึ้น สอง เป็นการตีความอิสระโดยปัจเจกบุคคลมากขึ้น สาม ได้รับการยอมรับนับถือโดยประชาชนในประเทศที่ไม่ได้มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักของชาติมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในซีกโลกตะวันตก สี่ มีลักษณะบูรณาการระหว่างนิกายมากขึ้น และ ห้า มีการนำไปเทียบเคียงและเกี่ยวโยงกับองค์ความรู้แบบอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิทยาศาสตร์และสำนักคิดทางจิตวิญญาณต่างๆ


สำหรับประการแรกและประการที่สอง คงเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว ทุกวันนี้แม้คนจำนวนมากจะหมกมุ่นอยู่ในโลกียจิต แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่หันมาศึกษาพุทธธรรม และปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจด้วยตนเอง สำนักวิปัสนานอกวัดเกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิประเทศอันสงบวิเวก หลักสูตรศึกษาและปฏิับัติธรรมระยะสั้นถูกนำมาเสนอให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป อีกทั้งพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ถูกนำมาตีความและตีพิมพ์เผยแพร่ตามร้านหนังสือ ซึ่งหาได้โดยง่าย ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการเปิดพื้นที่ให้พุทธธรรมมากขึ้นในสื่อแขนงต่างๆ สภาพดังกล่าวนับว่าช่วยเหลือเกื้อกูลปัจเจกบุคคลที่กำลังแสวงหาคำตอบในทิศทางนี้เป็นอย่างยิ่ง



ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่เราจะสามารถหาอ่านคำสอนของปราชญ์และวิปัสนาจารย์ฝ่ายสงฆ์ได้โดยง่ายเท่านั้น แม้แต่งานของธรรมาจารย์ฝ่ายฆราวาสก็มีอยู่ไม่น้อย การดำรงอยู่ของสำนักปฏิบัติธรรมและผู้รู้ธรรมของฝ่ายฆราวาส ตลอดจนตำราพุทธธรรมที่เผยแพร่ทั่วไปเหล่านี้ นับว่าช่วยย่นย่อระยะทางระหว่างคนธรรมดาจากคำสอนของพระพุทธองค์ได้มากขึ้น อีกทั้งยังถูกกับจริตของคนยุคปัจจุบันที่มักปฏิเสธขั้นตอนพิธีรีตองแบบเก่า และอยากเลือก อยากคิดอะไรด้วยตนเอง ขณะเดียวกัน สภาพเช่นนี้ก็สะท้อนระยะห่างระหว่างมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์กับพุทธศาสนาที่เป็นทางการพอสมควร ซึ่งจะโทษฝ่ายแรกฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ทุกวันนี้ แม้เราจะยังมีวัดดีๆ พระดีๆ อีกเป็นจำนวนมาก แต่ก็คงต้องยอมรับว่าพลังของศาสนาที่เป็นทางการในการดึงดูดผู้คนเข้ามาไว้ภายใต้รังสีธรรม ได้ลดลงกว่าแต่ก่อน ยังไม่ต้องเอ่ยถึงว่า ศาสนาเองก็ได้รับผลกระทบจากความเคลื่อนไหวทางโลกมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากปรากฎการณ์ที่วัดและพระจำนวนหนึ่งถูกแปรรูปให้มารับใช้จริตทางไสยศาสตร์ของคนชั้นกลาง ซึ่งฉาบทอเอาไว้ด้วยความโลภทางวัตถุธรรม มากกว่าจะเป็นการแสวงหาภาวะหลุดพ้นใดๆ


ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งของพุทธธรรมในยุคโลกาภิวัตน์ คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าได้รับการเผยแผ่จากประเทศของชาวพุทธในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใ้้ต้ไปสู่โลกตะวันตกในอัตราที่เข้มข้นรวดเร็ว ซึ่งส่งผลสะเทือนกลับมายังซีกโลกตะวันออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น พูดกันตามความจริง ชาวตะวันตกได้สัมผัสพุทธธรรมมานาน การขยายอำนาจมาถึงอินเดียของอเล็กซานเดอร์มหาราชมีส่วนอย่างมากในการเปิดทางให้พุทธศาสนาเผยแผ่ไปสู่เอเชียกลาง และบันทึกการสนทนาธรรมระหว่างพญามิลินท์ผู้เป็นเจ้ากรีกกับพระนางเกษมเถระก็กลายเป็นตำราคลาสสิกเ่ล่มหนึ่งของชาวพุทธซึ่งตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน


อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หากเราไม่นับการอพยพของชาวจีนชาวญี่ปุ่นไปสู่ทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งนำวัฒนธรรมประเพณีแบบชาวพุทธติดตัวไปด้วย ก็คงต้องถือว่าความสนใจพุทธศาสนาของชาวตะวันตกเริ่มต้นใหม่อีกครั้งในศตวรรษที่ 19 และต่อเนื่องมาจนถึงคริสตศตวรรษที่ 20 ซึ่งในตอนแรก จำกัดวงอยู่ในหมู่ปัญญาชน ยกตัวอย่างเช่น ในปลายศตวรรษที่ 19 เฮนรี่ เดวิด ธอโร ได้แปลพระสูตรจากภาษาฝรั่งเศสมาเป็นภาษาอังกฤษ, เฟรดริช นิทเช่ นักปรัชญาคนสำคัญ ก็เคยกล่าวยกย่องพุทธศาสนาไว้ในงานของเขา ในปี ค.ศ.1895 และต่อมา ในปี 1924 มีการก่อตั้งพุทธสมาคมแห่งลอนดอนขึ้น หลังจากนั้นอีก 3 ปี ก็มีการตีพิมพ์ 'คัมภีร์มรณศาสตร์แห่งทิเบต' ออกเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก เป็นต้น


จากนั้น พอถึงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 พุทธธรรมในโลกตะวันตกก็ได้รับการเผยแผ่กว้างขวางออกไปอีก ในปี ค.ศ.1959 ซูซูกิ ฮิโรชิ ได้เริ่มเปิดอบรมธรรมะของฝ่ายเซนที่ซานฟรานซิสโก และในปี 1965 ภิกษุจากลังกาจำนวนหนึ่งก็ได้สร้างพุทธวิหารขึ้นที่กรุงวอชิงตันดีซี ต่อจากนั้น การเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพในอินโดจีนซึ่งนำโดย หลวงพ่อติชนัทฮันห์ กับเหตุการณ์ที่ชาวทิเบตจำนวนมหาศาล รวมทั้งองค์พระประมุขดาไลลามะต้องลี้ภัยจากการยึดครองของจีน ได้ส่งผลใหญ่หลวงต่อการนำพุทธธรรมไปหยั่งรากในโลกตะวันตก สภาพทั้งหมดนี้ได้ให้กำเนิดทั้งวัดและพระสงฆ์ ตลอดจนธรรมาจารย์ฆราวาสที่เป็นชาวตะวันตกเอง จนอาจกล่าวได้ว่า พระรัตนตรัยมีที่ประดิษฐานอย่างมั่นคงแล้วในซีกโลกนั้น


อย่างไรก็ดี แม้เราไม่อาจลืมคุณูปการของบุคคลอย่างท่านดาไลลามะ หลวงพ่อนัชฮันห์ อาจารย์ซูซูกิ ท่านเชอเกียม ตรุงปะ ท่านโซเกียล รินโปเช และอีกหลายๆ ท่านที่พร่ำสอนชาวตะวันตกให้เข้าใจมรรคผลวิธีของชาวพุทธ แต่ก็คงต้องยอมรับว่าการที่พุทธธรมได้หยั่งรากในโลกตะวันตกได้ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะชาวตะวันตกเองได้เผชิญกับปัญหาต่างๆ จากการพัฒนาด้านวัตถุมาก่อนเรา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเงียบเหงาของชีวิต ความรุนแรงของสังคม ตลอดจนปัญหาพิษภัยต่างๆ จากการล่มสลายของสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่พวกเขา้ต้องหันมาหาหลักธรรมซึ่งเน้นความสมถะสันโดษ และครรลองชีวิตที่สร้างความสงบสันติขึ้นภายในตัวเอง ด้วยตัวเอง


เมื่อไม่นานมานี้มีบันทึกเล่มหนึ่ง ซึ่งสะท้อนภาพความเจ็บปวดของชาวตะวันตกได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนเป็นพระเซนชาวอเมริกัน ชื่อ ‘เคลาดํ อันชิน โทมัส’ (Claude Anshin Thomas) ส่วนหนังสือของท่านชื่อ At Hell’s Gate หรือ ‘ปากประตูนรก’ ท่านโทมัสผู้นี้เคยเป็นทหาร ถูกส่งไปรบในสงครามเวียดนาม และมีส่วนในการสังหารชีวิตชาวเวียดนามหลายร้อยคน ท่านเคยได้รับเหรียญกล้าหาญขั้นสูงของสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากปลดประจำการ ปรากฎว่าสงครามในใจท่านกลับไม่ยอมสงบตาม ท่านไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนปกติธรรมดาได้ เพราะความรุนแรงในชีวิตได้ตามมาหลอกหลอน ท่านโทมัสได้กลายเป็นคนเครียด นอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง มีอารมณ์ฉุนเฉียวและหวาดระแวงตลอดเวลา กลายเป็นคนล้มเหลวในชีวิตครอบครัว ทำงานที่ไหนไม่ได้ และเสี่ยงที่จะเสียสติอยู่ไม่น้อย


จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านโทมัสมีโอกาสได้ไปศึกษาพุทธธรรม และฝึกภาวนาอยู่ที่หมู่บ้านพลัม ในฝรั่งเศส ของหลวงพ่อนัชฮันห์ จึงได้เรียนรู้ที่จะสรุปกรรม ทำความเข้าใจจิตของตนเอง และค่อยๆ สงบลง สุดท้าย ท่านได้กลับมาบวชเป็นพระเซน ในนิกายโซโตที่อเมริกา และกลายเป็นพระที่เอาการเอางานในการเผยแผ่พุทธธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอหิงสธรรม ซึ่งคัดค้านการใช้ความรุนแรง แน่นอน ผลจากการที่พุทธธรรมไ้ด้หยั่งรากอย่างมั่นคงในโลกตะวันตก ทำให้เกิดอานิสงส์กลับมายังโลกตะวันออกด้วย


ข้อแรก คือ การเผยแพร่ธรรมะอย่างกว้างขวางเป็นภาษาสากล ทำให้เราได้มีโอกาสศึกษาการตีความพุทธธรรมของฝ่ายต่างๆ ซึ่งปกติเข้าถึงได้ยากมาก เนื่องจากอุปสรรคทางด้านภาษา กล่าวคือในปัจจุบัน นอกเหนือจากตำราของเถรวาทที่มีอยู่แล้ว เรายังสามารถอ่านงานสำคัญๆ ของฝ่ายมหายานได้ โดยไม่ต้องรู้ภาษาสันสกฤต สามารถศึกษาวัชรญาณได้ โดยไม่ต้องรู้ภาษาทิเบต อ่านคำสอนของเซนได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่ต้องรู้ภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาจีน ยิ่งไปกว่านั้น การมีต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ ยังทำให้ง่ายขึ้นต่อการแปลคำสอนเหล่านี้เป็นภาษาไทย


ข้อต่อมา ผลจากการรับพุทธธรรมของฝ่ายตะวันตกอีกอย่างหนึ่งก็คือ โดยวิถีการเรียนรู้ของชาวตะวันตกเอง พวกเขาจำเป็นต้องสกัดส่วนที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ ที่ติดมากับคำสอนของนิกายทั้งหลายออกไปมากพอสมควร กระทั่งในบางกรณีก็ต้องกลั่นกรองเอาอคติระหว่างนิกายออกไปด้วย เืพื่อให้ได้เนื้อแท้ของพระธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล และประยุกต์เข้ากับสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรมของโลกซีกนั้นได้ง่ายขึ้น ผลที่ออกมาคือการบูรณาการคำสอนนิกายต่างๆ เข้าหากัน อ้างอิงซึ่งกันและกันได้โดยไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์และตรวจสอบไต่ถามได้โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องละเมิดล่วงเกิน พูดง่ายๆ คือพวกเขาศึกษาธรรมะตามประเพณีของ Liberal Education หรือการศึกษาเสรี ซึ่งเป็นระเบียบทางปัญญาของฝ่ายตะวันตกมานานนับศตวรรษ




ตามความเห็นของผม หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งสะท้อนแนวโน้มในด้านนี้ไว้เป็นอย่างดีคือหนังสือชื่อ ‘ธรรมะมีหนึ่งเดียว’ – One Dharma: The Emerging Western Buddhism ซึ่งเขียนโดย โจเซฟ โกลด์สไตน์ วิปัสนาจารย์คนแรกที่เป็นชาวอเมริกัน ผู้เคยศึกษาพุทธธรรมทั้งจากอาจารย์ไืทย อาจารย์พม่า ซึ่งอยู่ฝ่ายเถรวาท ศึกษาวัชรญาณจากครูทิเบต ตลอดจนศึกษาเซนจากอาจารย์ญี่ปุ่นและเกาหลี ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ อาจารย์โกลด์สไตน์ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า


“ลักษณะพิเศษของยุคสมัยปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ที่ตะวันออกกับตะวันตกได้มาพบกันเท่านั้น อาจยังอยู่ที่สำนักนิกายต่างๆ ของเอเชีย มาพบกันเป็นครั้งแรกในรอบหลายศตวรรษ โดยพบกันในโลกตะวันตก ผลจากการปะทะสังสรรค์ของคำสอนเก่าแก่เหล่านี้ ทำให้เกิดสิ่งที่เราพอจะเรียกได้ว่า ‘พุทธศาสนาของฝ่ายตะวันตก’ เราไม่ได้ถูกจำกัดโดยข้อห้ามต่างๆ ของวัฒนธรรมเอเชีย อีกทั้งยังได้รับการเสริมพลังจากสังคมที่สนับสนุนให้มีการตรวจสอบไต่สวน เราจึงเต็มใจที่จะรับเอาสิ่งดีๆ จากทุกสำนักนิกาย มาผนวกกับประสบการณ์ภาคปฏิบัติของเรา”


ไม่เพียงแต่แนวโน้มข้างต้นจะเด่นชัดในซีกโลกตะวันตก ในประเทศไทยเราเอง การน้อมศึกษาพุทธธรรมจากสำนักอื่นที่ไม่ใช่เถรวาท ไม่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ก็ตาม กลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ แน่ล่ะ เรื่องนี้จริงๆ แล้ว ท่านอาจารย์พุทธทาสเคยบุกเบิกมาก่อนสมัยโลกาภิวัตน์ ด้วยการแปลคัมภีร์เซนคลาสสิก อย่าง ‘ฮวงโต’ กับ ‘สูตรเว่ยหล่าง’ ออกเผยแพร่ ตั้งแต่กว่า 50 ปีที่แล้ว อีกทั้งยังนำแนวคิดเรื่อง ‘สุญญตา’ หรือ ‘ความว่าง’ ของมหายาณ มาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบรรยายธรรมของท่าน


ยังไม่ต้องเอ่ยว่า ผลงานของฝ่ายฆราวาส เช่น งานแปลคัมภีร์มหายานของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ก็ได้ทำไว้นานแล้วเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับว่า ในระยหลังนี้ การนำคัมภีร์โบราณ ตลอดจนตำราธรรมะของฝ่ายทิเบตและเซนมาแปลเป็นภาษาไทย ได้ดำเนินไปอย่างกว้างขวางกว่าเดิมมาก จนกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้แสวงหาในยุคปัจจุบันจะคุ้นเคยกับพระนิพนธ์ของท่านดาไลลามะ คุ้นเคยกับปรัชญาปารมิตาฉบับต่างๆ คุ้นเคยกับคำสอนของท่านนัชฮันห์ อ่านงานของเชอเกียม ตรุงปะ, โซเกียล รินโปเช และท่านอื่นๆ ราวกับเป็นครูบาอาจารย์ที่เรารู้จักดี


แน่นอน เราคงต้องขอขอบคุณผู้แปลที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธาและความเอางานเอาการ อย่างคุณพจนา จันทรสันติ, ท่านไพศาล วิสาโล, อาจารย์สดใส ขันติวรพงษ์ และท่านอื่นๆ อีกหลายท่านที่ช่วยให้คนไทยเข้าถึงทางปัญญาเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งต้องขอชื่นชมสำนักพิมพ์อย่างโกมลคีมทองและสวนเงินมีมา ที่ลงเรี่ยวลงแรงในด้านนี้มากกว่าใคร ส่วนคุณูปการของท่านอาจารย์สุลักษณ์นั้น แม้ผมไม่เอ่ยถึง ก็เป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว


สำหรับผู้ที่ถนัดภาษาอังกฤษ จะพบว่าคำสอนดั้งเดิมของเซน ได้ถูกแปลออกมาเป็นภาษาดังกล่าวหมดแล้ว งานคลาสสิกของท่านเออิ โตเง็น ปรมาจารย์เซนในคริสตศตวรรษที่ 13 เรียวโช โบเง็นโซ่ ซึ่งครั้งหนึ่งแทบสาบสูญไปจากประเทศญี่ปุ่น บัดนี้กลายเป็นหนังสือที่วางขายอยู่กลางศูนย์การค้า ในแถวเดียวกับโพธิสัตว์จรรยารวัฒน์ ของท่านศานติเทวะ มาธยมิกการิกาของท่านนาคารชุน ตลอดจนคำสอนของหลวงปู่มั่น หลวงพ่อชา ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ และครูธรรมฝ่ายเถรวาทอื่นๆ ก็หาอ่านได้ในภาคภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน เรื่องดีสำหรับการขยายขอบฟ้าในด้านการศึกษาพุทธธรรมของชนรุ่นหลังมีอยู่มาก ในการน้อมรับคำสอนของฝ่ายมหายานนิกายต่างๆ ทำให้การติดข้องกับวิถีท้องถิ่นต่างๆ น้อยลง การเปิดประตูกว้างให้ผู้คนศึกษาธรรมะด้วยตนเองเช่นนี้ ไม่เพียงเพิ่มพลังให้พุทธธรรม หากยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันด้วย


ประเด็นสุดท้าย เป็นเรื่องฐานะของพุทธธรรมต่อองค์ความรู้อื่น ต่อเรื่องนี้ เท่าที่ผมสังเกตพบมีอยู่ 2 กรณี คือกรณีแรก คำสอนของพระพุทธองค์ถูกนำไปเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์มากขึ้น และกรณีที่สอง พุทธธรรมถูกนำไปใช้อ้างอิงโดยผู้แสวงหาทางด้านจิตวิญญาณมากขึ้น ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นชาวพุทธหรือไม่ก็ตาม กล่าวถึงกรณีแรก ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะวิทยาศาสตร์มีฐานะเป็นศาสนาหลักของคนยุคปัจจุบัน และเป็นรากฐานของแนวคิดวัตถุนิยม ตั้งแต่ระดับปรัชญาวิชาการ ลงมาถึงระดับสามานย์


ในเมื่อพุทธธรรมมีฐานะโดดเด่นขึ้นในสากล การแลกเปลี่ยนมุมมองและการทดสอบกันและกันจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา นอกจากนี้คงต้องยอมรับว่า แม้วิทยาศาสตร์จะให้ความกระจ่างเกี่ยวกับโลกและจักรวาลไว้อย่างมหาศาล และมีคุณูปการใหญ่หลวงต่อการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งปรับปรุงแก้ไขในการดำรงชีพของคนเรา แต่จุดอ่อนที่สุดของวิทยาศาสตร์ อยู่ตรงที่ไม่สามารถเข้าใจมนุษย์เท่ากับสิ่งนอกตัวมนุษย์ มีองค์ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ ไม่พ้นเรื่องร่างกาย ไม่เข้าใจ กระทั่งปฏิเสธการดำรงอยู่ของจิตและจิตวิญญาณ ช่องว่างตรงนี้ ด้านหนึ่งทำให้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหาได้ไม่ครบถ้วน ขณะเดียวกันก็ทำให้มีพื้นที่ว่างสำหรับศาสนา ที่จะเข้าไปเยียวยาผู้ึคน รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย


ถามว่า แล้วพุทธธรรมต่างจากคำสอนอื่นตรงไหน จึงดึงดูดการเทียบเคียงกับวิทยาศาสตร์มากกว่าคำสอนของศาสนาอื่นๆ ในความเห็นของผม เป็นเพราะว่าพุทธธรรมไม่ใช่ความเชื่อแบบเทวนิยม ด้วยความเคารพ ไม่ได้รังเกียจศาสนาที่มีความเชื่อด้านนี้ รวมทั้งพุทธธรรมยังยืนยันว่าคำสอนทั้งหมด เป็นไปตามความจริงที่ดำรงอยู่โดยธรรมชาติ กล้าท้าให้พิสูจน์และทดสอบได้ด้วยประสบการณ์จริง เพียงแต่ว่าจุดเน้นของพุทธธรรมอยู่ที่โลกด้านใน เป็นมรรควิธีในการสำรวจตัวเอง อาศัยจิตสำนึกขั้นสูงมาควบคุมและดัดแปลงตนเอง สุดท้ายข้ามพ้นตนเอง หรือจิตสำนึกแห่งตัวตน ด้วยสมมติฐานง่ายๆ แต่เข้าใจยาก คือ ‘ตัวตนไม่มีจริง’ จะว่าไปตรงนี้อาจจะเป็นจุดโต้แย้งที่สุดระหว่างชาวพุทธกับนักวิทยาศาสตร์ ในขณะที่หลายๆ ด้านอาจจะเห็นพ้องต้องกัน


ยกตัวอย่างเช่น ในหนังสือเล่มล่าสุดของ ท่านดาไลลามะ ชื่อ ‘จักรวาลในหนึ่งอะตอม’ The Universe in a Single Atom ท่านได้แสดงความรอบรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง อีกทั้งเห็นด้วยและเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ในหลายๆ ด้าน แต่พอมาถึงประเด็นของจิตและจิตสำนึก ท่านยังเห็นว่าวิทยาศาสตร์สำรวจความจริงไม่ครบ เน้นแต่วามจริงทางภาวะวิสัย มองข้ามความจริงทางอัตตวิสัย ดังนั้น เมื่อมีการศึกษาเรื่องความรู้สึกนึกคิด วิทยาศาสตร์จึงพยายามทำความเข้าใจจิตสำนึกในแง่ของกระบวนการทางสมองเท่านั้น พูดอีกแบบหนึ่งก็คือทำให้การมีอยู่ของจิตกลายเป็นแค่วัตถุ ตามคตินิยมลดทอนนั่นเอง



พูดอีกแบบหนึ่งคือวิทยาศาสตร์ศึกษาจิตในฐานะการทำงานของกายเนื้อล้วนๆ ซึ่งในทางพุทธธรรมถือว่าเป็นไปไม่ได้ ขัดแย้งกับความจริง ก่อนหน้านี้หลายปี ท่านอาจารย์ประยุตต์ ปยุตโต ปราชญ์ทางฝ่ายเถรวาทของไทยก็ได้เปรียบเทียบจุดเหมือนจุดต่างระหว่างพุทธธรรมกับวิทยาศาสตร์ไว้อย่างลึกซึ้ง และโดยพื้นฐานแล้ว ทัศนะของท่านก็ไม่ต่างจากองค์ดาไลลามะ คือเห็นว่าวิทยาศาสตร์ยังมองความจริงได้ไม่ครบ เพราะวิทยาศาสตร์พิจารณาเฉพาะ “ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทางอินทรีย์ 5 หรือประสาททั้งห้าเท่านั้น แต่พุทธศาสนาเอาอินทรีย์ที่ 6 ด้วย แต่ทางวิทยาศาสตร์ไม่ยอมรับอินทรีย์ที่ 6 แต่พุทธศาสนาถือว่าอินทรีย์ที่ 6 ก็พิสูจน์ความจริงได้”


ในหลักประเด็นนี้ ผมเลือกข้างฝ่ายพุทธ แต่ตัวเองก็ไม่มีความรู้พอที่จะอธิบายเพิ่มเติมเฉพาะหน้า และสิ่งที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือ ในหัวข้อโต้แย้งดังกล่าว ฝ่ายพุทธธรรมดูจะมีพลังกว่ามาก เพราะวิทยาศาสตร์เองไม่สามารถอธิบายเรื่องราวของจิตใจและจิตวิญญาณได้อย่างสมบูรณ์ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงมรรควิธีในการสร้างความสงบภายในให้กับตัวมนุษย์ พูดเช่นนี้แล้วทำให้ผมต้องรีบเอ่ยถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธธรรมกับวิทยาศาสตร์ในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งจะเน้นไปในด้านเชื่อมโยงผสมผสาน หรือพูดง่ายๆ ก็คือใช้ความรู้ทั้งวิทยาศาสตร์์และพุทธธรรมมาสร้างองค์รวมความรู้ให้กับมนุษย์ โดยนำทั้งสองอย่างมาส่งเสริมกัน


ยกตัวอย่างเช่น เมื่อหลายปีก่อน ‘เคน วิลเบอร์’ (Ken Wilber) นักคิดชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง ได้เขียนหนังสือชื่อ The Atman Project และในหนังสือเล่มดังกล่าว เขาได้พิสูจน์ได้อย่างน่าเชื่อถือว่าพัฒนาการทางจิตวิญญาณของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการตามธรรมชาติ การข้ามพ้นตัวตนหรืออีโก้ (Ego) ไปสู่สภาวะไร้ตัวตน หรือ ‘จิตนิพพาน’ ไม่เพียงเป็นไปได้ หากยังเกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในหมู่อริยบุคคล และถือเป็นพัฒนาการขั้นสูงสุดของมนุษย์เรา


ในหนังสือเล่มนี้ เคน วิลเบอร์ ได้ย้อนรอยจิตวิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์ตะวันตก ด้วยการชี้ให้เห็นว่าศาสตร์ดังกล่าวศึกษาเรื่องจิตของมนุษย์เอาไว้ครึ่งเดียว ผลการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์สรุปได้กว้างๆ ว่า ช่วงเป็นทารกแรกเกิด มนุษย์เราไม่มีสำนึกแยกตัวเองออกจากโลกภายนอก จากนั้นเมื่อเจริญวัยขึ้นอีกขั้นหนึ่งก็จะแยกตัวเองในทางกายภาพออกจากสิ่งแวดล้อมได้ และสร้างอัตตาทางกาย หรือ Body Ego ทำให้มีพฤติกรรม ตลอดจนข้อเรียกร้องต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความต้องการทางกายเป็นหลัก ครั้นเติบโตขึ้นเป็นหนุ่มสาวก็จะสร้างตัวตนด้วยความคิดต่างๆ ขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ถือเป็นอัตตาทางจิต หรือ Mind Ego จากนั้นก็จะผสมผสานขั้นตอนที่ผ่านมาทั้งหมดเข้าหากัน เป็นตัวตนที่ลงตัวขึ้น ซึ่งเป็นอัตตาแบบที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไป




Create Date : 19 มีนาคม 2551
Last Update : 19 มีนาคม 2551 0:24:17 น. 0 comments
Counter : 596 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

LampOfGod
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add LampOfGod's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.