bloggang.com mainmenu search

 

 

วัฒณสิทธิ์ พิมเพา หัวหน้าทีมวิจัยเครื่องตรวจวัดอะฟลาทอกซิแบบพกพาที่ใช้หลักการวัดค่าปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า (กล่องดำ) พร้อมนำยาสำหรับทำปฏิกิริยากับตัวอย่างที่ต้องการตรวจสอบ และหัววัดที่พิมพ์ด้วยนาโนกราฟีน

 

       เครื่องตรวจ “อะฟลาทอกซิน” ใช้หลักการใหม่ที่ไม่เคยใช้ “วัดค่าปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า” ใช้เวลาแค่ 10 วินาทีรู้ผล และต้นทุนผลิตไม่กี่พันบาท แต่มีความแม่นยำถึง 98% พร้อมแสดงผลเป็นตัวเลขชัดเจน ต่างจากหลักการเดิมใช้เวลานานถึง 6-7 ชั่วโมงและมีต้นทุนราคาเครื่องสูงเป็นล้าน นักวิจัยชี้พร้อมให้นักลงทุนนำไปต่อยอดทางธุรกิจ
       
       เครื่องตรวจ “อะฟลาทอกซิน” ใช้หลักการใหม่ที่ไม่เคยใช้ “วัดค่าปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า” ใช้เวลาแค่ 10 วินาทีรู้ผล และต้นทุนผลิตไม่กี่พันบาท แต่มีความแม่นยำถึง 98% พร้อมแสดงผลเป็นตัวเลขชัดเจน ต่างจากหลักการเดิมใช้เวลานานถึง 6-7 ชั่วโมงและมีต้นทุนราคาเครื่องสูงเป็นล้าน นักวิจัยชี้พร้อมให้นักลงทุนนำไปต่อยอดทางการตลาด
       
       เครื่องตรวจวัดอะฟลาทอกซินดังกล่าวพัฒนาโดยทีมวิจัยที่นำโดย วัฒณสิทธิ์ พิมเพา จากห้องปฏิบัติการงานวิจัยนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค (MEMS Lab) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งอาศัยหลักการวัดค่าปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า ผสานกับวัสดุชนิดใหม่ที่กำลังมาแรงอย่าง “นาโนกราฟีน” ทำให้ตรวจวัดสารอะฟลาทอกซินได้สะดวกและรวดเร็วกว่าเดิม
       
       วัฒณสิทธิ์เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ได้ยินข่าวเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้าจากประเทศเกี่ยวกับการห้ามนำเข้าสินค้าที่มีสารอะฟลาทอกซิน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาพัฒนาเครื่องตรวจวัดสารดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันที่มีมีใช้กันอยู่นั้นมีการทำงานที่ซับซ้อนและมีราคาแพง โดยมีต้นทุนหลักล้านบาท และใช้เวลาตรวจนาน 6-7 ชั่วโมงและยังแสดงผลเป็นแถบสีที่ต้องนำไปเทียบกับตารางข้อมูล แต่เครื่องตรวจแบบใหม่จะแสดงค่าเป็นตัวเลขได้ตั้งแต่ไม่พบสารอะฟลาทอกซิน  
       
       “อะฟลาทอกซินเป็นสารพิษในเชื้อราที่พบในเมล็ดพันธุ์พืช หลักๆ คือพืชตระกูลถั่วเนื่องจากฝังอยู่ใต้ดิน พริกแห้ง หัวหอม ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้มีสารพิษนี้เปื้อนในอาหารได้ไม่เกิน 20 ppb (20 ส่วนในพันล้านส่วน) แต่ในทางปฏิบัติไม่ควรมีสารพิษนี้เลย” วัฒนสิทธิ์ข้อมูล
       
       เครื่องตรวจวัดอะฟลาทอกซินที่วัฒนสิทธิ์พัฒนาขึ้นมานี้อาศัยหลักการวัดค่าปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้าที่หัววัด ซึ่งหัววัดดังกล่าวเคลือบสารพิเศษที่ทำปฏิกิริยาเฉพาะอะฟลาทอกซิน และพิมพ์วงจรด้วยนาโนกราฟีนซึ่งเป็นคาร์บอนรูปแบบหนึ่ง จากนั้นเครื่องตรวจวัดจะอ่านค่าปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้าที่เกิดขึ้น และแสดงผลที่หน้าจอว่ามีสารพิษจากเชื้อรานี้กี่ ppb
       
       วัฒนสิทธิ์บอกว่าพัฒนาเครื่องตรวจวัดนี้มา 3 รุ่นแล้ว โดยรุ่นแรกเป็นเครื่องตรวจวัดที่แสดงผลผ่านคอมพิวเตอร์ รุ่นต่อพัฒนาให้สามารถพกพาได้และแสดงผลภายในเครื่อง แต่รูปลักษณ์ยังไม่สวยงาม รุ่นที่ 3 จึงปรับปรุงรูปแบบให้สวยงามมากขึ้น ซึ่งตอนนี้พร้อมถ่ายทอดแก่ภาคเอกชนที่สนใจลงทุนผลิตเครื่องตรวจดังกล่าว เพื่อจำหน่ายแก่ผู้ประกอบการอาหารทุกประเภทที่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์พืช
       
       “ผู้ประกอบการอาหารสามารถใช้เครื่องตรวจวัดอะฟลาทอกซินนี้แทนเครื่องตรวจทั่วไปที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศในราคานับล้านบาทได้ โดยวิธีการใช้เพียงนำตัวอย่างที่ต้องการบดมาผสมสารเคมีที่กำหนดให้ จนได้สารละลายแล้วนำไปลงหยดลงหัววัด ซึ่งกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง และเมื่อหยดสารละลายลงหัววัดแล้วเครื่องตรวจจะใช้เวลาเพียง 10 วินาทีเพื่อแสดงผล แล้วเปลี่ยนหัววัดเพื่อทดสอบตัวอย่างอื่นได้อย่างต่อเนื่อง โดยค่าใช้จ่ายในการทดสอบอยู่ที่ตัวอย่างละ 100 บาท ขณะที่การทดสอบแบบเดิมมีค่าใช้จ่ายตัวอย่าง 2,500 บาท” วัฒนสิทธิ์กล่าว
       
       ทั้งนี้เครื่องตรวจวัดอะฟลาทอกซินเป็นหนึ่งในผลงานเด่นของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมกับผลงานเด่นอื่นๆ อีกรวม 6 ผลงาน อาทิ ระบบตรวจนับเซลล์แบบอัตโนมัติที่ใช้เทคนิคทางแสงช่วยในการตรวจนับ เหมาะแก่งานด้านการแพทย์ที่ต้องตรวจนับเซลล์เม็ดเลือดหรือเซลล์มะเร็ง ผลิตภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชโดยใช้เทคโนโลยีชีวินทรีย์เพื่อควบคุม “หนอนกระทู้หอม” ที่ทำลายพืชเศรษฐกิจของไทย หรือลูกอมเม็ดหญ้าหมอน้อยเพื่อเลิกบุหรี่ เป็นต้น ซึ่งจะนำเสนอภายใน NSTDA Investors Day ของ สวทช.ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 12 ก.ย.56 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปต่อยอดทางธุรกิจ

วัฒณสิทธิ์ พิมเพา หัวหน้าทีมวิจัยเครื่องตรวจวัดอะฟลาทอกซิน        
ผลิตภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชโดยใช้เทคโนโลยีชีวินทรีย์เพื่อควบคุม “หนอนกระทู้หอม”        
หนอนกระทู้หอมที่ถูกทำลายด้วย ผลิตภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชโดยใช้เทคโนโลยีชีวินทรีย์

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

สวัสดิ์สิริชีววารค่ะ

Create Date :29 สิงหาคม 2556 Last Update :29 สิงหาคม 2556 9:41:04 น. Counter : 1662 Pageviews. Comments :0