bloggang.com mainmenu search

 

 

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ เดไปวา ประธานสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.

  ขณะที่รัฐบาลเร่งสปีดโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 2.2 ล้านล้านบาท ก็มีอีกความกังวลในเรื่องบุคลากรซึ่งจะมารองรับการดูแลระบบขนส่งทางรางในอนาคต เพราะตอนนี้หลายฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไทยยังขาดกำลังคนที่จะมาทำงานในด้านนี้
       
       หลักสูตรเทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง เป็นหนึ่งใน 4 หลักสูตรเทคโนโลยีเพื่ออนาคต ที่สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ภายใต้กำกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกับอีก 6 สถาบันการศึกษาสร้างขึ้นมา เพื่อรองรับความต้องการของประเทศ
       
       ศ.ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ ไทยเอสที ให้ความเห็นแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า รัฐจะลงทุนด้านเครื่องจักรกล 1.7 ล้านล้านบาท แต่ตอนนี้ยังไม่มีบุคลากรที่จะรองรับในด้านนี้ จึงจำเป็นต้องสร้างหลักสูตรระบบรางขึ้นมา
       
       การเรียนการสอนตามหลักสูตรเทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง เพิ่งเริ่มขึ้นในปีการศึกษา 2556 ณ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หนึ่งใน 7 สถาบันที่ร่วมสร้างหลักสูตรเปิดการเรียนการสอน โดยมีนักศึกษา 50 คนเข้าเรียนในหลักสูตรดังกล่าว และ สวทน.ได้สนับสนุนทุน 30 ทุนๆ ละ 5-6 ล้านบาทต่อปี
       
       หลังประเดิมหลักสูตรโดย สจล.เป็นปีแรก ศ.ดร.วัลลภกล่าวว่า มีหลายสถาบันที่จะเปิดการเรียนการสอนตามหลักสูตรเดียวกันนี้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นต้น ซึ่งนับเป็นความสำเร็จของการสร้างหลักสูตร
       
       การสร้างบุคลากรในหลักสูตรเทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงนี้ เพื่อรองรับโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ ซึ่ง ศ.ดร.วัลลภกล่าวว่า นอกจากวิศวกรที่ดูแลเรื่องเครื่องจักรกล ยังมีความต้องการบุคลากรทางด้านระบบขนส่งหรือโลจิสติกส์ และบุคลากรด้านการวางผังเมืองด้วย
       
       ทางด้าน ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ เดไปวา ประธานสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ การเรียนการสอนด้านวิศวกรรมขนส่งทางรางนั้นจะเรียนในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล เนื่องจากใช้พื้นฐานเดียวกันในระดับชั้นปีที่ 1 แต่เมื่อขึ้นสู่ชั้นปีที่ 2 จะเรียนในเนื้อหาที่แตกต่างกัน
       
       "เมื่อขึ้นปี 2 เนื้อหาเริ่มไม่เหมือนวิศวกรรมเครื่องกลแล้ว จะเริ่มมีการเรียนเกี่ยวรถไฟ ระบบราง การตรวจเช็ค การซ่อมบำรุง ระบบขับเคลื่อน ระบบขับเคลื่อนด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า จากนั้นดูระบบการสั่นสะเทือนของระบบราง ดูเรื่องอาณัติสัญญาณการควบคุมรถไฟ" ผศ.ดร.ณัฐวุฒิกล่าว
       
       อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นหลักสูตรแรก ผศ.ดร.ณัฐวุฒิกล่าวว่า เครื่องอำนวยความสะดวกสำหรับห้องปฏิบัติการทดลองยังต้องได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอก อาทิ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) SIEMENS, และหน่วยงานขนส่งของญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเยอรมนี เป็นต้น
       
       ในด้านการพัฒนาบุคลากรนั้น ประธานสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สจล.กล่าวว่า อาจารย์ผู้ได้รับการฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้จากอาจารย์ด้านวิศวกรรมขนส่งทางรางของสหรัฐฯ เพื่อนำความรู้กลับมาสอนแก่นักศึกษาในหลักสูตร
       
       เมื่อเรียนจบหลักสูตรเทคโนโลยีรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง ศ.ดร.วัลลภกล่าวว่า บัณฑิตสามารถทำงานเกี่ยวกับการขนส่งระบบราง หรือวิศวกรรมเครื่องกลก็ได้ เพราะผู้เรียนด้านนี้จะได้ใบประกอบวิชาชีพทั้งด้านเครื่องกลและระบบขนส่งทางราง
       
       ส่วนอีก 3 หลักสูตรที่เหลือ ได้แก่ หลักสูตรนวัตกรรมเพื่อการเกษตร การปรับพันธุ์พืช และการผลิตพันธุ์พืชและเมล็ดพันธุ์ ซึ่งดำเนินการสอนโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตนักปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งมีความต้องการจากภาคเอกชนสูง อีกทั้งเพื่อสนองยุทธศาสตร์ "ครัวไทยสู่ครัวโลก" และ "ความมั่นคงทางอาหาร เน้นพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ลำไย เป็นต้น
       
       หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม หรือ หลักสูตรทักษะวิศวกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ ดำเนินการสอนโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีจุดประสงค์เพื่อผลิตผู้เชี่ยวชาญเข้าสู่อุตสาหกรรม ลดต้นทุนนำเข้ายาชีววัตถุและเพิ่มมูลค่าการผลิตในประเทศ และปูทางเป็นศูนย์กลางการผลิตวัสดุชีวภาพของภูมิภาคเอเชีย โดยจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเพราะยาชีววัตถุนั้นได้จากสิ่งมีชีวิต จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เพื่อให้ได้คุณภาพ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยเป็นพิเศษ
       
       หลักสูตรเทคโนโลยีหุ่ยนต์และระบบอัตโนมัติ ดำเนินการสอนโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตั้งเป้าผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความเข้าใจด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาในเชิงกระบวนการผลิตและสร้างนวัตกรรมทพร้อมศึกษาต่อเนื่อง เพื่อทำวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับสูงต่อไป และสามารถเป็นผู้ประกอบการทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อลดการนำเข้า
     

 

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

สวัสดิ์สิริชีววารค่ะ

Create Date :11 กรกฎาคม 2556 Last Update :11 กรกฎาคม 2556 9:32:11 น. Counter : 1386 Pageviews. Comments :0