bloggang.com mainmenu search

โดย สุทัศน์ ยกส้าน

Amedeo Modiglini

 

       เมื่อ Amedeo Modiglini ออกเดินทางจากบ้านที่เมือง Livorno ในแคว้น Tuscany ของอิตาลีไปปารีสในปี 1906 เขาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าดี ราคาแพง และทันสมัย เช่น สวมแจ็กเก็ตกำมะหยี่ และสวมหมวกที่ทอด้วยขนแกะ แต่หลังจากที่พำนักอยู่ที่ปารีสได้เพียงปีเดียว หนุ่มรูปงามผู้ชอบช่วยเหลือคนที่ยากจนกว่า ก็เปลี่ยนสภาพจากคนที่มีจิตใจร่าเริง ผู้มีความภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของอิตาลี เป็นคนที่มีร่างกายอ่อนแอ ดื่มเหล้าจัด ปล่อยปละละเลยในเรื่องการแต่งตัว และไม่มีเพื่อน สภาพชีวิตในปารีสได้ทำให้ Modi (ชื่อเล่นของ Modiglini) เห็นความจริงประการหนึ่งว่า ในวงการศิลปะ ถ้าคุณไม่ยิ่งใหญ่จริง ในไม่ช้าผลงานของคุณก็จะถูกลืม
       
       ในเวลาต่อมาหลังจากที่ได้ใช้ชีวิตความเป็นอยู่อย่างยากลำบากเป็นเวลานานถึง 14 ปี Modiglini ได้ล้มป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัว และคำอำลาสุดท้ายของเขาก่อนจากโลกไปคือ “Cara, cara, Italia!” (ข้ารักอิตาลี) แทนที่จะเอ่ยชื่อของภรรยา ลูก หรือบิดามารดา
       
       Amedeo Modiglini เกิดเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ.1884 (ตรงกับรัชสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ที่เมือง Livorno ในอิตาลี ครอบครัวมีเชื้อชาติยิว และมีฐานะดีจากการทำธุรกิจแลกเงิน ครั้นเมื่อธุรกิจล่มจม ทรัพย์สมบัติที่มีได้ถูกยึดเป็นของรัฐ จึงทำให้ครอบครัวยากจน และตกอยู่ในความลำบาก Modiglini เป็นลูกที่มีความผูกพันกับแม่มาก เพราะรู้สึกว่าแม่เข้าใจและภูมิใจในความสามารถด้านการวาดภาพของตน โดยได้ส่งไปฝึกวาดภาพกับจิตรกรชื่อ Guglielmo Micheli ซึ่งมีชื่อเสียงที่เมือง Florence หลังจาก Modiglini ได้ไปดูงานแสดงศิลปะที่ Palazzo Pitti และที่ Uffizi ในเมือง Florence เขาได้รบเร้ามารดาให้หาครูมาสอนศิลปะให้
       
       Modiglini เรียนศิลปะที่ Micheli’s Art School เป็นเวลา 2 ปี และสนใจวาดภาพในสไตล์ Renaissance ภาพที่วาดส่วนมากเป็นภาพเหมือน ภาพนิ่ง และภาพทิวทัศน์
       
       เมื่ออายุ 21 ปี Modiglini ได้เริ่มภาพแนว Cubism ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมทั่วยุโรป จึงตัดสินใจเดินทางไปปารีสซึ่งเป็นศูนย์กลางของโลกศิลปะในขณะนั้น และได้เข้าพักที่ Le Bateau – Lavoir ในย่าน Montmartre ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของศิลปินที่มีฐานะยากจน แต่ Modiglini กลับทำตัวร่ำรวย และวางตัว ไม่พูดมาก ชอบดื่มเหล้าองุ่น และผูกผ้าพันคอเวลาออกนอกบ้าน รวมถึงชอบสวมหมวกสีดำ เสมือนต้องการปิดบังความยากจนของตนเอง ในระยะนี้ Modiglini เขียนจดหมายถึงแม่บ่อย และส่งภาพสเก็ตซ์ของเขาไปให้เธอดูด้วย
       
       ในช่วงเวลาที่พักอยู่ที่ปารีส Modiglini มีเพื่อนหลายคนเช่น Chaim Soutine, Moise Kisling และพยายามสร้างศิลปะในแนวของตนเอง คือใช้สีที่อบอุ่น ไม่ฉูดฉาด และใช้เส้นโค้ง (แสดงรูปร่างใน 3 มิติที่ไม่เหมือนใคร) อีกทั้งทุ่มเททำงานหนักมาก โดยสเก็ตซ์ภาพได้วันละ 100 ภาพ ซึ่งภาพส่วนใหญ่ได้สูญหายไปจนสิ้นแล้ว บางภาพถูก Modiglini ทำลายเอง และบางภาพถูกทิ้งไป เวลา Modiglini ไปสำส่อนกับหญิงโสเภณีก็จะให้ภาพที่เขาวาดเป็นที่ระลึก แต่ก็ไม่มีใครเก็บภาพไว้เลย
       
       ในความชื่นชมส่วนตัวนั้น Modiglini พบว่า Henri de Toulousse – Lautrec และ Paul Cezanne เป็นจิตรกรที่มีอิทธิพลต่อสไตล์วาดภาพของตนเองมาก เมื่ออายุ 25 ปี ภาพ The Cellist ของ Modiglini ถูกนำออกแสดงที่ Salon des Independants และได้รับความสนใจพอสมควร
       
       หลังจากที่เวลาผ่านไปหนึ่งปี นิสัยใจคอของ Modiglini ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะเขามีสุขภาพไม่ดี (เริ่มเป็นวัณโรค) และเริ่มไม่ใยดีกับงานวาดภาพ สตูดิโอมีสภาพรกรุงรังไม่เป็นระเบียบ ภาพวาดต่างๆ ถูกทิ้งกระจัดกระจาย ภาพวาดเก่าๆ ถูกนำออกขาย แต่เวลามีคนมาขอซื้อในราคา “ต่ำ” Modiglini จะฉีกทำลายภาพนั้น แล้วบอกว่า “ไม่ขายดีกว่า จะต้องขายไปในราคาถูกๆ” แต่เมื่อไม่มีเงินเลยเขาก็จำต้องขายภาพ เพื่อนำเงินมาซื้อเหล้า และอาหาร สุขภาพของ Modiglini เริ่มทรุดหนัก สุขภาพจิตก็แปรปรวน ไม่สนใจจะพูดจาสนทนากับใคร และชอบใช้ชีวิตโดดเดี่ยว เพื่อนๆ ได้เข้ามาเพื่อจะช่วย แต่ก็ช่วยไม่ได้ เพราะทุกคนยากจนยิ่งกว่า Modiglini เสียอีก

Jeanne Hébuterne

       เมื่ออายุ 26 ปี Modiglini ได้พบกับภรรยาคนแรกชื่อ Anna Akhmatova เธอเป็นกวีชาวรัสเซีย วัย 21 ปี ซึ่งพักอาศัยอยู่ในอาคารเดียวกัน แม้ Anna จะสมรสแล้ว Modiglini ก็ลอบเป็นชู้กับเธอ เพราะเธอเป็นคนสวย แต่เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปี ความสัมพันธ์ก็ขาดสะบั้น Anna ได้กลับไปอยู่กินกับสามีที่ถูกกฎหมายของเธอ Modiglini จึงกลับอิตาลี เพราะรู้สึกเบื่อชีวิต แต่ก็ต้องหวนกลับปารีส เพราะไม่มีอะไรจะทำ และคิดใช้ชีวิตเป็นปฏิมากร แต่ก็ทำไม่ได้

 เพราะในช่วงเวลานั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 วัสดุต่างๆ ที่จะนำมาใช้หาได้ยาก Modiglini จึงต้องกลับไปวาดภาพอีก และได้ลองวาดภาพเหมือนของ Pablo Picasso, Diego Rivera กับ Juan Gris ในช่วงเวลานี้ Modiglini ได้อยู่กินกับนักหนังสือพิมพ์อังกฤษชื่อ Beatrice Hastings เป็นเวลา 2 ปี และได้วาดภาพเหมือนของเธอหลายภาพ แต่ในที่สุดก็ได้เลิกรากัน
       
       เมื่ออายุ 33 ปี Modiglini ได้พบ Jeanne Hébuterne สาววัย 19 ปี ซึ่งเป็นนักเรียนศิลปะ และนางแบบที่ Academie Colorossi แต่รักต่างวัยของคนทั้งสองนี้ ถูกครอบครัวฝ่ายหญิงขัดขวาง เพราะรู้ว่า Modiglini เป็นคนขี้เหล้า มักมากในกามรส ประพฤติผิดศีลธรรม ไม่เคยรับผิดชอบอะไรเลย และที่ร้ายที่สุด คือ Modiglini เป็นยิว แต่ Jeanne ไม่ฟังคำเตือนของบิดามารดาเลย

เธอได้ลอบหนีออกจากบ้านไปใช้ชีวิตกินอยู่กับ Modiglini อย่างเปิดเผย และ Modiglini ก็ได้วาดภาพ Jeanne Hébuterne, with a necklace ซึ่งแสดงเธอสวมสายสร้อย และสวมหมวกใบใหญ่ กำลังนั่งในเก้าอี้ที่มีที่วางแขน Modiglini ชอบวาดภาพ Hébuterne มาก เพราะรู้สึกว่า ได้แรงบันดาลใจทุกครั้งที่ Jeanne อยู่ใกล้ ในปี 1918 นั่นเอง Modiglini ก็ได้เป็นพ่อคน เมื่อ Hébuterne ให้กำเนิดลูกสาวชื่อ Jeanne
       
       สำหรับภาพ Jeanne Hébuterne ที่สวมสร้อยนั้น Modiglini ได้วาดใบหน้าของภรรยาเป็นวงรีที่ค่อนข้างรีผิดปกติ เธอมีคอยาวเกินจริง และมีจมูกขนาดเล็ก ตาสีฟ้า ไม่มีตาดำ ผิวเธอซีด และเธอมีริมฝีปากเรียวเล็ก จนดูเป็นตัวตลก ใบหน้าดูไร้อารมณ์ และนั่งวางตัวในท่าเกร็ง ซึ่งนักวิจารณ์ศิลปะคิดว่า ในการวาดภาพนี้ Modiglini คงได้แรงบันดาลใจจากศิลปะอัฟริกัน
       
       ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1919 Modiglini กับครอบครัวได้เดินทางไปพักผ่อนที่ Nice และได้พยายามขายภาพ แต่ได้เงินไม่มาก จึงเดินทางกลับปารีส และพากันไปเช่าห้องพักราคาถูกอยู่ ในช่วงเวลานี้สุขภาพของ Modiglini ทรุดโทรมมาก เพราะดื่มเหล้าจัด จนหมดสติบ่อย และเวลาเมาก็ไม่รู้ตัว เช่น บางครั้งก็เปลื้องผ้ากลางที่สาธารณะเป็นต้น อาการป่วยหนักเพราะเป็นวัณโรคได้ทำให้ Modiglini มีอาการปอดอักเสบอย่างรุนแรง จนวันที่ 24 มกราคม ค.ศ.1920 Modiglini ก็ได้ลาโลกในวัย 36 ปี ศพถูกนำไปฝังที่สุสาน Pére – Lachaise
       
       ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น Jeanne Hébuterne ก็กำลังตั้งครรภ์ที่ 2 แต่ Modiglini ไม่รู้เรื่องนี้เลย ครั้นเมื่อลูกสาวตกพุ่มม่าย บิดามารดาของ Hébuterne ซึ่งเกลียดชัง Modiglini มากว่า ได้หลอกลวงลูกสาวของตน จึงนำตัว Hébuterne กลับบ้าน แต่ถึงพ่อแม่จะพยายามเพียงใดเธอก็ไม่สร่างเศร้า ดังนั้น หลังจากที่ Modiglini เสียชีวิต 2 วัน Hébuterne ก็ได้ตัดสินใจลาโลกตาม โดยการกระโดดจากหน้าต่างตึกชั้น 5 สมาชิกในครอบครัวของ Hébuterne ไม่อนุญาตให้ฝังศพเธอใกล้สามี จนอีกหลายปีต่อมา จึงอนุญาตให้นำศพเธอไปฝังใกล้ Modiglini และที่บนหลุมฝังศพของ Modiglini มีแผ่นหินอ่อนจารึกว่า “ตายขณะมีชื่อเสียง” ส่วนที่บนหลุมฝังศพของ Hébuterne ก็มีแผ่นจารึกเช่นกันว่า “เพื่อนที่ได้อุทิศชีวิตให้มากที่สุด”
       
       หลังจากที่คนทั้งสองเสียชีวิตไปแล้ว ในวันที่ 25 มกราคมของทุกปี ลูกสาว Jeanne Modiglini จะนำดอกไม้ไปวางที่หลุมของบิดาและมารดาของเธอ สำหรับเธอเองได้ถูกพี่สาวของ Modiglini นำไปเลี้ยงดูที่เมือง Florence และในเวลาต่อมา เธอได้เรียบเรียงหนังสือที่เกี่ยวกับชีวิตพ่อชื่อ Modiglini: Man and Myth



(ซ้าย) ภาพวาด Juan Gris (ขวา) Pablo Picasso

 

       โดยในภาพรวมเธอได้เขียนไว้ว่า Modiglini ได้เสียชีวิตลงในสภาพยากไร้ โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังจะตาย และต้องตายในบรรยากาศที่ไร้ญาติ ตลอดชีวิตได้มีโอกาสแสดงผลงานเพียงครั้งเดียว และขายภาพเพื่อเอาเงินไปแลกเป็นค่าอาหาร
       แต่หลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว ชื่อเสียงของ Modiglini เริ่มโด่งดัง โลกมีนวนิยายที่เขียนเกี่ยวกับชีวิตของ Modiglini ถึง 9 เรื่อง อีกทั้งมีบทละคร และภาพยนตร์สารคดีที่เกี่ยวกับเขาด้วย
       
       ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2010 ภาพวาดสตรีเปลือยที่ Modiglini วาดในปี 1917 ขายได้ถึง 68.9 ล้านเหรียญ ส่วนภาพ Jeanne Hébuterne with a necklace นั้น ขายได้ 19 ล้านเหรียญ
       
       ในปี 2011 Meryle Secrest ได้เขียนอัตชีวประวัติของ Modiglini ในมุมมองใหม่ หนังสือนี้จัดพิมพ์โดย Alfred A. Knopf โดย Secrest ได้ชี้ให้เห็นว่า ภาพลักษณ์ของ Modiglini ที่โลกรู้จักว่าเป็นศิลปินที่ตกเป็นเหยื่อของยาเสพย์ติดที่ขี้เมาหยำเป ประพฤติผิดศีลธรรม มีอารมณ์รุนแรง และลุ่มหลงในอบายมุขทุกรูปแบบความชั่วร้าย และอบายมุขเหล่านี้ได้ทำลาย Modiglini จนเสียชีวิตในวัย 35 ปี
       
       ในมุมมองของ Secrest เธออ้างว่า ผลงานของ Modiglini มิได้แสดงเลยว่า เขาเป็นคนบ้าคลั่งอย่างที่ทุกคนคิด เพราะเวลาศึกษาจากภาพ เส้นวาดและสีที่ระบายมิได้เป็นฝีมือของคนขี้เมาที่ใช้วาจาหยาบคายแต่อย่างใด
       
       Secrest ได้ใช้เวลานานถึง 5 ปี ในการศึกษาประวัติชีวิตของ Modiglini อย่างละเอียด และพบว่า Modiglini ได้พยายามปกปิดอาการป่วยเป็นวัณโรคของตนเองตั้งแต่ยังเด็ก จึงได้พยายามใช้ยาเสพติด และเหล้าเพื่อบรรเทาอาการปวดของตนเอง ส่วนเหตุผลที่มิได้เอ่ยปากบอกใครนั้นเพราะถ้าสังคมรู้ Modiglini ก็จะถูกกักบริเวณให้อยู่ที่โรงพยาบาล เป็นคนไข้ประจำและนั่นก็คือ จุดสิ้นสุดของความฝันและชีวิตของเขาทันที
       
       หนังสือได้กล่าวถึงความเชื่อเรื่องชาติก่อน และชาติหน้าของ Modiglini ด้วยว่า เมื่อใกล้จะเสียชีวิต Modiglini ได้เขียนข้อความสั้นๆ ที่ใต้ภาพว่า “นี่คือการเริ่มต้นชีวิตใหม่” Modiglini เองคลั่งไคล้เรื่องชาติหน้ามาก ถึงขนาดสามารถชักจูงให้ Jeanne Hébuterne เชื่อว่า เมื่อเกิดใหม่คนทั้งสองจะได้ใช้ชีวิตร่วมกันอีกอย่างแน่นอน
       
       ในการเขียนชีวประวัติของ Modiglini นี้ Secrest ให้ข้อสังเกตว่า ตระกูล Hébuterne มิได้ให้ความช่วยเหลือใดๆ เลย และเธอให้ความเห็นว่า คนที่ทำให้ผู้คนปักใจเชื่อในความบ้าคลั่งของ Modiglini คือ Andre Salmon นักวิจารณ์ศิลปะผู้ประสบความสำเร็จในการหาเงินจากการสร้างจินตนาการเกี่ยวกับ Modiglini โดยการเขียนชีวประวัติของ Modiglini แล้วตีพิมพ์เป็นหนังสือขาย หลังจากที่ Modiglini เสียชีวิตไปแล้ว
       
       Secrest จึงหวังว่า หลังจากที่ได้อ่านหนังสือที่เธอเขียนแล้ว Modiglini จะกลายเป็นศิลปินอัจฉริยะผู้น่าสงสารอีกคนหนึ่งที่สังคมได้เข้าใจผิดเป็นเวลานาน

 

ขอบคุณ
ผู้จัดการออนไลน์
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน

สิริสวัสดิ์ศุกรวารค่ะ

Create Date :25 มกราคม 2556 Last Update :25 มกราคม 2556 9:34:28 น. Counter : 941 Pageviews. Comments :0