bloggang.com mainmenu search

 

 

ดาวหางแพนสตาร์สเหนือ Lake Clifton เมื่อ 3 มี.ค.

 

       สดร.-กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ชวนคนไทยชม “แพนสตาร์ส” ดาวหางที่เข้ามาใกล้โลกและดวงอาทิตย์ในช่วงนี้ ระบุด้วยวงโคจรรูปพาราโลบา ทำให้ดาวหางดวงนี้เข้ามาเยือนเราแค่ครั้งเดียวและไม่มาอีกแล้ว สว่างสุดวันที่ 10 มี.ค. สังเกตได้โดยหันหน้าไปกลุ่มดาวปลาทางทิศตะวันตก มีโอกาสเห็นตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าเพียง 30 นาที
       
       นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่าได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. จัดตั้งศูนย์เครือข่ายเตือนภัยพิบัติโดยใช้เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อดำเนินการเรื่องการเฝ้าระวังภัยพิบัติจากอวกาศและผลกระทบจากอวกาศที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
       
       ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงรายละเอียดของดาวหางเยือนโลกในเดือนมีนาคมนี้ว่า “ดาวหางแพนสตาร์ (C/2011 L4 PANSTARRS)” จะโคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์ ระหว่างวันที่ 8 -17 มี.ค. เข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 5 มี.ค. และสุกสว่างมากที่สุดเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 10 มี.ค.
       
       เราสังเกตดาวหางแพนสตาร์สได้ตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกดินประมาณ 30 นาที หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ดาวหางจะปรากฏอยู่ใกล้ขอบฟ้าบริเวณกลุ่มดาวปลา และหากอยู่บริเวณที่ท้องฟ้ามืดสนิทปราศจากแสงรบกวนและไม่มีสิ่งบดบัง จะมีโอกาสเห็นดาวหางแพนสตาร์อยู่บนฟากฟ้าได้ด้วยตาเปล่า หรือหากใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ช่วย ก็จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
       
       “ดาวหางแพนสตาร์ถูกค้นพบโดยกล้องแพนสตาร์ส (Pan-STARRS) บนเกาะฮาวาย เมื่อเดือน มิ.น.54 ปรากฏอยู่บริเวณกลุ่มดาวแมงป่องมีวงโคจรเป็นแบบไฮเปอร์โบลา จะโคจรมาใกล้โลกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นและจะไม่กลับมาอีก จึงเป็นโอกาสเดียวที่มนุษย์จะได้เห็นดาวหางดวงนี้”
       
       จากการติดตามการเคลื่อนที่ดาวหางดวงนี้ นักดาราศาสตร์พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดาวหางแพนสตาร์ที่สังเกตได้มีหางฝุ่นสั้นและมีความสว่างปรากฏประมาณ* 4 ซึ่งนับว่าน้อยมาก จากเดิมที่คาดการณ์ว่าดาวหางแพนสตาร์น่าจะสว่างพอที่จะเห็นได้ด้วยตาเปล่าโดยง่าย แต่ปัจจุบันเมื่อดาวหางเข้าใกล้โลกมากขึ้นได้มีการศึกษาและคำนวนค่าความสว่างปรากฏแล้ว พบว่าอาจมีความสว่างไม่มากเท่าที่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้คาดว่าความสว่างปรากฏจะสูงสุดที่ประมาณ 3
       
       (*ค่าความสว่างปรากฏ: ค่าตัวเลขน้อยความสว่างจะมาก ค่าตัวเลขมากความสว่างจะน้อย โดยปกติคนเราสามารถมองเห็นได้ที่ค่าความสว่างปรากฏ ตั้งแต่ 6 ลงไป )
       
       แม้ว่าดาวหางถือเป็นวัตถุในระบบบสุริยะที่จัดว่าอาจเป็นอันตรายต่อโลกได้ แต่ดาวหางมีแหล่งกำเนิดอยู่ ไกลมากๆ มีวงโคจรกว้างและมีคาบการโคจรนานมาก จึงมีดาวหางจำนวนไม่มากนักที่หลุดเข้ามาในระบบสุริยะด้านใน ดังนั้น วัตถุใกล้โลกที่พบโดยมากมักเป็นดาวเคราะห์น้อย และเหตุที่เราเห็นดาวหางได้ชัดเจน เนื่องจากดาวหางมีองค์ประกอบเป็นฝุ่น น้ำแข็งและก๊าซ เมื่อโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์จะถูกลมสุริยะเป่าทำให้เกิดหางยาว เกิดแสงฟุ้ง สามารถสังเกตได้ง่ายกว่าดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กและสะท้อนแสงได้น้อย
       
       ดร.ศรัณย์ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อโลก แต่นักดาราศาสตร์ก็ต้องเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาวิจัยวัตถุที่มาใกล้โลกเหล่านี้ เพื่อความเข้าใจและความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา จึงขอเชิญชวนประชาชนหาข้อมูลเรื่องนี้ไว้ ไม่อยากให้ตื่นตระหนก ดาวหางเป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมชาติบนท้องฟ้าที่น่าสนใจและหาชมได้ยากเท่านั้น หากพลาดชมดาวหางแพนสตาร์ในครั้งนี้ ในช่วงเดือน พ.ย.ยังมี “ดาวหางไอซอน” โคจรมาใกล้โลก ซึ่งนักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดดวงหนึ่งในศตวรรษเลยทีเดียว

       

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

สวัสดิ์สิริชีววารค่ะ

Create Date :07 มีนาคม 2556 Last Update :7 มีนาคม 2556 10:59:26 น. Counter : 994 Pageviews. Comments :0