A ........ Z
Group Blog
 
All blogs
 
Kagi no Kakatta Heya โอโตกุซังไขคดีดังในห้องที่ปิดตาย




ถ้านับในรอบปีนี้ ซีรีย์เรื่องไหนที่ผู้เขียนตั้งหน้าตั้งตาชมเป็นที่สุด
คงจะมีด้วยกันเพียงสองเรื่อง ซึ่งทั้งสองเรื่อง
ล้วนต่างพึ่งพาบารมีของเจ้าของบทประพันธ์ดั้งเดิมกันทั้งสิ้น
ซึ่งก็มี Higashino Keigo Mysteries กับ Mikeneko Holmes no Suiri
โดยเรื่องแรก แปะยี่ห้อคนเขียนฮิงาชิโนะ เคโงะ (อันนี้เคยได้เสนอรีวิวไปแล้วใน Galileo
Himitsu,Shinzamono) ส่วนผลงานคนหลังก็เป็นงานของอาคางาวะ จิโระ
(ก็เคยแนะนำไปบ้างใน 4 Shimi Dantaiden,Sailor Suit&Machine Gun)
เข้าใจว่างานของสองท่านนี้ หนอนนักอ่านแนวJ-Detectiveคงจะรู้จักกันดีอยู่แล้ว
แต่ทว่า......เอาเข้าจริงซีรีย์สองเรื่องที่ลุ้นเก็งดังกล่าว พอได้ลงจอเสนอหน้าทางทีวีจริง
ผลกับไม่ได้เปรี้ยงปร้างอย่างที่คิดไว้ กลับกลายเป็นซีรีย์แนวนักสืบม้ามืดของค่ายฟูจิที่ชื่อ
Kagi no Kakatta Heya สร้างผลลัพธ์ในแง่ความนิยมได้ดีกว่า หรอยกว่า แลดูสนุกกว่า
แบบที่ไม่จำเป็นต้องผละยี่ห้อแบนด์ของเจไรเตอร์ มาเป็นจุดขายเหมือน๒เรื่องตามที่ได้เกริ่นมา








Kagi no Kakatta Heya
จะหาว่าม้ามืดเลยก็คงไม่ชัดเจนนัก
เพราะได้ถูกจัดตาราง ให้ลงถ่ายทอดในช่วงไพร์มไทม์เวลาสามทุ่มวันจันทร์ของค่ายฟูจิทีวี
หมายถึงว่า มันคงต้องถูกคาดหวังมาเพื่อมากระชากเรตติ้งโดยแท้
ซึ่งก็ได้สามนักแสดงแม่เหล็กที่มีฐานแฟนคลับและประสบการณ์สูงอยู่แล้วอย่าง
โฮโนะ ซาโตชิ ,โทดะ เอริกะ และซาโต้ โคอิชิ มาประกบกันเป็นทีมเฉพาะหน้า-ล่าเฉพาะกิจ
สู่การไขปริศนาแต่ทว่า เงื่อนไขคราวนี้ถูกจำกัดแบบชัดเจนขึ้น
เพราะต้องมาเล่นในประเด็นที่เป็นข้อจำกัด สู่ความเป็น"ห้องที่ถูกปิดตาย"(Locked Room Murders)







Kagi no Kakatta Heya เป็นซีรีย์ที่เกิดจากการรวมตัวของสามอาชีพที่ไม่ใช่มือนักสืบแต่เริ่มต้น
เมื่อ"เซริซาวะ โก" ผู้บริหารและมีอาชีพเป็นทนายความ ประกบกับเลขานุการสาว"อาโอโตะ จุนโกะ"
อีกทั้งมาได้กำลังเสริมผนึกกับมืออัจฉริยะเอาท์ซอร์สในเรื่องระบบป้องกันนิรภัย "อิโมโคโตะ ไค"
และด้วยอาชีพทนายความของเซริซาวะ ทำให้เขาต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเหตุฆาตกรรม
ที่้สันนิษฐานเบื้องต้นไม่พ้นในประเด็นว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ทั้งจากสภาพเงื่อนไข
จากคุณสมบัติของความเป็นห้องที่ปิดตาย และประจักษ์พยานรู้เห็นแรกเห็นในที่เกิดเหตุ
อันยากที่จะคิดเป็นอื่นเป็นไกล....................ไปได้







"เซริซาวะ โก" (แสดงโดยลุงซาโต้ โคอิชิ จากPrideและSuppli) มาครั้งนี้ลุงแกรับบท
เป็นเจ้าของสำนักงานทนายความFriedman&Serizawa Law Firm
ดำรงตำแหน่ง ทั้งผู้บริหารและเป็นทนายความที่ชอบให้คนอื่นนับหน้าถือตา และมักจะ
หน้าชื่นตาบานกับการไขคดีที่ตัวเองมีส่วนร่วมแม้จะไม่ใช่โต้โผใหญ่ เป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญ
กับข้ออ้างในเรื่องของเวลาตามแบบฉบับนักบริหาร ส่วนใหญ่มักจะตั้งข้อสันนิษฐาน
ที่ไปคนละทางกับรูปคดีเสมอ แต่ถ้าหากจะมีอะไรที่เกี่ยวกับความยุติธรรมเป็นเบื้องต้นแล้ว
เซริซาวะซังก็พร้อมที่จะถึงไหนถึงกัน แบบไม่มีพะวักพะวนหรือไม่สนหน้าอิฐหน้าปูนใดใด







"อันโดะ จุนโกะ" (แสดงโดยโทดะ เอริกะ จากLiar Game,BossและCode Blue)
เป็นเลขานุการส่วนตัวที่เพิ่งเข้าใหม่ภายใต้การบังคับบัญชาของเซริกาวะ โกะ
แค่มาทำงานวันแรกก็เป็นเรื่อง ด้วยนิสัยที่ยังไม่ทิ้งความเป็นเด็ก
จึงไปกดปุ่มล็อคตู้เซฟสำรองเงินสดของธนาคารซึ่งหัวหน้าของเธอสำรวจอยู่ภายใน
เป็นต้องเดือดร้อนถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายออกแบบนิรภัยภายในอินาโมโตะ ไค ให้ต้องมาสำแดง
ความเป็นอัจฉริยะในเรื่องกลไกจำพวกไขนอก-บิดใน มองในแง่ดีถือได้ว่าเป็นหญิงสาว
ที่มีความกระตือรือล้นในหน้าที่รับผิดชอบ เสียแต่ตรงที่มักจะพ่วงมาด้วยความไร้เดียงสา
เธอจะเป็นตัวกลางในแง่ของการประสานงานให้ระหว่างสองหนุ่ม ที่ต่างกันทั้งอายุ
การทำงานและบุคลิกนิสัย เพื่อให้คดีที่เป็นปริศนาสามารถคลี่คลายได้เป็นผลสำเร็จ







"อิโมโคโตะ ไค" (แสดงโดยโฮโนะ ซาโตชิ จากKaibutsu-kunและMaou)
เป็่นเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบบกลไกการทำงานของตัวนิรภัยทุกชนิด
แต่จะมีนิสัยชอบหมกมุ่นอยู่กับงานและไม่ค่อยสุงสิงกับใคร จนได้รับฉายาตามนิสัยว่า
"โอโตกุ" แม้จะมีโลกส่วนตัวสูง แต่ถ้าเป็นเรื่องของปริศนาโดยเฉพาะเรื่องของห้องที่ปิดตาย
เจ้าไคคนนี้จะลงศึกษาทั้งในสว่นของสถานที่ที่เกิดเหตุ และสร้างแบบจำลองโมเดลสถานที่
เพื่อค้นหาเบาะแสทางหนีที่ไหลและวิธีการหลายลักษณะ หาลู่ทางที่จะเป็นช่องโหว่
ไปสู่กระบวนวิธีตบตาเจ้าหน้าที่ ที่ผู้ต้องสงสัยอุตสาห์จัดฉากเพื่อเบี่ยงประเด็นให้ดูคล้าย
ว่าจะเป็นเพียงแค่เรื่องของการฆ่าตัวตาย ส่วนเรื่องของมูลเหตุจูงใจที่เหลือนั่น
ก็เป็นเรื่องที่พวกทนายความหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบรับเอาไปทำคดีเอง
ซึ่งตรงนี้ ไคซังเขาถือว่า................ไม่ใช่เรื่อง




There's no looked room in this world that cannot be unlocked.


(ยังไม่เคยเห็นห้องไหนในโลกนี้ ที่ไม่สามารถถูกเปิดออกได้)










ด้วยความที่ไม่เคยคุ้นกับงานวรรณกรรมหนังสือของ "ไคชิ ยุสุเกะ" เลยมาก่อน
แต่ก็เห็นว่างานเขียนหลายชิ้นของหมอนี้ มีการมาแปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น ๑๓ปมอำมหิต ที่แปลโดยเลอลักษณ์ วีระวุฒิไกร,คฤหาสน์ซ่อนตาย แปลโดยAmadeus
รักต้องฆ่า สำนวนแปลของทีปลิต,วงกตเลือด โดยmuzume และเสียงเพรียกมรณะโดยกรุณา ภาษีผล
เข้าใจว่า คงน่าจะมีฐานนักอ่านของเจ้าหมอนี้เยอะพอสมควร ดีกรีรางวัลJapan Horror Association
การันตีถึงสองหน แต่ชีวิตหมอนี้ก็หันเหไถลได้ไกลดีเหมือนกัน จากบัณฑิตเศรษฐศาสตร์จากม.เกียวโต
จบมาก็หันมาทำงานด้านประกันอยู่หลายปี ก่อนจะหลุดมาทำฟรีแล็นซ์เขียนหนังสือขาย
ส่วนซีรีย์นี้หยิบมาจากงานหนังสือ๒ชุดคือBouhan Tantei Enomoto seriesกับYuruyakana Jisatsu
แล้วมีแปลเป็นไทยแล้วหรือไม่ อันนี้ไม่รู้! รู้อย่างเดียวว่าไอ้ที่ผู้เขียนดูอยู่นี้
ก็อาศัยดมซับอังกฤษไปเพลินๆ ดูไปก็มึนทับศัพท์ ไปอาศัยดีว่าเวลาตอนที่มันเฉลยท้ายของตอนจบ
มันจะมาช่วยอธิบายไอ้ที่เล่าแบบงงๆในตอนแรก ให้เห็นภาพเห็นพจน์กันอีกที ซึ่งอันนี้
ก็เป็นข้อดีพิเศษอย่างหนึ่งของซีรีย์ญี่ปุ่นแนวสืบฆาตกรรม (เพราะซีรีย์เรื่องนี้ดีที่จบในตอน
ยกเว้นตอนสุดท้าย) ถ้าเป็นซีรีย์แนวดราม่าด้วยแล้ว เคยงงอยู่ตรงไหนก็จะถูกปล่อยให้โง่อยู่ตรงนั้นแหละ.







ไม่แปลกใจเลย ที่ซีรีย์เรื่องนี้จะได้เรตติ้งเฉลี่ยสิบเอ็ดตอนเต็มสูงถึง ๑๖ เปอร์เซนต์
แซงหน้าสองตัวเก็งที่ผู้เขียนเล็งไว้แต่ทราบเรื่อง และไม่สงสัยอีกว่าตอนที่เจ้าโพลล์อินเตอร์เน็ต
NTT’s popular Internet portal and search engine ทำการสำรวจซีรีย์น่าปลื้มประจำฤดูใบไม้ผลิ
ซีรีย์เรื่องนี้จะยืนโด่มาเป็นอันดับที่หนึ่งด้วยคะแนนโหวตแปดพันเจ็ดร้อยกว่าคะแนน
เอาชนะอันดับสองATARU ที่ได้เจ็ดพันหน่อยๆกว่าคะแนน ส่วนที่สามเรื่องLegal High อันนี้
ถูกทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่นเพราะคะแนนโหวตห่างกันกว่าที่หนึ่งตั้งครึ่ง เมื่อกล่าวโดยสรุป
เสน่ห์ของเรื่องนี้ผู้เขียนว่ามันน่าจะเป็นเรื่องของสามตัวละครสุดแนวที่เอามาเข้าพวก
แล้วดันกลายเป็นสูตรปรุงผสมที่ออกรสออกชาติโดยที่ไม่ต้องไปกระตุ้น
หรือสร้างออปชั่นเสริมอะไรให้แลดูยุ่งยาก ถึงแม้เรื่องจะยังไม่พ้นเรื่องกรอบ "อัจฉริยะอาชีพ"
โดยอิงอาศัยปัจจัยจากสถานที่ที่เกิดเหตุเป็นตัวกำหนด เลยได้ "จีเนียสด้านเซคิวริตี้"
ซึ่งจะว่าไป ซีรีย์แนวนี้ก็มักหนีไม่พ้นองค์ประกอบชิ้นส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งประตู หน้าต่าง
กรงดักหรือแม่กุญแจ เป็นต้น เนื่องด้วยยังไม่เคยมีซีรีย์นักสืบเรือ่งไหนที่ลงมาแตะประเด็นนี้
อย่างจริงๆจังๆ ถึงขึ้นหมกมุ่น ผลก็เลยได้ในแง่ความแปลกใหม่ ฉีกแนวจากเพื่อนซีรีย์แนวนี้
ค่อนข้างจะเห็นชัด ที่แม้เอาเข้าจริงเคสต์ของแต่ละคดีในแง่ก็แทบจะไม่ต่างจากซีรีย์ที่เคยมีก่อนหน้า
และในแง่พระเอกที่่เป็นตัวละครในเชิงอัจฉริยะหนึ่งเดียวในโลก มันก็มีมุมให้มองได้สองด้าน
ซึ่งความสามารถระดับจีเนียสนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะเก่งกาจเฉพาะเรื่องสะเดาะเคาะไขเท่านั้น
ตรงกันข้าม มันยังรวมถึงการรู้ถึงข้อจำกัดของระบบเครื่องมือกลไกที่แม้จะเชื่อว่าล็อคสนิทใจ
แต่มันก็ยังมีข้อจุดอ่อนบางประการ ที่เป็นช่องโหว่ให้ตัวฆาตกรสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์
ในจุดที่คนอื่นอาจจะยังคาดไม่ถึง หรือเป็นสิ่งที่ถูกบิดเบือนจากความน่าเชื่อถือด้านกลไก
คงมีแต่ผู้เชี่ยวชาญในระบบเท่านั้น ที่อ่านทริกนี้แบบแทงทะลุดูตลอด
ซึ่งซีรีย์เรื่องนี้ ก็มีการอิงอาศัยกลทางฟิสิกส์ กฎทางเคมี ทริกแบบเส้นผมบังภูเขาหรือนึกไปเองบ้างว่า
อันจะนำไปสู่ข้อสันนิษฐานที่ไปผูกโยงกับพฤติกรรมหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ข้องเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัย
ซีรีย์จึงไม่ถึงกับ "เหนือเด่น" ในแง่ความเป็นคดีในบางคดี
(บางคดีก็ดูช่างสรรหา ซึ่งพระเอกเราก็ช่างคุ้ยเสียด้วย) แต่ส่วนใหญ่
ก็มักจะไปสัมพันธ์ข้องเกี่ยวแบบที่รู้ตัวหรือเห็นแล้วแต่ไม่ทันคิดของตัวคนดูเอง
ด้วยประจักษ์วัตถุในที่เกิดเหตุชิ้นกระจ๋อยบางชิ้น ที่นำไปสู่การเปิดโปงในรูปแบบ
ของการจัดฉากของตัวฆาตกร ซึ่งก็มักจะลงมือกระทำเพียงแค่คนเดียว โดยที่อยากจะบอกว่า
เจ้าของบทประพันธ์เขาก็ช่างสรรหาลูกเล่นในห้องสี่เหลี่ยมได้ชนิด ค่อนข้างหมกมุ่นจริงๆนะ ผมว่า.....







ทำให้นึกถึงซีรีย์Ending Plannerได้อยู่เหมือนกัน เพราะอิงอาศัยประโยชน์จากศพ
จนเกิดเป็นซีรีย์แนวสืบจากศพ ภายใต้อำนาจนอกระเบียบปฏิบัติของเจ้าพนักงาน
เพราะสัปเหร่อดันเป็นผู้คลี่คลายคดี แล้วปล่อยให้ตำรวจเก็บกวาดภายหลัง
(ซึ่งวิธีการแบบนี้ในซีรีย์Mop Girl เขาก็เคยทำมาก่อนแล้ว จะว่าไปอันนี้เขาหยามหน้า
อาชีพตำรวจกว่ามาก เพราะดันให้เด็กถูพื้นคลี่คลายพิจารณาคดีแบบอิงเหนือธรรมชาติ)
ผู้เขียนว่าซีรีย์แนวนักสืบหลังๆ หันไปหาองค์ประกอบส่วนรองมากขึ้น แล้วเกิดการแช่แข็ง
ในฝ่ายพระเอกตำรวจฮีโร่มากขึ้นทุกที ซึ่งอันนี้ก็ไม่ใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
เพียงแต่ซีรีย์รุ่นก่อนหน้าเขาฉกฉวยใช้ประโยชน์จากตำรวจกันจน "เฟ้อ"  มันจึงถึงเวลาแล้ว
ที่ต้องหาความแตกต่างกันจริงๆจังๆกันเสียที เมื่อสำรวจความเป็นหน้าหนังของซีรีย์
จำนวนเรตติ้ง และความหมั่นทะยอยปั่นของตัวผู้เขียนวรรณกรรมยุสุเกะซัง แถมยังมีคะแนน
ผลโหวตชะลูดชี้เป้าอย่างนี้ คิดว่าน่าไม่เกินปีหน้าหรือปีต่อไป คงได้เห็นKagi no Kakatta Heya
เข้าหอลงโรงตามเส้นทางแบบซีรีย์รุ่นพี่อย่างGalileo,ShinzamonoหรือOdoru Daisousasen
ทำไงได้ เพราะระยะหลังๆหนังที่จะไปสู้พวกบ็อคบลาสเตอร์ของอเมริกานำเข้าได้
อุตสาหกรรมความบันเทิงของญี่ปุ่นก็ต้องอาศัยฐานทรัพยากรต่อยอดนี้เข้าสู้พอถูๆไถๆไปได้







ว่ากันในส่วนของการแสดง
การแสดงของเอริกะ ก็ถือว่ามาแปลกกว่าทุกครั้งที่เคยเห็น
จะเรียกว่าเป็นการแสดงที่ไม่ได้ขายภาพลักษณ์สาวใสแสนดีแบบเดิมๆ ก็ว่าได้
ออกไปทางเล่นโชว์โง่แต่มีผลให้คนดูรักก็ว่าได้ไม่ถนัดนัก เพราะบางที
ชีก็พยายามโชว์ความฉลาดให้เห็น แต่คนดูรับความฉลาดนั้นไม่ค่อยจะลง
ความที่เป็น "ตัวกลาง" เลยทำให้บทของเธอดูเยอะแต่ดูไม่ฟุ่มเฟือย อาจเพราะรูปแบบ
การแต่งตัวและอาศัยรวบผมแลดูเป็นคนวัยทำงาน แต่ก็ไม่ให้ดูเป็นสาวมั่นให้มาก
เพราะติดในเรื่องพฤติกรรมอาศัยทำตาโต-คิ้วขมวด และใช้ตลกเพื่อกลบเกลื่อน
ดูเป็นภาพลักษณ์ที่ครื่นเครงดี ปกติผู้เขียนออกจะค่อนข้างมีอคติแง่ลบกับหนูเอริกะเกือบทุกเรื่อง
ยกเว้นเรื่องนี้ที่ดูเป็นงานสบายๆ ขายเสน่ห์อีกด้านที่ไม่ค่อยพบเห็นสักเท่าไร
เช่นเดียวกับลุงโคอิชิ ซึ่งโดยปกติเขามักให้ลุงเล่นแต่บทสายโหดเข้ม หรือไม่ก็ตัวร้ายบริสุทธิ์แต่แรกพบ
สำหรับเรื่องนี้แกดันดูเป็นผู้ใหญ่ขี้เท่อ ปากไม่ตรงกับใจ และชอบเอาหน้าทว่าต้องแลกกับเอาตัวเข้าไปเกี่ยว
จุดที่ชี้ว่าแกเล่นเป็นคนดีแน่ ตรงที่เวลาเห็นอะไรที่ไม่ถูกหรือยุติธรรม แกก็พร้อมยึดปรัชญาทางวิชาชีพ
โดยไม่แคร์ถึงอามิสสินจ้างหรือภัยอันตราย ปกติดูซีรีย์พวกนี้มักจะมีตัวให้น่ารำคาญอยู่บ้าง
แต่สำหรับเรื่องนี้ผู้เขียนให้ผ่าน ไม่มีลูกขัดใจป๋าให้เล่นสักเท่าไร (ใน Mikeneko Holmes no Suiri
ตัวขัดใจปรากฎอยู่เพียบเลย) และอ่านคอมเมนต์ส่วนใหญ่ก็ไม่มีอะไรเกินความหรรษา
ที่นำเสนออยู่ตรงหน้า โดยส่วนมากยกผลประโยชน์กับความเป็นภาพรวมของซีรีย์
น้อยคนนักที่จะชี้ลงไปจุดใดจุดหนึ่งของเรื่องสักเท่าไร




lt seem that you think that violence is.
The only weapon that can subdue people but as lawyer.



(ดูเหมือนว่าความคิดของนายจะนิยมใช้แต่ความรุนแรงอยู่นะ
คงคิดแต่ว่าจะเอาอาวุธเข้าข่มชาวบ้านเขาไปทั่ว แต่สำหรับทนายอย่างพวกฉัน)



Our weapon is the law.please remember that well.


(อาวุธของพวกฉัน โทษทีมันคือกฎหมายวะ โปรดจำเอาไว้ให้ดีด้วย)







แต่ซีรีย์นี้ก็ออกแบบตัวละคร "ไค" ให้เป็นที่จดจำได้ชัดเจนเช่นกัน
โดยเฉพาะการกำหนดพฤติกรรมหมกมุ่นในสไตล์โอตากุ (และก็ไม่ใช่โอโตกุบ้านๆ
เพราะอุตสาห์ใส่แว่นกรอบหนายี่ห้อRay-Bandและเสียบหูฟังที่เห็นหัวจุกก็รู้ว่าเป็นหูของคนมีตังค์)
น่าจะเป็นการแสดงที่ฉีกจากกรอบเดิมที่ตัวเองเคยแสดง  แม้จะถือได้ว่า
เป็นนักร้องสมาชิกวงArashi ที่มีงานแสดงซีรีย์ทีวีอาจจะไม่เยอะเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ
อาจจะไม่ใช่การแสดงโชว์พาวด์-เอาถ้วย เพราะต้องเล่นลักษณะของคนไม่มีวิญญาณ
ท่วงท่าการเดินที่แข็งเป็นทื่อ ดูจะเป็นหุ่นยนต์มากกว่าคน คิดว่าน่าจะเอาอิทธิพลมากจากกรณีของ
แม่บ้านมิตะในKaseifu no Mita เพียงแต่ความลึกลับของตัวละครที่พ่วงกับเหตุการณ์ปริศนา
จะคนละโยชน์หรือคนละทาง แต่วิธีการนี้ก็ได้ผลลัพธ์ชัดเจนในแง่เสียตอบรับที่ดี
คิดว่าคงจะมีตัวละครเทรนด์นี้โผล่มาอีกหลายเรื่อง ที่ยังคงช่วยตอกย้ำว่า
เส้นแบ่งระหว่างอัฉจริยะกับความบ้า มันมีเพียงเส้นแบ่งที่ขวางกั้นเพียงเยื่อบางๆ
เป็นการแสดงที่ใช้พลังน้อยที่ให้ผลเยอะ ส่วนหนึ่งคงด้วยข้อดีในชุดคำอธิบายระบบกลไกโดยเฉพาะ
ลูกบิดประตูหลายลักษณะที่คนเขียนบทเขาทำการบ้านมาอย่างเข้มข้น
(จึงไม่ควรใส่อะไรมากกับตัวละครตัวนี้แล้ว) อีกทั้งยังได้เพื่อนตัวละคร
ที่สามารถทำให้คนดูอมยิ้มได้อยู่ตลอด ผสมกับสื่อกราฟฟิคและสื่อผสมที่ช่วยเสริมคำอธิบาย
ให้เข้าใจได้กระจ่างขึ้น และที่ส่วนเสริมหนึ่งที่เด่นกว่าซีรีย์นักสืบทั่วไป
ตรงความเป็นซาวด์สังเคราะห์จากดีเจซาวด์รีมิกซ์ "เคน อาราอิ"  ที่มาช่วยเสริมบรรยากาศ
ถึงขั้นซาวด์จากซีรีย์เรื่องนี้มีการถูกวางออกจำหน่ายเป็นรูปแบบซีดีอัลบั้มซาวแทร็คโดยเฉพาะ
(เท่าที่ติดตามวงการซีรีย์มา คิดว่าประเภทขายซาวด์เอาเบี้ยน่าจะไม่เคยได้ยินว่าเคยมี
หรือเคยมีแต่ยังไม่เคยได้ยิน) แทร็คที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นแทร็คที่ชื่อ Pink Kills
ที่ฟังแล้วครึ่งหนึ่งอยากหลอนครึ่งหนึ่งก็อยากมาแด็นซ์  เป็นอารมณ์เต้นแต่งานเข้าที่อธิบายไม่ถูก
เรียกว่าฟังครั้งแรกแล้วติดหูเลย จนFace Down ที่เป็นเพลงเปิดของเรื่องของวงอาราชิดูหมองไปเลย
และหนึ่งที่เป็นสิ่้งจดจำ คือ ท่าครุ่นคิดบิดดัชนีแล้วบิดล็อคของพี่ไค
ก็จัดได้ว่าเป็นแอ็คเท่ห์ท่าหนึ่งในวงการซีรีย์อัจฉริยะดีเทคทีฟท่าหนึ่งเลยทีเดียว
ไม่ได้เป็นรองดัชนีชี้หน้าแว่นของนายสืบGalileo ดัชนีปี๊งแวีบโอเคของนักสืบสาวKiina
หรือนั่งขัดสมาธิย่องใช้'หมองนั่ง'มาธิจากอิกคิวซังแต่อย่างใด









และดูเหมือนอาราชิแก็งค์ปีนี้ จะถูกหิ้วหันกันมาเอาดีในบทซีรีย์นักสืบกันยกใหญ่
เพราะก่อนหน้าช่วงเวลาไพร์มทองของฟูจิทีวี หนึ่งในสมาชิกท่านหนึ่ง "มัตซึโมโตะ จุน"
ก็เพิ่งชิมลางในทีมนักสืบเอกชนLucky Seven ที่ทนดูได้เพียงสามตอนบอกศาลาเลิก
เฉกเช่นเดียวกันกับMike-Neko Holmes No Suiriที่ได้มาซากิ ไอบะ ซึ่งก็เป็นหนึ่งสมาชิกในวง
มานั่งอุ้มแมวสืบคดี แถมยังฉายคาบเกี่ยวในซีซั่นเดียวกันสักอีก ซึ่งก็สะกดกำลัง
ของผู้เขียนได้แค่สามตอนอีกเช่นกัน ปกติผู้เขียนก็ไม่ค่อยจะเป็นปลื้มกับงานซีรีย์ทีวี
ที่มีสมาชิกวงนี้สักเท่าไร ถือว่าโอโนะนายแน่มากที่เรียกเสียงชื่นชมจากผู้เขียนไปหนึ่งเสียง
แม้บทบาทในการแสดงของตัวละครที่นายเล่น จะไม่ได้เค้นพลังในการแสดงว่าสุโค้ยย์สักเท่าไร
แต่จะดูถูกก็ไม่ได้ เพราะถือเป็นการเสี่ยงเลือกเล่นบทที่ฉลาดและผลลัพธ์ออกมาดีเกินคาด
ถึงแม้จะเป็นซีรีย์ในห้องที่ปิดตาย ก็ไม่ได้หมายความว่าใจผู้เขียนจะปิดตายด้วย
ปัญหาของการไม่ชอบขี้หน้ากลุ่มนักร้องที่จับงานบันเทิงสองทาง  แต่อย่างใด









ส่วนหนึ่งที่ทำให้ ซีรีย์ฆาตกรรมแนวห้องที่ปิดตายยังคงนิยมทำเกือบทุกสถานีที่โน้น
อย่างที่รู้ๆ ห้องปิดตายเป็นการเล่นกับเงื่อนไขและข้อจำกัด ทั้งในแง่ขนาด
ที่เป็นกรอบแปลนแบบกระชับพื้นที่ ที่จะไปถูกกำหนดลงลึกถึงช่องทางการเข้าออกเพียงไม่กี่ทาง
มีจุดสังเกตและทางเดินที่รับรู้ชัดเจน ให้พอสามารถที่จะบ่งชี้ตัวพยานรู้เห็นและง่ายต่อการสอบปากคำ
ดังนั้นการจะคลี่คลายคดีได้ จำต้องอาศัยตัวแปรที่อิงกับพื้นที่ตามข้อจำกัดที่ถูกกำหนดโดยขนาด
ซึ่งขนาดที่จำกัดก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีส่วนช่วยในการลดภาระความซับซ้อนของคดีในง่ายขึ้นเสมอไป
ตรงกันข้าม.......การเล่นกับข้อจำกัดหรือถูกตีกรอบ บางทีก็เป็นสิ่งที่สร้างปัญหาเพราะไม่อาจทำให้
ตัวแปรที่ถูกจำกัดไปเชื่อมต่อกับตัวแปรอื่นที่อยู่นอกขอบเขต เพราะดันไปไม่สัมพันธ์กับอาณาบริเวณของห้องที่ปิดตาย แต่ข้อดีของขนบซีรีย์แนวฆาตกรรมในห้องที่ปิดตายพวกนี้
ซึ่งผู้จัดก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรลงทุนอะไรมากมาย (ง่ายต่อการเซ็ตฉากในห้องส่งด้วยซ้ำไป)
นอกจากการเล่นกับพื้นที่ที่จำกัดแล้ว มันยังสามารถเล่นได้กับตัวละครที่อยู่ที่เกิดเหตุ
เล่นกับอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ปรากฎตั้งอยู่ในห้อง เล่นกับของจำกัดของช่วงเวลาที่เป็นเวลาฆาตกรรม
คือ มันง่ายต่อการเซ็ทเงื่อนไขที่ตายตัว และไล่เลี่ยเงื่อนไขนั้นไปทีละประเด็น
ให้คนดูมีส่วนร่วมกับความคิดและตีปริศนาที่ถูกนำเสนอ ส่วนไฮไลท์แน่นอนว่าเป็นบทเฉลย
ที่จะตรึงคนให้ต้องดูจนจบ ถ้าตอบถูก ก็มีโอกาสโชว์เหนือกับเพื่อนข้างๆ ส่วนถ้าผิดเหรอ?
ก็ไม่เป็นไร เอาไว้แก้ตัวใหม่ในตอนหน้าละกัน (ซึ่งถ้าเป็นซีรีย์ดราม่าโอกาส"เตลิด"จึงมีอยู่สูง
เพราะเงื่อนไขโดยหลักอยู่ที่การปรับระบบความสัมพันธ์ของตัวละครไปตามเวลาและสถานการณ์)
เห็นกำกับง่ายๆอย่างนี้ แต่กระนั้นผลลงทุนในแง่งัดสรรวิธีสารพัดสาระเพชนิดสับขาหลอก-ตอกฝาโรง
ของคนคิดมุก ยิ่งต้องใช้พลังมากกว่าฆาตกรรมในห้องที่เปิดตายเป็นเท่าทวี
ทว่า.......ซีรีย์แนวนี้ก็ไม่เคยตีบตัน เพราะมีการหล่อเลี้ยงของตลาดวรรณกรรมที่นักอ่าน
ยังคงอุดหนุนกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เรียกว่าอ่านกันเลือดคลั่งเพราะตลาดในJ-horror
มันก็เกิดปรากฎการณ์นักเขียนหน้าใหม่เกิดขึ้นแบบรายวัน มีสถาบันรางวัลส่งเสริมวรรณกรรม
หนังสือแนวเอาเป็นเอาตายกันยกใหญ่ ให้ผู้เขียนอ่านไม่ไหว-ไล่ไม่ทันเสียมากมาย
ยิ่งสืบค้นซีรีย์จำพวกนี้มากเท่าไร ก็ยิ่งพบอะไรที่ไม่เคยพบเคยเห็นมากขึ้นเท่านั้น
ยิ่งเป็นประเทศที่เขาถนัดนักกับการบริหารพื้นที่แคบๆให้ดูหลอกตาว่ายาวเป็นหลาอย่างญี่ปุ่นด้วยแล้ว
ขนาดพื้นที่ก้าวย่างแค่ตรอกสามเสื่อ เขาก็ยังมีวิธีการบริหารความบิดเบือนนั้น
โดยการเปลี่ยนรองเท้าเฉพาะส่วนนั้นส่วนนี้ของห้อง เข้าคู่นั่น ใส่คู่นี้
จนรู้สึกว่า การเดินให้ห้องเท่ารอดท้องช้าง มันเป็นอะไรที่น่าเหนื่อยส้นได้มากขนาดนี้........











และคงเป็นสูตรของค่ายฟูจิทีวีไปแล้วกระมัง ที่ตอนจบตอนสุดท้ายจะต้องให้ดาราชายตัวขาย
ท่านหนึ่งท่านใด มารับเล่นเป็นฆาตกรชิงลับสับแผนเร่งเรตติ้งทิ้งทวน ให้ดูแตกต่างจาก
บรรดาแขกรับเชิญ(เล่นจนเป็น)มืออาชีพ ครั้งนี้สถานีเลยได้พี่ท่านทามากิมาเล่นบทตัวร้าย
ฟาดชงไปตอนที่สิบและสิบเอ็ดกลัวไม่ร้ายจริง ยิ่งต้องเสริมหนวดเคราเพื่อเสริมดวงชะตาโจร













อ้างอิงข้อมูล


Dramawiki,Asianwiki,Tokyohive



Create Date : 19 กรกฎาคม 2555
Last Update : 9 ตุลาคม 2555 20:29:48 น. 5 comments
Counter : 8604 Pageviews.

 
ฆาตกรรมในห้องที่ถูกปิดตายนี้ คล้ายๆตอนหนึ่งในGalileoเลยนะคะ
แถมOSTที่แปะให้ฟัง มะนาวฟังแล้ว ยังกะเพลงนักสืบฝรั่งอ่ะค่ะ
เรื่องนี้คุ้นหน้าที่สุดก็คงเป็นเอริกะ โทดะ นี่ล่ะค่ะ
เอริกะทำผม แต่งตัวดูเรียบร้อยจังค่ะ แต่จากการบรรยายคุณลักษณะ
เหมือนว่าจะเป็นคนเฉิ่มๆนะคะ ประเภทเฉิ่มๆแต่น่ารักว่างั้นเถอะค่ะ
ขนาดจขบ.ยังหลงเสน่ห์เธอจากเรื่องนี้เลย(จากที่ไม่เคยชอบ)
แสดงว่าเรื่องนี้ เธอแสดงได้เข้าตากรรมการใช่ไหมคะ
แต่มะนาวนะคะชอบเธอจากเรื่องRyusei no Kizuna ไปแล้วล่ะค่ะ
จึงไม่ต้องดูเรื่องนี้เพื่อให้ชอบเธออีกค่ะ ชอบแล้วชอบเลยค่ะ
ส่วนลุงซาโต้ ตอนแรกคุ้นๆหน้าว่าเคยเห็นลุงซาโต้จากที่ไหนน๊อ
แล้วก็ปิ๊งป่อง เห็นจากเรื่องThe Magic Hour กับ
Waiting In The Darkนี่เอง เรื่องอื่นถ้าเห็นก็คงจำไม่ได้แล้วค่ะ
หน้าตาลุงแกเหมือนฝ่ายอธรรมมากกว่าธรรมะออกนะคะ
แต่เรื่องนี้กลับมาเป็นผู้พิทักษ์รักษาความยุติธรรม(ค้านกับหน้าตา)
ส่วนโฮโนะ ซาโตชิ เคยดูเรื่องMaouไปหน่อยหนึ่ง
แล้วหยุดดูเรื่องMaouก็เพราะอีตาโฮโนะนี่แหละค่ะ
หน้าตายังไงไม่รู้ รู้แต่ว่า ยิ่งเห็นหน้ายิ่งดูหนังไม่สนุก เลยทนดูไม่ไหว
ขนาดมีโทมะแสดงด้วยนะคะ ยังเอาไม่อยู่เลย ของเขาแรงจริง
แต่ว่าเรื่องนี้ซาโตชิแสดงเป็นหนุ่มไค ผู้เชี่ยวชาญระบบนิรภัยทุกประเภท
และคงจะมีโลกส่วนตัวสูงด้วยใช่ไหมคะ ถึงได้ถูกเรียกว่าโอตาคุอ่ะค่ะ
แล้วดูใส่แว่นเป็นหนุ่มเนิร์ดด้วย ดูท่าว่าจะเรียกแขกได้อยู่นะคะ
เพราะจะว่าไปเรตติ้งสวยเชียวนะคะ16 แถมคะแนนโหวตก็นำลิ่วอีก
คะแนนโหวตสูงนี้ เพราะแฟนๆArashiช่วยกันโหวตด้วยหรือเปล่าคะ^_^
แต่จขบ.บอกว่าเป็นเพราะสามทหารเสือแสดงได้กลมกล่อมและลงตัว
จึงทำให้ซีรีส์เรื่องนี้น่าดู หรือว่าอาจเป็นเพราะเนื่อเรื่อง
ที่มีการอธิบายการคลี่คลายคดี
โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เข้าพิสูจน์ด้วยหรือเปล่าคะ
จึงทำให้เนื้อเรื่องดูมีเหตุมีผล ทำให้ดูแล้วสนุกคะ
เพราะทำให้คนดูได้คิดตาม แหะๆไม่เดาแล้วค่ะ
อยากรู้ก็ต้องไปหามาดูเองใช่ไหมคะ ^0^
ว้าวๆแล้วมีท่านจิ๊มาแสดงปิดท้ายด้วยเหรอคะ อู๊ย!น่าดู


โดย: มะนาวเพคะ IP: 125.25.113.241 วันที่: 19 กรกฎาคม 2555 เวลา:21:02:11 น.  

 
ชอบแนวสืบสวนแบบนี้ จดชื่อเรื่องไว้ไปหามาดูบ้าง


โดย: นัทธ์ วันที่: 19 กรกฎาคม 2555 เวลา:22:23:13 น.  

 

อืม ใช่เลย Waiting In The Dark
พยายามนึกอยู่ว่า งานชิ้นไหนที่ลุงซาโต้
เล่นได้อย่างโดดเด่นเป็นที่สุด
ที่แท้ลุงที่โดนฆาตกรรมตกรางรถไฟนี้เอง



โดย: Mr.chanpanakrit IP: 49.49.173.12 วันที่: 22 กรกฎาคม 2555 เวลา:16:12:21 น.  

 
คลิกที่รูป เพื่อเอาโค้ดรูปนี้ไปแปะ

[ของตกแต่งโดนๆคลิกเลย]
-----------------------------------
ทักทายยามเย็นๆ วันนี้นอนทั้งวันรู้สึกได้ถึงความคล่องตัวกลับคืนมาอีกที อิอิอิ(ที่แท้แอบขี้เกียจ)ตื่นมาก็หิวเลยอ้อนแม่ว่าอยากกินปลาร้าสับ แม่กำลังจักให้อยู่ วันนี้ขอเป็นหนูแดงสักวันนิ คิดถึงคร่าาาาาาคิดถึงเลยแวะมาทักทายกัน มีความสุขนะคะคุณchan


โดย: เกศสุริยง วันที่: 22 กรกฎาคม 2555 เวลา:16:48:29 น.  

 
โทดะ เอริกะ ตอนเล่นซีรีย์ชื่อเรื่องยาวๆ กับฮารุมะ Taisetsu na Koto wa Subete Kimi ga Oshiete Kureta เธอดูผอมลง ทำให้ดูมีอายุมากขึ้น มาเรื่องนี้ แทบจำไม่ได้ว่าใช่เอริกะ เพราะหน้าตาแปลกไปคล้ายกับว่าจะผอมลงอีก คิดว่าเมื่อก่อนเธอหน้ากลมน่ารักกว่านี้

โฮโนะ อาราชิ เข้าใจว่าสาวกอาราชิคงกรี๊ดอยู่พอสมควร ว่าด้วยเรื่องเหยียบเรือสองแคมน้องร้องก็ใช่นักแสดงก็เอานั้น ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพราะส่วนใหญ่จะรู้จักแค่การเป็นนักแสดงไม่เคยเห็นในฐานะการเป็นนักร้อง เพลงก็ได้ยินเฉพาะเพลงประกอบละคร ที่ก็ฟังติดหูอยู่อย่าง A day in our life เพลงประกอบซีรีย์ Kisarazu Cat's eye

ส่วนทามากิ ถ้าคุณมะนาวไม่เอ่ยคำว่า "ท่านจิ๊" ก็คงจะลืมไปแล้ว เพราะไม่อยู่ในซีรีย์ที่เลือกชมมานานแล้ว

อ่านคุณสมบัติของพระเอกแล้ว ทำให้นึกถึง Saru Lock ปลดล็อคทุกอย่างเหมือนกัน แต่ขีดความสามารถอาจจะแคบกว่าเพราะพระเอกเรื่องนี้เขาครอบคลุมถึงระบบกลไลนิรภัยทุกชนิด ดูไฮโซกว่าช่างทำกุญแจเยอะเลย

จะว่าไปพลอตแนวสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นก็มีเยอะเหมือนกันนะคะ เห็นคุณ Chanpanakrit บ่นๆ เรื่อง Lucky Seven ก็เลยยอมถอยก่อนเพราะมัตสึโมโระ จุน ก็ไม่เคยปลื้มแต่อย่างใด แม้จะมีริสะ กับเอตะเป็นแรงดึงดูดก็เถอะ ก็เลยหันไปซื้อ voice มาพลางๆ แต่ก็ยังไม่ได้ดูเลย


โดย: prysang วันที่: 23 กรกฎาคม 2555 เวลา:14:08:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Chanpanakrit
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 28 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Chanpanakrit's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.