bloggang.com mainmenu search

 


ยานดอว์นของนาซาบันทึกภาพเวสตาที่เหมือนอยู่ในระยะแรกของการก่อตัว ดาวเคราะห์น้อยที่มีมวลมากเป็นอันดับสองได้ เมื่อปี 2011 (NASA/JPL-Caltech/ UCLA/MPS/DLR/PSI)
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น ภาพจากกล้องโทรทัศน์อวกาศฮับเบิลบันทึกภาพขั้วใต้ของดาวเคราะห์น้อยเวสตามีหลุมขนาดใหญ่ ซึ่งอาจเป็นร่องรอยของการหลอมละลาย (Ben Zellner (Georgia Southern University) / Peter Thomas (Cornell University) / NASA)
ภาพจำลองจากศิลปินกับภารกิจมนุษย์อวกาศเดินทางสู่ดาวเคราะห์น้อยของนาซา โดยยานโอไรออน (Lockheed Martin)

เราอาจตื่นเต้นกับการสำรวจ "ดาวอังคาร" หรือ "ดวงจันทร์" เพื่อหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตและความเป็นไปได้ในการตั้งรกรากใหม่สำหรับมนุษย์ แต่กับ "ดาวเคราะห์น้อย" รูปร่างประหลาดต่างๆ อาจเป็นแค่วัตถุอันตรายที่อาจพุ่งชนโลก และล่าสุดก็มีีความคิดทำเหมืองเพื่อดึงทรัพยากรมาใช้ แท้จริงแล้ว "ดาวเคราะห์น้อย" บรรจุข้อมูลที่พร้อมไขปริศนาสำคัญให้แก่มวลมนุษยชาติ
       
       สเปซดอทคอมได้สรุปเหตุผลที่เราต้องใส่ใจกับดาวเคราะห์น้อย นั่นก็เพราะ....
       
       1. ซ่อนปริศนากำเนิดระบบสุริยะ
       
       ด้วยตำแหน่งจุดกำเนิดในแถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Belt) ที่อยู่ระหว่างดาวเคราะห์ชั้นในซึ่งเป็นดาวหินและดาวเคราะห์ชั้นนอกที่เป็นก๊าซในระบบสุริยะ การอยู่ระหว่างรอยต่อนั้นทำให้ดาวเคราะห์น้อยอาจเป็นวัตถุที่จะนำไปสู่ร่องรอยของการกำเนิดดาวเคราะห์ที่เราพบเห็นอยู่ในปัจจุบันรวมถึงโลก
       
       "วัตถุต่างๆ บนดาวเคราะห์น้อยล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการก่อตัวของดาวเคราะห์" คำอธิบายของคารอล เรย์มอนด์ (Carol Raymond) ทีมงานหลักในการสำรวจดาวเคราะห์น้อยในภารกิจดอว์น (Dawn) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ซึ่งดอว์นมีกำหนดเดินทางสำรวจดาวเคราะห์น้อยเวสตา (Vesta) ในปี 2011 และดาวเคราะห์น้อยเซเรส (Ceres) ในปี 2015
       
       ทั้งเซเรสและเวสตาต่างก่อตัวขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน คือช่วง 10 ล้านปีแรกของระบบสุริยะ แต่ปัจจุบันกลับมีส่วนประกอบของดาวที่แตกต่างกัน เวสตานั้นมีบางส่วนที่หลอมละลายและกลับกลายเป็นของแข็ง ที่พื้นผิวของดาวจึงเรียบ ขณะที่เซเรสไม่มีสัญญาณหรือร่องรอยที่ชี้ว่าผ่านการหลอมละลายมาก่อน
       
       เรย์มอนด์บอกว่า อาจเป็นไปได้ที่เวสตามีการระเบิดมากกว่า หรือมีปริมาณกัมมันตภาพรังสีของอลูมิเนียมที่สูง จึงทำให้เกิดความร้อนถึงขั้นที่พื้นผิวหลอมละลายได้ ซึ่งการศึกษาดาวเคราะห์น้อยทั้ง 2 ดวงนี้จะทำให้เราเข้าใจปริศนาที่เกิดขึ้น และจะนำไปสู่ร่องรอยของการเกิดดาวเคราะห์แบบหินและแบบก๊าซในระบบสุริยะ
       
       2. ฉายแสงแห่งกำเนิดสิ่งมีชีวิต
       
       นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจมากนัก เกี่ยวกับการก่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกที่พัฒนาจากสสารไม่มีชีวิต ซึ่งดาวเคราะห์น้อยน่าจะช่วยให้เราเข้าใจปริศนากำเนิดชีวิตได้
       
       อย่างเช่นดาวเคราะห์น้อย ทูว์ พาลลาส (2 Pallas) และ เท็น ไฮเกีย (10 Hygiea) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าดาวทั้งสองเคยมีแหล่งน้ำอันเป็นสัญญาณของสิ่งมีชีวิตที่มีคาร์บอนเป็นฐาน โดยเรย์มอนด์บอกว่า ดาวเคราะห์น้อยทั้งสองมีสารประกอบทางเคมีที่เป็นพื้นฐานของการก่อกำเนิดชีวิตมากกว่าที่โลกมี และก็มีสภาพเหมือนช่วงที่ระบบสุริยะอายุน้อย
       
       “มันมีเงื่อนไขสภาพที่จะนำไปสู่การกำเนิดชีวิตในอดีต" เรย์มอนด์กล่าว และนักวิทยาศาสตร์ก็คิดว่า ดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลกเมื่อในอดีต อาจจะฝากสารเคมีทีก่อกำเนิดสิ่งมีชีิวิตไว้ และนั่นก็ทำให้พวกเรากำเนิดขึ้น
       
       3. แหล่งทรัพยากรทดแทน
       
       แนวคิดในการการทำเหมืองบนดาวเคราะห์น้อยเริ่มใกล้ความจริงขึ้นมา เพราะมีเอกชนถึง 2 เจ้าแสดงเจตนาออกมา ซึ่งดาวเคราะห์น้อยเป็นแหล่งทรัพยากรทั้งแร่โลหะและอโลหะ โดยจะต้องสำรวจและหาวิธีการนำแร่ธาตุต่างๆ มาใช้ประโยชน์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ดาวเคราะห์น้อยที่มีมากมายในอวกาศอาจจะเป็นแหล่งขนส่งทรัพยากรทดแทนสู่โลก และกลายเป็นแหล่งเชื้อเพลิงให้แก่ยานอวกาศที่จะเดินทางไกล
       
       4. มหันตภัยของโลก
       
       แน่นอนว่า มีความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์น้อยอาจพุ่งชนโลก เพราะวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยหลายดวงตัดกับวงโคจรโลกบ่อยครั้ง และบางทีก็โคจรเข้ามาเฉียดอย่าน่าหวาดเสียว เช่น ดาวเคราะห์น้อย 2010 AL30 เคยผ่านโลกด้วยระยะห่างเพียงแค่ 130,000 กิโลเมตร แต่โชคดีที่ดาวเคราะห์น้อยดวงดังกล่าวมีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 11 เมตร จึงไม่ได้เกิดอันตรายใดๆ ต่อดาวโลกของเรา
       
       อย่างไรก็ดี มีการทำนายไว่้ว่าในวันที่ 13 เม.ย. 2036 ดาวเคราะห์น้อยอะโพพิส (Apophis) จะเข้าใกล้โลก แต่จะไม่เข้าใกล้มากกว่า 300,000 กิโลเมตร ซึ่งดาวเคราะห์น้อยอะโพพิสมีขนาดประมาณ 2 สนามฟุตบอล และมุ่งหน้าชนโลกจริงก็อาจจะทำให้หายได้เป็นภูมิภาคเลยทีเดียว
       
       นอกจากนี้ ในปี 2010 ประธานาธิบดีบารัก โอบามาได้ประกาศเป้าหมายอวกาศของอเมริกัน ว่าจะไปเยือนดาวเคราะห์น้อยให้ได้ภายในปี 2025 จากนั้นจะส่งนักบินอวกาศไปเปลี่ยนทิศทางโคจรของดาวเคราะห์น้อยบางดวงที่มีความเสี่ยง ไม่ให้มุ่งตรงมาทางโลก

เช่นเดียวกับในภาพยนตร์เรื่องอะมาเกดดอน ซึ่งจอห์น กรันสเฟล์ด (John Grunsfeld) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ อดีตนักบินอวกาศของนาซา บอกว่านี่จะแสดงให้เห็นความชาญฉลาดของมนุษย์ที่จะปกป้องตัวเอง ต่างจากไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อนที่ต้องสูญพันธ์เมื่อดาวเคราะห์พุ่งชนโลก


ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

สวัสดิ์สิริชีววารค่ะ

Create Date :31 มกราคม 2556 Last Update :31 มกราคม 2556 12:08:57 น. Counter : 1257 Pageviews. Comments :0