Every Feeling Everyone Every Day
พระอภัยมณีฉบับตัดต่อ ของ อาจารย์ เอื้อ มณีรัตน์ -- บทนำ




นิยายคำกลอนเรื่อง”พระอภัยมณี”ของสุนทรภู่ เป็นวรรณคดีชิ้นเอกของไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมจากคนไทย ตั้งแต่ตาสีตาสาขึ้นไปจนถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ปราชญ์ทางภาษาไทยหลายท่านได้ชี้ให้เห็นความดีเด่นของนิยายเรื่องนี้ ในแง่มุมต่างๆ กัน เช่นความสามารถในการผูกเรื่อง จินตนาการที่ล้ำยุค และความไพเราะของบทกวีประเภทกลอนแปดที่ไม่มีใครแต่งได้ดีเท่า นับตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน หรืออาจจะรวมทั้งในอนาคตอันยาวนานด้วย

สิ่งที่น่าวิตกก็คือ นับวันจะหาคนอ่านเรื่อง”พระอภัยมณี”ยากเข้าทุกที เพราะคนสมัยนี้สนใจสิ่งบันเทิงอื่นๆมากกว่า ถ้าเป็นเช่นนี้นานไป คนไทยรุ่นหลังอาจจะลืมวรรณกรรมอันล้ำค่าเรื่องนี้ไปก็ได้ และอาจมีคนไทยบางคนอ่าน”พระอภัยมณี”ไม่รู้เรื่อง เหมือนกับที่เราอ่าน”กำสรวลศรีปราชญ์”ไม่เข้าใจอยู่ในสมัยนี้

ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ เรื่องพระอภัยมณีมีความยาวมาก ถ้าพิมพ์เป็นหนังสือในยุคที่ต้นทุนการพิมพ์สูงมากเช่นนี้ คนทั่วไปคงจะไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของ ความคิดที่จะย่อ”พระอภัยมณี”ให้สั้นลงจึงเกิดขึ้นกับข้าพเจ้า

“พระอภัยมณีฉบับตัดต่อ”ที่ข้าพเจ้านำมาเสนอนี้ เป็นการนำเอาบทประพันธ์ของสุนทรภู่มาแบ่งออกเป็นตอนๆ แล้วเชื่อมด้วยคำกลอนที่ข้าพเจ้าแต่งขึ้นเพื่อให้เนื้อเรื่องติดต่อกัน ความสำคัญจึงอยู่ที่กลอนของสุนทรภู่ ส่วนกลอนที่เชื่อมต่อนั้น ท่านอ่านผ่านๆ ไปพอให้ทราบเรื่องราวที่ขาดไปเท่านั้นก็พอ


เอื้อ มณีรัตน์
บ้านเลขที่ ๑๗ ถนนราชวงศ์ อ.เมือง จ.พะเยา ๕๖๐๐๐





คำกลอนเรื่องพระอภัยมณีเป็นวรรณกรรมเอกของสุนทรภู่ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ ดังนี้

“เรื่องพระอภัยมณีซึ่งสุนทรภู่ได้เริ่มแต่งแต่ในรัชกาลที่ ๒ นั้น สังเกตเห็นถ้อยคำมีบางแห่งรู้ได้แน่นอนว่ามาแต่งต่อในรัชกาลที่ ๓ จะยกตัวอย่างดังคำนางสุวรรณมาลีว่ากับพระอภัยมณี เมื่อแรกดีกันที่เมืองลังกาว่า “ด้วยปีเถาะเคราะห์กรรมเกิดน้ำมาก น้ำท่วมปากท่วมลิ้นเสียสิ้นหนอ” อยู่ในเล่มสมุดไทยเล่ม ๓๕ ตรงนี้เห็นได้ว่าต้องแต่งในรัชกาลที่ ๓ ภายหลัง พ.ศ. ๒๓๗๔ การที่สุนทรภู่แต่งหนังสือพระอภัยมณี เห็นจะแต่งทีละเล่มสองเล่มต่อเรื่อยมาด้วยเป็นหนังสือเรื่องยาว ทำนองพระองค์เจ้าลักขณานุคุณจะได้ทอดพระเนตรหนังสือเรื่องพระอภัยมณี เมื่อสุนทรภู่ไปพึ่งพระบารมี และมีรับสั่งให้แต่งถวายอีก สุนทรภู่จึงแต่งเรื่องพระอภัยมณีอีกตอนหนึ่ง แต่จะไปค้างอยู่เพียงใดหาปรากฏไม่ เพราะสุนทรภู่พึ่งพระบารมีอยู่ได้ไม่ช้า พอถึงพ.ศ. ๒๓๗๘ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณก็สิ้นพระชนม์

เมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ เห็นจะไม่มีใครกล้ารับอุปการะสุนทรภู่ เวลานั้นเจ้าฟ้ากุณฑลก็ยังมีพระชนม์อยู่ ชะรอยจะทรงขัดเคือง ด้วยสุนทรภู่โจทเจ้า ไปพึ่งบุญพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ จึงทรงเฉยเสีย แต่เล่ากันมาว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยาบำราบปรปักษ์นั้นยังทรงสงสารสุนทรภู่ ถ้าไปเฝ้าเมื่อใดก็มักประทานเงินเกื้อหนุน แต่สุนทรภู่ก็ออกจะกระดากเองด้วย จึงไม่กล้าไปพึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยาบำราบปรปักษ์ ต้องตกยากอีกครั้งหนึ่ง กลับอนาถายิ่งกว่าคราวก่อน นัยว่าถึงไม่มีบ้านเรือนจะอาศัย ต้องลงลอยเรือเที่ยวจอดอยู่ตามสวน หาเลี้ยงชีพด้วยรับจ้างเขาแต่งบทกลอนกับทำการค้าขายประกอบกัน

สุนทรภู่จะตกยากอยู่สักกี่ปี ข้อนี้ไม่ทราบชัด ปรากฏแต่ว่าพ้นทุกข์ยากด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงพระปรานีโปรดให้ไปอยู่ที่พระราชวังเดิมซึ่งเป็นที่เสด็จประทับในสมัยนั้น และต่อมากรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเจ้าลูกเธอที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตามากอีกพระองค์หนึ่ง ทรงอุปการะด้วย เหตุที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพจะทรงอุปการะสุนทรภู่นั้น กล่าวกันว่าเดิมได้ทรงหนังสือเรื่องพระอภัยมณี (ชะรอยจะได้หนังสือมรดกของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ โดยเป็นอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกัน) ชอบพระทัย ทรงเห็นว่าเรื่องที่แต่งไว้ยังค้างอยู่ จึงมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งถวายให้ทรงต่อไป สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีมาได้ ๔๙ เล่มสมุดไทย หมายจะจบเพียงพระอภัยมณีออกบวช (ความตั้งใจของสุนทรภู่เห็นได้ชัดในหนังสือที่แต่งนั้น) แต่กรมหมื่นอัปสรฯ มีรับสั่งให้แต่งต่อไปอีก ด้วยเหตุนี้สุนทรภู่จึงต้องคิดเรื่องพระอภัยมณีตอนหลัง ตั้งแต่เล่มสมุดไทยที่ ๕๐ ขยายเรื่องออกไปจนจบต่อเล่มที่ ๙๔ แต่พิเคราะห์ดูเรื่องพระอภัยมณีตอนหลัง สำนวนไม่ใช่ของสุนทรภู่คนเดียว เล่ากันว่ากรมหมื่นอัปสรฯ มีรับสั่งให้แต่งถวายเดือนละเล่ม ถ้าเช่นนั้นจริงก็จะเป็นด้วยสุนทรภู่เบื่อ หรือถูกเวลามีกิจติดขัด แต่งเองไม่ทัน จึงวานศิษย์หาให้ช่วยแต่งก็จะเป็นได้”


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าว่าเคยได้ยินกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสว่า เรื่องพระอภัยมณีนั้น สุนทรภู่มิได้เดาเอาตามอำเภอใจทั้งนั้น ทรงพบเค้ามูลเรื่องพระอภัยมณีอยู่ในเรื่องอาหรับราตรีฉบับเซอร์ริชาร์ดเบอร์ตันเรื่องหนึ่ง ว่ามีกษัตริย์ถือศาสนาอิสลาม ไปตีเมืองซึ่งนางพระยาถือศาสนาคริสตัง ไปพบกันตัวต่อตัวในกลางศึก แล้วเลยรักใคร่กัน ทำนองเดียวกับเมื่อพระอภัยมณีได้นางละเวง ทรงสันนิษฐานว่าเมื่อสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีนั้น เห็นจะพยายามสอบสวนนิทานต่างประเทศมาก คงจะได้เค้าเรื่องอาหรับราตรีจากพวกแขกที่เข้ามาค้าขาย แล้วจำเอาเรื่องซึ่งรู้จากที่ต่างๆมาเลือกคิดติดต่อ ประกอบกับความสันนิษฐานของตน เรื่องพระอภัยมณีจึงแปลกกับนิทานไทยเรื่องอื่น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานต่อไปว่าสุนทรภู่คงจะได้แนวความคิดเรื่องที่ พระอภัยมณีเชี่ยวชาญในการเป่าปี่มาจากพงศาวดารจีนเรื่องไซ่ฮั่น คือเตียวเหลียงเป่าปี่เมื่อรบกับพระฌ้อปาอ๋อง ดังที่กล่าวไว้ในเรื่องไซ่ฮั่น ดังนี้

“เตียวเหลียงจึงเล่าให้ฮั่นสิ้นฟังว่า เมื่อน้อยข้าพเจ้าเที่ยวไปเมืองแหฝือ พบผู้วิเศษคนหนึ่งชำนาญเป่าปี่แก้ว ถ้าผู้ใดได้ยินเสียงปี่แล้วก็ให้สลดใจนัก ถึงมาตรว่าผู้ใดน้ำใจกระด้างดุจหนึ่งเหล็กและศิลาก็มิอาจแข็งขืนอยู่ได้ แต่คนผู้ชำนาญเป่าปี่นั้นมักพอใจเสพสุรา ข้าพเจ้าก็ปรนนิบัติให้ชอบใจ จึงเข้าร่ำเรียนวิชาอันนี้ได้ ครูได้เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่าแต่ต้นแผ่นดินนั้น กษัตริย์และราษฎรทั้งปวงก็นุ่งใบไม้ทั้งสิ้น มาจนเมื่อครั้งพระเจ้ายู้เต้ ซึ่งเป็นต้นตำราปี่อันนี้ได้เป็นกษัตริย์ จึงมีเครื่องนุ่งห่มผ้าผ่อนต่างๆ พระเจ้ายู้เต้ตัดเอาไม้ไผ่มายาวประมาณ ๒๒ นิ้วกึ่ง จึงเอาธาตุทั้งห้าตั้งเป็นกำลัง เอาเสียงสิบสองนักษัตรเป็นต้นเพลง จึงเป่าเป็นเสียงสัตว์ได้ทุกภาษา ถ้าจะเป่าให้เป็นบทกลอนประการใด ก็ได้ดุจหนึ่งน้ำใจทุกอย่าง เมื่อครั้งพระเจ้าไต้ซุ่นฮ่องเต้ได้เป็นกษัตริย์ จึงเอาวิชาปี่นี้มาแปลงออกไปเป่าได้เป็นเสียงหงส์ จึงสืบมาจนพระเจ้าจิ๋นอ๋องซึ่งเป็นกษัตริย์อยู่ในเมืองจิ๋นนั้น พระเจ้าจิ๋นอ๋องมีพระราชบุตรีองค์หนึ่งชื่อนางลั่งหยก และนางนั้นพอใจเรียนวิชาเป่าปี่ ครั้นนางลั่งหยกมีอายุจำเริญขึ้น พระเจ้าจิ๋นอ๋องให้จัดแจงแต่งงานตามประเพณี นางลั่งหยกจึงทูลพระเจ้าจิ๋นอ๋องว่า ถ้าและผู้ใดมิได้เรียนรู้วิชาเป่าปี่อันนี้ดีเสมอข้าพเจ้าๆจะไม่ยอมเป็นภรรยาเลย พระเจ้าจิ๋นอ๋องมีความกรุณาก็ผ่อนผันตามน้ำใจนางลั่งหยก จึงให้ข้าราชการไปเที่ยวหาผู้ซึ่งรู้ในวิชาเป่าปี่ ข้าราชการเที่ยวไปพบชายผู้หนึ่งชื่อเซียวซู้ นั่งเป่าปี่อยู่บนเขารูปร่างงาม จึงกลับเข้าไปทูล พระเจ้าจิ๋นอ๋องก็สั่งให้หาตัวผู้นั้นเข้าไป แล้วให้เป่าปี่โต้กันกับนางลั่งหยก ครั้นเซียวซู้เป่าปี่ขึ้น ฝูงหงส์และนกยูงก็พากันมารำอยู่เป็นอันมาก แต่โบราณย่อมสรรเสริญเซียวซู้กับนางลั่งหยกสองคนนี้ว่า ชำนาญเป่าปี่แก้วหาผู้เสมอมิได้ อันเสียงปี่นี้ ถ้ามนุษย์ได้ฟังแล้วก็ให้คิดถึงมารดาและบุตรภรรยานัก ครั้งนี้ข้าพเจ้าก็เห็นว่าเป็นหน้าใบไม้หล่นลมพัดเสมออยู่ เวลากลางคืนพรุ่งนี้ข้าพเจ้าจะขึ้นไปเป่าปี่อยู่บนเขาเกถีสัว ให้ได้ยินมาถึงเขากิวลิสาน จะให้ทหารพระเจ้าฌ้อปาอ๋องทั้งปวงนั้นมีน้ำใจสลดลง ระลึกถึงบ้านช่องของตัว ทิ้งพระเจ้าฌ้อปาอ๋องเสียให้จงได้”

เพลงปี่ของเตียวเหลียง เสียงเป่าปี่อยู่บนภูเขาเป็นเพลงว่า

“เดือนยี่ฤดูหนาวน้ำค้างตกเย็นทั่วไปทั้งสี่ทิศ จะดูฟ้าก็สูงแม่น้ำก็กว้าง ฤดูนี้คนทั้งปวงได้ความเวทนานัก ที่จากบ้านเมืองมาต้องทำศึกอยู่นั้น บิดามารดาและบุตรภรรยาอยู่ภายหลังก็ยื่นคอคอยอยู่แล้ว ถึงมีเรือกสวนและไร่นาก็จะทิ้งรกร้างไว้ไม่มีผู้ใดจะทำ เพื่อนบ้านที่เขาไม่ต้องไปทัพอยู่พรักพร้อมกันก็จะอุ่นสุรากินเล่นเป็นสุข น่าสงสารผู้ที่จากบ้านช่องมาหลายปีนั้น ที่บิดามารดาแก่ชราอยู่ก็ป่วยเจ็บล้มตายเสียหาได้เห็นใจบิดามารดาไม่ และตัวเล่าต้องมาทำศึกอยู่ฉะนี้ ถ้าเจ็บป่วยล้มตายลงก็จะกลิ้งอยู่กลางดินแต่ผู้เดียว บุตรภรรยาและญาติพี่น้องก็มิได้ปรนนิบัติรักษากัน เป็นผีหาญาติมิได้ ถ้าแต่งตัวออกรบครั้งใดก็มีแต่ฆ่าฟันกัน กระดูกและเนื้อถมแผ่นดินลงทุกครั้งดูสังเวชนัก ท่านทั้งปวงก็เป็นมนุษย์มีสติปัญญาอยู่ทุกคน เร่งคิดเอาตัวรอดไปบ้านช่องของตัวเถิด ท่านไม่รู้หรือ ม้านั้นก็เป็นแต่สัตว์เดียรัจฉาน ถ้าผู้ใดพาไปจากโรงและมิได้ผูกถือกักขังไว้ก็ย่อมกลับคืนมาถิ่นที่อยู่ของตัว อันประเพณีมนุษย์ถ้าจะเจ็บป่วยล้มตาย ก็ย่อมให้อยู่ที่บ้านช่องของตัวพร้อมบิดามารดาและญาติพี่น้องจึงจะดี ครั้งนี้เทพยดารู้ว่าพระเจ้าฌ้อปาอ๋องสิ้นวาสนาแล้ว จึงใช้เรามาบอกให้รู้ ให้เร่งคิดเอาตัวรอดเสีย ถ้าช้าอยู่อีกวันสองวันฮั่นอ๋องก็จะจับตัวฌ้อปาอ๋องได้ ถึงผู้ใดมีกำลังและหมายจะสู้รบก็เห็นไม่พ้นมือฮั่นอ๋องแล้ว อันกำลังศึกฮั่นอ๋องครั้งนี้อย่าว่าแต่คนเข้าต้านทานเลย ถึงมาตรว่าหยกและศิลาก็มิอาจทนทานอยู่ได้ อันฮั่นอ๋องนั้นเป็นคนมีบุญ น้ำใจก็โอบอ้อมอารีนัก ถึงผู้ใดจะเป็นข้าศึกถ้าและเข้าไปสามิภักดิ์แล้ว ก็ชุบเลี้ยงมิได้ทำอันตรายเลย ฮั่นอ๋องจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นแท้ ท่านทั้งปวงจงคิดอ่านเอาตัวรอดรักษาชีวิตไว้เอาความชอบดีกว่า ซึ่งเพลงของเราทั้งสามร้อยคำนี้ท่านทั้งปวงตรึกตรองทุกคำเถิด”

เตียวเหลียวเป่าซ้ำอยู่ดังนี้ถึงเก้าครั้งสิบครั้ง ทหารของพระเจ้าฌ้อปาอ๋องได้ยินเสียงปี่ และถ้อยคำที่เป่ารำพันไปดังนั้น ก็ยิ่งมีน้ำใจสลดลงกลัวความตาย ให้คิดถึงบิดามารดานัก นั่งกอดเข่าถอนใจใหญ่ร้องไห้อยู่


นอกจากท่านสุนทรภู่จะได้เค้าเรื่องมาจากเรื่องอาหรับราตรี และพงศาวดารจีนแล้ว ข้าพเจ้า(เอื้อ)ได้อ่านพบนิทาน เรื่องหนึ่งในคัมภีร์มงคลทีปนีแปลโดยพระครูศิริปัญญามุนี(อ่อน) มีข้อความดังนี้

นิทานพระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นบุตรยักขินี

อตีเต กาเล กิรดังจะได้ฟังมาในกาลล่วงแล้วไป ยังมีพระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ประพฤตินอกใจของพระราชสามี พระเจ้าพาราณสีจึงตรัสถาม พระนางก็กล่าวมุสาวาท บิดความ ปฏิญาณสาบานตัวว่า ข้าพเจ้าทำชั่วแล้วขอให้ข้าพเจ้าไปเกิดเป็นยักขินี พระราชเทวีทนสาบาน ครั้นทำลายสังขารก็ไปเกิดเป็นยักขินีอยู่ในถ้ำ ครั้นนางไปอุปฐากท้าวเวสสุวรรณอยู่ ๓ เดือน ท้าวเวสสุวรรณก็อนุญาตเขตแดน ให้นางยักษ์เที่ยวหากิน ๕ โยชน์

อยู่มาวันหนึ่ง นางยักขินีจับพราหมณ์รูปงามได้คนหนึ่งมีความรักใคร่ นำไปเป็นสามีด้วยความยินดีอยู่ในถ้ำนั้น

ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์จุติลงมาเกิดในท้องแห่งนางยักขินี ที่อยู่ในถ้ำนั้น เมื่อนางยักขินีมารดาไปเที่ยวหากินจับมนุษย์ได้แล้ว ก็กินเป็นอาหาร เหลือแต่ข้าวสุกข้าวสารผักปลา ก็นำมาเลี้ยงสามีกับบุตรที่อยู่ในถ้ำ ครั้นล่วงกาลนานมาพระโพธิสัตว์จึงถามบิดาว่า ทำไมบิดากับมารดาจึงมีหน้าไม่เหมือนกัน บิดาจึงบอกว่ามารดาของเจ้าเป็นยักขินี แต่บิดานี้เป็นมนุษย์จึงมีหน้าไม่เหมือนกัน

พระโพธิสัตว์ครั้นได้ฟังบิดาจึงคิดว่า มนุษย์จะอยู่ด้วยกันกับยักษ์หาสมควรไม่ โกรธขึ้นมาก็จะกินเสีย คิดดังนี้แล้วเมื่อมารดาไม่อยู่จึงออกไปสู่ปากถ้ำ เห็นหินก้อนใหญ่ปิดอยู่ ความว่านางยักขินีเมื่อจะไปหากินก็กลิ้งเอาหินมาปิดปากถ้ำแล้วจึงไป เพราะฉะนั้นพระโพธิสัตว์จึงไปผลักก้อนหินให้กลิ้งไป แล้วก็ออกมานั่งอยู่ข้างนอก ครั้นมารดากลับมาเห็นจึงถามว่าเจ้าออกมานั่งอยู่ข้างนอกด้วยเหตุอะไร โพธิสัตว์จึงว่าฉันอยู่ไม่ได้ข้างในมันมืด นางยักขินีก็ไม่ว่าอะไร พาลูกเข้าไปในถ้ำ

ครั้นล่วงกาลนานมา โพธิสัตว์จึงถามมารดาว่าเขตแดนของมารดามีเท่าไร นางยักขินีก็บอกว่าเขตแดนของมารดามี ๕ โยชน์ พอถึงริมฝั่งแห่งแม่น้ำข้างนี้ พระโพธิสัตว์ได้ฟังก็จดจำไว้ ครั้นมารดาไปหากินโพธิสัตว์ก็พาบิดาออกมาผลักศิลาปิดปากถ้ำได้แล้ว แบกบิดาพาหนีไปถึงฝั่งแห่งแม่น้ำ พาบิดาข้ามไปถึงกลางแม่น้ำ

ในขณะนั้นนางยักขินีกลับมา รู้ว่าบุตรกับสามีพากันหนีไป นางยักษ์รีบติดตามมา ถึงฝั่งน้ำเห็นสามีกับบุตรไปถึงกลางคงคา จึงมีวาจาว่า ตาต ดูกรเจ้าผู้บุตรของมารดา เจ้าจงกลับมาหามารดาเถิด โทษเจ้ามีมารดาจะยกให้ พระโพธิสัตว์จึงว่าข้าพเจ้าไม่ไปแล้ว ขอมารดาจงกลับไปยังถ้ำคูหาเถิด นางยักษ์ก็ร้องไห้เศร้าโศกโศกาอาลัยว่ามารดาไม่กลับไปแล้ว มารดาจะทิ้งร่างกายไว้ริมฝั่งนี้ เจ้าจงเรียนมนต์จินดามณีของมารดาไปเถิด เป็นมนต์อันประเสริฐ จะได้เลี้ยงชีวิต โจรลักข้าวของไปนานถึง ๑๒ ปี ก็ไล่ตามติดเอาของและโจรได้

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ยืนเรียนมนต์จากมารดาในท่ามกลางคงคา เสร็จแล้วนางยักขินีก็ตีอกด้วยหัตถา ล้มทอดกายาลงริมฝั่งคงคา ทำกาลกิริยาตายในที่นั้น ด้วยโทษที่ทำชั่วสาบานตัวไว้แต่ชาติก่อน...


เรื่องนางยักขินีนี้คงจะเป็นที่มาของนางผีเสื้อที่ลักพระอภัยมณีไปจนมีบุตรชายคนหนึ่งคือสินสมุทรในเรื่อง พระอภัยมณีของสุนทรภู่


กาญจนาคพันธุ์ผู้แต่งหนังสือเรื่อง”ภูมิศาสตร์สุนทรภู่” เขียนถึงเรื่องเมืองต่างๆในเรื่องพระอภัยมณีว่า ตั้งอยู่ตามตำแหน่งที่เข้ากับแผนที่ทวีปเอเชียด้านมหาสมุทรอินเดีย แสดงว่าสุนทรภู่วางแผนในการแต่งให้สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ของทวีปเอเชีย ไม่ได้แต่งสุ่มสี่สุ่มห้า

สิ่งที่น่าอัศจรรย์ในวิสัยทัศน์ของสุนทรภู่ก็คือ ท่านได้กล่าวถึงสิ่งที่นักประดิษฐ์ในสมัยของท่านยังไม่ได้สร้างขึ้นมา เช่น เรือที่แล่นได้ทั้งบนบกและในน้ำ (เรือสะเทินน้ำสะเทินบก สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒) หีบเสียง (ธอมัส เอดิสันสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๒๐) ธนูที่ยิงได้ทีละ ๗ ลูก (อาวุธจรวดชุด สร้างขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒) เสียงระฆังที่จะดังขึ้นเมื่อคนเหยียบบันได (ตรงกับการใช้โฟโตอีเล็คตริกเซลปิดเปิดบานประตูของสมัยนี้)

สุนทรภู่จึงเป็นกวีเอกอัจฉริยะที่คนไทยควรภูมิใจอย่างยิ่งเมื่อองค์การสหประชาชาติประกาศยกย่องให้เป็นกวีเอกของโลก


สิบนิ้วนบจบกระหม่อมไหว้จอมครู
ชนเชิดชูชื่นชมคารมกลอน
เป็นแบบอย่างสร้างสรรค์วรรณวิจิตร
เสนาะสนิทยิ่งนักในอักษร
สัมผัสพราวราวระนาดปี่พาทย์มอญ
บรรเลงซ้อนเสียงสลับเพราะจับใจ
หวานวิเวกเอกทุ้มนุ่มนวลโสต
ลางตอนโอดคร่ำครวญโหยหวนไห้
แล้วรัวเร่งเพลงสะบัดสะบิ้งไป
ทะยอยไล่"ลูกหมด"ท้ายบทตอน
ยามตกยากตรากตรำระกำหมอง
ก็ร้อยกรองกลอนระบายทุกข์ถ่ายถอน
ยามสมหวังดังจิตลิขิตกลอน
เป็นอักษรซึ้งซ่านสำราญรมย์
เรียบเรียงร่ำพร่ำไว้ในนิราศ
หลายรสชาติหวานชื่นคละขื่นขม
ลางตอนนั้นขันขำใช้คำคม
คนนิยมแยบยลนิพนธ์ตาม
กลอนนิยายหลายเรื่องกระเดื่องชื่อ
คนเล่าลือทั่วแคว้นแดนสยาม
จักสาธกยกย่อแต่พองาม
ให้เห็นความรอบรู้ของครูกวี
เช่นเรื่องพระอภัยมณีนาถ
เล่าฉลาดว่านาเวศวิเศษศรี
อาจแล่นได้ในจังหวัดปัฐพี
แต่ก่อนนี้คนเห็นเป็นนิทาน
แต่เดี๋ยวนี้มีใช้ใช่สิ่งแปลก
มิผิดแผกคำกลอนสุนทรขาน
ฝรั่งไทยใช้เพรื่อเรือรำบาญ
ขนทหารขึ้นบนหาดพร้อมศาสตรา
เรียกกันว่านาวีแอมฟีเบียน
ไทยเราเปลี่ยนแปลงความตามภาษา
"สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก"ยกโยธา
ลงชลาแล้วแล่นบนแผ่นดิน
อีกเรื่องนั้นฝันเฟื่องถึงเครื่องเสียง
ส่งสำเนียงดนตรีคีตศิลป์
จากผนังดังไกลคนได้ยิน
ศิลปินขับร้องทำนองเพลง
ความคิดที่มีมาแต่ครานั้น
อัศจรรย์จำเพาะแม่นเหมาะเหม็ง
ท่านก้าวล้ำนำสมัยนึกได้เอง
แบบละเบงหีบเสียงพอเพียงกัน
คนประดิษฐ์คิดขึ้นมาในคราหลัง
เป็นฝรั่งชื่อทอมัสเอดิสัน
ทุกคนเห็นเป็นสิ่งมหัศจรรย์
ท่านภู่บรรยายแบบไว้แยบยล
"พอเหยียบบันไดไพล่พลิกเสียงกริกกร่าง
ระฆังหง่างเหง่งตามกันสามหน"
คนครั้งนั้นสั่นเศียรเขียนชอบกล
พิลึกล้นหลากเหลือจะเชื่อตาม
สมัยนี้มีใช้ทั่วไปหมด
เกิดปรากฏจริงแท้หลายแหล่หลาม
ตามห้างใหญ่ไปดูจะรู้ความ
ไม่มียามรักษาหน้าประตู
เหมือนกับมีปีศาจฉลาดเลิศ
คอยปิดเปิดใบบานทวารอยู่
อีกเรื่องคล้ายทายไว้บอกให้รู้
เรื่องธนูผาดแผลงสำแดงฤทธิ์
"ธนูนั้นลั่นทีละเจ็ดลูก
หมายให้ถูกที่ตรงไหนก็ไม่ผิด"
คือจรวดนำวิถีที่ชี้ทิศ
ไล่ตามติดสังหารผลาญไพรี
จะรำพันสรรเสริญเกินวิสัย
ไม่มีใครทาบทัดรัศมี
ยิ่งตัวฉันด้อยปัญญาบารมี
แต่งกวีวรรณนากลอนพาไป
เหมือนหิ่งห้อยน้อยแสงขืนแข่งแข
ก็รังแต่คนจะหยันและหมั่นไส้
ขอจบคำจำเจียมเสงี่ยมใจ
ผิว์ร่ำไรกลัวผู้อ่านรำคาญเอยฯ


เอื้อ มณีรัตน์ ประพันธ์






Create Date : 25 มีนาคม 2551
Last Update : 26 มีนาคม 2551 14:04:48 น. 3 comments
Counter : 2487 Pageviews.

 
ดีจังเว็บนี้รักนะจู๊บบบบบบบบบบบบบบบ


โดย: pp IP: 58.8.54.39 วันที่: 11 มิถุนายน 2551 เวลา:20:58:39 น.  

 
ดีจังเว็บนี้รักนะจู๊บบบบบบบบบบบบบบบ


โดย: pp IP: 58.8.54.39 วันที่: 11 มิถุนายน 2551 เวลา:20:58:41 น.  

 
5555555555


โดย: pp IP: 58.8.54.39 วันที่: 11 มิถุนายน 2551 เวลา:20:59:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ณธีร์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




๏ กลั่นความรู้สึกวันละนิด
กรองความคิดวันละหน่อย
คั้นอารมณ์วันละน้อย
เรียงร้อยรอยลักษณ์อักษรา ฯ

Group Blog
 
<<
มีนาคม 2551
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
25 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ณธีร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.