คุ้มสมุนไพร "ภูมิปัญญาไทย เพื่อสุขภาพและความงามคุณ" บริการ อยู่ไฟ หลังคลอด ถึงบ้าน และจำหน่ายชุด อยู่ไฟ ด้วยตนเอง
 
รู้จักลูกน้อยวัยอุแว้



ระยะแรกของทารกแรกเกิด ยังเป็นระยะที่มีอัตราการเกิดโรค และอัตราการเสียชีวิตสูง เพราะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การต่อสู้กับเชื้อโรคยังไม่ดี ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย การดูแลและป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ จึงมีความสำคัญที่จะทำให้ทารกสุขภาพดี ก่อนอื่น เรามารู้จักกับคำว่า “ทารก” กันก่อนค่ะ
ทารกแรกเกิด หมายถึง ทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 28 วัน เป็นระยะที่มีอัตราตายสูงสุดเมื่อเทียบกับระยะอื่นๆ ของชีวิต แบ่งรายละเอียดดังนี้

ทารกครบกำหนด หมายถึง ทารกที่เกิดภายหลังจากมารดาตั้งครรภ์ตั้งแต่ 37-42 สัปดาห์ เป็นระยะที่ทารกมีความสมบูรณ์สูงสุดน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3,200 กรัม

ทารกเกิดก่อนกำหนด หมายถึง ทารกที่เกิดจากภายหลังมารดาตั้งครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ ทารกพวกนี้มักมีน้ำหนักน้อย อัตราตายสูงกว่าทารกครบกำหนด

ทารกแรกเกิดกำหนด หมายถึง ทารกที่มีอายุในครรภ์เกิน 42 สัปดาห์

ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย หมายถึง ทารกที่มีน้ำหนักเมื่อแรกคลอดต่ำกว่า 2,500 กรัม (2.5 กิโลกรัม) อาจเป็นทารกที่ครบกำหนดหรือก่อนกำหนดก็ได้ ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์
อัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดเกี่ยวข้องกับน้ำหนักแรกเกิดโดยตรง กล่าวคือ น้ำหนักยิ่งน้อย อัตราเสียชีวิตยิ่งสูง ตัวอย่างเช่นทารกมีน้ำหนักปกติ มีอัตราการเสียชีวิตไม่ถึงร้อยละหนึ่ง น้ำหนักแรกเกิดระหว่าง 1.5-2 กิโลกรัม มีอัตราการเสียชีวิตร้อยละ 15 และถ้าน้ำหนักระหว่าง 1-1.5 กิโลกรัม อัตราการเสียชีวิตจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 50 เป็นต้น

ทารกแรกเกิดเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว จึงต้องการความรัก ความอบอุ่นและความเอาใจใส่เช่นเดียวกับทุกคน การเจริญเติบโตจะเป็นไปตามธรรมชาติ ผู้เลี้ยงดูจึงเป็นผู้ช่วยให้ความช่วยเหลือ และป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น


ลักษณะทั่วไปของทารกแรกเกิด
น้ำหนัก โดยปกติจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3,200 กรัม (สำหรับประเทศไทย) ตัวยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ลักษณะศรีษะค่อนข้างโตเมื่อเทียบกับลำตัว สามารถที่จะเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ทุกส่วน ถ้าจับให้นอนคว่ำ ก็สามารถที่จะหันศรีษะไปด้านใดด้านหนึ่งได้ โดยไม่ทำให้หายใจลำบาก ถ้ามีเสียงดังหรือได้รับความกระเทือน ทารกจะรู้สึกสะดุ้งตกใจพร้อมๆ กันก็จะกางแขนออก ต่อจากนั้นจึงงอข้อศอกให้ข้อมือเข้าหากันแล้วจึงร้องมีเสียงดัง ปฏิกิริยาเช่นนี้ถือว่าเป็นปกติธรรมชาติ ในทางตรงกันข้าม ถ้าทารกนอนเฉยหรือซึม แสดงว่าอาจมีความผิดปกติของสมอง

ศรีษะ โดยปกติมักดูใหญ่เส้นรอบศรีษะ 35 เซนติเมตร มีผมปกคลุมเด็กในวันแรกๆ อาจมีลักษณะค่อนข้างยาว ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากการคลอดตรงกลางศรีษะด้านหน้า เหนือหน้าผากขึ้นไปจะมีลักษณะเป็นช่องนุ่มๆ สี่เหลี่ยมเรียกว่า “ขม่อม” จึงต้องคอยระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นบริเวณนี้เนื่องจากมีมันสมองอยู่ภายในและไม่มีกระดูกแข็งหุ้ม ขม่อมนี้จะปิดเมื่อทารกอายุประมาณ 1 ปี

อุจจาระ ทารกปกติจะถ่ายอุจจาระภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด อุจจาระนี้มีสีเทาปนดำ เรียกว่า “ขี้เทา” (meconium) ไม่มีกลิ่น ต่อมาเมื่อทารกได้รับประทานน้ำนมแล้วขี้เทาจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเทาเข้ม เขียว เขียวเหลือง และเหลืองในที่สุด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน โดยปกติจะถ่ายอุจจาระเกือบทุกครั้งที่รับประทานนม จึงอาจถ่ายวันละ 3-6 ครั้งก็ได้

สะดือ ในวันแรกๆ สายสะดือจะมีสีเขียว ต่อมาก็ค่อยๆ แห้งลง เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและดำในที่สุด และจะหลุดไปราววันที่ 7-10 หลังคลอด แต่อาจจะหลุดก่อนหรือหลังกว่านี้ก็ได้ ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ความสะอาดเป็นความสำคัญ เพราะสะดือเด็กจะเป็นสถานที่ที่เชื้อโรคจะเข้าไปได้ง่าย คนส่วนมากมักจะกลัวว่าทารกจะเจ็บ ไม่กล้าทำความสะอาดอย่างจริงจังโดยความจริงแล้วทารกไม่รู้สึกเจ็บ เพราะเส้นประสาทบริเวณนั้นถูกตัดสายสะดือ จึงค่อยๆ แห้ง และหลุดตายไป จึงต้องรักษาความสะอาดและให้แห้งอยู่เสมอ โดยใช้แอลกอฮอล์ 70% เช็ดให้ทั่วทุกครั้งที่อาบน้ำหรือสกปรกจากอย่างอื่น วันละ 2-3 ครั้งจนกว่าจะหลุด

การหายใจ เด็กทารกปกติหายใจโดยใช้ท้องเป็นหลัก คือการเคลื่อนไหวของท้องมากกว่าทรวงอก หายใจประมาณนาทีละ 30-40 ครั้ง ซึ่งมากกว่าเด็กโตๆ ประมาณเท่าตัว ถ้าไม่มีอาการไอหอบหรือตัวเขียวถือว่าปกติ

เต้านม ทารกปกติไม่ว่าชายหรือหญิง ถ้าครบกำหนดมักจะมีเต้านมที่สามารถคลำได้ในบางคนอาจมีน้ำนม 2-3 หยดไหลออกมาก็ได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ไม่ควรไปบีบเล่น เพราะอาจมีอันตรายและเกิดการอักเสบขึ้นได้ ถ้าทิ้งไว้เฉยๆ ก็จะเล็กลงเป็นปกติได้เอง

การมีโลหิตไหลออกทางช่องคลอด อาจพบได้ในทารกหญิงที่ครบกำหนดเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลังคลอดของฮอร์โมนเมื่ออายุ 3-4 วัน อาจมีโลหิตออกได้เล็กน้อยจะเป็นอยู่ครั้งเดียวและเป็นปกติไม่มีอันตรายหรือต้องรักษาอย่างใด

ตา โดยปกติไม่ต้องการยาหรือการรักษาพิเศษ อาจปล่อยไว้เฉยๆ หรือเพียงใช้สำลีชุบน้ำสุกเช็ดภายนอก ไม่ควรล้างตาถ้าไม่จำเป็น ธรรมชาติสร้างน้ำตาไว้ล้างเรียบร้อยแล้วมนุษย์ทุกคนไม่ว่าอายุเท่าใดจึงไม่จำเป็นต้องล้างตา ยกเว้นในการรักษาโรคตาบางชนิด

หู ไม่ต้องการการรักษาพิเศษอย่างใด อาจใช้สำลีพันปลายไม้เช็ดผง หรือขี้หูออกได้เฉพาะส่วนที่มองเห็น ที่อยู่ภายในไม่จำเป็นต้องล้างแต่อย่างใด

จมูก อาจใช้สำลีเช็ดได้เช่นเดียวกัน

ปาก ปากทารกในระยะแรกนี้ ไม่ต้องการการทำความสะอาด การใช้ยาสีม่วง (gentian violet) ทาจึงไม่มีความจำเป็นในทารกปกติ

อวัยวะเพศ ไม่ว่าชายหรือหญิง หลังจากาบน้ำ แล้วเพียงแต่เช็ดให้แห้ง ระวังไม่ให้สกปรกโดยเฉพาะภายหลังจากถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ใช้สำลีชุบน้ำสุกเช็ดออกก็เป็นการเพียงพอ การขริบอวัยวะเพศในเด็กชาย ตามปกติไม่มีความจำเป็น นอกจากเป็นธรรมเนียมในบางเชื้อชาติและบางศาสนา ทารกปกติทั่วไปมักจะร้องเวลาปวดปัสสาวะ เมื่อถ่ายออกมาแล้วจะเงียบ ถือเป็นภาวะปกติ ความเชื่อที่ว่าเมื่อขริบแล้วจะทำให้พบโรคมะเร็งน้อยลง ก็ยังไม่มีผู้พิสูจน์ชัดเจน คำอ้างที่ว่าทำความสะอาดง่ายขึ้นก็ดูจะไม่ตรงนัก เพราะทารกและเด็กก็ไม่ได้มีความสกปรกที่จะต้องทำความสะอาดเป็นพิเศษแต่อย่างใด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญส่วนมาก แม้ในประเทศที่ชนเผ่านิยมขริบปลายอวัยวะเพศ ก็ยังแนะนำว่าไม่มีความจำเป็นต้องทำ

เล็บ ควรตัดให้สั้นทุก 3-4 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้ขีดข่วนลำตัวหรือหน้า อาจป้องกันด้วยการใส่ถุงคลุมมือทั้ง 2 ข้างก็ได้

ภาวะปกติทารกแรกเกิด

ภาวะปกติที่พบได้ในทารกแรกเกิดได้แก่สิ่ง ต่อไปนี้
การสะดุ้งหรือผวา (Moro reflex)
การสะดุ้งหรือการผวาเวลามีเสียงดัง หรือเวลาสัมผัสทารกเป็นสิ่งที่ทารกทุกคนต้องมี เพราะแสดงถึงระบบประสาทที่ปกติทารกตอบสนองโดยการยกแขนออกแล้วโอบแขนเข้าหากัน พบทั้งในภาวะตื่นหรือหลับสนิท พบได้จนถึงอายุ 6 เดือน

การกระตุก (TwitchingX)
ขณะทารกหลับจะมีกระตุเล็กน้อยที่แขนหรือขา เวลาตื่นไม่มีอาการกระตุก ผู้ใหญ่บางครั้งก็มีการกระตุกก่อนรู้สึกตัวตื่นบางครั้งพ่อแม่คิดว่า ลูกชัก หากบุคลากรทางการแพทย์ไม่มีความรู้เรื่องนี้ทารกมักถูกรับไว้ในโรงพยาบาล

การบิดตัว
ทารกครบกำหนด มีการเคลื่อนไหว เวลาตื่นนอนคล้ายผู้ใหญ่บิดขี้เกียจทารกยกแขนเหนือศรีษะ งอ ข้อสะโพก และข้อเข่าและบิดลำตัว ลักษณะเคลื่อนไหวแบบนี้ พบในทารกที่ปกติ และอาจพบมากในทางบางคน อาจบิดตัวจนหน้าแดง

การสะอึก
การสะอึก อาจพบภายหลังดูดนม เนื่องจากการทำงาน ของกะบังลมยังไม่ปกติ แยกการที่ทารกกลืนลมทำให้จุก โดยจับทารกนั่งหรืออุ้มพาดบ่าสัก 5-10 นาที ภายหลังทารกดูดนมจนอิ่ม แล้วยังมีอาการสะอึกอีก ถือว่าเกิดจากกะบังลมทำงานไม่ปกติซึ่งไม่ต้องการรักษาใดๆ

การแหวะนม
หูรูดกระเพาะอาหารของทารกแรกเกิด ยังทำงานได้ไม่ดี ทำให้รูดปิดไม่สนิท มีผลให้ทารกแหวะนมเล็กๆ น้อยๆ หลังมื้อนม และอาจออกมาทางจมูกและปากน้ำนมที่ออกมา อาจมีลักษณะเป็นลิ่มคล้ายเต้าหู้ เนื่องจากถูกกับน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร

ซึ่งเป็นขั้นตอนของการย่อยอาหาร พ่อแม่เข้าใจผิดว่าน้ำนมไม่ย่อย และนมที่ให้ลูกไม่ดี

การแก้ไขการแหวะนม คือ การไล่ลม ร่วมกับการจัดให้ทารกนอนศรีษะสูง และตะแคงขวาหลังดูดนมประมาณครึ่งชั่วโมง ท่านอนดังกล่าวหูรูดของกระเพาะอาหารจะอยู่สูงทำให้น้ำนมไหลย้อนไม่ได้

ผู้ดูแลบางคนปล่อยให้ทารกนอนราบ ขณะดูดนมแล้วใช้ผ้าหนุนขวดนม การปฏิบัติเช่นนั้นทำให้ทารกจะกลืนน้ำนม และลมเข้าไปทารกจะเรอ และแหวะน้ำนมออกมาด้วย หากการแหวะนมเกิดขณะที่ทารกนอนราบ ทารกอาจสูดสำลักนมเข้าปอดได้

การป้อนนมที่ถูกต้องจะต้องอุ้มทารกให้อยู่ในท่าครึ่งนั่งครึ่งนอนเสมอ และถือขวดนมให้น้ำนมท่วมจุก นมตลอดเวลา

ภายหลังดูดนมหมดแล้วต้องจับทารกนั่ง หรืออุ้มพาดบ่าเพื่อไล่ลม

ทารกไม่ดูดน้ำ
น้ำนมมารดามีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ถึง 88%

นมผงก่อนที่จะป้อนทารกก็ต้องผสมน้ำในอัตราส่วนที่พอเหมาะเพื่อให้มีส่วนประกอบใกล้เคียงกับนมมารดา ทารกจึงได้น้ำอย่างเพียงพอจากน้ำนม และไม่จำเป็นต้องดูดน้ำเปล่าเพิ่มเติม เพื่อแก้หิวน้ำ โดยเฉพาะทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ การดูดน้ำ หรือการป้อนน้ำเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่ว่าทารกควรได้รับนมแม้อย่างเดียว (exclusive breastfeeding) 4-6 เดือน หากพ่อแม่ไม่เข้าใจจุดนี้ จะวิตกกังวลที่ทารกไม่ดูดน้ำ เวลาให้น้ำเปล่า และแก้ไขโดยผสมกลูโคส หรือน้ำผึ้ง เพื่อให้ทารกดูดน้ำ อันตรายของการผสมกลูโคส หรือน้ำผึ้ง คืออาจทำให้ทารกดูดนมน้อยลง เป็นเหตุให้น้ำหนักตัวขึ้นช้ากว่าปกติและเกิดท้องร่วง เพราะน้ำที่เจือกลูโคสหรือน้ำผึ้งอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อน

การถ่ายอุจจาระบ่อย
ทารกแรกเกิด ที่เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวอาจถ่ายอุจจาระกะปริดกะปรอย ขณะดูดนมแม่บิดตัว หรือผายลม จะมีอุจจาระเล็ดออกมาด้วยทำให้เข้าใจผิดว่า ทารกท้องเดิน เพราะอาจนับการถ่ายอุจจาระได้ถึง 10-20 ครั้งต่อวัน อุจจาระมีสีเหลืองเข้มคล้ายสีทองคำใหม่ๆ และมีกลิ่นเปรี้ยว

สาเหตุ เกิดจากนมแม่มีนมเหลือง (colostrum) เจือปน ซึ่งช่วยระบายท้อง

นมน้ำเหลือง จะหมดไปเหลือแต่น้ำนมแม่แท้เมื่อเข้าสู่ปลายสัปดาห์ที่ 4 หลังคลอด

ร้องเวลาถ่ายปัสสาวะ
เมื่ออายุใกล้หนึ่งเดือน ทารกบางรายเริ่มรับความรู้สึกปวดปัสสาวะ ทำให้ทารกร้อง เหมือนมีการเจ็บปวดก่อนถ่ายปัสสาวะ ภาวะนี้เป็นเฉพาะเวลาที่ทากถ่ายปัสสาวะขณะตื่น หากถ่ายปัสสาวะขณะนอนหลับทารกจะไม่ร้อง ทารกจะไม่มีอาการถ่ายปัสสาวะเป็นหยดๆ หรือเบ่งอาการนี้จะหายเองภายใน 1 เดือน

ตัวเหลือง
ทารกที่ได้รับนมแม่มีโอกาสเกิดตัวเหลืองได้ 2 ลักษณะ

1. breastfeeding Jaundice พบใน 2-4 วันหลังคลอด เกิดจากการได้รับนมแม่ไม่พอเพราะจำกัดจำนวนครั้งของการดูด ร่วมกับการให้ดูดน้ำเปล่า หรือน้ำกลูโคสการป้องกันภาวะนี้คือให้ทารกอยู่กับมารดาตลอดเวลา ให้ดูดนมแม่บ่อย (มากกว่า 8 มื้อ/วัน) งดน้ำเปล่าหรือน้ำกลูโคส

2. Breastmilk jaundice ซึ่งเริ่มปรากฏปลายสัปดาห์แรก และในสัปดาห์ที่ 2-3 หลังคลอด เมื่อให้นมแม่ต่อไปจะค่อยๆ เหลืองลดลง จนปกติ เมื่ออายุ 3-12 สัปดาห์กลไกการเกิด breastmilk jaundice ยังไม่ทราบแน่นอน อย่างไรก็ตาม ทารกตัวเหลืองทุกราย ควรปรึกษากุมารแพทย์และนำมาติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด

ผิวหนังลอก
ขบวนการสร้าง Keratin ของผิวหนังแสดงถึงภาวะการเจริญเต็มที่ของผิวหนังโดยทารกในครรภ์ ต้องมีภาวะโภชนาการปกติผิวหนังจะมีการลอก ภายหลังอายุ 24-28 ชั่วโมง มักพบที่มือ และเท้า ผิวหนังที่ลอกจะหายไปในเวลา 2-3 วัน โดยไม่ต้องให้การรักษาใดๆ ในทารกเกิดก่อนกำหนดผิวหนังจะลอกช้ากว่า โดยจะปรากฏเมื่อ 2-3 สัปดาห์หลังคลอด และอาจลอกมาก

ปานแดงชนิดเรียบ
ปานแดงที่เปลือกตาบน หน้าผากและท้ายทอย พบได้ประมาณร้อยละ 50 ของทารกแรกเกิด ปานชนิดนี้จะมีขอบเขตไม่ชัดเจน และจะแดงขึ้น เวลาทารกร้องปานแดงที่เปลือกตา มักหายไปเมื่อทารกมีอายุหนึ่งปี ปานแดงที่หน้าผาก มักพบร่วมกับปานแดงที่ท้ายทอย มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมโดยมีฐานอยู่ที่ชายผม และมุมชี้ไปทางจมูก stork mark ปรากฏนานกว่าหนึ่งปี และอาจคงอยู่ให้เห็นในเด็กโต หรือผู้ใหญ่เป็นครั้งคราวเวลาโกรธ

ภาวะเขียวคล้ำที่ใบหน้า
เป็นภาวะเขียวคล้ำที่ใบหน้าเกิดจากการมีเลือดคั่ง และมีจุดห้อเลือด (petechiae) จำนวนมาก เกิดจากการถูกบีบรัด โดยการคลอดตามธรรมชาติ หรือจากสายสะดือพันคอจุดห้อเลือดมักหายอย่างรวดเร็วใน 2-3 วัน

ผิวหนังลายเหมือนร่างแห (Cutis marmorata)
ผิวหนังมีลวดลายเหมือนร่างแห หรือเหมือนลายหินอ่อน เกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดฝอย พบในทารกแรกเกิดที่ปกติแล้วยังพบในทารกที่อยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมเย็นหรือร้อนไป

ภาวะเขียวที่มือและเท้า
ภาวะเขียวที่มือและที่เท้าพบได้บ่อยในทารก 24-48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด เกิดจากการไหลเวียนเลือดที่มือ และเท้าช้าลง หรืออยู่ในที่เย็นและอาจมีภาวะอุณหภูมิกายต่ำ

เลือดออกที่ตาขาว
เลือดออกที่ตาขาว หรือรอบแก้วตาเป็นภาวะที่พบได้บ่อย และหายเองภายใน 2-3 สัปดาห์

ตุ่มขาว
ภาวะนี้ มักลักษณะเป็นตุ่มนูนจากพื้นผิวมีสีนวลหรือสีขาวขนาด 1 มม.พบที่แก้ม ดั้งจมูก หน้าผาก เพดานแข็ง เหงือก หัวนม และปลายอวัยวะเพศของทารกเพศชาย ภาวะนี้พบร้อยละ 40 ของทารกครบกำหนด มักแตกและหายไปเมื่ออายุ 2-3 สัปดาห์ หรืออยู่ได้นานถึง 2 เดือน

ตุ่มขาวในปาก
ที่กลางเพดานปากของทารกแรกเกิด อาจมีเม็ดสีขาวขนาดเท่าหัวเข็มหมุด (เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 มม.) เรียกว่า epithelial pearl หรือ Epstein pear/I ซึ่งเป็นของปกติในทารกแรกเกิด อาจมีจำนวนมากน้อยต่างกัน ตุ่มเล็กๆ นี้ไม่ทำให้ทารกไม่ดูดนม และจะหลุดไปเองอาจพบตุ่มขาว ลักษณะนี้ที่เหงือก ที่หัวนมและปลายอวัยวะเพศชาย คนสูงอายุเรียก “หละ” และเชื่อว่าทำให้ทารกไม่ดูด

ลิ้นขาว
ลิ้นขาว พบได้ในทารกแรกเกิด โดยปรากฏสีขาวกระจายเท่าๆ กัน บริเวณกลางลิ้น จึงไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ การวินิจฉัยแยกโรคจากเชื้อรา ซึ่งพบมีแผ่นสีขาวเป็นหย่อมๆ ที่ลิ้น และพบร่วมกับที่เพดานปาก กระพุ้งแก้ม หรือที่ริมฝีปากด้วย

ริมฝีปากแห้งและลอกเป็นแผ่น
ขอบริมฝีปากของทารก อาจมีเม็ดพอง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 5-8 มม. อาจพบตลอดริมฝีปากบน หรือล่าง หรือพบเฉพาะที่กลางริมฝีปากบนเม็ดนี้จะแห้งและลอกหลุดเป็นแผ่นแล้วขึ้นมาใหม่ เม็ดพองชนิดนี้มีชื่อว่า sucking blister

ผื่นแดง (Erythema toxicum)
ผื่นแดงที่ตรงกลาง มีตุ่มนูนขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ซึ่งมีสีนวล หรือซีดบางครั้งอาจเป็นตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองอาจอยู่รวมกันเป็นกลุ่มกระจาย พบได้ตามผิวหนังทั่วไป ภาวะนี้พบร้อยละ 50-70 ของทารก ครบกำหนด อาจพบหลังคลอดทันที พบบ่อยที่สุดอายุ 24-48 ชั่วโมง และ อาจพบได้จนกว่าทารกมีอายุ 1-2 สัปดาห์ ในทารกบางรายอาจพบได้จนถึงอายุ 3 สัปดาห์

ปานดำ (Mongolian spot)
เป็นสีของผิวหนัง ที่มีสีเขียวเทาหรือสีน้ำเงินดำมีขอบเขตไม่ชัดเจน เกิดจากการมีเซลล์เมลานินแทรกซึมอยู่ในชั้นผิวหนังมาก พบที่บริเวณก้นกบ ก้นและหลังส่วนเอว อาจพบได้ที่หลัง ส่วนบนหัวไหล่ แขนและขา ภาวะนี้พบร้อยละ 90 ของทารกแรกเกิด โดยพบตั้งแต่ทารกคลอดออกมา และมักหายไปก่อนพ้นวัยทารก

นมเป็นเต้า
นมมีลักษณะเป็นเต้า พบได้ทั้งเพศหญิง และเพศชาย บางครั้งอาจมีน้ำนมภาวะนี้จะปรากฏจนอยู่หลายสัปดาห์ในทารกเพศหญิงอาจปรากฏจนถึงขวบปีแรก ภาวะนี้เป็นลักษณะเฉพาะของทารกครบกำหนด อาจเป็นผลของฮอร์โมนที่ผ่านรกมาสู่ทารก กลไกของการเกิดยังไม่ทราบ คนสูงอายุมีความเชื่อว่า ต้องบีบให้นมแห้ง และเต้านมยุบจึงต้องแนะนำให้หลีกเลี่ยงการบีบเค้นเพราะอาจทำให้เต้านมอักเสบ

ถุงอัณฑะยาน
ถุงอัณฑะอาจยานจนเกือบสัมผัสที่นอน คนสูงอายุมีความเชื่อว่าเป็นสิ่งผิดปกติ และให้การรักษา โดยการประคบถุงอัณฑะด้วยใบพลูลนไฟ ถุงอัณฑะยานมาก หรือน้อย ใช้เป็นลักษณะหนึ่งในการประเมินอายุครรภ์ของทารก ถุงอัณฑะยานพบในทารกที่อายุครรภ์ครบกำหนดหรือเกินกำหนดได้

ของเหลวไหลออกทางช่องคลอด
ทารกมีเมือกสีขาวข้น ออกมาทางช่องคลอด บางครั้งอาจมีเลือดที่มาจากหลุดของเยื่อบุมดลูกปน ออกมามากที่สุด ในระหว่างวันที่ 3-5 หลังคลอด และหายไปภายใน 2 สัปดาห์กลไกที่ทำให้เกิด ยังไม่ทราบ

ที่มา.. นิตยสารบันทึกคุณแม่



Create Date : 31 ตุลาคม 2550
Last Update : 31 ตุลาคม 2550 15:58:12 น. 0 comments
Counter : 730 Pageviews.
 
 

Healthy Service
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คุ้มสมุนไพรบริการอยู่ไฟ คุณแม่หลังคลอด
จำหน่าย ชุดอยู่ไฟ และสมุนไพร
สายด่วน 08-5426-7578 (24 ชม. ทุกวัน)http://www.KUMsamunpai.com/


จำนวนผู้เข้าเว็บ Best Free Hit Counters
Maternity Wear
Maternity Wear 234x60 70% off on over 3,000 designer fragrances SkinStore Special Offers Free Shipping
[Add Healthy Service's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com