คุ้มสมุนไพร "ภูมิปัญญาไทย เพื่อสุขภาพและความงามคุณ" บริการ อยู่ไฟ หลังคลอด ถึงบ้าน และจำหน่ายชุด อยู่ไฟ ด้วยตนเอง
 
รับมือภาวะหลังคลอด

ช่วงหลังคลอดร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากมาย จะมีวิธีดูแลและปฏิบัติตัวอย่างไรดี ต้องติดตามครับ


ปกติแล้วช่วงหลังคลอดคุณแม่ก็ต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลอีกประมาณ 2-3 วัน เพราะภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าจะเกิดก็มักจะเป็นใน 2 วันแรกนี้แหละครับ ดังนั้นในช่วงนี้อยู่ใกล้ๆ หมอไว้เป็นดีที่สุด นอกจากนั้นตอนอยู่โรงพยาบาลก็จะมีคุณพยาบาลคนสวยมาคอยสอนแนะนำวิธีอุ้มลูก วิธีให้นมลูก วิธีอาบน้ำลูก ถ้าพลาดตอนนี้รับรองเสียดายแย่เลย


ระยะหลังคลอด...ในโรงพยาบาล


มาดูกันตั้งแต่คลอดลูกออกไปเรียบร้อยกันเลยดีกว่า... เมื่อลูกคลอดออกไปแล้ว มันก็เหมือนกับยกภูเขาออกจากอกเลยทีเดียวครับ ความเจ็บปวด ความทรมาน ความแน่นอึดอัด ความกลัว ความกังวลก็หายไปเป็นปลิดทิ้งเลยทีเดียว พอคลอดแล้วคุณหมอมักจะนำลูกน้อยตัวดี ซึ่งก่อนหน้านี้ยังดิ้นอยู่ในท้องอยู่เลย แต่ตอนนี้คุณแม่ก็จะได้โอบกอด ชื่นชมสมกับที่รอคอยมานาน สีหน้าแววตาของคุณแม่ในตอนนี้ดูมีความสุขปลาบปลื้มที่ใครเห็นก็อดยืนดีด้วยไม่ได้ เห็นหน้าเห็นตาแนะนำตัวกันเรียบร้อยแล้ว คุณพยาบาลก็จะลองให้ลูกได้ดูดนมแม่จากเต้าสักแป๊บนึง เพื่อเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ของความเป็นแม่ และยังช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหลได้เร็วขึ้นด้วย


ช่วงนี้เพื่อไม่ให้เสียเวลาคุณหมอก็จะตั้งหน้าตั้งตาเย็บซ่อมแซมแผลฝีเย็บที่คุณหมอตัดออกเพื่อทำคลอดให้กลับเข้าที่เรียบร้อยเหมือนเดิม เสร็จแล้วก็จะให้คุณแม่นอนพักเหนื่อยอยู่ในห้องคลอดอีกประมาณ 1-2 ชั่วโมง ช่วงนี้คุณพยาบาลก็จะมาตรวจวัดความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ ดูว่ามดลูกแข็งตัวดีมั้ย มีเลือดออกทางช่องคลอดมากเกินไปหรือเปล่า เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็จะย้ายคุณแม่กลับเข้าห้องพัก ช่วงนี้คุณพ่อหรือญาติๆ ทั้งหลายก็ยังไม่ควรไปเยี่ยม หรือรบกวนมากในช่วงนี้ ปล่อยให้คุณแม่ได้นอนพักสบายๆ อย่างน้อยสัก 4-6 ชั่วโมงจะดีกว่า


เมื่อตื่นแล้วคุณแม่อย่าเพิ่งรีบลุกขึ้นจากเตียงทันทีทันใด เพราะอาจมีอาการหน้ามืดเป็นลมได้ ให้ลืมตาดูรอบๆ ก่อน ถ้าไม่มีอาการเวียนหัวตาลาย ก็ลุกนั่งก่อนสักครู่จึงค่อยๆ ลุกขึ้นช้าๆ คุณแม่บางคนที่มีอาการอ่อนเพลียหรือเสียเลือดมาก มักจะมีอาการหน้ามืดเป็นลมได้ง่าย ทางที่ดีก็ควรหาใครสักคนอยู่เป็นเพื่อนด้วยจะได้ช่วยเหลือกันได้อย่างทันท่วงที


เมื่อคุณแม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว ก็ถึงบทที่ต้องฝึกหัดความเป็นแม่กันแล้ว ช่วงหลังคลอดในโรงพยาบาล คุณแม่ควรใช้เวลาให้คุ้มค่ามากที่สุด แทนที่จะเอาแต่นอนอย่างเดียวคุณแม่ควรได้ลองหัดเลี้ยงดูลูกบ่อยๆ เรียนรู้เทคนิคต่างๆ จากคุณพยาบาลที่จะคอยสอนให้หัดให้นมลูก อุ้มให้เรอ ดูแลทำความสะอาดก้น เปลี่ยนผ้าอ้อม อาบน้ำ หัดทำให้คล่อง แล้วคุณแม่ก็จะมีความมั่นใจ เมื่อต้องกลับไปดูแลลูกน้อยด้วยตัวเองที่บ้าน อย่าลืมให้คุณพ่อหัดช่วยดูแลลูกน้อยไปพร้อมๆ กันด้วย เวลากลับบ้านไปแล้วคุณพ่อจะได้มีส่วนร่วมในการดูแลลูกด้วย เป็นการสร้างความรักความผูกพันในครอบครัวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะบางครั้งคุณแม่ผูกขาดทำทุกอย่างเองเสียหมด เอาแต่ทุ่มเทเวลาให้กับลูกน้อย จนในบางครั้งคุณพ่ออาจจะรู้สึกเหมือนเป็นส่วนเกินในบ้าน เดี๋ยวเขาจะน้อยใจ


ความผิดปกติในช่วงหลังคลอดก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในบางราย ที่สำคัญจำง่ายตามสูตรผมก็คือ หนึ่ง...ต้องไม่มีไข้ สอง...ต้องเจ็บแผลน้อยลง สาม...ต้องปวดท้องน้อยลง สี่...เลือดต้องออกน้อยลง

ไข้ต้องไม่มี เพราะการที่มีไข้ก็แสดงว่าอาจมีบางสิ่งบางอย่างไม่ปกติ เช่น แผลอักเสบ มดลูกอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่บางทีนมคัดก็ทำให้มีไข้ได้เหมือนกัน


แผลต้องเจ็บน้อยลง แผลที่ดีต้องไม่บวม ไม่แดง ไม่เจ็บมากขึ้น ถ้าแผลบวม แผลแดง เจ็บมากขึ้น นั่นก็แปลว่าแผลกำลังอักเสบ อีกสองวันแผลก็แยกแล้วครับ


ท้องต้องปวดน้อยลง หลังคลอดมดลูกก็จะบีบตัวเล็กลงเรื่อยๆ ยิ่งบีบก็ยิ่งเล็ก แต่บีบทีก็จะปวดๆ เหมือนปวดประจำเดือน ยิ่งลูกกินนมแม่ก็จะยิ่งบีบ แต่โดยรวมแล้วความปวดก็ต้องน้อยลงทุกวัน


เลือดต้องออกน้อยลง เลือดที่ว่าก็คือน้ำคาวปลานั่นเองครับ สีต้องจางลง ปริมาณต้องน้อยลง ถ้าเลือดสดมากขึ้น ออกมากขึ้นอย่างนี้ก็แย่หน่อยครับ




ถ้าเป็นอะไรขึ้นมาไม่ว่าจะรกค้าง ตกเลือด แผลอักเสบ มดลูกอักเสบ อาการก็ไม่หนีสี่ข้อนี้แหละครับ


ก่อนกลับบ้านคุณหมอจะอธิบายการปฏิบัติเมื่อกลับบ้าน อาหารการกิน การบริหารร่างกาย ภาวะผิดปกติที่ต้องกลับมาพบแพทย์ และคุณหมอจะนัดตรวจหลังคลอดใน 4-6 สัปดาห์ข้างหน้า


ระยะหลังคลอด...ที่บ้าน


เมื่อกลับมาบ้านแล้ว คราวนี้คุณแม่จะต้องเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเองแล้วครับ คุณแม่บางคนอาจจะกลัวเลี้ยงลูกไม่เป็น แต่สัญชาตญาณของความเป็นแม่จะช่วยให้คุณแม่สามารถผ่านพ้นระยะนี้ไปได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร ยิ่งถ้าคุณแม่มีพี่เลี้ยงดีๆ เช่น คุณยายของลูกที่คอยช่วยสอนช่วยดูอยู่ก็จะยิ่งสบายไปกันใหญ่ บางทีคุณยายอาจแย่งเอาไปเลี้ยงเองหน้าตาเฉย คุณแม่ก็เลยสบายไป


อย่างไรก็ตามการเลี้ยงลูกก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่สอนกันไม่ค่อยได้ บางคนก็อาจจะทำได้ดี บางคนก็อาจจะทำไม่ได้เรื่อง เหมือนการลองผิดลองถูก แต่คุณแม่ทุกคนก็มักจะอยากให้ลูกได้รับแต่สิ่งที่ดีที่สุด ในปัจจุบันก็มีหนังสือคู่มือการเลี้ยงลูกวางจำหน่ายทั่วไป คุณแม่ลองเลือกเอาเล่มดีๆ สักเล่ม ไว้เป็นคู่มือประจำกายก็จะสามารถเลี้ยงลูกได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องลองผิดลองถูกต่อไปอีก หนังสือคู่มือเหล่านี้นอกจากจะช่วยให้คุณแม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างมั่นใจแล้ว ยังช่วยทำให้คุณแม่เข้าใจในพัฒนาการขั้นต่างๆ ของลูก ความผิดปกติของลูกที่อาจเกิดขึ้นได้ บางทีคุณแม่อาจจะรู้มากจนคุณหมอยอมแพ้ไปเลยก็ได้


การดูแลสุขภาพโดยทั่วไปของคุณแม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าครบถ้วน แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน แป้ง และของหวาน เพราะจะทำให้คุณแม่ยิ่งอ้วนขึ้นกว่าเก่าอาหารที่ดีในระยะหลังคลอดก็ควรเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง รวมทั้งผักสด ผลไม้ต่างๆ รวมทั้งควรดื่มน้ำสะอาดเยอะๆ ด้วยครับ


ของที่ควรหลีกเลี่ยงในระหว่างที่ลูกกินนมแม่ก็มีไม่กี่อย่างหรอกครับ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม ยาดองเหล้าทั้งหลาย รวมทั้งผักที่มีกลิ่นแรงๆ เช่น สะตอ ชะอม ผักชี ต้นหอม ขึ้นฉ่าย เพราะจะทำให้น้ำนมมีกลิ่นเหม็นเขียว แล้วลูกก็จะไม่ยอมกินนมแม่ไปซะเฉยๆ


คุณแม่ควรให้ลูกได้กินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน วันสองวันแรกหลังคลอดอาจจะยังไม่มีน้ำนมไหลออกมา คุณแม่ก็ไม่ต้องตกใจหรือกังวลว่าจะไม่มีน้ำนมให้ลูกกินนะครับ ต้องอาศัยเวลากันบ้าง เทคนิคสำคัญคือ พยายามให้ลูกได้ดูดนมจากอกแม่บ่อยๆ อย่างน้อยวันละ 6 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง สลับกันทั้งสองข้าง ถ้าลูกดูดแล้วหลับไปก็ต้องคอยกระตุ้นให้ดูดต่อเนื่องนานพอ ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้อง นมก็จะเริ่มคัดและมีน้ำนมไหลภายใน 1-2 วันต่อมา แต่บางคนก็อาจจะมาช้ากว่านี้ก็ได้ น้ำนมที่ออกมาในช่วงแรกๆ จะมีลักษณะเป็นสีเหลืองใสๆ คล้ายน้ำเหลือง อันนี้เป็นน้ำนมที่มีความสำคัญมาก เรียกว่า “Colostrum” หรือนมน้ำเหลือง ที่จะมี “ภูมิต้านทาน” ของแม่ถ่ายทอดไปให้ลูกด้วย น้ำนมนี้จะช่วยให้ลูกมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ดีอีกด้วย นมน้ำเหลืองนี้จะมีอยู่ในช่วง 5 วันแรก แล้วก็จะขุ่นขาวขึ้นจนกลายเป็นน้ำนมปกติ


ช่วงที่กำลังนมคัด คุณแม่ก็ต้องจำเอาไว้เสมอว่า “นมคัด-นมหนัก-ยืดยาว” นั่นก็แปลว่า ช่วงที่นมกำลังคัดเป่ง คุณแม่ก็ควรใส่ยกทรงที่อุ้มกระชับรับน้ำหนักได้ดีเอาไว้เสมอ หากไม่ใส่อะไรเดินโทงเทงทั้งวัน อีกไม่กี่เดือนมันก็จะย้วยยาวจนวางบนตักได้เลยล่ะครับ ที่สำคัญการดูแลป้องกันดีกว่ามาแก้ หากยานไปแล้วก็ไม่มียากินให้หดกลับเข้าที่ ไปผ่าตัดก็เจ็บตัว เสียสตางค์ แถมดูยังไงมันก็ไม่เป็นธรรมชาติ ใส่ยกทรงแบบเปิดฝาหน้าได้ ลงทุนไม่เท่าไร รับรองคุ้มค่า ยมการันตีได้เลยครับ


ยา...หลังคลอด


โดยปกติในระยะหลังคลอดคุณหมอจะให้รับประทานยาแก้อักเสบยาแก้ปวด และยาบำรุงเท่านั้น คุณแม่ก็ควรรับประทานอย่างต่อเนื่อง เคร่งครัดจนหมด ส่วนยาวิตามิน ยาธาตุเหล็ก ก็ควรรับประทานต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน เพื่อช่วยเสริมสร้างทดแทนเลือดที่เสียไปในระหว่างการคลอดและช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรง นอกจากนั้นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็จะเสียแคลเซียมออกทางน้ำนมไปด้วย ทำให้คุณแม่อาจมีอาการเป็นตะคริว ฟันผุ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ง่ายในช่วงหลังคลอด ดังนั้นการรับประทานยาเสริมแคลเซียมก็จะช่วยทำให้คุณแม่ไม่ขาดแร่ธาตุนี้ และยังเป็นประโยชน์ต่อลูกน้อยอีกด้วย


คุณแม่บางคนมีอาการท้องผูกในช่วงหลังคลอด ซึ่งอาจเกิดจากเจ็บแผลฝีเย็บ เลยไม่กล้าเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ หรือจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอก็ได้ ดังนั้นในระยะหลังคลอดคุณแม่ก็ควรดื่มน้ำให้มาก รับประทานผักสด ผลไม้ อาหารมีกากให้เพียงพอ ที่สำคัญห้ามซื้อยาถ่าย ยาระบายมารับประทานเอง เพราะยาบางประเภทอาจหลังออกมาทางน้ำนม ทำให้ลูกที่กินนมแม่มีอาการท้องเสียได้


ในระยะหลังคลอดที่ลูกกินนมแม่อยู่ คุณแม่ควรระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้ยาด้วย พึงระลึกไว้เสมอว่า แม่กินยาอะไรลูกก็กินยานั้นด้วย


การตรวจหลังคลอด


หนึ่งเดือนผ่านไปแล้ว ในแต่ละวันที่คุณแม่สาละวนดูแลเจ้าตัวน้อย ร่างกายของคุณแม่ก็มีการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพปกติในเวลาเดียวกัน โดยมากแล้วคุณหมอจะนัดคุณแม่มาตรวจอีกครั้ง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อตรวจดูว่าอวัยวะภายในต่างๆ ว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติเข้าที่เข้าทางดีแล้วหรือยัง


การตรวจหลังคลอดคุณหมอก็จะดูว่าแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าตัด มีปัญหาอะไรหรือเปล่า ดูน้ำคาวปลา ตกขาว ดูว่าปากมดลูกปิดแล้วหรือยัง รวมทั้งตรวจหามะเร็งปากมดลูกด้วยเลยในคราวเดียวกัน แล้วก็จะดูว่ามดลูกหดเล็กลงเข้าที่ดีแล้วหรือยัง มีเจ็บมีอักเสบตรงไหนผิดปกติหรือเปล่า


สุดท้ายก็ต้องเตรียมตัวกลับไปเป็นภรรยาที่ดี เพราะอีก 2 สัปดาห์หน้าก็จะเริ่มมีอะไรกันได้ ก็เลยต้องมาวางแผนการคุมกำเนิดกันก่อน ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวลูกยังไม่ทันจะสามเดือนก็ท้องอีกแล้ว จะคุมวิธีไหนก็คงต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป ก็อย่าลืมคุมซะให้เรียบร้อยนะครับ ไม่ได้มีอะไรกันมานาน เชื้อมันอัดอั้น เปิดปุ๊บ...ติดปั๊บมีเยอะแยะไป เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน


เห็นไหมครับว่า ถึงจะมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ถ้ารู้และเข้าใจคุณแม่ก็สามารถรับมือภาวะหลังคลอดได้สบายมาก

ที่มา..นิตยสารดวงใจพ่อแม่


Create Date : 20 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2550 15:06:09 น. 0 comments
Counter : 864 Pageviews.
 
 

Healthy Service
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คุ้มสมุนไพรบริการอยู่ไฟ คุณแม่หลังคลอด
จำหน่าย ชุดอยู่ไฟ และสมุนไพร
สายด่วน 08-5426-7578 (24 ชม. ทุกวัน)http://www.KUMsamunpai.com/


จำนวนผู้เข้าเว็บ Best Free Hit Counters
Maternity Wear
Maternity Wear 234x60 70% off on over 3,000 designer fragrances SkinStore Special Offers Free Shipping
[Add Healthy Service's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com