ขอให้ความสุนทรีย์และความสุขสงบจงมีแด่ท่านทั้งหลาย
Group Blog
 
All Blogs
 
พุทธธรรม ยุคโลกาภิวัฒน์ โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2

ที่ผ่านมา รัฐชาติใช้โรงเรียนเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อเข้าแทนที่หรือครอบงำวัฒนธรรมประเพณีอันมีมาแต่เดิมของชุมชนท้องถิ่น ในแง่นี้ นับว่ารัฐประสบความสำเร็จในการดัดแปลงคนในประเทศอยู่มิใช่น้อย แต่ขณะเดียวกัน โรงเรียนก็กลายเป็นสถาบันที่ผูกขาดคุณค่าทางสังคม การศึกษาในห้องเรียนกลายเป็นเครื่องแบ่งแยกฐานะคนในชาติ แทนที่จะสอนคนให้มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ มีอิสระทางความคิด และใช้สติปัญญาไปในทางสร้างสรรค์ กลายเป็นว่า นานวันไป เนื้อในของการศึกษาของสังคมไทยยิ่งขาดแคลนสาระในด้านนี้ การศึกษาขั้นสูงแปรสภาพเป็นแค่บัตรเครดิต หรือหนังสือเดินทางไปสู่ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ และกลายเป็นกองทุนแห่งอำนาจมากกว่าขุมทรัพย์ทางปัญญา


ความล้มเหลวของการศึกษาในโรงเรียนบนพื้นฐานที่วัฒนธรรมชุมชนและตัวชุมชนต่างก็ถูกทำลายไปมากแล้ว ทำให้เด็กไทยรุ่นหลังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกหลานของคนชั้นกลาง แทบจะไม่มีที่มาที่ไปทางวัฒนธรรมเหลืออยู่เลย พวกเขาขาดแคลนทั้งพุทธิปัญญาและความแข็งแรงทางด้านจิตวิญญาณ ในขณะที่โลกกำลังหมุนไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์อย่างไม่หยุดยั้ง ช่องว่างตรงนี้ทำให้ลูกหลานของเราต่างรับเอาข่าวสารข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างหิวกระหาย ปราศจากเครื่องมือทางความคิดในการกลั่นกรอง ขาดสติในการนำมาประยุกต์ใช้ กลายเป็นวิถีชีวิตที่สับสนอลหม่าน ดิบๆ สุกๆ ทางด้านรสนิยม ชีวิตเต็มไปด้วยความสุขระยะสั้นและความทุกข์ระยะยาว พูดกันตามความจริง ข่าวสารที่ส่งผ่านมาตามสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ระบบโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต ไม่ได้เป็นข่าวสารที่เปิดกว้างกระจัดกระจายหรือข่าวสารเสรีดังที่เราชอบคิดว่ามันเป็นเสียทั้งหมด หากส่วนใหญ่คือข้อมูลข่าวสารที่ถูกขับเคลื่อนออกมาเป็นกองหนุนของระบบทุนนิยมโลกแทบทั้งสิ้น


ทั้งนี้ก็แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทกว้างๆ คือ หนึ่ง ผ่านมาทางโฆษณาสินค้า และ สอง เป็นการโฆษณาทางความคิดโดยตรง จะว่าไป ในการโฆษณาสินค้าก็มีการโฆษณาความคิดติดมาด้วยเสมอ เช่น สินค้าประเภทเครื่องสำอาง มีนัยยะบ่งบอกเราว่า การปรุงแต่งร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่เว้นแม้แต่ซอกหลืบต่างๆ ล้วนเป็นความจำเป็นของชีวิต เท่านั้นยังไม่พอ บางทีในการโฆษณาสินค้ายังพ่วงนัยยะทางสังคมติดมาด้วย เช่น เสนอว่าคุณควรจะรักผู้หญิงหรือรักผู้ชายที่ใช้สินค้าตัวนี้เท่านั้น หรือคุณจะได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ ก็ต่อเมื่อคุณบริโภคสิ่งใดบ้าง อะไรทำนองนี้


ส่วนการโฆษณาความคิดนั้น มีหลายรูปแบบ หลายๆ ประเด็นเช่นเดียวกัน ที่สำคัญคือทั้งหมด ล้วนแตกหน่อมาจากแนวคิดของลัทธิ ‘เสรีนิยมใหม่’ ซึ่งเน้นเรื่องการ ‘ไม่มีอยู่’ ของประเทศชาติ กระตุ้นวิถีชีวิตแบบไร้ราก อวดอัตตา ยืนยันความเชื่อที่ว่าธรรมชาติของมนุษย์ล้วนเห็นแก่ตัว ดังนั้น จึงส่งเสริมการแยกตัวจากส่วนรวมของปัจเจกบุคคล ตลอดจนฝากคุณค่าของชีวิตไว้กับกลไกตลาด เป็นต้น


แน่นอน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบทุนนิยมโลกและกระแสวัฒนธรรมเสรีในยุคโลกาภิวัตน์ก็มีด้านที่ช่วยปลดปล่อยพันธนาการเก่าๆ อยู่ไม่น้อย หากเรายอมรับว่าการดำรงอยู่ของรัฐชาติและวัฒนธรรมแห่งชาติก็มีด้านที่กดขี่ครอบงำอยู่พอสมควร นอกจากนี้ เงื่อนไขทางวัตถุที่เพิ่มขึ้นทั้งในทางปริมาณและคุณภาพ ก็สามารถสนองความจำเป็นในด้านชีวิตความเป็นอยู่ได้มาก การค้าเสรี อาจจะช่วยทำลายการผูกขาดแบบเก่า อาจจะทำให้ของใช้บางอย่างราคาถูกลง ชีวิตบางด้านของประชาชนสะดวกสบายขึ้น อีกทั้งการก้าวพ้นกรอบคิดเรื่องชาติ บางทีก็อาจช่วยเปิดพื้นที่ให้เกิดจิตสำนึกพี่น้องกับเพื่อนมนุษย์ได้ง่ายขึ้น หรือในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจจะปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ในระดับปัจเจกบุคคลได้มากขึ้นโดยไม่ิติดอยู่กับกรอบขันธุ์เพดานใด แต่ก็อีกนั่นแหละ สภาพดังกล่าวถึงจะเป็นไปได้ แต่ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ และยิ่งไม่ใช่ด้านหลักของสถานการณ์ปัจจุบัน


ผลรวมของโลกาภิวัตน์ในประเทศไทย กลายเป็นว่าเกิดพื้นที่รกร้่างขึ้นมาอย่างใหญ่หลวง ในด้านวัฒนธรรมและจิตวิญญาณ ผู้คนจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนและคนชั้นกลาง ได้ถูกหล่อหลอมโดยระบบการค้าเสรี-ระบบข่าวสารเสรี ให้ิติดหล่มอยู่กับวิถีชีวิตแบบวัตถุนิยมบริโภคนิยม และปัจเจกชนนิยมแบบสุดขั้ว ซึ่งกลายเป็นบ่อทุกข์บ่อใหม่ที่ยังหาทางป่ายปีนขึ้นมาไม่ได้


ถึงตรงนี้ผมคงต้องชี้แจงสักเล็กน้อยว่า ผมเองไม่ได้มองข้ามการดำรงอยู่ทางกายภาพของโลกและชีวิต ไม่ได้มองข้ามความจำเป็นที่จะต้องใช้เงื่อนไขทางวัตถุมาแก้ปัญหาหลายอย่างของมนุษย์ และยิ่งไม่ได้มองข้ามการดำรงอยู่ในฐานะปัจเจกบุคคลหรือความสำคัญ ตลอดจนศักดิ์ศรีและสิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่สิ่งเหล่านี้เป็นคนละอย่างกับวัตถุนิยม บริโภคนิยม และปัจเจกชนนิยมแบบสุดโต่ง จนถึงขั้นอยู่คนละสำนักความคิดกัน


แนวคิดวัตถุนิยมนั้นมีขอบเขตปริมณฑลของความหมายกว้างใหญ่มาก คือเป็นได้ตั้งแต่อภิปรัชญา วิธีการทางวิทยาศาสตร์ มาจนถึงโลกทัศน์หรือทฤษฎีทางสังคมที่ยืนยันว่า ‘วัตถุกำหนดจิต’ ส่วนนั้นเราอาจจะต้องเคารพกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ แ่ต่ที่เป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้คือความเชื่อแบบหยาบๆ ว่าชีวิตมนุษย์เป็นเพียงการดำรงอยู่ทางกาย หรือการสนองความต้องการทางกายเป็นที่สุด ตรงนี้นับว่าอันตราย เพราะว่าเป็นแนวทางที่ถอยห่างจากความจริงไปไกล ส่วนบริโภคนิยมนั้น แท้จริงก็แตกหน่อมาจากวัตถุนิยมหยาบๆ นั่นเอง มันหมายถึงการวางคุณค่าชีวิตไว้ที่การถือครองหรือเสพใช้สินค้าและบริการอย่างไม่มีขอบเขต ทั้งนี้ โดยปราศจากการโยงใยอย่างสิ้นเชิงกับคุณค่าทางจิตใจและทางจิตวิญญาณ สุดท้าย ปัจเจกชนนิยมแบบไร้ความรับผิดชอบ หมายถึงการยึดถือความพอใจของตัวเองเป็นเอก ยึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลางในการตัดสินคุณค่าของสรรพสิ่ง เห็นผู้อื่นเป็นเพียงเครื่องมือหรือเป็นแค่ ‘กรรม’ ที่ถูกกระทำโดยตัวเอง ซึ่งเป็นประธาน


ผมคงไม่้ต้องเอ่ยก็ได้ว่าชุดความคิดเหล่านี้ เมื่อผนึกผนวกเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ได้สร้างความทุกข์ให้กับสังคมและตัวบุคคลที่หลงเข้าไปสังกัดมากน้อยแค่ไหน เพราะมันเป็นแนวทางชีวิตที่นำผู้คนไปสู่การดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวอ้างว้าง แปลกแยกทั้งจากตัวเองและผู้อื่น อีกทั้งขัดแย้งต่อความเป็นจริงของเอกภพ ทุกวันนี้ บุคลิกภาพของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยหลายชิ้นจะออกมาคล้ายๆ กัน คือเป็นคนที่ทำทุกอย่างเพื่อสร้างความพอใจส่วนตัว ความแตกต่างเรื่องการปรุงแต่งร่างกายทรงผม ตลอดจนการบริโภคสินค้ายี่ห้อต่างๆ ที่อยู่ในกระแสบริโภคนิยม ไม่นับญาติ ไม่นับมิตรกับใคร ไม่สนใจกิจการบ้านเมือง เฉยเมยต่อความยากลำบากของเพื่อนร่วมชาติ อยากได้ปริญญาแต่ไม่อยากเรียนหนังสือ อยากได้ลาภยศสรรเสริญ แต่ไม่อยากทำงาน หมกมุ่นเรื่องเพศ จิตใจอ่อนแอแปรปรวน วันดีคืนดี ถ้าผิดหวังในเรื่องความรักก็อาจจะฆ่าตัวตายง่ายๆ หรือฆ่าคนอื่น หรือฆ่าทีเดียวพร้อมกันทั้งสองคน


ทั้งหมดนี้อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องของเด็กๆ แต่ผู้ใหญ่จำนวนมากก็ไม่ได้ต่างกันนัก เพียงแต่ว่าการแสดงออกที่เป็นรูปธรรมอาจจะไม่เหมือนกัน ประเด็นหลักอยู่ที่่ว่าโลกาภิวัตน์ได้ทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นปัจเจกชนที่ล่องลอย ไร้ราก ไร้สังกัด ดูภายนอกเหมือนจะเปี่ยมล้นไปด้วยอิสรภาพและความสมบูรณ์พูนสุข แต่ลึกๆ แล้วเจ้าตัวก็รู้สึกได้ว่าข้างในเต็มไปด้วยความว่างเปล่า อ่อนแอ และอับจน ดังนั้นคงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สถิติการฆ่าตัวตาย ทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ในประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับจำนวนตัวเลขครอบครัวที่หย่าร้าง สถิติการล่วงละเมิดทางเพศ การตั้งครรภ์ในวัยที่ไม่สมควร ยังไม่ต้องเอ่ยถึงสถิติอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง และจำนวนผู้ใช้ยาเสพติด ทุกคนดูเหมือนจะมีปัญหาไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง อีกทั้งโทษผู้อื่นว่าก่อปัญหาให้ตน





ผมทราบดีว่าที่พูดมาทั้งหมดอาจจะเป็นด้านมืดสักหน่อย แต่โปรดเข้าใจว่านี่ไม่ใช่การหมิ่นประณาม หากเป็นความห่วงใย และเป็นความพยายามที่จะเข้าใจความทุกข์ซึ่งกำลังคลี่คลุมผู้คน ถามว่าใครเล่าจะเป็นผู้แก้ไขปัญหาความแปลกแยกดังกล่าว และจะแก้ไขด้วยวิธีใด ต่อเรื่องนี้คงต้องเรียนตรงๆ ว่า ทั้งรัฐและรัฐบาลคงแก้ไขไม่ได้ และระบอบการเมืองการปกครอง ไม่ว่าเผด็จการหรือประชาธิปไตยก็แก้ไขไม่ได้ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่าโครงสร้างเหล่านั้น ตลอดจนผู้คนทีเ่กี่ยวข้อง ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้แก้ไขปัญหาในระดับจิตใจและจิตวิญญาณ


อีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะทั้งรัฐ ทั้งระบอบ และรัฐบาลในยุคโลกาภิวัตน์เอง ก็ตกอยู่ในสภาพอ่อนแอสับสนไม่น้อยไปกว่าภาคสังคม ดังนั้น การมุ่งหวังให้สถาบันการเมืองการปกครองมาแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนเช่นนี้ เราคงไม่ต้องเอ่ยถึง


คงไม่ต้องพูดก็ได้ว่าการกลับไปสู่วัฒนธรรมแห่งชาติแบบที่ผ่านมาก็ ‘สายเกินไป’ เช่นกัน เพราะวัฒนธรรมที่รัฐคอยปกป้องสนับสนุน ไม่เพียงมีจุดเน้นอยู่ที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจ และมีลักษณะที่ครอบงำมาตั้งแต่แรก หากถึงวันนี้ยิ่งอ่อนแอ ขาดทั้งพลังสร้างสรรค์ของตัวเอง และขาดพื้นที่จะรองรับการสร้างสรรค์ที่เป็นอิสระ จริงอยู่ ปัญหาในยุคโลกาภิวัตน์นั้นมีมากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสงครามที่ไร้ขอบเขต ความยากจน ความรุนแรงทางสังคม ความพังพินาศของสิ่งแวดล้อม มลภาวะ หรือความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ อันเนื่องมาจากพฤติกรรมทำลายโลก แต่ถ้าเราสืบค้นไปจนถึงต้นตอของปัญหาร้ายแรงเหล่านี้ ก็จะพบว่ามันมีที่มาจากจิตใจที่ไม่สมดุลของมนุษย์เอง


ในความเห็นของผม คิดว่าในสถานการณ์เช่นนี้ การกอบกู้จิตวิญญาณหรือสร้างสันติสุขให้บังเกิดในดวงจิตของผู้คน อาจจะทำได้ แต่ทำโดยวิถีทางการเมืองล้วนๆ ไม่ได้ แม้ว่าการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปทางเศรษฐกิจให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นอาจจะยังเป็นความจำเป็นที่ต่อเนื่อง กระทั่งอาจจะมีส่วนเกื้อกูลวิถีชีวิตที่สมดุลก็ตาม ปัญหาระดับมูลฐานที่สุดของคนในยุคโลกาภิวัตน์ คือแม้จะดิ้นรนออกจากการครอบงำของโครงสร้างอำนาจวัฒนธรรมที่รวมศูนย์และกดทับได้ค่อนข้างเป็นผลสำเร็จ หรือหลุดจากพันธนาการมาได้ในระดับหนึ่ง แต่น่าเสียดายตรงที่มาติดกับอยู่ที่การครอบงำตัวเอง ดังนั้น อิสรภาพที่ได้มา จึงไม่ครบถ้วนสมบูรณ์




Create Date : 19 มีนาคม 2551
Last Update : 19 มีนาคม 2551 0:22:48 น. 0 comments
Counter : 402 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

LampOfGod
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add LampOfGod's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.