bloggang.com mainmenu search

 


อุปกรณ์ฝึกนั่งส้วมให้ถูกตำแหน่ง ซึ่งจะมีกล้องจับภาพตำแหน่งร่างกายว่าถูกต้องหรือไม่ และผู้ฝึกจะทราบได้จากจอที่อยู่ด้านหน้า โดยเป็นการฝึกส่วนบุคคลที่มนุษย์อวกาศต้องฝึกด้วยตัวเองโดยไม่มีผู้ช่วย
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น ส้วมอวกาศ
มาร์ก โรเบิร์ตส (Mark Roberts) ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์ความกล้าหาญแห่งท้องทะเล อากาศและอวกาศ
คณะปฏิบัติงานประจำเที่ยวที่ 19 บนสถานีอวกาศนานาชาติ ทำการทดสอบน้ำดื่มที่รีไซเคิลจากปัสสาวะ

เราอาจนึกถึงแต่ภาพไฮเทคของภารกิจบนห้วงอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางสู่ดวงจันทร์ที่สำเร็จมาหลายทศวรรษแล้ว หรือการออกไปปฏิบัติภารกิจในวงโคจรอยู่บนสถานีอวกาศ แต่ที่สำคัญไม่แพ้การพัฒนาด้านอื่นๆ คือสร้าง “ส้วม” สำหรับปลดทุกข์ให้แก่มนุษย์อวกาศ
       
       “พวกฉันต้องฉี่” เสียงวิทยุเรียกจาก อลัน เชพาร์ด (Alan Shepard) มนุษย์อวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาสสหรัฐ (นาซา) จากแคปซูลฟรีดอม 7 (Freedom 7) เมื่อวันที่ 5 พ.ค.1961 ขณะกำลังจะเตรียมจะเป็นมนุษย์อวกาศในวงโคจรคนที่ 2 ของโลกและจะเป็นตัวแทนจากอเมริกาคนแรก
       
       ทั้งนี้ ก่อนจะปฏิบัติภารกิจบนอวกาศ 15 นาที เชพาร์ด ต้องนั่งรอความล่าช้าของเที่ยวบินประวัติศาสตร์อยู่ 5 ชั่วโมง และระหว่างรอนั้นเองเขาก็เกิดอาการอยากเข้าห้องน้ำขึ้นมา สเปซด็อทคอมที่หยิบเรื่องส้วมอวกาศมารายงานพิเศษระบุว่า เวลานั้นทางเจ้าหน้าที่นาซาเอง ก็ไม่ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว พวกเขาคิดว่าปฏิบัติการแค่ช่วงเวลาสั้นๆ น่าจะเลี่ยงการเผชิญปัญหาดังกล่าวได้
       
       การปล่อยมนุษย์อวกาศคนแรกของชาติต้องปัสสาวะใส่ชุดอวกาศสีเงิน ไม่ใช่สิ่งที่นาซาพร้อมรับมือ เพราะชุดอวกาศที่เต็มไปด้วยสายวงจรเชื่อมต่อเซนเซอร์ตรวจวัดสุขภาพ อาจเสียหายหากเปียกขึ้นมา ในที่สุดพวกเขาจึงไม่ทางเลือกนอกจากปล่อยให้เชพาร์ดไปทำธุระส่วนตัว
       
       “คุณคิดว่าเป็นเกียรติมากที่ได้เป็นมนุษย์อวกาศงั้นเหรอ? มีงานงานหนักที่ต้องทำอยู่มาก และมีงานที่น่าอดสูอยู่มากเช่นกัน” มาร์ก โรเบิร์ตส (Mark Roberts) ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์ความกล้าหาญแห่งท้องทะเล อากาศและอวกาศ (Intrepid Sea, Air & Space Museum) กล่าวระหว่างงานมหกรรมอวกาศของพิพิธภัณฑ์เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

 และหลังเหตุการณ์ของเชพาร์ดแล้ว นาซาก็ออกแบบอุปกรณ์ที่ใส่ใจต่อการทำงานพื้นฐานของร่างกายให้ดีขึ้น ทว่ามูลอวกาศก็ยังตามรังควาญองค์การอวกาศอยู่ดี
       
       ในช่วงเวลาที่ กอร์ดอน คูเปอร์ (Gordon Cooper) ทะยานฟ้าในกับเที่ยวบินอวกาสในโครงการเมอร์คิวรี (Project Mercury) เมื่อปี 1963 ได้สร้างอุปกรณ์เก็บปัสสาวะ ที่มนุษย์อวกาศคนหนึ่งสามารถสวมใส่ภายในยานอวกาศ 1 ที่นั่งได้ แต่เที่ยวบินของเขาก็ไม่ได้ผ่านไปอย่างรวบรื่น ในช่วงเกือบเสร็จภารกิจโคจรรอบโลก 22 รอบเป็นเวลา 34 ชั่วโมงนั้น

ระบบด้านหลังแคปซูลของเขาก็เริ่มไม่ทำงานอย่างหาสาเหตุไม่ได้ เขาต้องควบคุมแคปซูลด้วยตัวเองและนำยานกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศที่เป็นขั้นตอนอันตรายที่สุด
       
       จากการสืบสวนพบว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากถุงบรรจุปัสสาวะของเขารั่วซึม ทำให้มีหยดปัสสาวะเข้าไปในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้ระบบควบคุมอัตโนมัติไม่ทำงาน
       
       แค่การถ่ายเบาก็สร้างปัญหาขนาดนี้ แล้วการถ่ายหนักจะสร้างปัญหาขนาดไหน? เมื่อนาซาเริ่มวางแผนภารกิจอวกาศระยะยาว จึงต้องนำเรื่องการขับถ่ายของนักบินอวกาศมาร่วมคิดคำนึงด้วย
       
       โครงการเจมินี (Gemini) โครงการถัดมาขององค์การอวกาศที่ทำการฝึกซ้อมอัันทรหดเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในการนำยานของโครงการอพอลโล (Apollo) ไปดวงจันทร์ โดยได้ส่งมนุษย์ 2 คนขึ้นไปนั่งคู่กันในยานอวกาศ เพื่อแสดงให้เห็นว่ามนุษย์สามารถมีชีวิตรอดในอวกาศนาน 2 สัปดาห์
       
       จิม เลิฟเวลล์ (Jim Lovell) และ แฟรงก์ บอร์แมน (Frank Borman) นักบินอวกาศของนาซากลายเป็นมนุษย์ที่อยู่ในอวกาศนานที่สุดในขณะนั้น หลังจากใช้เวลา 14 วันในอวกาศอยู่ภายในยานเจมินี 7 แต่ไม่มีส้วมสำหรับพวกเขา มีเพียงถุงพลาสติกที่พวกเขาต้องใช้ทำภารกิจ "No. 2" ต่อเนื่องทุกวัน
       
       มาถึงภารกิจอพอลโลสเปซด็อทคอมระบุต่อว่าส้วมสำหรับมนุษย์อวกาศก็ยังไม่ใช่อะไรที่ซับซ้อน บัซ อัลดริน (Buzz Aldrin) และ นีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) มีถุงเก็บของเสียตัวเองติดอยู่ที่บั้นท้ายด้วยแถบกาว และในที่แรงโน้มถ่วงต่ำก็ทำให้เกิดความยุ่งเหยิงได้
       
       โรเบิร์ตสคนเดิมเล่าว่าในภารกิจอพอลโลนั้นพวกเขาพบปัญหาของเสียไม่ยอมแยกจากตัว ดังนั้นในถุงเก็บของเสียก็จะมี "ถุงยางนิ้ว" ที่มนุษย์ใช้จัดการของเสียของตัวเอง และต้อง "คลุก" สารจำกัดแบคทีเรียในของเสียตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดการหมักในถุงที่ปิดผนึกแล้วเกิดระเบิดขึ้นได้
       
       ภารกิจปลดทุกข์ในยานอพอลโลใช้เวลา 45 นาทีถึงชั่วโมง และเพื่อลดการทำงานของลำไส้มนุษย์อวกาศ โรเบิร์ตสกล่าวว่าพวกเขาต้องกินอาหารที่มีโปรตีนสูงและกากใยต่ำ อย่างอาหารประเภทสเต็กหรือไข่ที่ร่างกายดูดซึมไปหมดและไม่ค่อยเหลือของเสีย
       
       ส่วนการถ่ายเบาก็ไม่ง่ายนักสำหรับลูกเรืออพอลโล อุปกรณ์เก็บปัสสาวะของพวกเขาเป็นถุงคล้ายถุงยางอนามัยที่ติดอยู่กับยางเชื่อมเข้ากับช่องสุญญากาศที่มีวาล์วปิดเปิด และจากรายงานของมนุษย์อวกาศเองการต้องใช้อุปกรณ์เหล่านั้นทำให้พวกเขารู้สึกไม่ค่อยดีนัก
       
       ทุกวันนี้การเข้าส้วมของมนุษย์อวกาศน่ากลัวน้อยกว่าเดิมมาก แต่ยังต้องมีความระมัดระวังอยู่ดี และยังต้องฝึกการเข้าส้วมอวกาศ โดยในยานอวกาศใช้ซ้ำอย่างฝูงกระสวยอวกาศที่ปลดระวางแล้วของนาซาก็ใช้ส้วมที่มีอากาศดูดของเสียทุกอย่างที่ร่างกายปล่อยออกมา ทดแทนแรงโน้มถ่วงของโลก ส่วนสถานีวกาศนานาชาติก็ออกแบบส้วมคล้ายๆ กัน
       
       นิโคล สก็อตต์ (Nicole Stott) มนุษย์อวกาศของนาซาคุยผ่านวิดีโอกับนักเรียนประถมว่า ภารกิจถ่ายหนักที่เรียกว่า No. 2 นั้นเหมือนการใช้ส้วมในค่ายที่มีอุปกรณ์เก็บของเสีย และจะถูกทิ้งให้เผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ ส่วนภารกิจถ่ายเบา No.1 จะใช้สายยางที่เรียกว่าสายยางปัสสาวะที่ภายในเป็นสุญญากาศ
       
       ก่อนขึ้นไปใช้ของจริงในชั้นบรรยากาศ โรเบิร์ตสกล่าวว่า มนุษย์อวกาศต้อง "ฝึกจัดตำแหน่ง" บนโลกเพื่อให้แน่ใจว่าของเสียจะพุ่งตรงเข้าสู่ช่องแคบของส้วมอวกาศ โดยส้วมจำลองมีกล้องอยู่ที่ด้านล้าง เพื่อให้มนุษย์อวกาศได้มองและตรวจสอบตำแหน่งจากจอที่อยู่หน้าพวกเขา แต่ไม่สามารถทดสอบขับถ่ายจริงๆ ได้ ซึ่งส้วมจริงมูลค่าหลายล้านดอลลาร์นี้อาจพังได้ง่ายๆ ถ้ามีอะไรไปอุดตันท่อลมที่ทำหน้าที่ดูดของเสีย
       
       การทุบส้วมในอวกาศเป็นเรื่องไม่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายสูง ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องสุขอนามัย ดังนั้น หลังจากส้วมอวกาศเพียงหนึ่งเดียวของสถานีอวกาศนานาชาติพัง นาซาก็นำส้วมที่สองของรัสเซียมูลค่า 6,000 ล้านบาท ออกไปติดตั้งที่ด้านนอกสถานีที่เป็นอาณาบริเวณของสหรัฐฯ เมื่อปี 2008
       
       ส่วนการถ่ายเบามนุษย์อวกาศจะได้รับกรวยที่มีรูปร่างแตกต่างกันตามสรีระของผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งเชื่อมต่อกับสายยางในส้วม โดยมีกรวยให้เลือก 3 ขนาด แต่โรเบิร์ตสระบุว่า ผู้ชายมักเลือกขนาดใหญ่ที่สุด
       
       ย้อนกลับไปเมื่อปี 1986 สหภาพโซเวียตได้สร้างสถานีอวกาศมีร์ (Mir space station) ที่ห้องน้ำที่ต่อท่อปล่อยของเสียออกไปในอวกาศ และเมื่อปลดระวางในปี 2001แผงเซลล์แสงอาทิตย์บนสถานีสูญเสียประสิทธิภาพประมาณ 40%
       
       "แล้วพวกเขาก็ตระหนักว่าแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เสียหายส่วนใหญ่ ถูกทำลายจากปัสสาวะแช่แข็งที่ล่องลอยในอวกาศด้วยความเร็วสูงมาก" โรเบิร์ตสไกด์นำชมคนเดิมกล่าว
       
       สำหรับสถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบันนี้มีลูกเรือหมุนเวียนขึ้นไปประจำการ และตั้งแต่ปี 2000 ปัสสาวะของพวกเขาก็ถูกนำไปรีไซเคิลผ่านระบบกรองเพื่อนำกลับมาเป็นน้ำดื่ม ส่วนกากของเสียจากร่างกายจะถูกบรรจุหีบห่อ แล้วโยนออกจากสถานีอวกาศพร้อมกับขยะอื่นๆ เพื่อให้เผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ
       
       ส่วนในกรณีของการเดินทางไกลในอวกาศอย่างเที่ยวบินสู่ดาวอังคารนั้นโรเบิร์ตสเผยว่า นักวิจัยบางส่วนกำลังคิดค้นการรีไซเคิลอุจจาระด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นนักวิทยาศาสตร์บางคนเสนอว่า ของเสียของคนเรานั้นอาจใช้เรียงตามผนังเพื่อใช้เป็นเกราะกำบังรังสีในอวกาศ เพื่อปกป้องมนุษย์อวกาศจากอันตรายของรังสีคอสมิค

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

สิริสวัสดิ์ศุกรวารค่ะ

Create Date :13 กันยายน 2556 Last Update :13 กันยายน 2556 10:13:50 น. Counter : 1129 Pageviews. Comments :0