<<< a_somjai a_somjai's blog === อ่านเขียนบล็อก อ่านเขียนโลก <<<== a_somjai อ่านเขียนบล็อก a_somjai a_somjai's blog
Group Blog
 
All Blogs
 

เครดิตแด่ผู้ผลิตวรรณกรรมของคนบ้า (จบ)

เรื่องต่อเนื่อง; THE DIARY OF A MADMAN – บันทึกของคนบ้า, นาฏกรรมสุก ๆ ดิบ ๆ บนบันทึกของคนบ้า, ชีวิตคือบทสนทนากับตนเองของคนบ้า





ในปีค.ศ. ๑๘๒๘ คนหนุ่มวัย ๑๙ ขวบ จากครอบครัวเจ้าที่ดินขนาดเล็กในแคว้นอูเครน พ่อเป็นนักเขียนบทละคอนท้องถิ่นเรื่องตลกเล็ก ๆ ตัวเขาเองเป็นลูกชายแสนรักของแม่ แต่เป็นนักเรียนที่ไม่เอาไหน มีบุคลิกชอบทำตลก คุณสมบัติเด่นส่วนตัวคือมีความสามารถในเชิงล้อเลียนและแอบเขียนนวนิยายรักหวานจ๋อยไว้หนึ่งเรื่อง เขาเดินทางเข้านครหลวงเซนต์ปีเตอร์สเบอร์ก ด้วยความหวังจะเอาดีในการเป็นนักเขียน หรือไม่ก็นักแสดงละคอน

ในช่วงแรกเขาล้มเหลวทุกอย่าง ไม่ผ่านการคัดเลือกในการแสดงละคอน หนังสือเล่มแรกที่จัดพิมพ์ขึ้นด้วยเงินของเขาเองน่าเขินอายกับตัวเองจนต้องใช้เงินตัวเองกว้านซื้อมาเผาทิ้งทั้งหมด นครเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กน่าผิดหวัง……เงียบเชียบอย่างน่าฉงน ผู้คนเหมือนตายแล้ว…ทุกคนจมน้ำตายอยู่ในเรื่องไร้สาระ ทำงานอยู่แต่ในเรื่องไร้ค่าไร้ความหมาย เขาหนีนครแห่งความผิดหวังนี้ไปลิวเบ็ดแล้วเงินหมด ต้องกลับมาจำใจรับงานตำแหน่งเสมียนเล็ก ๆ ทำงานที่เขาดูแคลนในเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กอีกครั้ง

“ทำไมฉันจึงเป็นเสมียนตรา แล้วการเป็นเสมียนตราของฉันนั้นมันสำคัญยังไง ที่จริงฉันอาจเป็นท่านเคานท์หรือนายพลอะไรสักคนก็ได้ แล้วมันเกิดดูเป็นว่าเป็นแค่เสมียนตราเท่านั้น บางทีฉันอาจไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นใคร มันเคยมีตัวอย่างมาแล้วมากมายในประวัติศาสตร์ ลองดูอย่างเจ้าคนธรรมดาบางคนสิ ไม่ได้มีวี่แววว่าจะมีชาติสกุลดีเด่อะไร แค่คนทำงานธรรมดา ๆ คนนึง หรือแม้แต่ไพร่ลูกที่ดินด้วยซ้ำ แล้วอยู่ ๆ ทันใดก็กลายเป็นว่าเขาเป็นใครประเภทที่จะใส่หมวกทองเหลืองขึ้นมา บางครั้งแม้แต่เป็นกษัตริย์ด้วยซ้ำ”

นอกเวลาทำงานเขาเขียนงานชุดเรื่องเล่า ‘ยามเย็นในไร่ใกล้ไกกันด้า’ และด้วยการสนับสนุนของพุชกิ้น มหากวีของรัสเซียยุคนั้น งานได้รับการตีพิมพ์และดังระเบิดไปทั่วทั้งรัสเซีย ขณะเมื่ออายุเขาได้ ๒๒ ปี หลังจากนั้น ๓ ปี เขาเขียน ‘บันทึกของคนบ้า’ ซึ่งเป็นงานอีกชิ้นหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้เขาอย่างยิ่ง

ช่วงที่นิโคไล วาชิเลวิช โกโกล (ค.ศ. ๑๘๐๙ - ๑๘๕๒) เขียน ‘บันทึกของคนบ้า’ ขึ้น เป็นช่วงที่เขาสนใจอย่างมากต่อเรื่องราวของการเป็นบ้า และได้แสดงความเข้าใจในพัฒนาการของการเป็นบ้านั้นออกมาในรูปของบันทึก โดยใช้ฉากวิถีชีวิตเหลวไหลของเซนต์ปีเตอร์เบอร์ก ผูกโยงเข้ากับเรื่องราวขัดแย้งจนเกิดการวุ่นวายขึ้นทั่วประเทศ ในปัญหาการสืบราชบัลลังก์ของสเปน ซึ่งเป็นกรณีใหญ่โตเท่า ๆ กับการปฏิวัติใหญ่เดือนกรกฎาคมของฝรั่งเศส แล้วนำตัวละคอนของเขาไปสู่ความเชื่อว่าตัวเองเป็นกษัตริย์ผู้ซึ่งชาวสเปนทั้งประเทศกำลังค้นหาอยู่




ผู้แปล ‘บันทึกของคนบ้า’ ฉบับสำนวนภาษาไทย เกิดที่ซ่องแสมสาร สัตหีบ ชลบุรี เรียนหนังสือชั้นปฐมและมัธยมต้นที่ระยอง มัธยมปลายที่เตรียมอุดมศึกษา พญาไท มหาวิทยาลัยที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เลิกทำงานแปลไปนานในนามเดิม ‘สิทธิชัย แสงกระจ่าง’ และกลับมาทำใหม่ในนาม ‘ดลสิทธิ์ บางคมบาง’ (พ.ศ. ๒๔๙๑ - ) ในงานเขียนของนักเขียน เช่น นิโคไล โกโกล, ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้, ลีโอ ตอลสตอย, บรูโน ซูลซ์ และยังมีนักเขียนชื่ออื่น ๆ ตามมาอีกในระยะต่อไป(นับแต่ปี ๒๕๔๕)

‘บันทึกของคนบ้า’ เล่มนี้เป็นสำนวนแปลใหม่ หลังจากที่ผู้แปลได้เคยแปลไว้ในชื่ออื่นก่อนหน้านี้และเคยพิมพ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ผู้แปลพูดถึงหนังสือขึ้นหิ้งเล่มนี้ว่า ‘บันทึกของคนบ้า’ เป็นโศกนาฏกรรมของชีวิต ซึ่งความฝันกับความเป็นจริงได้หลอมเข้าด้วยกันเสียจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นความจริง อะไรเป็นการหลงหลอน อะไรเป็นสิ่งทรงค่า อะไรเป็นสิ่งไร้ค่า และซึ่งในด้านหนึ่งแล้วก็เป็นน้ำเสียงที่บ่งบอกจิตภายในของตัวผู้เขียนเองว่า มีแนวโน้มที่จะนึกคิดไปเช่นนั้น อันได้แสดงออกมาในบั้นปลายชีวิตของเขา



‘บันทึกของคนบ้า’ และ ‘อีวานกับอีวาน’ ของนิโคไล โกโกล ได้รับการตีพิมพ์ในปี ๑๘๓๔ ต่อมา ‘จมูก’ ตีพิมพ์ในปี ๑๘๓๖ ‘เสื้อโค้ท’ ในปี ๑๘๔๒ เขียนบทละคอน ‘ผู้ตรวจการแห่งรัฐ’ ในปี ๑๘๖๓ และเขียนงานชิ้นใหญ่ ‘วิญญาณที่ตายแล้ว’ ในปี ๑๘๔๒ ช่วงหลังมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ช่วงท้าย ๆ คลั่งศาสนา อยู่ภายใต้การกำกับของผู้นำทางวิญญาณ ซึ่งสั่งให้เขาเผา ‘วิญญาณที่ตายแล้ว’ ภาคสอง เพราะถือเป็นงานที่บาป เขาตายในปี ๑๘๕๒ จากการถืออดอย่างเกินร่างกายจะรับได้

สำนักพิมพ์คมบาง นำเสนอว่างานของนิโคไล โกโกล เป็นงานเขียนชวนอ่าน ในแง่ที่ช่างเสียดสี กระทบกระเทียบเปรียบเปรยได้อย่างสนุก มีภาวะกึ่งจริงกึ่งเหนือจริงอยู่ในที อันทำให้ตีความได้หลายระดับ ใน ‘บันทึกของคนบ้า’ นี้ก็เช่นกัน นิโคไล โกโกลได้เสียดสีความเป็นสังคมเหลวไหลชวนบ้าไว้อย่างน่าสนใจผ่านตัวละครที่เสมือนคนไร้ค่าในสังคม เป็นเรื่องราวชวนขำกึ่งรันทด ของข้าราชการตัวเล็ก ๆ ผู้น่าสมเพช ที่ในที่สุดได้เถลิงอำนาจตนเองเป็นถึงกษัตริย์สเปน!



เมื่อได้อ่านแล้วคุณอาจมีคำถามวาบขึ้นในใจ เหมือนกับฉัน--ที่ต้องเขียนอะไรถึง 4 ตอนเกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่องนี้ว่า......

“ตัวละคอนที่เขียนบันทึกนี้...มันบ้า
คนแต่งนิยายเรื่องนี้...บ้า
คนแปลเรื่องสั้นนี้...บ้า
หรือว่า ตู...คนอ่าน....บ้า (กันแน่วะ)”

และจึงเป็นเหตุสมควรอย่างยิ่งที่...คนบ้าควรจะได้อ่าน
เพื่อสำรวจความบ้าของตัวเอง
ความบ้าของสังคมรอบข้าง
และ “ความบ้าของโลกบ้า ๆ ใบนี้”




สวัสดี
a_somjai
posted on 2007-05—04 @ 9:09 AM.





[ข้อมูลจาก THE DIARY OF A MADMAN บันทึกของคนบ้า
แต่งโดยนิโคไล โกโกล
แปลโดยดลสิทธิ์ บางคมบาง
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๕

เป็นหนึ่งในหนังสือชุด คมบางคลาสสิค ของสำนักพิมพ์คมบาง ราคา ๕๐ บาท (เห็นว่าลดเหลือ ๔๐ บาทแล้ว),

เล่มอื่น ๆ ได้แก่ ศิลปะคืออะไร ของลีโอ ตอลสตอย / รักของผู้ยากไร้ ของฟีโอดอร์ ตอสโตเยฟสกี้ / จมูก ของนิโคไล โกโกล / เพลงสังหาร ของตอลสตอย / ถนนจระเข้ ของบรูโน ชูลซ์ / คืนสีขาว ของฟีโอดอร์ ตอสโตเยฟสกี้,

เว็บไซต์สำนักพิมพ์คมบาง //www.combangweb.com/
เข้าไปดูหนังสือแปลที่ //www.combangweb.com/books.php?booktype=all&page=1 ]




 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 4 พฤษภาคม 2550 9:44:19 น.
Counter : 1225 Pageviews.  

ชีวิตคือบทสนทนากับตนเองของคนบ้า



ต่อเนื่องจาก THE DIARY OF A MADMAN – บันทึกของคนบ้า (1), นาฏกรรมสุก ๆ ดิบ ๆ บนบันทึกของคนบ้า (2)



Posted by a_somjai on Thursday, May 3, 2007 @ 5:09 AM


(ต้องอ่านตอนที่เล้วก่อน นาฏกรรมสุก ๆ ดิบ ๆ บนบันทึกของคนบ้า (2) จึงจะเข้าใจคนบ้าอย่างต่อเนื่อง...อิอิ)



คนที่ยังไม่ตายนั้น ย่อมพูดกับตัวเองอยู่ตลอดเวลา แม้แต่เวลาหลับ ก็อย่างเราฝันไปนั่นไงครับ

ใช้ภาษาให้สูงขึ้นหน่อยก็ต้องว่ามนุษย์เราพูดคุยสนทนากับตัวเองอยู่เสมอ
ในลักษณะการบอกกล่าว สอบถาม โต้ตอบ ต่อเติม ร้อยเรียง จัดวาง ผูก ลาก โยง
และถึงกับตัดต่อแต่งเติม ให้เป็นเรืองเป็นราวขึ้นมาอยู่ทุกเมื่อ

หากจะยกชูภาษาให้สูงขึ้นไปอีกก็ได้ครับว่า-- ชีวิตคน ๆ หนึ่ง ไม่ว่าจะมองภาพรวมจากช่วงชีวิตในอายุขัยทั้งหมด หรือตัดภาพเหตุการณ์ชีวิตออกเป็นช่วง ๆ สั้นหรือยาวเท่าใดก็ตาม นับเป็นกระบวนการแห่งการเล่าเรื่อง กระบวนการแห่งนาฏกรรม และ/หรือกระบวนการแห่งวรรณกรรมนั่นเอง


เรามักจะพูดกันและเข้าใจกันอยู่โดยทั่วไปว่าโลกคือละคร แบ่งเป็นตอน ๆ ตัวละคอนคือคนเราทุกคน
และคนส่วนใหญ่จะเข้าใจหรือเห็นภาพชีวิตคือละคอน ในรูปแบบของนาฏกรรมที่ปรากฏออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว คือ--- ละคอนชีวิตคืองานการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว

แต่คนจำนวนมากนี้แหละครับ มักจะมองไม่เห็นบทละคอนหรือตัวบทที่ถูกแต่งขึ้นไว้ให้นาฏกรรมดำเนินไป

เทียบเคียงกันระหว่างโลกชีวิตจริงกับโลกละคอนแล้ว ก็เปรียบได้กับกระบวนการบันทึกตัวบทไว้ในหน่วยความจำชนิดต่าง ๆ เช่น เนื้อเซลล์สมองมนุษย์ แผ่นหิน แผ่นโลหะ กระดาษ แถบสื่อบันทึกเสียง บันทึกภาพ และจารจดไว้เป็นตัวอักษร เป็นต้น

และบทละคอนต้นฉบับต้นแบบนั้นสามามารถนำกลับมาเล่าซ้ำใหม่ได้อีก ไม่ว่าการผลิตซ้ำนั้นจะเทียบค่าความหมายได้เท่ากับเรื่องต้นฉบับเดิม คือเหมือนต้นแบบเดิมทุกกระเบียดหรือไม่ก็ตาม

ตัวบทละคอนที่ว่านี้จึงจัดเข้าเป็นวรรณกรรมประเภทหนึ่งได้

ก็เมื่อตัวบทละครที่ยกกันให้สูงเข้าไว้ว่าเป็นวรรณกรรมนั้น คนส่วนใหญ่ก็มักมองไม่ค่อยจะเห็นกันอยู่แล้ว นับประสาอะไรกับตัวบทละคอนในโลกแห่งชีวิตจริงเล่าครับ จะมีใครบ้างที่สนใจมัน?

จะมีก็แต่คนเข้าขั้นบ้าบางจำพวกเท่านั้นแหละ ที่สามารถคิดได้ถึง “ตัวบทของนาฏกรรมในโลกแห่งชีวิตจริง”

และคนบ้าพวกนี้แหละครับ ที่มักจะสนทนากับตัวเองซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่างในหนังสือเรื่องบันทึกของคนบ้า ว่า--- “ระยะหลังนี่ ฉันชักได้ยินได้เห็นอะไรที่ไม่มีใครเคยเห็นเคยได้ยินกันมาก่อน”

แล้วเขา--คนบ้าก็จัดวาง ผูก โยง และถึงกับตัดต่อแต่งเติม เรียงร้อย เสกสรรค์ปั้นแต่งบทละคอนชีวิตของตนเองและของโลกให้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ในรูปแบบบทสนทนาทำนองว่า---

“ทีนี้แหละ ฉันจะพบความจริงทุกอย่างได้แล้ว ทุกอย่างที่พวกเขาทำ (คนอื่น/ที่อยู่นอกเหนือความคุ้นเคยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะพวกบุคคลสำคัญที่เป็นตัวละคอนในข่าวเหตุการณ์บ้านเมืองนั้น ๆ )

“ทุกอย่างที่พวกเขาคิด อะไรมั่งที่ทำให้พวกเขาสนใจ จะลงลึกไปถึงก้นบึ้งของมันเลยด้วย

“จดหมายพวกนี้(วัตถุข่าวสาร/ข้อมูล)จะบอกฉันทุกอย่าง

“พวกหมา(เอาเป็นว่าหมาเฝ้าบ้านรวมทั้งหมาเฝ้าสวนเฝ้าไร่นา หมาเฝ้าแผ่นดิน แม้กระทั่งหมาเฝ้าสุสาน--หมายถึงพวกนักสื่อสารมวลชน/นักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งพวกหมาหมู่ที่บอกว่าตนเองรักชาติมากกว่าคนอื่น ๆ ในบ้านในเมืองก็แล้วกันครับ)….. มันฉลาด มันรู้หมดทุกอย่างแหละ ทั้งการเมืองข้างนอกข้างใน

“ฉันจึงมั่นใจได้เลยว่าจะพบทุกอย่างในนั้น รวมทั้งภาพที่แท้จริงของบุคคลผู้นี้(บุคคลสำคัญในกระแสข่าวเวลานั้น ๆ)

“ และการกระทำทั้งหลายของเขาด้วย”

จากตัวอย่างที่ยกแต่งเรื่องราวในรูปบทสนทนาระหว่างตัวบทในนิยายกับคนอ่านนิยายมาให้ดูนี้ a_somjai ขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านลองสนทนากับตนเองเพื่อเล่าเรื่องหรือแต่งเรื่องจากข่าวร้อน ๆ เกี่ยวกับอะไรก็ได้ที่ท่านสนใจอยู่ จากแบบคล้าย ๆ ที่อ่านข้อความที่คัดมาจาก ‘บันทึกของคนบ้า’ นี้ หลังจากนั้นท่านผู้อ่านลองแต่งบทสนทนาเล่าเรื่องข่าวนั้นขึ้นมาเป็นบทสนทนาใหม่ของท่านเองนะครับ แล้วท่านจะพบอะไรทำนอง 'บทละคอน' หรือ ‘วรรณกรรม’ ใหม่ ๆ แปลก ๆ ระดับโลกเลยทีเดียวเชียวแหละจะบอกให้





book cover of The Diary of a Madman: And Other Stories (1961)
A collection of stories by Nikolai Gogol



ในนิยาย/เรื่องสั้นเรื่อง THE DIARY OF A MADMAN - บันทึกของคนบ้า สำนวนแปลภาษาไทยโดยดลสิทธิ์ บางคมบาง เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า---
“แล้วคนพวกนี้ พวกพ่อ ๆ ตำแหน่งสูง ๆ ของพวกเธอ ที่เที่ยววางมาดไปทั่ว หยอดน้ำมันลงบนเส้นทางไปสู่ราชสำนัก ทำท่าเป็นว่าพวกเขารักชาติ และอะไรต่อมิอะไรอื่น ๆ อยู่นั้น สิ่งที่พวกเขา ไอ้พวกผู้รักชาติทั้งหลายเหล่านี้นี่แหละตามล่ากันคือ ค่าเช่าและค่าเช่าที่มากยิ่ง ๆ ขึ้น พวกมันขายแม่ของมันเอง ขายพ่อของมันเอง ขายพระผู้เป็นเจ้า ก็เพื่อเงิน”

ท่านผู้อ่านที่ยังไม่มีความกล้าเพียงพอ ก็ขอให้เว้นวรรค สูดหายใจแรง ๆ ให้โล่งอกเสียก่อน แล้วค่อยขึ้นย่อหน้าใหม่ก็ได้ครับ---

“พวกมันไม่ใช่อะไรเลย นอกจากนักแสวงอาชีพกับไอ้พวกยูดา (เอ_สมใจเข้าใจว่า ยูดาคือชาวยิวผู้กุมเศรษฐกิจยุโรปในช่วงเวลาที่หนังสือเรื่องบันทึกของคนบ้ากล่าวถึงนั้นเอง?)

“ความเรืองโรจน์ที่เปล่ากลวงกับความทะยานอยาก ทั้งหมดนี้เกิดจากฟองเล็ก ๆ ใต้ลิ้นที่มีพยาธิขนาดเท่าหัวเข็มของมัน”

แล้วนิโคไล โกโกล ผู้ประพันธ์เรื่องบันทึกของคนบ้า ก็แต่งเรื่องราวให้พระเอกอาชีพเสมียนตราลากเรื่องไกลตัวที่คนบ้าผู้นี้สนทนากับตนเองไปผูกโยงเข้ากับคนอื่น ๆ ที่เขาคุ้นเคย ว่า--- “อะไรทั้งหมดนี้เป็นผลงานจากฝีมือช่างตัดผมคนหนึ่งที่ถนนโกโรโควายา ฉันจำชื่อมันไม่ได้

“ส่วนการจารกรรมทั้งหมดนั้นกระทำขึ้นโดยสุลตานเติร์ก ผู้ให้สินบนกับช่างตัดผม และต้องการแพร่ลัทธิโมฮัมหมัดของมันไปให้ทั่วโลก พวกมันว่ากันว่า ตอนนี้ประชากรส่วนใหญ่ในฝรั่งเศลหันไปนับถือพระมะหะเหม็ดกันหมดแล้ว”

ท่านผู้อ่านเรื่องบ้า ๆ บนบล็อกนี้อยู่ครับ…คิดให้ดีถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าคนเราก็เป็นอย่างนี้กันทุกคนนั้นแหละคือต่างก็พูด คิด ตัดสินใจแล้วก็อาจลงมือกระทำเสียอีกด้วย ไปตามพื้นฐานความรู้และระบบคิดที่ตนมีอยู่ หรือพอที่จะสามารถหยิบฉวยเอามาใช้ในกระบวนการคิด การตัดสินใจ การแก้ปัญหา และการนำไปสู่ข้อสรุปหรือหาทางลงให้แก่--- “ชุดของบทสนทนากับตัวเองและบทสนทนากับโลกที่ดำเนินอยู่” นั้นเอง

พูดอีกอย่างได้ว่า---คนเราสร้างเรื่องขึ้นมาอธิบายโลก แล้วก็เล่าเรื่องที่ตนเองแต่งขึ้นนั้นให้ตัวเองฟัง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อพยุงตนให้อยู่ร่วมกับโลก กับสังคม กับผู้คนอื่น ๆ สืบต่อไปให้ได้นั้นเอง

แต่ที่สร้างปัญหามากมายมหาศาล ก็คือพวกที่เอาบทสนทนากับตนเองดังว่านี้ ไปเที่ยวเล่าโน้มน้าวให้คนอื่นเขาฟัง เขาเชื่อตาม หากใครเขื่อก็ว่าเป็นพวกเทพ ส่วนพวกไม่เชื่อก็กล่าวหาเขาว่าเป็น..ไอ้ชั่ว ไอ้โจร ไอ้มารร้าย อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ ต้องกำจัดมันให้หมดสิ้นไปจากโลก ...นี่ซิมัน...เป็นคนบ้าแบบอันตรายต่อโลกไหมเล่าท่าน?

ส่วนคนบ้าจำพวกหนึ่งอย่างนายเอ_สมใจขอกลับเข้าเรื่องดีกว่า ฉัน--มีความเห็นไปในทำนองบ้า ๆ ว่า ---ลักษณะเด่นของนาฏกรรมชีวิตก็คือลักษณะการเล่าเรื่องสุก ๆ ดิบ ๆ ให้ตนเองฟัง ผ่านกระบวนการสร้างชุดของบทสนทนากับตนเองของปัจเจกมนุษย์หนึ่ง ๆ ขึ้นมา เป็นชุด ๆ สืบต่อกันไปอย่างมีระเบียบเรียบร้อยเป็นเหตุเป็นผลบ้าง อย่างสับสนปนเปหรือถึงขั้นปนปลอมกันไปบ้าง จนกว่าคนผู้นั้นจะตายไปจากโลกนี้นั่นแหละเรื่องแต่งเรื่องเล่าให้ตนเองฟังจึงจะจบบริบูรณ์ แบบสุขนาฏกรรม โศกนาฏกรรม หรือว่าตลกขบขัน-- เวร ๆ กรรม ๆ

นั้นมันก็แล้วแต่ชีวิตใคร ๆ เรื่องเล่าของใครก็ของใคร ใช่ไหมครับ?

หากการเล่าเรื่องเป็นวรรณกรรมดังว่ามานี้แล้ว ---
ชีวิตคนหนึ่ง ๆ ก็ย่อมเป็นวรรณกรรมชุดใหญ่ได้ชุดหนึ่งทีเดียว
เมื่อนาฏกรรมชีวิตคือชุดของบทสนทนากับตนเอง
วรรณกรรมจะเป็นอะไรอื่นที่วิเศษวิโสไปกว่า---ต้นฉบับของชุดบทสนทนากับตนเองของผู้เล่า ผู้เขียน ผู้ประพันธ์ และผู้สร้าง อย่างที่มันเป็นอยู่นั้นได้อีกเล่าครับ?

และเมื่อมีการผลิตซ้ำต้นฉบับออกมาเผยแพร่สู่บุคคลอื่น(แม้แต่คนเดียว แถมซ้ำยังอาจเป็นการเผยแพร่สู่คนคนเดียวกันกับเจ้าของต้นฉบับเดิมเองนั้นก็ไม่มีข้อยกเว้น)

แล้ววรรณกรรมจะเป็นอะไรอื่นที่ต่ำต้อยไปกว่า….ต้นฉบับของชุดบทสนทนากับตนเองของผู้ดู ผู้ชม ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้เสพและผู้วิจารณ์ อย่างที่มันจะต้องเป็นอยู่ได้เพียงเท่านั้นเอง

แล้วยังจะอะไรกันนักกันหนาอยู่อีกเล่า?
ท่าน___คนไม่บ้าทั้งหลาย!




 

Create Date : 03 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 3 พฤษภาคม 2550 14:51:35 น.
Counter : 842 Pageviews.  

นาฏกรรมสุก ๆ ดิบ ๆ บนบันทึกของคนบ้า - THE DIARY OF A MADMAN

ต่อเนื่องจาก THE DIARY OF A MADMAN – บันทึกของคนบ้า



Posted by a_somjai on Wednesday, May 2, 2007 @ 5:59 AM.




วรรณกรรม เป็นงานเล่าเรื่อง’นาฏกรรมของมนุษย์’ด้วยปากเป็นเสียงพูด หรือด้วยการจารจารึกหรือเขียนเป็นตัวอักษร หรือแม้แต่เป็นรูป ภาพ สื่อสิ่งสัญลักษณ์ที่มองเห็นหรือสัมผัสได้นั้นก็ใช่

นักคิด นักศิลปะ หรือนักวรรณกรรม จึงนิยมชมชอบ คิด สร้าง เสพ และยกย่องอาหารที่ปรุงแต่งขึ้นตามตำหรับนาฎกรรมในรายการตามประเภทเมนูที่แตกต่างกัน แต่เป็นที่ยอมรับกันมาในสายสกุล Classic ว่า โศกนาฏกรรม (tragedy) ถือเป็นตัวแทนและรูปแบบสูงสุดของจิตวิญญาณมนุษย์

ผู้คนในโลกตะวันตกตั้งแต่ยุคร่วมสมัยของผู้เขียน’บันทึกของคนบ้า’ กว่า ๑๕๐ ปีล่วงมาจนถึงผู้คนโลกตะวันออก ร่วมยุคสมัยกับผู้แปลนิยายเรื่องนี้เป็นภาษาไทย ต่างลงความเห็นว่า--- THE DIARY OF A MADMAN เป็นวรรณกรรมประเภทโศกนาฏกรรม เพราะต่างก็มองจากฐานคิดสายสกุลคลาสสิก

กล่าวคือ ความมีอยู่เป็นอยู่ของสรรพสิ่งรวมทั้งมนุษย์มีรูปแบบสูงสุดตั้งอยู่ที่ไหนสักแห่ง และแม้สิ่งที่รู้เห็นเป็นอยู่ของนาฏกรรม (เช่น ชีวิตมนุษย์เป็นงานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว ก็จะพูดว่าชีวิตเป็นมายานั่นแหละ) เป็นเพียงตัวแทนของรูปแบบแห่งความจริงสูงสุดดังว่านั้นเอง

นักคิด นักสร้าง นักเสพ นักวิจารณ์แนวคลาสสิกจึงมีความเห็นไปในทำนองว่า-- มายาของชีวิตปัจเจก สังคม และโลกทั้งมวล ในวรรณคดีแนวโศกนาฏกรรมเป็นที่สุดของที่สุด

เพราะโศกนาฏกรรมได้จำลองและสะท้อนความซับซ้อนอันไม่อาจหยั่งถึงได้ ของจิตใจและความคิดของมนุษย์ได้ถึงที่สุดแห่งที่สุด

ที่สำคัญนิยายชีวิตแนวโศกนาฏกรรมอย่างเรื่องของเสมียนตราเจ้าของบันทึกของคนบ้านี้ ได้ตั้งคำถามต่อปัญหาการมีอยู่เป็นอยู่ของมนุษย์ ว่า…นาฏกรรมชีวิตของพวกเจ้าคืออะไร ทำไมมันโหดร้ายต่อพวกเจ้าอย่างยิ่งยวดปวดร้าวสุด ๆ เช่นนั้น

หรือว่าแท้จริงแล้วชีวิต สังคม และโลกของเรานี้ เป็นเพียงงานการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวที่ไร้เหตุผลสิ้นดี เราตกอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแตกแยก ความรุนแรง ความหวาดระแวง การเข่นฆ่า ทารุนโหดร้าย อิจฉาริษยา มุ่งฉกฉวยเอาประโยชน์จากซึ่งกันมาใส่ตน ขาดคุณธรรมหลักยึดจนแยกไม่ออกแล้วว่า…อะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว อะไรคือความจริง ความลวง



ก็อย่างที่พบเห็นกันมานั้นแหละ...หากวรรณกรรมนั้นเป็นเหมือนอาหารแล้ว เมนูบางประเภทเสนอว่าอาหารสุก ๆ มีรสหวานอร่อยกลมกล่อมกว่าอาหารดิบ ๆ และคงมีคนวรรณกรรมขี้เมาหลายคนก็คงยืนยันว่าอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ นั้นรสชาติดีกว่ารายการอาหารอื่น ๆ ในเมนูใด ๆ

ในฐานะคนบ้าจำพวกหนึ่ง ฉันนายเอ_สมใจ-----คนบ้าเล่นบล็อกผู้หนึ่ง…คิดว่าเมนูบางประเภทนี้...อาหารดิบนั้นมีรสหวานอร่อยกว่าอาหารสุก ...เป็นบางครั้งบางเวลา...นะอิอิ


เอายังงี้ก็แล้วกัน---ไชโย! หากชีวิตคนเราเปรียบเป็นอาหารในรายการเมนูนาฏกรรมแล้วละก็ ชีวิตคน ๆ หนึ่ง หรือหลาย ๆ ชีวิตของกลุ่มคนหลาย ๆ คนก็เปรียบได้ว่าเป็นงานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวนั้นเอง ---อ้อ--ต้องยกเว้นพระอรหันต์ไว้แหละ…

หากยอมรับกันอย่างบ้า ๆ ดังนี้--นาฏกรรมของมนุษย์ทั้งหลายนั้นย่อมเป็นงานเต้น งานรำ งานทำท่าทำทาง หรืองานการแสดงที่ประกอบเป็นเรื่องราวออกรสชาติแห่งชีวิตแบบสุก ๆ ดิบ ๆ กันทั้งนั้นแหละหนอ จริงไหมขอรับ?

ท่านผู้กำลังอ่านบล็อกอยู่ขอรับ…คุณเคยมีอาการคล้าย ๆ ที่เกิดกับเสมียนบ้าผู้เขียนบันทึกของคนบ้าเล่มนี้บ้างไหมครับ-- นายอักเซนตี้ อีวาโนวิช บันทึกไว้ตอนที่เขาบ้าอย่างพอเพียงว่า “ระยะหลังนี่ ฉันชักได้ยินได้เห็นอะไรที่ไม่มีใครเคยเห็นเคยได้ยินกันมาก่อน”

เรื่องมีอยู่ว่าเจ้าของบันทึกของคนบ้านายนี้ มักได้ยินหมาสองตัวของพวกผู้หญิงชนชั้นสูง นัยยะว่าพวกมันตัวผู้กับตัวเมียกำลังจีบกันอยู่ เขาได้ยินแสียงเจ้าหมาหนุ่มถามนังง์หมาสาวว่าได้รับจดหมายที่มันเขียนถึงบ้างหรือไม่? ไปนู้นเลย! ----ข้อความในบันทึกว่าอย่างนี้___

“สาบานจริง ๆ พนันด้วยเงินเดือนก็ได้ ไม่เคยเลยในชีวิตที่ฉันจะได้ยินว่าหมามันเขียนจดหมายได้ มีแต่พวกผู้ดีเท่านั้นที่เขียนหนังสือกันได้ดี ก็คงมีบ้างละอย่างพวกผู้ช่วยร้านค้าไม่กี่คน หรือบางครั้งก็มีแม้แต่พวกไพร่ลูกที่ดิน ที่คัดลอกอะไรกันได้ แต่การเขียนของพวกเขาจะออกมาทื่อ ๆ ไม่มีเครื่องหมายวรรคตอน ไม่มีแบบฉบับสำนวน อะไรเลย”

ด้วยความคิดที่ไม่อาจนับเป็นเหตุเป็นผลสำหรับคนปกติดีนี้เอง เสมียนต่ำต้อยผู้หยิ่งในเกียรติของตน ซึ่งถูกโขลกสับหมิ่นแคลนจากชนชั้นที่เหนือกว่าและแม้พวกที่เท่าเทียมกันอยู่เป็นประจำ จึงได้คิดว่าเขารู้อะไรบางอย่างเข้าให้แล้ว ดังนั้นเขาจึงตกลงใจตามเจ้าหมาตัวผู้ที่เป็นหมาของหญิงสาวสวยสูงศักดิ์ที่เขาหมายปองอยู่ ผู้เป็นถึงลูกสาวเจ้านาย ชั้นเจ้ากรมของตน เพื่อ---

“ไปสืบให้รู้ว่ามันเป็นใคร กำลังทำอะไร”

อ่านถึงตรงนี้ คนบ้า ๆ ที่กำลังโพสต์เรื่องบันทึกของคนบ้า ๆ บนบล็อกนี้อยู่ ก็นึกอะไรบ้า ๆ ขึ้นมาได้---- เออแหนะ..เรื่องบ้า ๆ เช่นนี้ช่างเหมือนประเทศไทยปี พ.ศ.นี้ซะเหลือเกิน ---ก็เรื่องที่พวกผู้ดี พวกรู้หนังสือ พวกชนชั้นสูง เขาต่างหาว่าชาวบ้านชาวเมืองคนชนบทอยู่ต่างจังหวัดนั้นช่างโง่เหง้าเสียเหลือเกิน จนต้องพาเหรดกันออกมาล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งของพวกคนจน –คนไม่รู้หนังสือ คนไม่รู้ไม่เข้าถึงข่าวสารข้อมูลที่อยู่ตามชนชนบท แล้วก็พากันสำแดงฤทธิเดชจัดการสังคม จัดระเบียบประเทศเสียใหม่ ทำการล้างบ้านล้างเมือง ทำพิธีการพิธีกรรมขับไล่เสนียดจัญไร ขับไล่อาเพท ฉีกรัฐธรรมนูญเก่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ….กระทำการตามที่ถูกใจชาวเทวดาทั้งหลาย…. (อ้าว กลับเข้าเรื่อง นิยายเรื่องบันทึกของคนบ้า..ต่อดีกว่า…อิอิ เดี๋ยวคุ้มคลั่ง)

๑๑ พฤศจิกายน วันนั้น นายอักเซนตี้ อีวาโนวิชก็ได้คิดกับตัวเอง (ตามอาการของคนบ้า แบบเดียวกับนายเอ_สมใจซึ่งมักจะมีสาเหตุมาจากความต่ำต้อยในสถานภาพทางสังคม และ/หรือความบกพร่องทางกายภาพอะไรก็ตาม ---กล่าวกันว่า--- พวกเราก็มักจะคิด คิด และคิดกับตัวเองซ้ำ ๆ ซาก ๆ วกวนเวียนอยู่อย่างนั้นตลอดเวลา เพราะเราถ่ายทอด/สื่อความคิดของตนออกไปสู่คนอื่น/สังคมภายนอกไม่ได้ หรือถ่ายทอดได้ เขาก็บอกว่าไม่ได้เรื่องได้ราวอยู่ดี ---ถ้าจะอธิบายในแนวพื้นที่ทางสังคมแล้ว ก็อาจจะทำให้บ้าบอไปกันใหญ่กว่านี้ได้นะ) เอาเป็นว่า—

----แกคิดของแกอย่างนี้---

“ทีนี้แหละ ฉันจะรู้ความจริงทุกอย่างได้แล้ว ต้องหาทางดักจับจดหมายโต้ตอบที่เจ้าหมาไม่ได้เรื่องสองตัวนั่นมันเขียนถึงกัน ฉันต้องเจอแน่ ๆ ว่ามันมีอะไรอยู่ในนั้น”

มาถึงตรงนี้ ขอเดาว่า--ท่านผู้อ่านบล็อกนี้หลายคนคงเชื่อเรื่องหมาเขียนจดหมายถึงกัน และอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวในจดหมายไปกับนายคนนี้ไปแล้วใช่ไหมครับ?

แต่นั้นก็ไม่ใช่เครื่องชี้ว่าท่านเป็นคนบ้าถึงขั้นเพียงพอ ที่ทางราชการจะยอมรับให้ไปลงทะเบียนคนบ้าพอเพียงแห่งชาติกับพวกฉันได้ดอกนะ..เอ้า!

แล้วนายอักเซนตี้ อีวาโนวิช คนบ้าผู้นี้ก็ไปเอาสิ่งที่ตนคิดว่าเป็นจดหมาย(หมา ๆ) เหล่านั้นมาจนได้ เจ้าของบล็อกขอเรียกใหม่ให้สุภาพเรียบร้อยตามศีลธรรมประเพณีอันดีงามของสังคมไทยว่า’สารจากสุนัขถึงสุนัข’ก็แล้วกัน

แล้วจากนั้น คนบ้าอย่างเขาก็เอาแต่ครุ่นคิดถึงมันอยู่นั่นแล้ว ---

“ทีนี้แหละ หลังจากรอมานาน ฉันจะพบความจริงทุกอย่างได้แล้ว ทุกอย่างที่พวกเขาทำ ทุกอย่างที่พวกเขาคิด อะไรมั่งที่ทำให้พวกเขาสนใจ จะลงลึกไปถึงก้นบึ้งของมันเลยด้วย จดหมายพวกนี้จะบอกฉันทุกอย่าง พวกหมามันฉลาด มันรู้หมดทุกอย่างแหละ ทั้งการเมืองข้างนอกข้างใน ฉันจึงมั่นใจได้เลยว่าจะพบทุกอย่างในนั้น รวมทั้งภาพที่แท้จริงของบุคคลผู้นี้ และการกระทำทั้งหลายของเขาด้วย”

(เรื่องของเรื่อง มันก็บ้าบอคอแตกพอ ๆ กันกับ--- พวกสู่รู้ รู้ไปเสียทุกเรื่อง…แล้วก็แสดงความบ้าเพราะรู้มากเกิน ด้วยการปลุกระดม พาให้คนอื่น ๆ เป็นบ้าเป็นบอเผาบ้านป่วนเมืองตัวเอง ให้…ป่วงบ้า…ฉิบ…หาย …วาย…ยะ…วอด กันอยู่ในห้วงเวลาปีสองปีมานี้ละกระมัง)

THE DIARY OF A MADMAN ไม่เพียงเป็นวรรณกรรมประเภทโศกนาฏกรรม อย่างที่มองเห็นได้จากฐานคิดสายสกุลคลาสสิก ที่เชื่อว่าความมีอยู่เป็นอยู่ของสรรพสิ่งรวมทั้งมนุษย์มีรูปแบบสูงสุดตั้งอยู่ที่ใดสักแห่ง และแม้สิ่งที่รู้เห็นเป็นอยู่ของนาฏกรรมแห่งมายา อย่างชีวิตมนุษย์ที่เห็นและเป็นอยู่ก็เป็นเพียงตัวแทนของรูปแบบแห่งความจริงสูงสุดดังว่าด้วย

แต่ในทัศนะของคนบ้าอย่างฉัน—a_somjai แล้ว ‘บันทึกของคนบ้า’ งานเขียนเมื่อร้อยห้าสิบปีมาแล้วของนิโคไล วาชิเลวิช โกโกล (๑๘๐๙–๑๕๕๒) นักเขียนนามอุโฆษของรัสเซีย ยังเป็น--- “ชุดของวิวาทะแห่งปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ ระหว่างความจริงสูงสุดกับความลวงไร้สาระสุด ๆ อีกด้วย”

จะเกินไปไหมนี่ หากจะบอกท่านผู้รู้ทั้งหลายว่า….ทั้งหลายทั้งปวงในโลกนาฏกรรมนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นเพียงนาฏกรรมสุก ๆ ดิบ ๆ เพื่อบอกเล่า นำเสนอว่า ชีวิตเป็นเพียงกระแสแห่งบทสนทนาของปัจเจกมนุษย์ใด ๆ กับสภาวะแวดล้อมตัวเขา ที่เขาเองเรียงร้อยมันขึ้นมา เพื่อพยุงตนเป็นอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมในรูปงาน… การรำ(ป้อ) การร้อง(แรกแหกระเฌอ) การเต้น(แร้งเต้นกา) การทำท่า(ทำทางอย่างลิงค่างบ่างชะนี) หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว(เหลวไหลไร้สาระหาแก่นสารมิได้) ก็เท่านั้นเอง!


(ยังจะมีเรื่องบ้า ๆ มาต้อนรับปีหมูไฟ 2550/2007 นี้อยู่นะคนบ้า ๆ ทั้งหลาข--โปรดติดตาม)




 

Create Date : 02 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 2 พฤษภาคม 2550 15:18:19 น.
Counter : 953 Pageviews.  

THE DIARY OF A MADMAN – บันทึกของคนบ้า

Posted by a_somjai on Monday, April 30, 2007 @ 3:49 AM.





ฉัน--คนโพสต์เรื่องลงบล็อกนี้ เริ่มอ่าน‘บันทึกของคนบ้า’ จากหน้าที่หนึ่งลงวันที่ ๓ ตุลา มาจนถึงบันทึกเมื่อวันที่ ๘ ธันวา ฉันจึงแน่ใจร้อยเปอร์เซนต์ว่า ตัวละคนคนเขียนบันทึก--อักเซนตี้ อีวาโนวิช เสมียนตราเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับหนังสือของกรมราชการรัสเซียแห่งหนึ่ง พระเอกในนิยายเรื่องนี้ เป็นบ้าแน่นอน ไร้ข้อสงกะสัย

เพราะช่วงที่นิโคไล วาชิเลวิช โกโกล ผู้ประพันธ์--เขียน‘บันทึกของคนบ้า’ขึ้นนั้น เป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งวุ่นวายขึ้นทั่วประเทศในปัญหาการสืบราชบัลลังก์ของสเปน ซึ่งเป็นกรณีใหญ่โตเท่า ๆ กับการปฏิวัติใหญ่เดือนกรกฎาคมของฝรั่งเศลนั้น

เขา--วาชิเลวิช โกโกล ให้ตัวละครเอกเขียนว่า ตนเองกำลังจะออกไปทำงานอยู่ทีเดียว แต่มันมีเหตุผลหลายอย่าง ความคิดหลายอย่างมาสะกัดไว้ เขา--ตัวเองเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสเปนออกไปจากหัวไม่ได้ แล้วคิดว่าชาวสเปนจะให้คนที่คนทั้งโลกไม่ยอมรับขึ้นเป็นกษัตริย์ได้อย่างไร อังกฤษก็ไม่ยอม ทั้งยังมีการเมืองสารพัดทางฟากยุโรปอีก จักรพรรดิแห่งออสเตรียและพระเจ้าซาร์ของรัสเซียก็ไม่ยอมรับ เป็นต้น

ตัวพระเอก--นายอีวาโนวิชผู้เขียนบันทึกรู้ตัวเองดีว่า เหตุการณ์เหล่านี้มันกระหน่ำเข้ามาในหัวของเขาเสียจนทำอะไรไม่ได้เอาเลยตลอดวันนั้นทั้งวัน มาวราคนรับใช้แก่ ๆ ของเขาพูดเป็นข้อสังเกตเมื่อตอนเขานั่งอยู่ที่โต๊ะนั้นว่า เขาดูเคร่งเครียดเอามาก ๆ ซึ่งพระเอกของเรื่องก็ยอมรับว่าจริง เพราะปรากฏว่าเขาขว้างจานแตกละเอียดไปสองใบ

ในบันทึกเขียนว่า “หลังมื้อเย็นฉันออกไปเดินแถว ๆ เชิงเขา ไม่เจออะไรที่ชี้ทางให้เลย เวลาส่วนใหญ่ฉันนอนอยู่บนเตียง คิด คิด คิดแต่เรื่องสเปนนี่แหละ”

และเนื้อหาใน’บันทึกของคนบ้า’ตอนนี้เองทำให้ฉัน--คนอ่านได้คิดว่า ข่าวสารวิกฤตการณ์ของบ้านเมืองและรวมทั้งของสังคมโลกที่ไหลหลากหลั่งล้นโหมกระหน่ำใส่คนเรานั้น บีบคั้นให้ผู้คนวิตกกังวล วุ่นวายใจ ไม่เป็นอันอยู่อันทำมาหากินถึงขั้นเป็นบ้าได้

ไม่แต่ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการเมือง ข่าวสงคราม ข่าวอาชญากรรม ทั้งระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น เท่านั้นดอกนะ

ฉันเอง--คนอ่านหนังสือเล่มนี้และเป็นบ้า...คนเดียวกันที่โพสต์เรื่องนี้อยู่คิดว่า..; ข่าวหนัง ละคร เพลง ดนตรี ดารา รวมทั้งอุตสาหกรรมบันเทิงคดี ภาพยนตร์ ต่าง ๆ นานา ที่หลั่งไหลเข้ามาเหมือนเชิงว่าไร้สาระก็ดี ข่าวกีฬาก็ดี ข่าวสารความก้าวหน้าแห่งความรู้ วิทยาการและเทคโนโลยี ข่าววงการหนังสือ สิ่งพิมพ์อะไรก็เถอะ ล้วนแล้วมีส่วนสำคัญทำให้คนยุคเรานี้เป็นบ้าเป็นหลังกันไปแล้วทั้งหมดทั้งสิ้น

หรือใครที่บ้าพอที่จะไม่ยอมรับในข้อที่กล่าวมานี้ ฉัน—คนเขียนบล็อกนี้ขอท้าให้แก้ผ้าออกมาคุยกัน วันอาทิตย์ที่ถนนคนเดินย่านถนนท่าแพกลางเวียงเชียงใหม่ทุกสัปดาห์…อิอิ นัดมาได้เลย

ในบันทึกหน้าถัดมานายอักเซนตี้ อีวาโนวิช พระเอกเสมียนผู้น่าทุบตี(ถ้ามาอยู่ใกล้ ๆ มือฉัน) แกแสดงความบ้าออกมาอย่างชัดเจน โดยบอกไว้ในบันทึกว่าตรงกับ วันที่ ๔๓ เมษา ปี ๒๐๐๐ ทั้ง ๆ ที่หนังสือนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๓๔ ว่า--

“วันนี้เราเฉลิมฉลองเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง สเปนมีกษัตริย์ พระองค์ทรงได้รับการค้นพบแล้ว ฉันคือกษัตริย์พระองค์นี้ เพิ่งวันนี้เองที่ฉันพบความจริงนี้ ต้องยอมรับว่าอยู่ ๆ มันก็เข้ามาที่ฉันอย่างฉับพลัน ในชั่วแว้บเดียว ไม่เข้าใจจริง ๆ ว่า ฉันคิดว่าตัวเองเป็นเสมียนตราอยู่ได้ยังไง ความคิดเหลวไหลพวกนี้เข้ามาในหัวได้ยังไง ยังโชคดีนะที่ไม่มีใครเอาไปขังในคุกคนบ้าเสียก่อน” เอากะพ่อซี โอย! คุณผู้อ่านที่รัก! คุณว่าแก่บ้าไหมล่ะ?

อ่านตรงนี้แล้วฉันเกือบจะสูญเสียคุณสมบัติบ้า ๆ ประจำตัวไปอย่างไม่อาจเรียกคืนมาได้อีกเลยชั่วชีวิต แต่ยังโชคดีนะที่ฉํนรั้งมันไว้อยู่กับตัวได้ทัน (แต่ต่อมาอีก 3-4 ปีที่ได้อ่านหนังสือเรื่องนี้ผ่านมา ฉันก็ลาออกจากงานเสมียนราชการเอาอย่างนายอีวาโนวิช มาเล่น blog - blogging อยู่กับบ้าน ผ่านมาได้หนึ่งปีแล้วไง... สูว่าตูบ้าไหมฝะ?)

ดลสิทธิ์ บางคมบาง คนบ้าผู้แปลเรื่องนี้ (ฮา) เขียนไว้ว่า ช่วงที่เขียน’บันทึกของคนบ้า’ขึ้น เป็นช่วงที่โกโกลสนใจเรื่องราวของการเป็นบ้าอย่างมาก และได้แสดงความเข้าใจในพัฒนาการของการเป็นบ้าออกมาในรูปของบันทึก

ผู้แปลบอกว่า ’บันทึกของคนบ้า’ จึงเป็นโศกนาฏกรรมของชีวิต ซึ่งความฝันกับความเป็นจริงได้หลอมเข้าด้วยกันเสียจนไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรเป็นความจริง อะไรเป็นการหลงหลอน อะไรเป็นสิ่งทรงค่า อะไรเป็นสิ่งไร้ค่า และซึ่งในด้านหนึ่งแล้วก็เป็นน้ำเสียงที่บ่งบอกจิตภายในของตัวผู้เขียนเองว่ามีแนวโน้มที่จะนึกคิดไปเช่นนั้น อันได้แสดงออกในปั้นปลายชีวิตของเขา (ตามข้อมูลว่าช่วงหลังเขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ช่วงท้าย ๆ คลั่งศาสนา อยู่ภายใต้การกำกับของผู้นำทางวิญญาณ ซึ่งสั่งให้เขาเผาหนังสือ ‘วิญญาณที่ตายแล้ว’ ภาคสอง ที่เขาแต่งขึ้น เพราะถือเป็นงานที่บาป เขา--นิโคไล วาชิเลวิช โกโกล ตายในปี ๑๘๕๒ จากการถืออดอย่างเกินร่างกายจะรับได้)

“บัดนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเปิดเผยขึ้นกับฉันหมดแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ ฉันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในม่านหมอก สิ่งแรกเลยฉันแจ้งกับมาวราก่อนว่าฉันเป็นใคร พอได้ยินว่ากษัตริย์สเปนกำลังยืนอยู่ต่อหน้าเท่านั้น หล่อนถึงกับยกมือขึ้นกุมที่หน้าอก และแทบจะขาดใจตายไปด้วยความตกใจ ยายโง่เอ๊ย- หล่อนไม่เคยเห็นกษัตริย์สเปนมาก่อน”

และหลังจากนั้นเสมียนต่ำต้อยแห่งกรมราชการรัสเซียผู้ค้นพบว่าตนเองเป็นถึงกษัตริย์แห่งสปน ก็ไม่ได้ออกไปทำงานให้กรมนั้นอีก ด้วยเหตุผลที่ให้กับตัวเองว่า -- “ไม่หรอกเพื่อน แกไม่มีทางหลอกให้ฉันกลับไปที่นั่นได้อีกแล้ว แกไม่มีทางจับฉันไปนั่งทำงานคัดลอกเอกสารโง่ ๆ ของแกนั่นได้อีกต่อไปแล้ว”

ให้ตายเถอะอ่านบันทึกของคนบ้าที่ถูกเขียนขึ้น ประมาณว่าหากนับอายุหนังสือเรื่องนี้ก็ได้มากกว่า ๑๕๐ ปีแล้ว แปลกไหมเล่าคุณ ๆ คนมีสติสตังค์ดีทั้งหลายครับ

ทำไมฉัน—คนเขียนบล็อกนี้คิดไปถึงการสนองนโยบายรัฐบาลนี้และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติว่าด้วยเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง กับการลดความทะยานอยากมีอยากเป็นในการบริโภคกิเลสตัณหาก็ไม่รู้…ก็ไม่รู้…เออก็ไม่รู้ว่าในยุคสมัยอันใกล้นี้จะมีคนไทยตกงานกันกี่หมื่นกี่แสนคนไปนู้นแหละ?

นักวิจารณ์คนสำคัญผู้หนึ่งของรัสเซียในยุค(ที่โกโกลแต่ง/พิมพ์หนังสือเล่มนี้)นั้นได้เขียนวิจารณ์ไว้ว่า—

“ไม่มีงานเขียนอื่นชิ้นใดของโกโกลที่จะอัดแน่นความตลกไว้มากเท่า ’บันทึกของคนบ้า’ และกระนั้นก็ยังเป็นงานโศกนาฏกรรมที่รันทดยิ่ง”

แต่ฉัน—a_somjai คนเขียนบล็อกนี้ ไม่เห็นด้วยกับความเห็นข้างต้นดอกนะ เพราะตนเองมีวิธีคิดวิธีมองโลกตลอดมาในแนวตั้งชื่อเท่ ๆ ตามประสาคนบ้า ๆ ว่า “นาฏกรรมสุก ๆ ดิบ ๆ” (อยากรู้ว่าเป็นยังไงก็ต้องติดตามอ่านต่องานเขียนบนบล็อกนี้คราวต่อไปละกัน ขอเรียนว่าช่วงนี้อาจจะเขียนอะไร ๆ ที่มันเป็นเรื่องบ้า ๆ ลากยาวกันข้ามเดือนข้ามปีอย่างต่อเนื่องก็ได้

ทั้งคนเขียน คนอ่าน และคนไม่ได้เขียนไม่ได้อ่าน

ให้มันบ้ากันไปข้างหนึ่งดูสิ

ไม่แน่นะ รัฐบาลนี้ และ/หรือรัฐบาลหน้า อาจจะมีนโยบายให้ประชาชนอย่างพวกเรา ๆ …
ไปตีทะเบียนคนบ้าอย่างพอเพียงก็ได้ ฮิ ฮิ)





[หมายเหตุ:
งานเขียนนี้เป็นงานเก่าสมัยฉันเขียนคอลัมน์ประเภทหิ้งหนังสืออยู่พักใหญ่ ๆ
งานชุดนี้เขียนผ่านมานาน 4-5 ปีแล้วเห็นจะได้
นำมาดัดแปลงนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วโพสต์ลงบล็อกพอให้หายบ้า ก็...หน้าร้อน..ปีนี้มันร้อนมากจริง ๆ อะนะ
หนังสือที่อ่านเล่มนี้ชื่อ “THE DIARY OF A MADMAN – บันทึกของคนบ้า”
แต่งโดยนิโคไล โกโกล / แปลโดยดลสิทธิ์ บางคมบาง
เป็นหนึ่งในหนังสือชุด คมบางคลาสสิค ของสำนักพิมพ์คมบาง --ไม่มีภาพประกอบลงไว้ให้ดู สนใจก็ตามลิงก์ไป //www.combangbooks.com ไม่รู้ว่าไซต์นี้ยังอยู่หรือไม่?
หรือติดต่อ ตู้ปณ. ๙ ปท.อ่อนนุช กท. ๑๐๒๕๐
...เข้าไปดูกันเองละกัน อ้อ…เขาไม่ได้ห้าม..คนไม่บ้า อ่านดอกนะ]
**แก้ไขเว็ปไซต์ของสำนักพิมพ์คมบาง (หาเจอแล้ว) เป็น //www.combangweb.com/





 

Create Date : 30 เมษายน 2550    
Last Update : 4 พฤษภาคม 2550 8:50:49 น.
Counter : 1387 Pageviews.  

ท้ายปี 2549 <-> ต้นปี 2550


ให้มันเป็นไป <-> LET IT BE



Source: //www.fotothing.com/slideshow.php?id=racequeen





posted by a_somjai on December 22nd, 2006




 

Create Date : 22 ธันวาคม 2549    
Last Update : 22 ธันวาคม 2549 12:29:35 น.
Counter : 428 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

a_somjai
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add a_somjai's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.