bloggang.com mainmenu search

 

 

 

       วงการวิทย์ของอังกฤษออกมาโจมตีรัฐบาลหลังหั่นงบวิจัยลงไป 10% เพื่อนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คนวงในแจงยิ่งลดทอนเงินวิจัยยิ่งทำเศรษฐกิจดิ่งเหว พร้อมชี้ถึงความจำเป็นของงานวิจัยที่ต้องรับมือกับปัญหาท้าทายต่างๆ ในภายภาคหน้า และยกตัวอย่างจีนและเกาหลีที่ตั้งเป้าลงทุนวิจัยและพัฒนาเป็น 2.5% และ 5% ตามลำดับ
       
       อ้างตามรายงานของบีบีซีนิวส์วันที่ 26 มิ.ย.นี้รัฐบาลอังกฤษเตรียมเสนอการใช้งบประมาณในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งวงการวิทยาศาสตร์กำลังวิพากษ์วิจารณ์การลดงบประมาณวิจัย ที่คงที่มาตั้งแต่ปี 2010 แต่ด้วยภาวะเงินเฟ้อทำให้มูลค่าของการลงทุนลดลงถึง 10% นับแต่นั้น
       
       เซอร์ พอล เนอร์ส (Sir Paul Nurse) ประธานราชบัณฑิตอังกฤษ (Royal Society) และนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์กล่าวว่า การลดงบลงทุนวิจัยจัยิ่งทำลายเศรษฐกิจ โดยเปรียบวิทยาศาสตร์เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ของการเจริญเติบโต ซึ่งเราไม่ควรทำลายเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ยุ่งยาก เราควรถนอมเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นไว้ ซึ่งเป็นข้อความที่วงการวิทยาศาสตร์อยากจะบอกไปถึงรัฐบาล  โดเขาได้กล่าวไว้ ณ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ลอนดอน (London's Science Media Centre) ที่มีตัวแทนสถาบันวิทยาศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิมาประชุมกัน
       
       ด้าน เซอร์ จอห์น ทูเก้ (Sir John Tooke) ประธานวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Academy of Medical Sciences) ของอังกฤษกล่าวว่า ไม่ควรมีใครต้องสงสัยถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนวิจัยทางการแพทย์ ทั้งในแง่เศรษฐกิจและสุขภาพของประชาชน พร้อมทั้งยกตัวอย่างเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอ การพัฒนายาใหม่ๆ ที่อิงแอนติบอดีแบบโมโนโคลน (monoclonal antibodies) หรือการวินิจฉัยโรคด้วยเทคโนโลยีดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นล้วนเป็นการลงทุนวิจัยของอังกฤษที่ช่วยรักษาชีวิตผู้คนและสร้างรายได้ให้แก่บริษัทต่างๆ ในอังกฤษ
       
       นอกจากนี้ เซอร์ ทูเก้ยังบอกอีกว่าปัญหาท้าทายในทศวรรษหน้าที่กำลังเข้ามานั้นยิ่งทำให้ต้องลงทุนวิจัยมากขึ้น พร้อมเน้นถึงการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยสมองเสื่อมที่คาดว่าจะสูงถึง 1.5 ล้านคนในปี 2030 รวมถึงการดื้อยาที่เพิ่มขึ้นยิ่งเพิ่มปัญหาท้าทายเหล่านั้น อีกทั้งเรายังต้องปกป้องระบบอันเปรอะบางที่พึ่งพาซึ่งกันและของสถาบันการศึกษา ระบบบริหารสุขภาพ อุตสาหกรรมและภาคการกุศล ซึ่งหากทำลายส่วนหนึ่งส่วนใดไป ย่อมทำให้ภาพรวมของทั้งตกอยู่ในความเสี่ยง  
       
       การลดการลงทุนหรือความไม่แน่นอนในการลงทุนวิจัยนั้น เซอร์ทูเก้กล่าวว่าจะทำให้อังกฤษสูญเสียอิทธิพลการจัดหาทุนจากการกุศล จากต่างประเทศ รวมทั้งจากอุตสหากรรมยา ซึ่งอุตสาหกรรมยาได้ลงทุนเป็น 5 เท่าของการลงทุนภาครัฐในด้านการวิจัยสุขภาพ อีกทั้งยังจะสูญเสียนักวิจัยที่มีพรสวรรค์ไปยังเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งจะเท่ากับลดนวัตกรรมทางการแพทย์ ส่งผลให้เกิดความล้มเหลวต่อความคาดหวังของประชาชนและผู้ป่วย
       
       ผู้นำในวงการวิทยาศาสตร์อังกฤษยังบอกด้วยว่าการลงทุนวิจัยของอังกฤษได้ล่วงไปอยู่รั้งท้ายประเทศคู่แข่งขันอื่นๆ ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยการใช้จ่ายด้านวิทยาศาสตร์ของภาครัฐอยู่ที่ 0.65% ของจีดีพี เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของชาติ จี8 (G8) ที่อยู่ที่ 0.8% ส่วนจีนที่กำลังผงาดในวงการวิทยาศาสตร์ตั้งเป้าลงทุนวิจัย 2.5% ของจีดีพีภายในปี 2020 ขณะที่เกาหลีใต้ตั้งเป้าสูงถึง 5% ภายในปี 2022 ส่วนบราซิลตั้งเป้าที่ 2.5% ภายในปีเดียวกับเกาหลี  
       
       เปรียบเทียบการลงทุนวิจัยเฉพาะในชาติพัฒนาแล้วเมื่อมองในภาพรวมอังกฤษใช้เงินเพื่อวิทยาศาสตร์เป็นอันดับ 7 แต่เมื่อมองในระดับเปอร์เซนต์ของการลงทุนอันดับดังกล่าวตกไปอยู่ที่ 25 ทั้งนี้ งบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ของอังกฤษอยู่ในการดูแลของกระทรวงธุรกิจการค้า นวัตกรรมและความเชี่ยวชาญ (Department for Business, Innovation and Skills: BIS) ซึ่งได้แบ่งงบดังกล่าวเป็น 2 ส่วนคือส่วนของการดำเนินงานวิจัยและส่วนของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของห้องปฏิบัติการ  
       
       ส่วนงบสำหรับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของอังกฤษก็ถูกโยกไปยังกระทรวงด้านกีฬา วัฒนธรรมและการสื่อสารของอังกฤษ ส่งผลให้ผู้ดำเนินการอาจต้องปิดพิพิธภัณฑ์บางส่วน รวมถึงโครงการจัดแสดงนิทรรศการอาจต้องถูกยุบลง ซึ่งจะทำให้การศึกษาของมวลชนถูกตัดออกไปด้วย  
       

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

สิริสวัสดิ์ศุกรวารค่ะ

Create Date :07 มิถุนายน 2556 Last Update :7 มิถุนายน 2556 7:49:48 น. Counter : 732 Pageviews. Comments :0